- สำหรับเด็กปฐมวัย (0-8 ปี) การเล่นสำคัญกว่าการเรียน แต่เราเข้าใจผิด คิดว่าการเล่นคือเรื่องไร้สาระ และการเรียนคือเรื่องมีสาระ
- การปีนต้นไม้ คือการเล่นและแบบฝึกหัดชีวิตที่ดีอย่างหนึ่ง ในข้อแม้ว่าพ่อแม่ต้องปล่อยจริง ไม่กำกับอยู่ข้างๆ
- สำคัญที่สุดคือ การเล่นจะตอบคำถามเด็กๆ ได้ว่า ฉันเกิดมาทำไม
“เราถามพ่อแม่วันปฐมนิเทศว่าตอนเด็กๆ ใครเคยปีนต้นไม้บ้าง แทบไม่มีคนยกมือเลย แต่พอถามว่าใครเรียนพิเศษเยอะบ้าง ยกมือเป็นแถวเลย”
‘ครูก้า’ กรองทอง บุญประคอง ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก เล่าบรรยากาศที่เกิดขึ้นวันนั้น ณ โรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย) ซึ่งครูเป็นผู้ก่อตั้ง
พ่อแม่รุ่นปัจจุบันหลายคนจึง ‘เล่น’ ไม่เป็น ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าควรจะเล่นกับลูกอย่างไร พาไปเข้าคอร์สฝึกการเล่นอีกต่างหาก รวมถึงไม่รู้เรื่องสำคัญว่า การเล่นคือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด
“ยิ่งเด็กเล่นมากเท่าไหร่ ยิ่งรักษาพลังที่มีแต่กำเนิดของเขา แต่การหยุดเล่นคือหยุดพลัง เพราะมันไม่สนุกแล้ว ชีวิตในโลกใบนี้ไม่เห็นสนุก”
นำมาสู่คำถามที่เด็กๆ ถามบ่อยขึ้นและถามด้วยอายุที่น้อยลงเรื่อยๆ ว่า ฉันเกิดมาทำไม
นิยามของเด็กปฐมวัย ทำไมถึงเป็น 0-8 ปี
นิยามของเด็กปฐมวัย มีการขยับอายุมาเรื่อยๆ ถ้าอธิบายแบบง่ายที่สุดคือ ปฐมวัยคือวัยที่เขาจะเติบโตเป็นคนอย่างไรก็วัยนี้ ซึ่งมันไม่ใช่แค่ความเชื่อ
เด็กในช่วงวัยนี้ เป็นวัยแห่งรากฐานของชีวิต ต่อไปเขาจะได้เปิดมุมมองต่อตนเอง ต่อโลกข้างนอก ต่อคนอื่น ต่อสังคมอย่างไร เขามีความสามารถไหม เขารู้สึกดีกับตัวเองมากน้อยแค่ไหน เขาพบว่าตัวเองทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน ก็จะปลูกฝังแน่นอยู่ในวัยนี้แหละ
วัยนี้จึงถือว่าสำคัญที่สุดที่จะเป็นฐานสำหรับวัยอื่น แต่พอปัจจุบัน มีความรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์เข้ามาสนับสนุน และมองเห็นว่าสมองของมนุษย์เป็นตัวขับเคลื่อนวิธีคิด วิธีการทำงาน วิธีที่เขาจะควบคุมไม่ว่าจะความคิด พฤติกรรม รวมถึงอารมณ์ หรือจะเรียกว่าวุฒิภาวะของอารมณ์ก็ได้ สิ่งเหล่านี้จะก่อตัวและพัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วง 0-8 ปี จนกลายเป็นตัวเขา
0 คือนับเดือน หรือตั้งแต่ในท้อง
เด็กจริงๆ มีชีวิตตั้งแต่ปฏิสนธิมา จะเริ่มจากเซลล์เล็กๆ เรื่อยๆ จนกระทั่งเขาเริ่มรับรู้อะไรบางอย่างได้ เราจะเห็นว่าบางคนพยายามลูบท้อง คุยกับลูกตั้งแต่อยู่ในท้อง นั่นมันไม่ใช่แค่ความเชื่อแบบโบราณแล้วว่าเราพูดกับลูกแล้วลูกจะได้ยิน แต่ว่ามีการทดลองทางวิทยาศาสตร์พบว่าเด็กมีการตอบสนองต่อเสียงที่พ่อแม่พูดกับเขา นั่นหมายความว่า เด็กสามารถรับรู้ได้แล้ว การรับรู้ก็คือการเรียนรู้ เราจะเรียนรู้ได้ดีเราต้องรับรู้ได้ดีก่อน
พอรับรู้เข้ามาแล้ว ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ก็จะบอกว่า มันจะส่งข้อมูลไปที่สมองเกิดการประมวลผล เชื่อมโยงกับประสบการณ์เดิมและสั่งการให้ตอบสนอง เมื่อเราพูดเขาจะมีอาการดิ้น หรือบางทีพอเราร้องเพลงเขาเริ่มสงบ แต่อันนั้นเป็นสิ่งที่อยู่ข้างใน พอออกมาข้างนอกจริงๆ เราพบว่าเด็กมีการตอบสนองต่อการรับรู้ และพยายามที่จะสื่อสารกับเรามากขึ้น ตั้งแต่การร้อง ส่งเสียง เพื่อจะบอกว่า ช่วยด้วย หนูหิว ช่วยด้วย แฉะแล้ว เป็นต้น เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้วกระบวนการที่มนุษย์เรารับรู้และเรียนรู้ได้เกิดขึ้นตั้งแต่อยู่ในท้องแล้ว
ทีนี้ดูว่ามันขึ้นได้สูงสุดในความสามารถของมนุษย์เรา ที่จะเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว ถึงวัยไหน ถ้าไปดูกราฟของสมองก็จะพบว่า ตั้งแต่แรกเกิดการพัฒนาของสมองจะพุ่งปรี๊ดไปจนถึงประมาณ 7-8 ปี ถ้าในช่วงอายุนี้เด็กมีประสบการณ์ที่มีคุณภาพสอดคล้องกับพัฒนาการของวัยก็เท่ากับว่าเด็กจะมีต้นทุนสมองที่ดีเอาไว้ใช้ตลอดชีวิต ที่พยายามให้คำนิยามว่าถึง 8 ปีเพราะการจัดการศึกษาให้กับเด็กเล็กที่เราเรียกว่าเด็กอนุบาล เราคิดว่าเขายังเด็กอยู่เราเลยยอมว่า ไม่ต้องทำอะไรเยอะ ไม่ต้องเรียนรู้เยอะ แต่พอหนูโตขึ้นชั้นประถมปั๊บ ต้องเรียนเป็นวิชาการแล้วนะ มันเลยสร้างปัญหาให้กับเด็กปฐมวัย สร้างปัญหาให้กับรากฐานที่ยังแข็งแรงไม่เต็มที่
เมื่อก่อนถ้าเกิน 5 ขวบ หรือ 6 ขวบ เราแปลว่าหนูโตแล้ว ต้องพร้อมเรียนวิชาการ มันก็เกิดการก้าวกระโดด แต่เด็กกระโดดขึ้นไม่ไหว หรือจะเรียกว่าบันไดที่ชันจนเด็กรู้สึกว่า การเรียนมันเป็นเรื่องที่ยาก เรามอบโจทย์ที่ยากเกินวัยเขาไป
ดังนั้นเพื่อให้เราจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ทำให้เด็กยังคงมีความสุขและสนุกที่จะเรียนรู้ ถึงแม้ว่าจะมีความยากสลับซับซ้อนขึ้น แต่ถ้าความยากนั้นยังอยู่ในระดับที่เด็กประสบความสำเร็จได้ด้วยตนเอง เด็กก็จะเห็นเป็นความท้าทาย การกำหนดเด็กปฐมวัยไว้ที่ 0-8 ปีเพื่อเตือนสติคนให้รู้ว่า ระหว่างเด็กอนุบาลกับเด็กประถม มันต้องการรอยเชื่อมต่อที่เนียนจนเด็กรู้สึกว่า เขารู้สึกดีกับตัวเองว่าเขาสามารถเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี
เราไม่ควรจะไปทำลายโอกาสของเขาในการที่จะมีประสบการณ์คุณภาพ เด็กต้องการประสบการณ์ผ่านการเล่น ถ้าเราบอกว่า เด็กปฐมวัยจบแค่ 5 หรือ 6 แสดงว่า เด็กเกิน 6 ปีขึ้นไปจะไม่ได้รับการเรียนรู้ผ่านการเล่นแล้ว ต้องนั่งเรียนแบบผู้ใหญ่แล้ว ก็ต้องพยายามทำความเข้าใจกันใหม่ว่า เด็กยังต้องการการเล่นอยู่นะ
สำหรับบางคน การเล่นสมัยก่อนมาพร้อมกับความรู้สึกว่า ฉันต้องทำงานให้เสร็จก่อนถึงจะเล่นได้ หรือการเล่น มันอาจเป็นความผิดอะไรสักอย่าง
ทั้งหมดทั้งหลายเพราะเราเข้าใจผิด เราคิดว่าการเล่นคือเรื่องไร้สาระ และการเรียนคือเรื่องมีสาระ เรารักและหวังดีต่อเขา เพราะฉะนั้นเราอยากให้สิ่งที่ดีที่สุด เราเชื่อว่า ถ้าหนูมีความรู้เยอะ ชีวิตหนูจะดี เราจึงบอกว่า ลดการเล่นลง มาเรียนเยอะๆ จนในที่สุด อย่าเล่นเลยลูกมาเรียนดีกว่า ยิ่งหนักเข้าไปเรื่อยๆ ทุกวันๆ เด็กไม่มีโอกาสเล่นเลย ไม่มีโอกาสแม้กระทั่งพักผ่อนด้วย นอกจากจะให้เด็กเรียนในชั่วโมงเรียนแล้ว เรายังพาเด็กไปเรียนพิเศษในวันหยุดที่เขาควรจะได้หยุดพัก
ถ้าพูดแบบชาวบ้านคือ ลืมถามใจเด็กว่า เด็กอยากจะไปเรียนเยอะๆ อย่างที่พ่อแม่หวังดีหรือเปล่า พอเราไม่เข้าใจเขา ตรงนี้มันจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ที่เสียหาย
ถ้าแอบพูดเล็กๆ ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองเราตอนนี้ จริงๆ ก็เป็นผลหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการที่เรารักและหวังดีกับเขา นึกว่านี่คือสิ่งที่หวังดีแล้ว เชื่อเถอะ เชื่อพ่อแม่ เชื่อครูเถอะ หนูจงเรียนเยอะๆ แล้วหนูจะได้ดี แต่เราลืมฟังเสียงเด็กๆ ไม่ได้ฟังเสียงเขาเลยว่า จริงๆ ธรรมชาติเขา เขาอยากเล่น
แล้วเราก็ลืมนึกถึงทฤษฎีที่ว่า จริงๆ แล้วเด็กวัยนี้ การเล่นก็คือการเรียน มันก็เลยเกิดความรู้สึกกดดันเกิดขึ้นในใจ พร้อมๆ กับที่เกิด mindset หนึ่งขึ้นมาในใจของเด็กๆ ว่า ผู้ใหญ่คือพวกที่ไม่เข้าใจฉัน ดังนั้น ความรักที่เราสื่อสารให้เขามันสื่อไม่ถึงใจหรอก เพราะว่าเราไม่เคยฟังเขา เราไม่เคยคุยกับเขา เราได้แต่คิดว่า เชื่อแม่เถอะ เชื่อพ่อเถอะ เชื่อครูเถอะ ถ้าหนูไม่เชื่อ เราก็จะเผลอใช้พลังของผู้ใหญ่ซึ่งในมุมมองของเด็กก็รู้สึกว่า ตัวใหญ่ๆ แบบนี้ใช้อำนาจบังคับฉัน วันหนึ่งไม่ไหว ฉันก็ต้องระเบิด
นี่เป็นเรื่องปกติธรรมชาติมาก เป็นปัญหาของการสื่อสาร และความสัมพันธ์ของครอบครัวที่โฟกัสของผู้ใหญ่ไปเจาะที่ความกังวลของเรา และอยากให้ลูกได้ดี ทั้งหมดเป็นเรื่องความรักทั้งสิ้น แต่ความรักสื่อสารไม่ถึงกัน
ถามแบบกำปั้นทุบดิน แล้วความหมายจริงๆ ของการเล่นคืออะไร
คือการเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติของเด็ก เด็กเกิดมาพร้อมที่จะเป็นนักเรียนรู้อย่างมาก และมีพลังมากด้วยในการเรียนรู้ เขาเห็นไอ้นี่ก็อยากจะลองไปหยิบจับมันขึ้นมา ลองปาดูซิว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราก็นึกว่าเด็กกำลังทำลายของ แต่จริงๆ นั่นคือการเล่น การทดลอง เห็นดินก็อยากขุด เราก็รู้สึกว่า เด็กนั่งขุดดินมีประโยชน์อะไร ไม่ได้จะไปทำนา ไปเลี้ยงควายซะหน่อย
ถ้าหนูไม่ไปเรียน หนูต้องไปเลี้ยงควายนะ สมัยก่อนจะขู่กันแบบนี้ แต่จริงๆ แล้ว ขณะที่เด็กกำลังขุดดิน เด็กกำลังสงสัยอะไรบางอย่าง กำลังตั้งสมมุติฐานว่าขุดไปลึกแค่ไหนจะเจออะไรนะ หรือบางทีเขาอาจจะคิดว่ามันน่าจะมีอะไรอยู่ใต้ดิน จะใช่อย่างที่เขาคิดไหมนะ แค่อยากจะเรียนรู้ในสิ่งที่ตัวเองสงสัย
เขากำลังใช้ความพยายาม ความมุ่งมั่น ความเพียรและมุมานะ สิ่งเหล่านี้ใช่หรือไม่ที่เราอยากให้เกิดขึ้นติดเป็นนิสัยในตัวเด็ก แล้วมันไม่ได้ใช้แค่ในเชิงการเรียนรู้เชิงวิชาการ แต่ความมุ่งมั่นสงสัยที่อยากจะหาคำตอบให้เจอ อาจจะใช้ในชีวิตการทำงาน ในการที่เราจะเป็นคนหนึ่งซึ่งลุกขึ้นมาดูแลครอบครัวก็ได้ เป็นพลังที่อยากทำอะไรอย่างมุ่งมั่นจนสำเร็จ
ครูเคยอธิบายว่าการเล่นพัฒนาสามด้านด้วยกัน คือ 1. พัฒนา Self 2. พัฒนาทักษะสี่ด้าน 3. พัฒนา EF อยากให้ครูช่วยขยายความว่า การเล่นไปขยายพัฒนาสามทักษะนี้ยังไงบ้าง
ยกตัวอย่างง่ายที่สุด เด็กปีนต้นไม้ ถ้าเด็กปีนต้นไม้ด้วยความไว้วางใจจากผู้ใหญ่ อันนี้วงเล็บไว้ก่อนว่าเป็นเรื่องยาก คือทุกวันนี้เราไม่ค่อยวางใจ ไม่ค่อยเชื่อใจเด็ก ไม่ยอมให้เขามีประสบการณ์ไม่ว่าจะเป็นการลองผิดหรือลองถูกก็แล้วแต่ มันเลยทำให้เด็กขาดโอกาสในการเล่น และขาดโอกาสในการเรียนรู้
ถามข้อแรกว่า เราไปยืนที่ต้นไม้ เราคิดยังไง ที่เราจะปีนขึ้นไป อยากไปให้ถึงกิ่งไหน
อยากไปให้มันสูงๆ?
นั่นคือเป้าของเราเอง ต้องบอกก่อนว่า สิ่งที่กำลังเล่าคือไม่มีผู้ใหญ่ยุ่ง ไปกับกลุ่มเพื่อนกันเอง ยิ่งถ้ามันเป็นต้นมะม่วงที่ปีนขึ้นไปแล้วกินได้ เราจะมีเป้าหมายที่เล็งไว้แล้ว ฉันจะต้องไปถึงเจ้ามะม่วงที่หัวเหลืองๆ ให้ได้ นี่คือเด็กรู้จักตั้งเป้าหมายให้กับตัวเอง
แต่พอจะขึ้นปั๊บ เด็กต้องประเมินตัวเองว่าไหวไหม นี่คือการประเมินตนเอง และถ้าไหว เอาไหม เอา เรากล้าที่จะริเริ่ม ลงมือทำตามที่เราคิดและตั้งเป้าหมายไว้ พลังมหาศาลเลยนะ แล้วก็ลงมือปีนขึ้นไป ใช้พละกำลัง ร่างกายของเรานี่แหละ ปีนขึ้นไป แล้ว เฮ้ย ยังไม่ถึง มีอีกหลายกิ่งหลายทาง เราคิดวิเคราะห์แล้วแหละ ตัดสินใจว่าเอาไงดี ขาเราเท่านี้แขนเราเท่านี้ พละกำลังเราเท่านี้ กับไม้กิ่งนี้ บางกิ่งมันอาจจะเล็กเกินไป หักไหมนะ เราเกิดการคิดวิเคราะห์ไตร่ตรองสถานการณ์ตรงหน้าด้วยตัวของเราเอง และในที่สุด เราสามารถไปจนถึงลูกมะม่วงลูกนั้นได้
เรารู้สึกยังไง yes! ฉันทำได้ นี่คือการค้นพบความสามารถของตนเอง ที่ทำในสิ่งที่ตัวเองตั้งเป้าหมายของตัวเองจนสำเร็จ self มีเลย มีโดยไม่จำเป็นต้องมีใครมากดไลค์ กดไลค์ตัวเองได้เลย นี่คือการประเมินตัวเองแล้ว แม้กระทั่งชมตัวเองก็ได้ ดุตัวเองก็ได้ หรือตัดสินใจเอาการประเมินตัวเองไปทำอะไรอย่างอื่นก็ได้ มันกำลังเหมาะสมพอดีๆ กับตัวเองโดยที่ไม่ต้องมีใครบอก
นี่คือสิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้นในตัวเด็กไม่ใช่เหรอ self และการดูแลตัวเองได้ ถ้าเด็กดูแลตัวเองได้แบบนี้ พ่อแม่นอนตายตาหลับแล้วล่ะ แต่เรานอนเหมือนตายตาไม่หลับตั้งแต่ยังไม่ตาย เพราะเราไม่เชื่อเขา ไม่ยอมให้เขาพิสูจน์ความสามารถของเขาด้วยตัวเอง เพราะเรากลัวเขาตก แล้วเขาจะดูแลตัวเองได้อย่างไรถ้าไม่มีเรา
นี่คือแบบฝึกหัดที่เริ่มสะสมประสบการณ์ไว้ บอกว่ายากแค่ไหนฉันก็จะผ่านไปได้ เด็กจะเก็บประสบการณ์นี้ไปทำอย่างอื่นต่อ แม้กระทั่งโตขึ้น อาจจะต้องทำงาน ทำธุรกิจ หรือทำอะไรก็แล้วแต่ที่จะต้องผ่านสิ่งยากๆ ประสบการณ์ตรงนี้จะบอกเขาเอง เขาจะให้กำลังใจตัวเอง ชมตัวเองก็ได้ว่า เฮ้ย จริงๆ เรามันเจ๋งไม่เบานะ กลัวอะไร ไม่มีอะไรยากหรอก เราเคยผ่านมาแล้วทั้งนั้น อุปสรรคเยอะๆ เราก็ผ่านมาแล้วทั้งนั้น
self แข็งแรง จะได้มาต่อเมื่อพ่อแม่วางใจให้ลูกมีประสบการณ์ พ่อแม่วางใจ ลูกก็จะรู้สึกดีกับตัวเอง พร้อมๆ กับ…บางทีอาจจะไม่รู้สึกในตอนเด็กก็ได้ แต่อาจจะมารู้สึกตอนโตว่า ขอบคุณพ่อแม่ที่ไว้ใจฉัน ทำให้ฉันมีประสบการณ์มาจนทุกวันนี้
การวางใจของพ่อแม่ทำให้เด็กวางใจตัวเอง อีกเรื่องหนึ่งของ self ก็คือ เด็กเขารู้สึกว่าเขามีตัวตน จากที่เรายอมรับในความคิดความรู้สึกของเขา ยอมรับที่เขาเป็นเขา มันไม่ใช่ว่าเราวางใจแบบวางทิ้งจนเขา … นี่ไม่รักไม่ห่วงลูกเลยเหรอ มันมีวิธีการตอบสนองจากผู้ใหญ่ผ่าน การเล่นหรือการใช้ชีวิต เช่น ให้ลูกได้เลือกเอง ทำเอง… เอาเลยลูก แม่เชื่อว่าหนูทำได้ แม่เชื่อฉัน แสดงว่าฉันได้รับการยอมรับว่าฉันมีความสามารถ แม่เห็นว่าฉันมีความสามารถ แม่ยอมให้ฉันทำมันได้ด้วยตัวเอง แล้วทำไมฉันจะไม่เห็น แล้วเราก็จะรักแม่มาก
ครูก้าจะกลับไปฉายภาพต้นไม้อีกครั้งหนึ่ง แต่เป็นการปีนต้นไม้ที่มีพ่อแม่อยู่ด้วย
ได้ยินเขาว่าปีนต้นไม้ดี อะ ฝืนใจ เอาลูกไปปีนต้นไม้ แล้วก็เชียร์อัพลูกด้วย “เอาเลยลูก ขึ้นเลย ไม่ยาก ไม่เห็นยาก ใครๆ ก็ทำได้” โห นี่ยังไม่ทันให้เขาประเมินเลยว่าวันนี้จะเอาประมาณไหนดี
ถ้าแม่บอกว่า “ขึ้นไปถึงนู่น ไม่มีอะไรยาก นั่น เพื่อนก็ทำได้ เห็นไหม” ใจสั่นว่ะ ถ้าเราใจสั่นอย่างนี้แสดงว่า เราไม่เชื่อว่าตัวเราทำได้ แต่แม่บอกว่าทำได้ ไม่เห็นมีอะไรยาก อะ งั้นลอง แต่ลองด้วยใจที่เก้ๆ กังๆ
กำลังจะลอง “จับแน่นๆ นะลูก” คำว่าจับแน่นๆ รู้สึกมันช่างน่ากลัว มือก็สั่น ใจก็สั่น แล้วตกลงในที่สุดจะขึ้นยังไง เพราะแม่ก็เริ่มเอาความเป็นห่วงตามสิ่งที่ลูกกำลังทำอยู่ “ไหวไหมลูก อะ งั้นพ่อช่วยยกขาขึ้นให้” นี่เรายกขาขึ้นเองไม่ได้เหรอ ต้องมีพ่อยกให้
เราเห็นความรัก ความห่วงใยนะ แต่ทำลาย self ขณะเล่นของเด็ก ในที่สุด วันหลังพอลูกจะปีนต้นไม้เองจะมองหา พ่ออยู่ไหน พ่อช่วยหน่อย หนูอยากปีนต้นไม้แต่หนูปีนเองไม่ได้ นี่คือเรื่องที่เราพบบ่อยมาก
มันต่างกันนะกับการที่เด็กมีแรงบันดาลใจที่จะอยากทำมันได้ด้วยตัวเอง และผ่านมันได้ด้วยตัวเอง พ่อแม่ไม่รู้หรอกว่าเราทำลาย self เด็กโดยไม่รู้ตัว แล้วเด็กจะสับสนมากระหว่างต้องการความรักจากพ่อแม่ กับไม่อยากให้พ่อแม่อยู่ใกล้
เกณฑ์จะอยู่ตรงไหน พ่อแม่จะรู้ได้ยังไงว่านี่เรากำลังมอบความรักหรือกำลังทำลาย Self เขา
เราต้องมีความรักแบบมีสติ เหมือนคนจะดุลูก ถามว่าดุเพราะอะไร อยากให้ลูกได้ดี งั้นลองดูสิว่าถ้าเราดุแบบนี้ลูกจะได้ดีจริงหรือเปล่า ไม่ทันคิด แต่ว่าต้องดุละ อย่าทำอย่างนี้นะ ไม่ได้นะ เดี๋ยวพ่อตีนะ ตีจริงๆ ด้วย หลายคนก็เชื่อว่าต้องตี ลูกถึงจะได้ดี มันเป็นความเชื่อที่ถูกส่งทอดมา
ความรักบางครั้งต้องมีสติ ไม่ว่าเราจะดุหรือจะสอน จะบอก หรือจะหวังดี ต้องมีสติที่จะมองเห็นว่า แล้วผลมันคืออะไร มันใช่อย่างที่เราอยากได้หรือเปล่า
พ่อแม่ก็สู้กันเองในใจว่า ฉันก็เป็นห่วงลูกจริงๆ นะ แต่อีกใจฉันก็พร้อมจะปล่อย แต่ว่ามันสู้กันเองข้างใน เราจะช่วยซัพพอร์ตพ่อแม่เรื่องเล่นอย่างไรดี
ครูก้ามาทำโรงเรียนนี้เพราะเคยเป็นแม่มาก่อน เพราะงั้นเราจึงเข้าใจหัวอกของแม่มากเลยว่า คนเป็นแม่ ถ้าไม่กังวล ผิดมนุษย์มนาที่สุด แต่ไอ้ความกังวลของเราที่ไม่มีสตินี่แหละที่ทำร้ายลูกโดยไม่รู้ตัว เราเข้าใจคนที่ยังไม่เข้าใจ แล้วเราก็เข้าใจว่าทำไมเราถึงเข้าใจ เพราะในที่สุดเราเห็นผลของการกระทำของตัวเราแล้ว และเราก็กลับมาทบทวนว่ามันเกิดอะไรขึ้น
เล่าให้ฟังว่า ครูก้าเห็นหน้าลูกครั้งแรก สิ่งแรกที่ครูก้าคิดคือเรารู้สึกว่าเราตายไม่ได้แล้ว ถ้าเราตายไปลูกเราจะอยู่กับใคร ใครจะรักลูกเท่ากับที่เรารัก เขาจะอยู่ยังไง วันนั้น สัจธรรมวิ่งปรี๊ดเข้ามาสั่งเราทันทีว่า เป็นไปไม่ได้หรอกที่เธอจะไม่ตาย เพราะฉะนั้นเราทำยังไง เราก็ต้องเลี้ยงลูกยังไงก็ได้ให้เขาอยู่ได้โดยไม่มีเรา ตั้งปณิธานตรงนี้เลย แล้วก็ไม่ใช่แค่เขาอยู่ได้โดยไม่มีเราอย่างเดียว เขาจะต้องเป็นที่รักของคนอื่นด้วย เพราะว่าลูกเราจะอยู่แบบมีความสุขคนเดียว มันไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง ลูกเราจะต้องอยู่แล้วคนอื่นมีความสุขที่มีลูกเราอยู่บนโลกใบนี้ด้วย
คิดไว้ขนาดนี้ ก็ยังเลี้ยงพลาดบ่อยๆ เราถึงอยากสร้างโรงเรียนขึ้นมา เพราะเราอยากจะชวนพ่อแม่คุย ชวนกันตั้งสติ ชวนกันสร้างโอกาส เชื่อใจลูก ให้ลูกมีประสบการณ์ที่ดี
ครูก้าซื้อเลโก้ให้ลูกต่อ เพราะเชื่อในเลโก้ว่าจะทำให้ลูกเราได้ใช้ปัญญาเยอะมาก ขณะเล่น พอมีลูกปั๊บ เราซื้อเลโก้ให้เล่นก่อนเลย แต่ไม่เชื่อว่าลูกจะต่อได้เหมือนข้างกล่อง ถ้าซื้อมาแล้ว สิ่งที่จะประสบความสำเร็จคือลูกต่อได้เหมือนข้างกล่อง นั่นคือ yes แต่ปรากฏว่าไม่ใช่ ลูกอยากจะต่ออะไรของเขา ลูกอยากจะทดลองว่า แค่มาประกบกันแล้วมันติดไหม อยากจะทดลองต่อแบบนั้นแบบนี้ เราก็พยายามจะช่วยลูกที่จะให้ต่อให้เหมือนภาพข้างกล่องให้ได้
เราไม่เคยเฉลียวใจเลยว่า เรากำลังทำสิ่งที่ผิดพลาดกับลูกโดยไม่รู้ตัว ตอน ป.4 วันนึงที่เราจะต้องออกไปข้างนอกบ้าน แล้วเราก็บอกว่า หนูไปแต่งตัวลูก เดี๋ยวเราจะออกไปนอกบ้านกัน ลูกหายไปนานมาก แล้วก็กลับมาด้วยคำถามว่า ใส่ชุดอะไรดี วันนั้น เพิ่งจะเตือนสติเราว่า เราเคยตั้งปณิธานไว้ว่า เราจะต้องเลี้ยงให้ลูกอยู่ได้โดยไม่มีเราไม่ใช่เหรอ เฮ้ย นี่เรายังดีอยู่ แล้วนี่ลูก ป.4 แล้ว แค่จะแต่งตัวออกไป ลูกยังตัดสินใจไม่ได้ ลูกจะอยู่ได้อย่างไร เราทำอะไรผิดพลาด ภาพเล่นเลโก้ขึ้นมาทันที ไหนเราบอกว่าจะให้ลูกอยู่ได้โดยไม่มีเรา แค่เรื่องเล่นๆ แล้วไม่ได้อันตรายทำไมเราไม่ยอมให้ลูกคิด ทำ หรือแก้ปัญหาด้วยตัวเอง นี่คือสิ่งที่ครูก้าต้องรีบกลับไปแก้ตัวเราเองใหม่
ทุกวันนี้ทำโรงเรียนเพื่อจะบอกพ่อแม่ว่า ไอ้ความรักที่ไม่มีสติ เราจะเผลอทำร้าย self ของเด็กลงไปเรื่อยๆ ความเชื่อว่าตัวเองทำอะไรได้ด้วยตัวเอง มันหายไปเรื่อยๆ ในขณะที่ในตัวเด็กก็สับสนว่า ตกลงฉันทำอะไรได้ด้วยตัวเองหรือเปล่า มันเป็นเพราะว่าฉันไม่เก่งหรือเพราะแม่ไม่เชื่อ ความสับสนโดยเฉพาะฮอร์โมนวัยรุ่น จะยิ่งทำให้ความสับสนภายในเกี่ยวกับตัวเองมีมาก
ในยุคปัจจุบัน ไม่แปลกเลยที่เด็กยิ่งเรียนหนักขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้นเท่านั้น นึกถึงอาการที่เด็กไปเรียนพิเศษออกไหม ทำไมถึงต้องไปเรียนพิเศษ อ๋อ แม่อยากให้ฉันได้ดี อยากให้สอบเข้าที่นั่นที่นี่ได้ แต่ทำไมแม่ไม่เชื่อว่าหนูเรียนได้ด้วยตัวเองล่ะ ตกลงว่าฉันไม่สามารถเรียนด้วยตัวเองได้ใช่ไหม
เพราะงั้นการไปเรียนพิเศษ บางคนอาจจะรู้สึกว่าชอบนะ ทำให้ได้คะแนนเยอะ แต่จริงๆ แล้ว ถ้าไปสอบโดยไม่เรียนพิเศษได้ไหม ไม่เชื่อ ลึกๆ ในที่สุดคือไม่เชื่อตัวเอง ฉะนั้นความที่ self เสีย ทำให้โรคซึมเศร้ามาหาได้บ่อยมาก สับสนกับตัวเองมาก การเห็นคุณค่าในตัวเอง มันสะท้อนออกมาจากพ่อแม่แล้วว่าไม่เชื่อว่าหนูทำได้ด้วยตัวเอง คุณค่าในตัวเองจึงลด เราไม่เห็นประโยชน์จากการเล่นว่าเป็นเรื่องที่ทำให้เด็กค้นพบตัวเองว่า ฉันเก่งนะ ฉันผ่านอุปสรรค ผ่านปัญหาได้ด้วยตัวเองนะ
ไม้บล็อกเป็นครูที่ดีมาก ต่อแล้วล้ม ไม้บล็อกมันไม่เคยดุว่าต่อดีๆ สิ ต่ออย่างนี้สิ ไม่ พอมันล้มมา เด็กก็แค่พยายามใหม่ เปลี่ยนวิธีใหม่ นี่คือการเล่น การเรียนรู้ การพยายาม ในที่สุดเขาจะเอามาชนะปัญหา อุปสรรค ซึ่งชีวิตจริงๆ เด็กต้องเจอ แล้วถ้ามันคือตัวที่กำลังจะย้ำไปเรื่อยๆ ว่ายากแค่ไหนเราก็ผ่านไปได้ ถ้าได้รับประสบการณ์ผ่านการเล่นแบบนี้ ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่มีความสุขที่สุด ทำไมเด็กจะไม่เชื่อมั่นใจตัวเอง ทำไมเด็กจะ self ไม่แข็งแรง แต่เราไม่ยอม เราไม่ยอมให้โอกาส
เราเป็นผู้ปกครองที่ปกครองด้วยความเป็นห่วงเป็นใยจนเกินไป ถามว่า จริงๆ แล้ว ถ้าถามว่าเราเป็นผู้ปกครองแบบเผด็จการใช่หรือไม่ ใช่
สังคมทุกวันนี้ ที่มีการต่อสู้ระหว่างเจนต่อเจน ชวนครูก้าคิดต่อว่า เป็นเพราะว่า ตอนนี้เราอยู่ในสังคมที่ผู้ใหญ่ไม่ค่อยได้รับอนุญาตให้เล่นหรือเปล่า ถึงได้โตมาเป็นแบบนี้
ใช่ค่ะ แล้วก็เป็นการส่งต่อความคุ้นเคย พ่อแม่หลายคนบอกว่าไม่ชอบเลยที่พ่อแม่ดุ อยากมีแม่ใจดี ไม่ชอบเลยที่พ่อแม่ตี แต่พอมีลูกปั๊บ ตัวเองดุและตีลูก เพราะว่าผู้กระทำมักเคยเป็นผู้ถูกกระทำมาก่อน จิตใต้สำนึกมันผุดขึ้นมาเร็วมากว่านี่คือความรัก ต้องทำแบบนี้ แต่เราไม่ได้หยุดคิดให้ดีว่า วิธีอื่นก็มีนะ เราไม่ชอบทำไมเราถึงทำแบบที่เราไม่ชอบ แล้วก็จะปลอบใจตัวเองว่า มองไปทางไหนใครก็ทำทั้งนั้นแหละ
ครูก้าถามคำถามกับคนเป็นพ่อแม่ว่า อยากเห็นลูกเติบโตขึ้นเป็นคนยังไง พ่อแม่ทุกคนตอบทั้งตรงและอ้อมว่า อยากเห็นลูกมีความสุข เราก็เลยสงสัยว่า จริงๆ ความสุขทำไมมันอ้อมไกลขนาดนี้ ความสุขจะมีได้หนูต้องตั้งใจเรียนก่อน ต้องเข้าโรงเรียนให้ได้ก่อน ต้องทำงานเข้ามหา’ลัยให้ได้ก่อน ถามว่าเพื่ออะไร เพื่อในที่สุด ได้ทำงานที่มีฐานะมั่นคง แล้วยังไงเหรอ แล้วจะได้มีครอบครัวที่มั่นคง แล้วไงเหรอ แล้วจะได้มีความสุข ไกลจังเลย แล้วไม่รู้จะถึงวันนั้นหรือเปล่า
เด็กมีความสุขง่ายที่สุด ใบไม้เนี่ยพอลมพัดแรงๆ เฮ มีความสุขยังกะเห็นหิมะตก ความสุขเขาง่ายมาก แต่เราพาให้ความสุขเขามีเงื่อนไขเต็มไปหมดเลย อย่าเล่นนะ พอเล่นแล้วมีความสุข อย่าเล่นลูก ไปทำอันนี้ให้ได้ก่อน
ผู้ใหญ่ที่เขาไม่ผ่านหรือได้เล่นน้อยมากๆ จะโตมาเป็นผู้ใหญ่แบบไหน
เขาจะไม่รู้วิธีหาความสุขที่แท้จริง ไม่รู้จักว่าความสุขที่แท้จริงมีอยู่ง่ายๆ ใกล้ตัว เขาจะรู้สึกว่าต้องมีเงื่อนไข เงินพันล้านไม่พอต้องหลายพันล้าน มีบริษัทเดียวไม่พอต้องมีหลายบริษัท บริษัทเราต้องใหญ่ที่สุด เอาชนะทุกคน ทั้งหมดถูกปลูกฝังผ่านพ่อแม่และการศึกษา ยกตัวอย่างง่ายที่สุด สิ่งที่เราทำกันมาอย่างคุ้นเคยและไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงแล้วยังคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี คือการแข่งขัน
เราให้เด็กเล่นเก้าอี้ดนตรี มาทุกยุคทุกสมัย ไม่ใช่แค่ไทยที่เดียว เล่นแบบนี้มันเกิดอะไรขึ้น ตอนที่เอาเก้าอี้ออกเอาคนที่นั่งไม่ทันเพื่อนออกไปเรื่อยๆ จนเก้าอี้เหลือสองตัว แล้วเหลือตัวเดียว เหลือคนเดียวที่ชนะ มันกำลังปลูกฝังอะไรอยู่
เรากำลังปลูกฝังให้เด็กแก่งแย่งชิงดีกัน ไม่แปลกที่ลุกขึ้นมาทำงานข้าราชการแล้วก็เลื่อยขาเก้าอี้กัน หรือแม้กระทั่งการทำงานในองค์กรธุรกิจเอกชน ก็เลื่อยขาเก้าอี้กัน เพื่อจะแย่งตำแหน่งที่สูงที่สุด เพราะเราถูกปลูกฝังผ่านเก้าอี้ดนตรีกันมาตั้งแต่เด็ก แต่เราก็ยังเล่นกันอยู่ ครูก็ยังจัดเก้าอี้ดนตรีให้เล่น ครูก็ยังรู้สึกสนุกแล้วก็ลืมคนที่ถูกออกไป ตบมือให้คนชนะ
ทำไมเราไม่เล่นเก้าอี้ดนตรีแบบ เอาเก้าอี้ออก แต่ไม่เอาคนออก แล้วดูซิว่าเหลือเก้าอี้น้อยที่สุด แต่คนยังอยู่ครบ ทำได้ยังไง
แล้วจะเห็นว่าเด็กน่ารักมาก เขาแก้ปัญหาว่าเก้าอี้มีอยู่ไม่กี่ตัว เราอยู่บนเก้าอี้สองตัวกับคนหกคนได้ยังไง หรือเรามีเก้าอี้หกตัวแต่อยู่กันทั้งห้องได้ยังไง มันมีวิธีเชื่อมต่อร่างกายกับเก้าอี้ยังไง ทำไมเราไม่เล่นแบบนี้ ถ้าเราเล่นแบบนี้เราปลูกฝังอะไร สิ่งที่เราอยากได้นั่นแหละ คือทุกคนรักกัน ช่วยเหลือกัน
ที่เราบอกว่า หนูต้องเป็นเด็กดี รู้จักแบ่งปัน รู้จักช่วยเหลือ เราพูดแบบนี้มาตลอด แต่เรากลับให้ประสบการณ์ที่ต้องแก่งแย่งชิงดีแข่งขันกัน ไม่มีใครเฉลียวใจ
พ่อแม่ที่เล่นไม่เป็น ทำอย่างไรดี
ระยะหลังก็เจอเยอะขึ้นเรื่อยๆ สมัยก่อน ตอนเปิดโรงเรียนใหม่ๆ พ่อแม่เล่นเป็น เพราะในวัยพ่อแม่ยังเคยได้เล่น แต่ยุคหลังต้องยอมรับว่าเล่นไม่เป็นจริงๆ
พอเราถามพ่อแม่วันปฐมนิเทศว่าตอนเด็กๆ ใครซนบ้าง ไม่มีคนยกมือเลย น้อยมาก ถามพ่อแม่ว่าตอนเด็กๆ ใครเคยปีนต้นไม้บ้าง ก็น้อยมากอีก
แต่พอถามว่าใครเรียนพิเศษเยอะบ้าง ไม่ใช่เขาไม่กล้ายกมือนะ พอถามว่าใครเรียนพิเศษเยอะบ้าง ยกมือเป็นแถวเลย นั่นคือเขาไม่เคยมีประสบการณ์ เขาจะเป็นได้อย่างไร ไม่เคยมีประสบการณ์คุณภาพ เขาจึงไม่รู้คุณค่าของประสบการณ์ที่มีคุณภาพผ่านการเล่น
ตอนเล่นไม่เป็นก็ไม่รู้อีกว่า ฉันจะเล่นถูกหรือเล่นผิด
เล่นงงเลยล่ะ ก็เลยใช้วิธี พอได้ความรู้ว่าลูกต้องเรียนรู้ผ่านการเล่น ก็เลยเอาไปเข้าคอร์สเล่น (ทำหน้างง) ตอนนี้กลายเป็นกระแสพ่อแม่ยุคใหม่ คือเด็กไม่ได้เรียนพิเศษ แต่ไปทำกิจกรรม กิจกรรมแบบนี้ทำที่บ้านก็ได้ แค่แม่ทำอาหาร ลูกไปนั่งเด็ดผักนี่ก็เล่นแล้วนะ ลูกได้ทอดไข่เจียวเขาก็เล่นแล้วนะ ได้เล่นย้ายบทบาทไปเป็นผู้ใหญ่ทำให้ได้เข้าใจผู้อื่นแล้วนะ ไม่มีของเล่น ก็เอาไอ้นู่นมาสมมุติว่าเป็นไอ้นี่ ก็เล่นแบบใช้จินตนาการแบบไม่ยอมแพ้ข้อจำกัดแล้วนะ
เพราะฉะนั้น เล่นไม่มีคำว่าเป็นหรือไม่เป็น
ถ้าเขาเล่นโดยอิสระ การเล่นไม่จำเป็นต้องสอน เขาจะตั้งเป้าหมายเอง ตั้งโจทย์เอง คิดเอง ทำเอง แก้ปัญหาเอง ค้นพบด้วยตัวเอง
แต่เราไม่รู้จริงๆ ว่าโจทย์วันนี้ของเขาคืออะไร อาจจะเป็นโจทย์ซ้ำ แต่อยากทำให้มันดีขึ้น หรืออาจจะเป็นโจทย์ใหม่ก็ได้ เด็กเล่นบนบ่อทรายเหมือนกัน โจทย์ก็อาจจะไม่เหมือนกัน แต่ทำไมพลังมหาศาล ทำไมเด็กเล่นแล้วไม่รู้จักร้อน ไม่รู้จักเหนื่อย ไม่รู้จักหิว แต่ทำไมเวลาเรียนนิดเดียวก็เหนื่อยแล้ว เบื่อแล้ว พอคนทำงาน ก็อาการเดียวกัน อยากจะร้องไห้เหมือนเด็กๆ ว่าวันนี้ไม่อยากไปทำงาน อยากตื่นสายๆ อยากให้ถึงเสาร์อาทิตย์ไวๆ ทำไมเราไม่มีพลังเหมือนตอนเล่น ทำไมเราไม่ทำการเรียนให้เหมือนการเล่น
ถ้าเด็กไม่ได้เล่น จะเป็นอย่างไร
ไม่มีพลัง เด็กเล่นเนี่ย จริงๆ ถ้าเรายิ่งให้โอกาสเด็กเล่นมากเท่าไหร่ แสดงว่าเรากำลังรักษาพลังที่มีแต่กำเนิดของเขา ให้มันโตตามตัวเขา แต่การหยุดเล่นนั่นคือหยุดพลัง เพราะมันไม่สนุกแล้ว ชีวิตในโลกใบนี้ไม่เห็นสนุก คำถามนี้เป็นคำถามที่ได้ยินบ่อยขึ้น และเด็กอายุน้อยขึ้น คือฉันเกิดมาทำไม
พอดีครูก้าทำงาน ได้เรียนเรื่องของศิลปะบำบัดด้วย ได้มีการเจอเคสเด็กที่อยากฆ่าตัวตาย อายุน้อยลงไปเรื่อยๆ ด้วยเช่นเดียวกัน เด็กอนุบาลเริ่มถามคำถามแม่ว่า ทำให้หนูเกิดมาทำไม หนูอยากตาย เพราะไม่เข้าใจชีวิต แต่ไม่ใช่เด็กที่นี่นะคะ เขาไม่เข้าใจชีวิตว่า ตกลงถ้าเกิดมาแล้วมันต้องทุกข์ยากขนาดนี้ แล้วแม่ก็บอกว่าฉันทำงานลำบากหาเงินเพื่อแก แล้วถ้าต้องโตขึ้นไปเป็นคนที่หาเงินทำงานลำบากแบบแม่ฉันไม่เอาหรอก ถ้าแข็งแรงหน่อย ก็โอเค โตขึ้นไปฉันก็จะไม่แต่งงาน ไม่มีลูก ฉันขอมีชีวิตที่สุขสบายคนเดียวบ้างเถอะ ถามว่าใครที่บ่มเพาะให้เด็กคิดแบบนี้
การเล่น นอกจากจะทำให้เขามีพลังแล้ว ทำให้เขาเข้าใจว่าเขามีชีวิตว่าเขาเกิดมาทำไมได้อย่างไร
เพราะว่าเขามองเห็นว่าโลกใบนี้มันมีความสุขมากเลย แล้วก็โลกใบนี้ มีอะไรที่น่าทำ น่าเรียนรู้เยอะแยะเลย ไม่มีอะไรยากที่ฉันจะทำไม่ได้หรือเรียนรู้ไม่ได้หรอก ถ้าฉันได้ทดลองมัน การเล่นคือการลองผิดลองถูก เขาได้ทดลองในสิ่งที่เขาสงสัย
เราทำการเรียนให้เป็นการเล่นได้ไหม ได้ เราทำการเล่นให้เด็กกลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ได้ไหม ได้ ทำให้มันเป็นเรื่องเล่นสิ เด็กทดลองทุกอย่าง เราทำเรื่องวิทยาศาสตร์กับศิลปะเป็นเรื่องเดียวกันได้ไหม ได้ จริงแล้วในธรรมชาติมันเป็นของคู่กันที่เราชอบจับไปแยกจากกัน คุณแค่เอาน้ำมาหนึ่งแก้ว ดรอปเปอร์มาหนึ่งอัน มีสีวางตรงหน้า แล้วให้เด็กเลือกสี หยดลงไปในน้ำ แล้วเฝ้าดูมันสิ เราไม่ต้องไปสอนทฤษฎีสีเด็ก สีน้ำเงินบวกเหลืองได้สีเขียว เด็กทดลองเอง เห็นเอง แล้วความตื่นเต้น หูย สวยจัง มันลงมายังกะแมงกะพรุนแหนะ เฮ้ย เอาสีนี้ลงไป
นี่คือการเรียนรู้ที่ได้เรียนรู้แต่พลังยังอยู่ และพลังนี้ต่อความอยากรู้หนักขึ้นไปอีก
มันทำได้ แต่ว่าเราไม่เชื่อ ฉะนั้น สิ่งหนึ่งที่ครูก้าพยายามบอกกับคนเป็นพ่อแม่และครูคือ เมื่อไหร่ที่เราเชื่อ เราก็จะได้เห็น ยิ่งเชื่อยิ่งได้เห็นความสามารถของเด็กว่า เด็กสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองผ่านการเล่นนี่แหละ และเขาจะพัฒนาตัวเอง พัฒนาทักษะทางสังคม เราไม่เคยต้องไปสอนว่าให้เด็กแบ่งของให้น้อง ทุกวันนี้โรงเรียนครูก้าคละอายุ ในหนึ่งห้องมีสามวัย เราจะพบว่า พี่ดูแลน้องได้ดีมากกว่าครู น้องเล็กๆ ร้องไห้พี่ไปปลอบแป๊บเดียวเงียบ แล้วเขาพร้อมที่จะหันด้านอ่อนโยนที่มีไปให้กับน้องๆ แต่หันด้านมันๆ ไปเล่นกับเพื่อน ไม่ต้องสอนเขาเลย
มันเป็นเรื่องที่ไปไกลกว่าที่เราคิด ไม่ใช่แค่เรียนเพื่ออะไร แต่มันคือชีวิตทั้งนั้นเลย