“คนที่กลับบ้านไปเมื่อไรก็เจอ
อาจไม่ได้อยู่รอเราตรงนั้นตลอดไป”
ประโยคเรียบง่ายหากแต่ชวนกระตุกจิตกระชากใจให้ดิ่งตามทันทีที่อ่านจบ ปรากฏอยู่บนโปสเตอร์ภาพยนตร์ หลานม่า (2024) ภาพยนตร์เรื่องใหม่จากค่าย GDH ที่ว่าด้วยเรื่องราวของหลานชายคนหนึ่งที่คาดหวังมรดกจากอาม่าที่กำลังอยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต
ประกอบกับชื่อภาษาอังกฤษของเรื่องอย่าง How To Make Millions Before Grandma Dies ที่ชวนให้เราเห็นภาพได้อย่างชัดเจนถึง ‘อาม่า’ ในฐานะ ‘เงินถุงเงินถัง’ ของลูกหลาน ฉายภาพแซะอย่างเจ็บแสบว่าด้วยเรื่องมรดกที่ใครๆ ก็หมายปอง สอดคล้องกับคำโปรยของตัวอย่างภาพยนตร์ว่าการดูแลคนแก่อาจเป็นอาชีพที่ทำง่ายๆ สบายๆ แถมมีรายได้สูง
ทว่านั่นเป็นเพียงแค่ฉากหน้าของตัวอย่างภาพยนตร์เท่านั้น
แท้ที่จริงแล้ว หลานม่า กำลังพาเราเข้าไปสำรวจชีวิตธรรมดาๆ ของครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนครอบครัวหนึ่ง แต่ละตัวละครไม่ต่างอะไรไปจากภาพแทนของคนวัยต่างๆ ในสังคม สอดแทรกไปด้วยประเด็นสังคมผู้สูงอายุ สวัสดิการรัฐที่ไม่เอื้ออำนวย การดูแลที่ไม่ใช่แค่ความกตัญญู แต่เป็นสิ่งที่ผู้ดูแลควรได้รับค่าตอบแทน (Care Income) และสายสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวที่อาจมองไม่เห็นแต่สัมผัสได้ว่ามีอยู่จริงเสมอ
หลานม่า (2024) คือภาพยนตร์ธรรมดาๆ ที่ฉายภาพครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีนครอบครัวหนึ่งที่ ‘อาม่าเหม้งจู’ (แต๋ว-อุษา เสมคำ) มีลูก 3 คน ได้แก่ ‘เคี้ยง’ (ดู๋-สัญญา คุณากร) ลูกชายคนโต ผู้ที่แยกไปแต่งงานมีครอบครัว, ‘ซิว’ (เจีย-สฤญรัตน์ โทมัส) ลูกสาวคนเดียวของบ้าน และแม่ของ ‘เอ็ม’ (บิวกิ้น-พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล) และสุดท้าย ‘โส่ย’ (เผือก-พงศธร จงวิลาส) ลูกชายคนสุดท้องของอาม่าที่ไม่เป็นโล้เป็นพาย
ถึงแม้ว่าดูเผินๆ ครอบครัวนี้จะดูเป็น ‘ครอบครัวใหญ่’ หากแต่พวกเขานั้นมีโอกาสได้กลับมาเจอกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาแค่เพียงในวันเทศกาลสำคัญ หรือไม่ก็ไปหาอาม่าแค่ในวันหยุดสุดสัปดาห์แต่เพียงเท่านั้น และถึงแม้นานครั้งจะได้มีโอกาสมาพบปะกัน แต่ทุกคนก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรเท่าไร ราวกับว่าเป็นหน้าที่ต้องทำ
หลานม่าเล่าถึงความเรียบง่ายของเหตุการณ์เหล่านี้ได้เป็นอย่างดี
ทุกคนมีภาระหน้าที่แตกต่างกันไป
ต่างคนต่างใช้ชีวิตของตัวเอง
จนอาจหลงหลืมไปว่าก็มีใครอีกคนรออยู่เหมือนกัน
จนกระทั่งเมื่อหมอตรวจพบว่าอาม่าเป็นมะเร็งระยะที่ 4 ภารกิจการดูแลของหลานชายก็เริ่มต้นขึ้น
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าภาพยนตร์จะไม่ได้เท้าความถึงความรักและความผูกพันของอาม่าและหลานชายมากนัก แต่ตั้งแต่เอ็มย้ายเข้ามาอยู่กับอาม่า คอยดูแล ช่วยงาน และพาแกไปหาหมอ ทั้งหมดนี้จึงเริ่มก่อตัวเป็นสายใยสัมพันธ์ ทำให้พวกเราในฐานะผู้ชมได้ทำความรู้จักกับอาม่าไปพร้อมกันกับเอ็ม และนั่นเป็นจุดที่ทำให้เราๆ อินกับเรื่องนี้ไปได้อย่างดี อีกทั้งครอบครัวของอาม่าในเรื่องคือภาพแทนของ ‘บ้านที่ไม่สมบูรณ์แบบ’ ในเรื่องเปิดเผยภาพความขัดแย้ง ไม่ลงรอย และมีแผล
เชื่อเหลือเกินว่า ‘อาม่า’ ของเอ็ม ชวนให้เราคิดถึงอาม่าหรือญาติผู้ใหญ่สักคนของเราเอง และไม่ว่าอาม่าของเราจะมีความคล้ายกับอาม่าในเรื่องมากน้อยแค่ไหน แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามันทำงานกับความทรงจำส่วนหนึ่งของผู้ชมได้อย่างลึกซึ้งที่สุด และนั่นคือเสน่ห์อันล้นเหลือของภาพยนตร์เรื่องนี้
นอกเหนือไปจากนั้น ผู้เขียนยังคิดว่า หลานม่า เป็นภาพยนตร์ที่เรียกร้องการนำเอาประสบการณ์ของผู้ชมเข้าไปร่วมดูด้วยไม่มากก็น้อย เรื่องนี้จะเศร้า เคล้าน้ำตา หรืออบอุ่นมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับว่า ‘เรา’ ในฐานะคนดูมีประสบการณ์กับครอบครัวและญาติผู้ใหญ่อย่างไร อาจเรียกได้ว่านั่นเป็นการทำงานอันเรียบง่ายของเรื่องเล่าที่ดี
หลากหลายประเด็นสังคมถูกฉายภาพและบอกเล่าผ่านฉากในเรื่องอย่างกลมกล่อมและสมจริง ตั้งแต่ สวัสดิการรัฐที่ไม่เอื้ออำนวยต่อผู้สูงอายุ ทั้งการที่เอ็มต้องพาอาม่าไปต่อคิวรับบัตรที่โรงพยาบาลรัฐตั้งแต่ตี 4 เพื่อที่จะได้เริ่มเข้ารับการตรวจคิวแรกที่ 8 โมงเช้า และกว่าจะเสร็จสิ้นก็เสียเวลาไปทั้งวัน
การบอกเล่า ‘ความเหงา’ ของอาม่า ผ่านการเป็นตัวแทนของคนรุ่น Baby Boomer ที่ดูจะพูดหวานๆ ไม่ค่อยเป็น อีกทั้งยังปากไม่ตรงกับใจ (และรักลูกไม่เท่ากัน)
มากไปถึงการฉายภาพแทน ‘ผู้หญิง’ ในเรื่องทั้งอาม่า ซิว และ มุ่ย (ตู-ต้นตะวัน ตันติเวชกุล) ผู้ซึ่งเป็นญาติของเอ็ม และเป็นหลานสาวที่ดูแลอากงอย่างใกล้ชิดจนกระทั่งได้รับมรดกก้อนโต (ซึ่งนั่นก็เป็นแรงบันดาลใจให้เอ็มอยากรวยด้วยมรดกของอาม่า) ไว้อย่างน่าสนใจ ผู้หญิงทั้ง 3 ตัวละครนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นคน 3 ยุคที่มีการต่อรอง (หรือต่อต้าน) กับปิตาธิปไตยในขนบสังคมและวัฒนธรรมจีนอย่างเห็นได้ชัด
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือเรื่องของการทำงานดูแลและค่าตอบแทน (Caregiving and Care Income) ที่เป็นที่พูดถึงมากขึ้นในวงกว้าง ซึ่งสำหรับผู้เขียนแล้วประเด็นนี้ดูจะน่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะที่ผ่านมาเรามักพูดว่าเราต้องอยู่ดูแลครอบครัวหรือญาติผู้ใหญ่ด้วยการกล่าวว่าเป็นการทำไปด้วย ‘ความกตัญญูรู้คุณ’ แต่เพียงเท่านั้น
และในท้ายที่สุดนี้คงหนีไม่พ้น สายสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว ที่อาจมองไม่เห็น แต่สัมผัสได้ว่ามีอยู่จริงเสมอ อย่างที่บอกไปข้างต้นว่าครอบครัวของอาม่าในเรื่องไม่ใช่ครอบครัวที่เพอร์เฟกต์และไม่ได้สิ้นไร้ซึ่งความขัดแย้งหรือรอยแผล แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้พวกเขายังคงสัมผัสการมีอยู่ของกันและกัน และทำให้พวกเขายังอยู่ด้วยกัน คือสายใยของครอบครัวที่ตัดกันไม่ขาด ยิ่งช่วงท้ายของภาพยนตร์ที่เฉลยว่าอาม่ามอบสมบัติให้ใคร เพราะอะไร และหมัดฮุกช่วงท้ายของเรื่องยิ่งทำให้เห็นสิ่งที่ค้างคาใจถูกเฉลยออกมา
อย่างไรก็ตามเราไม่อาจบอกได้ว่า หลานม่า กำลังนำเสนอภาพความล่มสลายและเปราะบางของสถาบันครอบครัวได้อย่างเต็มปากมากนัก หากไม่ได้เทียบเคียงกับบริบททางสังคมและโครงสร้างที่ถูกแฝงฝังมาในเรื่องเป็นปูมหลังรองไปจากเรื่องสายสัมพันธ์
และการพูดว่าเป็นการบอกเล่าและเชื้อเชิญ “ให้กลับไปใช้เวลากับคนที่รัก ในวันที่พวกเขายังอยู่” อาจเป็นสิ่งที่พูดแล้วตรงจุดกว่า
และไม่ว่าคุณจะเป็นหลานม่า หลานย่า หลานปู่ หรืออยู่กับก๋ง แต่เราทุกคนล้วนเป็นใครสักคนของใครอีกคนอยู่เสมอ
ใครอีกคนที่รอเรากลับไปบ้าน
ใครอีกคนที่เวลาของพวกเขาเหลือน้อยลงทุกวัน
ดังที่อาม่าว่าไว้
“生米煮成熟饭
ข้าวสารกลายเป็นข้าวสุก
สิ่งที่ผ่านไปแล้วย้อนกลับมาไม่ได้”