NFT

ลูกขาย NFT เลยได้ไหม? ลูกขายไม่ได้ถ้าครอบครัวไม่เป็นทีมเดียวกัน

  • ลูกขาย NFT เลยได้ไหม? ทุกอย่างพร้อม ขายอย่างไรก็ได้ นี่คือความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการขาย NFT
  • ขาย NFT ไม่ง่ายอย่างที่คิด เปิดบทสนทนากับ ‘เบียร์’ รัฐโรจน์ พณิชย์จุติ พ่อลูกสองและเจ้าของแพลตฟอร์ม NFT ถ้าอยากขาย NFT พ่อแม่ต้องเริ่มต้นจากอะไร
  • ตั้งต้นสำหรับพ่อแม่มือใหม่หัดขาย อะไรบ้างที่เป็น NFT ดูขั้นตอนการขายตั้งแต่เริ่มขายจนขายเสร็จ อะไรคือข้อควรระวัง นี่คือโลกใหม่ที่พ่อแม่ต้องเรียนรู้ไปพร้อมกับลูก

“ลูกอยากขาย NFT ขายได้เลยไหม”

ถ้าพ่อแม่เข้าใจว่า NFT อยากขายก็ขาย ทำปุ๊บขายปั๊บ ขายอย่างไรก็ได้ นี่คือความเข้าใจผิด

‘เบียร์’ รัฐโรจน์ พณิชย์จุติ CEO และ Co-Founder NextArt แพลตฟอร์มซื้อขายทรัพย์สินทางปัญญา ในรูปแบบของ NFT บอกแบบนั้น เพราะสิ่งสำคัญของการขายงาน NFT คือ คอนเซ็ปต์งาน

“งานมันต้องมีคอนเซ็ปต์ ถ้าจะวาดรูปสวยๆ โดยไม่เล่าอะไรเลยมันเป็นความเข้าใจผิด เพราะสุดท้ายตลาดคือคนตัดสินว่างานไหนมีคุณค่า งานไหนไม่มีคุณค่า”

เพราะการขาย NFT ไม่ได้ง่ายเหมือนที่คิด แต่ถ้าพ่อแม่ลูกเรียนรู้ไปด้วยกัน NFT จะไม่ได้เป็นแค่ห้องทดลองของเด็ก แต่เป็นห้องทดลองของครอบครัวที่จะก้าวสู่โลกใหม่ไปด้วยกัน

ต่อจากนี้ คือ ขั้นตอนการขาย NFT ที่พ่อแม่ควรรู้ทีละขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มต้นจนขายสำเร็จ จากประสบการณ์ของ ‘เบียร์’ รัฐโรจน์ ในฐานะคุณพ่อลูกสองและเจ้าของแพลตฟอร์ม NFT 

ถ้าพร้อมแล้ว เริ่มขายได้!

ผลงานแบบไหนที่เป็น NFT ได้

ทุกอย่างที่เป็นไฟล์ดิจิทัลสามารถทำเป็น NFT ได้หมด ทั้งคลิปเสียง คลิปสัมภาษณ์ เพลง ทุกอย่างที่เป็นไฟล์ดิจิทัลและมีเรื่องราว content ที่ไม่เกี่ยวข้องกับคนอื่นสามารถทำได้เลย แต่ถ้าเกี่ยวอาจจะต้องขออนุญาต เพราะสิ่งที่ขายได้ในงาน NFT จะต้องมีเรื่องราวและคุณค่ามากพอที่จะทำให้ซื้อ จึงทำให้คนขายงาน NFT มักจะเป็นกลุ่มดารา กลุ่มนักวาดภาพ ช่างภาพ หรือ อินฟลูเอนเซอร์​ เพราะมีวัตถุดิบในการทำงานอยู่แล้ว

‘เบียร์’ รัฐโรจน์ พณิชย์จุติ CEO และ Co-Founder NextArt

จะเริ่มสร้างผลงาน NFT อย่างไร

ก่อนเริ่มงานต้องคิดคอนเซ็ปต์ก่อน คนขายต้องรู้ว่าจะดึงอะไรมาเป็นจุดขาย จะขายที่ผลงาน เรื่องเล่าของงาน หรือความมีชื่อเสียงของตัวเราเอง แต่ถ้าเป็นเด็กๆ สิ่งที่ควรโฟกัส คือ ผลงานและเรื่องเล่า เพราะทั้งสองอย่างนี้ไปด้วยกัน 

นอกเหนือจากผลงานและเรื่องเล่า สิ่งที่ต้องเตรียมและต้องรู้ก่อนขายคืออะไร

ต้องสมัคร Crypto wallet เพราะ wallet นี้จะคล้ายๆ กับกระเป๋าเงิน เพราะ wallet มีหน้าที่เก็บเงิน (เหรียญคริปโต) และผลงานที่มีการซื้อขาย คือ ทุกอย่างดำเนินการบน smart contract (การทำธุรกรรมออนไลน์บนดิจิทัล) ดังนั้นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องทำ คือ การสมัครแพลตฟอร์มสำหรับแลกเงินเพื่อเปลี่ยนเงินคริปโตเป็นเงินบาท ซึ่งสามารถทำได้ผ่านระบบ service exchange จะเลือกระบบในหรือนอกประเทศก็ได้ ถนัดอันไหนเลือกอันนั้น

แพลตฟอร์มการขาย NFT มีอะไรบ้าง

จริงๆ แล้วมีหลายแพลตฟอร์ม แต่ที่คนนิยมใช้ คือ OpenSea ที่มีความเป็น Global ใครเข้าไปขายก็ได้แต่ต้องเสียค่าแรกเข้าประมาณ 200-300 เหรียญ (5,000 – 10,000 บาท) อันต่อมา คือ NextArt ที่ผมทำอยู่ คือ เปิดให้ทุกคนเข้ามาได้เลยโดยไม่ต้องเสียเงินค่าแรกเข้า ขอแค่มีผลงานกับเรื่องเล่าก็พอ แต่บางอันอาจจะต้องมีการเชิญ เช่น Foundation หรือ Crypto.com ที่จะต้องสมัครเข้าไปก่อนแล้วรอการ approve ถึงจะขายได้ แต่ก็อยากให้เลือกแพลตฟอร์มที่ตรงกับความต้องการของตัวเรามากที่สุด 

จะรู้ได้อย่างไรว่าแพลตฟอร์มไหนเหมาะกับเรา 

แต่ละแพลตฟอร์ม มีข้อดีข้อเสียต่างกัน ต้องเลือกอันที่เหมาะกับเรา ต้องถามตัวเองว่าขายเพื่ออะไร เราอยากขายสิทธิการเป็นเจ้าของผลงานมากกว่าการผลงาน (speculation item) หรือขายให้นักสะสม มันยังมีเรื่องธรรมชาติการตลาดที่เป็นเงื่อนไขการขายที่แตกต่างกันในแต่ละแพลตฟอร์ม

ขายสิทธิกับขายภาพแตกต่างกันอย่างไร จริงๆ แล้ว NFT ขายอะไร 

จริงๆ แล้ว NFT ลิขสิทธิ์อยู่ที่คนสร้างสรรค์งาน แต่ปกติถ้าขายผลงาน NFT เฉยๆ คนซื้อจะทำได้แค่เก็บไว้ ขายต่อหรือทำอะไรกับผลงานต่อไม่ได้เลย แต่ถ้าเราขายไปพร้อมกับสิทธิผลงานด้วย เช่น ขายงานพร้อมสิทธิเพื่อการค้าทุกรูปแบบได้ คนซื้อก็จะสามารถนำผลงานเราไปขายต่อในรูปแบบอื่นได้ ยกตัวอย่าง ขายผลงานพร้อมสิทธิ์สกรีนแก้ว 50 ใบ หรือว่านำไปทำเป็นภาพยนตร์ 2 ภาค

สรุปก็คือ NFT เป็นการขายผลงานดิจิทัล เพียงแต่คนขายสามารถเลือกได้ว่า จะขายให้คนอื่นเฉยๆ หรือจะขายพร้อมสิทธิสร้างสรรค์ผลงานรูปแบบอื่น แต่ขึ้นอยู่กับแพลตฟอร์มด้วย อย่าง OpenSea จะขายผลงานได้อย่างเดียวไม่สามารถให้สิทธิได้ แต่ใน NextArt คนขายจะเลือกได้ว่า จะขายภาพพร้อมสิทธิ์ไหม 

เท่าที่ฟังมาจนถึงตอนนี้ คนขาย NFT ต้องรู้เรื่องคริปโตมาก่อน?

ต้องพอรู้บ้าง อย่างที่บอกว่าการซื้อขายทุกอย่างอยู่บน Blockchain ทุกคนจำเป็นต้องมี crypto wallet (กระเป๋าเงินคริปโต) เพื่อซื้อขายผลงานกัน หรือเสียค่าแรกเข้าจนถึงขั้นตอนสุดท้าย คือ การเปลี่ยนสกุลเงินคริปโตเป็นเงินที่ใช้ได้จริง 

กลุ่มลูกค้าใน NFT คือใคร

ลูกค้ามีหลายกลุ่ม บางคนซื้อไปสะสมเรียกว่า NFT Collector บางคนซื้อเพราะต้องการช่วย Community ให้โตขึ้น ในขณะที่บางคนอาจจะซื้อเพราะต้องการเก็งกำไร หรือบางคนซื้อเพราะว่าต้องการสิทธิเพื่อเอาไปทำผลงานต่อยอดหรือสินค้าต่างๆ 

ลูกค้าจะมีความหลากหลายเพราะให้คุณค่ากับผลงานและเรื่องราว แต่ละคนมีจุดขายไม่เหมือนกัน บางคนขายความสวยของตัวงาน บางคนขายเรื่องเล่า บางคนก็ขายที่ความเป็นบุคคลมีชื่อเสียงของตัวคนสร้าง มันคือความ variety ของตลาด

พอเลือกแพลตฟอร์มแล้ว ขั้นตอนต่อไปคืออะไร

หลังจากเข้าไปแล้วก็สมัครตามขั้นตอน ง่ายหรือยากขึ้นอยู่กับแพลตฟอร์มนั้นๆ สร้าง collection มาก่อน ยังไม่ขายจริงเนื่องจากระบบจะให้เราเขียน description statement (คำอธิบายการขาย) ว่าเราทำงานนี้ขึ้นมาเพื่ออะไร วัตถุประสงค์และแรงบันดาลใจของผลงานคืออะไร เขียน roadmap (แผนการขาย) ว่าจะขายอย่างไร ราคาเท่าไร 

ตั้งราคาผลงานอย่างไร ใครเป็นคนกำหนด 

คนขายกำหนดได้เอง มันจะเป็น option เลย หลังจากคนเอารูปขึ้นไปในแพลตฟอร์ม ว่าจะตั้งราคาแบบไหน เพราะการกำหนดราคามี 2 แบบ อย่างแรกเรียกว่า fixed price คนขายกำหนดราคาได้เลยว่า รูปนี้ราคาเท่าไร เช่น รูปนี้ราคา 2,000 บาท หรืออีกแบบหนึ่ง คือ ฉันจะประมูล (bidding) ต่ำสุด เช่น ขอหนึ่งเหรียญ เป็นต้น โดยระบุใน roadmap ได้เลยว่าผลงานชิ้นไหนจะตั้งขายราคาแบบไหน พอกดขายก็ขายได้เลย ที่เหลือปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกลไกตลาด หน้าที่ต่อไปของคนขาย คือ ทำการตลาดให้ลูกค้าเห็นผลงานเราเยอะที่สุด

ในขั้นเริ่มต้น ทำการตลาดแบบไหนดี

วิธีพื้นฐานและได้รับความนิยมที่สุด คือ ทวิตเตอร์เพราะสามารถเข้าถึงได้ทั่วโลก สามารถใส่รูปกับลิงก์ได้เลย แล้วก็หาจากแฮชแท็กได้เลย เช่น #thainftcommunity #nftcollector #nftthailand มันไม่ได้มีวิธีการตายตัวแต่ต้องทำให้คนซื้อเข้าใจสิ่งที่เราต้องการจะสื่อสารมากที่สุด 

หลังจากซื้อขายแล้ว จะเอาเงินออกมาจาก crypto wallet อย่างไร

เมื่อเข้าไปในแพลตฟอร์มมันจะมีสกุลเงินบังคับ เราต้องรู้ก่อนว่าเงินในแพลตฟอร์มนั้นใช้สกุลเงินอะไร อย่าง NextArt ใช้สกุลเงิน Binance ประเด็นคือต้องรู้ว่า Binance มันกี่บาท เช่น 20,000 Binance จะเท่ากับราคา 2,000 บาท เวลาตั้งราคาก็ต้องใส่ 0.1 Binance มันจะไม่สามารถตั้งราคาขาย 500 บาทได้

ขั้นตอนการแลกเงิน คือ จะทำผ่านระบบ Service Exchange ถ้าจะเปลี่ยนเป็นเงินบาทก็ต้องเข้า Bitkub ได้เลย ระบบจะเปลี่ยนเป็นเงินบาททันที แต่ถ้าต้องการเปลี่ยนเป็นสกุลอื่นๆ อาจจะต้องใช้ Binance ซึ่งเราจะใส่ข้อมูลผ่านระบบได้เลยว่าต้องการแลกเงินเหรียญอะไร จำนวนเท่าไร หลังจากนั้นจะมีลิสต์รายชื่อของคนที่รับแลก แล้วไปตกลงกัน โดยยึดจากราคาเหรียญในตลาด

ข้อควรระวังของการทำ NFT คืออะไร

จริงๆ สิ่งที่ไม่ควรทำมี 3 เรื่อง คือ ไม่ควรทำ Fan art เพราะอาจโดนลิขสิทธิ์ สอง คือ ก๊อปงานคนอื่นมาโดยไม่สร้างสรรค์ต่อ และสุดท้ายไม่ควรทำภาพ nude ความรุนแรง หรือสื่อที่แสดงถึงความรุนแรง พ่อแม่ต้องรู้ไว้เลย 

เมื่อเข้าใจขั้นตอนแล้ว คำถามต่อมา คือ พ่อแม่จะเข้ามาอยู่ตรงไหนของการขาย NFT

เรื่องผลงานลูกคงทำเป็นหลัก แต่พ่อแม่อาจจะเข้ามาดูเรื่องแพลตฟอร์มการขาย พ่อแม่ควรจะเข้าไปดูได้ว่า ลูกควรใช้แพลตฟอร์มไหน เพราะไม่ใช่ทุกคนต้องจ่ายเงินเป็นหมื่นหรือไปซื้อ invitation มา เพราะเรื่องนี้เด็กๆ ไม่รู้ พ่อแม่ต้องศึกษา ดูว่าขายได้ไหม และส่วนที่แลกเงินกลับมามันก็ต้องผ่าน Exchange พ่อแม่ก็ต้องสมัครหรือใช้บัญชีของพ่อแม่แทน 

ทั้งหมดนี้ ขั้นตอนสำคัญที่พ่อแม่ควรรู้เพื่อช่วยลูกขายงาน NFT คืออะไร

พ่อแม่ต้องรู้ว่าธรรมชาติของตลาดเป็นอย่างไร เพราะมีหลายคนเข้าใจผิดตั้งแต่เริ่มเลยว่า NFT ขายได้ทุกคน ขายได้แพงๆ ทั้งนั้นเลย ทำปุ๊บขายปั๊บ แต่มันไม่ใช่ ประเด็นคืองานต้องมีคอนเซ็ปต์ มีจุดขาย อยู่ในบางแพลตฟอร์มขายง่าย บางแพลตฟอร์มขายเรื่องสิทธิ์ได้ พ่อแม่ควรจะเรียนรู้และศึกษาไปด้วย เพราะเรื่องนี้มันซับซ้อนเกินกว่าเด็กจะทำเอง แต่ถ้าลูกมีความสามารถ พ่อแม่ก็เหมือนผู้จัดการคอยแนะนำ ควรขายที่ไหน ลองงานคอนเซ็ปต์แบบนี้ ถ้าไปด้วยกันเป็นทีมก็จะทำให้โอกาสขายได้สูงกว่า 

แสดงว่าอยากขายก็ไม่ได้ขายได้ทันที จริงๆ แล้วมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น?

ถ้าบอกว่าทำขายมันแค่นั้น แต่ถ้าบอกว่าทำขายให้ได้มันอีกเรื่องหนึ่ง ถึงอย่างไรก็ต้องมีการโปรโมต งานต้องมีคอนเซ็ปต์ ถ้าจะวาดรูปสวยๆ โดยไม่เล่าอะไรเลยมันเป็นความเข้าใจผิด เพราะสุดท้ายตลาดคือคนตัดสินว่างานไหนมีคุณค่า งานไหนไม่มีคุณค่า 

ขอแค่คุณเล่าเรื่องคุณค่าของงานออกไปแล้วมีคนเห็นคุณค่าของมันแบบที่คุณเห็น งานของคุณก็จะมีคุณค่าขึ้นมาทันที มันเหมือนห้องแล็ปขนาดใหญ่ที่ให้คุณมาพิสูจน์ว่าคุณค่าที่คุณเห็นมันมีคนเห็นด้วยไหม หน้าที่ของคนสร้าง NFT คือการสื่อสารออกไปให้ได้มากที่สุด ทำให้คนเห็นภาพหรืองานมากที่สุดเพื่อพิสูจน์ว่าคุณค่านั้นมันมีอยู่จริง

เมื่อการทำ NFT มันไม่ง่ายขนาดนั้น รัฐควรเข้ามาสนับสนุนไหม

ความเห็นส่วนตัว รัฐควรเข้ามาซัพพอร์ตเชิงนโยบายอย่างจริงจัง มีการสนับสนุนการสอนในโรงเรียน มีการจัดอีเวนต์และช่องทางโปรโมตให้ เหมือนกับที่เกาหลีผลักดันสื่อบันเทิง รัฐก็ควรทำให้เวลานึกถึง metaverse แล้วนึกถึงไทย เพราะเราเก่งเรื่องดีไซน์  

แต่อยากให้เข้าใจว่า NFT เป็นเรื่องอิสระ ให้มันถูกสร้างขึ้นมาเอง ไม่ใช่ตั้งธงมาว่า งาน NFT ของไทยควรเป็นอย่างไร 


Writer

Avatar photo

ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ชอบดูซีรีส์เกาหลี เพราะเชื่อว่าตัวเราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ สนใจเรื่องระบบการศึกษาเเละความสัมพันธ์ในครอบครัว พยายามฝึกการเล่าเรื่องให้สนุกเเบบฉบับของตัวเอง

Illustrator

Avatar photo

กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts