- “เลี้ยงเด็กหนึ่งคนใช้คนทั้งหมู่บ้าน” เป็นสำนวนที่แสดงถึงความรับผิดชอบของชุมชนในการช่วยดูแลเด็กให้เติบโตอย่างแข็งแรงปลอดภัย
- ‘พรผู้สร้าง’ ชุมชนในอำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ยังคงเชื่อในสำนวนนี้ และบทพิสูจน์ก็คือความสุขและความมั่นใจที่ฉายออกมาผ่านแววตาของเด็กๆ
- ในพื้นที่ 40 ไร่ของชุมชนพรผู้สร้าง มีฐานการเรียนรู้มากกว่า 10 ฐานให้เด็กๆ ได้เรียนรู้จากลุงป้าน้าอาตามความถนัดที่แต่ละคนมี โดยพวกเขาได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้และกำหนดตารางเรียนได้ด้วยตัวเอง
It takes a village to raise a child หรือ “เลี้ยงเด็กหนึ่งคนใช้คนทั้งหมู่บ้าน” สำนวนโบราณที่แสดงถึงความรับผิดรับชอบของชุมชนในการช่วยกันดูแลเด็กให้เติบโตขึ้นอย่างแข็งแรง และปลอดภัย
แม้ภาพของการอยู่ร่วมกันเช่นในอดีตอาจเห็นได้ยากขึ้น ทว่าบนโลกใบนี้ยังมีบางพื้นที่ที่ยังอาศัยกำลังของคนทั้งหมู่บ้านในการทำภารกิจสำคัญนี้อยู่ เช่น หมู่บ้าน Kraho ชาวพื้นเมืองในบราซิลที่แม่ทุกคนมาอยู่รวมกันในบ้านหลังเดียว ลูกๆ ถูกเลี้ยงรวมกันโดยแม่ๆ เหล่านั้นผลลัพธ์คือเด็กๆ ในหมู่บ้าน Kraho ต่างเติบโตมาเป็นเด็กที่มีอิสระและเชื่อมั่นในตัวเอง
แต่ตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงของการ ‘เลี้ยงเด็กหนึ่งคนใช้คนทั้งหมู่บ้าน’ อาจไม่ต้องมองไกลถึงประเทศอื่น เพราะในประเทศไทยก็ยังมีอีกชุมชนหนึ่งที่เชื่อในสำนวนนี้เช่นกัน
เปลี่ยนผู้ใหญ่ในหมู่บ้านให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย
“นี่เด็กๆ สานเองค่ะ” พี่นา – สมาชิกชุมชนพรผู้สร้าง เปิดบทสนทนาด้วยการชี้ชวนให้เราดูหลังคาใบไม้สานของศาลาที่เรากำลังนั่งหลบแดดบ่าย ภายในศาลามีโรตีและเครื่องดื่มหลากหลายรสชาติจากผลผลิตในชุมชนมองออกไปข้างนอกมีสระน้ำธรรมชาติ สไลเดอร์สีสดใส เรือถีบ แปลงผักและซุ้มขายของเรียงรายบริเวณนี้จะกลายเป็นตลาดทุกเสาร์-อาทิตย์ และทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือนิเวศการเรียนรู้ของเด็กๆ โฮมสคูลในชุมชนพรผู้สร้าง ชุมชนทางเลือกที่ทุกคนอยู่รวมกันเป็นครอบครัวในพื้นที่ 40 ไร่ของอำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร
“ที่นี่เป็นครอบครัวใหญ่ ทุกคนมีบทบาทและความสำคัญเพราะถือว่าเป็นระบบนิเวศของเด็ก ผู้ใหญ่ที่นี่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็กๆ ได้ซึมซับ เราไม่ได้เลี้ยงครอบครัวใครครอบครัวมัน เราเลี้ยงด้วยกัน” คำตอบของพี่นาเมื่อเราถามถึงเรื่องการเลี้ยงเด็กๆ รวมกันของชุมชนพรผู้สร้าง
“คนโบราณสอนเสมอว่า เลี้ยงลูกอย่าเลี้ยงคนเดียว ต้องให้ชาวบ้านช่วยเลี้ยง ก็คิดว่ามันจริง เพราะพอเราเลี้ยงแบบครอบครัวใหญ่ ลูกคลาดจากสายตาเรา ก็ยังมีสายตาของคนนู้นคนนี้ มีคนช่วยดู มีหลายหูหลายตา ลูกเราก็จะปลอดภัย”
เมื่อก่อนสมาชิกชุมชนพรผู้สร้างเคยอยู่แบบครอบครัวเดี่ยว และหลายครอบครัวก็ประสบปัญหา เช่น ไม่มีเวลาให้ลูกหรือมีความกังวลที่เกิดขึ้นกับพ่อแม่เมื่อลูกคลาดสายตา แต่เมื่อเปลี่ยนวิถีชีวิตมาเป็นการอยู่รวมกันแบบครอบครัวใหญ่ ก็พบว่าปัญหานั้นหมดไป นอกจากนี้ ความหลากหลายของผู้ใหญ่ยังทำให้เด็กๆ สามารถหาความรู้จากลุงป้าน้าอาคนอื่นๆ ของชุมชนในเรื่องที่พ่อแม่ไม่รู้ได้ด้วย
“บางเรื่องเราไม่สามารถสอนหรือชี้แนะลูกเราได้ เช่น ตกปลา ถ้ามีคนช่วยดู ลูกเราก็จะได้คำสอนคำแนะนำเยอะแยะ บางวันเขาก็กลับมาเราว่าวันนี้ลุงสอนทำอันนี้อันนั้น เขาเรียนรู้จากลุงป้าน้าอาได้โดยไม่จำเป็นต้องได้มาจากเรา”
และเพราะการเลี้ยงเด็กไม่ได้จำกัดอยู่แค่การให้ความรู้ แต่คือการให้ความรัก ผู้ใหญ่ทุกคนในชุมชนพรผู้สร้างจึงต้องฝึกใส่ใจทุกรายละเอียด รับฟังเด็กๆ อย่างตั้งใจ และทำให้พวกเขารับรู้ว่าเขาสำคัญ แม้แต่เรื่องที่เล็กน้อยที่สุดก็ตาม
“เวลาที่เด็กเขาวิ่งมาถามว่า ‘แม่ๆ หนูเย็บผ้าอันนี้ได้ สวยไหม’ เราจะบอกคนในชุมชนให้วางทุกอย่างแล้วหันไปใส่ใจเขา คุยกับเขาให้จบ ไม่ชมสั้นๆ แค่ ‘เออ สวย’ แต่เราจะหันไปใส่ใจเขา บอกเขาว่า ‘โอ้โห มองเห็นถึงความพยายามและตั้งใจของหนูเลยลูก แล้วเพราะหนูพยายามแบบนี้มันถึงได้ออกมาสวยมากเลยลูก’ เราใส่ใจทุกรายละเอียด แม้มันจะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่มันจะเป็นการสร้างที่ยิ่งใหญ่ของเขาในภายภาคหน้า เราจะไม่ให้ไปทำลายตรงนี้ของเขา”
ความรักและการให้ความสำคัญที่เด็กๆ ได้รับจากลุงป้าน้าอาทุกคนในชุมชนคือสิ่งที่อัสมิน วัย 18 ปี และเพื่อนๆ เลือกที่จะเรียนรู้อยู่ที่บ้านมากกว่าอยู่ในโรงเรียน
“อยู่ที่บ้านทุกคนเท่าเทียมกัน มีอะไรก็ปรึกษาได้เลย แต่ว่าอยู่โรงเรียนมีการแบ่งแยกว่าคนนี้เรียนเก่ง คนนี้เรียนไม่เก่ง”
พี่นาเล่าว่าตอนที่เด็กๆ ยังไปโรงเรียน การโดนล้อที่โรงเรียนทำให้เด็กๆ ขาดความมั่นใจ แต่เมื่ออยู่ที่พรผู้สร้าง เด็กๆ มีอิสระที่จะเป็นตัวเองอย่างเต็มที่ รู้จักและเคารพความแตกต่างหลากหลายของผู้อื่น มีโอกาสที่จะได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ได้ลองผิดลองถูกและเรียนรู้จากประสบการณ์ของตัวเอง เด็กๆ ที่นี่จึงพร้อมจะตื่นเช้าขึ้นมาเรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ โดยไม่ต้องบังคับเหมือนเมื่อตอนไปโรงเรียน และเมื่อผู้ใหญ่รอบตัวไม่กดทับพวกเขาด้วยความคาดหวัง ความสุข ผ่อนคลาย และมั่นใจก็ฉานฉายออกมาผ่านแววตาที่เราทุกคนสัมผัสได้เมื่อไปเยือนชุมชนพรผู้สร้าง
“เมื่อก่อนหากมีการกระทบกระทั่งกัน เด็กๆ จะโวยวาย ซึ่งตอนอยู่ที่โรงเรียนพอไปบอกครู ครูก็ไม่รับฟัง เพราะฉะนั้นเด็กเลยต้องพิพากษากันเอง พอปากบอกไม่ชอบ มือก็ไปแล้ว แต่อยู่ที่นี่เกิดอะไรขึ้นเราก็เรียกมาคุยกันโดยไม่ดุเขาก่อน เพราะถ้าดุเขาจะไม่กล้าพูด เราจะให้เขาเล่าก่อนว่าเกิดอะไรขึ้นเพื่อให้รู้ว่าเราสนใจเขา ฟังเขาแป๊บเดียวเขาก็กอดคอไปเล่นกันต่อได้แล้ว แต่ถ้าเป็นเมื่อก่อนเดี๋ยวเขาก็ทะเลาะกันอีก การที่ผู้ใหญ่ไม่ตัดสินเขาและรับฟัง มันเหมือนกับทำให้เขาซึมซับ พอพวกเราอ่อนโยนกับเขา เขาก็มีจิตใจที่อ่อนโยนขึ้น”
อาจเป็นเพราะการเปิดกว้างของคนในชุมชน หรือการที่เด็กๆ รู้สึกได้ถึงการรับฟังของผู้ใหญ่ที่นี่อย่างจริงใจ ทำให้ 4 ปีที่แล้ว เด็กๆ ที่ชุมชนพรผู้สร้างซึ่งกำลังจะต้องศึกษาต่อในระดับมัธยมตัดสินใจรวมตัวกันบอกกับพ่อแม่ว่า ‘พวกเขาไม่อยากจะเรียนในระบบอีกต่อไปแล้ว’
เดินไปตรงไหนก็ได้เรียนรู้
เมื่อชุมชนได้รับรู้ความต้องการของเด็กๆ พวกเขาไม่ละเลยเสียงเล็กๆ เหล่านั้น และเริ่มต้นค้นหาความเป็นไปได้ในการสร้างพื้นที่เรียนรู้สำหรับลูกหลานในชุมชน
“ตอนนั้นเราก็ต้องหันหาวิธีที่จะช่วยลูกเรา พอดีได้ดูคลิปของอาจารย์โจน จันได เรื่องโฮมสคูล เลยโทรไปถามเพื่อนว่ามันทำยังไง ทำแบบไหน แล้วเอามาคุยกันว่ามันมีการเรียนแบบนี้ เราดีใจเลยที่หาทางออกให้ลูกเราได้”
โฮมสคูล จึงเป็นทางเส้นใหม่ที่ชุมชนพรผู้สร้างมองเห็นโอกาสสร้างระบบการเรียนรู้ที่ไม่ทำลายธรรมชาติของเด็ก แน่นอนว่าภาพฝันนั้นสวยงาม แต่ในความเป็นจริง ผู้ใหญ่ในชุมชนต้องเรียนรู้อย่างมากมายในการเปิดรับและทำความเข้าใจกับวิธีการใหม่ๆ ก้าวข้ามความกลัวและความกังวลที่ลูกจะไม่ได้ไปโรงเรียนเหมือนเด็กคนอื่น ปรับเพิ่มบทบาทตัวเองจากลุงป้าน้าอาที่ทำมาหากินในชุมชนมาเป็นผู้สร้างการเรียนรู้ให้เด็ก รวมถึงการวางใจกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมละแวกนั้นที่ยังไม่เปิดรับต่อการเรียนรู้ลักษณะนี้
“แต่เราก็ทำของเรามา แล้วเราเห็นผลกันด้วยตัวเองเลยว่าเด็กของเรามีประสิทธิภาพมาก สมมติเรียนการซ่อมมอเตอร์ไซค์ เอารถมา 1 คัน ทำเลย ซ่อมเลย เรามั่นใจในเด็กเราว่าทำได้ เพราะรู้จริง มีทักษะจริง สร้างผลงานได้จริง ไม่ใช่รู้แค่ทฤษฎีในหนังสือแต่ไม่เคยลงมือทำ มันเป็นความรู้ที่ไม่เกิดประโยชน์ มันทำให้เสียเวลา เสียเงิน การส่งลูกเข้าระบบการศึกษาต้องใช้ความทุ่มเทมากกว่าจะจบปริญญา แต่ทุ่มไป แล้วใช้เวลาอีกค่อนชีวิตออกมาตกงาน”
พื้นที่ทำกิน 40 ไร่ของชุมชนพรผู้สร้างถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นฐานการเรียนรู้กว่า 10 ฐาน เช่น ตัดผม เสริมสวย ซ่อมรถ ทำอาหาร เบเกอรี่ นวดโบราณ บ้านพัก ทำนา เลี้ยงสัตว์ เย็บปักถักร้อย และอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นตามความสนใจของเด็ก และทักษะของลุงป้าน้าอาในชุมชน พื้นที่แห่งนี้กลายเป็นพื้นที่เรียนรู้ที่ครอบครัวพร้อมถ่ายทอดทักษะและความรู้ให้กับเด็กๆ ในรูปแบบของปฏิบัติการจริงที่ทำไปพร้อมกับการทำมาหากินของผู้ใหญ่ในชุมชน เด็กๆ ได้เรียนรู้จากการลงมือทำและซึมซับรับเอาวิธีคิดวิธีแก้ปัญหาจากผู้ใหญ่ เด็กๆ ได้เรียนรู้ทักษะการจัดการตนเอง เพราะที่นี่พวกเขามีสิทธิในการเป็นผู้กำหนดกติกา วิชา และตารางเรียนโดยมีผู้ใหญ่เป็นผู้ประคับประคองและสนับสนุนการเรียนรู้
“อยู่ที่นี่รู้สึกอิสระมากเลยค่ะ เราเดินไปตรงไหน เราอยากเรียนรู้ว่าดำนายังไงก็ลงได้เลย ถ้าไปโรงเรียนคือจดแค่ในสมุดแล้วก็เอาใส่กระเป๋า ความรู้ก็อยู่แค่ในนั้น” ซันนี่เล่าถึงบรรยากาศการเรียนรู้ของชุมชนพรผู้สร้างที่เด็กๆ ได้มีอิสระในสิ่งที่ตนเองสนใจ และเลือกการเรียนรู้จากฐานการเรียนรู้หลากหลายที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวิถีทำกินของชุมชนแห่งนี้
แม้จะมีฐานการเรียนรู้ที่หลากหลาย แต่ก็ยังมีความรู้อีกมากมายที่ไม่ได้อยู่ในฐาน สมาชิกมีการจัดการเรียนรู้ให้เด็กๆ ได้เรียนสิ่งที่ตนเองสนใจนอกชุมชนผ่านหลากรูปแบบวิธีการ เช่น การเชิญวิทยากรมาบรรยาย การพาเด็กไปเรียนรู้ดูงานภายนอก และเรียนรู้ผ่านสื่อต่างๆ
“ถ้าเด็กสนใจเรียนรู้เรื่องอะไร เราจะประสานกับเครือข่ายของเราที่มีศักยภาพตรงนั้น บางทีเราก็เลือกใช้ยูทูปให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้ หรือตอนที่เด็กๆ อยากเรียนทำสบู่ เราก็มีการเชิญวิทยากรจากข้างนอกมาช่วยสอน ส่วนภาษาอังกฤษ เราก็ติดต่อกับแดเนียลที่เป็นชาวต่างชาติ เราแลกเปลี่ยนให้ที่พักกับเขา แล้วเขาก็ช่วยสอนภาษาให้กับเด็กๆ และคนในชุมชนของเรา”
นอกจากนั้น คำถามคลาสสิกของการจัดการศึกษาแบบโฮมสคูล หรือการจัดการเรียนรู้โดยชุมชนที่ทุกคนจะต้องถูกถามคือ เรื่องความสัมพันธ์กับสังคมภายนอก
“เรามีสังคม เราเปิดตลาด มีผู้คนมาเยอะแยะมากมาย เราก็ได้พูดคุยกับผู้คนที่หลากหลาย ถ้าเราอยากไปเที่ยวไหนผู้ใหญ่ก็จะพาไปและคอยคัดท้าย พอเราไปด้วยกันก็สนุก เราได้ไปกระบี่ พังงา ไปเกาะเพื่อศึกษาวิถีชาวประมง ดูว่าเขาตกปลากันยังไง แล้วไปกรุงเทพ ไปทัศนศึกษาหลายที่” ซันนี่เล่า
ฐานการเรียนรู้อันมากมายที่ดูมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามความสนใจของเด็กๆ ในชุมชน และการปรับบทบาทของผู้ใหญ่มาเป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ ส่งผลต่อความสุขในการเรียนรู้ของเด็ก และผลที่เกิดขึ้นกับพ่อแม่ ผู้ปกครองที่ชุมชนนี้คือความสบายใจ ความวางใจ การช่วยประหยัดความห่วงใยและความกังวล
“มันก็เห็นชัดเจนเลยว่าแตกต่าง ลูกเราเปลี่ยนไปมากจริงๆ ยังคิดกันอยู่ว่าถ้าเกิดลูกเรายังอยู่ในระบบ ป่านนี้เราก็คงยังต้องห่วงทุกอย่าง แต่ตอนนี้ไม่ว่าจะวิกฤติอะไรเกิดขึ้น เรามั่นใจ ตอบได้เต็มปากว่าเขาเอาตัวรอดได้แน่”
ยูโทเปียที่มีอยู่จริง
หากจะบอกว่าการเรียนรู้ของเด็กๆ ในพรผู้สร้างฟังดูเป็นการเรียนรู้ในอุดมคติคงไม่ผิดนัก แต่ความเป็นสังคมในอุดมคติของที่นี่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การเรียนรู้ เพราะสมาชิกชุมชนพรผู้สร้างเชื่อว่าชุมชนในพื้นที่ 40 ไร่แห่งนี้ คือยูโทเปียที่มีอยู่จริง
ยูโทเปียคือดินแดนอันสมบูรณ์แบบในหนังสือของทอมัส มอร์ ดินแดนที่มีแต่ความดีงาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และความยุติธรรม ผู้คนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเท่าเทียมกัน คำว่ายูโทเปียในภาษากรีกจะมีความหมายไปได้ทั้ง “เมืองที่ดี” และ “เมืองที่ไม่มี(อยู่จริง)” เพราะเมืองแบบนี้คงไม่ง่ายนักที่จะเห็นในโลกแห่งความจริง
มีชุมชนทางเลือกสำหรับผู้แสวงหายูโทเปียในชีวิตจริงอยู่บ้าง ชุมชนเหล่านี้เป็นชุมชนที่คนจากทั่วโลกสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติและสามัคคีโดยปราศจากคติหรืออคติทางการเมืองและศาสนา เช่น ออโรวิลล์ในอินเดีย หรือฟินด์ฮอร์นในสกอตแลนด์ เป็นชุมชนที่พยายามเปิดกว้าง หาทางเลือกในการอยู่ร่วมกันด้วยวิถีทางแบบใหม่ มองหาจุดร่วมในความเชื่อและความศรัทธาร่วมกันตามวิถีทางของคนในชุมชน
ย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อน ชุมชนพรผู้สร้างรวมตัวกันโดย ‘ปู่’ ผู้เป็นศูนย์รวมความศรัทธาของสมาชิกในชุมชนชักชวนให้ลูกหลานมาอยู่รวมกัน ด้วยคาดหวังว่าอยากให้ลูกหลานอยู่รอดปลอดภัยจากอันตรายและภัยพิบัติภายนอกที่จะเกิดขึ้นบนโลกใบนี้
หากแต่โจทย์ของการอยู่ร่วมกันในชุมชนนั้นไม่ง่ายเลย คนที่มีความคิด ความเชื่อ วัฒนธรรมแตกต่างกันต้องมาอยู่รวมกัน ความท้าทายแรกที่ชุมชนพรผู้สร้างเจอคือความไม่ไว้วางใจในกันและกัน ไม่ช่วยเหลือกันด้วยใจอย่างแท้จริง วิกฤติครั้งนั้นทำให้สมาชิกชุมชนไม่มีที่อยู่ที่ดี และแทบไม่มีอาหารการกินอย่างเพียงพอ
“ตอนนั้นเรายังอยู่บ้านใครบ้านมันอยู่ เหตุผลคือทุกคนมีทรัพย์สมบัติเป็นของตัวเอง ทุกคนมีความฝันของตัวเอง ทุกคนมีกิจการเป็นของตัวเอง การมาอยู่รวมกันเยอะๆ ต่างคนต่างคิดว่ามันวุ่นวายแน่ แค่อยู่กันครอบครัวเล็กๆ ยังมีปัญหา แล้วมารวมกันเยอะๆ มันจะขนาดไหน”
เมื่อเกิดปัญหาจึงต้องหาวิธีแก้ ครั้งนี้สมาชิกเริ่มต้นกันใหม่อีกครั้ง โดยการนำเงินกองกลางมาทำโรงอาหารทำที่นอนใหม่ให้เด็กๆ แยกหญิงและชาย คนโสดและคนมีคู่เพื่อให้ที่อยู่อาศัยเป็นสัดส่วนและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากนั้นจึงทำรั้วล้อมรอบชุมชนเพื่อความปลอดภัยของคนในชุมชน ทั้งหมดนี้แตกต่างจากครั้งก่อน หลังจากฝ่าวิกฤติมาร่วมกันจนแทบจะเอาชีวิตไม่รอด ครั้งนี้ชุมชนเอาทรัยพ์สินที่มีทั้งหมดมารวมกัน พร้อมกับเอา ‘ใจ’ ลงมาวางเป็นเดิมพันครั้งสุดท้าย
ครั้งสุดท้ายนี้ความร่วมมือ และร่วมใจ เกิดขึ้นอย่างแท้จริง
“แรกๆ ก็มีช่างที่ทำเป็นอยู่คนสองคน แล้วพวกเราก็ช่วยงูๆ ปลาๆ จากตอนแรกทำอะไรก็ไม่เป็น ตอนนี้เก่งกันหมดเลย” พี่นาเล่าไปยิ้มไปด้วยความภูมิใจต่อผลลัพธ์ที่เกิดจากการร่วมกันสร้างและร่วมกันเรียนรู้ของสมาชิกในชุมชน
เมื่อสร้างบ้านที่เป็นที่พักพิงกายแล้ว ถัดมาคือการสร้างชีวิตความเป็นอยู่ โจทย์ของการต้องอยู่รอดในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเงินทุน สมาชิกในชุมชนจำเป็นต้องหารายได้มาเจือจุนและใช้จ่ายด้วยกัน
“เรามานั่งคุยกันว่าเราต้องทำมาหากินแล้วเพื่อที่เราจะเลี้ยงเด็กและคนแก่ ก็เลยมาดูว่าเรามีความสามารถอะไร เราทำขนมได้ ทำกับข้าวได้ ก็ชวนกันว่าเราออกวิ่งขายกันไหม เราทำให้อร่อยและคุณภาพดีๆ สะอาดๆ แล้วมันก็ขายดีมาก การวิ่งขายขนมมันกลายเป็นอาชีพที่สามารถเลี้ยงปากท้องพวกเราได้”
จากวิ่งออกขายขนม ก็เริ่มมีร้านอาหาร ร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์ ร้านตัดผม มีแปลงผัก และอื่น ๆ อีกมากมายตามทักษะความสามารถของสมาชิกในชุมชน และเมื่อมีความตั้งใจในการผลิตและให้บริการที่มีคุณภาพ คนในชุมชนจึงมีการพัฒนาฝีมือตัวเอง และฐานอาชีพเหล่านั้นก็แปลงมาเป็นฐานการเรียนรู้ที่มีผู้รู้จริงประจำฐานพาเด็กๆ ในชุมชนเรียนรู้และทำงานไปพร้อมกัน โดยรายได้ที่เกิดขึ้นจากอาชีพเหล่านี้ ชุมชนพรผู้สร้างก็นำมาเป็นเงินกองกลางที่เก็บไว้ใช้จ่ายร่วมกัน
นอกจากวิถีชีวิต การงาน และอาชีพที่เปลี่ยนไปแล้ว การได้มาอยู่รวมกันที่พรผู้สร้างทำให้สมาชิกในชุมชนมีทัศนคติที่เปลี่ยนไป จากที่เคยมองแต่ประโยชน์ส่วนตน เอาเปรียบ แข่งขัน และเอาชนะ โจทย์ของการอยู่ร่วมกันให้ตลอดรอดฝั่ง และคำฝากฝังของปู่ทำให้สมาชิกค่อยๆ ขัดเกลาตัวเองให้ดีขึ้น
“การมาอยู่รวมกันมันท้าทายมากเลย สิ่งที่ท้าทายที่สุดคือท้าทายตัวเองเพราะการที่เราจะวางทรัพย์สมบัติ ข้าวของของเรา แล้วไม่หันไปมองมันอีก มันยากมาก แล้วทุกคนต้องทำแบบนี้เหมือนๆ กัน แต่ที่นี่ไม่มีใครบังคับเรา เราทำมันเอง แล้วเหมือนเราเอาชนะใจตัวเองได้ ถ้ามองกลับไปก็ภูมิใจในตัวเองมากเลย”
นอกจากโจทย์ของการอยู่ร่วมกันที่ปู่มอบให้ไว้แล้ว ปู่ยังวางรากฐานทางใจเอาไว้ให้ก่อนจะจากไป ด้วยการค่อยๆ วางความยึดถือในตัวบุคคลลง การถอดพิธีกรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีทางศาสนาออก เหลือเพียงการพึ่งพาตนเอง พึ่งพากันในชุมชนด้วยความเท่าเทียม สัมพันธภาพที่ดีและความเชื่อมั่นในมนุษย์
แต่คำสอนของปู่ที่จากไป และความตั้งใจของชุมชนก็อาจไม่เพียงพอต่อการอยู่ร่วมกันของคนกว่า 100 คนในชุมชน และการรวมตัวกันไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก รูปแบบไหนก็ตาม ‘ผู้นำ’ เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญลำดับต้นๆ ของชุมชน เพียงแต่ที่นี่พวกเขาไม่เรียกผู้นำว่า ‘ผู้นำ’ เขานิยามผู้นำของเขาว่า ‘ผู้ดูแล’
ผู้ดูแลของพรผู้สร้างเป็นคนตั้งหลักใจ และแปลความเข้าใจเชิงทฤษฎีมาให้ชุมชนได้มีประสบการณ์ลงมือปฏิบัติ เพื่อไม่ให้สมาชิกชุมชนติดอยู่ที่คำคมไพเราะที่ฟังดูดี พูดลอยๆ แต่ไม่ได้นำมาใช้จริง
“แรกๆ ถ้ามีใครมาพูดไม่ดีกับเรา เราก็โกรธนะ แต่เราเองก็เคยพูดแรงๆ กับผู้ดูแล ทำไมผู้ดูแลไม่โกรธ ให้อภัย แล้วพูดดีกลับมา ผู้ดูแลคิดยังไง มองยังไงถึงได้ไม่โกรธ พอเราเข้าใจ หลังๆ มาเราก็แทบจะไม่โกรธใคร ผู้ดูแลสอนเราว่าให้เชื่อมั่นว่าทุกคนมีจิตใจที่ดี เขาอาจจะหลงทางไปตามตัวตามความคิดบ้าง แต่ให้เลือกมองข้อดีของเขา หยิบจับเอาแต่ข้อดี แล้วเราก็อยู่กันได้อย่างมีความสุข”
ชุมชนพรผู้สร้างไม่ใช่ชุมชนปิด พวกเขาเปิดพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ มีตลาดทุกเสาร์ – อาทิตย์ มีบ้านพัก มีบริการต่างๆ ที่ชุมชนเปิดไว้ให้คนทั่วไป ชุมชนยังนำผลผลิตที่เหลือจากการบริโภคไปทำอาหารและขนมไปขายให้คนภายนอก แต่แม้กระนั้นสิบปีของชุมชนพรผู้สร้างไม่ได้ง่ายและไร้อุปสรรค การเกิดขึ้นของชุมชนลักษณะนี้มีคำถามมากมายจากคนรอบตัว
“หลายคนมองว่าที่นี่เป็นลัทธิบ้าง เป็นพวกก่อการร้ายบ้าง เป็นเส้นทางสีเทาบ้าง 10 ปีที่เราอยู่ร่วมกัน เราถูกกดดัน ต่อต้าน โจมตีเยอะแยะ แต่เราไม่ต้องไปตามแก้ข่าว เราแค่ทำชีวิตของเราให้ดีก็พอ เดี๋ยวเขาก็เข้าใจไปเอง แล้วสิบปีที่ผ่านมานี้พวกเขาก็เข้าใจกันจริงๆ ”
การอยู่ร่วมกันของชุมชนพรผู้สร้าง จากวันที่คนในชุมชนต่างนึกไม่ถึงว่าจะอยู่ร่วมกันมาได้จนทุกวันนี้ มีเส้นทางมาจากการริเริ่มของปู่ การฝ่าฟันอุปสรรคมาด้วยกันของสมาชิกชุมชน และการมีผู้นำที่ทำหน้าที่เป็น ‘ผู้ดูแล’ แทนการนำแบบใช้อำนาจชี้สั่ง การมีระบบการเรียนรู้เป็นของตัวเอง และจิตวิญญาณที่เชื่อมั่นในความดีงามของมนุษย์ ส่งผลให้ชุมชนพรผู้สร้างยืนหยัดมาถึงสิบปี โดยผลที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลเชิงประจักษ์แก่ตัวเยาวชนที่ไม่ว่าใครมีโอกาสเข้าไปพบก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเด็กๆ ที่นี่มีความสุข มีประกายตาของการเรียนรู้อย่างไม่หยุดนิ่ง มีความรับผิดชอบ เอาใจใส่ช่วยเหลืองานของชุมชน จนเรามองว่านี่อาจจะเป็นหนึ่งในคุณภาพของเยาวชนที่เราต้องการ
“ถ้าตามวิถีของเรา ยูโทเปียคือดินแดนของผู้ให้ เรียบง่าย สงบ เต็มไปด้วยความรักความห่วงใย ความเข้าอกเข้าใจกัน ทุกอย่างมีความเสมอภาคและเท่าเทียม ทุกคนให้เกียรติกัน เคารพในสิทธิซึ่งกันและกัน มีครบพร้อมในปัจจัยสี่ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ถ้อยทีถ้อยอาศัย เป็นความร่มเย็นของทุกคนที่อยู่ในเมืองยูโทเปีย”
การไปเยี่ยมเยียนพรผู้สร้าง และการได้ฟังเรื่องราวการเกิดขึ้นของชุมชนแห่งนี้ท่ามกลางวิกฤติ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมที่ถดถอยของโลก ทำให้เรามีคำถามมากมายที่เกิดขึ้นในความคิดระหว่างบทสนทนา การพยายามสอดส่องหาความคิดร้ายภายใต้ความคิดบวก การตั้งคำถามสืบค้นหาความผิดปกติในชุมชน การที่ไม่ยอมปลงใจเชื่อสักทีว่า ‘ความดีงาม’ นั้นเกิดขึ้นได้จริง ทำให้เรากลับมาตั้งคำถามกับวิธีคิดและวิธีมองโลกของเราจริงๆ ว่า ตั้งแต่เมื่อไหร่กันนะที่เรารู้สึกว่า ความเห็นแก่ตัว การเอาเปรียบ ผู้นำที่ใช้อำนาจ และอื่นๆ มันฟังดูสมเหตุสมผลแบบที่ไม่ต้องมีคำถาม แต่เมื่อพบกับความดีงาม เรากลับพยายามหาข้อโต้แย้ง และเชื่อมันอย่างง่ายๆ ไม่ได้ว่าสิ่งนั้นก็เป็นสิ่งที่เป็นปกติ มีได้ และมีอยู่จริงในชีวิตของเรา