กรุณา บัวคำศรี…เพราะความเจ็บปวดเป็นเรื่องสากล ผู้คนถึงต้องเข้าใจชีวิต

กลางเดือนตุลาคม นอกจากจะเป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ของการเมืองไทย การสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของขบวนการนักศึกษารัฐบาลคณาธิปไตย ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันของเดือนตุลาคม 2566 โลกรับรู้ถึงสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ กลุ่มฮามาสและสถานการณ์ในฉนวนกาซา ซึ่งก่อนหน้าที่จะเกิดการโจมตีอันรุนแรงที่ทั้งโลกจับตามอง พี่ณา กรุณา บัวคำศรี นักข่าวและนักทำสารคดีผู้อยู่ในวงการข่าวมา ปีนั่งให้สัมภาษณ์กับเราในช่วงสายของวันฝนพรำในบ้านอบอุ่นพร้อมกาแฟหอมกรุ่น

ก่อนที่ฉนวนกาซาจะกลับมาดุเดือดอีกครั้ง เรายังนั่งคุยกันเรื่องการลงพื้นที่ของเธอในอดีตที่นั่นอยู่เลย ถามถึงวิธีการในการทำงานรายงานข่าวเมื่อต้องไปเยือนพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง 

“ง่ายๆ เลยนะเราต้อง making sense ว่ามันเกิดอะไรขึ้นเวลาที่เราพูดถึงฉนวนกาซา คือการที่ตอบคำถามว่าทำไมเราถึงต้องมาที่นี่ สิ่งหนึ่งที่ทำให้พี่หันมาสนใจงานด้านนี้มากเป็นพิเศษเพราะว่าบ้านเรามันไม่มีอะไรแบบนี้ ขนาดประเทศเราคือประเทศขนาดกลางและเป็นประเทศที่มีบทบาทในเวทีโลกได้ทั้งในแง่ของนโยบายและความเป็นพลเมืองโลก 

เราต้องมีอะไรแบบนี้ในสื่อกระแสหลักบ้าง เพราะเราจะไม่สามารถวางบทบาทของตัวเองทั้งในแง่ของปัจเจกแล้วก็ในแง่ของพลเมืองโลกได้เลย ถ้าเราไม่เข้าใจหรือว่าไม่รู้ว่าคนอื่นเขาอยู่ยังไง คิดยังไง”

นั่นคือเสี้ยวหนึ่งของความเป็นกรุณา บัวคำศรี 

วันนี้เราได้เห็นเธอกลับมาปฏิบัติงานอย่างแข็งขัน (กว่าที่เคย) เพราะสถานการณ์ของฉนวนกาซาและตัวประกันชาวไทยที่ถูกกักตัวไว้ยังไม่อยูู่ในสถานะปลอดภัย ดังนั้นเราจึงเห็นพี่ณาไลฟ์สดรายงานสถานการณ์แทบจะทุกวัน 

“พี่ยังตอบตัวเองไม่ได้ว่าทำไมถึงชอบทำข่าวต่างประเทศ อาจจะเป็นเพราะสิ่งที่เราเห็นตั้งแต่เด็กๆ”

หลายคนอาจจะรู้แล้วว่ากรุณา บัวคำศรีเกิดที่อำเภออรัญประเทศ ห่างจากเส้นขอบชายแดนปอยเปต ประเทศกัมพูชาเพียง 5 กิโลเมตร เกิดมาพร้อมกับระเบิดตูมตาม หลุมหลบภัยใต้บ้าน ทหาร UN หน้าตาแตกต่างไปจากคนที่นั่น เกิดมาพร้อมกับสงครามกลางเมืองกัมพูชาหรือที่เรารู้จักกันในนามของสงครามขเมรแดงท่ามกลางความขัดแย้งของเวียดนามเหนือกับพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา

ชีวิตไม่กรุณาเธอสักเท่าไหร่นัก…

เราอยากเล่าเรื่องของเธอเหมือนที่เธอเล่าเรื่องของผู้อื่นในสารคดี ‘ร้อยเรื่องรอบโลก’ และสารคดีอื่นๆ เพราะพี่ณาเป็นคนเล่าเรื่องสนุก มีหัวจิตหัวใจ และตอบคำถามด้วยความตั้งใจทุกคำถาม 

และที่สำคัญคือเธอเป็นผู้ฟังที่ดีมาก

บทความนี้จึงจะเล่าเป็นบทตอน สลับการบรรยายและบทสนทนา พยายามแสดงให้เห็นว่ากรุณา หรือ ‘พี่ณา’ นั้นกล้าหาญโดยไม่รู้ตัวตั้งแต่เด็ก มีคุณพ่อที่น่ารักและใจเด็ด พี่ชายน้องสาวสายซับ ล่องไปตามกระแสธารชีวิตอย่างนักช่างสังเกต ถ่อมตน ปรับตัวเสมอ และมีบุคลิกสบายๆ เหมือนสายน้ำเย็นกำลังดี 

แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือเธอสนใจเรื่องความเจ็บปวดของผู้ที่ถูกกดทับ และอยากเห็นโลกที่มีคนทำร้ายกันน้อยลงกว่านี้

 Survival Kit ฉบับกรุณา บัวคำศรีตอนที่ 1 : สงคราม เหล้าเถื่อน ของหนีภาษี และหนอนหนังสือ 

ตอนที่พี่เริ่มจำความได้สักประมาณ 6-7 ขวบ ก็รู้ว่าที่เราเกิดมามันเป็นจุดสิ้นสุดของโลกมนุษย์เพราะอรัญประเทศเป็นอำเภอที่อยู่บนชายแดนเลย ก่อนจะมีสงครามในกัมพูชา จะมีทางรถไฟไปถึงปอยเปต แต่ก็ถูกปิดโดยถาวร เราจึงไม่เห็นรถไฟวิ่งผ่านหน้าบ้าน เห็นแค่รางรถไฟ เราก็จะคิดว่าเราอยู่ที่จุดสุดท้ายของอะไรบางอย่างซึ่งเราไปต่อไม่ได้

แล้วคนที่มาที่อรัญจำนวนมากก็จะเป็นชาวต่างชาติ ส่วนใหญ่เป็นฝรั่งชาวตะวันตก พี่ก็ไม่เข้าใจว่าเข้ามาทำอะไร มีรถคันใหญ่ๆ สีขาว สีฟ้า บางคนก็สะพายกล้องเป็นพวกนักข่าวและทหาร UN ที่เข้ามาในช่วงนั้นเพราะว่าเป็นช่วงที่เขมรแดงถูกตีร่นมาอยู่ตามแนวชายแดน แล้วก็เกิดสงคราม 3 ฝ่ายในกัมพูชา

มีการสู้รบกัน แล้วพวกกระสุนระเบิดก็ข้ามตรงชายแดนมา ทีนี้ตรงนั้นมันเป็นจุดที่ผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชาใช้ข้ามเข้ามาในประเทศไทย คนเป็นหมื่นเป็นแสนเลยเวลาเมืองถูกตีแตก เขาก็จะเข้ามาตรงนั้นแล้วก็จะกระจายไปอยู่ตามค่ายผู้ลี้ภัยทางเขาอีด่าง มันก็เลยเป็นภาพที่พี่เห็นตอนเด็กๆ 

บ้านเราต้องมีหลุมบังเกอร์ เพราะว่าเวลากระสุนปืนใหญ่มันข้ามเขตแดนไทยมา เราก็จะไม่ปลอดภัย ต้องวิ่งลงหลุมบังเกอร์ แล้วก็จะเห็นพวกฝรั่งเยอะแยะไปหมดเลยทั้งเจ้าหน้าที่ UN และพวกนักข่าว แล้วก็ผู้ลี้ภัย เราจะเห็นสามภาพนี้ตอนเด็กๆ”

นั่นคือบทสนทนาแรกเริ่มที่แม้พี่ณาอาจจะเล่ารีรันให้หลายคนฟัง และเราเองก็เคยฟังตามที่เธอเล่าในสื่อต่างๆ แล้ว แต่เมื่อฟังจากปากจริงๆ ของกรุณา บัวคำศรี เป็นครั้งแรก เราก็อดทึ่งไม่ได้เหมือนกัน เสียงพี่ณาซ้อนทับกับ voice over เวลาที่ได้ยินเธอพากย์ในรายการสารคดีร้อยเรื่องรอบโลก ก่อนที่เราจะคุยกันยาวถึงชีวิตวัยเด็กอันโลดโผน แสบซ่า และบ้าหนังสือของเธอ

Q: ชีวิตในวัยเด็กที่ต้องอยู่ท่ามกลางสงครามหน้าตาเป็นยังไง

A: ก็มีความกลัว เพราะว่าเวลาเขาสู้กัน เสียงมันดังแล้วก็น่ากลัวมาก พี่จำได้คืนหนึ่งนอนอยู่บนบ้านไม้แล้วก็ได้ยินเสียงเฮลิคอปเตอร์ที่เหมือนอยู่ใกล้หลังคามากเลย  แล้วพ่อก็บอกว่าเราต้องลงบังเกอร์ (หลุมหลบภัย) แล้วล่ะเพราะว่ามันใกล้มาก เวลาที่เขายิงกันกลางคืน จะมีการจุดแฟลร์ (ไฟสว่างเพื่อที่จะได้เห็นว่าใครอยู่ที่ไหน เวลามันเลยมาที่เขตแดนไทย ทหารไทยก็จะยิงโต้กลับ มันก็จะเกิดการปะทะกันอย่างนี้บ่อยๆ 

แล้วพอเขารบกันเสร็จ  บ้านต่างจังหวัดก็จะเป็นบ้านไม้ มีชานบ้าน เราก็จะมานั่งที่ชานบ้านแล้วก็ดูแฟลร์ ดูแสง แล้วก็ได้ยินเสียงปืนยิงกัน มันมีโมเมนต์ของความกลัวแต่มันก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตแล้วว่าถ้าเกิดมีอะไรแบบนี้ เราต้องลงหลุมบังเกอร์แล้วเราก็จะปลอดภัย 

เด็กๆ ไม่ได้คิดอะไรมาก คิดแค่ว่าเดี๋ยวฉันจะต้องรีบขี่จักรยานกลับบ้านให้ทันก่อนพระอาทิตย์ตก คือพอมีสงครามที่บ้านก็จะไม่มีข้าวของอยู่เลย คือปกติข้าวของก็ไม่มีอะไรอยู่แล้ว แต่ว่าปกติของที่มีค่า อย่างเช่น ตู้เย็นหรือว่าของอะไรที่พ่อสะสมไว้ต้องไปอยู่ที่อื่น เพราะกลัวว่าถ้าเกิดวันหนึ่งบ้านถูกระเบิดแล้วเราจะไม่มีอะไรเหลือเลย เพราะฉะนั้นบ้านคนอรัญฯ จะตลกมากเพราะมันจะเป็นบ้านเปล่าๆ คือจะไม่ค่อยมีอะไรเท่าไหร่

เวลาไปโรงเรียนจะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่เราต้องกลับบ้านเร็วเพื่อกินข้าวแล้วต้องปิดไฟ เพราะว่าถ้าเราเปิดไฟไว้ตอนค่ำก็จะกลายเป็นเป้าของการถูกโจมตี เขาไม่รู้หรอกว่าใครเป็นใคร เขายิงกัน เห็นไฟก็ยิงเข้ามา ก็อยู่แบบนั้นแล้วก็ตื่นเต้นกับการเห็นฝรั่ง

Q: ตื่นเต้นแบบเชิงบวกเหรอคะ

A: เป็นเชิงบวกมากกว่า เพราะเรารู้สึกว่าอำเภอเล็กๆ ของเรามันเต็มไปด้วยเรื่องราวต่างๆ มากมาย เราปะติดต่อไม่ถูกหรอกว่ามันคืออะไร แต่พ่อเล่าให้ฟังว่ามันมีสงครามฝั่งนู้น แล้วฝรั่งพวกนี้เขามาช่วยคนที่อพยพข้ามแดน คนที่บ้านเมืองถูกทำลาย ครอบครัวถูกฆ่า แล้วเวลาผู้ลี้ภัยเข้ามาในช่วงที่ UN ยังไม่ได้จัดระเบียบ เขาก็จะไปอยู่ตามวัด วัดที่อรัญฯ ก็จะมีวัดหลักๆ คือวัดเกาะ อยู่ไม่ไกลจากบ้าน ที่ติดตาเลยคือภาพของผู้ลี้ภัยที่ถูกกักตัวไว้ที่วัดเกาะ มีรั้วลวดหนามกั้น แล้วพ่อก็จะเอาเราขึ้นมอเตอร์ไซค์ เอาพวกอาหาร เข้าไปให้เขา คนที่อรัญก็จะสงสาร ก็จะเอาเข้าของไปให้ หลังจากนั้นคิดว่า UN ก็เข้ามาแล้วก็จัดระเบียบดีขึ้น ก็มีค่ายผู้ลี้ภัยที่เป็นลักษณะค่ายที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมมากขึ้น

เรามีโมเมนต์ของความกลัว แล้วก็มีความตื่นเต้นเวลาเห็นพวกฝรั่ง เนื่องจากไม่มีทีวี เราได้อ่านแต่หนังสือก็จะรู้ว่าชาวตะวันตกมีผมสีทอง ตาสีฟ้า พอได้เห็นตัวจริงๆ เราจะแบบว่าเฮ้ย มันเป็นแบบนี้นี่เอง เราตื่นเต้นมากเลย 

ก็เป็นชีวิตแบบที่เราก็ไม่เคยคิดว่ามันแปลก เพราะว่ามันเป็นแบบนั้นแล้วก็ไม่ได้มีความรู้สึกว่าคนอื่นเขาอยู่กันยังไงเพราะไม่เคยออกจากตัวอำเภอ ก็จัดการกับสิ่งที่มันเกิดขึ้นเป็นวันๆ ไป ระเบิดมาก็วิ่งลงบังเกอร์ มีผู้ลี้ภัยเข้ามาก็ไปช่วยเขาบ้างอะไรบ้าง

Q: มีวีรกรรมหรือเหตุการณ์น่าตื่นเต้นอะไรที่เราจำได้ในช่วงนั้นบ้าง

A: ช่วงที่ผู้ลี้ภัยเข้ามาเยอะๆ จะมีคนจำนวนมากที่ข้ามแดนมาไม่ได้ ซึ่งเป็นคนมีฐานะ หอบทองหอบเงินมาเยอะแยะเพราะว่าตอนนั้นกัมพูชาเขาโดนกวาดล้างคือคนรวยคนจนก็ปนถ้วนหน้ากันหมด

แล้วตอนนั้นมันมีสิ่งที่เฟื่องฟูมากในอรัญฯ คือการค้าของหนีภาษีเพราะว่ามันมีความต้องการจากฝั่งนู้น พวกของที่จำเป็น เช่น น้ำมัน น้ำตาล อาหาร เสื้อผ้า แล้วก็เกิดการเอาของข้ามแดนไปขาย ตอนนั้นกว่าจะเข้าไปถึงชายแดนจะมีด่าน 3 ด่าน เป็นด่านความมั่นคงของทหาร 

พี่ไม่แน่ใจว่าเขาให้ทำได้ยังไง แต่เขาปล่อยให้คนเอาของเข้าไปขายได้แต่ต้องผ่านด่านตรวจ แล้วจะมีโควต้า เช่น คุณจะเอาน้ำตาลไปได้ไม่เกิน 2 กิโลฯ มนุษย์พ่อค้าแม่ค้าก็เริ่มขนของไปขายเพราะว่ากำไรดีมาก พี่ก็ไปอยู่ในขบวนการนั้นแต่พี่เป็นเด็ก พี่ไม่มีเงินซื้อเอง

Q: ไปอยู่ในขบวนการส่วนไหนคะ

A: รับจ้างขนของ พี่ก็ไปอยู่ขบวนการขนของหนีภาษี เห็นวิธีการทั้งหมด หลังๆ จะทำเป็นมืออาชีพมาก คือเป็นรถปิคอัพที่เปิดท้าย แล้วเขาก็จะเอาของขึ้นไปแล้วก็จะกระโดดขึ้นหลังปิคอัพวิ่งฝุ่นตลบเลย พอจอดที่ด่านทหาร ทหารก็จะบอกว่าจอด ทุกคนลงมาหิ้วของที่ของตัวเองขนมาด้วย แล้วก็จะเดินให้ทหารตรวจข้าวตรวจของ บางคนน้ำหนักเกินก็ถูกยึดถูกจับ ก็จะร้องไห้กันเพราะมันหมายถึงวันนั้นเราเจ๊ง ขาดทุน

ตอนนั้นมันจะมีคลองเล็กๆ ที่คั่นระหว่างชายแดนไทยและกัมพูชาที่เราต้องข้ามไป แล้วมีหนหนึ่งพอพี่ข้ามไป เอาของกำลังวางขาย คนเขมรกำลังเดินซื้อ มีทหารวิ่งไล่ยิงฝั่งนู้น พี่ก็ต้องวิ่งข้ามสะพานกลับมา อันนั้นคือความป่วงตอนเด็กๆ แล้วพี่ทำเพราะว่าพี่จะเก็บเงินซื้อหนังสือ

Q: ไม่กลัวเลยเหรอคะ

A: ไม่รู้กลัวหรือเปล่า แต่ว่าอยากได้เงิน (หัวเราะ) มันเลยความกลัวไปแล้ว รู้สึกว่าถ้าหาเงินได้ แล้วเราก็เอาเงินไปซื้อหนังสือพวกการ์ตูนที่เราอยากได้แต่ว่าพ่อไม่ซื้อให้ 

ตอนเด็กๆ พ่อจะให้อ่านเฉพาะหนังสือในห้องสมุด ไม่ต้องเป็นหนังสือเรียนก็ได้นะ แต่ให้เป็นหนังสือในห้องสมุด แต่พวกหนังสือการ์ตูนพ่อจะไม่ซื้อให้เพราะว่าไม่มีตังค์ เราก็จะเก็บตังค์ไปซื้อขายหัวเราะ ซื้ออะไรอย่างนี้มาอ่าน พี่ก็ค้าของหนีภาษีอยู่นาน หลังๆ พอกำไรเยอะขึ้นมันก็จะมีการลงทุนเยอะขึ้นจากพวกพ่อค้าแม่ค้า แล้วก็จะมีการโกงกัน  สมมติว่าเอาเสื้อชั้นในเข้าไปได้ 10 ตัว ก็ใช้วิธีการหิ้ว 10 ตัว ใส่ 10 ตัว  หลังๆ ทหารก็จับทางถูกให้ถอดเสื้อ  หรือบางทีใช้วิธีเลาะด่านก็ไม่ผ่าน แถมอันตรายเพราะจะมีพวกกับระเบิดเยอะ พี่มีญาติๆ ที่ทำอย่างนี้แล้วโดนระเบิดเสียขาก็มี

Q: พ่อรู้ไหมคะว่าเราอยู่ในขบวนการนี้

A: พ่อรู้บ้าง ตอนนั้นพี่อยู่กับยาย แล้วยายก็ต้องทำทุกทางเพื่อที่เราจะได้มีเงินไปเรียน ยายก็จะพาเราต้มเหล้าขาย พี่ต้มเหล้าเถื่อนตั้งแต่เด็กๆ หิ้วของหนีภาษี พ่อรู้บ้างแต่พ่อก็ไม่ได้ห้าม ขอให้ปลอดภัยก็พอ แล้วเวลาเราไป เราก็จะไปกับพวกญาติๆ พวกป้าที่เขามีเงินลงทุน ไปช่วยขนของ พี่ก็ป่วงตั้งแต่เด็กๆ พอเข้าไปฝั่งนู้นพี่ก็ชอบไปเดินดู คิดว่าเขาน่าสงสารจังเลยเนาะ หอบข้าวหอบของมา บางคนขาขาดแขนขาด

Q: เพิ่งได้ไปสัมภาษณ์พี่ช่างภาพที่ลงไปถ่ายภาพผู้คนในสามจังหวัดเพื่อทำนิทรรศการถ่ายทอดพื้นที่แห่งความปกติ เขาบอกว่าเด็กที่เกิดมาหลังกฎอัยการศึกจะเห็นป้อม เห็นด่านเป็นปกติ มันก็โดนจำกัดความคิดความฝันกันพอสมควร

A: พอเราโตขึ้นมา เรารู้ว่าสิ่งที่เราเห็นตอนเด็กมันคือความไม่ปกติ มันหมายความว่าสงคราม ความขัดแย้ง ความรุนแรงมันหล่อหลอม มันเปลี่ยนสิ่งที่มันควรจะปกติให้มันไม่ปกติ เปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนทัศนคติแล้วก็มุมมองของคน ซึ่งหลังๆ ตอนเกิดสงครามยูเครนแล้วมันเป็นกระแสของการมีโซเชียลมีเดีย มันก็น่าเศร้าที่คนมองว่าความไม่ปกตินี้มันกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว สงครามมันเปลี่ยนสิ่งที่ควรจะเป็น ให้กลายเป็นสิ่งผิดปกติ แล้วความน่าเศร้าก็คือเรายอมรับมัน

Q: ทีนี้วิธีการคิดของพี่ณาที่จะอยู่กับสภาพแวดล้อมแบบนี้ หรือการคิดที่จะออกไปข้างนอกเป็นยังไง คุณพ่อมีส่วนอะไรในการช่วยสอน หรือช่วยหล่อหลอมวิธีคิดของเราบ้าง

A: ถ้าจะยกเครดิตให้ก็เป็นคุณพ่อคนเดียว แต่แกอาจจะไม่รู้ว่าแกมีส่วน เพราะว่าคุณแม่พี่เสียตั้งแต่เด็กๆ ช่วงเกิดสงครามคุณพ่อก็มีลูก 4 คน แล้วคุณพ่อเป็นครู โรงเรียนอยู่ติดชายแดนประมาณไม่กี่ร้อยเมตร ตรงนั้นอยู่ตรงข้ามกับไพลิน  ซึ่งเป็นเมืองที่เป็นฐานของเขมรแดง แล้วโรงเรียนที่พ่อสอน หลุมบังเกอร์เยอะกว่าแถวๆ บ้านอีก เป็นชนบทที่แท้จริง 

พ่อเป็นครูคนเดียวของโรงเรียน แกก็จะวิ่งสอนป.1 ป.2  ป.3 ป.4 แล้วก็วนไปวนมาทั้งวันอย่างนี้ ที่เล่าให้ฟังตรงนี้ก็เพราะว่าพอพ่อต้องทำอย่างนี้ เขาก็จะไม่ค่อยมีเวลาที่จะมาดูแลพวกเรา เราก็จะอยู่กับยาย ดังนั้นการเลี้ยงพวกเราก็คือการเอามันไปไว้ในห้องสมุด ที่อรัญ จะมีห้องสมุดอำเภอที่อยู่ในตัวเมือง และหนังสือก็จะมี เยอะมาก มีหนังสือทุกอย่าง แล้วมุมที่เราชอบมากคือพวกวรรณกรรมต่างประเทศ

เช่น บ้านเล็กในป่าใหญ่  ไฮดี้ หรือเฮอร์มาน เฮสเสก็มี  มีหนังสือของนักเขียนไทยดังๆ อย่าง รงค์ วงสวรรค์ เขาก็จะเอาเราไปทิ้งไว้ห้องสมุด เราก็จะอยู่ในห้องสมุดกัน 

แล้วพ่อคงสังเกตว่าเราชอบอ่านหนังสือ เขาก็เลยจะพยายามไปหาหนังสือ มาจากไหนไม่รู้ เราก็อ่านหนังสือในห้องสมุดจนไม่เหลืออะไรให้อ่านแล้ว 

วิธีแก้ปัญหาของพ่อที่ไม่ค่อยมีเวลาดูแลพวกเราก็คือให้หนังสือเลี้ยงลูก เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่าคนที่มีส่วนทำให้เราสนใจโลกที่ไม่ใช่โลกของเรา 

ก็คือพ่อ 

Survival Kit ตอนที่ 2 : สู้สุดพลังเพื่อเรียนเอนทรานส์เข้ามหาวิทยาลัย ปลายทางจบลงที่ใดยังต้องลุยต่อ

ช่วงเวลาที่พี่ณาออกมาจากโลกของอรัญประเทศคือมัธยมศึกษาปีที่ 3 เพราะพ่อน่าจะเห็นว่าโอกาสข้างนอกดีกว่าสำหรับลูกๆ เธอจึงย้ายมาอยู่กับญาติที่ชลบุรี เรียนโรงเรียนประจำจังหวัด 

“เขาอาจจะมองเห็นอะไรในตัวเราโดยที่เราไม่เคยถาม” พี่ณาออกความเห็น เราจึงถามต่อว่าพ่อเป็นคนที่มองว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญตั้งแต่แรกแบบนั้นหรือเปล่า

คำตอบคือใช่ พ่อมักจะล้อเล่นว่าไม่เรียนก็ได้ไม่เป็นไร เดี๋ยวพ่อซื้อควายให้ตัวนึง แล้วก็เลือกเอาว่าจะเลี้ยงควายหรือว่าเรียน เขาพยายามเจียดเงินส่งลูกเรียนโรงเรียนเอกชนตั้งแต่ ป.1-ป.6 ทั้งๆ ที่มีโรงเรียนรัฐบาลและเงินเดือนของพ่อก็น้อยมาก แต่ด้วยการตัดสินใจของพ่อและบรรยากาศของการเรียนหนังสือช่วงวัยรุ่น พี่ณาบอกว่าเธอเข้าใจในตอนโตว่านั่นเป็นช่วงเวลาทองของการเรียนรู้

จากชีวิตที่ต้องวิ่งหลบลงบังเกอร์ ขนสินค้าหนีภาษีเพื่อหาเงินและต้มเหล้าเถื่อนกับยาย สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงก็ไม่ได้ส่งผลกับวิธีการคิดในการใช้ชีวิตของพี่ณาเสียเท่าไหร่นัก

“จริงๆ แล้วตอนนั้นพี่ไม่ได้คิดอะไรมาก เหมือนกับว่าชีวิตเราต้องสู้ตลอดเวลา ต้องเอาตัวรอด อย่างมาอยู่กับญาติที่ชลบุรีเราก็ต้องช่วยเขาทำงานทุกอย่างภรรยาคุณน้าจะต้องหารายได้พิเศษเพื่อที่จะเอามาเลี้ยงดูครอบครัว เขาก็จะไปรับจ้างซักผ้าให้ตำรวจ เขาก็จะเอาเสื้อผ้ามาที่บ้านแล้วเราก็จะต้องซัก เป็นกองใหญ่มากเลย เราก็ตอบแทนคุณน้าด้วยการช่วยซักเสื้อผ้า ชีวิตก็จะวนลูปอย่างนี้ คือเช้าไปโรงเรียน เย็นกลับมาช่วยเขาทำกับข้าว เลี้ยงลูกเขา แล้วก็ซักผ้ากองโตๆ 

มันก็เลยยังไม่ได้เห็นอะไรสักเท่าไหร่ เหมือนกับว่าชีวิตก็ต้องเอาตัวรอดอีกโหมดหนึ่ง แต่ว่าก็รู้สึกว่าปลอดภัยมากขึ้นเพราะเราไม่ได้อยู่ใกล้ๆ กับเขตการต่อสู้ แต่ช่วงนั้นสงครามที่นั่นก็เริ่มสงบ เราก็โตขึ้น รับผิดชอบมากขึ้น”

หนึ่งคำถามจากเด็กคนเมืองจากครอบครัวฐานะชนชั้นกลางระดับล่าง คือพี่ณางอแงบ้างไหมกับชีวิตยากลำบากในวัยเด็ก แล้วยังต้องต่อสู้มาเรื่อยๆ ถึงแม้สถานการณ์จะดีขึ้น มนุษย์เด็กคนหนึ่งตอบโต้กับมันอย่างไร

“ไม่มีเวลางอแงแต่ว่ามีอารมณ์ดื้อ มีช่วงวัยรุ่นที่เราติดเพื่อน อยากไปเที่ยวตามภาษาวัยรุ่นแล้วก็จะเกือบออกจากเส้นทางไป จริงๆ แล้วถ้าตั้งใจเรียนจะเรียนได้ดี แต่ว่าช่วงที่เราเรียนเราไม่ตั้งใจเรียนเลยเพราะเรารู้สึกว่าไม่สนุก มันเหมือนกับเราไม่ชอบห้องเรียน 

สิ่งที่พี่เห็นตอนเด็กๆ มันอยู่ใน DNA อาจจะไม่รู้ด้วยว่าตัวเองอยากทำอะไร แต่จำได้ว่าตอนที่เห็นฝรั่งขับรถแปะป้าย UN เห็นนักข่าวสะพายกล้อง แล้วรู้สึกว่ามันคูลมากเลย เท่จังเลย แล้วตอนนั้นมีความฝันว่าอยากจะทำงานที่ต้องออกไปผจญภัย 

เพราะหนังสือที่อ่านตอนเด็กๆ เป็นหนังสือทุกประเภทเลย อะไรที่อยู่ในห้องสมุดอ่านหมด เราชอบเรื่อง  ‘ความลับบนแหลมไซไน’ ของโสภาค สุวรรณ พอเราได้ยินชื่อแหลมแหลมไซไน Oh my God มันอยู่ที่ไหน เราอยากไปจังเลย อยากไปทะเลทราย ตอนนั้นก็รู้สึกว่ามันมีอะไรบ้างที่เราจะพาตัวเองออกไปที่แบบนั้นได้ แล้วพอออกมาอยู่ในจังหวัดที่ใหญ่ขึ้นเราก็เริ่มรู้ว่ามีอาชีพบางอย่างที่ทำได้อย่างเจ้าหน้าที่ UN ไปช่วยเหลือผู้ลี้ภัยหรือว่านักข่าวก็เริ่มมีมาบ้างแต่ยังไม่ชัดเจนเท่าไหร่”

แต่อย่างที่พี่ณาเล่าว่าเธอไม่ใช่เด็กเรียนสักเท่าไหร่นัก เป็นประเภทชอบไปกล้าไปซ่ามากกว่า การเรียนรู้ในช่วงนั้นจึงเป็นการได้ค้นหาชีวิต เกือบหลุดวงโคจรไปเหมือนกัน 

“ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็อาจจะบอกว่าค่อนข้างไม่มีอนาคต คือเรียนแย่มากแล้วก็สอบเอนทรานซ์ปีแรกไม่ติด แล้วพี่ก็ไปเรียนรามฯ ก็เก็บหน่วยกิตก็ไม่ได้ ชีวิตเหมือนไม่มีเป้าหมายว่าอยากไปทำอะไร”

แต่โชคดีที่มีค่านิยมในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของเด็กยุคนั้นที่กดดันรุนแรงพอจนดึงพี่ณากลับมาได้ เพราะพ่อเองก็ไม่ได้กดดันอะไรเธอ บอกด้วยซ้ำว่าไม่เรียนก็ไม่เป็นไร ไม่เรียนก็ไปทำมาหากิน 

“พ่อไม่เคยบังคับ whatever ต้องรับผิดชอบชีวิตของตัวเองเอง พ่อจะไม่บอกว่าต้องอ่านหนังสือเพื่อที่จะสอบเข้ามหาลัย อีกอย่างคือพี่กลับเข้ามาเป็นพาร์ทแบบทุกวันนี้ได้ก็เพราะพี่ชาย

ในครอบครัวที่ไม่ได้มีฐานะอะไร เรามีต้นแบบของคนที่ทำให้เราเห็นได้ว่ามันมีทางไป พี่ชายเป็นคนที่จริงจังกับการเรียนมากกว่า เขาสอบติดสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เราไปหาพี่ชายที่มหาลัยเลยได้เห็นว่า เฮ้ย เท่ว่ะ 

เขาทำกิจกรรมชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติ ตอนนั้นมีรณรงค์ต่อต้านเขื่อนน้ำโจน เขาก็ไปออกแคมเปญรณรงค์ต้าน เราก็รู้สึกว่าเท่จังเลย ทุกคนมานั่งตัดโปสเตอร์ ไปประท้วง เราไปช่วยพี่ชายแล้วก็รู้สึกว่าฉันอยากจะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มก้อน องค์กรบางอย่าง ตอนนั้นเป็นเรื่องความเท่อย่างเดียว”

นั่นคือตัวแปรสำคัญที่ทำให้กรุณา บัวคำศรีผู้ที่เกือบหลุดวงโคจรกลับมาตั้งใจอ่านหนังสือ มีพ่อที่บอกว่า ‘You can do what ever you want to.’ (ลูกจะทำอะไรก็ได้ตามใจ) ไปเรียนพิเศษกับพี่ชายที่แนะนำให้ไปทางสายศิลป์ และน้องสาวที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ความเท่จากตัวอย่างพี่ชายน้องสาวจุดไฟในตัวพี่ณาให้ลุกโชน

“เอาล่ะวะ ฉันต้องเข้ามหาลัยให้ได้ มีพี่ชายและน้องสาวเป็นตัวช่วยขับเคลื่อน เพราะก่อนหน้านั้นพี่สอบเข้ามหาวิทยาลัย 2 ครั้งก็ไม่ติด ซึ่งมันเฟลมาก แต่ความดีงามคือพ่อไม่พูดอะไร พ่อบอกว่าเอาเลยอยากทำอะไรทำ อยากจะสอบอีกครั้งก็สอบ 

แล้วความที่เราอยู่กับพี่น้องเยอะ พี่น้อง 4 คนจึงสนิทกันมากเพราะว่าไม่มีแม่แล้วพ่อบางทีก็ไปทำงานหาเงิน เราผูกพันกันมาก อ่านหนังสือเล่มเดียวกัน ทำทุกอย่างด้วยกัน พอน้องสาวสอบติด แล้วเราเห็นพ่อดีใจ เราก็เริ่มคิดกับตัวเองว่าถ้าเราจะมีอะไรที่ทำให้เขามีความสุขได้น่าจะเป็นสิ่งนี้ 

น้องสาวก็บอกว่า ‘แกต้องทำได้สิวะ’ เราไปเช่าหอเล็กๆ อยู่แถวลาดพร้าว อ่านหนังสือปิดห้องไม่เจอใครเลย 3 เดือน น้องสาวก็ส่งข้าวส่งน้ำ ไปหาเพลงปลุกใจ คือ do or die พี่จำได้ว่าตอนฟังผลสอบปีนั้น คิดว่าถ้าไม่รอดคราวนี้ก็จะไปขายของเป็นแม่ค้าแล้ว ตัดสินใจเด็ดขาด พอทีวีประกาศชื่อเราขึ้นมา เราร้องไห้เลยโดยที่ไม่รู้ว่าติดคณะอะไร”

คณะอักษรศาสตร์ เอกภูมิศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือคณะที่พี่ณาสอบติดโดยที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเรียนจบแล้วทำอาชีพอะไร แต่อย่างน้อยแรงผลักดันที่อยากจะทำให้พ่อภูมิใจว่าลูกสาวได้เรียนมหาวิทยาลัยก็บรรลุผลแล้ว 

“ทีนี้พอมาอยู่จุฬาฯ ชีวิตมันก็เปลี่ยน คือพี่ก็ได้ใช้ชีวิตแบบพี่น้องสาวกับพี่ชาย คือพี่ก็ขึ้นทำกิจกรรมเลย”

 Survival Kit ตอนที่ 3 : แกนนำนักศึกษา กรุณากล้าหาญ

นักศึกษากรุณาเป็นเด็กต่างจังหวัดโดยแท้จริงที่ culture shock กับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอยู่บ้าง แต่จะมีอะไรสนุกไปกว่าชีวิตช่วงมหาลัย สิ่งที่พี่ณาคิดคือแล้วเธอจะเข้ากับเพื่อนได้ยังไง หนึ่งในคำตอบก็คือการเล่นกีฬาบาสเก็ตบอลอย่างจริงจังระดับได้แชมป์จังหวัด 

นอกจากหนังสือ พี่น้องครอบครัว กีฬาก็คือสิ่งที่เธอรู้สึกถึงความเป็นส่วนหนึ่งของสังคม

“เราก็ตื่นเต้นกับการเห็นสนามบาสในที่ร่มเป็นครั้งแรกในชีวิต เพราะว่าต่างจังหวัดสนามบาสอยู่กลางแจ้ง เป็นพื้นปูน เราก็แบบโห เท่ว่ะ  ก็เลยเริ่มเล่นกีฬากับเพื่อน พี่ก็ไปรู้จักพวกแก๊งวิศวฯ จะมีเด็กผู้หญิงกลุ่มหนึ่งที่เป็นแนวห้าวๆ นิดหน่อยแบบพี่ เวลาไม่เรียนที่อักษรฯ ก็จะไปเล่นนั่งอยู่สามแยกปากหมากับเด็กวิศวฯ แล้วก็มาแซวเด็กอักษรฯ พี่เป็นพวกรุ่นสามแยกปากหมา (หัวเราะ)”

Q: คือเป็นคนที่นั่งอยู่ตรงนั้นแทนที่จะเป็นคนถูกแซว?

A: เป็นคนแซวเขา ‘ไปไหนจ๊ะ’ อะไรอย่างนี้ แล้วคนก็จะคิดว่าพี่อยู่วิศวฯ แต่ไม่ พี่อยู่อักษรฯ

Q: พี่ณามีวิธีการคิดที่จะอยู่ในสังคมที่เราอาจจะไม่ได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งแต่แรกยังไง เช่น ตอนเด็กๆ ที่อยู่ท่ามกลางสงคราม ย้ายมาที่ชลบุรี จนมาที่จุฬาฯ นี่ชัดเจนเลยว่ามีฐานะทางสังคมที่ชัดเจน 

A: เราใช้ชีวิตค่อนข้างธรรมชาติมาก อะไรที่เราคิดว่ามันน่าอึดอัด เราก็ไม่ทำ อะไรที่ไม่คิดว่าอึดอัด เราก็ปรับตัวไปกับมัน เวลาเพื่อนแซวว่าดำ เราก็ไม่สนใจว่าจะแซวไปทำไม มันก็เลิกแซวกันไปเอง อย่างเวลาไปทำข่าว อยู่กับทหารก็จะไม่รู้สึกว่ามันมีความอึดอัดอะไรเลย

ช่วงนั้นพอเล่นกีฬาได้ถึงจุดหนึ่ง พี่ก็เริ่มรู้สึกว่าอยากทำอะไรมากกว่านี้ ก็เลยไปเข้าชมรมอนุรักษ์ ซึ่งพี่ชายจะเป็นตัวพ่อตัวหนึ่งในวงการนักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว

ตอนนั้นเริ่มรู้สึกว่าตัวเองมีจุดหมายในชีวิตชัดขึ้น คือเราสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะเห็นจากพี่ชายสมัยที่เขาเรียน เราก็ไปออกค่าย ไปเดินป่า ไปค้านการสร้างเขื่อน ตอนนั้นเขื่อนปากมูลกำลังจะสร้าง เราก็ไปอดข้าวประท้วงแล้วปรากฏว่าปีต่อมาก็เกิดรัฐประหาร เผอิญช่วงนั้นพี่ๆ เห็นเราทำกิจกรรมเลยชวนลงเลือกตั้งอบจ. (องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ)  เราก็ เอาดิ สนุกดี

Q: เหมือนเราเป็นคนขับเคลื่อนด้วยความสนุกสนาน ความอยากค้นหา

A: พี่เป็นคนที่มีความหิวกระหายในการคุยกับคนมาก รู้สึกดีใจที่ได้รู้จักคนใหม่ๆ แล้วตอนนั้นทีมที่เราจะลงสมัครก็เป็นตัวแสบของจุฬาฯ ทั้งนั้นเลย เช่น หมอจุ๊ก (นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ) พอชนะเลือกตั้งแล้วเป็นช่วงรัฐประหาร ก็เลยออกมาประท้วงกัน ตอนนั้นพี่เป็นอุปนายกฝ่ายกิจการภายนอก พี่หมอจุ๊กก็ให้พี่มาประสานกับสนนท. (สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย) ช่วงนั้นมีอาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล เป็นเลขา สนนท. ก็มีการจัดประท้วงใหญ่และเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เปิดโลกมากเพราะพี่ต้องทำหน้าที่ในการเชื่อมคนเพื่อออกมาประท้วงไล่พลเอกสุจินดา คราประยูร พี่ก็ขึ้นเชียงใหม่ ลงใต้ ไปขอนแก่น เพื่อไปคุยกับพวกนายกของสโมสรนิสิตว่าเราจะทำกิจกรรมอะไรกันดี ดีเบตกันในเรื่องความคิด

ไปที่ม. รามฯ ก็เจอคนเคี่ยวๆ ทั้งนั้นเลย อย่างคุณจตุพร พรหมพันธุ์ นี่ทำพี่ร้องไห้เลยนะ (หัวเราะ) 

Q: นอกจากนั้นยังประสานกับใครอีกบ้างคะ

A: ก็จะมีนักการเมือง ตอนนั้นคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ พวกพี่ก็เป็นคนเชิญแกมาขึ้นเวทีลานโพธิ์เพื่อปราศรัย แล้วก็มีคุณวีระ มุสิกพงศ์ คุณจาตุรนต์ ฉายแสง คุณวิทยา แก้วภราดัย  ตอนนั้นพี่สวมหมวกนักศึกษา ไม่ใช่นักข่าว เพราะฉะนั้นมันก็มีความเป็นพี่เป็นน้องกันได้ เราก็จะสนิทกันในแง่ที่ว่าเป็นคนที่เห็นเรื่องการเมืองตรงกันในระดับของความเป็นพี่เป็นน้อง 

อาจารย์จรัล ดิษฐาอภิชัย ที่ลี้ภัยอยู่ตอนนี้ก็ขับรถมาส่งพี่ทุกวัน เพราะเห็นว่าหนูณาทำกิจกรรมเสร็จแล้ว ก็จะต้องมีคนมาดูแล กลายเป็นเราก็ได้อยู่ในแวดวงของนักวิชาการ นักกิจกรรม

Q: ในช่วงนั้นระยะห่างของนักศึกษากันนักการเมืองมันใกล้กันได้ แต่ในยุคนี้ไม่ได้ง่ายขนาดนั้นแล้ว ช่วงนี้หรือเปล่าที่ทำให้พี่ณารู้สึกถึงการมีส่วนร่วมกับสังคม ไม่ได้เป็นแค่ความเท่เพียงอย่างเดียว

A: พี่ว่าเหตุการณ์พฤษภาทมิฬมันมีความชัดเจนในแง่ของเรากับทหาร แต่ตอนนี้มันมีเรื่องสีและแตกย่อยออกไปเยอะมาก ตอนนั้นเราคือนักศึกษา เราคือประชาชน มีนักการเมืองที่เห็นด้วยกับเราและเห็นด้วยกับฝั่งทหาร 

ก่อนพฤษภาทมิฬ มีการร่างรัฐธรรมนูญ แล้วมีหลายมาตรามากที่เรารับไม่ได้ เราก็ไปอดข้าวประท้วงกันอยู่หน้าสภา ตอนนั้นเรามีความรู้สึกตั้งใจมุ่งมั่นมากว่ามันไม่ถูกต้อง คุณจะทำอย่างนี้กับประชาชนไม่ได้ คือตอนนั้นเป็น pure อุดมคติเลย อดข้าวอยู่ 20 กว่าวันจนกระทั่งเขายอมถอย

แล้วเราก็รู้สึกว่าการต่อสู้มันมีคุณค่ามากถ้าเราสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรแบบนี้ได้ ตอนนั้นมันเพียวมาก เป็นเพราะวัยด้วยมั้ง เราเลยมองอะไรเป็นขาวเป็นดำมาก ซึ่งสำหรับหนุ่มสาวที่ไฟแรงในแง่หนึ่งมันเป็นประโยชน์นะ 

Q: บางคนคนอาจจะมองว่าอดข้าวไป เขาก็ไม่เปลี่ยน แต่เรารู้สึกว่าเรามีเป้าหมาย

A: เราเข้าใจว่า ณ ห้วงเวลานั้น ทำไมคนวัยนี้ถึงลงมือทำแบบนี้ ตอนนั้นก็คือโชคดีที่เขายอมเปลี่ยนแปลง เราก็เลยได้กินข้าว พ่อก็สนับสนุนเราด้วยการไม่คุยกับเราเลย เรากลับบ้านไปแล้วเห็นรูปที่พ่อตัดจากหนังสือพิมพ์ตอนที่เราอดข้าว เลยถามว่าพ่อเก็บไว้ทำไม พ่อบอกว่า เก็บไว้เพราะพ่อไม่แน่ใจว่าจะได้เจอกันอีกหรือเปล่า เขาไม่อยากทำให้เราห่วง พอพ่อไม่โทรมาว่าเป็นไงบ้าง ลูกเราก็จะเต็มที่ 

Q: ตอนนั้นเป้าหมายของพี่ณาคืออะไร ถ้ามองเป้าหมายแบบปกติก็คือการเรียนจบไปทำอาชีพอะไรบางอย่าง แต่พอเข้าสู่กระบวนการเพื่อสังคม กลายเป็นนักเคลื่อนไหวไปแล้ว ตอนนั้นรู้สึกยังไง 

A: พี่คิดว่าพี่ก็คงอยากจะทำงานแบบนี้ต่อไป แต่อยากจะทำงานที่หาเงินได้ด้วยเพราะเราก็ต้องเลี้ยงตัวเอง คิดถึงงาน NGO แล้วก็คิดถึงงาน UN งานนักข่าว แต่เรารู้เลยว่าเราไม่สามารถจะอยู่ในออฟฟิศ ทำงานเป็นเวลา 

เรารู้สึกว่าการเป็นนักข่าวน่าสนุก เพราะมันน่าจะได้เดินทางด้วย ถ้าทำ NGO ก็อาจจะเฉพาะเจาะจงเกินไป ตอนนั้นก็สนใจเรื่องประชาธิปไตย สิ่งแวดล้อม แต่ว่าก็มีอะไรที่เรายังอยากรู้อีก เหมือนกับว่าตัวเองเป็นเป็ด ยังอยากรู้ว่าในโลกนี้มีอะไรให้เราได้เห็นบ้าง ก็เลยไปเป็นนักข่าว

 Survival kit ตอนที่ 4 : ที่สุดของความกรุณา คือไม่มีที่สิ้นสุด

ณ เวลานั้น กรุณา บัวคำศรีเปลี่ยนไปเยอะแล้ว เธอไม่ใช่คนช่างพูดจาเข้าหาผู้อื่นเหมือนสมัยเป็นนักศึกษา แต่เริ่มนิ่งและหาจุดยึด ซึ่งการเป็นนักข่าวที่หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์คือก้าวสำคัญของพี่ณาที่มานั่งไลฟ์สดเหตุการณ์ข่าวต่างประเทศและทำสารคดี เดินทางขึ้นเหนือลงใต้รอบโลกอย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้

ทักษะการเขียนข่าวทำให้เธอคิดเป็นระบบมากขึ้น ภาษาอังกฤษที่เจ้าตัวบอกว่าแย่มากก็ดีขึ้นมากตามกาลเวลาและความพยายาม

“ถ้าเรามีความฝันว่าเราอยากทำงานต่างประเทศ ทำงาน UN เราก็ต้องเริ่มเผชิญหน้ากับมันตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป 

ตอนนั้นพี่อยากไปเรียนต่างประเทศมาก และเป็นค่านิยมในยุคนั้นที่เรียนจบแล้วต้องไปเรียนต่อต่างประเทศ ซึ่งพี่ก็มองว่าเป็นค่านิยมที่ไม่แย่กับการที่ให้เด็กคนหนึ่งอยากจะมีชีวิต แต่เราอยู่กลางๆ เก่งก็ไม่เก่ง รวยก็ไม่รวย เพราะฉะนั้นทางเลือกเดียวของพี่ก็คือต้องได้ทุน เพราะฉะนั้นตอนทำงานที่บางกอกโพสต์ก็เป็นความดิ้นรนของเรา แต่เราอยากจะไปเมืองนอก อยากจะบอกว่าฉันจบปริญญาโทจากอังกฤษ แล้วก็ได้กลับไปที่อรัญเพื่อบอกให้พ่อได้ยินอีกที่หนึ่ง”

ที่เหลือคือความพยายาม พยายาม และพยายาม พี่ณาสอบชิงทุนชีฟนิ่ง ( Chevening Scholarship) ของรัฐบาลอังกฤษได้สำเร็จ

“พี่คิดว่าตัวพี่อาจจะไม่ได้มีอะไรชัดเจนมาก แต่พอเรามีความมุ่งมั่นที่สูงมาก เพราะว่าพ่อพี่มีพี่น้อง 5 คน เขาก็จะมีครอบครัวในรูปแบบที่สมบูรณ์มากกว่า พอแม่เสีย บ้านพี่ก็เหมือนครอบครัวที่ยังไม่สมบูรณ์แบบ พี่ก็จะรู้สึกว่าเราต้องทำอะไรบางอย่างให้มีความต่าง

ก็เป็นปมตอนเด็กๆ ด้วยที่ผลักให้เราพิสูจน์ตัวเองว่า ‘Without anything, I can make it.’ ทุกอย่างมันอาจจะทำเพื่อตัวเอง  ทำเพื่ออุดมการณ์ ทำเพื่อสิ่งที่เราเชื่อ เลยทำให้ 2 ปีที่อยู่บางกอกโพสต์มีความขึ้นๆ ลงๆ แต่ว่าพี่พยายามไม่ยอมแพ้จนสอบทุนได้”

ถึงตรงนี้ ชัดเจนแล้วว่าพี่ณามีพ่อเป็นแรงขับเคลื่อนในเชิงบวก ทำมากสำเร็จน้อยก็โฟกัสในสิ่งที่ทำได้ อะไรที่ทำไม่ได้ก็ช่างมัน จนถึงจุดที่เธอรู้สึกได้เลยว่ามั่นใจพอสมควร คือเธอชัดเจนกับตัวเองแล้วว่าอยากเป็นนักข่าว

“ตอนใกล้เรียนจบปริญญาโทที่อังกฤษ เราตั้งใจทำงานสื่อมวลชนต่อแต่อยากเปลี่ยนจากหนังสือพิมพ์มาทำงานทีวี โดยเฉพาะสถานีโทรทัศน์ไอทีวีที่เพิ่งจะก่อตั้ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไอทีวีคือผลผลิตของเหตุการณ์พฤษภาทมิฬที่เราเข้าไปมีส่วนร่วมในช่วงเรียนอยู่จุฬาฯ

แต่ช่วงนั้นไอทีวีจำกัดการรับพนักงานเพราะเจอวิกฤตค่าเงินบาท เราก็เลยไปทำงานกับ Australian Broadcasting Coporation (ABC) ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งชาติของออสเตรเลียอยู่ปีหนึ่ง ก่อนจะได้รับโทรศัพท์จากพี่กิตติ (กิตติ สิงหาปัด) ว่าตอนนี้ไอทีวีต้องการคน เราก็เลยมาสอบสัมภาษณ์ พอผ่านก็ได้งานเป็นนักข่าวประจำโต๊ะเศรษฐกิจ รับผิดชอบข่าวเศรษฐกิจต่างประเทศ

จากนั้นก็ได้รับมอบหมายให้ไปทำข่าวที่ต่างประเทศเวลาเกิดเหตุการณ์ใหญ่ๆ เช่น แผ่นดินไหว หรือเข้าไปที่ฉนวนกาซา”

แน่นอนว่าผู้ชมเห็นแล้วว่าแต่ละที่ที่พี่ณาไปล้วนเป็นพื้นที่สุ่มเสี่ยง เป็นพื้นที่สงคราม หรือมีความยากลำบาก เธอเล่าว่าไม่เคยบาดเจ็บรุนแรง (ซึ่งขอให้เป็นแบบนั้นตลอดไป) แต่ก็มีเสียวๆ อยู่หลายหนเหมือนกัน

“เหตุการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานครั้งล่าสุดคือตอนที่กำลังจะเข้าไปตรง Frontline ที่ยูเครนแล้วก็เกิดการยิงกันพอดี เราก็ต้องรีบออกมา ซึ่งจริงๆ ก็เป็นเรื่องปกติ 

หรืออย่างตอนที่ทริปแรกที่เข้าไปอิรัก ตอนนั้นไอซิส* กำลังห้าวเลย แล้วพี่ขับรถไป Frontline แล้วรถเกิดเสีย ผู้นำทางบอกว่าที่เห็นลิบๆ นั่นคือไอซิส แต่เราก็ไปซ่อมรถที่ค่ายทหารของอิรักได้สำเร็จ

ทีนี้ถามว่ากลัวหรือเปล่า เวลาลงพื้นที่ไปก็กลัว อย่างตอนที่เข้าไปในสลัมฟิลิปปินส์ มีมือปืนเยอะมาก พี่ยืนสัมภาษณ์อยู่แล้วมีเสียงปืนเปรี้ยงๆ ช่างภาพกระโดดข้ามหัวพี่ไปอยู่ข้างหลังแล้วบอกว่าเห็นเงาอลูมิเนียมวาวๆ เพราะคนที่นั่นคิดว่าเราจะเข้ามาทำอะไรเลยยิงเข้ามา แต่พี่ไม่รู้เรื่อง คราวนั้นคือเฉียดหัวไป (หัวเราะ)

ความเสี่ยงมันมีอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่ว่าเราต้องประเมินแล้วว่ามันปลอดภัยพอที่จะเข้าไปได้ คือถ้าเข้าไปแล้วตายกับเป็น 50-50 พี่ก็ไม่เข้า”

เส้นทางนักข่าวของกรุณา บัวคำศรีเปลี่ยนไปตามสำนักข่าวต่างๆ หล่อหลอมตัวตนเธอไปเรื่อยๆ จากไอทีวีสู่ไทยพีบีเอส สู่ช่องสาม จนถึงจุดที่เธออยากทำอะไรบางอย่างที่เป็นของตัวเอง นั่นคือการเดินทางไปทำสารคดีและยังคงสวมหมวกนักข่าวอยู่สม่ำเสมอที่ PPTV และทำสารคดี ‘ร้อยเรื่องรอบโลก’

แล้วการเป็นพลเมืองโลกมันสำคัญยังไง ถ้ามีคนบอกว่าอยู่เมืองไทยแค่ปัญหาในประเทศก็ไม่รู้ว่าจะแก้ตรงไหนก่อนแล้ว เรื่องทำมาหากินยังเอาตัวไม่รอด ทำไมเราต้องไปรู้เรื่องราวของที่ที่เราไม่รู้จัก  ทำไมต้องรู้เรื่องขบวนการการต่อสู้ข้างนอกด้วย

“‘Suffering is universal.’  อันนี้เราอาจจะประเมินความรู้สึกของคนต่ำไปนะนะ ตอนที่ทำงานอยู่ช่องสาม พี่ไปเฮติ แผ่นดินไหวคนตายเป็นแสนกว่า ตอนนั้นพี่ยุทธ (สรยุทธ สุทัศนะจินดา) ระดมเงินได้มาร้อยกว่าล้านแล้วพี่หอบเช็คนี้ไปให้ UN ซึ่งเงินที่เข้ามาเป็นเงินจากคนทั้งหาเช้ากินค่ำไปจนถึงคนที่รวยมากๆ พี่คิดว่าเราดูถูกความสามารถในความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เขาไม่มีทางได้แสดงออกเพราะว่ามันไม่มีช่องทางหรือเปล่า

เราต้องเปิดช่องทางให้มนุษย์ได้สร้างความเห็นอกเห็นใจ พี่ไม่คิดว่าสังคมที่ต้องหาเช้ากินค่ำ ปากกัดตีนถีบจะไม่สามารถแสดงความมีน้ำใจหรือเข้าใจได้ว่าเพื่อนมนุษย์ของเรากำลังเจ็บปวดกับเรื่องอะไร”

เราจึงเห็นประเด็นการถ่ายทอดความเจ็บปวด ความเป็นมนุษย์เหล่านี้อย่างชัดเจนในผลงานของพี่ณา

“พี่สนใจเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ความมั่นคงทางอาหาร วิกฤตสภาพภูมิอากาศ ประชาธิปไตย และสงคราม งานของพี่ก็คือแค่พยายามต้องหาตัวอย่างเพื่ออธิบายให้เห็นภาพว่าเรื่องนี้มันหนักหนาขนาดไหน  เช่น ถ้าพี่จะทำเรื่องสิทธิผู้หญิงในอินเดีย พี่ก็หาตัวอย่าง เช่น เรื่องธนาคารโสเภณีที่เขาต้องดิ้นรนกันมาก”

ก่อนหน้านี้ที่เราคุยกันเรื่องสงคราม พี่ณากังวลในแง่ของการที่มันถูกทำให้เป็นเรื่องปกติ จากประสบการณ์ของผู้ที่ทำข่าวต่างประเทศและติดตามสถานการณ์โลก พี่ณามองความเปลี่ยนผ่านอย่างไร

“มันเป็นเทรนด์ที่น่ากังวล เพราะว่าพอเรายอมรับความผิดปกติได้มันก็จะยกระดับความผิดปกติขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ก่อนก็ไม่มีใครคิดว่าจะเกิดสงครามเต็มรูปแบบมีการฆ่าพลเรือน ฆ่าเด็ก เกือบ 2 ปีผ่านไป ถ้าเรารายงานข่าวเดียวกันของวันนี้ คนจะมีความรู้สึกต่างออกไปเพราะมันเป็นความเคยชินแล้ว ซึ่งมันเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก 

พี่เป็นซึมเศร้ากลับมาเลยตอนที่ไปทำเรื่องโรฮิงญา ตรงชายแดนบังกลาเทศที่มีคนเจ็ดแปดแสนแออัดกันอยู่ แล้วมันเตือนให้พี่นึกถึงตอนเด็กๆ มาก สงสารมากน้ำตาไหล นอนไม่หลับ แล้วพอเรากลับมาถามคนในพม่า ปรากฎว่าในโซเชียลมีเดียมีแต่ความเห็นแบบ ‘ไม่ใช่มนุษย์’ ‘มึงตายซะเถอะ’ ซึ่งมันก่อกำเนิดความเกลียดชัง 

พี่คิดว่า hate speech เป็นสิ่งที่น่ากังวลและน่ากลัวมาก ไม่ได้เป็นคนโลกสวยนะ แต่ว่าเราไม่ควรยอมรับสิ่งนี้”

แล้วเราต้องตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านี้ต่อไปยังไง เราทำอะไรได้บ้าง

“พอเราเกิดมา นอกเหนือจากการตั้งคำถามว่าเราต้องทำอะไร มีเป้าหมายอะไรในชีวิตอะไร พี่อยากจะให้เห็นแค่ว่ามีสิ่งที่ชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งสมควรที่จะได้รับคือความปกติของการใช้ชีวิต แค่นั้นเอง เราไม่ได้ขออะไรมากไปกว่านี้เลย

ถึงวันนี้พี่มานั่งคิดถึงสิ่งที่พี่เห็นตอนเด็กๆ พี่ตั้งคำถามว่าทำไมเขาต้องหอบลูกหอบหลานมา ทำไมคนนี้ต้องขาขาด ทำไมต้องมีผู้ลี้ภัย ทำไมฉันต้องลงไปอยู่ในหลุมบังเกอร์ ทำไมฉันต้องมาอยู่กับน้า ทำไมอยู่กับพ่อไม่ได้ พี่คิดว่าอะไรที่เป็นประสบการณ์ในวัยเด็กของเราอาจจะทำให้เราคิดแบบนี้ 

ตอนเด็กๆ เราแค่อยากจะมีชีวิตปกติธรรมดา ไม่ต้องวิ่งหลบระเบิด ไม่ต้องเห็นคนขาขาดแขนขาด แค่นั้นเอง พี่คิดว่าทั้งหมดที่พี่ทำพี่แค่จะฉายภาพให้เห็นถึง ความเจ็บปวดของมนุษย์หรือปัญหาที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น

คนเราเกิดมาควรจะมีพื้นฐานที่จะใช้ชีวิต มีสิทธิในการไปเลือกตั้ง มีสิทธิในการมีอะไรกินพอเพียง หายใจจากอากาศสะอาด เป็นผู้หญิงก็มีสิทธิที่จะเดินออกจากบ้านได้โดยไม่ต้องมีผู้ชายตาม แต่ความขัดแย้งหรือความเห็นต่างทางการเมืองทำให้ความปกติที่เราควรจะมีกลายเป็นสิ่งที่หาได้ยาก”

พี่ณาเคยชื่นชมตัวเองหรือรู้สึกว่าเราก็นี่ก็เก่งเนอะ ซาบซึ้งใจในการเป็นกรุณา บัวคำศรีบ้างไหม

“ก็ซาบซึ้งแต่มันก็มีความรู้สึกมีปมอยู่ ตอนเด็กๆ พี่เคยคิดว่าทำไมพ่อไม่รวยจะได้ไม่ต้องมาขายลูกชิ้น จะได้ไม่ต้องขายของหนีภาษี แต่พอโตมาแล้วเราเพิ่งรู้ว่าจริงๆ แล้วชีวิตที่มันต้องดิ้นรนมันก็มีคุณค่าแบบอีกหนึ่ง”

งั้นทุกวันนี้ความสุขในชีวิตประจำวันคืออะไร ช่วงเวลาผ่อนคลายของกรุณา บัวคำศรีที่เรามักจะเห็นเธอไปบุกตะลุยคืออะไร

“ผ่อนคลายที่สุดก็ตอนอยู่บ้าน ตื่นเช้ามาพี่จะพยายามจัดเวลาเพื่ออ่านหนังสือ กินกาแฟ ตื่นก่อนใคร สามีกับหมายังไม่ตื่น เราขอนั่งเฉยๆ อย่างน้อยครึ่งชั่วโมงแล้วหลังจากนั้นจะวุ่นวายจากอะไรก็ช่าง ถ้ามีเวลาก็อยู่บ้านอ่านหนังสือเล่นกับหมา ด่ากับผัว ความสุขมีแค่นี้ (ยิ้ม)”

รอยยิ้มของเธอทำให้นึกถึงตอนที่พี่ณาพูดถึงพ่อ ยามที่สอบทุนรัฐบาลอังกฤษได้สำเร็จและนำข่าวนี้กลับไปบอกกับพ่อที่อรัญประเทศ

“ตอนนั้นเป็นความสุขของชีวิตเลย คือเวลาได้นั่งรถบัสกลับไปอรัญแล้วมีข่าวดีไปบอกพ่อ พี่คิดว่าชีวิตพี่มันมุ่งไปสู่เป้าหมายหลายอย่าง ทำเพื่อตัวเองด้วย แต่ว่าที่เด็ดที่สุดแล้วมานั่งคิดได้ตอนนี้ก็คือ ‘พ่อ’ มันเหมือนว่า ‘I’d do anything to make you smile.’

เวลาราวเที่ยงวันแต่อากาศเย็นฉ่ำเพราะฝนพรำ เรายิ้มให้กัน รู้สึกอิ่มใจ เป็นเรื่องธรรมดาเวลาฟังเรื่องราวของคนที่ตั้งใจใช้ชีวิตและรู้สึกว่าได้รับของขวัญ อยากให้วันของเขาเป็นวันที่ดี 

สองสามอาทิตย์หลังจากนั้น เกิดโศกนาฏกรรมและสงครามครั้งใหญ่ที่ฉนวนกาซา กรุณา บัวคำศรีก็สวัสดีท่านผู้ชม ทำงานจากบ้านและที่ทำงานอย่างดีที่สุดเหมือนเดิม

เหมือนเด็กสาวผู้ไม่เคยลืมว่าตัวเองเติบโตมาท่ามกลางสงครามและเสียงระเบิด ในยามโลกร้าย นี่คือวิธีของเธอในการถ่ายทอดความเจ็บปวดอันเป็นสากลให้ผู้คนได้รับรู้

เพราะมนุษย์นั้นเจ็บปวดได้ อยู่ที่ว่าเราเข้มแข็งมากพอที่จะเข้าใจเขาหรือเปล่า

*ไอซิส หรือ ISIS เดิมเป็นกลุ่มก่อการร้ายซึ่งมีฐานอยู่ในประเทศอิรักและเป็นสาขาย่อยของกลุ่มอัลกออิดะห์ ที่นำโดยโอซามา บิน ลาเดน  หลังจากนั้นก็เริ่มแยกตัวออกมาเพราะแนวทางไม่ตรงกัน โดยช่วงเวลาที่ ISIS แข็งแกร่งที่สุดคือปี 2014 ที่เข้ายึดอิรักได้เกือบครึ่งประเทศและขยายฐานต่อไปที่ซีเรียซึ่งกำลังเกิดสงครามกลางเมือง ก่อนจะกลับมาประกาศตั้งเมืองหลวงของตนเองที่เมืองโมซุลของอิรัก

ติดตามรายการร้อยเรื่องรอบโลก

https://www.youtube.com/@robloakbykaruna


Writer

Avatar photo

ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

นักแปล นักเขียน ช่างภาพสาว ผู้ทำงานประจำอยู่ 6 เดือนและไม่ทำอีกเลย ซึ่งคิดว่าคงเป็นอย่างนี้ตลอดไป หาตัวได้แถวเชียงใหม่และบางแค หัวบันไดไม่เคยแห้งเพราะจ้างร้อยแต่ให้มาล้านทั้งปริมาณภาพ ความยาวของเนื้อหาและพาดหัว ไม่เคยมีคำว่าน้อยแต่มาก มีแต่คำว่ามากแต่มากกว่า

Illustrator

Avatar photo

พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts

Civic Education

‘ดร.ยุ้ย’ เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ “ใช่ เลี้ยงเด็กหนึ่งคนต้องใช้ทั้งหมู่บ้าน และกรุงเทพฯ​ สร้างหมู่บ้านได้”​

Becoming Me

Soft Power

“ผมรู้สึกโดดเดี่ยวจนเหมือนผี ไร้ตัวตน” วรรจนภูมิ ลายสุวรรณชัย กับมนุษย์ที่ไม่อยากเป็นสุญญากาศ ใน School Town King