- ระบบการศึกษาคิดค้นและขับเคลื่อนโดยมนุษย์ ทว่าบางครั้งโลกแห่งการแข่งขันก็บีบคั้นจนมองข้ามความเป็นมนุษย์ไป
- สภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การเรียนรู้คือพื้นที่ปลอดภัย เข้าใจ ไม่ตัดสิน และเปิดโอกาสให้ลองผิดลองถูก
- ความเห็นอกเห็นใจคือหัวใจของการศึกษาที่เห็นว่ามนุษย์เป็นมนุษย์
มนุษย์คือศูนย์กลางของระบบการศึกษา หลักสูตรทั้งหลายออกแบบ ‘โดยมนุษย์’ และ ‘เพื่อมนุษย์’ แต่ในโลกสมัยใหม่ที่กดดันให้เราประสบความสำเร็จ การพัฒนา ‘มันสมอง’ ซึ่งมุ่งเน้นแต่วิชาการและการประเมินผลอาจกำลังละเลย ‘หัวใจ’ ความเป็นมนุษย์และสุขภาวะของคนในระบบ
‘ทำอย่างไรเด็กจะสอบได้คะแนนดี’ หรือ ‘ทำอย่างไรเด็กจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงได้’ ดูจะเป็นคำถามที่ปรากฏบ่อยกว่า ‘ตอนนี้เด็ก ๆ มีความสุขกันหรือเปล่า’ หรือ ‘พวกเขากำลังเรียนรู้อยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหนอยู่’
ยิ่งต้องการเร่งผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ยิ่งเน้นการสอบแข่งขัน โอกาสที่จะให้ความสำคัญแก่พัฒนาการด้านอื่นก็ลดน้อยถอยลง ผลสุดท้ายโรงเรียนอาจกลายเป็นโรงงานที่มีสายพานผลิตลำเลียงนักเรียนออกสู่ตลาดโลก โดยมีครูเป็นผู้ตรวจสอบคุณภาพผ่านสิ่งที่วัดค่าเป็นตัวเลขได้เท่านั้น
ทว่าเด็กทุกคนคือวัตถุดิบตั้งต้นที่แตกต่างกัน นักเรียนไม่ใช่แค่คะแนน และครูไม่ได้มีหน้าที่ปรับแต่ง ‘สินค้า’ ทุกชิ้นให้ออกมาแบบเดียว เราทุกคนล้วนเป็นมนุษย์ มากล้นด้วยความหลากหลาย ดังนั้น บางทีคำถามใหม่ที่เราควรถามอาจเป็น ‘ระบบการศึกษาของเรามีความเป็นมนุษย์มากพอหรือยัง’
ความเป็นมนุษย์กับการศึกษา
จิตวิทยามนุษยนิยม (humanistic psychology) ถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่ช่วงยุคกลาง ปรัชญามนุษยนิยมเกิดขึ้นในอิตาลี ก่อนจะเผยแพร่สู่ยุโรปแผ่นดินใหญ่และเกาะอังกฤษ แม้ทฤษฎีนี้จะช่วยให้เราเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์มากขึ้น แต่ยังขาดมุมมองแบบองค์รวม จิตวิทยามนุษยนิยมจึงเสมือนเป็นส่วนเติมเต็มของจิตวิทยาพฤติกรรมและจิตวิเคราะห์ ซึ่งเป็นจิตวิทยาสองแขนงหลักในช่วงต้นศตวรรษที่ 20
เป็นที่ยอมรับกันว่าอับราฮัม มาสโลว์ (Abraham Maslow) คาร์ล โรเจอร์ส (Carl Rogers) และเจมส์ เอฟ. ที. บูเกนทัล (James F. T. Bugental) คือสามผู้บุกเบิกทฤษฎีการเรียนรู้แบบมนุษยนิยม (humanistic learning theory) มาสโลว์มีอิทธิพลในช่วงต้นของการเคลื่อนไหวนี้ ส่วนโรเจอร์สและบูเกนทัลเสริมเรื่องจิตวิทยาเรื่อยมาในกระบวนการพัฒนาแนวคิดนี้
ทฤษฎีการเรียนรู้แบบมนุษยนิยมถือเป็นคำอย่างกว้างสำหรับเรียกจิตวิทยามนุษยนิยมในพื้นที่ของพัฒนาการและการเรียนรู้ ต้นแบบหนึ่งที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายคือพีระมิดความต้องการมนุษย์ของมาสโลว์ (Maslow’s Hierarchy of Needs) ซึ่งจำแนกความต้องการของมนุษย์ออกเป็นห้าระดับ
ความต้องการพื้นฐานอยู่ที่ชั้นล่างสุด และจะขยับสูงขึ้นไปได้ต่อเมื่อความต้องการได้รับการเติมเต็มไปทีละขั้น เริ่มจากความต้องการพื้นฐาน คือ ความต้องการทางร่างกาย ถัดไปคือความปลอดภัย ตามด้วยการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและได้รับความรัก ความเคารพตัวเอง และขั้นสูงสุดคือการค้นพบตัวตนที่แท้จริง
ในบริบทของการเรียนรู้ มนุษยนิยมมุ่งไปที่ความมีอิสระ ทางเลือก ศักยภาพและอำนาจตัดสินใจของผู้เรียน หมายความว่าเด็ก ๆ จะมีส่วนในการกำหนดความต้องการในการเรียนรู้ วิธีการและสื่อการเรียนรู้ ทฤษฎีการเรียนรู้แบบมนุษยนิยมจึงเน้นศักยภาพของบุคคลมากกว่าสื่อการสอนชนิดหนึ่งหรือรายวิชาใดวิชาหนึ่ง
เรียนรู้อย่างมีหัวใจความเป็นมนุษย์
ในปี 2012 คณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยแม็กกิล (McGill University) พบความเชื่อมโยงโดยตรงระหว่างความเห็นอกเห็นใจกับความสามารถในการเรียนรู้ การศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูกหนูพบว่า แม่หนูบางตัวดูแลทำความสะอาดลูกบ่อยกว่าตัวอื่น โดยเฉพาะในสถานการณ์ตึงเครียด ส่งผลให้ลูกหนูมีระดับสติปัญญาสูงขึ้น ลูกหนูที่ได้รับการดูแลจากแม่แม้เพียงเล็กน้อยในสัปดาห์แรก ๆ ของชีวิต นอกจากจะมั่นใจและกล้าหาญกว่าแล้วยังหาทางออกจากวงกตได้เร็วกว่าหนูที่ถูกแม่ทอดทิ้ง
มนุษย์ก็เช่นเดียวกัน นาดีน เบิร์ก แฮร์ริส (Nadine Burke Harris) กุมารแพทย์ผู้ก่อตั้ง Center for Youth Wellness คลินิกสำหรับเยาวชนจากครอบครัวรายได้ต่ำในย่านเบย์วิว-ฮันเตอร์ส พอยต์ในซานฟรานซิสโกศึกษาผลกระทบของความเครียดต่อจิตใจของเยาวชน
“สำหรับเด็ก ๆ หากพวกเขาเผชิญประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก โอกาสที่จะมีปัญหาการเรียนรู้หรือพฤติกรรมในโรงเรียนจะสูงขึ้น 32 เท่าเมื่อเทียบกับเด็กที่ไม่เคยผ่านประสบการณ์ลักษณะเดียวกัน”
ความเห็นอกเห็นใจไม่ใช่แค่การกอดหรือตบบ่าปลอบใจ และไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่อการเรียนรู้เท่านั้น หากเป็นทักษะที่สามารถทำให้เด็กทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในสภาพแวดล้อมการทำงานที่ต้องอาศัยความร่วมมือ
“การเรียนรู้แบบเว้นช่วงเวลาและแบบร่วมมือ (distributed and collaborative learning) ซึ่งเน้นด้านการเจริญสติ การปรับตัวเข้ากับผู้อื่น ปฏิสัมพันธ์ที่ไม่มีการตัดสิน การยอมรับความแตกต่างของแต่ละบุคคล และตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงจะช่วยบ่มเพาะทักษะการคิดเชิงวิพากษ์และการมีส่วนร่วมอย่างเห็นอกเห็นใจ” เจเรมี ริฟคลิน (Jeremy Rifkin) นักทฤษฎีสังคมและผู้เขียนหนังสือ The Empathic Civilization กล่าว “ในแง่นี้การเรียนรู้แบบร่วมมือจะปฏิรูปชั้นเรียนให้กลายเป็นห้องทดลองของการแสดงออกอย่างเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ซึ่งจะเกื้อหนุนกระบวนการเรียนรู้ไปในตัว”
ในปี 2013 งานวิจัยชื่อ “อ่านวรรณกรรมเพื่อพัฒนาทฤษฎีจิต” (Reading Literary Fiction Improves Theory of Mind) โดย New York’s New School for Social Research มอบหมายให้ผู้เข้าร่วมทดลองอ่านตัวอย่างหนังสือเพียงไม่กี่นาทีก่อนที่จะเข้ารับการทดสอบความเห็นอกเห็นใจในคอมพิวเตอร์ บางคนอ่านวรรณกรรมบางคนอ่านหนังสือขายดี บางคนอ่านงานเขียนเชิงสารคดีจากนิตยสาร Smithsonian ส่วนบางคนไม่ได้อ่านอะไร
ผลการศึกษาพบว่า ความเห็นอกเห็นใจถูกกระตุ้นได้ด้วยงานเขียนบางประเภท
“เราตั้งข้อสันนิษฐานว่าวรรณกรรม ทั้งที่เล่าผ่านมุมมองของผู้เขียนและตัวละครหลายตัวเกี่ยวพันกับกระบวนการทางจิตที่ผู้อ่านต้องเข้าถึงประสบการณ์เฉพาะของตัวละคร ผู้อ่านวรรณกรรมต้องใช้การตีความมากกว่าในการเข้าถึงความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร หมายความว่าพวกเขาต้องใช้กระบวนการทางจิตใจ ตรงข้ามกับนวนิยายยอดนิยมซึ่งมักเล่าถึงโลกผ่านตัวละครที่เป็นแบบแผนและเดาทางได้ ซึ่งอาจแค่ยืนยันความคาดหวังที่มีอยู่แล้วของผู้อ่าน ไม่ทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจมากเท่ากับอีกประเภทหนึ่ง พูดอีกอย่างได้ว่า งานวรรณกรรมทำให้คุณรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรามากขึ้น และมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่ดีขึ้น”
เมื่อพิจารณาข้อมูลเหล่านี้ การผนวกเรื่องความเห็นอกเห็นใจและหัวใจความเป็นมนุษย์เข้ากับจัดการเรียนรู้จึงเป็นอีกด้านที่สำคัญ หากเราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่ปลอดภัย เห็นใจ เข้าใจ สนับสนุนให้ทุกคนมีส่วนร่วมและรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชั้นเรียนได้ นักเรียนจะจดจ่อกับการพัฒนาและค้นหาตัวเองเต็มที่โดยปราศจากความกังวล เพราะมั่นใจว่าถ้าตัวเองยังไม่รู้หรือไม่ชำนาญ จะไม่มีใครล้อเลียนให้อับอาย ติเตียนหรือลงโทษ นี่อาจเป็นโจทย์หินของผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย ออกแบบระบบการศึกษา รวมถึงครูผู้มีสิทธิ์ตัดสินใจและเป็นผู้ปฏิบัติจริงในชั้นเรียน
ระบบการศึกษาของมนุษย์ เพื่อมนุษย์
‘เห็นอกเห็นใจแปลว่าเด็กสอบตกกี่ครั้งก็ได้เหรอ’
‘ถ้าอยากสร้างห้องเรียนที่เด็กสบายใจต้องทำยังไง’
ส่วนที่ยากที่สุดของทฤษฎีใดก็ตามคงเป็นการปฏิบัติจริง หลักการทั้งหลายจะย้ายจากหน้ากระดาษสู่หน้ากระดาน จากตำราสู่ห้องเรียน ‘พอจะมีวิธีให้ความคิดนามธรรมเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาบ้างหรือเปล่า’ ครูหลายคนอาจตั้งคำถาม
ศูนย์ความร่วมมือด้านการศึกษา สังคม อารมณ์และการเรียนรู้ (Collaborative for Academic, Social, and Emotional Learning – CASEL) ซึ่งออกแบบแนวทางการเรียนรู้ด้านสังคมและอารมณ์ (Social and Emotional Learning – SEL) ซึ่งปรับใช้ในหลายรัฐทั่วสหรัฐอเมริกา เสนอวิธีที่จะช่วยเพิ่มความเห็นอกเห็นใจในห้องเรียน ดังนี้
เสริมสร้างความสัมพันธ์และบรรยากาศปลอดภัย
ความรู้สึกปลอดภัยและเป็นส่วนหนึ่งของชั้นเรียนสำคัญเป็นอันดับแรก ก่อนจะนำหลักการใดไปปรับใช้ในชั้นเรียน ต้องแน่ใจว่านักเรียนทุกคนรู้สึกปลอดภัยและเป็นที่รัก เด็ก ๆ ต้องการสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยทั้งทางร่างกายและจิตใจ การสานสัมพันธ์กับนักเรียนและผู้ปกครองจะแสดงให้นักเรียนเห็นว่าเราทุกคนเป็นพวกเดียวกัน
ความสัมพันธ์เหล่านี้ต้องแสดงออกตั้งแต่วันแรกของรายวิชา บอกให้นักเรียนรู้ว่าคุณใส่ใจพวกเขาแค่ไหน เด็ก ๆ จะมีแนวโน้มที่จะแสดงด้านอ่อนแอและยอมรับซึ่งกันและกันมากขึ้นหากพวกเขารู้สึกว่าเรื่องราวของพวกเขาสำคัญ อีกวิธีในการสร้างบรรยากาศนี้คือการแบ่งปันความล้มเหลวของคุณ และแสดงให้เด็ก ๆ เห็นตัวอย่างในการรับมือปัญหา โดยเน้นที่การเติบโตและก้าวข้ามความผิดพลาดในฐานะคนธรรมดาคนหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนมองว่าครูก็เป็นมนุษย์เหมือนกันและเข้าหาได้ง่ายขึ้น
มีความชัดเจน
‘ครูชื่นใจที่เห็นมิเกลก้มหน้าก้มตาตั้งใจทำการบ้าน’ เมื่อนักเรียนทำได้ดี เรามักจะชื่นชมทันที เพราะต้องการให้เห็นว่าพฤติกรรมอย่างนี้เป็นตัวอย่างที่พึงปฏิบัติตาม
การปลูกฝังเรื่องความเห็นอกเห็นใจก็เช่นเดียวกัน ต้องทำให้ชัดเจนจึงจะได้ผล อย่างเช่น ‘ซาราห์ เมื่อกี้น่ารักมากเลยที่หนูหันไปถามความเห็นเพื่อนก่อนตอบคำถามครู’ คำพูดลักษณะนี้ประกอบกับคำอธิบายว่าเหตุใดการนึกถึงคนที่ร่วมงานด้วยถึงสำคัญจะเป็นการปลูกฝังเกี่ยวกับความเห็นอกเห็นใจที่จะติดตัวเด็ก ๆ ไปในระยะยาว สำคัญคือต้องคอยมองหาเหตุการณ์ลักษณะนี้ ชมให้ได้ยิน คุณอาจชวนนักเรียนล้อมวงประชุมทุกวัน ทุกสัปดาห์หรือทุกเดือนแล้วถามว่า มีเหตุการณ์น่าประทับใจอย่างนี้เกิดขึ้นกับพวกเราบ้างไหม
ให้โอกาสเด็ก ๆ แสดงความคิดเห็น
ความเห็นอกเห็นใจคือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ลองนึกว่าถ้าเราเป็นอีกฝ่าย เราจะทำอย่างไร รู้สึกอย่างไร หรืออย่างน้อยก็รับฟังเรื่องราวของผู้อื่น เราสามารถมอบโอกาสให้เด็ก ๆ ได้แสดงความคิดเห็น ทำห้องเรียนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยในการบอกเล่าความคิด ความฝัน ควางหวังและความกลัว ที่สำคัญที่สุดคือรับฟังพวกเขาอย่างตั้งใจและไม่ตัดสิน
นอกจากแนวทางข้างต้น ศูนย์ส่งเสริมการเรียนการสอน (Center for the Enhancement of Learning and Teaching – CELT) มหาวิทยาลัยทัฟต์ส (Tufts University) เสนอ 5 วิธีการในการสร้างบรรยากาศที่สนับสนุนการเรียนรู้ ดังนี้
หากเป็นไปได้ ตรวจรายงานหรือข้อสอบพร้อมแนะนำแนวทางการพัฒนา
ทุกคนอยากทำได้ดี ชมนักเรียนที่ทำได้ดี ส่วนนักเรียนที่ยังมีจุดที่อาจแก้ไขพัฒนา ครูสามารถเรียกพวกเขามาพูดคุยเพื่อวางแผนการเรียนให้ดียิ่งขึ้น ท่องไว้ว่าเป้าหมายคือการเรียนรู้ ดังนั้น ครูอาจมอบหมายงานให้นักเรียน เช่น อนุญาตให้นักเรียนเขียนชิ้นงานนั้นอีกครั้งเพื่อเป็นการฝึกทักษะการเขียน เป็นต้น
ให้คำปรึกษานักเรียนที่มีปัญหาในชั้นเรียน
บางครั้งนักเรียนก็ไม่กล้าขอความช่วยเหลือ ครูจึงต้องสอดส่องและยื่นมือหาเด็กเหล่านั้น อาจจัดตั้งกลุ่มทบทวนบทเรียนขนาดเล็ก ซึ่งไม่เพียงช่วยสร้างเสริมความเข้าใจบทเรียนในชั้นเรียน แต่ยังช่วยปรับบรรยากาศการเรียนให้เป็นไปในเชิงบวกมากขึ้น หากนักเรียนคนใดสนใจเรียนพิเศษเพิ่มเติมกับติวเตอร์ ช่วยจัดหาคนสอนที่เหมาะสมให้
เด็ก ๆ สามารถเข้าหาครูได้นอกห้องเรียน
มีหลายวิธีที่จะทำให้นักเรียนกล้าเข้าหาครูมากขึ้น หากอยู่ประจำห้องพักครู บอกเด็ก ๆ ว่าแวะมาหาได้เสมอ กำหนดเวลาตอบกลับอีเมล ตั้งกลุ่มแชทสำหรับรายวิชา อาจเสนอให้มีประชุมย่อยได้รายสัปดาห์ โดยแจกแบบสอบถามความต้องการเข้าร่วมในชั้นเรียน เวลาประชุมจะเป็นเวลาเดิมเสมอ และย้ำกับเด็ก ๆ ว่าการประชุมไม่มีคะแนนเพิ่มเติมให้
เปิดชั้นเรียนพิเศษนอกเวลาเรียนปกติ
ก่อนการสอบ พิจารณาว่าควรมีการทบทวนเนื้อหาที่เรียนหรือไม่ การทวนบทเรียนอาจจำเป็นสำหรับเด็กที่เพิ่งเข้าเรียนปีแรก และอาจเปิดให้เลือกสำหรับเด็กชั้นปีอื่น นอกจากจะช่วยให้นักเรียนสามารถทำแบบทดสอบได้ตรงตามโจทย์มากขึ้นแล้ว ครูยังได้ประโยชน์ในการออกแบบและพัฒนาเกณฑ์การประเมินนักเรียนอีกด้วย
แบ่งปันข้อสอบเก่า
ข้อสอบในหลายปีที่ผ่านมาสามารถเป็นแนวทางให้เด็ก ๆ ทำความคุ้นเคยกับรูปแบบข้อสอบ ความละเอียดของเนื้อหา จำนวนคำถาม ฯลฯ การอนุญาตให้นักเรียนได้ฝึกทำข้อสอบเก่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะนักเรียนทุกคนได้รับโอกาสทดลองและฝึกฝนทำข้อสอบอย่างเท่าเทียม อีกทั้งยังเอื้อต่อนักเรียนต่างชาติที่ไม่ได้ใช้ภาษาในแบบทดสอบเป็นภาษาแม่
การออกแบบการศึกษาที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์ไม่มีสูตรสำเร็จ และคงต้องใช้เวลาหลายทศวรรษ แต่การริเริ่มเปลี่ยนแปลงย่อมพาเราเข้าใกล้จุดหมายมากขึ้น จุดเปลี่ยนเล็ก ๆ อย่างการใส่ใจความต้องการของผู้เรียน ทำความรู้จักผู้เรียนให้มากขึ้น หรือพยายามผูกมิตรกับผู้เรียน อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในลำดับถัดไปที่ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ได้
อ้างอิง
https://www.edutopia.org/redefining-role-teacher
https://www.routledge.com/blog/article/teaching-values-of-being-human
https://provost.tufts.edu/celt/files/tipstemplatesupportiveenvironment.pdf
https://www.ef.com/wwen/blog/efacademyblog/supportive-learning-environment-look-like/
https://www.understood.org/en/articles/teaching-with-empathy-why-its-important
https://www.wgu.edu/heyteach/article/3-ways-to-infuse-your-teaching-with-empathy1903.html
https://www.simplypsychology.org/maslow.html