Human Library ห้องสมุดมนุษย์ : อย่าตัดสินคนจากปกหนังสือ ไม่ว่าคุณคือใคร เราก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน 

  • Human Library หรือ ห้องสมุดมนุษย์ คือ กิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ ‘มนุษย์’ ที่มักถูกตัดสินจากคนในสังคมได้ถ่ายทอดเรื่องราวของตัวเองในบทบาท ‘หนังสือ’ และเปิดรับสมัคร ‘ผู้อ่าน’ ที่พร้อมรับฟังเรื่องราวของพวกเขาอย่างเข้าใจและไร้อคติ 
  • ธนาคารจิตอาสาจัดกิจกรรมห้องสมุดมนุษย์ขึ้น ด้วยเชื่อว่า กิจกรรมนี้จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมเห็นความสำคัญของการมี empathy ต่อกันมากขึ้น และการรับฟังอาจเป็นอีกความหวังหนึ่งของสังคมไทย ในวันที่บ้านเมืองที่เราอาศัยเต็มไปด้วยการตีตรา แปะป้าย และแบ่งฝ่าย 
  • Human Library ทั่วโลกมีเป้าหมายเพื่อสร้างพื้นที่ให้ผู้คนได้รับฟังเรื่องราวของมนุษย์ด้วยกันอย่างไม่ตัดสิน แต่ หนุ่ม – ธีระพล เต็มอุดม ผู้อำนวยการธนาคารจิตอาสา มองว่ากิจกรรมห้องสมุดมนุษย์ในครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายที่ลึกซึ้งกว่านั้น เพราะมากกว่าการรับฟังคนอื่น คือ การได้เข้าใจตัวเอง

“อย่าตัดสินหนังสือจากหน้าปก” มนุษย์ก็ด้วยเช่นกัน 

ผู้มีอาการซึมเศร้าที่รอดจากการฆ่าตัวตาย

ผู้มีอาการ OCD (ย้ำคิดย้ำทำ)

ผู้หญิงมุสลิม

ผู้พิการทางสายตา

ผู้หญิงที่มีรอยสักทั้งตัว

สาวพลัสไซซ์ที่มีน้ำหนักเยอะ

แรงงานโรบินฮู้ดในอเมริกา

Gen Z ที่ถูกหยาม

นักแสดงละครใบ้ผู้ถูกปาหินใส่

และ LGBTQ+ ที่ถูกกระทำ

พวกเขาคือหนังสือมนุษย์ 10 เล่มที่ถูกคัดเลือกให้เข้าร่วมกิจกรรม Human Library ชีวิตของเขาและเธอเป็นหนึ่งในหลายร้อยเรื่องราวที่ถูกสังคมตัดสินตัวตน ทั้งๆ ที่พวกเขาก็เป็น ‘คน’ ไม่ต่างจากเรา

‘Don’t judge a book by its cover’ คือ ปรัชญาที่ Human Library ทุกแห่งยึดถือร่วมกัน โดยหวังว่า มนุษย์จะไม่ตัดสินมนุษย์ด้วยกันเองเพียงเพราะรูปลักษณ์ภายนอกหรือสถานะที่คนในสังคมตีตราไว้ เหมือนกับคำกล่าวที่ว่า อย่าตัดสินเนื้อหาภายในหนังสือเพียงแค่ได้เห็นหน้าปก

ห้องสมุดมนุษย์เริ่มต้นในปี ค.ศ.2000 ที่เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มนุษย์ได้พูดคุยและลดอคติต่อกันและกัน กิจกรรมห้องสมุดมนุษย์ได้แพร่หลายไปทั่วโลก โดยแต่ละแห่งก็มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมต่างกันไป และเคยจัดขึ้นที่ประเทศไทยมาแล้ว 

มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ธนาคารจิตอาสาและความสุขประเทศไทยตัดสินใจเปิดรับอาสา ‘Human Book’ เพื่อทดลองจัดกิจกรรมห้องสมุดมนุษย์เป็นครั้งแรก และผลตอบรับก็ออกมาดีเกินคาด เมื่อมีผู้สนใจสมัครเป็นหนังสือมนุษย์มากกว่า 200 คน ใน 3 วันแรกที่เปิดรับสมัคร ก่อนจะคัดเลือกเหลือเพียง 10 เรื่องราว กลายเป็นจุดเริ่มต้นของกิจกรรมที่ดึงหัวใจของคนแปลกหน้าให้ใกล้กันกว่าที่เคย

mappa ชวนทุกคนก้าวเข้ามาทำความรู้จักโลกของห้องสมุดมีชีวิตกับ 3 ผู้จัดกิจกรรม Human Library จากทีมธนาคารจิตอาสา หนุ่ม – ธีระพล เต็มอุดม ผู้อำนวยการธนาคารจิตอาสา, เอเชีย – ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ ผู้อำนวยการร่วมธนาคารจิตอาสา และ เล้ง – โชติศักย์ กิจพรยงพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายฝึกอบรม ธนาคารจิตอาสา 

ชวนเปิดบทสนทนาสบายๆ ถึงที่มาที่ไปของ Human Library กระบวนการรับฟังและยอมรับความหลากหลายผ่านกิจกรรมที่มีเป้าหมายเพื่อให้คนในสังคมลดอคติที่มีต่อกัน

อะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจกิจกรรมห้องสมุดมนุษย์

เอเชีย: ด้วยภารกิจของธนาคารจิตอาสา เราทำงานด้านการสร้างเสริมสุขภาวะทางปัญญา (spiritual health promotion) เพราะฉะนั้นงานหลักของเราคือสร้างช่องทางเพื่อพัฒนาจิตใจให้คนรู้เท่าทันตัวเอง เรื่อง empathy คือหนึ่งในนั้น เราสนใจเรื่องนี้อยู่ก่อนแล้วก็เลยนำเรื่องห้องสมุดมนุษย์ที่โคเปนเฮเกนมาแชร์บนเพจธนาคารจิตอาสา ซึ่งเสียงตอบรับดีมาก คนเริ่มเห็นว่าฉันมีความหวังที่จะได้รู้จักคนอื่นหรืออยากให้คนอื่นรู้จักตัวเอง 

เอเชีย – ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ ผู้อำนวยการร่วมธนาคารจิตอาสา

แล้วห้องสมุดมนุษย์ของธนาคารจิตอาสาเป็นแบบไหน

หนุ่ม: จริงๆ แกนหลักของห้องสมุดมนุษย์ทั่วโลก คือ อย่าตัดสินคนจากปกหนังสือ ที่โคเปนเฮเกนจะเป็นการพาคนที่มีภาพจำในใจ ตัดสินไปแล้วว่าคนนี้ต้องเป็นคนไม่ดี มาคุยกับหนังสือที่เขามีภาพจำ เพื่อทำความเข้าใจเรื่องราวของหนังสือมากขึ้น แล้วเราเห็นโอกาสว่า ถ้าเราไกด์เพิ่มมากขึ้น นอกจากพูดคุยเพื่อเข้าใจคนอื่น เขาจะเข้าใจตัวเองด้วย เช่น หนังสือและผู้อ่านคู่หนึ่งคุยกันเสร็จ คนอ่านอาจจะเห็นบางอย่างในตัวเอง เห็นความเชื่อมโยงระหว่างตัวเองกับคนตรงหน้า (หนังสือ) มากขึ้น

เล้ง: ยกตัวอย่างเคสหนึ่ง คนอ่านพบว่า ตัวเองเคยอยู่สถานะเดียวกันกับหนังสือที่เขาจับคู่ด้วย ทั้งคู่เป็นคนทำงานเหมือนกัน แค่เผอิญเกิดเหตุการณ์บางอย่างในชีวิตของหนังสือเล่มนั้น เขาก็พยายามปรับตัวจนกลายมาเป็นหนังสือ พอเราได้มาสัมผัสกันอย่างนี้ คนอ่านจะเห็นความเชื่อมโยงระหว่างตัวเองกับหนังสือที่เขาอ่านมากขึ้น จริงๆ แล้วพวกเขาก็มีบางอย่างที่เหมือนกัน 

เล้ง – โชติศักย์ กิจพรยงพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายฝึกอบรม ธนาคารจิตอาสา

เราแบ่งกระบวนการเป็น 3 ส่วนหลัก คือ คัดหนังสือ คัดคนอ่าน และการดูแลในวันงานครับ 

ตอนเปิดรับสมัครหนังสือมนุษย์ ทีมงานบางคนกังวลว่าจะไม่มีหนังสือมาสมัคร จะมีใครอยากเล่าเรื่องไหม แต่ก็สมัครมา 200 กว่าคนครับ เราคัดเหลือ 10 เล่ม เพราะเป็นรอบทดลอง อยากได้จำนวนที่กำลังดี แล้วเราดูแลได้ ฝั่งคนอ่าน เราก็คัดเลือกคนที่มีแนวโน้มอยากจะเข้าใจ ไม่ได้อยากสอนหรือให้คำแนะนำ คนอ่านบางคนก็ยอมรับว่าตนเองมีอคติกับคนบางประเภทด้วย

และส่วนสุดท้ายคือ เราดูแลทั้งหนังสือและคนอ่านก่อนเริ่ม ด้วยการพาให้หนังสือรู้จักกันเองและบรีฟ ให้ข้อมูลคุยกันในเชิงว่าควรปฏิบัติอย่างไร ไม่ต้องตอบทุกคำถามของคนอ่านก็ได้ ต่อให้เขาอยากรู้ แล้วเราก็บรีฟฝั่งคนอ่านเหมือนกันว่า หนังสือก็เป็นมนุษย์เหมือนกับเรา ไม่ต้องตัดสินเขา และความอยากรู้ของเรา บางทีมันเป็นของเราอย่างเดียว เราถามแต่เขาอาจจะไม่ตอบ มันโอเคที่เขาจะไม่ตอบ วันงานจะมีหนังสือ 10 เล่ม คนอ่าน 20 คน ทำสองรอบ คุยกันคู่ละ 30นาที แล้วปิดท้ายด้วยการคุยสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้น เจออะไรบ้าง ทั้งฝั่งคนอ่านและฝั่งหนังสือ 

‘หนังสือมนุษย์’ มนุษย์หมายถึงใคร 

เอเชีย: จะมี 2 แบบ แบบแรก คือ รูปลักษณ์ภายนอกที่มองแล้วรู้เลย เช่น ผู้หญิงมุสลิม ผู้หญิงมีรอยสัก คนน้ำหนักเยอะ ขณะเดียวกัน แบบที่สองคือ คนที่มีจุดเด่น มีเรื่องราวที่น่าสนใจในชีวิตเขา ประสบการณ์ที่เขาได้รับมากลายเป็นบาดแผลในวัยเด็ก รวมถึงผู้ใหญ่ด้วย

หนุ่ม: หมายถึงมีสถานะที่คนอื่นมอบให้เขา โดยที่เขาอาจจะไม่ได้คิดว่ามันเป็นตัวเขาจริงๆ คนที่สมัครเป็นหนังสือส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนที่เข้าเกณฑ์ว่า สังคมมีภาพอะไรบางอย่างที่เข้าใจเขาผิด มีอคติ ไม่ปฏิบัติกับเขาอย่างคนเท่าเทียมกัน

หนุ่ม – ธีระพล เต็มอุดม ผู้อำนวยการธนาคารจิตอาสา

หนังสือที่เป็นอาสาก็จะได้รู้ว่าการที่เขามาที่นี่ จะทำให้เขาเข้าใจตัวเอง และเป็นโอกาสให้คนรู้จักเขามากขึ้น คนส่วนใหญ่ที่สมัครจะมาด้วย mindset นี้ เราจึงต้องคัดหนังสือ ไม่ใช่คัดว่าใครเข้าเกณฑ์-ไม่เข้าเกณฑ์ แต่กระบวนการคัดเป็นกระบวนการที่เรากำลังจะบอกเขาถึงสิ่งที่เราเชื่อด้วย

บางคนสมัครด้วยความคิดที่ว่า ฉันต้องมีอะไรดีๆ มาเล่าให้คนอื่นฟัง ต้องมีอะไรที่ฉันรู้และคนอื่นไม่รู้ เราก็ถือโอกาสนี้ในการจูนเพื่อบอกเขาว่าเป้าหมายจริงๆ ของเราคืออะไร ซึ่งการจูนให้ทุกคนเข้าถึงเรื่องเดียวกันก็เป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง เหมือนเราจะเปิดร้านกาแฟ มันง่ายมากที่จะบอกว่า มีร้านกาแฟ มีโต๊ะ มีเก้าอี้ แต่มันยากที่สุดที่จะบอกว่า ร้านนั้นจะให้ประสบการณ์อะไรกับคน ห้องสมุดมนุษย์ก็เหมือนกัน 

ประสบการณ์ที่ผู้เข้าร่วมจะได้รับกลับไปจากห้องสมุดมนุษย์แห่งนี้คืออะไร

หนุ่ม: เราคิดว่า มันคือการกลับมาเข้าใจตัวเองเพื่อเข้าใจคนอื่น ขณะเดียวกัน เขาจะได้อยู่ในการรับฟังแบบ deep listening โดยไม่รู้ตัว เพราะเราไม่ได้บอกเขาว่านี่คือ deep listening คุณจะต้องทำอย่างนี้นะ แต่เรามีไกด์ไลน์ บอกวิธีการ แล้วก็สร้างสภาพแวดล้อมให้เขารู้สึกว่า คนเหล่านี้ งานวันนี้ เรามาดูแลกันแล้ว เราไปด้วยกัน 

มันคือประสบการณ์ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่เข้าใจกันจริงๆ

เอเชีย: หัวใจของห้องสมุดมนุษย์ คือ ความเข้าอกเข้าใจกัน (empathy) ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อคนเข้ามาเจอ ปฏิสัมพันธ์ สัมผัส และรับฟังความเป็นมนุษย์ของกันและกัน  คุยกันแบบไม่ใช่เพื่อหาข้อมูลหรือข้อโต้แย้งไปเอาชนะอคติภายนอก  จริงๆ อาจไม่ได้มีความคาดหวังอะไรเลยนอกจากมาเจอกัน เพื่อเข้าใจและสัมผัสกันและกัน  มันไม่ใช่การสัมภาษณ์ แต่เป็นการแลกเปลี่ยนกันแบบมนุษย์ต่อมนุษย์ คือ ผู้อ่านที่เป็นผู้สนทนา ต้องรู้ว่าไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะไปซักถามหรือตรวจสอบหนังสือ แต่มันคือการเปิดรับและรับรู้เรื่องราวของคนตรงหน้า

ทำอย่างไรเราถึงจะสัมผัสและเข้าใจกันและกันได้

เอเชีย: ต้องอาศัยทักษะ self-awareness การตระหนักรู้ในตนเองว่า ตอนนี้มันเกิดอะไรขึ้นในร่างกาย มันเกิดอะไรขึ้นในความคิด เกิดอะไรขึ้นในจิตใจของเรา อีกอันคือ self-reflection คือ การสะท้อนว่าประสบการณ์ที่เกิดขึ้นมันคืออะไร มันมีที่มาที่ไปอย่างไร แล้วมันมีความหมายอย่างไรกับตัวเรา 

ทั้งสองทักษะนี้จะทำให้เราเห็นโลกทัศน์ เห็นมุมมอง การตัดสินที่เรามีต่อตัวเราเอง เห็นการตัดสินคนอื่น เราเชื่อว่าประสบการณ์ที่มันดิบๆ แบบนี้ จะทำให้คนเท่าทันตัวเอง สามารถที่จะเปลี่ยนแปลง ออกจาก โครงสร้างความเชื่อเดิมๆ ที่ขังเราเอาไว้ เราสามารถที่จะเป็นมนุษย์ที่อิสระจากกรอบความคิดเดิมๆ ของเราได้

สามารถสรุปได้ไหมว่า ห้องสมุดมนุษย์กำลังสร้างสภาพแวดล้อมที่หลุดออกจากกรอบเดิม เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้ empathy จากสถานการณ์จริง 

หนุ่ม: ใช่ ถ้าเปรียบเทียบกับร้านกาแฟ เราบอกเขา ‘จงเพลิดเพลิน’ มันไม่เหมือนกับการเตรียมเบาะ เตรียมกลิ่นกาแฟที่มันเอื้อให้คนรู้สึกว่าพร้อมจะเพลิดเพลิน เรื่อง empathy เหมือนกัน ถ้าเราบอกว่าวันนี้เรามาคุยเรื่องฝึก empathy คนจะแบกอะไรในใจมาเยอะมาก มีความเกร็งหรือแบกเครื่องมือเดิมๆ ของตัวเอง เชื่อว่า empathy ของฉันเป็นแบบนี้ แต่ถ้าเราให้เขาเจอกับกิจกรรมที่เอื้อให้มันเกิด empathy จะเกิดได้มากได้น้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยเงื่อนไขของแต่ละคน เราไปบังคับตรงนั้นไม่ได้ แต่เราเอื้อให้เขาไปสู่เรื่องนี้ นี่คือจุดที่ห้องสมุดมนุษย์ของเราจะพาเขาไป

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า empathy เกิดขึ้นแล้ว?

หนุ่ม: มีหลายวิธีที่จะรู้ได้ หลายแบบมาก แบบหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ‘ภาพถ่าย’

อาจารย์เอเชียชวนพี่ตุ่ย – ธำรงรัตน์ บุญประยูร ช่างภาพที่สนใจงานถ่ายภาพขาว-ดำ มาถ่ายภาพของคนอ่านกับหนังสือ ก่อนและหลังอ่าน พอเป็นภาพขาว-ดำ มันชัดเจนเลยว่าแววตาเปลี่ยนไป นี่คือแววตาของคนที่หัวใจเข้าใกล้กันมากขึ้น ภาพถ่ายแทนอะไรหลายอย่างนับล้าน เราบอกได้จากภาพทันทีว่าคนในภาพเขามีความใกล้ชิดสนิทสนมหรือเขามีบทบาทยังไงต่อกัน  นี่ก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะบอกได้ว่าคนมี empathy ต่อกัน

ภาพก่อนและหลังอ่านของหนังสือ – อรรนพ กิจเกสร นักแสดงละครใบ้วัย 38 ปี กับคนอ่าน ซึ่งเป็นพนักงานประจำบริษัทแห่งหนึ่ง อรรณพเคยแสดงริมถนนและเทศกาลการแสดงทั่วโลกมาแล้ว เขาเคยโดนปาหินใส่ระหว่างการแสดง เพียงเพราะเป็นคนเอเชีย

ภาพคู่ของโบ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นผู้อ่าน และจิราพร พงษ์อุดม หรือจีน่า หนังสือมนุษย์วัย 46 ปี ที่มีรอยสักทั้งตัว เธอเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อมั่น การเป็นตัวของตัวเอง ความอ่อนแอที่ซ่อนอยู่ภายใต้รอยสัก และเบื้องหลังแผลเป็นรอยสักบนตัวเธอ

ชมพู่ หญิงสาวผู้มีภาวะซึมเศร้า และรอดจากการพยายามฆ่าตัวตาย เธอสะท้อนให้ฟังในวงสนทนาตอนท้ายว่า เช้าก่อนจะมาเข้าร่วม เธอรู้สึกลังเลอยู่ไม่น้อย แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจมา ที่นี่เธอได้พบกับผู้อ่านที่มีอาชีพนักเขียน ดูเหมือนว่า เธอจะตัดสินใจไม่ผิดที่มาเข้าร่วม เห็นได้จากภาพหลังพูดคุย ทั้งรอยยิ้ม แววตาและความใกล้ชิด คือบทพิสูจน์ว่าหัวใจของพวกเขาใกล้กันกว่าเดิม 

หนุ่ม: อีกทางหนึ่ง คือ การคุยสะท้อนตอนหลังอ่านจบ มันบอกได้เหมือนกัน เพราะคนบอกเล่าจากประสบการณ์ของตัวเอง ไม่มีใครบังคับเขา ดังนั้นเราอาจจะได้ยินเขาพูดได้ว่า เขาเข้าใจ เขาเปลี่ยนมุมมอง หรือเขาเห็นอะไรเพิ่มมากขึ้น เราก็จะได้รับรู้ว่าเขามี empathy มากขึ้น

เอเชีย: มันคงจะมีวิธีหลากหลายกว่านี้อีกที่เราไม่รู้ เราแค่เจอว่าการถ่ายภาพก็เป็นวิธีที่ทำให้เห็น empathy ได้ อาจจะไปเจอวิธีอื่นๆ อีกก็ได้ คนอื่นที่ไปทำอาจจะมีวิธีอื่นอีกก็ได้ที่มันสื่อให้คนเห็นว่า นี่ไงการเปลี่ยนแปลง นี่ไงความหวัง 

สำหรับหนังสือที่เคยเป็นผู้ป่วยซึมเศร้า เขาอาจจะต้องเล่าเรื่องของเขาซ้ำๆ เรามีวิธีดูแลหนังสือเล่มนี้อย่างไร

เอเชีย: เรามีกระบวนการเตรียมความพร้อมของคนที่มาเข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ เป็นคนอ่าน หรือทีมงาน คนเป็นหนังสือก็มีการจัดกระบวนการก่อนที่จะให้เขาคุยกัน เขาไม่จำเป็นต้องเล่าเรื่องประสบการณ์ทั้งหมดลงไปในรายละเอียด เขาเล่าเท่าที่เขาอยากจะเล่า เขาแบ่งปันเท่าที่เขาจะอยากแบ่งปัน 

ถ้ามีคำถามที่ทำให้เขารู้สึกอึดอัด เขาไม่ต้องตอบก็ได้ และไม่จำเป็นจะต้องเล่าข้อสรุปของชีวิต บทเรียนสำคัญของชีวิตให้ฟัง หนังสือมนุษย์ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ประสบความสำเร็จแล้ว เขาอาจจะเป็นคนที่แก้ไขปัญหาได้แล้ว หรือยังอยู่ในปัญหาก็ได้ ไม่ต้องไปเล่าอะไรใหญ่โต แค่แบ่งปันความเป็นมนุษย์ธรรมดาๆ

ส่วนคนอ่าน เราก็เตรียมพร้อมเขา ให้ปฏิบัติกับหนังสือแบบเป็นเพื่อนมนุษย์เหมือนกัน คุณมีข้อสงสัย สนใจอยากรู้ ถามก็ได้ แต่ต้องให้เกียรติกับคนที่เขาตอบ และถ้าเขาไม่ตอบ มันก็โอเค 

ระหว่างกิจกรรม ตอนเขาคุยกัน เราก็จะมีทีมกระบวนกร เป็นทีมจัดการที่คอยสังเกตแต่ละคู่ว่าเขาต้องการการซัพพอร์ตยังไงบ้าง หลังคุยกันก็มีการสะท้อน คุยสรุปกับทั้งสองกลุ่มว่าเป็นยังไงบ้าง ประสบการณ์ที่ได้รับ เขาต้องการการช่วยเหลือ การซัพพอร์ตยังไงบ้าง เรามีการดูแลตลอดกระบวนการ 

เรารู้สึกว่าสังคมนี้ การดูแลคนที่มีความต้องการพิเศษ หรือเคยประสบเหตุการณ์ยากๆ ในชีวิต มันไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง อย่างคนที่เป็นโรคซึมเศร้า หลายคนจะมองว่ามันเป็นปัญหาของเขา แต่จริงๆ มันไม่ใช่แค่ปัญหาของเขาที่ต้องไปดิ้นรนต่อสู้เพียงคนเดียว มันเป็นโจทย์ของทุกคนในครอบครัว และเป็นโจทย์ของทุกๆ คนในสังคมที่ต้องดูแลกัน เราควรจะช่วยกันสร้างสิ่งแวดล้อมและระบบที่ดูแลทุกคนด้วยความเป็นมนุษย์

สำหรับกิจกรรมห้องสมุดมนุษย์ เราจะบอกเลยว่า ตลอดทั้งกระบวนการ ทุกคนจะได้ช่วยเหลือดูแลกัน แม้ว่าเขาคุยกันสองคน แต่เขารู้ว่ามันไม่ใช่แค่คนสองคนคุยกัน มันเป็น community ของทุกคน ที่เข้ามาเชื่อมโยง รับฟัง แล้วก็ดูแลกัน

หากเกิดกรณีที่คนเล่าอาจจะรู้สึก triggered มีวิธีรับมือไหม

เอเชีย: มันมีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่เราก็คิดว่าเครื่องมือ supporting system ที่เราเตรียมไว้ น่าจะดูแลได้ ประกอบกับเราก็มีเครือข่ายคนรู้จักที่เป็นนักจิตวิทยา และจิตแพทย์ต่างๆ อยู่เยอะ ถ้าเกิดมีเคสที่เขามีความต้องการความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ เราสามารถติดต่อได้ไม่ยาก ส่วนหนึ่งของคนที่สมัครมา เขาคัดเลือกตัวเองมา เขาน่าจะอยู่ในสภาวะที่พร้อมระดับหนึ่ง คือถ้าเกิดเป็นคนซึมเศร้า ก็ไม่ได้อยู่ท่ามกลางสภาวะนั้น

หนังสือที่เขาเป็นซึมเศร้าก็สะท้อนในวงว่า เขาตัดสินใจตอนเช้าก่อนจะมาเลย ว่าเขาพร้อมไหมที่จะมา ผมคิดว่าอันนี้มันช่วยให้คนกลับมามีสกิลนะ ที่พูดถึงไปเมื่อสักครู่ 2 สกิลที่เป็นทักษะหลัก ก็คือเรื่อง self-awareness และ self-reflection แล้วเขาก็สามารถพาตัวเองเข้าสู่กระบวนการ ทั้งช่วยเหลือดูแลตัวเอง ช่วยเหลือดูแลคนอื่น มันมีความเป็น community สิ่งนี้คือสิ่งที่เราอยากเห็นในโลกและสังคมไทย คือ คนมีความตระหนักรู้ในตัวเอง สามารถสะท้อนตัวเองเป็น แล้วก็เข้าไปมีประสบการณ์อย่างเต็มที่กับสังคม แล้วก็ช่วยเหลือดูแลกัน 

พอเข้าร่วมกิจกรรม ความคิดของผู้เข้าร่วมเปลี่ยนไปอย่างไร

เล้ง: มีวงสนทนาหนึ่ง เขาเป็นเจ้าหน้าที่มูลนิธิ ทำงานเรื่องเด็ก เขาบอกว่า เขาดูแลเด็กที่เป็นซึมเศร้าอยู่เหมือนกัน เขาจับคู่กับคนที่พยายามฆ่าตัวตาย สิ่งที่เขาสะท้อนในวงย่อย คือ ตัวเขาเองต้องอ่านเพื่อดูแลเด็ก แต่เขาพบว่า คำว่า ‘ซึมเศร้า’ มันก็ยังมีระดับที่ต่างออกไปจากความเข้าใจเดิมของเขา ซึ่งมันน่าสนใจตรง บางทีเวลาเราอ่านข้อมูลอะไร เราคิดว่าเรารู้แล้ว จนกระทั่งได้มาเจอกับประสบการณ์ตรง ประสบการณ์ความเป็นมนุษย์ของคนคนหนึ่งที่ต้องเผชิญกับสิ่งนี้ มันจะช่วยขยับความเข้าใจของเราเพิ่มขึ้นไปอีก เราอาจจะดูแลคนอื่นได้ดีขึ้น หรือเข้าใจคนอื่นได้มากขึ้น 

เอเชีย: มีอีกกรณีที่น่าสนใจ เราจัดสองรอบ รอบแรกเขาบอกว่าคู่ของเขาคุยดีมาก คุยกันอย่างเข้าอกเข้าใจ แต่พอมารอบสอง คู่ของเขา คุยๆ ไปแล้วก็เริ่มสอน คือจากมุมมองของคนอ่าน อาจจะมองว่าหนังสือมีปัญหาที่เผชิญอยู่ แล้วพยายามจะสอน ไปบอกว่าเขาควรจะคิดอะไร คิดอย่างไร ตอนคุยรอบที่สอง เขาบอกว่า เขาอึดอัดมากเลย ต้องถอยกลับมาเพื่อหาอะไรบางอย่างมาปกป้องตัวเขาเอง ซึ่งผมคิดว่า มันเป็นความเป็นจริงที่มันเกิดขึ้นนะ

เวลาเราคุยกันในบ้าน คุยกันในที่ทำงาน มันจะมีคนที่รู้สึกว่าตัวเองอยากจะช่วย หวังดี โดยที่ไม่ได้ถามอีกฝ่ายหนึ่งก่อนว่าเขาอยากจะรับการช่วยเหลือไหม เป็นประเด็นที่ว่าเวลาเราคุยกัน สื่อสาร มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน มันควรจะเอาใจเขามาใส่ใจเรา อย่าเอาความหวังดีของเราไปใส่ให้เขา​ โดยที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้ต้องการ

มันไม่ใช่ความผิดพลาดของกระบวนการ ผมคิดว่า มันคือความเป็นจริง มันเป็นเรื่องที่มันเกิดขึ้นได้ในชีวิต สิ่งสำคัญที่ดีมากที่มันเกิดขึ้น คือ เรามีการคุยสะท้อนทีหลัง ว่าอันนี้ก็คือโลกของความจริงที่เรากลับไปบ้านก็เจอ ไปที่ทำงานก็เจอ ไปเจอในฐานะผู้ถูกกระทำ มีคนมาสอนมาบอก หรือบางทีเราไปเจอในฐานะเราเป็นฝ่ายกระทำเองนี่แหละ เราก็อาจทำแบบนี้กับคนอื่นเหมือนกัน แล้วมันเป็นบทเรียนอะไรสำหรับเรา สำหรับกลุ่ม มันเลยเป็นเรื่องที่ดีมากที่เราเอาความเป็นจริงมาเรียนรู้ มาแลกเปลี่ยนกัน 

ถ้ามีใครคนหนึ่งมีท่าทีอึดอัดกับคู่ของตัวเอง หมายความว่าความเข้าใจจะไม่เกิดขึ้นหรือเปล่า

หนุ่ม: ไม่เชิงว่าเกิดไม่ได้ แค่มีอุปสรรคเยอะขึ้น เหมือนเข็มทิศที่ชี้ไปหลายทาง จริงอยู่ว่ามันอาจจะมุ่งไปในทิศใดทิศหนึ่งเยอะ มุ่งไปทิศที่แก้ไข มุ่งที่จะไปช่วย แต่พอเป็นอย่างนั้นแล้ว มันจูนไม่ตรงกัน เรือสองลำไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกัน ความเข้าใจก็อาจจะเกิดขึ้นได้บ้าง แต่ก็ระดับหนึ่งเท่านั้น

เอเชีย: ผมคิดว่าคนทุกคนต้องการความเข้าใจ รวมถึงคนที่ไปสอนคนอื่นด้วย เขาก็มีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน ประเด็นนี้ไม่ใช่การบอกเขาว่าห้ามสอน แต่ชวนให้เขาเห็น echo chamber เห็นกรอบความคิดของตัวเองที่มันไปส่งผลกระทบต่อคนอื่น 

ทุกคนต้องการความเข้าใจ แม้กระทั่งคนที่ทำตัวไม่น่ารัก ไม่ว่าในบ้าน ในที่ทำงาน หรือในประเทศของเรา เขาต้องการความเข้าใจ ทุกคนอยากจะเปลี่ยนแปลง ทุกคนอยากจะเป็นคนที่ดีขึ้น ทุกคนอยากจะมีความสุข ทุกคนอยากจะเป็นที่ยอมรับ แล้ววิธีที่จะพาให้คนเหล่านั้นไปถึง คือการสร้างพื้นที่ของการรับฟัง

ถ้าสร้างพื้นที่ของความเข้าใจให้กับเขา เขาจะมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ซึ่งการให้พื้นที่ของความเข้าใจและรับฟัง ไม่ได้แปลว่า เราจะไปทำตามเขา 

ผมคิดว่าในสถานการณ์การเมือง หรือสถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศ เราไม่ค่อยให้ความเข้าใจกับอีกฝ่ายหนึ่ง เราพยายามจะตำหนิ พยายามจะเปลี่ยนอีกฝ่ายหนึ่ง ผมคิดว่าเราสามารถทำงานเพื่อจะเปลี่ยนแปลงเขา ด้วยการสร้างเงื่อนไข สร้างสิ่งแวดล้อมที่มันเอื้อต่อการเปลี่ยนแปลง การชน การเผชิญหน้าในปัจจุบันมันไม่ค่อยเอื้อให้อีกฝ่ายเปลี่ยนแปลง 

เพราะสังคมไทยไม่ค่อยมีพื้นที่ให้สะท้อนความเข้าใจหรือเปล่า กิจกรรมห้องสมุดมนุษย์จึงควรมี

เล้ง: ผมว่าสำคัญมาก ยิ่งเราผ่านยุคโควิดมาด้วยกัน เราเริ่มห่างกันโดยไม่รู้ตัว เพราะความเกลียดความกลัวโรค เราเห็นภาพตีตราอยู่ หยี คนสัก น่าเกลียด คนอ้วน ดูไม่เหมาะ แต่พอเราได้มาสัมผัสจริงๆ ข้างในเขามีความเหมือนกับเราบางอย่าง แล้วเราจะเกลียดเขายากขึ้น เราจะเกลียดเขาไม่ลง 

เป็นคนพยายามฆ่าตัวตายไม่สำเร็จก็มีความรู้สึก คนสักทั้งตัวก็มีความรู้สึก คนฟังก็มีความรู้สึก เรามีความรู้สึกเหมือนกัน เราทุกข์ได้ สุขได้ รักเป็น พอเราได้เห็นข้างใน ซึ่งมากกว่าแค่เปลือกนอกที่เราตัดสิน เราจะเห็นว่าเราเหมือนกัน แล้วความขัดแย้งเราจะน้อยลง 

เอเชีย: เรื่องรูปลักษณ์ภายนอกก็เป็นโจทย์ที่ท้าทาย แต่ผมคิดว่าโจทย์ที่ดูเหมือนจะท้าทายที่สุดสำหรับสังคมไทยตอนนี้ ก็คือ ‘การแบ่งขั้วความคิด’ 

ผมว่าคนรู้สึกเศร้า รู้สึกผิดหวังแล้วก็หมดหวังในประเทศนี้เยอะมาก คนอยากย้ายประเทศ อยากลาออก มันเกิดจากเขาไม่เห็นความหวังในประเทศที่มันแบ่งฝักแบ่งฝ่าย สื่อสารกันไม่ได้ มันมีการตีตรา มีการแปะป้ายหมดเลย ว่าเป็นสัตว์บางประเภท เป็นขนมบางประเภท แค่เรียกอีกฝ่ายหนึ่งว่าอีกแบบหนึ่ง คนก็ปิดใจแล้ว เขาก็กลับเข้าไปอยู่ใน echo chamber ของตัวเอง คิดว่าความคิดของฝ่ายฉันมันถูก ความคิดของอีกฝ่ายหนึ่งมันผิด 

เดี๋ยวนี้ มันง่ายที่จะตัดสินแล้วก็ปิดช่องทางการสื่อสาร เราไม่อยากเข้าใจอีกฝ่ายหนึ่งเลย เพราะเชื่ออย่างเต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าอีกฝ่ายหนึ่งผิดหมด แล้วก็ไม่รับฟัง การรับฟังมันไม่ได้ไปเรียกร้องให้คนอื่นฟัง แต่ต้องบอกให้ตัวเราเองก้าวเข้าไป แล้วก็รับฟัง แต่ตรงนี้มันไม่เกิดขึ้น

ผมคิดว่านี่เป็นตัวอย่างรูปธรรมอันหนึ่งที่บอกว่า จริงๆ แล้วถ้าเราเข้าไปสัมผัสคนอีกกลุ่มหนึ่งด้วยใจที่เปิดรับ รับฟังเขาในฐานะความเป็นมนุษย์ เราจะเข้าใจกันได้ แม้เราจะไม่เห็นด้วยกับความคิดความเชื่อของเขา เราเป็นเพื่อนกันได้ เราเห็นอกเห็นใจ เข้าอกเข้าใจกันได้ ผมว่านี่จะเป็นที่มาของความหวังในประเทศนี้

หนุ่ม: ผมมองว่ามันเป็นโอกาสของการเปิดศักยภาพของแต่ละคน ของประเทศนี้ และของทั้งโลกด้วย เราทุกคนมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นได้มากกว่านี้ เวลาเราเห็นว่า คนนั้นเป็นอย่างนี้ คนนี้เป็นอย่างนี้ ลึกๆ แล้วมันคือการปิดตัวเราเองให้อยู่ในกรง อยู่ในกรอบเดิมๆ พอเราเห็นขอบเขตที่มีอยู่ ก็เลือกได้ว่าจะข้ามไปหรือยังรออยู่ ความเป็นไปได้มันสำคัญมากยิ่งกว่าว่าตอนนี้เราทำอะไรได้บ้างอีก พอเราเข้าใจคนอื่น เข้าใจตัวเองมากขึ้น มันเป็นจุดเริ่มต้นของการนำไปสู่สิ่งนี้ครับ

พอมีการแบ่งฝ่ายกัน แต่เราไม่เลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เราก็อาจจะถูกแปะป้ายว่าเป็นคนอีกประเภทหนึ่งก็ได้ แม้จะบอกว่าเราอยากยึดความเป็นมนุษย์ คุณมีความเห็นอย่างไร 

เอเชีย: ผมคิดว่า โลกปัจจุบัน เป็นโลกของการแบ่งแยกเป็น 2 ลักษณะ คือไม่ ก. ก็ต้อง ข. ไม่ขาวก็ต้องดำ ทั้งที่จริงๆ โลกมีความเทาๆ ทุกคนมันเทาทั้งนั้นเลย เพราะฉะนั้นถ้าบอกว่า เราเชื่อในความเป็นมนุษย์ เราเชื่อในเรื่องการพูดคุยสื่อสาร มันไม่ได้แปลว่า เราต้องไม่เชื่ออีกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง 

ผมเชื่อว่า 2 ฝ่ายที่เขาคิดเห็นตรงข้ามกัน เขาเชื่อในหลายๆ อย่างของอีกฝ่ายหนึ่งด้วย  เราเชื่อในหลายๆ ทางที่ฝ่ายหนึ่งเสนอ และเราก็เชื่อในหลายๆ ประเด็นที่อีกฝ่ายหนึ่งเสนอ แต่สิ่งที่เราเชื่อไปพร้อมกัน คือ เราเชื่อว่าสังคมมันจะไปได้ดี ถ้าเราคุยกัน 

หนุ่ม: เพิ่มเติมนิดนึงว่า ถ้าเรามาคุยกันเพื่อเปลี่ยนแปลงฝ่ายตรงข้าม หรือเปลี่ยนแปลงคนอื่น หรือแม้แต่ไม่เห็นโอกาสจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง มันจะเป็นการคุยที่ไม่ใช่คุย มันจะเป็นการพยายามตะโกน ฟังฉันสิ เธอต้องฟังฉัน แล้วก็กลายเป็นการสื่อสารทางเดียว เช่น เรามาคุยกับทุกคน แต่เอาแต่บอกให้ฟังฉันสิ ในขณะเดียวกัน มันจะทำให้เราไม่ได้ฟังตัวเองด้วย เพราะฉะนั้นคำว่า ‘คุยกัน’ ในที่นี้ อยากจะหมายเหตุไว้นิดนึง ว่ามันไม่ใช่การคุยกันเฉยๆ แต่มันคือความพยายามที่จะเข้าใจกัน

พอเราเปิดใจฟังกันจริงๆ ในห้องสมุดมนุษย์ มันทำให้เราไม่เข้าสู่ echo chamber ของตัวเอง แต่ทุกวันนี้ที่สังคมเราไม่คุยกัน เพราะเราเห็นเขาเป็นอื่นอยู่ใช่ไหม

เอเชีย: มันมีคนเห็นไม่เหมือนกับเราได้ แต่เราต้องไม่รู้สึกว่าเขาเป็นอื่น หรือเขาไม่ดี เราอยู่ร่วมกันได้ในโลกนี้นะ เดี๋ยวนี้มันรู้สึกว่าคนเป็นอื่นจะอยู่ร่วมกันในสังคมนี้ไม่ได้ นี่มันเป็นความบิดเบี้ยวของสังคม

ท่ามกลางความร้อนแรงของการเมือง ของสังคม เราควรจะเชื่อว่าทุกคนต้องการการรับฟัง แต่จะขับเคลื่อนความเข้าใจแบบนี้ได้อย่างไร ถ้าคนในสังคมไม่มีความเชื่อเหล่านี้เลย

เอเชีย: ทำได้หลายแบบมาก เช่น พาเขามามีประสบการณ์ตรง พาเขาออกจากแวดล้อมเดิมๆ ทำให้เขาเห็นว่าประสบการณ์ความเป็นมนุษย์ที่เชื่อมกันและกัน มันดีกับจิตวิญญาณ ดีกับใจเขายังไง เขานำสิ่งเหล่านี้มาใช้ในชีวิตประจำวันได้ แล้วเราจะเห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกันมากขึ้น 

ไม่จำเป็นต้องจัดเป็นวาระแห่งชาติแล้วสั่งการให้ทุกฝ่ายทำ เพราะการรับฟังมันเริ่มได้ที่บ้าน ทุกบ้านมีคนที่มีประเด็นอยู่ หรือเริ่มจากระดับที่ทำงานของตัวเองก่อนก็ได้ เริ่มทำงานจากสิ่งเล็กๆ แล้วค่อยขยับไปโจทย์ที่ยากขึ้น 

แต่ถ้ามีกลุ่มคนหรือองค์กรไหนที่มีคู่มือไกด์ไลน์ มีพื้นที่ให้คนสามารถนำไปปรับใช้ได้ในชีวิตจริงก็คงจะดี หนึ่งในโปรดักต์ที่เราจะทำ คือ คิดคู่มือ เพื่อฟังคนที่บ้านก็ได้ ฟังคนที่ทำงานก็ได้ หรือใช้เครื่องมือนี้ฟังคนที่โผล่มาทางทีวีแล้วคุณไม่ชอบหน้าก็ยังได้ และผมคิดว่าสื่อก็มีส่วนสำคัญในการสื่อสารเรื่องนี้ออกไปด้วย

หนุ่ม: เราว่าแต่ละคน แต่ละกลุ่มมีทางเข้าต่างกัน  อย่างเราคุยเรื่องของความเห็นต่าง ไม่ใช่ทุกคนในประเทศนี้ที่คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ตอนนี้มันคือการเอาชีวิตรอด การมีข้าวกิน ยกตัวอย่างหลานผม การที่เพื่อนเข้าใจผิดเป็นเรื่องใหญ่มากๆ ในชีวิตเขา ถ้าคนในครอบครัวไม่ได้ดูแลเรื่องนี้ มันจะยิ่งผลักให้เขาห่างออกไป เพราะฉะนั้นเราต้องใจกว้างพอที่จะเห็นความเป็นไปได้ว่า เราจะเข้าถึงแต่ละคนด้วยประเด็นไหนได้บ้าง

เล้ง: ตอบยากเหมือนกันนะ ผมนึกถึง self-awareness  คิดว่าการที่เราจะเทคความเชื่อ ว่าเราต้องรับฟังกัน เราต้องเข้าอกเข้าใจกัน เราต้องทันตัวเราเองก่อนว่าเรามีความเชื่อบางอย่าง เรามีความเชื่อที่มันขัดแย้งกันอยู่ เพราะถ้าเราไม่เห็น แล้ววางมันไม่ได้ เราจะเอาความเชื่อใหม่เข้ามาไม่ได้เลย 

ในรูปธรรมคือต้องออกไปเจอด้วยตัวเอง ผมคิดว่าการมีประสบการณ์ตรงสำคัญมาก อย่างที่เล่ากรณีเรื่องที่ผู้อ่านดูแลคนเป็นซึมเศร้า แต่เจอว่ามีคนเป็นซึมเศร้าแบบอื่นอีก ต้องออกไปเจอ ไปได้ยิน

 ปัจจุบันมีหลายศาสตร์พยายามจะชวนให้เรากลับมาหันหน้าคุยกัน เราอาจรู้สึกเห็นดีเห็นงามในระดับความคิด คิดว่าเข้าใจ สามารถทำได้ แต่พอไปเจอด้วยตัวเองแล้ว เราจะรู้ว่ามันไม่ง่าย มันพาเราไปชนขอบ เราจะต้องขยายศักยภาพของเราเพิ่ม เพื่อข้ามขอบนั้นไปสู่ความคิดที่ว่าเราเข้าใจเขาได้จริงๆ  แต่การให้พื้นที่ก็เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น อาจจะเริ่มจากจุดเล็กๆ อย่างที่ทั้งสองท่านบอก ต้องมีพื้นที่ มีกระบวนการหรือเบาะรองรับไว้เผื่อเวลาเขากระแทกขอบแล้วจะได้ไม่บาดเจ็บเกินไป 

หลังจากนี้ห้องสมุดมนุษย์วางแผนขับเคลื่อนและสื่อสารอย่างไรต่อไป

หนุ่ม: ไม่เชิงว่าขับเคลื่อนห้องสมุดมนุษย์ต่อยังไง แต่ผมคิดว่าโจทย์คือ เราจะขับเคลื่อนเรื่อง empathy ไปแบบไหนและอย่างไร คือห้องสมุดมนุษย์อาจเป็นอีกช่องทางที่ทำให้คนหันกลับมาสนใจเรื่องนี้ได้ ถ้าอนาคต ทำให้ชื่ออ่านมนุษย์หรือห้องสมุดมนุษย์เป็นที่รู้จัก เราก็ถือว่าประสบความสำเร็จรูปแบบหนึ่ง แต่จุดที่เราต้องการมากที่สุด คงเป็นการที่กิจกรรมนี้ได้มีส่วนทำให้คนเห็นโอกาสที่จะเข้าอกเข้าใจกัน เห็นเรื่อง empathy เป็นเรื่องใหญ่ เจอวิธีการและแนวทางที่หลากหลายมากขึ้น

ถ้าธนาคารจิตอาสาเป็นหนังสือมนุษย์ อยากจะนำเสนอเรื่องราวแบบไหน

เอเชีย: คิดว่า ภาพความเป็นอาสามันถูก stigmatized หรือคนเข้าใจผิด เป็นภาพคนทำดี คนมีเวลา คนที่ชีวิตหลุดพ้นแล้ว คนที่ฉันพร้อมจะอุทิศ อันนี้คือภาพจำด้านสว่าง อีกภาพจำคือ พวกทำๆ ไปตามกระแส เพราะถูกมอบหมายมา ต้องเก็บชั่วโมง หน่วยงานต้องจัด ต้องใส่หมวกใส่ผ้าพันคอแบบนี้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราจะเล่าก็คือ โอเค มันมีภาพแบบนั้นจริงอยู่ในสังคม แต่มันมีที่มาของการเกิดภาพเหล่านี้ และเรื่องที่อยากจะเล่ากว่าคือ งานอาสาคือโอกาสของการเปลี่ยนแปลงตัวเราเอง คือโอกาสที่เรากลับมาให้ความหวังกับตัวเอง และเห็นความหวังของการอยู่ร่วมกันกับคนอื่น 


Writer

Avatar photo

มิรา เวฬุภาค

Avatar photo

ชญาดา จิรกิตติถาวร

นิสิตวารสารฯ ที่ชอบออกกอง ตีสเลท และอยากอยู่ในประเทศที่ดีกว่านี้ ชอบฟัง K-Rap K-Indy ชอบอ่านเว็บตูน ดูซีรีส์ และยังโสด

Photographer

Avatar photo

ชัชฐพล จันทยุง

หลงรักการบันทึกรอยยิ้มและความรู้สึกเป็นภาพถ่าย

Related Posts

Becoming Me

Soft Power

“ผมรู้สึกโดดเดี่ยวจนเหมือนผี ไร้ตัวตน” วรรจนภูมิ ลายสุวรรณชัย กับมนุษย์ที่ไม่อยากเป็นสุญญากาศ ใน School Town King