สอบเข้า ป.1

การแข่งขันเริ่มต้นตั้งแต่อนุบาล ‘เด็ก’ ไม่ได้อะไรจากการสอบเข้า ป.1

ได้วิ่งเล่นอย่างอิสระในสนามหญ้ากว้าง ได้ส่งเสียงเจื้อยแจ้วตามจินตนาการ ได้ทดลองทำอะไรบางอย่างโดยไม่ต้องกังวลผิดถูก สิ่งเหล่านี้กำลังจะหายไป และถูกแทนที่ด้วยการนั่งจดจ่อทำแบบฝึกหัดหลากหลายวิชาเพื่อเตรียมตัวสอบเลื่อนระดับขึ้นเรียนในชั้นประถมศึกษา

เหตุใดโชคชะตาของเด็กไทย จึงกลายเป็นเรื่องน่าเศร้าเช่นนี้

เมื่อคุณภาพของโรงเรียนที่ไม่เท่ากันทำให้เกิดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พ่อแม่ผู้ปกครองย่อมต้องการให้ ‘ลูก’ ได้เรียนในโรงเรียนที่ดีที่สุด และเมื่อจำนวนเด็กที่อยากเข้าเรียนกับจำนวนนักเรียนที่รับได้ไม่สมดุลกัน จึงเกิดเป็นระบบแพ้คัดออกที่บีบบังคับให้เกิดการแข่งขันขึ้น

ทว่าเรื่องน่าเศร้าคือระบบดังกล่าวกลับเกิดอย่างรวดเร็วในระดับชั้นอนุบาล

ตามหลักพัฒนาการเด็กเล็กปฐมวัยหรือเด็กที่มีช่วงอายุระหว่าง 2-6 ปี มีช่วงโฟกัสต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ในระยะเวลาเพียงไม่นาน พัฒนาการที่ถูกสร้างตามธรรมชาติของเด็กเล็กคือการได้เล่นอย่างอิสระ หรือการออกไปทำความรู้จักและสำรวจสิ่งใหม่ๆ นับตั้งแต่พวกเขาลืมตาดูโลก 

ดังนั้นระบบการแข่งขันที่ฝืนธรรมชาติ จึงไม่ใช่เรื่องที่ดีนักสำหรับพวกเขา

การเล่น สิ่งสำคัญสำหรับเด็กวัยอนุบาล

พ่อแม่ทุกคนย่อมเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกและคงไม่มีใครยกมือค้านว่าประโยคนี้ไม่เป็นจริง 

ในนามแห่งความรักและหวังดี ปัจจุบันพ่อแม่ผู้ปกครองทั้งหลายต่างต้องการเตรียมเส้นทางในการศึกษาของลูกอย่างดีที่สุดและเร็วที่สุด แต่สิ่งเหล่านี้กลับส่งผลให้เด็กต้องลงสนามแข่งขันเพื่อช่วงชิงเก้าอี้ที่ดีที่สุดในช่วงวัยที่พวกเขาควรได้ใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน

ตรีประดับ อุทัยเศรษฐวัฒน์ นักจิตวิทยาในโรงเรียน ที่ทำงานด้านสุขภาวะจิตใจกับเด็กระดับชั้นอนุบาล-ประถม กล่าวไว้ว่า สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเด็กในช่วง 0-6 ปี ไม่ใช่ผลการเรียนหรือคะแนนสอบอันดับหนึ่ง แต่คือการปล่อยให้สมองและพัฒนาการในด้านต่างๆ ของเด็กพัฒนาอย่างเต็มที่ผ่านการเล่น

“วัยอนุบาลเป็นช่วงที่เซลล์สมองก่อร่างสร้างตัว ยิ่งเด็กได้เล่นและจินตนาการมาก ยิ่งทำให้สารเชื่อมในสมองมันยิ่งขยายใหญ่ขึ้น เด็กวัยนี้มีระยะโฟกัสที่สั้นมาก เพียงแค่ 20-30 นาทีเท่านั้น การที่ต้องโดนจับให้นั่งอยู่กับที่นานๆ 3-4 ชั่วโมง จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

ยิ่งเราไปจำกัดชีวิตเด็กให้ไม่ได้เล่น ยิ่งไปขัดให้เซลล์สมองไม่พัฒนา และหากผ่านช่วงเวลานี้ไปแล้ว เด็กจะไม่สามารกลับมาพัฒนาสมองได้ทัน เพราะไม่ใช่ช่วงที่ดีที่สุดของเขาแล้ว”

เมื่อการแข่งขันเริ่มต้นตั้งแต่วัยอนุบาล แทนที่เด็กๆ จะได้ทุ่มแรงกายและกำลังสมองไปในเรื่องที่ตรงกับพัฒนาการ เรากลับเห็นปรากฏการณ์ที่พ่อแม่ผู้ปกครองเลือกที่จะส่งลูกเข้าเรียนในสถาบันกวดวิชาต่างๆ หรือซื้อแบบฝึกหัดให้ลูกลองทำ และผลลัพธ์ที่เกิดจากการเร่งอ่านเร่งติวที่มากเกินขีดจำกัด อาจทำให้ลูกต้องแลกกับช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการพัฒนาสมองไป

เมื่อเวลาเล่นถูกแทนที่ด้วยการติวข้อสอบ นั่นหมายความว่าโอกาสที่เด็กจะได้เชื่อมต่อกับโลกหายไปด้วย หนำซ้ำการวนเวียนอยู่กับการทำข้อสอบซ้ำไปซ้ำมา ยิ่งลดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้การแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง

“เด็กต้องเจอกับการบอกว่าข้อนี้เขาทำถูก-ข้อนี้เขาทำผิด บ่อยครั้งขึ้นมันยิ่งบล็อคจินตนาการความคิดสร้างสรรค์ เด็กๆ ขาดโอกาสที่จะได้ลองสำรวจแล้วเรียนรู้เรื่องราวตรงหน้าตามความเข้าใจของเขาจริงๆ” ตรีประดับกล่าว

นอกจากจะไม่ได้สำรวจโลก ผลลัพธ์จากการติวข้อสอบจนทำให้เด็กไม่ได้เล่น ก็ยิ่งทำให้หมดโอกาสที่จะเคลื่อนไหวร่างกาย ส่งผลต่อการกระตุ้นกล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น ขา แขน ที่ได้จากการขยับร่างกายผ่านการเดิน การปีนป่าย และการกระโดดต่างๆ อย่างอิสระ 

ตรีประดับ อุทัยเศรษฐวัฒน์

“เรานึกภาพไม่ออกเลยนะ ถ้าเด็กคนหนึ่งไม่ได้เล่นคงเป็นเรื่องใหญ่มาก อย่างที่บอกพัฒนาการตามวัยคือการที่เขาได้เล่น ได้เรียนรู้ ได้ทดลอง ถ้าเด็กที่ไม่ได้เล่น วิธีการเข้าสังคมของเขาจะหายไปอย่างสิ้นเชิง” 

เช่นเดียวกับ หมอแพม’ พญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี กุมารแพทย์ และเจ้าของเพจหมอแพมชวนอ่าน ชี้ให้เห็นความสำคัญของการเล่นไว้ว่า เมื่อเด็กได้เล่นอย่างเต็มที่ เขาจะเริ่มจากสังเกตสิ่งรอบตัว และเมื่อเด็กเริ่มสังเกต สมองของเด็กจะเริ่มทำงาน เกิดเป็นการโหลดข้อมูล ก่อนนำไปประมวลผลปะติดปะต่อตามจินตนาการ 

“แต่เมื่อต้องรีบเร่งขึ้น ป.1  ทุกอย่างก็กลายเป็นเรื่องรีบร้อน ต้องอ่านหนังสือ ต้องติว ต้องทำแบบฝึกหัด เด็กจะปรับตัวยาก ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ จากที่เคยได้เล่นอย่างอิสระก็ต้องเปลี่ยนมาทำใบงานส่งให้ทันในคาบ” หมอแพมให้ข้อมูล

‘หมอแพม’ พญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี

ยิ่งเร่งเรียน ยิ่งเร่งปัญหาสุขภาพจิต 

ในฐานะนักจิตวิทยาที่ทำงานกับเด็ก ตรีประดับบอกว่า เด็กเล็กเป็นวัยที่เพิ่งกำลังเรียนรู้ด้านอารมณ์เบื้องต้น เด็กยังไม่รู้วิธีการควบคุมจิตใจ ถ้าการสอบครั้งนั้นทำให้เขาผิดหวัง แต่เขายังไม่พร้อมที่จะรองรับอารมณ์บางอย่างจากคนรอบข้าง อาจก่อให้เกิดปัญหาตามมา

“เด็กอนุบาลเขาเข้าใจเพียงแค่อารมณ์พื้นฐานเท่านั้น เช่น ดีใจ เสียใจ โกรธ เศร้า เหงา เขาไม่ใช่วัยที่พร้อมจะเผชิญหน้ากับความรู้สึกแพ้-ชนะ เพราะถ้าเขาสอบไม่ติด กระบวนการแยกแยะของเขายังไม่เกิดขึ้น ยิ่งคนรอบข้างตั้งความหวังกับเขามาก เด็กยังไม่พร้อมรับมือกับความเครียดและความกดดันมากขนาดนั้นแน่นอน” 

เช่นเดียวกัน การเร่งให้เด็กรีบเจอกับ ‘ระบบแพ้คัดออก’ ในมุมมองนักจิตวิทยา ตรีประดับบอกว่าไม่ต่างอะไรจากการดันหลังลูกให้ไปยืนที่ริมเหว

ถ้าเด็กชนะ เขาจะรู้สึกว่าตัวเองประสบความสำเร็จ มีความมั่นใจในตัวเองสูง ตรงกันข้าม ถ้าเขากลายเป็นผู้แพ้ เขาต้องปะทะกับความผิดหวังตั้งแต่เด็ก และในอนาคตเขาอาจกลายเป็นคนไม่มั่นใจ ไม่กล้าแสดงออก ขี้กลัว ไม่กล้าหาญ และมองว่าตัวเองไม่เก่งอยู่เสมอ

สภาพแวดล้อมส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กอนุบาล

นอกจากการสูญเสียโอกาสในการเล่นอย่างอิสระและผลกระทบทางจิตใจแล้ว การเร่งอ่าน เร่งติว เร่งทำข้อสอบ และการก้าวกระโดดไปสู่สภาพแวดใหม่ที่รวดเร็วเกินไป อาจทำให้เด็กบางคนไม่สามารถรับมือความเปลี่ยนแปลงนี้ได้

รายงานวิจัย ‘โครงการสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย สำหรับประเทศไทย ระยะที่ 2’ จัดทำโดยสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุไว้ว่า การเปลี่ยนผ่านของสภาพแวดล้อมในห้องเรียนที่รวดเร็ว ส่งผลต่อความพร้อมของเด็กปฐมวัยที่จะสามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพเมื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาที่เป็นทางการในระดับประถมศึกษา

ความพร้อมด้านสิ่งแวดล้อมในห้องเรียน (learning environment) เป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญ ที่มีผลต่อการเรียนรู้ของเด็กอนุบาล เด็กวัยอนุบาลควรได้รับการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญาที่เหมาะสมตามวัยและมีคุณภาพ 

ดังนั้นสภาพแวดล้อมในห้องเรียนของเด็กวัยนี้ควรมี ‘มุมประสบการณ์’ กล่าวคือ มุมเล่น มุมอ่านนิทาน มุมศิลปะ มุมสันทนาการที่ส่งเสริมให้เกิดจินตนาการ 

“จริงๆ ไม่ใช่แค่เด็ก ผู้ใหญ่ที่ต้องเจอกับความเปลี่ยนแปลงเร็วๆ โดยที่ไม่ทันตั้งตัวก็อาจจะช็อกได้อนุบาลเป็นวัยที่ควรจะได้เล่น เด็กบางคนยังไม่พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับห้องเรียนสี่เหลี่ยมอึมครึม มีแต่กระดานไวท์บอร์ดตั้งอยู่ตรงหน้า หรือการบังคับให้นั่งเรียนยาวๆ รวมถึงการสอดแทรกวิชาการในเนื้อหาการเรียนอย่างเข้มข้นในวัยประถม

“เป็นไปได้หรือไม่หากระบบการศึกษาจะค่อยๆ สร้างบาลานซ์ให้เด็กปรับตัว ให้เขาเรียนรู้ว่าเขาต้องนั่งเรียนนานขึ้นนะ ระบบการศึกษาควรไปอย่างช้าๆ ไปพร้อมกับพัฒนาการของเด็ก” ตรีประดับกล่าว

ฉะนั้นท่ามกลางการเร่งเปลี่ยนผ่านสภาพแวดล้อมจาก ‘ปฐมวัย’ ไปสู่ ‘ประถมศึกษา’ คำถามสำคัญคือระบบการศึกษาไทยได้เตรียมความพร้อมสำหรับช่วงเปลี่ยนผ่านให้เด็กเล็กไว้มากแค่ไหน เพื่อสร้างให้เด็กค่อยๆ เรียนรู้ และคุ้นชินกับสภาพแวดล้อมใหม่ที่ต่างออกไป 

ครูช่วยสร้างพัฒนาการให้เป็นไปตามวัย

หากกล่าวว่าการเปลี่ยนผ่านของสภาพแวดล้อมในห้องเรียนมีผลต่อการเรียนรู้ของเด็กเล็ก อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ ‘ครู’ เพราะครูนับเป็นองค์ประกอบของสภาพแวดล้อมที่อยู่ในห้องเรียน

“ครูในช่วงรอยต่อการศึกษาของเด็กอนุบาลและประถมศึกษาจำเป็นต้องมีความละเอียดอ่อน” 

ตรีประดับบอกว่า นอกจากพ่อแม่ ครูคือบุคคลที่ใกล้ชิดเด็กมากที่สุด ครูจึงต้องเข้าใจธรรมชาติและพฤติกรรมของเด็กเล็กที่เพิ่งขึ้น ป.1 บางครั้งเขาไม่สามารถจะนั่งนิ่งๆ หรือนั่งเงียบฟังครูได้ตลอดเวลา เพราะเขาเพิ่งผ่านพ้นช่วงวัยที่เขาได้เล่น ได้วิ่ง ได้สนุกมาได้ไม่นาน

“ยิ่งเด็กยุกยิก อยู่ไม่นิ่ง แล้วครูใช้วิธีห้าม พูดว่า ‘อย่านะ-ห้ามนะ-หยุดนะ’ บางครั้งคำพูดเหล่านี้อาจไปหยุดพัฒนาการของเขา 

“เด็กเปรียบเสมือนฟองน้ำ เขาจะซึมซับทุกอย่างจากผู้ใหญ่ ดังนั้นเราไม่สามารถบังคับให้เด็กมีพัฒนาการหรือพฤติกรรมที่ดีได้ด้วยการใช้สิ่งที่ไม่ดี เมื่อครูเห็นเด็กซน เช่น เขาอาจจะเล่นแรงหรือข้าวของพังเสียหาย ครูจะต้องหยุดพฤติกรรมเหล่านั้นด้วยความใจเย็น เช่น ค่อยๆ อธิบายถึงเหตุผลว่าที่เขาทำสิ่งของแตกหัก เพราะอะไร และคราวหน้าจะเล่นอย่างไรให้ทะนุถนอมที่สุด

“แต่เราเข้าใจว่าบางทีครูก็เจอสิ่งรอบข้างที่อาจทำให้เครียด เช่น ภาระงานหรือการแบกความคาดหวังที่มากเกินไป จนส่งผลต่อการควบคุมอารมณ์ เพราะครูก็คือมนุษย์ แล้วมันไม่มีใครสมบูรณ์แบบ มนุษย์มี good day แล้วก็มี bad day แต่การลงโทษเด็กเล็กด้วยความรุนแรงอาจไม่ใช่ทางออกที่ดีแน่นอน” ตรีประดับทิ้งท้าย

คลี่คลายปัญหาการศึกษาของลูก เริ่มจากพ่อแม่

“การศึกษาจะช่วยพัฒนาเด็ก ต่อเมื่อเรามองว่าเด็กกำลังศึกษา” 

นอกจากการเป็นหมอ อีกหนึ่งบทบาทของหมอแพมคือการเป็นแม่ของ ‘น้องพิมพ์’ ลูกสาววัย 7 ขวบ ดังนั้นมุมมองต่อการศึกษาสำหรับหมอแพมจึงไม่ใช่แค่การส่งลูกไปเรียนที่โรงเรียนแล้วจบไป เพราะเด็กถูกสร้างมาเพื่อเป็นนักเรียนรู้ และนิยามของการเรียนรู้ดังกล่าว ไม่อาจจำกัดไว้เพียงในห้องเรียน 

“ชีวิตของเด็กคนหนึ่ง เขาใช้เวลาอยู่ที่บ้านและโรงเรียนในเวลาเท่าๆ กัน คุณครูเห็นลูกพาร์ทที่พ่อแม่ไม่เคยเห็น พ่อแม่เห็นลูกในพาร์ทที่ครูไม่เคยเห็น เมื่อลูกก้าวขาเข้าไปในระบบการศึกษา หมอมองว่าทั้งพ่อแม่และครูต้องแลกข้อมูลซึ่งกันและกัน ที่สำคัญเวลาเด็กเขามีปัญหาในห้องเรียน พ่อแม่อย่าด่วนตัดสิน ‘ลูก’ ว่าเขาไม่ดี เขาโง่ หรือเขาไม่ขยัน”

แม้น้องพิมพ์ (ลูกสาวหมอแพม) ไม่ได้เผชิญหน้ากับสถานการณ์เร่งเรียนหรือสอบเข้า ป.1 โดยตรง ทว่าสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในช่วงแรกของวัยประถมศึกษา ส่งผลให้น้องพิมพ์ต้องเผชิญหน้ากับช่วงเวลายากลำบากและปรับตัวอย่างหนักเช่นกัน

“ตอนน้องอยู่อนุบาล น้องเรียนในโรงเรียนอนุบาลแบบบูรณาการที่ไม่ได้มุ่งเน้นวิชาการหรือเน้นอ่านเขียน ทำให้ช่วงแรกที่เข้าเรียนในชั้นประถมศึกษา มีปัญหาเรื่องการจัดสรรเวลา เช่น การบังคับตัวเองให้ทำใบงานเสร็จทันในคาบ”

เมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้ว หมอแพมบอกว่าวิธีแก้ที่ดีที่สุดคือการที่พ่อแม่เข้าใจและยอมรับว่าปัญหาที่เกิดขึ้นคือเรื่องจริง 

“เวลาพ่อแม่กังวลเรื่องการเรียนของลูกมันเหมือนเชือกที่พันกันอีนุงตุงนัง แต่เราต้องแก้ปมแรกให้ได้ก่อน ในกรณีของหมอ หมอเริ่มแก้ที่ตัวเอง เราทำงานเป็นทีมเดียวกับคุณครู พิจารณาดูว่าสิ่งแรกที่ต้องแก้ไขคืออะไร เราค่อยๆ ปรับให้ลูกเห็นความสำคัญของเวลา และสถานการณ์ก็ค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ” หมอแพมบอก

“เรื่องต่อมาคือน้องพิมพ์มีปัญหาเรื่องวิชาการ ซึ่งหมอคิดว่าฐานที่สำคัญของ ป.1 คือการอ่าน แต่จุดแข็งของน้องคือเป็นคนชอบอ่านอยู่แล้ว เราก็แค่เลือกนิทานที่เขาอ่านได้แล้วเกิดความภูมิใจ จากนั้นค่อยๆ เพิ่มระดับความยากขึ้นทีละนิด จนตอนนี้การอ่านของเขาพัฒนาขึ้นมาก แม้จะยังไม่คล่องแต่เมื่อเทียบกับตัวเขาในตอนแรก เขาพัฒนาได้ไกลและเร็วมาก”

สำหรับหมอแพม การเป็นพ่อแม่ที่มองว่าการเรียนเป็น ‘โลกทั้งใบ’ คือสิ่งที่อันตรายที่สุดสำหรับลูก

“หมอคิดว่ายุคนี้ห้องเรียนไม่ใช่ทั้งหมดของการเรียนรู้ ถ้าเด็กเรียนเก่ง ให้ชื่นชมเขาถึงความพยายามและความรับผิดชอบ แต่อย่าลืมให้ลูกได้ลองทำกิจกรรมอื่นๆ ที่เขา ‘ไม่ได้เป็นที่หนึ่ง’ ดูบ้างก็ได้”

หมอแพมไม่ปฏิเสธว่าการเรียนคือเรื่องสำคัญ แต่ยิ่งพ่อแม่ทำให้ลูกยึดติดกับการเรียนในห้องเรียนมากเท่าไร ยิ่งลดโอกาสในการพาลูกไปเจอโลกกว้าง เช่นเดียวกันกับเด็กที่อาจจะไม่โดดเด่นในห้องเรียน เขาอาจจะมีสิ่งที่ทำให้เขาภาคภูมิใจในตัวเอง พ่อแม่อาจจะช่วยลูกค้นหาความภูมิใจผ่านเรื่องเล็กๆ เช่น เขาเป็นเด็กที่ปีนต้นไม้หรือเลี้ยงสัตว์เก่ง 

หมอแพมเปรียบเทียบถึงกลไกของสมองระหว่างเด็กที่เกิดความภูมิใจเล็กๆ ที่เปิดขวดน้ำได้ หรือปีนต้นไม้เก่ง กับความสำเร็จจากการทำธุรกิจที่เกิดขึ้นกับผู้ใหญ่ว่าคือเรื่องเดียวกัน

“พ่อแม่ต้องช่วยชี้ให้เห็นว่าสิ่งเล็กๆ ที่ลูกทำได้มันน่าภูมิใจมากแค่ไหน ไม่ต้องรอให้ลูกเป็นอัจฉริยะ หรือแสดงความเก่งผ่านผลการสอบออกมา เพราะเมื่อใดก็ตามถ้าพ่อแม่บูชาความเก่ง ลูกจะกลัวความผิดพลาดและไม่กล้าลงมือทำอะไรเลย ลูกจะเลือกอยู่ในเซฟโซน และเขาจะเสียโอกาสในการเรียนรู้ไปตลอดชีวิต

“พ่อแม่อย่ากลัวที่จะชื่นชมลูกอย่างจริงใจ ชมแบบมี growth mindset ความหมายก็คือเมื่อเรามองเห็นเขาทุกขั้นตอน เช่น วันนี้ลูกระบายสีได้ดีจังเลย ไม่ออกนอกเส้น หรือวันนี้ลูกวาดสามเหลี่ยมได้ดีกว่าเมื่อวานนะ จุดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้จะเสริมให้เขาพัฒนาและก้าวผ่านไปได้” หมอแพมแชร์ประสบการณ์ 

หากรอยต่อระหว่าง ‘อนุบาล’ และ ‘ประถมศึกษา’ คือหัวใจสำคัญของเด็ก 

หมอแพมมองว่าพ่อแม่ ครู รวมถึงระบบการศึกษา ควรจะเรียนรู้ทำความเข้าใจกับรอยต่อนี้ไปพร้อมๆ กับเด็กอย่างแท้จริง เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กคนหนึ่งได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตัวเอง 

เพราะท้ายที่สุดการบีบบังคับให้เด็กอนุบาลฝึกทำข้อสอบ ฝึกอ่าน ฝึกเขียน อาจทำให้ ‘ลูก’ พลาดโอกาสที่จะได้พัฒนาสิ่งสำคัญที่ต้องมีติดตัวไปใช้ตลอดชีวิต คือ ความอยากรู้อยากเห็นและจินตนาการนั่นเอง


Writer

Avatar photo

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา

พยายามฝึกปรือและคลุกอยู่กับผู้คนในวงการการศึกษา เพราะเชื่อว่าการเรียนรู้เป็นใบเบิกทางให้ขยายขอบขีดความสามารถตัวเอง ฝันสูงสุดคืออยากเห็นตัวเองทำงานสื่อสารที่มีคุณภาพและคุณค่าต่อไป

Illustrator

Avatar photo

บัว คำดี

ตอนประถมอยากเป็นศิลปินวาดภาพ แต่โดนพ่อเบรคหัวทิ่ม "เป็นศิลปินไส้แห้งนะ" ปัจจุบันทำงานเกี่ยวกับการออกแบบและทำภาพประกอบ (บ้าง) จนได้

Photographer

Avatar photo

ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

นักแปล นักเขียน ช่างภาพสาว ผู้ทำงานประจำอยู่ 6 เดือนและไม่ทำอีกเลย ซึ่งคิดว่าคงเป็นอย่างนี้ตลอดไป หาตัวได้แถวเชียงใหม่และบางแค หัวบันไดไม่เคยแห้งเพราะจ้างร้อยแต่ให้มาล้านทั้งปริมาณภาพ ความยาวของเนื้อหาและพาดหัว ไม่เคยมีคำว่าน้อยแต่มาก มีแต่คำว่ามากแต่มากกว่า

Avatar photo

เฉลิมพล ปัณณานวาสกุล

นักเทคนิคการแพทย์ ช่างภาพ เจ้าของแบรนด์กระเป๋า Soul goods และนักเดินทาง ทั้งหมดรวมอยู่ในตัวของคนๆเดียวที่ดำเนินชีวิตด้วย passion และ inspiration รับงานถ่ายภาพหลากหลายไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ นอกจากนี้ยังสามารถถ่ายคนให้น่ากินเหมือนอาหารได้อีกด้วย

Related Posts