ณัฐชญาณิช เอลเบิร์ก

“ให้เขารับรู้ความโหดร้ายน้อยที่สุด” เลี้ยงลูกให้รอดปลอดภัยแบบคุณแม่คนไทยในอิสราเอล

  • แม้จะมีสงครามมาหลายครั้ง แต่ประชากรอิสราเอลมีดัชนีความสุขอันดับที่ 12 ของโลก
  • “จริงๆ แล้วเราอยากให้เขามีความสุขกับจินตนาการของเด็กก่อน ให้เขารับรู้ถึงความโหดร้ายให้น้อยที่สุดในช่วงวัยนี้ที่เขาเป็นเด็กมาก แต่ว่าก็ต้องให้เขารู้ว่าเขาจะปกป้องตัวเองอย่างไร ให้เขารู้ว่าเขาจะต้องวิ่งไปไหน”
  • พูดคุยกับคุณแม่ลูกหนึ่งชาวไทยที่ต้องอุ้มลูกไปหลุมหลบภัยทันทีที่ได้ยินเสียงระเบิดหรือสัญญาณไซเรน

หลังจากมีการประกาศหยุดยิงเมื่อ 02.00 น. เวลาท้องถิ่นของวันที่ 21 พฤษภาคม 2021 เหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างสองฝ่ายอย่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ที่กินระยะเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ ทำให้ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติแต่อาจไม่สุขเท่าไหร่นัก เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่าหลังสงครามทุกฝ่ายย่อมได้รับผลกระทบกันอย่างถ้วนหน้า และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบก็คือ เด็ก ด้วยเช่นกัน

mappa สนทนากับ ‘นานา’ ณัฐชญาณิช เอลเบิร์ก คุณแม่ของลูกวัย 1 ขวบ 8 เดือน หญิงไทยวัย 35 ปี พนักงานต้อนรับในสปา เมืองเทลอาวีฟ (Tel Aviv) ประเทศอิสราเอล 

ถึง ‘เทลอาวีฟ’ จะห่างไกลจากฉนวนกาซาโดยใช้เวลาเดินทางราว 2 ชั่วโมงครึ่ง แต่ด้วยความที่เป็นประเทศขนาดเล็ก ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ครั้งใหญ่การปะทะกันจึงส่งผลอย่างทั่วถึง  

เมื่อเป็นเช่นนั้นชีวิตความเป็นอยู่ของเธอและลูกจะเป็นเช่นไร การดูแลเด็ก และความเอาใจใส่ต่อเด็กของรัฐบาลมีมากน้อยแค่ไหน ท่ามกลางความรุนแรงและสงครามที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด

7 ปีที่แล้ว ก่อนย้ายไปอิสราเอลทราบไหมว่าความไม่สงบมีมาตลอดอยู่แล้ว

ได้ยินข่าวคราวความรุนแรงของประเทศมาตลอด ส่วนใหญ่ที่ได้ยินเรื่องการยิงขีปนาวุธ แต่คำถามที่มันผุดขึ้นมา คือ ทำไมนักท่องเที่ยวอิสราเอลมาไทยบ่อย เลยคิดว่าคุณภาพชีวิตของคนอิสราเอลน่าจะดีพอจนสามารถเดินทางไปเที่ยวได้ และหลายๆครั้งที่เจอนักท่องเที่ยวอิสราเอล ก็รู้สึกว่าส่วนใหญ่มีแนวความคิดในการใช้ชีวิตที่ต่างไปในแบบที่เราไม่เคยได้ยิน เช่น คนอิสราเอลเป็นคนประหยัดกิน ประหยัดใช้ ร้านอาหารหรือมื้ออาหารพิเศษๆ จะกินแค่ครั้งคราว และอาหารที่กินจะเน้นสุขภาพ ไม่ใช่ออกไปกินอาหารนอกบ้านทุกอาทิตย์ แต่เขาจะจ่ายเงินเพื่อความปลอดภัยในชีวิตมากกว่า เลยทำให้รู้สึกว่าประเทศนี้น่าจะมีสองมุมให้มอง

ตอนมาอยู่จริงๆ เป็นอย่างไร

สองมุมที่มองมันก็เรื่องจริง มันเป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศนี้มีการยิงกัน รบกัน มีปัญหากับเพื่อนบ้าน หรือว่าวันดีคืนดีมีคนจากประเทศเพื่อนบ้านวิ่งเข้ามาแทงคนอิสราเอล หรือมีการวางระเบิดที่ตลาด ทั้งหมดมันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง 

อย่างที่เห็นภาพมันก็ดูรุนแรงจริง แต่สำหรับเรา ข่าวก็ต้องขายในกลุ่มที่ขายได้ ซึ่งเขาไม่ได้พูดหมดว่าประเด็นเรื่องราวมาจากไหน อย่างไร เช่น เหตุการณ์ระเบิดตึกสำนักข่าวอัลจาซีรานั่นคืออิสราเอลทำจริง แต่ถามว่าเพราะอะไร ก็เพราะตรงนั้นเขาใช้เป็นฐานทัพยิงเข้ามาในอิสราเอล แล้วก่อนที่อิสราเอลจะยิงตึก ก็มีการประกาศทางวิทยุจากกองทัพ หรือ Israel Defense Forces (IDF) ให้ประชาชนปาเลสไตน์ออกนอกพื้นที่ก่อน นี่คือความจริงถูกพูดไม่หมด 

แต่ถ้าพูดในมุมที่ดีเราคิดว่าคงเป็นเรื่องสวัสดิการ คุณภาพชีวิต การดูแล หรือการเยียวยาประชาชนของที่นี่ที่ประทับใจเรา

นานา-ณัฐชญาณิช เอลเบิร์ก

อยากให้ยกตัวอย่างสวัสดิการของรัฐที่ประทับใจ

เช่น การทำงานทุกๆ 182 ชั่วโมง เราจะได้ลาพักร้อน 1 วัน และได้เงินตามปกติด้วย หรือกรณีลาป่วย สมมุติเราได้ใบรับรองจากแพทย์ว่าเราไม่สบาย รัฐก็จ่ายให้ ประกันสังคมก็จ่ายให้อีก รวมถึงสวัสดิการวันลาคลอด ลาได้ไม่เกิน 1 ปี และที่ทำงานไม่มีสิทธิไล่ออก 

เกิดอุบัติเหตุจากการทำงานก็มีเงินชดเชยให้ ขึ้นอยู่กับเปอร์เซ็นต์ความพิการ ซึ่งคนพิการที่นี่ได้สิทธิเยอะ เช่น ค่าที่พักต่างๆ หรือถ้าพิการจากการเป็นทหารจากการโดนระเบิดหรืออะไรก็ตามรัฐก็จะดูแล ให้เงินเยียวยา หรือพิการเพราะเป็นทหารแล้วอยากเปิดธุรกิจ รัฐก็ให้ส่วนลดค่าเช่า ครอบครัวก็ได้สวัสดิการต่างๆ 

หรือถ้าเราพิการจากสงครามที่เกิดขึ้น เช่น วิ่งหลบระเบิดไม่ทัน เราก็สามารถยื่นขอค่าชดเชยจากประกันสังคมได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าพิการส่วนไหนด้วย เช่น นิ้ว 5 นิ้ว ถ้าเราสูญเสียนิ้วนาง เราจะได้ค่าเยียวยาจำนวนหนึ่ง นิ้วโป้งจะได้ค่าเยียวยาเยอะที่สุด เพราะจับอะไรไม่ได้ เขาก็มีเกณฑ์ความพิการอยู่ แต่ถ้าพิการรัฐดูแลให้ตลอดชีวิตอยู่แล้ว

เหตุการณ์ไม่สงบเกิดขึ้นบ่อยแค่ไหนตลอด 7 ปีที่อยู่มา

เอาที่ยิงมาถึงเทลอาวีฟครั้งแรกคือปี 2014 ตอนนั้นเด็กจากอิสราเอลสามคนถูกลักพาตัวไป เจออีกทีเป็นกลายเป็นศพแล้ว เลยเป็นชนวนให้เกิดการยิงกัน ตอนนั้นเหตุการณ์ก็นานหลายสัปดาห์เหมือนกัน อีกครั้งหนึ่งคือวันที่ 12 พฤศจิกายน ปี 2019 ตอนนั้นอิสราเอลส่งเทคโนโลยีน่าจะเป็นโดรนไปสังหาร บาฮา อาบู อัล-อัตตา ผู้นำของขบวนการญิฮาดอิสลามในปาเลสไตน์ช่วงตี 4 แล้วพอตอน 7 โมงเช้า ทางนั้นยิงขีปนาวุธใส่อิสราเอล ด้วยความที่เราเพิ่งคลอดลูกใหม่ๆ มันก็เหนื่อย เราได้ยินเสียงแต่ไม่ได้คิดว่านี่คือสัญญาณไซเรน แฟนก็โทรมาว่าได้ยินไหมเราก็บอกได้ยิน เขาถามว่าเราอยู่ไหน ตอนนั้นเราอยู่บ้านใช้ชีวิตปกติ ลืมไปเลยว่ามันคือสัญญาณไซเรน ครั้งนั้นยิงกันแค่วันเดียว ถือว่าไม่หนัก 

แต่ทุกครั้งที่มีการสู้รบกันทุกอย่างในอิสราเอลจะ shut down หมด หรืออย่างโรงเรียนก็จะมีการส่งข้อความหาผู้ปกครองว่า วันนี้ไม่มีการเรียนการสอน ห้างปิด ร้านอาหารปิด ทุกอย่างปิดหมด จนกว่าจะคลี่คลาย 

จนมารอบนี้ที่เกิดเหตุการณ์ยิงกัน วันนั้นเราเลิกงานบ่าย 2 กำลังนั่งรถกลับบ้าน มีเสียงสัญญาณไซเรนดังขึ้นเราก็ไม่ทันได้ตั้งตัว เพราะนั่งเล่นโทรศัพท์อยู่ มารู้ตัวอีกทีตอนคนแตกตื่นกันทั้งรถ แล้วคนขับก็จอดรถ คนก็รีบวิ่งออกไปกัน เราก็วิ่งตามคนเขาไป เสียงบึ้ม (ระเบิด) ที่ได้ยิน รู้สึกได้เลยว่ากำแพงสั่น มันคล้ายแผ่นดินไหวเล็กๆ คนเขาก็วิ่งหาที่หลบกันนี่คือเหตุการณ์ล่าสุด 

เหตุการณ์ความไม่สงบแบบนี้ กระทบกับชีวิตประจำวันอย่างไรบ้าง 

มันต้องเพิ่มความระวังตัวตลอดเวลา และเวลาเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ที่ทำงานปิดเราก็ขาดรายได้ ร้านอาหารต่างๆ ปิดหมด เหมือนเราต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยความหวาดระแวงทุกนาทีเหมือนกัน อย่างอยู่บนรถเมล์ถ้ามันเป็นพื้นที่โล่ง ไม่มีตึกก็จะระแวงมาก เพราะไม่รู้อะไรจะมาตอนไหน แล้วส่วนใหญ่หลังการเกิดเหตุการณ์จะมีคนฝั่งนู้นที่ไม่พอใจการหยุดยิง หรือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (United Arab Emirates-UAE) เลิกการลงทุนในเขตกาซาเพราะดีกับอิสราเอล เขาก็ถือมีดเข้ามาแทงคนในเยรูซาเลม มันก็หวาดระแวง แม้จะไม่มีปัญหาระหว่างตัวบุคคล เขาก็สามารถทำร้ายเราได้เลย 

เรื่องลูก อย่างวันนั้นที่เรากลับจากที่ทำงานพอเกิดเรื่องขึ้นเราก็ต้องพาลูกไปบ้านพ่อแม่สามี เพราะบ้านเขามีห้องหลบภัยในบ้าน หรือถ้าบ้านไหนไม่มี ก็ต้องไปหลบที่พื้นที่ส่วนกลางหรือหลุมหลบภัยที่อยู่ใกล้  

คิดว่าชีวิตความเป็นอยู่โดยปกติของเด็กที่อิสราเอล ต่างกับเด็กประเทศอื่นอย่างไร

เท่าที่เห็น ส่วนมากเด็กที่นี่ก็ใช้ชีวิตปกติ วิ่งเล่น มีกิจกรรมแบบเด็กทั่วไป 

แต่สิ่งที่เราคิดว่าเด็กอิสราเอลไม่เหมือนเด็กชาติอื่น คือความไม่ไว้ใจคนแปลกหน้า อย่างสมมุติว่าคุณเอาลูกโป่งให้เด็กที่นี่ พวกเขาจะไม่รับ เขาจะไม่เชื่อคุณ 

หรืออย่างเด็กประเทศอื่นอยากไปเล่นสนามเด็กเล่น เขาก็ไปเล่นตอนไหนก็ได้ แต่เด็กที่นี่ถ้าช่วงไหนที่เริ่มจะมีเหตุการณ์ความไม่สงบ หรือได้ข่าวที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดสงคราม เด็กอิสราเอลก็จะถูกห้ามให้ออกไปเล่นข้างนอกอยู่สักพัก 

อีกอย่างคือถ้าเด็กเริ่มรู้เรื่องแล้วเขาจะถูกสอนตลอดว่า ถ้าได้ยินสัญญาณแบบนี้ เด็กจะต้องวิ่งไปไหน จะต้องหาที่แบบไหนอยู่ คือเขาสอนเรื่องแบบนี้มาตั้งแต่เด็กเลย นี่คือสิ่งหนึ่งที่เราคิดว่าแตกต่างจากที่อื่น 

ดูแลลูกอย่างไรทั้งตอนปกติ และตอนเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ 

เราก็พาเขาไปเดินเล่นตามสวนสาธารณะปกติ แต่ด้วยความที่เขาเด็กมากเราก็เลยเอาเข้าศูนย์เด็กเล็ก มีกิจกรรมต่างๆ ให้ทำ แล้วไปรับลูกประมาณบ่าย 3 ที่นี่ดีอยู่อย่างหนึ่งคือสนามเด็กเล่น และสวนสาธารณะมีเยอะ ก็จะพาเขาไปวิ่งเล่นตามปกติ

พอเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ และด้วยความที่เขาเด็กและเล็กมาก ช่วงนี้ถ้าได้ยินเสียงไซเรนหรือมีสัญญาณใดๆ เราจะมีกระเป๋าพร้อมเดินทางใบหนึ่ง ถ้าได้ยินปุ๊บ เราจะนั่งรถไปบ้านแม่สามีและรอจนกว่าจะสงบ ครั้งที่ผ่านมาเรานอนบ้านแม่สามีและใช้ชีวิตที่นู่นประมาณ 3-4 วันเลย ความปลอดภัยของลูกต้องมาก่อน เพราะว่าให้อุ้มวิ่งไปมันก็คงไม่ทัน แต่ถ้าอยู่ที่นู่นก็พอจะมีคนช่วยถ้าเกิดอะไรขึ้นมา

ถ้าถามว่าแล้วเราดูแลลูกอย่างไรตอนเกิดเหตุการณ์รุนแรง จริงๆ แล้วเราอยากให้เขามีความสุขกับจินตนาการของเด็กให้มากที่สุด เราอยากให้เขารับรู้ถึงความโหดร้ายให้น้อยที่สุดในช่วงวัยนี้ที่เขาเด็กมาก แต่ก็ต้องให้เขารู้ว่าจะต้องปกป้องตัวเองอย่างไร ให้เขารู้ว่าจะต้องวิ่งไปไหน แค่นั้นก่อน เรื่องรายละเอียดเราคงบอกเขาทีละนิดๆ 

แต่ในขณะที่บอกเขา เราจะไม่สร้างความเกลียดชังในใจให้เขา อย่างตัวเรา เราไม่เคยยินดีกับการเสียชีวิตของชาวปาเลสไตน์ เพราะเราเห็นใจคนตาดำๆ หรือประชาชนปาเลสไตน์ที่เขาไม่รู้เรื่องแต่ต้องมาสูญเสียคนในครอบครัว 

ดังนั้นเวลาเราบอกลูก แค่ต้องการให้มั่นใจว่าลูกของเราจะปกป้องตัวเองได้ หรือดูแลตัวเองเป็นมากกว่า

การที่อยู่ๆ บางทีเราต้องอุ้มลูกหนีไปหลุมหลบภัย เขาตกใจไหม 

อืม…ไม่นะ เพราะเขาอาจเด็กมาก แต่ถ้าอย่างลูกของเพื่อนที่อายุ 4 ขวบก็เป็นวัยที่เริ่มสงสัย พ่อแม่เขาก็จะเบี่ยงประเด็นเวลาลูกตั้งคำถาม เช่น ถ้าได้ยินเสียงสัญญาณเขารู้ว่าต้องวิ่งไปห้องหลบภัย พอหลายๆ ครั้งเข้า เด็กก็จะสงสัยว่าทำไม ทำไมมีเสียงอย่างนี้ เกิดอะไรขึ้น พ่อแม่ก็จะบอกว่าเพื่อความปลอดภัย และเปลี่ยนประเด็นไปคุยเรื่องอื่น ว่าแบบเดือนหน้าไปทะเลกันไหมประมาณนี้ เพื่อไม่ให้ลูกถามเรื่องนี้ต่อ เพราะเขาก็ยังอยากให้ลูกเขามีจินตนาการในวัยเด็กให้เต็มที่ มากกว่าที่จะมารับรู้เรื่องความโหดร้ายที่เกิดขึ้น

คิดว่าการไม่บอกเด็กไปตรงๆ เป็นเพราะอะไร

คิดว่าส่วนใหญ่พ่อแม่ที่นี่เขาก็คงไม่อยากให้ลูกมารับรู้ในวัยนี้ ถ้าเราบอกเรื่องที่เกิดขึ้นมันจะเป็นการสร้างความเกลียดชังฝ่ายตรงข้ามไหม ตอนนี้เราควรจะโฟกัสให้เขาเอาตัวเองรอดก่อน ดูแลตัวเองให้ได้ก่อนเมื่อเกิดเหตุการณ์ พอ 7-8 ขวบ ก็จะมีรายละเอียดเพิ่มมานิดๆ หน่อยๆ แล้วเขาจะเข้าใจเรื่องนี้เอง ถ้าเข้าใจจริงๆ คิดว่าตอน ม.ปลาย เพราะหลังจบมัธยมเขาต้องไปเกณฑ์ทหารกันแล้ว และเพราะอะไรเขาถึงต้องไป มันจะเริ่มเกิดเป็นคำถามตอนนั้น

การศึกษาที่อิสราเอลเป็นอย่างไร

เท่าที่รู้ส่วนใหญ่เขาจะสอนให้เด็กคิดนอกกรอบ หรือคิดอย่างมีเหตุมีผลมากกว่า อย่างเรื่องวิชาประวัติศาสตร์ เขาจะสอนทีละนิดๆ ตั้งแต่เริ่มต้น แต่ละปีๆ ค่อยๆ ให้เด็กเข้าใจและเห็นถึงความรุนแรงที่มากขึ้น และเรื่องเกี่ยวกับประวัติทหาร อย่างการรบสงคราม 6 วัน (สงครามสู้รบกันระหว่างวันที่ 5 – 10 มิถุนายน ค.ศ. 1967 ระหว่างประเทศอิสราเอลกับจอร์แดน ซีเรียและอียิปต์) เป็นสิ่งที่เขาสอนตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว 

หรืออย่างไทยเรียนพระพุทธศาสนา ก็เรียนแบบมรรคมีองค์ 8 หรือรู้ว่าพระพุทธเจ้าเกิดมาก็เดินบนดอกบัว แต่ที่นี่การเรียนจะค่อนข้างให้เด็กได้คิด เช่น สอนว่าในที่สุดศาสดาก็คือมนุษย์ คนที่เขียนคัมภีร์ให้เราอ่านก็คือมนุษย์ เขาจะสอนให้คิดอีกแบบคือคิดตามหลักความเป็นจริง และสอนให้เด็กถกประเด็นกัน เพราะฉะนั้นเรื่องราวฝันหวานหรือในจินตนาการเลยไม่เติบโตในประเทศอิสราเอล 

เราเคยได้ยินมาว่า แม้แต่เรียนศาสนาในวันเสาร์ที่ถือเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ของเขา จะมีการมานั่งพูดคุยถกประเด็นเรื่องศาสนาว่าคิดว่าตรงนี้เป็นไปได้ไหม เป็นจริงไหม เช่นเทศกาล Passover (เทศกาลปัสคา เทศกาลที่ชาวยิวระลึกถึงการที่พระยาห์เวห์ทรงนำพวกเขาออกจากการเป็นทาสในอียิปต์) ครอบครัวเราไปกินข้าวบ้านแม่สามีแล้วเขาเชิญคนข้างบ้านที่เป็นคนนำสวดมา เราก็ถามเขาว่าถามจริงๆ แล้วเธอเชื่อไหมว่าในวันที่โมเสสเอาคนอิสราเอลออกจากอียิปต์แล้วทะเลแหวกจริงๆ เขาก็บอกว่ามันเป็นเรื่องที่ตอบไม่ได้ ในวันนั้นมันอาจไม่ได้เป็นทะเลก็ได้ วันนั้นอาจเป็นพื้นที่แค่มีน้ำตื้นๆ และเดินผ่านกันมาก็ได้ คือเขาก็ไม่ได้เชื่อทุกอย่าง 

อีกอย่างโรงเรียนที่นี่แต่ละย่าน แต่ละชุมชนมีแค่ 2 โรงเรียนเท่านั้น ไม่ว่าจะเด็กรวยจนเรียนที่เดียวกันหมด และไม่มียูนิฟอร์ม ใส่เสื้อผ้าที่เขามีแต่ก็เอามาติดตราประทับโรงเรียนให้รู้ว่าเด็กเรียนที่ไหน ซึ่งก็ลดค่าใช้จ่ายให้พ่อแม่เด็กด้วย 

หรือสถาบันกวดวิชาที่นี่ก็ไม่บูมเหมือนเมืองไทย เพราะการศึกษาที่นี่ค่อนข้างเท่าเทียมกัน และที่นี่มีกฎว่าครูที่โรงเรียนไม่สามารถสอน extra class ได้ คนที่จะสอนต้องเปิดเป็นฟรีแลนซ์เองแบบเก่งเฉพาะด้าน คือถ้าพ่อแม่คนไหนจ่ายได้ก็เอาเด็กไปเรียนได้ 

มีวิชาพิเศษไหม อย่างการสอนให้เด็กเอาตัวรอดช่วงสงคราม

มันไม่ถึงกับเป็นวิชา แต่เป็นการซ้อมอพยพมากกว่า เช่น ถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินสามารถวิ่งเข้ามาในโรงเรียนได้ และต้องไปที่ไหน ซึ่งเขาซ้อมกันตั้งแต่เด็กวัยอนุบาลเลย สอนทุกเดือน แล้วแต่วันว่าจะซ้อมวันไหน 

แล้วรัฐบาลอิสราเอลให้ความสำคัญกับการศึกษาและเด็กแค่ไหน

ที่นี่เรียนฟรีตั้งแต่ ป.1-ม.6 ปีหนึ่งค่าใช้จ่ายตกเป็นเงินไทย ประมาณ 12,000-15,000 บาท สามารถผ่อนจ่ายรายเดือนได้ ซึ่งเงินตรงนี้ก็เป็นแค่ค่าหนังสือ ค่าอุปกรณ์ ค่าทัศนศึกษา เราไม่ได้มาเครียดเรื่องค่าใช้จ่ายกันเท่าไหร่ เพราะเรื่องเรียนที่นี่รัฐค่อนข้างสนับสนุนเด็ก 

ในมุมมองเราประเทศอิสราเอลถ้าพูดจริงๆ ก็ไม่ค่อยมีทรัพยากรเท่าไทย ไม่ใช่ประเทศท่องเที่ยว หรือมีความโดดเด่นเรื่องอาหาร ที่เขาขายได้คือศาสนา ให้คนมาดูรอยเท้าพระเยซู ดูสถานที่ทางศาสนา เขาเลยต้องพัฒนาคน หรือบุคลากร ซึ่งรายได้หลักคือการผลิตเทคโนโลยี ดังนั้นเขาเลยมุ่งไปที่การต้องพัฒนาคนเป็นหลักเพื่อมาช่วยในเรื่องนี้

อีกอย่างที่รัฐดูแลเรื่องเด็ก คือเรื่องสิทธิในการปกป้องเด็ก ถ้าเราตีลูกหรือใช้ความรุนแรงกับเด็ก แล้วลูกไปฟ้องครู ที่โรงเรียนก็จะมีคำเตือนมาครั้งแรก ถ้าครั้งที่สองเจ้าหน้าที่รัฐก็จะมาคุยกับพ่อแม่ถึงสาเหตุ แต่ถ้ายังเกิดขึ้นอีกเขาก็จะนำตัวเด็กไปเลย 

แล้วก็อีกเรื่องคือ จนกว่าเด็กจะอายุ 18 ปี ทุกเดือนเด็กก็จะมีเงินช่วยเหลือจากทางรัฐบาล แต่ก็ไม่ถึงกับเยอะมาก เขาจะมีบัญชีสะสมไว้ให้ พอเด็กอายุครบ 18 ปี ถึงจะใช้ได้ หรือเก็บไว้ก็ได้ และเด็กที่เป็นออทิสติกก็มีเงินเดือนให้มากกว่าปกติ 

เพราะด้วยการเจอความไม่สงบอยู่เรื่อยหรือเปล่า เลยทำให้คนอิสราเอลต้องพัฒนาตัวเอง และประเทศอยู่ตลอดเวลา?

ใช่ค่ะ ประเทศนี้เราว่าถ้าไม่มีสงครามก็จะยิ่งพัฒนาไปได้อีกเยอะเลย 

แน่นอนว่าสงครามมักส่งผลกระทบมากมาย ต่อสภาพจิตใจเด็ก อิสราเอลมีวิธีการดูแลตรงนี้อย่างไร

หลังสภาวะสงครามพอเด็กกลับไปเรียน เขาไม่ได้ให้เรียนเป็นวิชาวิทย์ คณิต เลยทันที แต่จะเป็นการเรียนแบบสันทนาการมากกว่า ให้เด็กได้ผ่อนคลาย ประมาณ 2-3 วัน เช่น เรียนศิลปะ โยคะ กีฬา ดนตรี พื่อให้เด็กได้มาหัวเราะสนุกสนานกัน แล้วค่อยปรับเป็นวิชาสามัญทั่วไป   

หรือในเขตที่ใกล้จุดยิง จะมีจิตแพทย์สำหรับเด็กเพื่อพูดคุยกับเด็กที่กลัวสงคราม เขาจะได้รับการบำบัดทันที นักจิตวิทยาแต่ละคนก็จะมีวิธีการสำหรับเด็กแต่ละคนแตกต่างกันออกไป เช่น เด็กคนนี้เจออะไรมา เป็นอย่างไร จะต้องใช้วิธีบำบัดแบบไหน  

ญาติสามีที่เป็นนักสังคมสงเคราะห์ ก็เล่าว่าถ้ามีเคสหนักๆ มา เช่น เด็กอาจเห็นการสูญเสียของคนในครอบครัว จะมีนักจิตวิทยาไปคุยด้วยและพอคุยเสร็จเขาจะประเมินสภาพจิตใจเด็กว่าอยู่ระดับไหน บางรายแค่ระบายออกมาก็ดีขึ้น บางคนที่ถูกประเมินว่ายากก็จะถูกส่งไปบำบัด เพราะถ้าเด็กไม่ได้รับการบำบัดอย่างทันท่วงที อาจส่งผลต่อพฤติกรรมของเขาได้ในอนาคต อย่างความก้าวร้าว หรือสภาวะโรคซึมเศร้า

ตัวคุณนานาเองสภาวะจิตใจเป็นอย่างไรบ้าง 

สำหรับเราเราไม่กลัวมาก เพราะเราค่อนข้างเชื่อมั่นกองทัพประเทศนี้ แต่ช่วงนี้ก็ต้องอยู่ในบ้านหรือที่ที่ปลอดภัย ถามว่าเรารับมืออย่างไร คืออะไรจะเกิดก็ต้องเกิด แต่เราแค่ต้องรู้ไว้ว่ามีที่ไหนที่ปลอดภัย ที่ไหนที่เราจะไปได้ 

ห่วงความปลอดภัยลูกไหม และคิดจะย้ายกลับมาไทยหรือเปล่า

เราไม่อยากย้าย ลูกอายุไม่ถึง 2 ปี และมันเป็นช่วงที่ยังอยู่แต่บ้าน แต่ถ้าวันหนึ่งเขาโตขึ้นแล้วต้องไปไหนมาไหนเอง แล้วเมื่อเกิดสัญญาณแบบนี้เราก็คงกังวลว่าเขาอยู่ไหน ปลอดภัยไหม รู้ไหมว่าต้องไปหลบที่ไหน มันคงห่วงอยู่แล้ว แต่เราว่าเด็กที่นี่ สภาพแวดล้อมจะสอนให้เขารู้เองว่าต้องเอาตัวรอดอย่างไร 

อีกอย่างคือถึงอิสราเอลจะมีสงคราม แต่รัฐก็มีวิธีการดูแลประชาชน คือภาษีที่เราเสียไปเรารู้หมดว่าไปไหน สมมุติเราตกงานแต่ต้องส่งลูกเข้าเรียน รัฐบาลก็คอยดูแลตรงนี้อยู่ 

และเรื่องรายรับที่สมดุลกับรายจ่าย คนที่นี่ไม่ว่าจะเป็นคนทำความสะอาด พี่เลี้ยงเด็ก รายได้เขาก็จะไม่มากไม่น้อยไปกว่าพนักงานออฟฟิศเลย 

ที่นี่เขาไม่ให้ความสำคัญเรื่อง Beauty Privilege (การที่คนหน้าตาดีจะมีสิทธิพิเศษหรือได้รับโอกาสเหนือคนอื่นๆ) การประกวดมิสยูนิเวิร์สที่นี่ รอบที่แล้วมีคนลงสมัครแค่สองคนเอง และอาชีพดารานักแสดงไม่ใช่อาชีพที่รายได้ดีในประเทศนี้ คนประเทศนี้จึงมุ่งไปด้านการเรียนเทคโนโลยี เพราะมันทำให้ทุกคนมีต้นทุนเท่ากัน การรับสมัครงานที่นี่จะไม่ติดภาพหรือรูปถ่าย เพราะการรับใครเข้าทำงานไม่จำเป็นต้องตัดสินจากรูปลักษณ์ภายนอก 

แง่มุมไหนของประเทศที่เราอยากให้คนภายนอกรับรู้ นอกจากความรุนแรงและความไม่สงบ 

เป็นประเทศที่มีดัชนีความสุขอันดับที่ 12 ของโลกแม้จะมีสงคราม เป็นประเทศที่แม้แต่คนของ มาห์มูด อับบาส (ผู้นำประเทศปาเลสไตน์) ยังมารักษาพยาบาลที่อิสราเอล มันก็แสดงให้เห็นได้ว่าประเทศนี้มีความชอบธรรมและมีหลักมนุษยธรรมพอสมควร 

เป็นประเทศที่ใช้หลักศาสนาบางข้อมาเป็นข้อกฎหมาย แต่ก็อนุโลมให้ถ้าสิ่งนั้นสนับสนุนหลักสิทธิมนุษยชนและไม่ขัดต่อศีลธรรม

อย่างเช่นในไบเบิลมีข้อห้ามเรื่องการรักร่วมเพศ แต่ที่นี่รับรองการสมรสของเพศเดียวกัน มีการจัดงาน Gay Pride (งานที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองให้กับคนกลุ่ม LGBTQ+ หรือกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ) เพราะสนับสนุนความเท่าเทียมกัน 
และหลายๆ ครั้งที่หลายประเทศเกิดภัยพิบัติเราส่งทหารไปช่วย อย่างเด็ก 13 คนติดถ้ำแทบไม่มีใครพูดถึงเลยว่ามีเทคโนโลยีสื่อสารชื่อว่า Max-Mesh ที่ใช้สื่อสารในถ้ำซึ่งมาจากประเทศอิสราเอล เป็นประเทศที่คนไทยไม่ค่อยรู้จัก แต่เมื่อไหร่ที่เกิดสงครามคนจะรู้จักขึ้นมาทันที


Writer

Avatar photo

ธัญชนก สินอนันต์จินดา

บัณฑิตไม่หมาดจากรั้วเหลืองแดง ที่พกคำว่า ‘ลองสิ’ ติดหัวตลอดเวลา เพราะเชื่อว่าประสบการณ์ชีวิตเกิดจากการไม่กลัวและลงมือทำเท่านั้น

Related Posts