ชีวิตและผลงานสนุกๆ ของ Květa Pacovská ผู้เปลี่ยนหนังสือให้เป็นพื้นที่แห่งการเล่น
มีศิลปินบางคนที่ไม่เพียงแค่สร้างผลงาน แต่เปลี่ยนแปลงวิธีที่เราเข้าใจโลก Květa Pacovská เป็นหนึ่งในนั้น เธอเป็นศิลปินและนักวาดภาพประกอบชาวเช็กผู้ใช้เวลาเกือบแสนยาวนานในการพิสูจน์ว่าหนังสือเด็กสามารถเป็นงานศิลปะได้ เธอเกิดในปี 1928 ที่กรุงปราก เติบโตท่ามกลางยุคสงครามและการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แม้กระนั้นเธอก็เลือกที่จะสร้างโลกที่เต็มไปด้วยสีสันและความเป็นไปได้ให้กับเด็กๆ ด้วยหนังสือที่ไม่เพียงแค่อ่านอย่างเดียว แต่เด็กๆ ยังได้ สัมผัส เล่น และร่วมสร้างสรรค์และตีความได้ จนกระทั่งผลงานของเธอได้รับรางวัล Hans Christian Andersen Award ในปี 1992 และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินทั่วโลก ก่อนเธอจะจากไปในปี 2023 โดยทิ้งมรดกที่ยังคงเปลี่ยนแปลงชีวิตเด็กๆ ทั่วโลกอยู่

บ้านที่เต็มไปด้วยเสียงเพลงและสีสัน
ในปี 1928 ณ เมืองปราก เมื่อฤดูใบไม้ร่วงกำลังเปลี่ยนใบไม้ให้กลายเป็นสีเป็นสีทอง Květa Pacovská เกิดขึ้นมาในบ้านที่เต็มไปด้วยดนตรี ภาษา และความคิดสร้างสรรค์ บิดาของเธอร้องเพลงโอเปร่า เสียงของเขาดังก้องไปทั่วบ้าน ส่วนแม่ของเธอเป็นครูสอนภาษา ทำให้ถ้อยคำและเสียงดนตรีไหลเวียนในบ้านเหมือนแสงแดดที่ส่องผ่านหน้าต่าง

บ้านหลังนี้ไม่ได้มีแค่ความอบอุ่น แต่มีอะไรบางอย่างที่พิเศษกว่านั้น สมาชิกในบ้านมีความเชื่อว่าศิลปะไม่ใช่สิ่งที่เอื้อมไม่ถึง หรือเป็นเทคนิคเฉพาะของศิลปิน แต่ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวัน เหมือนอากาศที่หายใจ และเหมือนแสงแดดที่จำเป็นต่อการเติบโต
แต่ชีวิตที่สงบสุขนั้นไม่ได้คงอยู่นาน สงครามโลกครั้งที่สองพรากบิดาไปจากเธอ บังคับให้เธอออกจากโรงเรียนมัธยม เด็กสาวที่เคยฟังเสียงเพลงทุกเย็นต้องหันไปหาภาษาใหม่ในการสื่อสาร ภาษาของสี รูปร่าง และการสัมผัส
ในปี 1947 เธอไปเรียนต่อที่สถาบันศิลปะและการออกแบบในกรุงปราก ในยุคที่กระแสศิลปะ Bauhaus และแนวคิดเชิงโครงสร้างกำลังเปลี่ยนแปลงโลกศิลปะ ที่นั่นเธอได้พบกับ Emil Filla ครูผู้สอนที่เปิดโลกของศิลปะสไตล์โมเดิร์นให้กับเธอ Filla เป็นนักศิลปะโมเดิร์นชาวเช็กผู้มีชื่อเสียง เป็นหนึ่งในผู้นำการเคลื่อนไหวของศิลปะในแบบ Cubism ในยุโรปตะวันออก เขาสอนให้เธอเห็นว่าศิลปะไม่ใช่การลอกเลียนธรรมชาติ แต่เป็นการตีความและสร้างสรรค์ใหม่

แต่สิ่งที่ทำให้ Květa แตกต่างจากเพื่อนร่วมชั้นคือความกล้าที่จะไม่ทำตามกฎที่ถูกกำหนดไว้ ในขณะที่คนอื่นพยายามวาดเส้นให้ตรง เธอกลับหลงใหลในเส้นที่บิดเบี้ยว ในขณะที่คนอื่นแสวงหาความสมบูรณ์แบบ เธอกลับค้นพบความงามในสิ่งที่ขาดหายไป เธอมองเห็นมันในความไม่สมดุล ในพื้นที่ว่างที่ดูเหมือนผิดพลาด เธอมองเห็นความเป็นไปได้ในสิ่งเหล่านั้น
การศึกษาในยุคนั้นมุ่งเน้นการฝึกฝนเทคนิคและการปฏิบัติตามหลักการที่เป็นระบบ แต่ Květa เรียนรู้ว่าความไม่สมบูรณ์แบบไม่ใช่ข้อบกพร่อง หรือข้ออ้าง แต่เป็นจุดเริ่มต้นของความงาม เป็นพื้นที่ที่จินตนาการสามารถเติบโตได้ การที่ภาพหนึ่งๆ ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนไม่ใช่ความล้มเหลว แต่เป็นการเชิญชวนให้ผู้ดูเป็นผู้ร่วมสร้างความหมาย

เธอเคยกล่าวไว้ด้วยน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความมั่นใจ “สีขาวและสีดำไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของวงจรสี แต่สำหรับฉัน มันคือสีที่หมายถึงความตรงข้ามอย่างสมบูรณ์ และความตรงข้ามอย่างสมบูรณ์คือความงามอย่างสมบูรณ์ ฉันแสวงหาความตรงข้ามอย่างสมบูรณ์”คำพูดนี้เหมือนเป็นแผนที่ของชีวิตเธอ ความงามที่แท้จริงเกิดจากความตรงข้าม จากการที่สิ่งต่างๆ ไม่เหมือนกัน
ความเงียบที่ดังกว่าเสียงใดๆ
เมื่อปี 1961 มาถึง Květa ได้กลายเป็นแม่ของลูกชายสองคน การเลี้ยงดูเด็กทำให้เธอต้องอ่านหนังสือสำหรับเด็กในขณะนั้น หนังสือเในยุคนั้นเต็มไปด้วยภาพประกอบที่เหมือนแค่การ “อธิบาย” เรื่องราว ไม่มีอะไรที่เชิญชวนให้เด็กได้สัมผัส สำรวจ หรือสร้างสรรค์อะไรเอง
เธอเริ่มตั้งคำถามเรียบๆ ว่า “เพราะอะไรหนังสือสำหรับเด็กจึงต้อง “ง่าย” เสมอ” “ทำไมต้อง “เข้าใจได้ทันที”” “ทำไมไม่มีพื้นที่สำหรับความสงสัย ความค้นหา หรือความฝัน” เธอเชื่อว่าเด็กสมควรได้รับมากกว่านั้น

จากคำถามเหล่านี้ แนวคิดเรื่อง หนังสือเป็นวัตถุ (Book as object) เริ่มก่อตัวขึ้นในใจเธอ หนังสือไม่ควรเป็นแค่สื่อสำหรับการอ่านเพียงเท่านั้น แต่ควรเป็นสิ่งที่เด็กสามารถจับ สัมผัส เล่น และสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ได้ เหมือนกับการที่เด็กเล่นกับก้อนดิน ปีนป่ายขึ้นต้นไม้ หรือสร้างบ้านเล็กๆ ด้วยหิน

ในผลงานของเธอ หน้ากระดาษแต่ละหน้าเป็นเหมือนห้องเล็กๆ ที่มีความลับซ่อนอยู่ บางหน้าต้องเปิดส่วนที่พับ บางหน้าต้องส่องดู บางหน้ามีเพียงสีเดียวล เธอพยายามทำให้หนังสือไม่ให้คำตอบที่ชัดเจน แต่เชิญชวนให้เด็กเป็นผู้ค้นหาและสร้างความหมายด้วยตัวเอง และสีในงานของเธอไม่ใช่เพียงการตกแต่ง แต่เป็นภาษาที่ลึกกว่าคำพูด สีแดงที่เธอรักไม่ได้พูดถึงอันตราย แต่พูดถึงชีวิตที่เต็มเปี่ยม สีขาวไม่ได้หมายถึงความว่างเปล่า แต่หมายถึงพื้นที่แห่งความเป็นไปได้ที่ไร้ขีดจำกัด
การเล่นคือการเรียนรู้ที่ลึกที่สุด
ช่วงปี 1960-70 โลกของหนังสือเด็กเต็มไปด้วยความเชื่อว่าเด็กต้องการเรื่องราวที่มีต้นกลางจบ ตัวละครที่ดีชัดเจน และบทเรียนที่เข้าใจง่าย แต่ Květa มองเห็นสิ่งที่แตกต่าง เธอเห็นว่าเด็กมีความสามารถในการคิดนามธรรมและจินตนาการที่ผู้ใหญ่มักจะลืม
หนังสือของเธอจึงไม่มี “เรื่องราว” ในความหมายที่คุ้นเคย แต่เป็นการสร้างพื้นที่สำหรับการเล่น การค้นหา และความสงสัย เด็กไม่จำเป็นต้อง “เข้าใจ” ทุกอย่าง แต่ต้องมาร่วมเป็นผู้สร้างความหมายไปกับหนังสือ ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับการที่เด็กเล่นกับเมฆบนฟ้า มองเห็นช้าง เห็นปราสาท เห็นมังกร ในรูปร่างที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ

การทำงานแบบนี้ต้องการการยอมรับว่าศิลปินไม่ได้เป็นผู้ควบคุมความหมายทั้งหมด แต่เป็นผู้เปิดประตูให้ความหมายใหม่ๆ เกิดขึ้น และนั่นคือจุดเริ่มต้นของความเชื่อของเธอ “เธอเชื่อว่าเด็กไม่ใช่ผู้รับ แต่เป็นผู้ร่วมสร้าง”
แนวคิดนี้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโลกศิลปะช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ที่ศิลปินเริ่มตั้งคำถามกับบทบาทของผู้ชม จากการเป็นผู้มองจากภายนอก กลายเป็นผู้มีส่วนร่วมในการสร้างความหมาย ขณะที่ศิลปินอย่าง Allan Kaprow สร้าง “Happenings” ที่เชิญชวนให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วม และ Yves Klein ให้ผู้หญิงเปลือยกายเป็น “พู่กันมนุษย์” บนผืนผ้าใบ Květa ก็กำลังทำสิ่งคล้ายกันในโลกของหนังสือเด็ก
เธอเข้าใจว่าเด็กเป็นสิ่งมีชีวิตที่เต็มไปด้วยพลังงาน ไม่ใช่ภาชนะเปล่าที่รอให้เอาความรู้หรือทักษะไปใส่ การอ่านหนังสือของเธอจึงไม่ใช่การนั่งฟังเรื่องราวเฉยๆ แต่เป็นการผจญภัยที่ต้องใช้ทั้งมือ ตา ใจ และจินตนาการ เด็กต้องพับ หมุน ส่อง และค้นหา แต่ละการกระทำเหล่านี้ไม่ใช่เพียงการทำตามคำสั่ง แต่เป็นการตัดสินใจที่จะเปิดประตูบานใหม่ของเรื่องราวไปด้วยกัน

เหมือนกับการเดินป่าที่เราไม่ได้แค่เป็นนักท่องเที่ยวที่มองผ่านๆ แต่เป็นนักสำรวจที่ใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า การได้กลิ่นดินหลังฝนตก การได้ยินเสียงใบไม้กรอบแกรบใต้เท้า การรู้สึกถึงลมเย็นที่โชยมา ทำให้เราไม่ได้แค่ “รู้” เรื่องป่า แต่ “เป็น” ส่วนหนึ่งของป่า หนังสือของ Květa ทำงานในลักษณะเดียวกัน เด็กไม่ได้แค่ “อ่าน” เรื่องราว แต่เด็ก “อยู่ใน” เรื่องราวนั้น
หนังสือภาพที่กลายเป็นตำนาน

“The Little Match Girl” (1992) คือหนึ่งในผลงานที่แสดงให้เห็นถึงวิธีคิดของเธอได้ชัดเจนที่สุด เธอไม่ได้เล่าเรื่องของเด็กหญิงขายไฟขีดแบบเดิม แต่สร้างประสบการณ์ที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกถึงความหนาวเย็น ความหิว และความฝันของเด็กหญิงคนนั้น
เธอใช้การตัดกระดาษ การปักรู การซ้อนทับหลายชั้น ทำให้แต่ละหน้ามีความลึก บางหน้าผู้อ่านต้องส่องดูผ่านรูเล็กๆ เหมือนกับการมองดูโลกผ่านตาของเด็กหญิงขายไฟขีด บางหน้าต้องพับเปิดเพื่อเผยภาพที่ซ่อนอยู่ เหมือนการเปิดใจให้ความฝันเข้ามา

“Midnight Play” (1994) คืออีกผลงานที่แสดงถึงความเชื่อของเธอที่ว่าหนังสือสามารถเป็นได้มากกว่าสิ่งที่เราคิด เมื่อเปิดหนังสือขึ้น มันกลายเป็นโรงละครแสงเงาขนาดเล็ก ที่เด็กสามารถเล่นและสร้างเรื่องราวของตัวเอง แสงที่ส่องผ่านหน้ากระดาษสร้างเงาที่เต้นรำ เปลี่ยนแปลงตามความเคลื่อนไหวของมือเล็กๆ

“One, Five, Many” (1990) อาจจะเป็นผลงานที่แสดงถึงปรัชญาของเธอได้ลึกซึ้งที่สุด หนังสือเกี่ยวกับตัวเลขที่ไม่ได้สอนการนับแบบธรรมดา แต่เชิญชวนให้เด็กสำรวจแนวคิดเรื่องปริมาณ รูปร่าง และความสัมพันธ์ในพื้นที่ด้วยรูปทรงเรขาคณิตที่ดูเรียบง่าย แต่เปิดโลกของความคิดที่ไม่มีที่สิ้นสุด
หนังสือภาพเป็นแกลเลอรี่แห่งแรกของชีวิต
สิ่งที่ทำให้ Květa แตกต่างจากศิลปินคนอื่นๆ คือเธอไม่เคยคิดว่าต้อง “ลดระดับ” งานศิลปะให้เข้าใจง่ายสำหรับเด็ก เธอเชื่อมั่นว่าเด็กสามารถซาบซึ้งในความงามและความซับซ้อนได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ เด็กอาจไม่สามารถอธิบายด้วยคำพูดได้ แต่สามารถรู้สึกได้ สัมผัสได้ และเก็บไว้ในใจได้

เธอเคยกล่าวไว้อย่างอ่อนโยนแต่ชัดเจนว่า “Books for children are their first gallery” หนังสือภาพสำหรับเด็กคือแกลเลอรี่แห่งแรกของชีวิต ดังนั้นมันจึงควรเป็นพื้นที่ที่เด็กได้พบกับศิลปะที่แท้จริง ไม่ใช่ศิลปะที่ถูกทำให้น่ารัก กุ๊กกิ๊ก และมีลักษณะแบบเดียวกัน จนเสียเสน่ห์
หนังสือของเธอจึงมักมีช่องว่าง พื้นที่ที่เด็กสามารถเติมเต็มด้วยจินตนาการของตัวเอง ภาพที่ไม่สมบูรณ์ เรื่องราวที่ไม่มีจุดจบที่แน่ชัด คำถามที่ไม่มีคำตอบเดียว สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ข้อบกพร่อง แต่เป็นของขวัญที่เธอมอบให้ เป็นพื้นที่สำหรับความคิดสร้างสรรค์ที่เติบโตขึ้น

เธอเชื่อว่าหนังสือควรเป็นเครื่องมือที่ฝึกฝนสุนทรียภาพและความคิดนอกกรอบของเด็กตั้งแต่ยังเล็ก เหมือนกับการที่เราให้เด็กได้เล่นดินเหนียว ได้สัมผัสกับวัสดุต่างๆ ได้ทดลองและผิดพลาด
การที่เด็กได้สัมผัสกับศิลปะที่ไม่มีคำตอบตายตัวจะช่วยให้เด็กโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถอยู่กับความไม่แน่นอนได้ เข้าใจความซับซ้อนได้ และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้
ใต้เงาแห่งอำนาจ ศิลปะเป็นเสรีภาพ
งานของ Květa ในช่วงปี 1960-1980 ไม่สามารถแยกออกจากความเป็นจริงทางการเมืองได้ ในขณะที่เชคโกสโลวาเกียอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหภาพโซเวียต รัฐบาลควบคุมเนื้อหาในสื่อและหนังสืออย่างเข้มงวด หนังสือเด็กถูกมองเป็นเครื่องมือสำคัญในการหล่อหลอมจิตใจ’

ในยุคนั้น หนังสือเด็กส่วนใหญ่ต้องสอนให้เด็กเป็น “พลเมืองดี” ที่เชื่อฟัง ไม่ตั้งคำถาม และยอมรับสิ่งที่ถูกกำหนดให้ แต่ Květa เลือกเส้นทางที่ละเอียดอ่อนแต่กล้าหาญ เธอไม่ได้ต่อต้านด้วยคำพูด แต่ใช้รูปแบบ การสร้างพื้นที่ที่ไม่สามารถควบคุมได้
การใช้สีแดงร้อนแรงในผลงานของเธอไม่ได้เป็นการสนับสนุนอุดมการณ์ใดอุดมการณ์หนึ่ง แต่เป็นการยืนยันถึงพลังชีวิตที่ไม่สามารถถูกกดขี่ รูปทรงเรขาคณิตที่บิดเบี้ยวคือการไม่ปฏิบัติตามกฎ และเป็นการท้าทายความคิดที่ว่าทุกสิ่งต้องเป็นระเบียบ หรือคาดเดาได้
ที่สำคัญกว่านั้นคือการที่เธอปฏิเสธการให้คำตอบที่ชัดเจนในหนังสือ สิ่งนี้เป็นรูปแบบหนึ่งของการต่อต้านอุดมการณ์ที่ต้องการให้ทุกคนคิดไปในทิศทางเดียวกัน การสร้างพื้นที่ว่างให้เด็กเติมเต็มด้วยจินตนาการของตัวเองเป็นการปกป้องเสรีภาพในการคิดอย่างนุ่มนวล

บางครั้งผลงานของเธอถูกมองว่า “ไร้สาระ” หรือ “ยากเกินไปสำหรับเด็ก” แต่ในความจริงแล้ว การวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้สะท้อนความกลัวของระบบต่อสิ่งที่ไม่สามารถจำแนกหรือควบคุมได้
ในโลกที่อุดมการณ์ทางการเมืองพยายามเขียนอนาคตให้มนุษย์ Pacovská กลับเลือกที่จะมอบอนาคตคืนให้กับเด็กเป็นผู้กำหนดเอง หนังสือของเธอเป็นเสมือนพื้นที่เล็กๆ ที่เสรีภาพยังคงอยู่ได้ ท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยการควบคุม
รอยเท้าที่ยังคงมองเห็นได้
เมื่อผลงานของ Květa Pacovská เได้รับการจัดพิมพ์ในหลายประเทศหลังจากที่เธอได้รับรางวัล Hans Christian Andersen กระแสความคิดเรื่อง “หนังสือภาพในฐานะศิลปะ” ได้เริ่มต้นแพร่กระจายไปทั่วโลก

ศิลปินอย่าง Katsumi Komagata จากญี่ปุ่น ผู้สร้างสรรค์หนังสือที่เน้นการสัมผัสและการโต้ตอบ ได้รับแรงบันดาลใจจากแนวคิดของเธอ รวมถึง Bruno Munari จากอิตาลี และ Blexbolex จากฝรั่งเศส ที่ต่างมองหนังสือเป็นสื่อที่สามารถสร้างประสบการณ์ได้หลากหลายรูปแบบ
ในปัจจุบัน แนวคิดของเธอได้ขยายไปสู่โลกดิจิทัล นักพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับเด็กเริ่มตระหนักว่าการโต้ตอบกับเทคโนโลยีควรส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ไม่ใช่เพียงแค่การตอบสนองต่อคำสั่ง

ที่สำคัญกว่านั้น เธอได้เปลี่ยนความหมายของการรู้หนังสือจากการ “อ่านภาพ” ไปสู่การ “สร้างความหมายผ่านภาพ” เด็กในยุคปัจจุบันจึงได้เรียนรู้ว่าการมองคือการคิด และการคิดคือกระบวนการสร้างสรรค์
หลายสำนักพิมพ์เริ่มเปิดใจต่อหนังสือที่ให้พื้นที่สำหรับการตีความมากกว่าการบอกเล่า และศิลปินรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ว่าการเคารพในความสามารถของเด็กคือจุดเริ่มต้นของศิลปะที่ดี
เมื่อกระดาษเป็นมากกว่ากระดาษ
เมื่อ Květa Pacovská เดินทางจากไปในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2023 ในวัย 94 ปี เธอได้ทิ้งโลกที่เต็มไปด้วยสี เสียง และความเป็นไปได้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด เธอยังคงหายใจอยู่ในทุกหน้ากระดาษที่เชิญชวนให้เด็กได้เล่น สำรวจ และสร้างความฝันของตัวเอง

งานของเธอเปลี่ยนวิธีที่เรามองหนังสือภาพ เธอแสดงให้เห็นว่าเด็กไม่ต้องการแค่เรื่องราวที่ถูกเล่าให้ฟัง แต่ต้องการประสบการณ์ที่ปลุกจินตนาการ ต้องการพื้นที่ที่เราต่างจะได้เป็นผู้สร้างสรรค์ด้วยตัวเอง
ในยุคที่โลกเต็มไปด้วยข้อมูลและคำตอบสำเร็จรูป แนวคิดของ Květa ยิ่งมีความหมาย เธอเตือนเราว่าความงามที่แท้จริงเกิดจากคำถาม ไม่ใช่คำตอบ และเด็กที่ดีที่สุดคือเด็กที่ได้เรียนรู้การสงสัย การสำรวจ และการสร้างสรรค์
เมื่อเราเปิดหนังสือของเธอ เราไม่ได้เพียงแค่อ่าน เราได้เข้าสู่พื้นที่ที่ความเป็นเด็กและความเป็นศิลปินมาพบกัน ที่นั่น สีแดงไม่ได้หมายถึงอันตราย แต่หมายถึงอะไรก็ได้ ความว่างเปล่าไม่ได้หมายถึงการขาดแคลน แต่หมายถึงอนาคตที่กว้างใหญ่ไพศาล
Květa Pacovská ไม่เพียงแค่สร้างหนังสือ เธอสร้างประตูสู่โลกที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ โลกที่ทุกคนสามารถเข้าไปสร้างสรรค์ได้ด้วยมือของตัวเอง ด้วยใจที่เต็มไปด้วยความสงสัย และด้วยความกล้าที่จะเล่นกับสิ่งที่ยังไม่รู้
วันนี้ เมื่อเราเดินผ่านร้านหนังสือ เห็นเด็กๆ นั่งพลิกหน้าหนังสือด้วยสายตาที่เต็มไปด้วยความสงสัย เราจะนึกถึงเธอ ผู้หญิงคนหนึ่งจากปรากที่เชื่อว่ากระดาษสามารถเป็นสนามเด็กเล่นได้ และความฝันของเด็กคือศิลปะที่งดงามที่สุดในโลก
อ้างอิง
- IBBY (International Board on Books for Young People). “Květa Pacovská — intertwining poetic atmosphere and imagination in children’s books.” 2023.
- Hans Christian Andersen Awards Archive. “The Hans Christian Andersen Awards 1956-2002.” IBBY Publication, 2002.
- Memory of Nations. “Květa Pacovská (1928-2023).”
- 50 Watts. “Květa Pacovská 1968” และ “Fairy Tales for Work Days and Personal Days.”
- Prague City Gallery (GHMP). Exhibition Archives: “Květa Pacovská: Maximum Contrast” และ “Květa Pacovská: Run till the End.”