18 ปีแล้วที่ ‘โจ้’ ศุภวิจิตร เปลี่ยนมาใช้นามสกุลสุเกะตะ แล้วย้ายถิ่นฐานมาเป็นพลเมืองโตเกียว เพื่อใช้ชีวิตร่วมกับสามี ฮิโรยูกิ สุเกะตะ วันนี้โจ้กลายเป็นคุณแม่ลูกสองของพี่สาว 10 ขวบ กับ น้องชายวัย 8 ขวบ
โจ้เป็นแม่บ้านเต็มตัว ตั้งแต่ลูกเกิด โจ้รับผิดชอบอาหาร 3 มื้อของครอบครัวอย่างเต็มใจและมีความสุข มีออกไปกินข้าวนอกบ้านบ้างแต่น้อยมาก
แต่พอภัยพิบัติเข้ามา นับตั้งแต่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ในปี 2554 โจ้ที่ตอนนั้นเพิ่งมีลูกคนแรก จึงไม่ใช่แค่ทำอาหาร แต่ลงลึกถึงขั้นผลิตวัตถุดิบบางอย่างเอง
จนล่าสุด สัปดาห์ที่แล้ว โควิด-19 ในโตเกียวแพร่ระบาดเข้าระลอกที่ 4 มีผู้ติดเชื้อวันละอย่างน้อย 800 คน ซึ่งตรงกับช่วงวันหยุดโกลเด้นวีคพอดี โรงเรียนปิดอย่างน้อย 2 สัปดาห์
สถานะตอนนี้คืออยู่บ้านวนไป ถ้าไม่ใช่หยุดยาว โจ้บอกว่าโรงเรียนก็ยังเปิดปกติแม้ว่าโควิดจะไต่กราฟสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันประเทศญี่ปุ่นไม่มีกฎหมายรองรับถ้ารัฐหรือเทศบาลท้องถิ่นจะประกาศล็อคดาวน์ ไม่สามารถบังคับหรือห้ามทำพฤติกรรมใดๆ ทำได้เพียงประกาศภาวะฉุกเฉินขอความร่วมมือให้คนอยู่บ้าน
สิ่งที่เกิดขึ้นคือตามสถานีรถไฟยังแน่นเหมือนเดิมในเวลาไพรม์ไทม์ เศรษฐกิจที่ดิ่งลงเรื่อยๆ ยอดคนฆ่าตัวตายสูงกว่าคนที่เสียชีวิตจากโควิด-19 วัคซีนเริ่มเข้ามาบ้างแต่ยังไม่มาก ตอนนี้เริ่มฉีดให้กลุ่มเสี่ยงอย่างผู้สูงวัยก่อน ส่วนกลุ่มรอต่อไปอย่างครอบครัวโจ้ ก็ต้องดูแลตัวเองอย่างดีที่สุด
โรงเรียนที่โตเกียว เปิดทำการปกติ
ไม่ใช่เรื่องโชคดี แต่เป็นเพราะทุกโรงเรียนมีมาตรฐานเท่าเทียมกัน ลูกทั้งสองของโจ้จึงเรียนใกล้บ้าน เดินเท้า 7 นาทีก็ถึงโรงเรียนแล้ว ไม่ต้องขึ้นรถไฟหรือขนส่งสาธารณะใดๆ
แม่โจ้เลยโล่งใจไปเปลาะหนึ่ง
แต่เมื่อเดินเข้าไปในโรงเรียน เบื้องต้นกิจกรรมกลางแจ้งน้อยใหญ่ถูกขอให้งดทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกีฬาสี ที่พ่อแม่จะต้องเตรียมเบนโตะกล่องใหญ่ไปให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่นั่งกินด้วยกัน ทัศนศึกษาที่เป็นวิชาสำคัญก็เว้นวรรคชั่วคราว ดีหน่อยที่เวลาพักกลางวันเด็กๆ แต่ละชั้นจะสลับวันกันออกมาวิ่งเล่นได้
“ตอนกินข้าวกลางวันจะมีฉากพลาสติกกั้น ส่วนตอนเรียนก็เคยมีฉากพลาสติกกั้นเหมือนกันแต่ทำให้เด็กบางคนแอบทำอะไรใต๊โต๊ะ ไม่มีสมาธิในการเรียน เลยต้องเอาฉากออก” โจ้เล่าบรรยากาศห้องเรียนเด็กประถม
แต่งานนี้พ่อแม่รับหน้าที่ไม้ผลัด 1 ตื่นเช้ามาจะต้องวัดไข้ลูกเป็นภารกิจแรก แล้วจดบันทึกลงในกระดาษรายเดือนที่โรงเรียนแจกมาให้ว่ามีอาการอะไรบ้าง ถ้าไม่มีไข้ มีเสมหะไหม กินข้าวได้เหมือนเดิมหรือเปล่า ฯลฯ และพ่อแม่ต้องเซ็นชื่อกำกับทุกครั้งก่อนจะให้ลูกพกติดตัวมาส่งคุณครูที่โรงเรียน
เลิกเรียนมา ปกติลูกจะแวะไปเล่นบ้านคุณปู่คุณย่าใกล้ๆ กันก่อน หรือไม่ก็ชวนเพื่อนมาเล่นที่บ้าน ไปเล่นที่สวนสาธารณะหรือศูนย์สันทนาการของชุมชนกัน แต่เป็นอันต้องงดหมด
“ตอนนี้ลูกถึงบ้านปุ๊บ พุ่งตรงไปเปลี่ยนเสื้อผ้า ล้างมือ บ้วนปาก กลั้วคอ ของทุกอย่างที่มาจากโรงเรียนต้องวางไว้หน้าประตูบ้าน”
ส่วนโจ้ ระลอกนี้ของทุกชิ้นที่ซื้อจากซูเปอร์มาร์เก็ตยังคงถูกเช็ดด้วยแอลกอฮอล์ก่อนเข้าตู้เย็น แต่ความแพนิคลดลงจากระลอกแรกพอสมควร เพราะหนนั้นความเครียดของแม่เบอร์ใหญ่มาก จนส่งต่อถึงลูก
“ทุกจุดในบ้านมีแอลกอฮอล์หมด ออกไปข้างนอกกลับมาอาบน้ำสระผมเปลี่ยนเสื้อผ้า อาบน้ำวันนึง 3 รอบ กลัวไปหมด จะจับอะไรที่เป็นของลูกก็ต้องล้างมือ ล้างจนต้องไปหาหมอผิวหนังเพราะฉีดแอลกอฮอล์มากเกินไป มือลอกหมดเลย จนลูกๆ รับรู้ได้ถึงความเครียด เราก็รู้สึก เลยค่อยๆ ลดลง”
เพราะสิ่งที่โจ้กับสามีกลัวที่สุด คือ ตัวเองติดโควิดแล้วลูกจะอยู่กับใคร จะพาไปฝากปู่ย่าก็ไม่ได้เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยง
“ที่นี่มีกฎหนึ่งคือถ้าพ่อกับแม่ติด เราไม่สามารถเอาลูกไปฝากปู่ย่าตายายได้ เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยง ดังนั้นถ้าเราเป็นอะไรขึ้นมาจะอันตรายที่สุด จริงๆ แล้วมีการจัดตั้งหน่วยงานที่จะเข้ามาดูแลเด็กขณะพ่อแม่เข้ารับการรักษา แต่ในทางปฏิบัติจริงทำยากมาก เกือบทุกเคสเลยต้องจบที่ให้พ่อแม่รักษาตัวที่บ้าน โดยมีข้อกำหนดให้แยกห้อง ข้าวของเครื่องใช้ มีการติดตามอาการทางโทรศัพท์จากโรงพยาบาลแทน”
โควิด-19 คืออะไร ทำไมชีวิตถึงเหมือนเดิมไม่ได้ โจ้ใช้วิธีคุยกับลูกอย่างตรงไปตรงมา และให้ดูข่าวด้วยกัน
“ให้เขาเห็นว่าเป็นเหมือนกันหมดทุกบ้านทั่วโลก”
สู้โควิดด้วยรสมือแม่
ในวันนี้สมาชิก 4 คนในบ้านยังไม่เป็นอะไร มาตรการเยียวยาใต้หลังคาเรือน จึงเกิดขึ้นหลากหลาย ทั้งปาร์ตี้บาร์บีคิว สเก็ตบอร์ด กระโดดเชือก บาสเก็ตบอล ปลูกมะเขือเทศ เลี้ยงหนอนผีเสื้อ ฯลฯ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในสนามหลังบ้าน
ขณะเดียวกัน แผนสู้โควิดของแม่บ้านนี้ก็ไม่แพ้บ้านไหนๆ อาจต้องเท้าความไปถึงเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะเมื่อ 10 ปีก่อนที่ทำให้โจ้ลุกขึ้นมาทำขนมปังเอง
“ตอนนั้นลูกคนโตเพิ่ง 5-6 เดือน สารกัมมันตรังสีมันกระจายไปทั่ว เลยกลัวว่าถ้าเด็กเล็กกินอาหารปนเปื้อนทุกวันมันไม่ดีแน่ ผัก ไข่ นม เนย เลยเลือกจากจังหวัดที่เช็คแล้วว่าปลอดภัย และหัดทำขนมปัง เพราะไม่มั่นใจว่าร้านเอาแป้งสาลีที่ไหนมาใช้ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำทุกอย่างเอง”
พอโควิดมาเยือน โจทย์สำคัญสำหรับโจ้ คือ อาหารสร้างภูมิคุ้มกัน คำตอบจึงมาตกที่ ‘มิโสะ’ แน่นอนว่าต้องเป็นมิโสะที่หมักเอง
“ที่บ้านทำมิโสะเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว มันไปช่วยเพิ่มแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้ มิโสะที่เราทำเองจะระวังเรื่องปริมาณเกลือ ไม่ให้สูง รสชาติไม่เค็มจัดมากเพราะเราต้องกินทุกวัน”
ด้วยความที่ชอบทำอาหาร เบเกอรี่ เป็นทุนเดิม เมนูมิโสะของบ้านสุเกะตะจึงหลากหลายมาก เอามาทำเป็นกราแตง ผสมกับขนมปัง เป็นไส้ในโอนิกิริ(ข้าวปั้น) หมักสเต็กหมู ฯลฯ
อีกตำรับสู้โควิดคือ อุเมะโบชิ หรือ บ๊วยดองสีแดง
“พอดีมีต้นบ๊วยที่บ้าน คนญี่ปุ่นเชื่อกันว่า กินบ๊วยดองวันละเม็ดเป็นเคล็ดลับอายุยืน เลยเก็บจากต้นที่หลังบ้าน ซึ่งไม่ได้ใช้ยา สารเคมีอะไร ลูกเขียวๆ เอามาดองแล้วกลายเป็นสีแดง”
เช่นนั้น งานประจำทุกปีของโจ้คือ ดองบ๊วย หมักมิโสะ และอบขนมปัง
โจ้ตั้งใจทำทุกอย่างและตั้งใจใช้ชีวิตตามสำนวนญี่ปุ่นที่ว่า “ความประมาทเป็นศัตรูที่ยิ่งใหญ่ที่สุด”
“รู้สึกว่าคนประมาทกับโควิดค่อนข้างเยอะ ไม่เป็นไรหรอก กินข้าวนอกบ้านแค่มื้อเดียว คงไม่ติดหรอก แต่มันติด เจอเพื่อนสังสรรค์แค่วันเดียว ไม่ติดหรอก แต่มันติด เพราะข่าวที่ออกมาคือทุกคนติดเพราะเหตุผลนี้กันหมดเลย เลยคิดว่า ไม่ประมาทดีที่สุด คือพออยู่บ้านแล้ว อาจจะเครียดบ้าง อาจจะหนักมาก แต่ไม่ใช่เราคนเดียว ทุกคนทั่วโลกเขาก็เป็นเหมือนกัน”
สเต็กหมูมิโสะ สู้โควิด
ส่วนผสม:
- สันคอหมู หรือสันนอก 4 ชิ้น
- เหล้าสาเก 2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำมันมะกอก 1 ช้อนโต๊ะ
- น้ำตาลทรายแดง 1 ช้อนชา
- มิโสะ 2 ช้อนโต๊ะ
- กระเทียมตำละเอียด 1 ช้อนชา
- เกลือทะเลป่นหยาบ และพริกไทยดำบดหยาบ หยิบมือ
วิธีทำ:
ผสมเครื่องปรุงทุกอย่างลงนวดเคล้ากับเนื้อหมู หมักไว้อย่างน้อย 3 ชั่วโมง หรือแช่ตู้เย็นไว้ 1 คืน จากนั้นนำออกมา ตั้งกระทะ ทาน้ำมันมะกอกบางๆ ย่างด้วยไฟอ่อนจนสุก หรืออบในเตาอบด้วยอุณหภูมิ 200°c ประมาณ 30 นาที