คุยข้ามโลก ปิดบ้าน เปิดการเรียนรู้

เดินไปโรงเรียนเอง พึ่งตัวเอง ต่อให้แย่แค่ไหนเด็กไอซ์แลนด์จะรอด

  • การศึกษาของเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ขวบ ในไอซ์แลนด์อยู่ในเป็นการศึกษาแบบทางเลือก ไม่ใช่ภาคบังคับ มักจะอยู่ในรูปแบบของ Playschools หรือการศึกษาที่มุ่งเน้นไปที่การทำกิจกรรมและเล่นอย่างอิสระ
  • วัฒนธรรมที่ผู้คนและโรงเรียนในไอซ์แลนด์มักจะปลูกฝังให้เด็ก คือ ทักษะการรู้จักพึ่งพาตัวเอง
  • บรรยากาศภายในประเทศไอซ์แลนด์เต็มไปด้วยธรรมชาติที่สมบูรณ์ มีประชากรน้อย อยู่กันอย่างไม่แออัด ดังนั้นท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด แต่การเรียนรู้ของเด็กไม่เคยถูกปิดกั้น

พยากรณ์อากาศบ่งบอกตัวเลขที่กำลังติดลบ อาจทำให้ใครหลายคนเลือกที่จะนอนขดตัวเฉยๆ ในกองผ้าห่มและไม่อยากลุกออกไปไหน 

แต่เมื่ออากาศที่หนาวจัดในประเทศไอซ์แลนด์อยู่คู่กับธรรมชาติที่ยังคงความสมบูรณ์ บ่อน้ำพุร้อน ทะเลสาบ เทือกเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะ แสงเหนือ หรือธารน้ำแข็ง ทำให้ประเทศนี้ กลายเป็นเมืองในฝันของเหล่านักเดินทางทั่วโลกที่ต่างใฝ่ฝันอยากจะเข้ามาผจญภัยสักครั้ง

ตามลักษณะภูมิศาสตร์ ประเทศไอซ์แลนด์ตั้งอยู่กลางมหาสมุทรแอตแลนติค เป็นประเทศกลุ่มนอร์ดิคในยุโรปเหนือ อยู่ระหว่างเกาะกรีนแลนด์ นอร์เวย์ และสหราชอาณาจักร ทว่านอกเหนือจากการเป็นประเทศแห่งการท่องเที่ยวแล้ว ไอซ์แลนด์ยังถือเป็นประเทศอันดับต้นๆ ของโลกที่ให้ความสำคัญกับระบบการศึกษาและการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์

หัวใจและแนวคิดของนโยบายด้านการศึกษาของไอซ์แลนด์ มักมุ่งเน้นและสนับสนุนให้ ‘ผู้เรียน’ ได้ขยายขอบเขตความรู้ของตัวเองอย่างกว้างขวาง โดยข้อมูลในปี 2013 ระบุว่ากว่า 5 เปอร์เซ็นต์ของนักเรียนทั้งหมดในไอซ์แลนด์เป็นชาวต่างชาติจากทั่วทุกมุมโลก ที่เดินทางมาเปิดประสบการณ์การเรียนรู้และเลือกศึกษาต่อที่ประเทศแห่งนี้

mappa คุยกับ คุณแม่กิ่ง-สุวลี วรสิทธิ์ คุณแม่คนไทยที่ตัดสินใจลงหลักปักฐานย้ายตัวเองและลูกสาวมาอยู่ที่เมือง Hveragerði ประเทศไอซ์แลนด์ โดยเชื่อมั่นว่าระบบการศึกษาของที่นี่จะช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้เธอและคริสติน ลูกสาววัย 2 ขวบของเธอได้

เลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูก

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อวงการท่องเที่ยว ไอซ์แลนด์เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว ทำให้ในช่วงการระบาดระลอกแรกสภาพทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวของไอซ์แลนด์ซบเซาลงไปอย่างเห็นได้ชัด 

“เราย้ายมาอยู่กับสามีชาวไอซแลนด์ ในช่วงธันวาคม ปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิด-19 จะระบาดหนัก ตอนนั้นลูกเราอายุ 2 ขวบ ซึ่งอยู่ในวัยที่สามารถเข้าโรงเรียนพอดี”

ดังนั้นสิ่งแรกที่เธอและลูกต้องเผชิญหลังจากย้ายมาที่นี่คือการปรับตัวรับมือกับสถานการณ์โรคระบาด

คุณแม่กิ่งเล่าย้อนถึงช่วงเวลาก่อนจะย้ายมาอยู่ที่ไอซ์แลนด์ไว้ว่า เป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยวที่เธอกำลังตัดสินใจว่าจะให้ลูกเรียนอนุบาลที่ไหนดี

ประกอบกับการศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบการศึกษาในประเทศไอซ์แลนด์ พบว่าวัฒนธรรมหนึ่งที่โรงเรียนในไอซ์แลนด์มักจะปลูกฝังให้เด็ก คือ ทักษะการรู้จักพึ่งพาตัวเอง เธอจึงไม่ลังเลและย้ายมาลงหลักปักฐานที่นี่

“พอเราเป็นแม่ เราศึกษาข้อมูลเยอะมากว่าการศึกษาแบบไหนจะเหมาะกับลูก สำหรับประเทศไทยเป็นอย่างไร ใครๆ ก็บอกว่าถ้าอยากได้การศึกษาที่มีคุณภาพจะต้องส่งลูกเข้าโรงเรียนอินเตอร์หรือโรงเรียนเอกชนเท่านั้น ซึ่งมันใช้ต้นทุนที่สูงมากๆ แถมยังต้องแลกกับค่าเสียเวลาต่างๆ ในชีวิต เช่น การเดินทาง เราจึงตัดสินให้ลูกย้ายมาเรียนอนุบาลที่ไอซ์แลนด์ดีกว่า ซึ่งเราคิดว่าเราเลือกไม่ผิด”

โดยระบบการศึกษาของประเทศไอซ์แลนด์สามารถแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ นั่นคือ การศึกษาภาคบังคับสำหรับเยาวชน อายุ 6-16 ปี (Grunnskóli) การศึกษาขั้นทั่วไปสำหรับเยาวชนอายุ 4-20 ปี (Framhaldsskóli) และ การศึกษาระดับมหาวิทยาลัย (Háskóli)

ส่วนการศึกษาของเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ขวบ คุณกิ่งบอกว่าอยู่ในรูปแบบการศึกษาแบบทางเลือก ไม่ใช่ภาคบังคับ มักจะอยู่ในรูปแบบของ Playschools หรือการศึกษาที่มุ่งเน้นไปที่การทำกิจกรรมและเล่นอย่างอิสระ

Playschools เล่นทั้งวัน ไม่มีสอบ เน้นให้เด็กดูแลตัวเอง

คุณแม่กิ่งเล่าว่าช่วงที่ ‘คริสติน’ ลูกสาววัย 2 ขวบ เข้า Playschools เป็นช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 กำลังระบาดไปทั่วไอซ์แลนด์ ทำให้ช่วงแรกที่ลูกเข้าโรงเรียนจำเป็นต้องปรับตัวหลายอย่าง เช่น ต้องไปโรงเรียนสลับวัน เพื่อลดการเผชิญหน้ากันป้องกันและลดความเสี่ยงในการระบาดของเชื้อ 

หากเป็นช่วงเวลาในสถานการณ์ปกติ เมื่อเด็กเล็กเข้าเรียนใน Playschools พ่อแม่จะต้องเข้าคลาสเรียนกับลูกอย่างน้อย 7 วัน เพื่อไปร่วมเรียนรู้กับลูก และช่วยทำให้ลูกค่อยๆ ปรับตัวทำความคุ้นชินกับระบบโรงเรียนมากขึ้น

คุณแม่กิ่งเล่าบรรยากาศใน Playschools ให้ฟังว่า กิจกรรมตอนเช้าของทุกวัน เด็กๆ จะเริ่มต้นด้วยการกินน้ำมันตับปลา เพราะไอซ์แลนด์เป็นเมืองหนาวและมืดเร็ว ไม่ค่อยมีแสงอาทิตย์ ดังนั้นเด็กๆ จำเป็นต้องได้รับวิตามินจากการกินอาหารเสริม

หลังจากนั้น เด็กๆ จะได้ทำกิจกรรมต่างๆ สลับสับเปลี่ยนไปแต่ละวัน เช่น การระบายสี เล่นสี เล่นของเล่นเสริมพัฒนาการ ตั้งวงร้องเพลง ฟังนิทาน เล่นฟุตบอล รวมไปถึงการออกไปฝึกเดินตามริมถนนด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่โรงเรียนในไอซ์แลนด์ให้ความสำคัญ โดยต้องการที่จะปลูกฝังให้เด็กได้รู้จักสังเกตสิ่งรอบตัว และฝึกให้เด็กรู้จักดูแลตัวเอง รู้จักระมัดระวังอันตรายจากรถ โดยที่ทุกกิจกรรมจะมีคุณครูและพี่เลี้ยงคอยดูแลเด็กๆ อย่างใกล้ชิด

“สิ่งที่เราชอบที่สุดในโรงเรียน Playschools คือเขาจะสนับสนุนให้เด็กเล็กดูแลตัวเองให้เป็น ยกตัวอย่าง ตอนกินอาหารเช้าและกลางวัน ครูจะวางช้อนส้อมให้เด็กช่วยเหลือตัวเอง ตักกินเอง เมื่อกินเสร็จแล้วก็ต้องเก็บโต๊ะลุกเอาจานไปเก็บด้วยตัวเอง แม้เด็กจะอายุ 2 ขวบ แต่ครูจะให้เด็กลองทำด้วยตัวเองก่อน” 

นอกจากปลูกฝังให้รู้จักพึ่งพาตัวเองแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่คุณแม่กิ่งประทับใจในระบบโรงเรียนเด็กเล็กที่ประเทศไอซ์แลนด์ คือ การที่คุณครูและพ่อแม่เป็นทีมเดียวกันในการดูแลเด็ก

“สำหรับโรงเรียนในไอซ์แลนด์ แม้จะเป็นโรงเรียนรัฐบาลก็ตามเขามักจะมีแอพพลิเคชั่นประจำโรงเรียนที่ครูจะคอยบันทึกข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับลูกเราเอาไว้ ทำให้พ่อแม่รู้สึกใกล้ชิดกับลูกและโรงเรียนมากขึ้น

“เราได้รู้ว่าแต่ละวันลูกทำกิจกรรมอะไรบ้าง เขาได้กินอาหารเมนูอะไร เขามีพัฒนาการอย่างไร เด็กๆ ออกกำลังได้ดีไหม เขาปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ อย่างไร พักผ่อนเพียงพอไหม ถ้าหากมีปัญหาเราก็สามารถติดต่อสื่อสารกับครูได้ทันที”

แม้ไวรัสจะระบาด แต่การเรียนรู้ไม่เคยถูกปิดกั้น

เมือง Hveragerði ที่ครอบครัวคุณกิ่งอาศัยอยู่ เป็นเมืองเล็กๆ ที่เงียบสงบ แม้อยู่ถัดจากเมืองหลวงออกมา แต่สภาพแวดล้อมภายในเมืองไม่ได้สร้างความยากลำบากต่อการใช้ชีวิต ผู้คนในเมืองอยู่กันอย่างเรียบง่าย บรรยากาศภายในเมืองเต็มไปด้วยธรรมชาติที่ค่อนข้างสมบูรณ์ 

“เราว่าเราโชคดีที่ได้เลี้ยงลูกที่ไอซ์แลนด์นะ ที่นี่มันมีพื้นที่ มีธรรมชาติที่มีคุณค่าเยอะมาก บ้านเราอยู่ใกล้ๆ ภูเขา ถ้าวันไหนเบื่อมากๆ เราจะพาลูกออกไปไถสกูตเตอร์เล่นบริเวณรอบๆ หมู่บ้าน หรือออกมาเดินเล่น ชมวิวดอกไม้รอบหมู่บ้าน” 

แม้สถานการณ์โควิด-19 จะทำให้ครอบครัวของคุณกิ่งไม่สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวต่างเมืองได้ แต่นั่นไม่ได้แปลว่าลูกจะถูกปิดกั้น เพราะอย่างน้อยทุกหมู่บ้านในทุกเมืองของไอซ์แลนด์ต้องมีสนามเด็กเล่น และมีโรงเรียนอยู่ใกล้บ้าน

“ช่วงที่คุณสามีต้อง work from home ครอบครัวเราก็มีความกังวลกันอยู่บ้าง เพราะบ้านมันไม่ได้ออกแบบมาให้ทำงาน เราไม่ได้มีโซนสำหรับการนั่งทำงานโดยเฉพาะ กลายเป็นว่าเราต้องอยู่ร่วมกันตลอดเวลา แต่โชคดีที่ประชากรไอซ์แลนด์ไม่ได้อยู่กันอย่างแออัด เมื่อสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลาย อย่างน้อยๆ วันหยุดเราก็พาลูกไปเล่นที่สนามเด็กเล่นแถวหมู่บ้านได้”

คุณกิ่งบอกว่าข้อดีอย่างหนึ่งของการกำหนดให้มีโรงเรียนอยู่ใกล้หมู่บ้าน คือการช่วยลดการแข่งขันและป้องกันไม่ให้เกิดการสอบเข้าโรงเรียนตั้งแต่เด็กยังอยู่ในช่วงปฐมวัย

“ในเมื่อทุกหมู่บ้าน ในทุกเมืองมีโรงเรียนอยู่แล้ว เด็กไม่จำเป็นต้องไปเรียนในโรงเรียนไกลบ้าน และการที่ทุกโรงเรียนถูกควบคุมคุณภาพโดยรัฐก็ช่วยสร้างความมั่นใจให้พ่อแม่ ไม่ต้องพาลูกไปสอบแข่งขันที่อื่น” 

นอกจากนั้นการที่มีโรงเรียนใกล้บ้าน เด็กๆ จะสามารถเดินไปโรงเรียนด้วยตัวเอง เพราะเขาได้รับการปลูกฝังให้มีทักษะการดูแลตัวเองตั้งแต่เด็กแล้ว

คุณกิ่งบอกว่าเป็นเรื่องปกติมากๆ หากเราจะเห็นภาพของเด็กอายุ 5-6 ขวบ เดินไปกลับโรงเรียนด้วยตัวเอง เพราะนี่คือวัฒนธรรมและแนวคิดของพ่อแม่ชาวไอซ์แลนด์ที่มักจะสอนให้เด็กพึ่งพาตัวเอง 

และเมื่อเด็กรู้จักช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว เขาจะสามารถทำสิ่งต่างๆ ที่ได้รับมอบหมายได้เองโดยที่ผู้ใหญ่ไม่ต้องบอก เช่น การทำงานบ้าน ทำความสะอาดบ้าน เก็บที่นอนของตัวเอง 

เด็กมองผู้ใหญ่อย่างไร ผู้ใหญ่ก็มองเด็กอย่างนั้น

เมื่อถามว่าอะไรเป็นเรื่องที่ประทับใจที่สุดเมื่อย้ายชีวิตมาอยู่ที่ไอซ์แลนด์

คุณแม่กิ่งตอบทันทีว่าอนาคตของลูก

“เราชอบทัศนคติของผู้ใหญ่ที่นี่ที่มีต่อเด็กมาก ผู้ใหญ่ทรีตเด็กเหมือนเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ใช่มองว่าเด็กเป็นเด็กที่ต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ตลอดเวลา เขาให้ความเคารพเด็กไม่ต่างกับผู้ใหญ่คนหนึ่งที่เคารพกัน”

ยิ่งในช่วงโควิด-19 สิ่งต่างๆ ที่ชาวไอซ์แลนด์ทำ สะท้อนว่าเขารับฟังเสียงของเด็กจริงๆ 

“เราเคยดูรายการทีวีที่รัฐบาลเชิญเด็กๆ มานั่งพูดคุย โดยให้เด็กๆ ผลัดกันสอบถามตำรวจว่าโควิด-19 คืออะไร จากนั้นตำรวจจะค่อยๆ อธิบายให้เด็กฟังผ่านรายการช่วงข่าวเด็กที่จะนำเสนอทุกวัน สิ่งนี้ทำให้เห็นว่าประเทศไอซ์แลนด์ให้ความใส่ใจกับเด็กมากแค่ไหน

“เราชอบสำนวนหนึ่งของไอซ์แลนด์ที่กล่าวไว้ว่า “þetta reddast” มันมีความหมายประมาณ it’s gonna be okay คือทุกอย่างมันจะโอเคนะ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เดี๋ยวทุกอย่างมันก็จะโอเค it’s gonna be fine ไม่ต้องเครียดไปน่า เดี๋ยวเวลาก็จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้นเอง เป็นสำนวนที่ใช้ได้กับทุกวัยตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่”

นอกจากนี้คุณแม่กิ่งยังยกตัวอย่างสำนวนสุดคลาสสิกของชาวนอร์วิเจียนคำว่า “Det finnes ikke dårlig vær, bare dårlige klær.” ที่แปลว่า “ไม่มีหรอกอากาศไม่ดี มีแค่เสื้อผ้าไม่ดีเท่านั้น” 

โดยความหมายของสำนวนนี้สื่อถึงการเตรียมพร้อมรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ นัยยะของสำนวนอาจหมายความว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ใหญ่หรือเป็นเด็ก หากเจอสถานการณ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลง คุณก็จะต้องปรับตัวเองให้เข้ากับสิ่งนั้นให้ได้ และท้ายที่สุดคุณก็จะผ่านมันไปได้ด้วยตัวคุณเอง 

“คนที่นี่เขาเลี้ยงเด็กกันแบบนี้จริงๆ นะคะ บางบ้านฝึกให้เด็กๆ คุ้นชินกับอากาศที่ไม่แน่นอน และหัวใจของการเลี้ยงเด็กคือการไม่ห้าม แม้อากาศแย่แค่ไหน ถ้าเด็กได้ใส่เสื้อที่ให้ความอบอุ่น เด็กก็สามารถออกจากบ้านไปเล่นกลางหิมะได้” 

พ่อแม่เป็นเพียงแค่ผู้ช่วยเตรียมเสื้อผ้าให้ลูก เตรียมความพร้อมให้เขาได้เผชิญกับสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้าด้วยตัวเองเท่านั้นเอง 🙂


Writer

Avatar photo

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา

พยายามฝึกปรือและคลุกอยู่กับผู้คนในวงการการศึกษา เพราะเชื่อว่าการเรียนรู้เป็นใบเบิกทางให้ขยายขอบขีดความสามารถตัวเอง ฝันสูงสุดคืออยากเห็นตัวเองทำงานสื่อสารที่มีคุณภาพและคุณค่าต่อไป

Related Posts