SIY Foundation : เมื่อฤดูกาลแห่งใบไม้ผลิเริ่มเบ่งบาน พร้อมความฝันที่สดับรับขานด้วยน้ำมือของเยาวชนท้องถิ่น

หากกล่าวถึงองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ขับเคลื่อนในประเด็นเรื่อง ‘เด็กและเยาวชน’ หรือในประเด็น ‘ท้องถิ่น’ ผู้เขียนเชื่อเหลือเกินว่าท่านผู้อ่านที่กำลังเลื่อนฟีดมาเจอกับโพสต์นี้ก็คงจะมีชื่อที่ตอบอยู่ในใจถึงองค์กรที่ขับเคลื่อนในประเด็นดังกล่าว

แต่ใครเล่าจะรู้ว่ามีอยู่องค์กรหนึ่งที่เขาขับเคลื่อนในประเด็นเหล่านี้โดยตรง และสิ่งที่ยิ่งพิเศษไปมากกว่านั้น คือ พวกเขาเน้นทำงานกับ ‘เด็กท้องถิ่น’ เพราะเชื่อในพลังอันล้นเหลือของเด็กๆ แต่ละพื้นที่ที่กระจายอยู่ทั่วภูมิภาค 77 จังหวัดของประเทศไทย 

ใช่แล้ว ‘มูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม’ หรือที่เรามักคุ้นกันในชื่อ ‘SIY Foundation’ คือบุคคลกลุ่มนั้น

เพราะพวกเขาเชื่อถึงพลังของเยาวชนที่ซุกซ่อนอยู่ในทุกๆ พื้นที่

แม้กระทั่ง ‘สภาเด็กและเยาวชน’ ที่ใครบางคนได้ยินชื่อก็อาจส่ายหน้า

แต่นั่นกลับเป็นหมุดหมายสำคัญในการทำงานของ SIY มานานกว่า 8 ปีจนถึงทุกวันนี้

วันนี้ Mappa จึงชวนคุยกับ กลิ้ง-โชติเวชญ์ อึ้งเกลี้ยง ประธานมูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม และ อาร์ม-อนุพงษ์ จันทะแจ่ม กรรมการมูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม ถึงการทำงานของพวกเขา

นอกเหนือไปจากเรื่องเล่ามันๆ หลากหลายเหตุการณ์อันน่าสนุกสนานที่เกิดขึ้นตลอดบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ 

ยังมากไปถึงการชวนย้อนคิดทบทวนคำจำกัดความของ ‘ท้องถิ่น’ ว่าอาจไม่ได้มีเพียงยึดติดแค่ในเชิงพื้นที่เสมอไป

ยิ่งไปกว่านั้น การทำงานกับเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนต่างจังหวัด อาจได้พบกับประสบการณ์หลายอย่างที่ตำราและคลาสเรียนไม่ได้สอนเอาไว้

และ ‘ช่องว่างระหว่างวัย’ อาจไม่ใช่ปัญหาเสมอไปในการทำงานกับเด็กๆ เหล่านั้น

จุดเริ่มต้นในการทำงานของ SIY คืออะไร และเพราะอะไรพวกคุณถึงสนใจการทำงานกับ ‘เยาวชน’

โชติเวชญ์ : มูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม (SIY) แรกเริ่มเดิมทีเป็นโครงการที่สนใจเรื่องการมีส่วนร่วมของ ‘คนรุ่นใหม่’ ผ่านการขับเคลื่อนในหลากหลายกระบวนการ เช่น การออกแบบหลักสูตร การจัดกระบวนการเรียนรู้ การประชุมเชิงปฏิบัติการ การขับเคลื่อนนวัตกรรมชุมชน และการออกแบบสื่อ ซึ่งเมื่อพอเราทำงานไปเรื่อยๆ ก็รู้สึกอยากเพิ่มแก่นแกนของไอเดียให้มากขึ้นเป็น การสร้างความมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ที่จะเข้าไปสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคม ซึ่ง ‘คนรุ่นใหม่’ ที่ว่า ในกลุ่มที่เราสนใจ อาจเป็นกลุ่มที่คนทำงาน NGOs อื่นๆ ไม่ค่อยอยากแตะเท่าไร แต่กลับเป็นกลุ่มคนที่เราให้ความสนใจและอยากทำงานด้วย พวกเขาเหล่านั้นคือกลุ่ม ‘สภาเด็กและเยาวชนท้องถิ่น’

อนุพงษ์ : ซึ่ง ‘สภาเด็กและเยาวชนท้องถิ่น’ คือกลุ่มสำคัญที่เราทำงานด้วย เพราะมองว่าคนกลุ่มนี้มีพลังอำนาจบางอย่างที่อาจพลิกโฉมสภาเด็กได้มากกว่าที่เคยเห็นมา

โชติเวชญ์ : อาจเรียกได้ว่า เป็นการทำสภาเด็กในระดับล่างสุดให้ดีที่สุด ซึ่งเราเชื่อว่ากลไกนี้จะทำให้เด็กได้ส่งเสียง ได้สื่อสาร และได้เชื่อมต่อกับกลไกของภาครัฐ

เพราะอะไรถึงเป็น ‘สภาเด็กท้องถิ่น’ และ ‘เยาวชนท้องถิ่น’

อนุพงษ์ : เราอยากทำงานที่ได้ใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันของคนในชุมชนจริงๆ เหมือนกับเป็นประตูบานแรกที่ทำให้เราได้เข้าไปสัมผัสชีวิตของพวกเขา เหมือนเป็นอีกโลกหนึ่ง ซึ่งเมื่อเราเปิดประตูบานนี้เข้าไปแล้ว เราจะได้เจอกับองค์การบริการส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ไปเจอภาพจริงของชุมชนที่อาจจะไม่ได้สวยงาม

โชติเวชญ์ : สำหรับผม การได้ทำงานกับคนท้องถิ่นมันสนุกมากเพราะมีความหลากหลายสูง โดยส่วนตัวแล้วเป็นคนชอบเรียนรู้และสนใจเรื่องการศึกษาอยู่แล้วด้วย เลยรู้สึกว่าในส่วนนี้มันสามารถเป็นพื้นที่การเรียนรู้นอกห้องเรียนให้กับเด็กๆ ได้เหมือนกัน เพราะพื้นที่การเติบโตของคนเราไม่ใช่โรงเรียนอย่างเดียว 

อนุพงษ์ : เมื่อเราก้าวเข้าไปสู่บานประตูของสภาเด็ก เราเห็นหลายอย่างที่ไม่เป็นธรรม หลายอย่างที่ส่วนกลางจัดสรรปันส่วนให้ก็ไม่ใช่สิ่งที่คนในพื้นที่จริงๆ ต้องการ ซึ่งเมื่อเราลงพื้นที่ก็ได้เจออะไรทำนองนี้มากมาย และยังพบว่ามีต้นตอปัญหาหลายอย่างที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง

โชติเวชญ์ : ซึ่งเมื่อได้เข้าไปคลุกคลีตรงนั้น เด็กๆ ที่อยู่ในสภาเด็กท้องถิ่นนั้นอาจไม่ได้มีหน้าตาในแบบที่พวกคุณคุ้นเคยนัก เพราะพวกเขาคือ ‘เด็กที่ยังอยู่ในพื้นที่’ ที่ชีวิตอาจไม่สวยงามหรือโรแมนติก และยังต้องดิ้นรนในการใช้ชีวิตในของพวกเขาเอง

คุณคิดว่าความเจ๋งของการทำงานกับเด็กในพื้นที่เป็นอย่างไรบ้าง พอจะยกตัวอย่างให้เราฟังได้ไหม

โชติเวชญ์ : อย่างที่บอกว่าเราทำงานกับเด็กที่ยังอยู่ในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นเด็กที่ต้องทำมาหากินไปด้วย เรียนไปด้วย และขณะเดียวกันก็ขับเคลื่อนสังคมไปด้วย ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ทำงานด้วยแล้วสนุกมากเพราะพวกเขาโคตรมีพลัง

อนุพงษ์ : มีเคสเด็กคนหนึ่งที่จังหวัดมหาสารคาม เราเคยลงพื้นที่ไปจัดกิจกรรมที่นั่นและเราอยากรู้ว่าชีวิตของเด็กที่อยู่ในพื้นที่ตรงนั้นเป็นอย่างไร กิจวัตรประจำวันเป็นอย่างไรบ้าง และเพราะอะไรเขาถึงมาทำงานกับสภาเด็กและเยาวชนท้องถิ่น เลยได้มีโอกาสตัวติดกับเด็ก ม.5 คนหนึ่งอย่างใกล้ชิด เขาพาเราซ้อนมอเตอร์ไซค์ไปที่บ้าน ที่เขาบอกว่าไม่ไกลหรอกพี่ แต่ระยะทางคือประมาณ 30 กิโลเมตร เส้นทางคือเป็นป่าอ้อย แล้วตอนนั้นก็ช่วงพลบค่ำเต็มที 

เมื่อถึงบ้านของเขาก็พบว่าที่บ้านของเขาไม่มีกลอนประตูล็อกห้องน้ำ ข้างล่างเป็นลานโล่งๆ ซึ่งไม่นานนักคุณยายของเขาก็กลับมาถึงบ้าน เราก็ได้โอกาสชมว่าหลานคุณยายเก่งนะ ยายเขาก็ภูมิใจ แต่ก็พูดมาว่า “กูนึกว่ามึงไปติดยาแล้ว เห็นไปกับเพื่อนนึกว่าชวนกันไปไหน” คือเขาอาจจะมีภาพจำแบบนี้ไปแล้ว

ผมเลยถามน้องเขาว่า แล้วแม่ไปไหน? เขาตอบว่า แม่เลิกกับพ่อแล้วไปทำงานอยู่ที่นวนคร เพราะในพื้นที่ไม่มีงานให้ทำ ส่วนตัวเขาเองก็อยู่กับพี่ชายช่วยทำงานเกษตร แล้วก็ไปทำงานกับสภาเด็กท้องถิ่น

เขาไม่ได้มีโอกาสไปเที่ยวที่ไหนไกลเพราะแถบนี้ไม่มีสวนสาธารณะเลย ที่โรงเรียนก็ปิดประมาณหนึ่งทุ่มเลยนั่งต่อไม่ได้ ห้องสมุดสาธารณะหรือลานออกกำลังกายอย่าพูดถึง อีกทั้งการเดินทางเข้าเมืองก็ยากลำบากเพราะแทบไม่มีขนส่งสาธารณะ ขนาดแหล่งการเรียนรู้ที่ใกล้ที่สุดก็ต้องไปถึงศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ขอนแก่น (TCDC ขอนแก่น) ซึ่งค่าใช้จ่ายไป-กลับไม่ต่ำกว่า 500 บาทแน่ๆ ซึ่งเป็นราคาที่สูงมากหากต้องจ่าย

อีกอย่าง น้องเขาอยากมีความฝันเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล แต่จวบจนอยู่ ม.5 แล้วยังไม่เคยไปทะเลสักครั้ง เพราะมันไกลและทั้งโรงเรียนและ อบต. ไม่มีงบ

ด้วยเหตุนี้เราเลยคิดว่า เรากำลังทำงานกับการสร้างบางอย่างที่มันจะเอื้ออำนวยให้เด็กคนหนึ่งได้มีโอกาสที่เขาจะได้มีทั้งความฝันและความหวังมันก็คงจะดีไม่น้อย เพราะการที่เด็กคนหนึ่งจะมีความฝัน และเขาอาจจะได้เป็นนักวิทยาศาสตร์อย่างที่ฝันก็ได้ หากไม่ติดเรื่องของสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย นี่ไม่ใช่เรื่องของการขาดทักษะ แต่เป็นการขาดโอกาสในการเอื้อมถึงความฝันด้วยบริบทรอบข้าง

โชติเวชญ์ : ซึ่งหากเราร่วมมือกับท้องถิ่นให้เขาเห็นว่าเราสามารถสนับสนุนศักยภาพของเด็กคนหนึ่งได้ก็คงจะดีไม่น้อยเลย 

‘ ปัญหาของการทำงานจากส่วนกลาง’ ที่ส่งผลไปยังท้องถิ่น คือ หลายคนอาจมองว่า ‘ท้องถิ่นทุกพื้นที่มีปัญหาเหมือนกันในรูปแบบที่คล้ายกัน’ ราวกับคิดแบบองค์รวม พวกคุณคิดเห็นอย่างไร

โชติเวชญ์ : ประมาณนั้นเลยครับ และในหลายครั้งก็มักมองผ่านสายตาของนักวิชาการหรือผู้หลักผู้ใหญ่เสียเป็นส่วนใหญ่ และสิ่งที่น่าเสียดายถัดมา เด็กๆ มักจะไม่ค่อยได้เข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นทางเท่าไร และเวลามีประเด็นที่จะขับเคลื่อนก็มักจะมาจากส่วนกลางเลือกประเด็นมาให้ เด็กๆ ในพื้นจึงที่แทบจะไม่ได้เป็นคนเลือกเลย

SIY เองพยายามแก้ไขช่องว่างเหล่านั้น เลยพยายามออกแบบกิจกรรมให้เด็กในท้องถิ่นเกิดการมีส่วนร่วมมากที่สุด เช่น

เมื่อต้นปีนี้ (2567) มี โครงการ ‘ลานปลดปล่อย’ ซึ่งเป็นการจับมือรวมตัวกันของเยาวรุ่นชาวแม่สาย จังหวัดเชียงราย  ออกไอเดียเปิดพื้นที่สาธารณะ ประกอบไปด้วยแสง สี เสียง และอุปกรณ์อีกมากมายที่ฟรีทุกอย่าง ภาพที่เห็นคือเด็กๆ จะเข้ามาฉีดสเปรย์ ระบายสีชอล์ก พวกเขามา ‘ปลดปล่อย’ กันจริงๆ ซึ่งกิจกรรมนี้ที่มีที่มาจากกระแสความนิยมในประเด็นปัญหาสุขภาพจิตที่เป็นประเด็นที่คนรุ่นใหม่สนใจกันมากเป็นพิเศษ และเรื่องนี้เกิดขึ้นได้ทั้งในครอบครัว โรงเรียน หรือกระทั่งในพื้นที่การทำงาน เด็กๆ เลยคุยกันว่าเขาจะทำอะไรดี ซึ่งเมื่อพวกเขารวมพลังกันและจับมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงเกิดเป็นงานนี้ขึ้นมา

ในการทำงานลักษณะนี้เรามองว่าเป็น ‘จุดแข็ง’ นะ แต่ถึงอย่างนั้นก็อาจจะต้องมีการฝ่าฟันในแง่ของความคิด ทัศนคติ ความรู้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘สายตา’ ของผู้ใหญ่ที่มองเด็กท้องถิ่นมาอย่างตีตรา ซึ่งนี่เป็นการทำงานเชิงความคิดที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

นิยามคำว่า ‘ท้องถิ่น’ (Local) ในมุมมองของพวกคุณเป็นอย่างไร และส่งผลในการทำงานเชิงพื้นที่มากน้อยแค่ไหน

อนุพงษ์ : สำหรับผม ‘ความเป็นท้องถิ่น’ ไม่ได้ผูกติดอยู่กับความเป็นรัฐ หรือชุมชน-วัฒนธรรมเท่านั้น ผมมองว่ามันมีมิติมากกว่านั้นทั้งได้ด้านสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ยิ่งในยุคของพลเมืองโลก (Global Citizen) แล้วเช่นนี้ ผมมองว่าการที่ Globalization และ Localization มาเจอกันมันอาจจะไม่ได้เป็นการปะทะกัน แต่เป็นการประสานกันมากกว่า เราอาจจะไม่ต้องเลือกระหว่างอย่างใดอย่างหนึ่ง สิ่งเหล่านี้มันเป็นคุณค่าสากล แต่คุณค่าเหล่านี้จะทำงานอย่างไรเมื่อมาอยู่กับท้องถิ่น อันนี้น่าสนใจ

และ ‘ท้องถิ่นไม่ได้หน้าตาเหมือนกันทั่วประเทศ’ นี่ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราต้องพิจารณามากก่อนที่จะออกแบบกิจกรรมหรือทำงานอะไรในเชิงประเด็นและพื้นที่

โชติเวชญ์ : เราเชื่อในศักยภาพของท้องถิ่นมากๆ และเราอยากให้เขาเชื่อในศักยภาพของตัวพวกเขาเองด้วย ในประเด็นเรื่องของ Global Vs Local นี่อาจแทนภาพได้กับ คนรุ่นใหม่ Vs คนรุ่นเก่า ซึ่งหมายความว่า 2 อย่างนี้จะต้องไปด้วยกัน ท้องถิ่นต้องเชื่อว่าคนรุ่นใหม่เป็นกำลังสำคัญไม่ใช่ภาระ อีกทั้งยังเป็นวัยที่มีความคิดสร้างสรรค์

หากการทำงานของ ‘สภาเด็กและเยาวชน’ มีบทบาทคือเป็น ‘ผู้แทน’ ของเด็กและเยาวชน จะทำอย่างไรให้การทำงานกับ ‘ผู้แทน’ นี้ ไม่กลายเป็นการ ‘พูดแทน’ พวกเขา

โชติเวชญ์ : อันดับแรกเลย คนในพื้นที่ต้องตระหนักถึงศักยภาพของตนเองว่าสิ่งเหล่านี้มีพลังและคุณค่ามากๆ ซึ่งแก่นแกนในงานของ SIY ผมเชื่อเสมอว่าการแมตช์กันของการทำงานคือการเอาตัวแทนของ Global และ Local มาเจอกัน และสิ่งที่เรากำลังทำอยู่อาจเรียกได้ว่าเป็นการบ่มเพาะให้เมล็ดพันธุ์เหล่านี้มันงอกงามผ่านการมีเครื่องมือและวิธีการให้พวกเขา

ซึ่งเรายอมรับนะว่าฝันของเรามันใหญ่มาก ชีวิตนี้ตายไปจะทำเสร็จหรือเปล่าก็ไม่รู้ และในตอนนี้มันยังไม่เกิด 

แต่เราก็พยายามทำงานในการสร้างความตระหนักในคุณค่าสิ่งที่เรามีอยู่ให้มากขึ้น บางครั้งเราก็เสนอไอเดียอะไรที่มันประหลาดมากๆ ไอเดียที่มันชวนให้เขาได้เห็นว่ามันมีวิธีการทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงท้องถิ่นได้หลายทางนะ แล้วค่อยๆ เติบโตไปพร้อมกัน ซึ่งเรามองว่านี่คือการเสริมพลังให้กับเด็กๆ และท้องถิ่น

อนุพงษ์ : สำหรับผมมองว่างานของ SIY เป็น ‘การสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย’ มากกว่าจะเป็นการพูดแทน เพราะในงานของเรามีกระบวนการนี้อยู่ในทุกระดับเลย

อย่างเช่น งานของ ‘พี่เลี้ยงสภาเด็ก’ (ผู้มีบทบาทในการสนับสนุนการเติบโตของสภาเด็กและเยาวชน) ก็ต้องระวังการพูดแทนเด็กเช่นกัน ในหนึ่งโครงการตามแผนจะต้องมาจากเด็กจริงๆ และต้องมีการตรวจสอบและประเมินได้ 

สำหรับในส่วนของท้องถิ่นมองว่า ในบางบริบทของผู้บริหารหรือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่บางครั้งเขาไม่มีช่องทางที่สามารถสะท้อนเสียงของเขา เราจึงมีส่วนช่วยสื่อสารแทนเขาอีกทางหนึ่ง เช่น การทำงานในกรรมาธิการต่างๆ เขาก็อยากให้เราพูดแทนในแง่ของการแก้ตัวบทกฎหมาย ซึ่งอันนี้อาจเรียกว่าเป็น ‘ด้านกลับ’ ของการพูดแทน เพราะนี่อาจเป็นสิ่งที่เขาต้องการและเป็นประโยชน์กับตัวเขา

ในแง่การทำงานกับเด็กและเยาวชน คุณคิดว่าช่องว่างระหว่างวัย (Generation Gap) ส่งผลในความเข้าใจและการทำงานไหม อย่างไรบ้าง

โชติเวชญ์ : ผมคิดว่ามีเยอะ และในมุมมองผมคิดว่าประเด็นนี้มีอยู่จริง และมักเกิดอยู่ใน 2 รูปแบบ

แบบแรก คือ ในการทำงานของ ‘ท้องถิ่น’ กับ ‘เด็ก’ ท้องถิ่นที่ประกอบไปด้วยโครงสร้างที่หลากหลายทั้งการเมืองและข้าราชการท้องถิ่นสัดส่วนผสมปนเปกันไป จะต้องทำงานร่วมกันกับเด็กซึ่งเป็นคนละภาคส่วนกัน ซึ่งประเด็นคือใครจะช่วงชิงอำนาจนำในการทำงานได้ เรื่องนี้น่าสนใจและเกิดขึ้นในงานของเราตลอดเวลา

นี่คือหน้าที่ของ SIY ที่จะต้องทำให้ท้องถิ่นที่มีอำนาจมากๆ นอบน้อมและรับฟังเสียงของเด็กๆ และในขณะเดียวกันก็ทำให้เด็กๆ รู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง เชื่อมั่นในศักยภาพ และในจุดหนึ่งทั้งสองฝ่ายจะมาเจอกันในจุดที่พอดีที่พวกเขาจะต่างได้ยินและรับฟังกัน (ซึ่งอาจจะเป็นการที่ท้องถิ่นทำแผนงานและงบประมาณเรื่องเด็กด้วยเสียงของเด็กเองก็ได้)

และแบบที่สอง ใน ‘ครอบครัว’ ของเด็กเอง ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เด็กจำนวนหนึ่งที่เขามาเข้าร่วมกิจกรรมกับท้องถิ่นเพราะว่ามีปัญหากับที่บ้าน และเขาต้องมาหาพื้นที่ปลอดภัยข้างนอกบ้านแทน ซึ่งสำหรับหลายคนโรงเรียนก็อาจไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย หรือโรงเรียนอาจอยู่ในพื้นที่ห่างไกลเกินไป เขาเลยลองหาพื้นที่การเรียนรู้ใหม่ๆ จนมาเจอกับที่นี่ นี่ก็เป็นปัญหาที่เกิดจากช่องว่างระหว่างวัยเช่นกัน

อนุพงษ์ : สำหรับผมประเด็นนี้มีอยู่จริงเหมือนกัน และมันอาจไม่ใช่เพราะช่วงวัยที่ห่างไกล แต่เป็นเพราะ ‘การไม่แคร์กัน’ ซึ่งสิ่งนี้ก็เห็นมากทั้งใน 2 บริบทที่กล่าวไปเมื่อครู่  ทั้งนี้การพูดคุยทำความเข้าใจกัน เห็นว่าคนแต่ละรุ่นมีปัญหาหรือผ่านประสบการณ์ที่แตกต่างกัน เราจึงอยากชวนคนต่างรุ่นให้รับฟังเรื่องราว ช่วยเหลือ และสนับสนุนให้แก่กันด้วย

อันที่จริง Generation Gap ถูกมองในแง่ร้ายมาตลอดนะ แต่สำหรับผมในอีกแง่หนึ่ง หากมันไม่มีสิ่งเก่าเราก็ไม่อาจเริ่มสิ่งใหม่ได้ แต่ก็ใช่ว่าจะตายตัวเสมอไป 

หรืออย่างสำนวนโบราณที่ว่า ‘อาบน้ำร้อนมาก่อน’ ถ้าจะเอามาใช้ในบริบทปัจจุบันก็อาจจะต้องพิจารณาว่า ‘น้ำร้อนตอนนี้มันคนละหม้อกันแล้ว’ (หัวเราะ) ซึ่งการเถียงกันไม่ผิด แต่เราจะเถียงกันอย่างไรให้สร้างสรรค์

เร็วๆ นี้ จะมีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) คิดว่าสามารถคาดหวังในการผลักดันเรื่องประเด็นเด็กและเยาวชน รวมถึงท้องถิ่นได้มากแค่ไหน

โชติเวชญ์ : ผมคิดว่าประเทศกำลังมีความหวังมากๆ สังเกตได้จากการที่เสียงจากประชาชนถูกผลักขึ้นมาเป็นวาระสำคัญที่พูดคุยถึงการเปลี่ยนแปลง รวมถึงประชาชนลุกขึ้นมารณรงค์สิ่งต่างๆ เหล่านี้มากขึ้น

แต่ถ้าถามผม ในแง่ของการเลือกตั้ง ส.ว. อาจไม่ได้อยู่ในคอนเซปต์ของการกระจายอำนาจสักเท่าไร และอาจเป็นการรวมศูนย์อำนาจ (Centralize) มากกว่า เพราะว่ามันไม่ใช่การลงเลือกตั้งจริงๆ แต่เป็นการกีดกันคนที่ไม่มีเงินออกไปด้วยค่าสมัคร 2,500 บาทเสียด้วยซ้ำ

คิดว่าสิ่งที่น่าสนใจ คือ การเลือกตั้งท้องถิ่น มากกว่า อยากให้จับตาดูสิ่งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราได้คนที่มีฝันในเรื่องของ ‘การกระจายอำนาจ’ (Decentralize) เข้ามาทำงานมานั่งบริหาร เมื่อฤดูกาลผลัดเปลี่ยนแล้วจะเป็นอะไรที่ดีมากๆ และผมเชื่อว่ามันจะเป็น ‘ฤดูใบไม้ผลิ’ ที่ทุกอย่างพร้อมเติบโตเบ่งบานอย่างสวยงามอีกด้วย

อนุพงษ์ : ผมมองว่า ‘เวลาอยู่ข้างเรา’ เสมอ ยิ่งเมื่อถ้าสังคมเปลี่ยน แล้วเราได้คนเหล่านี้ที่มีอุดมการณ์เหล่านี้เข้ามาเป็นผู้เล่นในสนามยิ่งน่าสนใจ

‘การเลือกตั้งในท้องถิ่น’ อาจจะไม่ได้อยู่ที่ ‘บ้านใหญ่’ เช่นเดิมแล้ว แต่อาจไปอยู่ในโซเชียลมีเดียก็ได้ ซึ่งเราสามารถมองเห็น และเขาสามารถถูกตรวจสอบได้ตลอดเวลา

โชติเวชญ์ : นอกจากเวลาที่อยู่ข้างเราแล้ว ก็อยากให้อย่างอื่นอยู่ข้างเราเหมือนกันนะ (หัวเราะ) เช่น งบประมาณที่พร้อมลงทุนงานด้านเด็กที่ได้รับการสนับสนุนที่มากขึ้น

SIY ไม่ใช่ทีมที่เฝ้ารอการเปลี่ยนแปลงอย่างเดียว แต่ก่อนที่ฤดูกาลใบ้ไม้ผลิแห่งการเปลี่ยนแปลงนั้นจะมาถึง ปัจจุบันก็คือการเตรียมความพร้อมของอนาคต

วันนี้เราต้องขับเคลื่อนอะไร ด้วยหมุดหมายและพลังแบบไหน เรื่องนี้ก็สำคัญ

และภารกิจของ SIY คือการหาว่านอกจาก ‘เวลา’ แล้ว ยังคงมีอะไรอีกบ้างที่อยู่ข้างเรา นี่คือสิ่งสำคัญที่พวกเรายังคงค้นหา

มีคำหนึ่งที่พวกคุณมักใช้นิยามตัวเองนั่นคือคำว่า ‘Local Coolization’ อยากให้ช่วยเล่าที่มาและความหมายของคำเท่ๆ คำนี้ให้เราฟังหน่อย

โชติเวชญ์ : (หัวเราะ) มาจากคอนเซปต์การกระจายอำนาจที่เราพยายามผลักดันนั่นแหละครับ การนำ ‘ความคูล’ (Cool) ไปสู่ในท้องถิ่น ให้เป็นท้องถิ่นที่มีชีวิตชีวา อาจเปรียบเสมือนมนุษย์ที่เชื่อเรื่อง ‘อิสรภาพ’ ได้โบยบิน ได้เติบโตในแบบศักยภาพของพวกเขาเอง ไม่ปฏิเสธว่าตัวเองกำลังกลัวอะไร แต่ก็คอยย้ำว่าเรามีความฝันอะไรด้วย เป็นท้องถิ่นที่สามารถไปต่อได้ด้วยข้อจำกัดที่มีอยู่ แต่ก็ไม่แช่แข็งความเป็นตัวเองแบบเดิมๆ เอาไว้

การทำงานในก้าวถัดไปของ SIY จะเป็นอย่างไร

โชติเวชญ์ : ตอนนี้ SIY เราอยากทำในเชิงการสื่อสารให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้น ดังที่กล่าวไปตอนต้นว่าเราอยากทำให้เด็กเกิดการมีส่วนร่วมเพื่อไปสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคม เราเลยพยายามออกแบบแนวทางการสื่อสารเพื่อทำงานทางความคิดให้ได้มากยิ่งขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา

ตอนนี้มีทำโปรเจกต์งานวิดีโออยู่ ซึ่งเราทำหลักๆ อยู่ 2 ชิ้น คือ

ชิ้นแรกเราเล่าประเด็นว่าด้วย ‘เด็กแว้น’ ในจังหวัดเชียงราย ซึ่งตั้งหมุดหมายกันไว้ว่า เราจะสามารถใช้วิดีโอสารคดีเพื่อเปลี่ยนมุมมองของคนอื่นๆ ที่มีต่อเด็กแว้นได้ไหม?

โดยวิธีการทำงานคือ เป็นแนววิดีโอซ้อนกับวิดีโอ โดยได้รับความร่วมมือจากท้องถิ่น กล่าวคือ เด็กๆ ในท้องถิ่นที่สามารถถ่ายทำ วางสตอรีบอร์ด และตัดต่องานวิดีโอได้มาลองผลิตชิ้นงานว่าจะสื่อสารเรื่องราวของเด็กแว้นได้อย่างไร ด้วยน้ำเสียงแบบไหน ให้พวกเขาได้ทดลองทำโดยมีผู้ที่คอยประกบเป็นโค้ชในเชิงคำแนะนำทางเทคนิคอีกที แต่หลักๆ เป็นเด็กๆ ที่เข้าไปถ่ายทำและถ่ายทอดเรื่องราว

ถัดมาจะมีการจัดฉายหนังกลางแปลงด้วยเทศบาล ซึ่งจะมีวิดีโอชิ้นนี้ฉายด้วย คนที่มาดูจะมีทั้งตำรวจ เด็กแว้น ฝ่ายปกครองใดๆ รวมถึงเด็กรุ่นใหม่คนอื่นๆ และเมื่อฉายจบจะมีการเสวนาในพื้นที่ตรงนั้น

อีกชิ้นหนึ่งว่าด้วยเรื่องของ พื้นที่การเรียนรู้ (Learning Space) โดยมีหมุดหมายว่าไม่ใช่แค่โรงเรียนที่ทำให้คนเติบโตได้ แม้แต่ร้านหมูกระทะก็ทำให้คนเติบโตและเป็นพื้นที่เรียนรู้ได้เช่นเดียวกัน หรือกระทั่งพื้นที่ที่เป็นเสียงตามสายก็ด้วย การที่เด็กได้ลุกขึ้นมาจับไมค์แล้วคนทั้งหมู่บ้านได้ยินเสียงของเขามันก็เป็นพื้นที่การเรียนรู้แบบหนึ่ง 

อนุพงษ์ : ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามานี้ เป็นโปรเจกต์ที่เราพยายามพูดถึงมิติของเยาวชนท้องถิ่นที่มากกว่าแค่การที่สภาเด็กมานั่งอบรมกัน แต่เป็นงานที่พวกเขามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ขึ้นมาจริงๆ และนี่เป็นหนึ่งในงานที่เราอยากทำกับท้องถิ่นอย่างมีศักยภาพต่อๆ ไป (ยิ้ม)


Writer

Avatar photo

รุอร พรหมประสิทธิ์

หนังสือ ไพ่ทาโรต์ กาแฟส้ม แมวสามสี และลิเวอร์พูล

Photographer

Avatar photo

ภควัต เพชรเพ็ง

มนุษย์โลก

Related Posts