- การเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้สัมผัสประสบการณ์หลากหลายและได้ทดลองใช้ทักษะต่าง ๆ ในชีวิตจริงจะทำให้ทักษะและองค์ความรู้นั้นยั่งยืน
- การเรียนรู้ตามสภาพจริงเกี่ยวโยงกับแนวทางการเรียนการสอนที่เรียกว่า “ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง” ที่ผู้เรียนจะคิด วิเคราะห์ หาข้อสรุปด้วยตัวเอง
- เมื่อผู้เรียนค้นพบจุดประสงค์ของการเรียนรู้ที่ตอบสนองจุดมุ่งหมายของตัวเอง เมื่อนั้นการศึกษาจะมีความหมายต่อชีวิตของเขาอย่างแท้จริง
ในทางการศึกษา “การเรียนรู้ตามสภาพจริง” ถูกใช้ในความหมายที่ครอบคลุมกลวิธีทางการศึกษาและการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นการเชื่อมโยงเนื้อหาในห้องเรียนกับประเด็นปัญหาและการประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง
แนวคิดพื้นฐานคือ ผู้เรียนจะมีแนวโน้มสนใจในสิ่งที่เรียนมากขึ้น มีแรงบันดาลใจในการเรียนรู้แนวคิดและทักษะใหม่ ๆ มากขึ้น และพร้อมที่จะประสบความสำเร็จในมหาวิทยาลัย ที่ทำงาน และในชีวิตวัยผู้ใหญ่มากขึ้นหากการเรียนรู้เกิดขึ้นในบริบทที่เหมือนกับชีวิตจริง ฝึกฝนทักษะที่มีประโยชน์และใช้ได้จริง อีกทั้งครอบคลุมประเด็นที่เกี่ยวข้องและประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน
ในการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ “ตามสภาพจริง” ผู้เรียนอาจได้รับโจทย์ให้ตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับกลไกของระบบนิเวศที่ได้จากการสำรวจแหล่งธรรมชาติในท้องถิ่นด้วยตนเอง จากนั้นให้ออกแบบและดำเนินการทดลองเพื่อพิสูจน์สมมติฐานของตนเอง หลังทำการทดลองเสร็จสิ้นแล้ว ผู้เรียนจะบันทึกผลการทดลอง นำเสนอ และสอบปกป้องผลการทดลองกับนักวิทยาศาสตร์ผู้ทำหน้าที่เป็นกรรมการสอบ ในทางตรงข้าม การเรียนรู้ที่ไม่เป็นไปตามสภาพจริงอาจเป็นการมอบหมายให้ผู้เรียนอ่านแนวคิดนี้ในตำรา ท่องจำกระบวนการที่ออกแบบมาแล้ว และสอบแบบปรนัยเพื่อวัดผลว่าจำเนื้อหาได้แม่นยำเพียงใด
จากตัวอย่างการเรียนรู้ตามสภาพจริงข้างต้น ผู้เรียนเรียนผ่านการลงมือทำ ซึ่งต้องอาศัยทักษะพื้นฐาน ความรู้และความเข้าใจที่นักวิทยาศาสตร์ต้องการและใช้ในการทำงานจริง ๆ กรณีนี้ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ทักษะที่เกี่ยวข้อง เช่น การคิดเชิงวิพากษ์ การแก้ปัญหา การตั้งข้อสังเกตทางวิทยาศาสตร์ การจดบันทึก ระเบียบวิธีวิจัย การเขียน การนำเสนอผลงานและการพูดในที่สาธารณะ ส่วนการเรียนแบบท่องจำมีจุดมุ่งหมายหลักคือสอบได้คะแนนสูง ผลที่ตามมาคือ ผู้เรียนจำสิ่งที่เรียนไม่ได้เพราะแนวคิดยังจับต้องไม่ได้ ยังเป็นเพียงทฤษฎีที่ขาดความเชื่อมโยงกับประสบการณ์ตรง พอผู้เรียนไม่ได้ใช้ทักษะที่เรียนรู้จากชีวิตจริง ผู้สอนก็ประเมินไม่ได้ว่าพวกเขาจะนำความรู้ไปประยุกต์ใช้เป็นทักษะจริง ๆ ได้หรือไม่ หรือจะซึมซับนิสัยที่จะมีประโยชน์นอกรั้วโรงเรียนหรือเปล่า
อีกหลักการหนึ่งของการเรียนรู้ตามสภาพจริงคือการเลียนแบบความซับซ้อนและกำกวมของชีวิตจริง ในข้อสอบวิทยาศาสตร์แบบปรนัยมีคำตอบถูกหรือผิดที่ตัดสินโดยผู้สอนหรือผู้ออกข้อสอบ แต่สำหรับทฤษฎีและผลการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์จริง ๆ หลายครั้งมีคำตอบที่มีแนวโน้มจะถูกต้องมากมายจนเป็นการยากหรือเป็นไปไม่ได้ที่จะชี้ขาดได้ว่าอะไรถูกหรือผิด ด้วยเหตุนี้ การเรียนรู้ตามสภาพจริงมักจะออกแบบจากคำถามปลายเปิดโดยไม่มีคำตอบถูกผิดที่ตายตัว หรือปัญหาซับซ้อนที่มีทางออกที่เป็นไปได้หลายทาง ซึ่งต้องใช้วิธีการศึกษาหลากหลายรูปแบบ
นอกจากนั้น การเรียนรู้ตามสภาพจริงมีแนวโน้มเป็น “สหวิทยาการ” เพราะชีวิต ความรู้และความเข้าใจมักไม่มีการจัดประเภทว่าเป็นศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งอย่างเป็นเอกเทศ และคนเราต้องประยุกต์ทักษะและความรู้หลาย ๆ ด้านในสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งในชั้นเรียนและในชีวิตจริง โดยทั่วไปแล้ว การเรียนรู้ตามสภาพจริงมุ่งไปที่การสนับสนุนให้ผู้เรียนคิดอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น ตั้งคำถามที่ท้าทาย พิจารณาหลักฐานหลาย ๆ แบบ สังเกตรายละเอียดเล็กน้อย ชั่งน้ำหนักความคิด ไตร่ตรองความย้อนแย้ง และหาทางออกแก่ปัญหาและสถานการณ์ยากลำบาก
ตัวอย่างที่อาจจะชัดเจนที่สุดตัวอย่างหนึ่งของการเรียนรู้ตามสภาพจริงคือการที่ผู้เรียนมีส่วนช่วยพัฒนาสังคมของตัวเองหรือศาสตร์ที่ตนเองศึกษา ผู้ชนะในมหกรรมวิทยาศาสตร์โลกกูเกิลอาจเป็นตัวอย่างที่โดดเด่น ในปี 2012 บริตทานี เวนเจอร์ วัย 17 ปี ผู้ชนะรางวัลชนะเลิศได้สร้างซอฟต์แวร์ “โครงข่ายประสาทจำลอง” ที่สามารถวินิจฉัยมะเร็งเต้านม โดยมีอัตราความแม่นยำ 90% เมื่อทดสอบในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยแล้ว และแอปพลิเคชันนี้มีโอกาสถูกนำไปใช้ในโรงพยาบาล
แม้นักเรียนจำนวนไม่มากนักจะสามารถออกแบบการวินิจฉัยมะเร็งเต้านมที่สะดวกรวดเร็วได้แบบเธอ การศึกษาก็สามารถสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ตามสภาพจริงได้หลากหลายรูปแบบ เช่น ในวิชาวิทยาศาสตร์สามารถศึกษาเรื่องการประหยัดน้ำ มอบหมายให้ผู้เรียนวิเคราะห์การใช้น้ำในโรงเรียน เสาะหาวิธีลดการใช้น้ำ และนำเสนอแนวทางการอนุรักษ์น้ำบนกระดานประกาศ ซึ่งมีคำแนะนำหลายประการ อาทิ ติดป้ายห้ามเปิดน้ำทิ้งไว้ในห้องน้ำ ติดตั้งก๊อกน้ำอัตโนมัติ ใช้ถังรองน้ำฝน ปลูกพืชที่ทนแล้งไว้ในสวน เป็นต้น
เมื่อแนวทางแก้ปัญหาเหล่านี้ถูกนำไปใช้จริง ผู้เรียนสามารถสำรวจโดยการคำนวณปริมาณน้ำที่คนใช้ในแต่ละวัน สัปดาห์หรือปี จากนั้นจัดทำเว็บไซต์ อินโฟกราฟิก หรือวิดีโอเพื่อเผยแพร่ข้อมูลให้กับผู้บริหารโรงเรียนและชุมชนที่กว้างขึ้น
การเรียนรู้ตามสภาพจริงเกี่ยวโยงกับแนวทางการเรียนการสอนที่เรียกว่า “ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง” และในบางบริบทอาจใช้คำเรียกสลับกันได้
พาการศึกษาออกสู่โลกกว้าง
จุดมุ่งหมายของการศึกษาคือการเตรียมความพร้อมตลอดชีวิต ในยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร การแบ่งปันความรู้ขับเคลื่อนด้วยการเชื่อมต่อ เปลี่ยนธรรมชาติของการเรียนรู้ที่เทคโนโลยีถูกนำมาใช้ควบคู่กับการศึกษา สร้างโอกาสใหม่ ๆ ในการร่วมมือกัน สร้างเครือข่ายและเผยแพร่แนวคิดใหม่ ๆ
เพื่อให้กระบวนการเรียนรู้มีประสิทธิภาพสูงสุด แผนการเรียนรู้ควรจุดประกายความสร้างสรรค์ จินตนาการและความใฝ่รู้ เมื่อเชื่อมต่อห้องเรียนเข้ากับโลกภายนอก ผู้สอนสามารถแสดงให้เห็นว่ารายวิชานั้น ๆ เกี่ยวข้องกับโลกจริงอย่างไรและทำให้ผู้เรียนเห็นว่ามีความเป็นไปได้ใดบ้าง อันจะเป็นกรอบแนวคิดที่มีความหมายต่อทั้งพัฒนาการทางการศึกษาและส่วนบุคคล
กิจกรรมแบบสื่อผสมเป็นบริบทที่เหมาะแก่การออกแบบการเรียนรู้และเป็นทางเลือกในการสอน นำสื่อการเรียนรู้มาไว้บนหน้าฟีด พอดแคสต์ หรือวิดีโอสตรีมมิงจะเป็นการขยายขอบเขตของห้องเรียนให้กว้างขวาง ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับเทคโนโลยีการเรียนรู้ส่งเสริมให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตัวเองมากขึ้นเพราะพวกเขาสนใจสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวและหาคำตอบเพื่อไขข้อสงสัยของตัวเอง
การใช้สื่อต่าง ๆ เพื่อจุดประกายการเรียนรู้ส่งผลดีต่อนักเรียนทุกคน เราสามารถเตรียมพร้อมคนรุ่นใหม่ให้สำรวจทั้งสิ่งที่เรียนรู้ในและนอกห้องเรียนซึ่งเข้าถึงพวกเขาและหาวิธีใหม่ ๆ ในการสานสัมพันธ์กับคนรอบข้างและโลก
แนวทางการทำให้การศึกษาเกี่ยวข้องกับชีวิตนอกรั้วโรงเรียนมีดังนี้
ติดตามกระแสโลก
นำข่าวสารปัจจุบันเข้าไปผสมกับบทเรียนเพื่อเพิ่มความน่าสนใจ ช่วยให้ผู้เรียนตระหนักถึงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลกและเปิดโอกาสให้พวกเขาหาความเชื่อมโยงระหว่างบทเรียนกับสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกจริง ให้พวกเขาได้สัมผัสความหลากหลายทางวัฒนธรรม สังคมและมุมมองทางการเมืองที่อาจไม่ได้พบเจอที่อื่น ผู้เรียนที่ติดตามข่าวสารจะมีทัศนคติที่รับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้นและพร้อมจะอยู่ในโลกอันแตกต่างหลากหลาย
ใช้เทคโนโลยี
งานวิจัยไม่นานมานี้พบว่าผู้เรียนใช้โทรศัพท์เฉลี่ย 30 นาทีในห้องเรียน จะดีกว่าไหมหากเราการนำการเรียนรู้ไปอยู่ในหน้าจอโทรศัพท์แทนที่จะห้ามใช้ ในบริบทอื่นอย่างการทำงาน โทรศัพท์และเทคโลโลยีอื่น ๆ ก็มีพร้อมใช้ ดังนั้น การจัดการการใช้งานและดึงประโยชน์สูงสุดจากมันควรเริ่มต้นตั้งแต่วัยเรียนและเตรียมความพร้อมให้พวกเขาเข้าสู่โลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ลองมอบหมายให้ผู้เรียนค้นคว้าข้อมูลด้วยโทรศัพท์มือถือหรือใช้สื่อการเรียนรู้ออนไลน์เป็นส่วนหนึ่งของบทเรียน
ส่งเสริมการทำงานกลุ่ม
การทำงานส่วนมากอาศัยการทำงานเป็นทีม ดังนั้น การเตรียมความพร้อมให้ผู้เรียนคุ้นเคยกับการทำงานร่วมกับผู้อื่นแต่เนิ่น ๆ จึงมีประโยชน์มาก แบบฝึดหัดแก้ปัญหาแบบกลุ่มที่ต้องแบ่งปันประสบการณ์การเรียนรู้เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านการอภิปราย การอธิบายและประเมินแนวคิดต่าง ๆ งานวิจัยหลายชิ้นพบว่าผู้เรียนที่เชื่อมโยงกับคนอื่นและสังคมภายนอกผ่านการเรียนรู้ในสังคมจะมีทักษะการคิดขั้นสูงและจดจำข้อมูลได้ดีกว่าคนที่เรียนรู้ด้วยตัวเอง
สนับสนุนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
แทนที่จะสอนให้ผู้เรียนท่องตามเป็นนกแก้วนกขุนทอง สอนให้เขาหาข้อมูลด้วยตัวเอง ในยุคที่การเข้าถึงข้อมูลง่ายแสนง่าย การท่องจำอาจไม่สำคัญเท่ากับความสามารถในการวิเคราะห์และประเมินข้อมูลที่พบ ความรู้ด้านสารสนเทศเป็นทักษะจำเป็นแห่งศตวรรษที่ 21 ผู้เรียนควรมีวิจารณญาณแยกแยะแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือและไม่น่าเชื่อถือเพื่อตัดสินใจบนพื้นฐานของการไตร่ตรอง เข้าใจโลกและสรรค์สร้างสิ่งดี ๆ แก่โลก
เคล็ดลับสำหรับผู้สอน
ตัวอย่างกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะช่วยให้ผู้เรียนได้สัมผัสประสบการณ์การเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับโลกจริงได้ ได้แก่
- เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้สำรวจสิ่งมีชีวิตหรือวัตถุต่าง ๆ เพื่อมอบประสบการณ์ตรง เช่น แบบจำลองสามมิติในวิชาเคมี ตัวต่อไม้ในวิชาคณิตศาสตร์ หรือวัตถุโบราณในวิชาสังคมศึกษา โอกาสในการเรียนรู้ด้วยตัวเองน่าตื่นตาตื่นใจและช่วยให้ผู้เรียนเข้าในแนวคิดนามธรรมได้ง่ายขึ้น
- หากเป็นไปได้ จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนประดิษฐ์หรือผลิตสิ่งที่มีประโยชน์ เช่น ทำโยเกิร์ตในวิชาชีววิทยา ทำไม้พายในวิชางานช่าง หรือไปดูงานกระบวนการต่าง ๆ และทดลองประกอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่โรงงาน
- หากมีโอกาสเหมาะสม ศึกษาปัญหาต่าง ๆ ที่คล้ายคลึงกับที่ผู้เรียนต้องเผชิญ สนับสนุนให้เขาหาทางแก้ปัญหาหรือค้นคว้าเกี่ยวกับกรณีศึกษาที่ใกล้เคียงกันเพื่อป้องกันมิให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในสถานการณ์ดังกล่าวโดยตรง
- หาโอกาสให้ผู้เรียนรวบรวม ใช้และจัดการกับข้อมูลจริงที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาต่าง ๆ
- หาโอกาสให้ผู้เรียนได้สื่อสารและแบ่งปันความรู้ที่ได้รับแก่ผู้ฟังนอกห้องเรียน
- ติดต่อประสานงานชุมชนต่าง ๆ เพื่อขอความร่วมมือในการจัดอบรมเพื่อให้ผู้เรียนสามารถฝึกฝนทักษะ เพิ่มพูนและประยุกต์ใช้ความรู้ในห้องเรียนในสถานการณ์จริง
อ้างอิง
https://www.wgu.edu/blog/experiential-learning-theory2006.html#close
https://schoolsubscription.com.au/the-importance-of-connecting-classrooms-to-the-real-world/
https://ablconnect.harvard.edu/make-real-world-connections-course-material
https://serc.carleton.edu/integrate/teaching_materials/themes/connect_world/real_examples.html
https://fcit.usf.edu/matrix/authentic-learning-mirroring-the-real-world/
https://www.edglossary.org/authentic-learning/
https://resources4rethinking.ca/en/toolbox/real-world-connections