“ห้องคิง ควีน อีพี กิฟต์ (Gifted) ควรไปต่อหรือพอแค่นี้” คุยกับอดีตนักเรียนโอลิมปิกผู้ขอใช้ชีวิตที่อเมริกา

  • เรื่องการแบ่งห้องเรียนตามผลคะแนนเป็นเรื่องที่พูดกันมาหลายสิบปี วันนี้บางโรงเรียนสลายไปเรียบร้อยแล้วแต่หลายโรงเรียนก็ยังมีอยู่
  • “การวัดผลเพื่อให้นักเรียนรู้ว่าเขาอยู่ตรงไหนเพื่อพัฒนาตนเองเป็นสิ่งที่ดี แต่เราใช้ผิดจุดประสงค์ เพราะเราตัดสินไปแล้วว่าเด็กที่ไม่ผ่านคือคนที่ไม่มีความสามารถ สำหรับผมมันคือจุดจบ”
  • “ทั้งๆ ที่การวัดผลมันควรเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เด็กพัฒนาตนเอง มีความสุข และเจอสิ่งที่ชอบ”​ คือความคิดต่อการแบ่งห้องจากเจ้าของเหรียญเงินโอลิมปิกเมื่อ 16 ปีก่อน

“ลูกจะเป็นอะไรก็ได้ ขอแค่ตั้งใจเรียนก็พอ”

“เรียนให้เก่ง โตขึ้นจะได้สบาย”

“การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ มันคือบันไดความสำเร็จ”

มายาคติที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น มายาคติที่เราเชื่อโดยไม่ตั้งคำถาม จนกลายเป็นกรอบและเป้าหมายในชีวิตที่บอกตัวเองว่า “ฉันต้องเป็นคนเก่ง”

เพราะคนเก่งมักถูกยอมรับและได้คำชื่นชมจากสังคม เด็กๆ หลายคนจึงอยากเก่ง 

เพื่อพิสูจน์ว่าเราเก่งจริง ไม้บรรทัดที่เข้ามาวัดความเก่ง คือ ผลการเรียน  คะแนนสอบ การมีส่วนร่วมในห้องเรียน ตอบคำถาม เช็กชื่อ ส่งการบ้านตรงเวลา และอื่นๆ ที่เรียกว่า ‘คะแนน’

คะแนนที่ไม่ใช่ตัวเลข แต่เป็นเครื่องวัดความพยายามและความตั้งใจของเด็กคนหนึ่ง

เมื่อผลการเรียนกลายเป็นตัวชี้วัด คะแนนจึงเป็นส่วนสำคัญที่ถูกนำมาใช้ในการแบ่งห้องเรียน รวมถึงถูกนำมาเป็นเกณฑ์ในการรับนักเรียนของห้องเรียนพิเศษ ห้องคิง ห้องควีน หรือห้องกิฟต์ (Gifted) ตามมา

หนึ่งในตัวละครสำคัญของเรื่องนี้คือ  ‘ตี๋’ อำนวย พลสุขเจริญ อดีตเจ้าของเหรียญโอลิมปิกวิชาการสาขาฟิสิกส์ พ.ศ.2549 หรือเมื่อเกือบๆ 16 ปีก่อน 

การแบ่งห้องเรียนยังจำเป็นอยู่ไหมในวันที่เด็กทุกคนมีเส้นทางการเรียนรู้เป็นของตัวเอง คือประเด็นสำคัญที่เขามีมุมมองน่าสนใจมาแบ่งปันและแลกเปลี่ยน

เพื่อไปหาคำตอบร่วมกันว่า ห้องคิง ห้องควีน หรือห้อง Gifted ที่ถูกแบ่งโดยคะแนนกำลังสะท้อนอะไรในระบบการศึกษาไทย 

แล้วมันควรไปต่อหรือพอแค่นี้ 

โลกก็เป็นแบบนี้แหละ มีความไม่เท่าเทียมอยู่ แค่ไม่ถูกพูดถึง

“ในตอนที่เราเป็นนักเรียนรู้สึกว่ามันมีความไม่เท่าเทียมอยู่ รู้สึกว่าโลกมันก็เป็นอย่างนี้แหละ”

มุมมองจากตี๋ในวัยมัธยมคิดว่า การแบ่งห้องเรียนคือเรื่องปกติ แม้จะรู้สึกแต่ก็ไม่กล้าลงมือทำอะไร เขาในตอนนั้นจึงยอมรับตามระบบที่ควรจะเป็น 

“เรียนเพื่อสอบ” จึงเป็นคำคุ้นเคยที่อยู่กับระบบการศึกษาไทยมานาน 

การสอบเป็นเครื่องมือวัดระดับความสามารถ จัดห้องเรียน และตัดสินว่าใครเก่ง

‘ตี๋’ เองก็เป็นหนึ่งในนักเรียนที่ตั้งใจเรียนเพื่อจะเป็นเด็กเก่งตามแบบแผนที่สังคมยอมรับ

“พ่อผมจบม.3 แม่ผมจบป.4 ไม่มีใครได้เรียนจนถึงมหาวิทยาลัย แต่พ่อจะคอยสนับสนุนเราตลอดว่าการศึกษามันสำคัญนะ ต้องขยันเรียน ต้องเรียนให้เก่ง มันก็เลยเป็นเหมือนแรงผลักดันให้เราตั้งใจเรียนมาตลอด เพราะพ่อแม่สอนว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ”

เมื่อการเรียนและการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จ ตี๋จึงมุ่งมั่นกับการเรียนเป็นหลัก

“ตอนนั้นเราก็เห็นโรงเรียนให้สิทธิประโยชน์หรือเห็นแก่คนที่เรียนเก่ง เท่าที่จำได้เด็กเกเรหรือคนที่ไม่ตั้งใจเรียนจะถูกตราหน้าว่าไม่มีอนาคต ไม่ต้องสนใจ แล้วในขณะเดียวกันพวกเขา (เด็กเรียนกลางๆ และไม่เก่ง) ก็จะคิดว่าที่ถูกเปรียบเทียบเพราะว่ามีคนที่เรียนเก่งและเป็นที่ยอมรับ”

การไม่ให้โอกาส เคารพหรือมอบความรู้สึกชื่นชมในตัวเด็ก ไม่มากก็น้อย มันทำให้ความไม่เท่าเทียมเกิดขึ้น และเป็นจุดเริ่มต้นของความเหลื่อมล้ำที่เป็นรูปธรรมอย่างการเลือกปฏิบัติ

“เรารู้ว่ามันมีความไม่เท่าเทียมนั้นอยู่แต่ว่าเราเป็นคนที่ไม่เดือดร้อน จริงๆ เราก็รู้ว่ามีคนที่เดือดร้อน มีคนที่รู้สึกแย่ แต่ ณ ตอนนั้นที่เราเป็นเด็ก เรารู้สึกแย่แต่เราไม่เดือดร้อนและเราก็ไม่รู้จะแก้มันยังไง”

แม้ในตอนเด็กจะรู้สึกถึงความเหลื่อมล้ำ แต่อดีตเจ้าของเหรียญเงินโอลิมปิกวิชาการไม่รู้จะแก้อย่างไรจึงไม่ได้พูดมันออกมากับใครจนเติบโตขึ้นและรู้จักชีวิตมากขึ้น

 “ตอนที่ผมโตขึ้น แล้วได้รู้จักอะไรที่เข้ามาในชีวิต เปลี่ยนมุมมองว่าความเหลื่อมล้ำมันเป็นสิ่งที่แก้ได้ มันเป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่ามันเปลี่ยนได้นะ ที่จะทำให้มันดีขึ้นอีก”

นอกจากนี้ตี๋ยังแนะนำว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือครูต้องเชื่อในศักยภาพของเด็ก ไม่ว่าเด็กจะอยู่ระดับใดของความเก่งที่มีการวัดผล จงเชื่อว่าเขามีคุณค่าและทำให้เด็กเห็นว่าคุณค่าของเขาอยู่ตรงไหนทำให้เด็กรู้สึกว่า เขาสร้างประโยชน์ให้กับตัวเองและสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้

ขณะที่ทางออกในสายตานักการศึกษา ผศ.อรรถพล  อนันตวรสกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านบทความ ‘ถกเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’ จากเว็บไซต์ The101.word มองว่า ที่ผ่านมาการศึกษามักจะใช้ตะแกรงร่อนเด็กเก่งเพื่อคัดมาเข้า ‘ลู่พิเศษ’ โดยร่อนผลึกที่อ่อนทิ้งไป ซึ่งจริงๆ แล้วผลึกแต่ละอันก็มีความหมายในตัวเอง การใช้ตะแกรงร่อนด้วยเกณฑ์เดียวจึงไม่ยุติธรรมสำหรับเด็กกลุ่มใหญ่ที่ถูกร่อนทิ้งไป

“เราต้องกลับมาคิดเรื่องสิทธิพื้นฐานของการเข้าถึงคุณภาพการศึกษา ต้องไม่เฟ้นหาช้างเผือกเพื่อปั้นช้างเผือกตัวนั้นให้เด่นขึ้น แต่สิ่งที่ต้องทำคือ พัฒนาโรงเรียนกลุ่มล่างให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เพราะในความเป็นจริงมีเด็กกลุ่มเก่งกระจายอยู่เต็มไปหมด เขาอาจเป็นเด็กกลุ่มเก่งที่มาจากครอบครัวยากจน หรือสำหรับเด็กบางคน ความเก่งของเขาอาจจะยังไม่ได้ถูกค้นพบก็ได้”

การไม่รู้ไม่ใช่เรื่องผิด แต่เรื่องสำคัญ คือ เด็กต้องการเวลา

ทั้งเวลาในการค้นหาตัวเองและเวลาในการเข้าใจสิ่งที่สนใจให้มากขึ้นเพราะเด็กทุกคนมีความถนัด ความชอบ หรือความเก่งที่แตกต่างกัน 

ขณะเดียวกันเด็กบางคนชอบเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ชอบภาษา กีฬา ศิลปะ และความถนัดอื่นๆ ที่เขาสนใจ 

และไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้ารอเวลาแต่ไม่เจอตัวเอง

การวัดระดับของเด็ก ควรเป็นจุดเริ่มต้นไม่ใช่จุดจบ

เมื่อขึ้นปีการศึกษาใหม่ เด็กเก่งจะได้รับรางวัลเรียนดีผ่านการมอบรางวัลหน้าเสาธงหรือการติดคะแนนสอบที่โรงเรียน อีกทั้งชื่อของนักเรียนเก่งที่สอบได้คะแนน O-NET เต็ม 100 คะแนน หรือศิษย์เก่าที่สอบเข้าคณะและมหาวิทยาลัยชื่อดังมักจะปรากฎอยู่ในไวนิลข้างรั้วโรงเรียนเสมอ

ทั้งหมดนี้อาจบอกได้ว่าเป็นการประกาศว่า “นี่คือเด็กเก่ง” เพราะเก่งจึงถูกยกย่อง เด็กจะได้ไม่เสียใจเพราะมันคือผลลัพธ์ที่ได้มาจากความพยายามของพวกเขา

รวมถึงหลายโรงเรียนที่มีการแบ่งห้องเรียนความเก่งทางวิชาการที่ไม่เท่ากัน ซึ่งอาจทำให้เด็กมองกันด้วยความแตกต่าง

ห้องคิง ห้องควีน หรือห้องกิฟต์ (Gifted) หรือห้อง EP (English Program) คือห้องของเด็กเก่ง ขณะที่ห้องธรรมดาหรือห้องคละจะถูกมองว่าเป็นห้องบ๊วยหรือห้องเด็กที่ไม่เก่ง

หลายโรงเรียนที่มีการแบ่งห้องตามเกรดของนักเรียนนั้น คะแนนส่วนหนึ่งมาจากเกรดที่สะสมและส่วนหนึ่งมาจากคะแนนสอบเพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แข่งขันเพื่อให้เข้าไปอยู่ในห้องที่มีเด็กเก่งรวมตัวกัน

ตัวอย่างเกณฑ์ที่ใช้ในการรับนักเรียนเข้าศึกษาในโรงเรียนอย่างโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษามีการรับนักเรียนสายวิทย์-คณิตในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จะมีเกรดเฉลี่ยสะสมรวมอยู่ที่ 3.80 และโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ นักเรียนที่สอบคัดเลือกเข้ามัธยมศึกษาปีที่ 4 ต้องมีเกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.00 เพื่อให้ได้เข้าไปอยู่ในห้องเด็กเก่ง นักเรียนหลายคนจึงลงเรียนพิเศษเพื่อให้ได้ความรู้มากขึ้นจากติวเตอร์ที่คร่ำหวอดเรื่องการเก็งข้อสอบ และเพิ่มเทคนิคในการเรียน

ในมุมกลับกันเด็กยากจนหรือคะแนนไม่ดีกลับเข้าไม่ถึงการศึกษา แม้ว่าจะมีทุนเรียนดีแต่ยากจน

แต่สุดท้ายเด็กก็ต้องเรียนดีก่อนหรือเปล่า? การสอบเป็นตัวชี้วัดที่แสดงถึงความตั้งใจ หรือใครจะมองด้วยเหตุผลอื่น มันจึงทำให้เด็กหลายคนมักจะกดดันและคาดหวังผลของมันอยู่เสมอเพื่อจะได้ถูกยอมรับว่า “ฉันเป็นเด็กที่เก่ง”

“การวัดผลเพื่อให้นักเรียนรู้ว่าเขาอยู่ตรงไหนเพื่อพัฒนาตนเองเป็นสิ่งที่ดี แต่เราใช้ผิดจุดประสงค์ เพราะเราตัดสินไปแล้วว่าเด็กที่ไม่ผ่านคือคนที่ไม่มีความสามารถ สำหรับผมมันคือจุดจบ ทั้งๆ ที่การวัดผลมันควรเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เด็กพัฒนาตนเอง มีความสุข และเจอสิ่งที่ชอบ”

ตี๋มองว่าการศึกษาควรเป็นไปตามความสามารถของคน ณ ตอนนั้น และตั้งคำถามสำคัญอีกว่า การศึกษาจะช่วยพัฒนาเด็กได้อย่างไร

อาจารย์อรรถพล พูดผ่าน The 101.World ถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำในรั้วโรงเรียนว่า 

“พ่อแม่ส่งเรียน EP เรียนวิทย์-คณิตมาเท่าไหร่ก็ไม่รู้ เพื่อสุดท้ายให้คุณค้นพบตัวเองว่า ‘ฉันอยากเป็นนักร้อง’ ทำไมเราไม่เปิดโอกาสให้เขาค้นพบตนเอง ให้เขาไปเดินบนเส้นทางที่เขาใฝ่ฝันตั้งแต่ยังเด็กไปเลย เขาจะได้มีความสุขในอาชีพที่เขาใฝ่ฝัน ไม่ต้องเสียเวลามาเดินหลงทาง”

ในอีกมุมหนึ่ง ห้องเรียนที่ผสมผสานของเด็กหลายแบบเกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘สอนกันได้’ โดย ‘อาจารย์แว้บ’ ผศ.ดร.วสะ บูรพาเดชะ อาจารย์ประจำอาจารย์ประจำภาควิชาระบบสารสนเทศธุรกิจ คณะบริหาร มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เจ้าของเพจพ่อบ้านเล่างานวิจัย พูดถึงประเด็นการเรียนคละกันระหว่างเด็กเก่งกับไม่เก่งเอาไว้ใน 5 งานวิจัยชวนพ่อแม่ ‘เอ๊ะ’ ก่อนเชื่อ จาก พ่อบ้านเล่างานวิจัย ว่า

“สมมติว่าคุณพ่อเป็นแชมป์ยิงธนู คุณพ่อสอนลูก ลูกจะไม่มีทางมองว่าเขาจะไปถึงตรงนั้นได้ แต่ถ้าเขาไปแข่งกับเพื่อน gap มันแคบมาก เช่นเดียวกัน ในห้องถ้าเรา mix เด็กเข้าไป มีทั้งเด็กที่เก่งมาก เก่งน้อย แล้วให้เขาทำงานด้วยกัน เด็กเก่งมากจะไปสอนเด็กเก่งน้อย แต่ถ้าครูไปสอน เขาจะยิ่งท้อ พอยิ่งเราพูดมันยิ่งเยอะ ยิ่งน่ากลัวเข้าไปใหญ่ ในขณะที่เด็กด้วยกันเองมีภาษาที่เหมือนกันสอนกันได้” 

เพื่อตอกย้ำว่าเด็กทุกคนมีความถนัดที่ต่างกัน ไม่กี่ปีมานี้หลายโรงเรียนเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการเรียนการสอน

เพิ่มความหลากหลายของหลักสูตรเพื่อให้เด็กได้ค้นหาต้วตนที่เขาสามารถเลือกเองได้อย่างโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ที่มีหลักสูตรให้เด็กค้นหาตัวเอง ทั้งสายแพทย์ สายวิศวกรรมศาสตร์ สายอักษรศาสตร์ สายศิลปกรรม ฯลฯ ที่ให้เด็กได้เลือกเรียนได้ตามความถนัด

หรือโรงเรียนชายล้วนอย่างกรุงเทพคริสเตียนที่มีการปรับสายการเรียน ไม่ได้เป็นสายวิทย์หรือสายศิลป์เหมือนเคย แต่จะให้นักเรียนได้เลือกเรียนตาม track ที่ทางโรงเรียนจัดไว้ เสมือนเป็นการเลือกคณะในมหาวิทยาลัยที่ครอบคลุมและเด็กสามารถเลือกเรียนสิ่งที่สนใจได้ เพื่อให้ได้ลองเรียนรู้ก่อนขึ้นมหาวิทยาลัย

เมื่อความคาดหวังถูกเปลี่ยนเป็นความกดดัน

สังคมมักสร้างมายาคติค่านิยมความสำเร็จในการเรียนที่คอยผลักดันให้เราค้นหาตัวเองไปพร้อมกับการตั้งใจเรียน เพื่อที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตตามที่เรา พ่อแม่ หรือคนรอบข้างคาดหวัง

ต้องพยายามอย่างมากเพื่อให้ได้มาซึ่งคณะที่ใช่ สาขาที่ชอบ แม้บางครั้งการเลือกคณะหรือสาขาจะมาจากอิทธิพลทางความคิดของครอบครัวหรือคนรอบข้างที่อยากให้เราเรียนในสิ่งที่ใครเขาคิดว่าดี

ม.4 เครียดเรียนออนไลน์ ผูกคอดับทั้งชุดนร. (PPTV 36)

สลด! เด็ก ม.3 เมืองรถม้า น้อยใจพ่อแม่ตำหนิเรื่องเรียน ผูกคอดับ (Thairath)

หนุ่มเครียดสอบไม่ติด สวมชุดนร.ผูกคอดับคาบ้าน (Workpoint)

การโดนคาดหวังจากครอบครัว ครูหรือโรงเรียนจนทำให้รู้สึกกดดันเพราะกลัวจะทำออกมาได้ไม่ดีพอ จนเกิดความเครียดสะสมและผลลัพธ์ที่ตามมาคือสิ่งที่สื่อนำเสนอให้เห็นผ่านตา 

ข่าวเหล่านี้มีต้นตอสาเหตุจากความเครียดสะสม ความกดดัน หรือความคาดหวังจากครอบครัวและโรงเรียน ซึ่งส่งผลต่อเยาวชน หลายคนจึงอาจกลายเป็นโรคซึมเศร้าตามมา จากข้อมูลสถานการณ์โรคซึมเศร้าจากกรมสุขภาพจิต พบว่า ในปี 2560 กลุ่มเยาวชนอายุ 20-24 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายที่ 4.94 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 5.33 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งสอดคล้องกับศูนย์ข้อมูลโรคซึมเศร้าไทย ที่พบว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน โดยผู้ป่วยจำนวน 100 คน สามารถเข้าถึงการรักษาเพียง 28 คนเท่านั้น และทำให้คนไทยกว่า 70 เปอร์เซ็นต์เสียชีวิตก่อนวัยอันควร

“บางทีพ่อแม่อาจจะบังคับให้กินนี่สิ ต้องอ่านหนังสือนะ ต้องตั้งใจเรียน หรือบังคับในสิ่งที่เขาเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งต้องยอมรับว่าตอนเด็กเราไม่ได้รู้ทุกเรื่อง ณ ตอนเด็กเราอาจจะคิดว่าทำไมต้องมาก้าวก่ายชีวิตเรา แต่ว่าเขาเป็นคนที่อยากให้เรามีความสุขและเขาเชื่อว่าความสุขคือความสำเร็จ พ่อแม่เลยอยากให้เรามีการศึกษาที่ดี” ตี๋เชื่อแบบนั้น

ตี๋ยังบอกอีกว่าเมื่อโตขึ้นพอถึงจุดที่ครอบครัวมองว่าเราไม่ใช่เด็กอีกต่อไป รู้ว่าเราสามารถตัดสินใจใช้ชีวิตในแบบที่เราต้องการ และเคารพความคิดของเรา เป็นสิ่งที่ทำให้เขาเห็นว่าแท้จริงแล้วบางครั้งครอบครัวแค่ต้องการให้เราประสบความสำเร็จเพียงเท่านั้น แต่ในทางกลับกันบางครั้งเด็กแค่ต้องการความเข้าใจ รับฟังในสิ่งที่เขาเลือกโดยไม่ตัดสินเท่านั้นเอง

เหตุผลที่นักเรียนทุนเลือกใช้ทุนคืนพร้อมค่าปรับ

โอลิมปิกวิชาการคือโครงการของกลุ่มการแข่งขันระดับชาติในสาขาต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งในแต่ละปีจะคัดเลือกเด็กเก่งในแต่ละสาขา 4-6 คนในประเทศ เช่น ฟิสิกส์ เคมี คอมพิวเตอร์ ฯลฯ เพื่อไปแข่งกับเด็กเก่งจากทั่วโลก

ฝึกความรู้และทักษะทางวิชาการที่นอกเหนือจากชั้นเรียน ได้ทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ ได้โควต้าเพื่อเข้าคณะในฝันที่เปิดรับโดยไม่ต้องสอบแข่งขัน สิ่งที่ได้กล่าวไปล้วนเป็นสิทธิพิเศษสำหรับนักเรียนโอลิมปิกวิชาการ

“ตอนนั้นรู้สึกดีใจ การได้เหรียญถือว่าพอใจนะว่าเราก็ทำได้ ทำให้พ่อแม่ภูมิใจ ทำให้คนที่อุตส่าห์สอนเรามาภูมิใจ ทำให้คนที่ดูแลเราภูมิใจ มันก็เป็นความรู้สึกที่ดี แต่มันก็ไม่ได้ดีแบบว่า โอ้โห นี่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิต ไม่ขนาดนั้น” ตี๋ย้อนความรู้สึกให้ฟัง

ในมุมมองของเขา การเป็นเด็กนักเรียนทุนได้ไปเรียนต่างประเทศถือเป็นประสบการณ์ 11 ปีที่ดีในการเรียนและใช้ชีวิตที่สหรัฐอเมริกา หากตามภาระหน้าที่เขาจะต้องกลับมาทำงานในฐานะนักวิจัยหรือทำงานในองค์กรรัฐอีก 10 ปี แต่การได้ไปเห็นโลก ได้ใช้ชีวิตที่นอกเหนือจากห้องเรียนทำให้เขาตัดสินใจใช้ทุนคืนพร้อมค่าปรับ

“ผมเป็นคนใช้ทุน ผมไม่ควรจะไปพูดให้คนอื่นไม่อยากรับทุน แต่ส่วนหนึ่งที่ผมคิดว่ามันควรจะยุติธรรมกว่านี้คือ การตัดสินใจเลือกรับทุนมันเป็นสิ่งที่ยากมากสำหรับเด็กม.ปลายคนหนึ่งจะเลือก เพราะว่ามันเป็นสิบปี แล้วในสิบปีนั้นมันจะต้องเจออะไรบ้าง เขาควรได้รู้ก่อนเลือก”

“ผมใช้ทุนคืน คิดว่ามันมีสิ่งที่ผมผูกพันและผมมีสิ่งที่ผมเชื่อว่าอยู่ที่นี่ผมสร้างคุณค่าได้ และผมช่วยคนอื่นได้ ผมมีความฝันที่ผมอยากทำ ที่ผมเริ่มเจอแล้ว เริ่มโผล่มาเรื่อยๆ แล้วมันมีโอกาส มีคนที่สนับสนุนมีคนที่เชื่อเหมือนกัน ผมรู้สึกว่ามันเหมาะสมแล้วสำหรับผม”

สำหรับตี๋ การเป็นเด็กเก่งไม่จำเป็นต้องจบที่การได้รับทุนหรือเรียนสายวิทย์-คณิตเสมอไป เขาเชื่อว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพและพัฒนาตัวเองได้ บางคนอาจจะต้องใช้เวลานานกว่าจะเจอศักยภาพนั้น 

การได้เห็นคนหลากหลายและด้วยความฝันส่วนตัวที่อยากเป็นครูทำให้ตอนนี้เขามีความฝันคือ อยากสร้างโรงเรียนเพื่อให้เด็กได้ลองเรียนรู้ และค้นหาตัวเอง

“ผมอยากสร้างโรงเรียนที่เป็นพื้นที่ให้ทุกคนได้ทดลองและค้นหาตัวเอง เพราะชีวิตผมมาไกลแล้วและมีความสุขมากพอที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้ใครได้ ถ้าเด็กอยากเป็นตำรวจก็พาไปเรียนรู้ว่าวันหนึ่งตำรวจเขาทำอะไร จริงๆ ผมอยากสร้างสถานที่แบบนี้ มันอาจจะไม่ใช่โรงเรียนแต่เป็นที่ที่ให้คนได้ลองค้นหาตัวเองว่าเขาชอบอะไร แล้วก็ผมคิดว่ามันน่าจะเป็นสิ่งที่สนุกที่จะทำ”

ท้ายที่สุดแล้วเราเรียนเพื่ออะไร เรียนเพื่อศึกษาหาความรู้ เรียนเพื่อสอบ หรือเรียนเพื่อค้นหาสิ่งที่ตัวเองชอบ สุดท้ายคำตอบนั้นเราจะค้นพบได้ด้วยตัวเราเอง ไม่ว่าจะใช้เวลาในการหาคำตอบนั้นนานแค่ไหนก็ตาม

ที่มา

https://www.tcijthai.com/news/2019/19/scoop/9226

https://research.eef.or.th/class-seperate-students/

https://www.the101.world/athapol-interview/

https://campus.campus-star.com/variety/113338.html

https://togethereduclub.com/direct-erdi65/

https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=30114

https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=31459

https://www.trueplookpanya.com/blog/content/60822

https://www.triamudom.ac.th/website/images/64/12/quota65.pdf

https://www.mwit.ac.th/html/admission65/


Writer

Avatar photo

สุภาพรรณ ฤทธิยา

หายใจเข้าเพลง k-indie หายใจออกซีรี่ย์ อนิเมะ นิสิตฝึกเขียนเอกวารสารฯ ที่ตอนนี้กำลังสนุกกับการเรียนรู้โลกกว้างก่อนเรียนจบ

Illustrator

Avatar photo

กมลชนก แก้วก่า

นักศึกษาฝึกงาน graphic design ชอบฟังพอดแคสต์ มีความฝันอยากเลี้ยงแมวส้ม

Related Posts