เมื่อเด็กๆ ก่อกองทราย แล้วมันก็พังทลายลงมา Let’s play festival เทศกาล ‘เล่นอิสระ’ ที่ฝันอยากให้เด็กๆ ก่อกองทรายขึ้นใหม่เมื่อไหร่ก็ได้ตามใจปรารถนา

จำความรู้สึกตอนได้ “เล่น” อย่างอิสระได้ไหม?  แม้เวลาผ่านไปจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แล้วย้อนเล่าถึงเรื่องเล่นๆ ในวัยเด็กคราวใด หลายคนก็ยังพบตัวเองในเด็กน้อยคนนั้นที่กำลังเพลิดเพลินกับการเล่นได้อยู่เสมอ  นอกเหนือไปจากความสนุกเพลิดเพลินแล้ว  “การเล่น” ยังเป็นสนามแรกๆ ของชีวิตที่จะพาเด็กน้อยออกไปทักทายและทำความรู้จักกับโลกใบนี้ ดังที่ Nicholas A. Christakis นักสังคมวิทยา-แพทย์ และ Erika Christakis นักการศึกษา-นักเขียนผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาปฐมวัยได้เสนอเอาไว้ว่า “เมื่อใดเราปฏิเสธการเล่นของเด็ก เมื่อนั้นเรากำลังปิดกั้นเด็กจากสิทธิที่จะเข้าใจโลก” (https://online.pubhtml5.com/bkiy/hgwc/#p=13

มองกลับมาที่สังคมไทย เรื่องการเล่นของเด็กๆ ดูจะไม่ค่อยได้รับความสำคัญมากนัก ข้ามรั้วเข้าไปในหลายๆ โรงเรียน เราก็อาจเห็นสนามเด็กเล่นที่กำลังผุพัง ขณะที่กำลังเดินอยู่บนฟุตปาธของเมืองก็ดูจะยากนักที่จะจินตนาการถึงลานโล่งกว้างเพื่อปลดปล่อยพลังของการเล่น หยิบตารางเรียนขึ้นมาดูก็เหมือนจะอัดแน่นด้วยเนื้อหาวิชาเข้มๆ สำหรับการสอบแข่งขัน กลับบ้านไปก็เหนื่อยล้าเกินจะเล่นเพราะคลาสเรียนพิเศษเล่นเอาซะน่วมเสียก่อน และหากมองลึกลงไปในช่องว่างของสังคม เราก็อาจเห็นว่าโครงสร้างสังคม ความเหลื่อมล้ำ และเงื่อนไขมากมายยื่นมือมาถ่างขยายให้การเล่นห่างหายไปจากช่วงวัยแห่งการทักทายโลกของเด็กๆ จำนวนมาก    

ด้วยเหตุนี้ เครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก ประกอบด้วย มูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน สสย., มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก มพด., มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา มยพ., กลุ่มไม้ขีดไฟ, โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้, กลุ่ม we are happy ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ กรุงเทพมหานคร จึงลุกขึ้นมาลงสนามจุดประกายเรื่องเล่นๆ จนกลายมาเป็นเทศกาล ‘เล่นอิสระ’ หรือ  Let’s play festival ครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 17-19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์วิทยาลัย เพื่อส่งเสียงชวนทุกคนมาปลดปล่อยพลังความสุขด้วยการเล่น ทั้งยังเตรียมตัวออกวิ่งเล่นไปจุดประกายต่อในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศอีกด้วย 

มากไปกว่าความคึกคัก รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และเหงื่อท่วมตัวของเด็กๆ ที่ฉายออกมาให้เราเห็นในเทศกาลแห่งการเล่นอิสระครั้งนี้  “การเล่น” จะบอกอะไรกับคนเราได้อีกบ้าง? 

ชวนมุดเข้าไปในกล่อง ทะลุออกจากกรอบ ปีนต้นไม้ขึ้นไปทักทายท้องฟ้า แล้วนั่งคุย(เรื่อง)เล่นในหลากแง่มุมกับตัวแทนจากสามทีม กุ๋ย–ศรัทธา ปลื้มสูงเนิน ผู้จัดการงานเทศกาลเล่นอิสระ ผึ้ง—ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สสส.) และ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่มาร่วมลง(มือ)เล่นด้วยกันในครั้งนี้ 

กุ๋ย–ศรัทธา ปลื้มสูงเนิน

เราทุกคนต่างเริ่มต้นชีวิตด้วย “การเล่น” 

“มนุษย์เกิดมาก็เล่นแล้วครับ สัตว์ก็เหมือนกัน เราต่างเล่นเพื่อสตาร์ตชีวิต พอสมองเริ่มโต มันก็เริ่มโตลงขา พอเราเริ่มตั้งไข่ได้เราก็ต้องเล่น เพื่อจะพาตัวเองลุกขึ้นมาให้ได้” 

กุ๋ย–ศรัทธา เล่าถึงการเล่นที่ก่อร่างขึ้นมาพร้อมกับ “ชีวิต” ของคนเราตั้งแต่แรกเกิด และยังเล่าถึงการมารวมตัวกันของเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลกที่ตั้งต้นมาจากคำถามสำคัญว่า เราจะทำอย่างไรในการแก้ไขปัญหาเด็กในสังคมจากฐานราก ซึ่งพวกเขาก็ค้นพบว่าการกลับไปยังจุดสตาร์ตอย่าง ‘การเล่น’ นี่เองที่เป็นหนึ่งในกุญแจดอกสำคัญ 

ผึ้ง—ณัฐยา บุญภักดี

“เราพยายามหาคำตอบว่าเราจะทำอะไรเพื่อให้เด็กไม่ท้องก่อนวัย ไม่ตีกันตาย ไม่ตกมอเตอร์ไซค์ ไม่เมาเหล้าจนประสบอุบัติเหตุ เราพบว่ามันต้องไปติดตั้งในวัยทองของเด็กคือวัย 0-6 ขวบ ซึ่งเป็นวัยสตาร์ตของชีวิต พอมารวมตัวกันทำเรื่องเล่นอิสระเราก็พบว่าต่างประเทศเขาไปไกลมากในเรื่องนี้ พวกเราเลยคิดว่าต้องทำเทศกาลใหญ่สักเทศกาลเพื่อบอกให้คนไทยเห็นว่าคุณภาพชีวิตพื้นฐานอย่างพื้นที่การเล่นนี้เราควรเข้าถึง คนจนคนรวยควรเข้าถึงมัน

ผึ้ง–ณัฐยา คลี่ขยายถึงประเด็นเดียวกันนี้โดยยกตัวอย่างทารกแรกเกิดที่เริ่มอยากเคลื่อนไหวอิสระด้วยนิ้วมือทั้ง 10 นิ้ว ต่อด้วยเริ่มอยากจับโน่นจับนี่ ซึ่งเป็นฟรีเพลย์แบบแรกของมนุษย์ที่ทำให้เห็นว่า ‘เห้ย ร่างกายฉันขยับได้’  เธอยังกล่าวอีกว่าการเล่นอิสระเป็นการเล่นที่ทำงานกับคนเราแตกต่างออกไปจากการเล่นแบบอื่นๆ เพราะเป็นการเล่นแบบเดียวที่เด็กไม่ถูกบอกว่าจะต้องทำอะไร อะไรถูกอะไรผิด อะไรได้ไม่ได้ เด็กจะได้เป็นตัวของตัวเอง คิดเอง ทำเอง เรียนรู้ผ่านการคิดของตัวเอง  

“มันเป็นช่วงเวลาที่พวกเขาได้พัฒนาความเป็นตัวตนของเขา ความเป็นคนคนหนึ่งของเขา” 

ออกไปวิ่งเล่น “ข้างใน” โลก

เจตจำนงของชีวิตและความปรารถนาในการเล่นอิสระได้พานิ้วมือน้อยๆ ของเด็กให้เริ่มขยับ พาขาของพวกเขาเคลื่อนไหว กระโดด ป่ายปีน นอกจากเป็นจุดเริ่มต้นอันทรงพลังแล้ว การเล่นยังเป็นพลังในการทำความเข้าใจภายในของตัวเองเพื่อเดินทางออกไปยังจุดหมายปลายทางอื่นๆ  ในวันวัยต่างๆ ของชีวิตอีกด้วย ผึ้ง–ณัฐยา บอกว่า 

“การเล่นอิสระทำให้เด็กสร้างเมล็ดพันธ์ุไว้ข้างใน แล้วมันก็จะค่อยๆ เติบโต”  

ไม่เพียงเท่านั้นเธอยังชวนกลับไปสำรวจผู้ใหญ่ในสังคมที่มักอยากให้เด็กๆ เติบโตไปเป็นคนที่มีวินัยและโดยส่วนใหญ่ก็มักจะคิดว่าวิธีการที่จะสร้างเด็กให้มีวินัยนั้นจะต้องบังคับ ตี ดุด่า หรือเข้มงวดกวดขัน  ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นวิธีการที่ผิด เพราะหากความหมายของ “วินัย” คือการที่คนคนหนึ่งสามารถกำกับตัวเองให้ทำในสิ่งที่ควรจะทำอย่างสม่ำเสมอจนบรรลุเป้าหมายได้โดยไม่ต้องบังคับ การบังคับให้ทำย่อมไม่มีทางสร้างวินัยได้จริง 

ผึ้ง–ณัฐยาชี้ชวนให้เห็นว่าการสร้างวินัยแท้จริงแล้วนั้นสร้างได้ตั้งแต่เล็กๆ ด้วยการให้เด็กได้คิดเอง ลงมือทำเองผ่านการเล่น แล้วพวกเขาจะรู้จักตัวเองมากขึ้น ตัดสินใจและกำกับตัวเองในเรื่องต่างๆ ได้ดีขึ้น

นอกจากเรื่องของวินัยแล้วการเล่นยังพาเด็กเดินทางเข้าไปทำความเข้าใจความเป็นมนุษย์อย่างลึกซึ้ง ทำให้หัวใจของเด็กได้ออกไปโลดแล่นทั้งในโลกภายในและโลกภายนอก พวกเขาจะค่อยๆ รู้จักให้โอกาสตัวเองในการเรียนรู้ การล้ม ลุก และธรรมชาติของชีวิตที่ต้องปะทะกับเงื่อนไขในโลกรอบตัวเขาได้อย่างอัตโนมัติ เธอยกตัวอย่างผ่านการเล่นทรายของเด็กๆ  ว่า 

“เด็กเอาทรายกับน้ำก่อกองทราย เป็นรูปอะไรก็แล้วแต่ แล้วพอมันพังลง เขาเสียใจ ผู้ใหญ่ก็สะกิดว่าทำใหม่สิ ทำได้นะ หรือบางทีไม่ต้องบอกเลย เขาก็ทำใหม่เอง เขาจะเรียนรู้ทันทีเลย เขาจะมีความยืดหยุ่น ล้มเป็น ลุกเป็น ล้มแล้วลุกใหม่ เขาจะรู้ว่ามันเป็นเรื่องที่ทำได้ เรื่องพวกนี้สร้างได้ด้วยการเล่นหมดเลย” 

เช่นกันกับที่ กุ๋ยศรัทธา อธิบายว่า “ถ้าเด็กได้ปีนตาข่าย ในแง่ร่างกายกล้ามเนื้อมือมันได้ทำงาน แต่ในแง่ความคิดมันคือการวางแผนไปสู่เป้าหมายที่มันเหมาะสมกับคุณ คุณจะปีนได้กี่ช่องที่มันสอดคล้องกับคุณ จะไม่มีใครมาบอกว่าคุณค่าคืออะไร แต่มันจะเกิดได้ในบัดดลของมันเอง”  

ศานนท์ หวังสร้างบุญ

ขอเล่นด้วยคน

นอกจากโลกภายในตัวเอง และโลกรอบตัวของพวกเขา การเล่นยังทำงานในการสร้างความทรงจำ สร้างการเรียนรู้ให้แก่กันระหว่างเด็กกับคนในครอบครัว ศานนท์ หวังสร้างบุญ เล่าความรู้สึกและสิ่งที่ได้เรียนรู้ในฐานะ “คุณพ่อ” ที่คอยเฝ้ามองลูกในขณะกำลังเล่นว่า  

“โอ้ สนุกฮะ อย่างน้อยเขาก็ไม่ร้องไห้ใช่มะ (หัวเราะ) ผมว่าเราจะเห็นพัฒนาการของเขานะ เช่น จำได้ว่าตอนเด็กกว่านี้เขาต่อตัวต่อแบบที่สมาธิเขายังไม่ได้ แต่ทุกวันนี้เขาจะต่อสูงมากเลย เราจะเห็นเลยว่าการเรียนรู้ของเขาเป็นยังไง หรือว่าเดี๋ยวนี้เริ่มมีจินตนาการแล้ว หยิบอะไรมาก็ไม่รู้แล้วบอกว่า นี่คือช้าง อันนี้คือไดโนเสาร์ มันไม่ใช่ไม้ละ แต่มันคือไดโนเสาร์ละ มันคือสิ่งอื่นๆ มันเริ่มไม่มีกรอบ เราก็รู้สึกว่า เออ สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นยาก ถ้าเราไม่ให้เขาเล่น” 

ทางด้าน กุ๋ยศรัทธา ผู้จัดการงานเล่นเปลี่ยนโลกก็ได้ให้มุมมองต่อประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับเด็กๆ ในขณะที่ร่วมกันเล่น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการให้ความรัก ประคับประคอง และให้เวลาในการเล่นกับลูกๆ นั้นมีความหมายต่อการเติมเต็มความรัก ความมั่นใจ และความรู้สึกปลอดภัยให้กับเด็กๆ ซึ่งพวกเขาจะได้ใช้เมื่อเติบโตและเผชิญโลกต่อไป 

ในสนามเวลาที่เด็กเล่นแล้วเด็กยังหันมองพ่อแม่อยู่ นั่นแปลว่าเขายังต้องการคุณอยู่ วันหนึ่งที่เขาเล่นแล้วเขาไม่หันมามองคุณ แปลว่าเขาอิ่มแล้ว ผมว่าพอเด็กที่เล่นอิ่มแล้ว เขาจะมีทักษะชีวิตและประเมินสถานการณ์ของเขาด้วยตัวเองได้”  

ไม่เพียงเท่านั้น การร่วมลงเล่นของผู้ปกครองกับเด็กยังอาจประทับความทรงจำครั้งสำคัญลงในหัวใจเด็กคนหนึ่งได้อย่างยาวนานกว่าที่คิด เหมือนกับที่ ผึ้ง–ณัฐยา ได้บอกเล่าเรื่องราวการเล่นของเธอพร้อมใบหน้าเปี่ยมยิ้มว่า 

“สมัยก่อนเวลากินน้อยหน่าเสร็จจะเอาเมล็ดน้อยหน่าไปล้างน้ำแล้วเอามาเล่นอีตัก คือเอากระดาษมาเป็นที่ตัก แล้วตักเมล็ดน้อยหน่าขึ้นมา แต่จำไม่ได้ว่ากติกามันเป็นยังไง จำได้แค่ว่ามีความสุขมาก เพราะนั่งเล่นอยู่กับพื้นบ้านและมีแม่เล่นด้วย”  

พื้นที่ของการเล่น 

“ยังจำได้ตอนเด็กๆ ทุกคนน่าจะเคยผ่านประสบการณ์นี้ เล่นแบดในซอย เล่นบนถนน 

พอรถมา เฮ้ย! หยุด หยุด หยุด! เนี่ย มันเลยเห็นชัดเลยว่าเราขาดพื้นที่เล่นใกล้บ้านจริงๆ”  

แน่นอนว่านอกจากความตระหนักว่าการเล่นเป็นกุญแจดอกสำคัญในการเติบโตของมนุษย์แล้ว การสร้างพื้นที่สาธารณะให้ขานรับต่อการเล่นอย่างอิสระย่อมไม่อาจละเลยที่จะถามถึงได้ รองผู้ว่าฯ กทม. ศานนท์ หวังสร้างบุญ เล่าถึงปัญหาเรื่องพื้นที่ผ่านสถานการณ์ที่หลายคนอาจคุ้นเคยอย่างการเล่นตามท้องถนนและในซอยบ้าน รวมทั้งคลี่ขยายประเด็นเกี่ยวกับการออกแบบพื้นที่ที่มักออกแบบจากฐานคิดที่ใช้มาตรวัดเป็นเรื่องของธุรกิจ มองความคุ้มค่าของรายได้ทางธุรกิจมาเป็นจุดตั้งต้น ไม่ได้มองคุณค่าทางสังคม จึงทำให้บ้านเราไม่ค่อยมีพื้นที่ทางสังคม รวมถึงพื้นที่การเล่นด้วย ดังนั้นในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ภาครัฐจำเป็นต้องมาเกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องกฎหมายผังเมืองและการจำแนกพื้นที่ว่าจะดำเนินการทางสังคมอย่างไร ซึ่งในหลายประเทศล้วนเอาเรื่องกลไกเรื่องเหล่ามาร่วมออกแบบเมืองด้วย  

“เราต้องเปลี่ยนกลไกและวิธีการคิดเรื่องผังเมือง อย่างโครงการใหญ่ๆ เราบอกว่า FAR (Floor to Area Ratio) สูงเท่าไหร่ เรากำหนดแค่ความสูง แต่เราลืมกำหนดมิติทางสังคม. คนจะคิดเรื่องโรงพยาบาลไหม คนจะคิดเรื่องโรงเรียนไหม คนจะคิดเรื่องสนามเด็กเล่นไหม เราต้องคิดมิติทางสังคมเข้าไปด้วย ไม่ใช่แค่ commercialize” 

รองผู้ว่าฯ กทม. ยังกล่าวถึงนโยบายสำคัญของกรุงเทพมหานครในการเพิ่มพื้นที่สาธารณะ ทั้งพื้นที่สวน 15 นาที ลานกีฬา ศูนย์กีฬาใหม่ สนามเด็กเล่น รวมถึงพื้นที่การเรียนรู้แบบต่างๆ รวมถึงความมุ่งหวังที่จะผลักดันให้เกิดการจัดกิจกรรมในสวนและงานเทศกาลอย่าง Let’s play festival มากขึ้น ตลอดจนการสนับสนุน playworker ให้กระจายไปยังทุกมุมเมือง “playworker คือคนที่เข้าใจเรื่องการเล่น เข้าใจเรื่องของการเรียนรู้ เจ้าหน้าที่กรุงเทพฯ อาจต้องมีทุกเขตที่เป็นplayworker ก็ต้องคุยกันว่าจะมีการอบรม playworker ทุกเขตดีไหม”  

ทั้งนี้นอกจากพื้นที่สาธารณะ การเล่นอิสระยังสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ภายในบ้านและบริเวณอื่นๆ จากธรรมชาติรอบตัว จากอุปกรณ์ของใช้ภายในบ้าน อย่างสิ่งของที่เครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลกได้เลือกมาใช้ในเทศกาลเล่นอิสระครั้งนี้ก็ทำให้เห็นว่าถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองให้ความสำคัญต่อเรื่องการเล่นของเด็กและมีเวลาให้พวกเขาก็สามารถที่จะใช้สิ่งของรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นกระดาษ ผ้า ไม้ ดิน และอื่นๆ มาสร้าง “พื้นที่” การเล่นอิสระในบ้านได้เช่นกัน 

หันมาดูแลชีวิตเด็ก แล้วพวกเขาจะเปลี่ยนโลก 

องค์ความรู้เกี่ยวกับเด็กเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่จำเป็นต้องกล่าวถึง เพราะนอกเหนือไปจากเวลาและพื้นที่แล้ว แนวคิดที่ใช้เป็นฐานในการวางนโยบายเกี่ยวกับเด็กย่อมสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันในการผลักดันให้เกิดการเล่นอิสระและการพัฒนาเด็กอย่างรอบด้าน ผึ้ง–ณัฐยา ชวนตั้งคำถามต่อประเด็นนี้อย่างน่าสนใจว่า   

“งานวิจัยเยอะมาก ไม่ใช่เราขาดแคลนองค์ความรู้ แต่ว่าสังคมไทยได้เอาความรู้เหล่านี้มาใช้หรือเปล่า เราสร้างนโยบายจากฐานความรู้ที่ทันสมัยที่เชื่อถือได้หรือไม่ หรือทำนโยบายการศึกษา นโยบายสาธารณสุข และดูแลเด็กจากความคิดความเชื่อเดิมๆ อยู่ วันนี้โลกเปลี่ยนเร็วมาก เราจะไปเอาความรู้สมัยที่เราโดนเลี้ยงมาใช้กับเด็กตอนนี้มันจะได้เหรอ พี่คิดว่าถ้าผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้นั่งขบคิดสักหน่อยก็จะได้คำตอบด้วยตัวเองว่า ทำแบบเดิมไม่ได้”   

กุ๋ย–ศรัทธา ก็ได้ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า “ประเทศไทยควรจะมีสเปซ ควรมีการส่งเสริมให้เรื่องเล่นอิสระทำได้หลายพื้นที่ และควรจะมีเฟสติวัลสำหรับเด็กๆ ผมว่าเราลงทุนกับเด็กน้อยไปหน่อย” 

ในด้าน รองผู้ว่าฯ–ศานนท์ เล่าถึงการให้ความสำคัญในการดูแลเด็กที่จะส่งผลต่อพัฒนาการและการเติบโต โดยชี้ให้เห็นว่าเด็กๆ ตั้งต้นเกิดมาด้วยศักยภาพในการพัฒนาที่ไม่ต่างกันนัก “แต่พอไม่ได้รับการเรียนรู้ที่เหมาะสม ส่วนที่เกี่ยวข้องไม่มีความเข้าใจในเรื่องของการทำให้เขาได้เล่น มันก็ทำให้เขาเติบโตมาเป็นอีกแบบ”   


การพูดคุยกับผู้ใหญ่รักเล่นที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชน ตลอดจนร่วมสร้างสรรค์พื้นที่เล่นอิสระอย่าง Let’s play festival ให้เกิดขึ้นในครั้งนี้ก็ทำให้เห็นว่าการเล่นสำคัญต่อ “ชีวิต” ของเด็กจริงๆ แต่โจทย์ที่มากไปกว่านั้นคือแนวคิดและการสนับสนุนเรื่องเหล่านี้จะเข้าไปถึงชีวิตของเด็ก “ทุกคน” จริงๆ ได้อย่างไร

เพราะหากว่าเราคิดจะเปลี่ยนโลกด้วยผู้คนที่เติบโตไปอย่างเปี่ยมพลัง เป็นพลเมืองโลกที่สร้างสรรค์ชีวิตและสังคมที่พวกเขาอยู่ได้ในโลกซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอนี้ หลากหลายภาคส่วนอาจจำเป็นต้องคิดว่าสังคมแบบใดที่จะเปิดพื้นที่และมีเวลาให้เด็กทุกคนก่อกองทรายของตัวเองได้ตามใจปรารถนา เพื่อให้พวกเขาได้รู้ว่าพวกเขามีอำนาจและมีพลังมากมายที่จะก่อกองทรายขึ้นใหม่ได้อีกนับครั้งไม่ถ้วน แม้มันจะพังทลายลงกี่ครั้งก็ตาม


Writer

Avatar photo

ศิรินญา

หาทำอะไรไปเรื่อยๆ ตามประสาวัยลุ้น

Photographer

Avatar photo

ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

Illustrator

Avatar photo

พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts