- เราได้ยินวลีทำนองว่า ‘ให้เป็นตัวของตัวเอง’ กันมานาน ทว่าการเป็นตัวเองอย่างแท้จริงไม่ใช่ภารกิจที่บรรลุได้ในเวลาอันสั้น และไม่ใช่เรื่องที่ทำได้คนเดียว ต้องอาศัยความสัมพันธ์ที่มีกับคนรอบข้าง self ของมนุษย์สร้างขึ้นได้ตั้งแต่แรกเกิด การมี self ที่แข็งแรงจะช่วยหนุนเนื่องชีวิตหนึ่งให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน
- หาก self ถูกทำลาย แม้เปลี่ยนยาก แต่เปลี่ยนได้ อาจต้องใช้เวลากว่าจะสร้างใหม่ได้อีกครั้ง โดยอาศัยความสัมพันธ์ที่ดีมาฟื้นฟู self ให้กลับมาแข็งแรง
“self คืออะไร”
นี่ไม่ใช่คำถามเชิงปรัชญาหากคือบทสนทนาในเช้าร่มรื่นวันหนึ่ง ซึ่งนำไปสู่คำถามสารพันที่อธิบายสิ่งสำคัญคือ “ความเป็นตัวตน”
ตัวตนคืออะไร สำคัญแค่ไหน ไม่มีได้ไหม เราจะสร้างตัวตนที่แข็งแรงได้อย่างไร ให้จิตใจไม่อ่อนแอจนต้องพึ่งกลไกป้องกันตัว และไม่โอนเอนไปตามความเปลี่ยนแปลงภายนอกที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
mappa ชวนครูหม่อม-ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล สนทนาแลกเปลี่ยนเรื่อง‘self’ สำรวจนิยามคำว่า ‘ตัวตน’ พาพวกเราย้อนมองพัฒนาการของตัวเองตั้งแต่เยาว์วัยเรื่อยมาจนปัจจุบัน ขบคิดถึงความสำคัญของการรู้จักตัวเอง การรับรู้ตัวตนของผู้อื่น ความสัมพันธ์ที่มีความหมาย รวมทั้งไขข้อสงสัยเกี่ยวกับสมอง ความสามารถในการกำกับดูแลตนเอง (executive funtions – EF) และหลักประสาทชีววิทยาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (interpersonal neurobiology) และกลไกป้องกันตัว (defend mechanism) ที่อธิบายพฤติกรรมต่าง ๆ ของเรา ที่ทำให้เราก่อประกอบตัวตนของเรามาเป็นเราในทุกวันนี้
“Know thySELF”
ฟังเสียงข้างใน เข้าใจตัวเอง
self คืออะไร
‘ตัวตน’ สำคัญกับ ‘ตัวเรา’ อย่างไร
Self คือความรู้สึกนึกคิดที่แท้จริงของมนุษย์คนหนึ่ง คือความเป็นตัวตนเนื้อแท้จริง ๆ ที่ไม่ได้มีอิทธิพลภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง ลองคิดง่าย ๆ เราทุกคนต้องการความรู้สึกที่จะเป็นตัวของตัวเอง คำว่า ‘เป็นตัวของตัวเอง’ พูดง่าย แต่เชื่อไหมว่าบางเรื่อง เรายังยอมรับตัวเองไม่ได้เลย เรายังรู้สึกไม่ชอบตัวเองที่เป็นแบบนี้ ซึ่งเราเองก็จะปฏิเสธว่า ‘ไม่ ฉันไม่อยากเป็นแบบนั้น’ แล้วก็ไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นแบบนั้น
และถ้าเราไม่รู้จัก self ของตัวเอง เราจะไม่สามารถชอบตัวเองได้ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องการอะไรในชีวิต ต้องคอยมองว่าคนอื่นเขาทำอะไรกัน เหมือนตื่นมาแต่ละวันเพื่อวิ่งตามคนอื่น ชีวิตมันจะเหนื่อย จิตตก มองไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง ไม่รู้ว่าตัวเองมีประโยชน์อะไร สำคัญยังไง ฉะนั้นถ้าถามว่า ‘self’ สำคัญแค่ไหน ต้องตอบว่ามันคือความสุข คือสุขภาพจิตของคนคนหนึ่ง
เริ่มต้นสนใจเรื่อง self ได้ยังไง
เหตุผลที่ต้องเรียนเรื่อง self เริ่มต้นเพราะอยากเป็นครูปฐมวัย ทีนี้การเป็นครูปฐมวัยจำเป็นต้องรู้จักพัฒนาการของเด็กปฐมวัยว่ามีอะไรบ้างที่ครูคนหนึ่งจำเป็นจะต้องรู้ รู้เพื่อที่จะไปส่งเสริมเขา ก็เลยรู้ว่าตัวตนมันมีที่มาที่ไปและเป็นเรื่องสำคัญที่ทั้งพ่อแม่ คุณครู หรือใครก็ตามที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กจะต้องรู้ เพราะถ้าไม่มีความรู้เรื่องนี้ แทนที่จะไปสนับสนุนก็จะไปย่ำยีตัวตนเขา ย่ำยี self เขา และทำให้ตัวตนของเขาไม่เติบโต
ค้นพบตัวเองตอนไหน รู้ตัวเมื่อไรว่าอยากเป็นครู
ชอบเล่นเป็นครูตั้งแต่จำความได้ ถ้าบอกว่าคนอื่นคาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิดนะ เราก็คงคาบชอล์กมาเกิด (หัวเราะ) คนอื่นเล่นตุ๊กตา เล่นขายของเรานี่จะเดินไปขอครูเลย ครูขาหนูขอชอล์ก แล้วเอามาเขียนกำแพงเล่นที่บ้าน 90% ของชีวิตในการเล่นคนเดียวคือเล่นเป็นครู แล้วก็บอกกับตัวเองตั้งแต่ตอนนั้นเลยว่า เราจะเป็นครู
ถามว่าเด็กคนหนึ่งเขียนกำแพงเล่น จะมีพ่อแม่กี่คนที่จะยอมให้เขียน แต่แม่เรายอม มันมีอยู่ช่วงหนึ่งเหมือนกันนะที่เราเล่นบทเป็นครูโหดมาก (หัวเราะ) แม่ต้องซื้อไม้บรรทัดแบบเหมาะโหลมาเป็นกำ เพราะว่าเราต้องเอามาเคาะโต๊ะ ชี้กระดาน หักกี่แท่งแม่ก็ซื้อให้ใหม่ มันก็สร้างตัวตนเรามาเรื่อย ๆ ประสบการณ์รอบตัวค่อย ๆ สะสมไป เกิดการยอมรับ การพูดคุยกับตัวเอง แม้มันยังไม่มีคำตอบชัดเจน ณ ตอนนั้น
ต้องรักการเป็น ‘ครู’ มากเพราะพัฒนาจนไปเรียนต่อปริญญาเอกด้านปฐมวัย
ใช่ค่ะ เริ่มต้นจากตอนเด็ก ๆ เลย แต่คำตอบชัดไปออกสมัยเรียนต่อปริญญาโทกับเอกที่อเมริกา ในมหาวิทยาลัยที่เรียน คนที่ทำงานด้านเด็ก ไม่ว่าจะเป็นครู นักจิตวิทยาหรือหมอเด็ก เขาใช้ grounded theory เรื่อง interpersonal neurobiology ซึ่ง interpersonal คือความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ส่วน neurobiology คือเรื่องของสมอง
เมื่อก่อนเราเชื่อกันว่าสมองและจิตใจส่งผลต่อพฤติกรรม แต่ศาสตร์นี้เชื่อว่าความสัมพันธ์สามารถเข้าไปเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานของสมองและจิตใจได้ หากโครงสร้างสมองเปลี่ยน หน้าที่ก็จะเปลี่ยนตามไปด้วย มันเลยต่างจากทฤษฎีอื่นตรงที่ว่า ต่อไปนี้ถ้าจะสร้างพฤติกรรมเด็ก แทนที่เราจะตรงไปแก้ที่พฤติกรรม เราตรงไปแก้ที่ความสัมพันธ์แทน
ยกตัวอย่างว่า ถ้าความสัมพันธ์ทำให้เราจิตตก สมองเครียด สมองก็ทำงานแบบเครียด ๆ แต่ถ้าความสัมพันธ์นี้ดีขึ้น จิตใจเราก็ดีขึ้น เบิกบาน สมองเราก็จะทำงานอีกรูปแบบหนึ่ง สารความเครียดมันก็จะถูกเก็บกลับเข้าไป สารความสุขมันก็หลั่งออกมาได้ สมองส่วนความคิดกับส่วนอารมณ์ก็จะทำงานประสานกันได้ราบรื่นมากขึ้น ดังนั้น ถ้าเราจะสอนเด็กคนหนึ่งให้มีพฤติกรรมตามที่เราอยากได้ เช่นอยากให้มีความรับผิดชอบ เราคงไม่สอนว่าความรับผิดชอบแปลว่าอะไร ทำอย่างไร หนึ่ง สอง สาม สี่ ในทฤษฎีนี้จะคิดว่า ความสัมพันธ์แบบไหนนะที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งอยากมีความรับผิดชอบ อยากตื่นไปโรงเรียนเอง
หากพ่อแม่ต้องการแก้พฤติกรรมลูกโกหก แก้แบบ interpersonal neurobiology ต้องทำอย่างไร
ต้องเข้าใจพฤติกรรมก่อน และเข้าใจด้วยความเข้าใจเรื่องสมอง สมองของคนเราแบ่งแบบหยาบ ๆ ให้เข้าใจง่าย ๆ ได้ 3 ส่วน ส่วนแรกเป็นส่วนที่เอาชีวิตรอด ส่วนนี้จะเป็นส่วนที่ทำงานอัตโนมัติ เกินใจสั่ง เช่น การหายใจ เราไม่ต้องจดจ่อกับการหายใจเราก็หายใจ ส่วนที่สองคือ สมองส่วนอารมณ์ จะทำหน้าที่รับรู้เกี่ยวกับความชอบไม่ชอบ พอใจไม่พอใจ อารมณ์เชิงลบหรือบวก และมีอีกส่วนที่เรียกว่า ส่วนเหตุผล
เพราะฉะนั้นโครงสร้างของสมองส่วนสัญชาตญาณ อารมณ์ และเหตุผลจะทำงานร่วมกันอยู่ตลอดเวลา ถามว่าเด็กคนหนึ่งทำไมถึงโกหก ในทาง interpersonal neurobiology ก็จะบอกว่า เมื่อไรก็ตามที่เรารู้สึกไม่มีตัวตน ไม่ใช่คนสำคัญ ไม่มีความสามารถ แปลว่าเราจะเสีย self แล้วเมื่อไรที่เราเสีย self กลไกป้องกันตัวจะทำงาน เมื่อนั้นสมองส่วนเหตุผลจะหมดสิทธิ์ทำงานทันที เพราะสมองทำงานได้ทีละหนึ่ง mode ใหญ่ ๆ เมื่อไรที่เราเสีย self เราจะใช้กลไกปกป้องตัวเอง (defend mechanism) สู้ (fight) ถอย (flight) สมยอม (freeze) และเมื่อนั้น EF (Executive Functions) หรือสมองส่วนเหตุผลที่บริหารจัดการอารมณ์ วางแผน ตัดสินใจ และแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผลจะทำงานไม่ได้เลย ซึ่งการโกหกก็เป็นหนึ่งในกลไกป้องกันตัวเองแบบถอย หรือหลีกหนี
พอเราเข้าใจโครงสร้างและกลไกการทำงานของสมองแล้ว ทีนี้เราต้องมาดูต่อว่า
เขาเสีย self เพราะอะไร เพราะความสัมพันธ์นั้นมันไม่ปลอดภัย มันไว้ใจไม่ได้ไม่มั่นใจว่าถ้าพูดตรง ๆ แล้วคนอื่นจะยังรักเราอยู่ไหม ให้อภัยหรือเปล่า เลยต้องโกหก
ถ้าจะแก้พฤติกรรมนี้ในระยะยาว ต้องทำให้ความสัมพันธ์ที่มีกับเขาไปสร้างความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย ไว้ใจได้ แม้เขาจะโกหก ถ้าเขาสารภาพก็สามารถให้อภัยได้ ไม่ตีตราว่าคนนี้เป็นเด็กขี้โกหก ไว้ใจไม่ได้ ถ้าเราไม่เข้าใจตรงนี้ สิ่งที่เรียกว่าความเคยชินของพวกเราจะถูกผลักออกมา สมมติว่าลูกขโมยเงินแล้วโกหกก็แล้วกัน พอผ่านไปปีหนึ่งเงินหายอีกครั้ง ทีนี้ในใจเราคิดอะไร แบบอัตโนมัติเลยเราอาจจะคิดว่าลูกเราเอาไปหรือเปล่า มันอาจจะใช่หรือไม่ใช่ แต่ประเด็นคือ เราคิดไปก่อนแล้ว เราปักใจเชื่อว่าใช่แน่ ๆ และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป นั่นคือ self ของเด็กจะถูกทำลายหรือไม่ทำลายขึ้นอยู่กับความคิดของเรา
การจะสร้างความสัมพันธ์ที่ทุกคนไว้ใจกันได้ มันไม่ใช่แค่พูดว่า ‘เฮ้ย มันต้องไว้ใจกัน’ แต่มันอยู่ที่การปฏิบัติตัวในความสัมพันธ์ว่า เราจะทำความสัมพันธ์ยังไงให้มันมั่นคงตลอดไป ไว้ใจได้ หยุดพวกความเคยชินให้ทัน เพื่อให้มีพื้นที่ให้ self เติบโต เมื่อไรที่ มี self EF ก็จะทำงานได้ดี
ไม่ต้องสอนเลยเหรอว่า “ต่อไปอย่าโกหกอีกนะ”
ถ้าเขายังอยู่ในอารมณ์กลัว เขาจะยอมรับแล้วบอกว่าจะไม่โกหกอีก อันนี้คือกลไกการป้องกันตัวแบบสมยอม เด็กยอมเพราะกลัวพ่อแม่จะไม่รัก มองเขาเป็นเด็กไม่ดี ตรงนี้มันไม่ได้เกิดจาก EF ของตัวเด็กเอง ไม่ใช่การกำกับตัวเองว่า ต่อไปนี้ฉันจะเป็นเด็กที่กล้าพูดความจริง แต่มันมาจากการป้องกันตัวจากความกลัวว่าพ่อแม่จะไม่รัก
กลไกการป้องกันตัวคือการควบคุมโดยปัจจัยภายนอก มันไม่ได้เกิดจากจิตสำนึกที่จะกลับตัวกลับใจ และปรับพฤติกรรมของตัวเอง ประเด็นก็คือ ถ้าครั้งหน้าเขาชั่งน้ำหนักว่าสิ่งที่เขาทำอาจทำให้พ่อแม่ไม่รัก ซึ่งวันนึงอาจจะไม่เป็นไรแล้วพ่อแม่ไม่รักก็ได้ เขาก็จะยอมนะที่จะโกหกใหม่อีกครั้ง แต่ถ้าเด็กคนหนึ่งกลับใจจะไม่โกหกอีกโดยใช้ EF มันจะกลับตั้งแต่ ฉันจะเป็นเด็กที่กล้าพูดความจริง
กลไกการป้องกันตัวมันมีข้อดีบ้างไหม
ถ้าจะพูดถึงกลไกป้องกันตัวในแบบน่ารักหน่อย มันคือไหวพริบ อยู่เป็น และอันที่จริงมันก็สำคัญพอ ๆ กับ self นั่นแหล่ะ เราต้องมีเพื่อปกป้องตัวเองในบางสถานการณ์ แต่ไม่ใช่ใช้ทั้งชีวิตกับมัน ไม่ใช่อาศัยกลไกนี้เพื่อมีชีวิตรอดแล้วจะต้องพึ่งพามันตลอดไป เราจะใช้มันต่อเมื่อไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัย ไว้ใจใครไม่ได้
ก็คือ ถ้าเราใช้กลไกป้องกันตัวแบบไม่รู้ตัวก็คือถูกครอบงำโดยกลไกป้องกันตัว
เราจะรู้ได้ยังไงว่าเราใช้กลไกป้องกันตัว หรือ ใช้ self กันแน่
คำถามแรกคือ เรามีความสุขหรือเปล่า
ยกตัวอย่างคุณแม่ของเรา ความสุขของเขาคือความสุขของสามี ของลูก ของหลาน ถ้าเขาตื่นมาทำอาหาร เตรียมกับข้าว แล้วคนกินเอร็ดอร่อย เติมข้าว หรือหลานพูดว่า ‘คุณย่า มันหอมมากเลย’ นั่นคือความสุข นั่นคือมาจาก self แต่ถ้าเป็นกลไกป้องกันตัว คือมันไม่ได้มาจากความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง แต่ทำเพราะปัจจัยที่เกียวข้องกับความต้องการของคนอื่นๆ เช่น ฉันไม่อยากทำแต่ฉันต้องทำ เพราะเป็นหน้าที่ เพราะมีใครบังคับให้ทำ ทำไปบ่นไป ถ้าฉันไม่ทำสิ่งนี้เขาจะไม่รักฉัน ทำให้นะแต่โกรธไปด้วย นั่นแหละคือการถูกกลไกป้องกันตัวควบคุม คือแทนที่จะใช้กลไกนี้อย่างรู้ตัว ใช้เมื่อไม่ปลอดภัย แต่เอามาใช้กับความสัมพันธ์ปกติแบบไม่รู้ตัว นั่นคือเราไม่ได้ใช้กลไกปกป้องตนเอง แต่กลายเป็นกลไกปกป้องตัวเองใช้เรา คือครอบงำทั้งความคิด และการกระทำจนเป็นนิสัย
คำถามที่สองคือ ต้นตอความคิดนี้มาจากไหน
สมมติลูก 5 ขวบกินข้าวไป 5 คำแล้วบอกอิ่ม พ่อแม่ส่วนใหญ่จะพูดว่าอะไร ‘กินให้หมดสิ’ มีคู่มือเลี้ยงลูกเล่มไหนบอกให้พูดว่า ถ้าลูกกินไม่หมด ต้องกินให้หมด ให้กำหนดให้กินอีก 5 คำ หรือแกล้งนับผิด สิ่งเหล่านี้มันไม่มีในตำรา แต่ทำไมความคิดเหล่านี้ถึงอยู่ในหัวเรา มันมาได้ยังไง
สังคมมีกรอบว่าพ่อแม่ที่ดีต้องหนึ่ง สอง สาม สี่ การที่ลูกไม่กินข้าวให้หมดถือว่าเป็นพ่อแม่ที่ไม่ดี อันนี้ต้องถามกันอีกครั้งว่าต้นตอความคิดแบบนี้มันจริงไหม
Building Self
ตัวตนสร้างได้ตั้งแต่แบเบาะ
self เริ่มสร้างได้ตั้งแต่เมื่อไร
การสร้าง self เริ่มต้นตั้งแต่ขวบปีแรกเลยจนถึงตลอดชีวิต เพราะมันเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทั้งชีวิต แต่ถ้าจะถามว่าช่วงไหนสำคัญ ก็คือช่วงวัยเด็ก
เด็กแรกเกิดจะยังไม่รู้ว่าตัวเองมีความรู้สึกนึกคิดเป็นยังไง พัฒนาการของ self จะอาศัย 3 ขวบปีแรกของชีวิต ขั้นที่ 1 จะเกิดขึ้นประมาณช่วงอายุ 6 เดือน ขั้นนี้คุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เป็นคนแรกที่บัญญัติความให้เราเข้าใจได้ง่าย ๆ ว่า เป็นขั้น ‘แม่มีอยู่จริง’ วัตถุแรกที่เด็กคนหนึ่งรู้ว่ามีอยู่จริงคือ ‘แม่’ แม่ในที่นี้หมายถึงผู้เลี้ยงดูหลัก อาจเป็นพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย หรือใครในสถานสงเคราะห์ ไม่ใช่แค่แม่ผู้ให้กำเนิด เด็กวัยนี้ต้องพึ่งคนอื่นเพื่อให้รับรู้ได้ว่าตัวเองมีตัวตนอยู่ ลูกคลอดออกมาวันแรก ลูกไม่รู้หรอกว่านี่คือพ่อจ๋า แม่จ๋าของหนู
ขั้นที่ 2 เกิดขึ้นตอน 8 เดือน เขาเรียกว่า ‘ขั้นสร้างความผูกพัน’ และขั้นที่ 3 เกิดขึ้นตอน 2 ขวบ เสร็จสิ้นตอนประมาณ 3 ขวบ อันนี้เรียกว่า ‘ขั้นแยกตัวตนออกจากวัตถุ’ ยืมคำหมอประเสริฐอีกรอบว่า ขั้น ‘หนูมีอยู่จริง’ ในขั้นนี้ลูกจะรู้ว่าหนูกับพ่อแม่เป็นคนละคนกัน มีความคิดคนละอย่างกัน เด็กวัยนี้พฤติกรรมจะไม่ทำตาม จะทำต่าง
เคยได้ยินคำว่า terrible two หรือ terrible three ไหม ฝรั่งเขาว่าช่วงสองสามขวบนี้พฤติกรรม terrible คือแย่มาก แต่ในมุมมองของเราคือ terrific เยี่ยมไปเลย ถ้าเด็กคนหนึ่งรู้ว่าต้องตะเบ็งเสียง ต้องต่าง ต้องพูดว่า ‘ไม่’ แปลว่าตัวตนเขามาละ และไม่ใช่แค่นั้นนะ มันหมายถึงพ่อแม่ต้องปลอดภัย ไว้ใจได้ เขาถึงได้กล้าแตกต่าง ไม่หันไปพึ่งกลไกป้องกันตัว ไม่สมยอมเพราะกลัวแม่ตี กลัวแม่ดุ หรือไม่สู้ ไม่เถียงกลับ ไม่หลีกหนีด้วยการโกหก เก็บกด แอบทำ หรือโทษคนอื่น
ทำอย่างไรให้ self ของลูกแข็งแรง
ถ้าทำได้ ดีที่สุดให้ทำ ช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต ช่วงนั้นลูกยังพูดไม่ได้ บอกความต้องการของตัวเองไม่ได้ เราสนับสนุนได้โดยการตอบสนองความต้องการพื้นฐานทางร่างกายและจิตใจ ฟังลูก ลูกร้องไห้อย่างนี้หมายความว่ายังไง ลูกมีท่าทางอย่างนี้หมายความว่ายังไง
เราต้องรับรู้ก่อนว่าทุกคนต่างมีตัวตน เด็กเขามีตัวตนของตัวเอง และกำลังสร้างตัวตนของตัวเอง เราควรเรียนรู้ที่จะฟัง ฟังเยอะ ๆ เขาอยากทำอะไร อยากเป็นคนยังไง คำถามเหล่านี้สำคัญ เพราะเราจะสามารถหาแนวทางได้จากการพูดคุยเหล่านี้ สมมติลูกบอกว่าอยากเป็นคนเก่ง เราก็ลองตั้งคำถามว่า มันมีกี่วิธีที่หนูจะเป็นคนเก่ง ลองทำดูซิ หากเขาทำไปปุ๊บยังไม่เก่ง ก็ให้เขาซ้อมต่อ แล้วเราก็คุยกับเขาว่า ไม่ใช่ว่าหนูไม่เก่งนะ เพียงแต่หนูยังฝึกฝนไม่พอ ลองพูดว่า ‘ไม่เป็นไรหรอก ลองใหม่ได้’ กับเขาดู แล้วก็ต้องคิดว่าไม่เป็นไรจริง ๆ เพราะเขากำลังฝึกอยู่ สิ่งหนึ่งที่พวกเราที่เป็นผู้ใหญ่ติดกันมาก ๆ จากความเชื่อและชินคือตีตรา ย่ำยี ทับถม ซ้ำเติม ถึงจะทำให้มีแรงฮึดแล้วได้ดี อันนี้ไม่จริงเสมอไป
เด็กมี self อยู่แล้ว พ่อแม่หรือคนที่เลี้ยงดูให้พื้นที่เวลาและโอกาส ให้เด็กได้สร้าง self ของตัวเองให้สำเร็จ
พูดอย่างนั้นก็ได้ เพราะว่าการให้โอกาสก็คือวิธีการสร้าง self ให้ลูก ถามว่าลูกพัฒนาเองได้ไหม ถ้าไม่มีใครอยู่ตรงนั้นเลยมันก็ไม่ได้ แต่ถ้ามีใครสักคนอยู่เคียงข้างคอยประคอง มันก็จะทำให้ self ถูกสร้างได้ เหมือนกับการว่ายน้ำ จริง ๆ เด็กก็ว่ายของเขาเอง แต่ระหว่างทางกว่าที่จะว่ายเองได้ก็ต้องมีผู้ช่วยฝึก กับ self ก็เหมือนกัน ถ้าเราอยู่เคียงข้าง ฟัง ให้โอกาส อย่างนี้เขาก็จะมี self มากขึ้นเรื่อย ๆ
การที่ความรู้สึกนึกคิดของเรามีคนได้ยิน รับฟัง ยอมรับคือการสร้าง self ต่อเนื่องไปตลอดชีวิต และเมื่อให้โอกาสลูกได้เรียนรู้ โอกาสนั้นจะกลายเป็นประสบการณ์ที่ลูกจะนำไปใช้และเกิดการตัดสินใจใหม่ที่ดีขึ้น
คนส่วนมากสับสนระหว่าง self กับ self-confidence (ความมั่นใจในตัวเอง)
self กับ self-confidence เป็นคนละอย่างกัน คนขี้อายไม่ใช่คนไม่มี self นะ คนเรามี self ก็ขี้อายได้ ถ้าคนนั้นยอมรับว่า self ของเราเป็นคนขี้อาย เราก็จะหาวิธีให้เราอยู่บนโลกนี้ได้อย่างมีความสุขโดยการที่เราเป็นคนขี้อายนั่นแหล่ะ เช่น เราอาจจะต้องการเวลามากกว่าคนอื่นสักหน่อย เพื่อเตรียมความพร้อมสักหน่อยแล้วค่อยลงมือทำ ถ้ายอมรับ self ตัวเองแบบนี้แล้วหาวิธีแบบนี้ อย่างนี้คนขี้อายก็มี self-confidence ได้เหมือนกัน ขอแค่มีคนเข้าใจ เพื่อให้เขาเข้าใจและไม่ปิดกั้น self ของตัวเอง
ในขณะเดียวกัน คนที่ดูมั่นใจในตัวเอง บางทีก็ไม่ได้มั่นใจในตัวเองนะ กลัวว่าคนอื่นจะมาโจมตี มีบุคลิกแบบไม่มั่นใจ เลยต้องปกป้องตัวเองด้วยการสร้างความมั่นใจขึ้นมา อันนี้ก็ไม่ได้ใช้ self ใช้ defend mechanism
ที่นี้พอมาเรื่องการเป็นพ่อแม่ อย่างหนึ่งเลยคือ เมื่อลูกของเราไม่มั่นใจแปลว่าเขาเริ่มไม่มั่นคง ถ้าเราสามารถพูดกับเขาได้ว่า ถ้าหนูอายหรือ หนูเขิน หนูไม่จำเป็นต้องทำอันนี้ก็ได้นะ โอกาสที่เด็กคนนี้จะเข้าใจ self ตัวเองและมี self-confidence ก็มีมากกว่า
(Re)buiding self
แม้ถูกกระหน่ำทำลาย ตัวตนถูกสร้าง (ใหม่) ได้เสมอ
เราพูดถึงการสร้างไปแล้ว มาดูที่การทำลายบ้าง มีอะไรบ้างที่ทำลาย self
คำตอบเชื่อมโยงกับก่อนหน้านี้ ที่บอกว่าการให้โอกาสก็คือวิธีการสร้าง self ให้ลูก การทำลายคือการไม่เปิดโอกาสให้เขาได้สร้างตัวตน การที่เรามองข้ามไม่ฟังความต้องการของลูก ไม่ปล่อยให้ลูกทำอะไร คิดอะไรด้วยตัวเองก็ถือเป็นการทำลาย self แล้ว
อีกอย่างคือ ความชินและความเชื่อของเรา เมื่อเด็กทำพลาด พ่อแม่เข้าไปช่วยแก้ปัญหาทันทีตามความเคยชิน ทำให้เขาไม่มีโอกาสเรียนรู้ และเกิดการตัดสินใจใหม่ กลับมาพัฒนา แล้วเขาจะผิดพลาดเรื่องเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ขอบเขตของการปล่อยให้ ‘พลาดเพื่อการเรียนรู้’ กับ ‘พลาดแล้วแย่เลย’ แค่ไหนถึงจะพอดี
มันขึ้นอยู่กับเรื่อง เรื่องบางเรื่องปล่อยให้พลาดไม่ได้ ถ้าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย กฎของสังคม เรื่องที่ทำให้ตัวเองหรือคนอื่นเจ็บ เดือดร้อน ตาย นั่นคือขอบเขต นอกเหนือจากนั้น ปล่อยให้พลาดได้
มีครั้งหนึ่งเคยสอนทักษะชีวิตให้เด็กปฐมวัย คือการเตรียมพร้อม การเตรียมความพร้อมไม่ใช่พาเขาไปทำทุกอย่าง แต่เป็นการตัดสินใจของเขาเอง ราว 20 นาทีก่อนไปเล่นในสนามเด็กเล่น เราจะถามว่า ไหนใครอยากดื่มน้ำ ใครอยากเข้าห้องน้ำบ้าง หรือใครพร้อมแล้วรออยู่ที่ห้องเรียน ไม่ต้องไปไหน มันจะมีเด็กที่ใจอยู่ที่สนามเด็กเล่นแล้ว บอกไม่ปวด ไม่หิวน้ำ แล้วไม่ยอมไป เราก็ถามย้ำว่าแน่ใจนะ เพราะการเตรียมความพร้อมไม่ได้ถามถึงปัจจุบัน แต่เป็นการทำให้เขาเตรียมคิดถึงอนาคต
พอไปที่สนามเด็กเล่น ผ่านไป 5 นาทีแล้วเด็กคนนั้นวิ่งกลับมาบอกว่า ปวดฉี่ ถามว่าเราทำยังไง คิดว่าครูส่วนใหญ่ทำยังไง หนึ่ง ‘บอกแล้วใช่ไหม’ แล้วตามด้วยอีกหลายอย่าง หรือสอง พาไปฉี่ สองข้อแรกนี้เราทำด้วยความชินความเชื่อ พูด ดุ สั่งสอน แต่พาไปอยู่ดี มีอีกข้อคือสามคือไม่พาไป ปวดฉี่เหรอ รออีก 15 นาทีนะ จะเล่นรอเพื่อนหรือรอครูก็ได้ ถึงเวลาค่อยไปฉี่ นี่คือขอบเขต ไม่ให้ แต่ไม่ซ้ำเติม
แล้วอย่างนี้มีกรณีที่ฉี่ราดไหม มีแน่นอน คำถามคือฉี่ราดได้ไหม อายได้ไหม เขาจะรับผลกระทบจากการตัดสินใจได้ไหม เราเป็นผู้ ‘ประคอง’ ไม่ใช่ผู้ ‘ปกครอง’ สิ่งที่เราทำได้คือ อยู่ข้างเขา ฉี่ราดก็ราดไป บอกเขาว่า วันนี้ตัดสินใจพลาด ไม่เป็นไร พรุ่งนี้ลองใหม่นะ
การปล่อยให้เด็กฉี่ราดอาจจะไม่ถูกในสายตาคนอื่น แต่สำหรับคนเป็นครูแบบเรายอมนะ ถ้าเด็กคนหนึ่งฉี่ราด แล้วพรุ่งนี้เขาเกิดการตัดสินใจที่ดีขึ้น นี่ไม่ใช่ความผิดพลาด นี่คือบทเรียนที่เราผ่านไปด้วยกัน แต่เราต้องอยู่ข้างเขานะ ไม่ใช่ให้เขาเผชิญเรื่องนี้คนเดียว
ดังนั้น พูดได้อีกอย่างว่า ขอบเขตอยู่ที่ว่าเป้าหมายเราจะสอนเขาเรื่องอะไร เราต้องชัดเจนเรื่องนั้นก่อน
ตัวตน หรือ self ที่ถูกทำลายไปแล้ว สายไปไหมที่จะซ่อม หรือ สร้างใหม่
เปลี่ยนยาก แต่เปลี่ยนได้ เราแค่กลับสู่วงจรของความสัมพันธ์ที่ดี คือวงจรที่มีปฏิสัมพันธ์ ที่ผ่านมาลูกอาจเป็นทุกข์จากการสั่ง การบอก การตัดสิน การตีตรา ถ้าจะเริ่มต้นใหม่ เราอาจเริ่มจากช่วยลูกคิดและตั้งเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งอาจเป็นเป้าหมายอย่างกว้าง ส่วนในรายละเอียด เราไว้ใจให้ลูกตัดสินใจเอง ส่วนที่สองคือ เราต้องมาสะท้อนผลร่วมกันทีหลัง ทำได้ชม ทำไม่ได้ลองใหม่หาวิธีอื่น
ส่วนที่สามสำคัญ เราชมลูกเมื่อลูกทำได้ดี แต่พ่อแม่อย่าลืมชมตัวเอง คำชมเหล่านี้คือการเก็บออม self ของเราสะสมไว้ เผื่อวันที่เกิดความผิดพลาดแล้วเราสงสัยว่า ความผิดพลาดนี้มันเป็นของตัวเราหรือลูก เราจะได้จำได้ว่าเราก็เคยทำสิ่งที่ถูกต้องเช่นกัน
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องทำใจไว้ก่อนว่าอะไรที่ทำจนเป็นภาพจำของลูกไปแล้วมันเปลี่ยนยาก และที่สำคัญ สำหรับเด็กบางคนเขาอาจไปสร้าง self ใหม่ในความสัมพันธ์ใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่กับพ่อแม่ เรื่องนี้อาจจะเป็นปมติดตัวเขาก็ได้ เขาก็จะไปแก้ในความสัมพันธ์อื่น เพราะฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องทำใจว่า มันใช้เวลาจนกว่าเด็กคนนั้นจะมั่นใจว่า เด็กคนนั้นที่เคยเสีย self จะไม่กลับไปเป็นแบบเดิมอีก
พ่อแม่ทำผิดได้ไหม การเลี้ยงลูกมีผิดมีถูกไหม
การเลี้ยงลูกมีถูกผิด การเลี้ยงลูกที่ผิด เช่น คุกคามทางกาย ปล่อยปละละเลยทางใจ แต่ถามว่าอะไรถูกที่สุด มันขึ้นอยู่กับความสุขและความเข้าใจ ถ้าเรามัวแต่ตัดสินการเลี้ยงลูกว่ามีผิดหรือถูก นั่นแปลว่าเราเลี้ยงลูกผิดทั้งชีวิตเลย เพราะโอกาสผิดพลาดมีมากกว่าสำเร็จ เราต้องมองใหม่ว่า ชีวิตคือการเรียนรู้ การเลี้ยงลูกก็คือการเรียนรู้ เราทำให้ดีขึ้นได้เสมอ
ประโยคสุดท้ายที่อยากฝากไว้คือ เราไม่ต้องเป็นเป็นพ่อแม่ที่ดีที่สุด แค่เป็นพ่อแม่ที่ ‘ดีพอ’
บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย ‘ชวนพ่อแม่ช่วยลูกสร้าง self กับ SEARCH model’ สนับสนุนโดย สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โดยมีงานวิจัย กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ พอดแคสต์ และหนังสือ โดยสามารถติดตามรายละเอียดได้ทางเพจ mappa