กรรมกรในรั้วมหาวิทยาลัย 

วันแรงงานผ่านพ้นไป. แม้จะเป็นวันหยุด, ผมก็ไม่อาจหยุดคิดเกี่ยวกับความหมายที่แท้จริงของแรงงานได้.

อันที่จริงแล้ว, สำหรับผม, วันแรงงานไม่ใช่วันหยุดตามความหมายทั่วๆ ไป เพราะผมได้กลายเป็นนายตัวเอง, ทำงานรับจ้างอิสระ, จึงทำให้หลายต่อหลายครั้งวันทำงานของคนส่วนใหญ่กลายเป็นวันหยุดของผม และวันหยุดของผมกลับกลายเป็นวันทำงานของคนส่วนใหญ่. แต่ไม่ว่าจะอย่างไร, ผมมาคิดดูก็พบว่า ก่อนที่ผมจะตัดสินใจผันตัวมาเป็นนายจ้างของตัวเอง, ผมเองเคยเป็นกรรมกรมาก่อน – ‘กรรมกรในรั้วมหาวิทยาลัย.’ 

กรรมกรในรั้วมหาวิทยาลัย… 

บางท่านที่ได้ยินคำนี้เข้า คงคิดว่าผมบ้า หรือไม่ก็อาจคิดสงสัยและไม่เข้าใจว่า ‘กรรมกร’ จะไปอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยได้อย่างไร เพราะในนั้นมีแต่ครูบาอาจารย์ผู้อุดมความรู้และมากวิชาการ, เรียนจบสูงเป็นถึงดร., จำนวนไม่น้อยก็มีตำแหน่งวิชาการนำหน้า. บางท่านอาจตั้งคำถามว่า หน้าที่ของครูบาอาจารย์คือการสอนหนังสือ, ถ่ายทอดความรู้, ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้แก่ลูกศิษย์ทั้งหลายมิใช่หรือ? ไฉนเลยจะเป็นงานกรรมกรไปได้?

ผมเข้าใจดีหากท่านที่อยู่นอกวงการอุดมศึกษาจะมีความคิดเห็นเกี่ยวกับผู้ประกอบอาชีพอาจารย์ดังที่ได้กล่าวไว้.

ทว่า, สิ่งที่ท่านเห็นนั้นเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งเรียวแหลมสวยงาม. ภายใต้งานสอน, ยังมีงานด้านอื่นๆ จำนวนมาก, ซุกซ่อนอยู่. ภายใต้ยอดภูเขาน้ำแข็งอันสวยงามนั้น, ยังมีมวลมหาภาระงานมหาศาลจมอยู่ใต้ทะเลลึกอันเย็นยะเยือก, ซึ่งงานเหล่านั้น ดูเหมือนจะเบียดบังการทำงานสอนและผลาญเวลาในชีวิตไปอย่างน่าเวทนา.

และงานเหล่านี้เอง ที่ทำให้อาจารย์มหาวิทยาลัยมีชีวิตไม่ต่างจากผู้ใช้แรงงานคนอื่นๆ.  

หากยังนึกไม่ออกว่ากรรมกรในรั้วมหาวิทยาลัยต้องทำอะไรบ้าง, ผมขออนุญาตสาธยายโดยเริ่มต้นจากยอดภูเขาน้ำแข็งก่อน.  

แน่นอนว่า งานสอนเป็นงานที่ทุกคนนึกถึงเป็นอันดับแรกเมื่อได้ยินคำว่าอาจารย์. ใช่, มันคืองานอันเป็นใจความหลักของผู้ประกอบอาชีพนี้. แต่ก่อนจะขึ้นสอนหน้าชั้นได้อย่างน่าสนใจและสามารถถ่ายทอดความรู้ได้อย่างไหลลื่นไม่ติดขัดนั้น, อาจารย์ต้องใช้เวลาเตรียมสอนมากกว่าเวลาที่ใช้สอนจริงหลายเท่าตัว. สำหรับผม, การบรรยายหนึ่งชั่วโมงใช้เวลาเตรียมสอน 2-3 ชั่วโมง. หากสอน 3 ชั่วโมง, ก็อาจจะต้องเตรียม 6-9 ชั่วโมง. จริงอยู่, อาจารย์จำนวนไม่น้อยอาจจะเลือกสอนเนื้อหาเดิม, พูดทวนซ้ำสิ่งที่เคยสอนไปแล้วเมื่อปีการศึกษาก่อนหน้า, ซึ่งไม่ใช่สิ่งผิดอันใด. แต่หากปรารถนาจะได้รับการสอนที่มีชีวิตชีวาและเนื้อหาที่สดใหม่, การเตรียมสอนทุกครั้งก่อนเข้าสอนจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้. 

การสอนย่อมต้องมาพร้อมกับการประเมิน. ปลายเทอม, อาจารย์ต้องออกข้อสอบในรายวิชาที่ตนเองสอนเพื่อวัดและประเมินความรู้ของนักศึกษา. เมื่อฤดูกาลแห่งการสอบมาถึง, อาจารย์มีหน้าที่คุมสอบ. ในมหาวิทยาลัยที่ผมเคยสังกัดอยู่, ผมเคยคุมสอบเจ็ดวันติดกันรวดเช้าจรดเย็น. ในห้องสอบ, ผมต้องแจกข้อสอบ, ตรวจสอบตัวตนนักศึกษา, เดินสอดส่องป้องกันการทุจริตและดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายในห้องสอบ. เมื่อเทศกาลการสอบผ่านพ้นไป, การตรวจข้อสอบก็มาถึง. เพื่อนร่วมงานต่างภาควิชาของผมจำนวนไม่น้อย ต้องตรวจข้อสอบอัตนัยจำพวกเรียงความไม่ต่ำกว่าร้อยฉบับ, หรืออาจจะถึงสองร้อย. สองร้อยฉบับต่ออาจารย์หนึ่งคน!

ต่อจากนี้เรากำลังดำดิ่งลงสู่ส่วนที่อยู่ใต้ท้องทะเลลึก. 

ภาระงานแรก คือ การผลิตผลงานทางวิชาการ, ไม่ว่าจะเป็นการเขียนบทความ/ตำรา/หนังสือ. งานนี้เป็นสิ่งที่มีน้ำหนักมากในการพิจารณาต่อสัญญา. อาจารย์จำนวนมากต้องออกจากระบบไป เพราะไม่สามารถผลิตผลงานวิชาการได้ตามที่มหาวิทยาลัยต้องการ, แม้ว่าจะสอนได้ดีและเป็นที่ชื่นชอบของนิสิตนักศึกษามากเพียงใดก็ตาม. ความกดดันยังไม่จบอยู่เพียงเท่านั้น, อาจารย์ยังต้องทำผลงานเพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการ. หากไม่ขอตำแหน่งวิชาการภายในระยะเวลาที่กำหนด, ก็อาจจะไม่ได้รับการต่อสัญญา, หรือก็คือโดนไล่ออกนั่นเอง.  

ภาระงานต่อมา คือ การเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา. ผู้เป็นอาจารย์ย่อมต้อนรับลูกศิษย์ทุกคนอย่างเป็นมิตรและปฏิบัติกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน. ทว่า, หลายครั้งอาจารย์ต้องเข้าไปช่วยเหลือและจัดการกับปัญหาของลูกศิษย์ที่มากกว่าแค่เรื่องการเรียน. ปัญหาครอบครัว, ปัญหาสุขภาพจิตของนักศึกษากลายเป็นเรื่องของอาจารย์ที่จะต้องเข้าไปช่วยแก้ไขหรือหาทางออกให้แก่นักศึกษา. เพื่อนในวงการอาจารย์ต่างมหาวิทยาลัยเคยเล่าให้ฟังว่า มีนักศึกษาในที่ปรึกษาของตนตัดสินใจจบชีวิตตนเองด้วยความเครียดในชีวิตการเรียน. 

แล้วไหนจะต้องทำ มคอ., เตรียมรับการประเมินหลักสูตร, จัดกิจกรรมพัฒนานักศึกษา, กิจกรรมบริการวิชาการ, กิจกรรมทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม, อิเวนต์สัญจรต่างๆ, กิจกรรมหารายได้เข้าคณะหรือภาควิชา, รวมทั้งกิจกรรมเอาหน้าอื่นๆ เช่น กิจกรรมถวายความจงรักภักดี, มิพักเอ่ยถึงงานประชุมน้อยใหญ่ทั้งหลาย, ที่ส่วนมากจับใจความสำคัญอะไรไม่ค่อยได้นอกจากไปฟังผู้มีอำนาจพร่ำบ่นเรื่องของตัวเอง. 

เห็นแล้วยังว่าอาจารย์ก็คือกรรมกรทางการศึกษาดีๆ นี่เอง.    

นอกจากหลายท่านจะไม่ทราบว่าอาจารย์เป็นกรรมกรทางการศึกษาแล้ว, หลายท่านยังอาจเข้าใจผิดอีกด้วยว่าอาจารย์เป็นอาชีพที่ร่ำรวย. แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น. อาจารย์ในระดับล่างก็เหมือนประชาชนธรรมดาๆ ทั่วไปที่ไม่ได้ร่ำรวยอะไร เพราะรับแต่เงินเดือนระดับเศษเงิน (ปริญญาโทเฉลี่ยเริ่มต้นอยู่ที่ราวๆ สองหมื่นต้นๆ ไม่ถึงสองหมื่นห้า). หากคิดอยากร่ำรวยต้องเป็นผู้บริหาร, ซึ่งเส้นทางแห่งศึกชิงอำนาจนี้ดุเดือดไม่ต่างจาก Game of Thrones, เพราะมีรายรับอื่นๆ นอกเหนือจากเงินเดือนและมีรายได้มากมายหลายช่องทาง. หากจะกล่าวว่ามหาวิทยาลัยไทยเป็นแบบจำลองขนาดย่อมของประเทศไทยก็คงไม่ผิด.     

พูดไปก็น่าเศร้า, ที่กรรมกรทางการศึกษา, ซึ่งอุทิศแรงกายและแรงใจในการยกระดับสติปัญญาของคนในประเทศอันเป็นรากฐานสำคัญของการประเทศ, กับต้องอยู่อย่างอัตคัดขัดสน, ยากจนเกินกว่าจะมีกำลังและเวลานั่งลงเพื่อผลิตผลงานวิชาการดีๆ หรือเตรียมสอนอย่างถี่ถ้วนได้ เพราะต้องแบ่งเวลาไปหาเลี้ยงชีพด้วยการทำงานเสริมอื่นๆ. ครั้งหนึ่ง, ขณะออกไปนั่งรับประทานอาหารพร้อมปรับทุกข์จากการทำงาน, เพื่อนอาจารย์คนหนึ่งพูดกับผมด้วยน้ำเสียงเจือความวิตกว่า หลังจากนี้ห้ามนัดกินข้าวกันอีกแล้ว, เธอไม่มีเงินเหลือแล้วเพราะจ่ายค่าเช่าที่พัก, ค่าน้ำ-ค่าไฟและผ่อนของไปเรียบร้อย. ผมลืมบอกไปว่า เรานัดกันหลังเงินเดือนออกเพียงสองวัน.

แม้ผมได้ปลดปล่อยตัวเองออกมาจากรั้วมหาวิทยาลัย, สิ้นสุดสภาพการเป็นกรรมกรทางการศึกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว, แต่ผมก็ยังรู้สึกเห็นใจอดีตเพื่อนร่วมแรงงานหลายๆ ท่านที่เคยช่วยเหลือและร่วมงานกันมา. ผมคิดว่าเราควรเอาจริงเอาจังกับการดูแลกรรมกรทางการศึกษาให้ดีกว่าที่เป็นอยู่. ค่าตอบแทนควรสมเหตุสมผล; ให้มีกิน, มีใช้และมีเก็บอย่างไม่เดือดร้อน. พร้อมสวัสดิการที่ชัดเจนและครอบคลุม, จับต้องได้.   

คิดมาหลายเรื่อง, คิดจนเหนื่อย, แต่ผมก็ยังคงคิดไม่ตกว่า ทำไมกรรมกรผู้ใช้แรงงานในรั้วมหาวิทยาลัยถึงไม่ได้หยุดในวันแรงงาน.   


Writer

Avatar photo

กิตติศักดิ์ โถวสมบัติ

นักเขียน/นักแปล/ล่ามอิสระ เจ้าของเพจชวนคิด, ชวนตั้งคำถามและถ่ายทอดสรรพวิทยา The Wissensdurst.

Illustrator

Avatar photo

ชินารินท์ แก้วประดับรัฐ

มีงานหลักคือฟังเพลง งานอดิเรกคือทำกราฟิกที่ไม่มีอะไรตายตัว บางครั้งพูดไม่รู้เรื่องต้องสื่อสารด้วยภาพและมีม

Related Posts