เพราะทุกคนวาดรูปได้ ฝึก Visual Thinking ได้ เด็กๆ ก็เช่นกัน
“ถ้าปล่อยลูกไว้กับผนังขาวๆ ทิ้งเขาไว้กับดินสอสีสักแท่ง เสร็จครับ โลกในหัวเขาจะถูกฉายออกมาบนผนังขาวนั้นเลย” มะโหนก-ศุภวิชช์ สงวนคัมธรณ์ ผู้ก่อตั้งบริษัทแบล็คบ็อกซ์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Visual Thinking ย้ำ
และถ้าฝึก สิ่งที่เด็กๆ จะได้มีมากกว่า ‘สื่อสารผ่านภาพ’ หนึ่ง ประสบการณ์จะถูกเรียกอยู่บ่อยๆ ส่งผลให้ความจำดีขึ้น สอง สมองจะค่อยๆ จัดระเบียบได้ดีขึ้นเรื่อยๆ สาม การเล่นที่ไม่รู้จบ ขอแค่พ่อแม่ไม่วิจารณ์หรือตัดสิน
ปล่อยให้ลูกถ่ายทอดเรื่องราวของโลก
- ชวนลูกวาดความคิดในหัวของตัวเอง เรื่องอะไรก็ได้
- ถามไม่ชี้นำแต่กระตุ้น เน้นให้ลูกถ่ายทอดจินตนาการของตัวเอง
- พ่อแม่ไม่ใช้คำพูดตัดสินการวาดของลูก เช่น “วาดอะไรเนี่ย ไอติมไม่ได้วาดแบบนี้”
ตัวอย่างไดอะล็อก
“แม่ หนูหิวขนม”
“หิวขนมอะไรลูก ไหนลองวาดดูซิ”
(ลูดวาดรูป)
“นี่รูปอะไรเหรอลูก”
“ไม่รู้อะแม่ กินแล้วมันหยุ่นๆ ผสมเปรี้ยวหน่อย”
“ใช่อันเดียวกับที่คุณยายเอาใส่คุกกี้เมื่อวันก่อนหรือเปล่า”
“เอ้อ ใช่ๆๆๆ”
การ์ตูน หนัง เพลง ลูกชอบอะไรก็วาดสิ่งนั้น
- สังเกตว่าลูกชอบสื่อแบบไหน/สื่ออะไร
- ชวนลูกวาดสื่อที่ชอบ สร้างบรรยากาศสบายใจ วาดอะไรก็ได้ไม่ผิด
“ไม่ต้องกังวลนะว่าพ่อแม่จะรู้เรื่องหรือเปล่า เอาแค่หนูรู้เรื่องก็พอ ถ้าแม่ไม่รู้เรื่องเดี๋ยวแม่ถามเพิ่ม”
ชวนลูกเล่นกับเพื่อนด้วยภาพ
- สนับสนุนให้ลูกเล่นกับเพื่อนโดยใช้ภาพเป็นสื่อกลาง
- พ่อแม่คอยดูแลใกล้ๆ เพื่อลดคำพูดที่เด็กๆ อาจบูลลี่กันโดยไม่ได้ตั้งใจ
- ใช้กิจกรรมอื่นมาช่วย เช่น พากลุ่มเด็กปั่นจักรยานแถวบ้านแล้วชวนวาดภาพระหว่างทาง (“ลองช่วยกันวาดให้แม่ดูหน่อย ปั่นจักรยานมาเห็นอะไรบ้าง”)
- สนับสนุนให้ลูกเริ่มฝึกจากการวาดลงกระดาษ วาดสลับการเล่น
วาดไปเล่นไป ลูกได้อะไร?
- ประสบการณ์เดิมจะถูกเรียกอยู่บ่อยๆ ผ่านการวาด ส่งผลให้ความจำดีขึ้น
- สมองของเด็กจะค่อยๆ จัดระเบียบข้อมูลได้ดีขึ้นเรื่อยๆ
- ภาพที่วาดเสร็จแล้วมักไม่ชวนเล่น หมายความว่า ภาพที่วาดไม่เสร็จ หรือวาดไม่สวยของลูก มีมนต์เสน่ห์ของการเล่น และเชื้อเชิญให้คนมาระบายเพิ่ม นั่นจะทำให้แง่มุมของการเรียนรู้เข้มข้นขึ้นด้วย