Like Father, Like Son: สายเลือดกับความผูกพัน สิ่งใดกันที่ชี้วัดความเป็นพ่อ

  • Like Father, Like Son คือภาพยนตร์อีกเรื่องที่กำกับโดยฮิโระคะสุ โคะเระเอะดะ ซึ่งเข้าฉายในปี 2013 และได้รับรางวัล Jury Prize จากเทศกาลหนังเมืองคานส์
  • “ความเป็นพ่อวัดจากอะไร” คือสิ่งที่โคะเระเอะดะชวนเราตั้งคำถามผ่านภาพยนตร์อย่าง Like Father, Like Son
  • เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อครอบครัวสองครอบครัวพบว่าลูกชายวัย 6 ขวบของพวกเขาโดนสลับตัวมาตั้งแต่เกิด ตอนนั้นเองที่ ‘ความเป็นพ่อ’ ของเรียวตะ ชายผู้บ้างานและไม่ค่อยมีเวลาให้กับลูกเริ่มสั่นคลอนและทำให้เขาต้องมอง ‘ความเป็นพ่อ’ ด้วยมุมมองที่ต่างออกไป  

*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์

ฮิโระคะสุ โคะเระเอะดะ เป็นผู้กำกับชื่อดังชาวญี่ปุ่น การเป็นผู้กำกับที่มีผลงานออกมามากมายและผลงานส่วนใหญ่ของเขาก็มักจะได้รับกระแสตอบรับที่ดีอยู่เสมอ เป็นเพราะเขาใช้เวลาส่วนใหญ่ทุ่มเทไปกับการทำงาน ไลฟ์สไตล์นี้คือเรื่องปกติของโคเระเอะดะ จนกระทั่งวันที่เขากลับบ้านไปพบลูกสาวตัวน้อยผู้มีท่าทีห่างเหิน และบอกเขาก่อนที่เขาจะออกจากบ้านไปทำงานอีกรอบว่า “ได้โปรดกลับมาอีกครั้งนะคะ” ทำให้โคะเระเอะดะตั้งคำถามต่อความเป็นพ่อของตัวเองขึ้น จนนำมาสู่ภาพยนตร์ที่เข้าฉายในปี 2013 ของเขาอย่างเรื่อง Like Father, Like Son

Like Father, Like Son คือภาพยนตร์อีกเรื่องจากหลาย ๆ เรื่องของโคะเระเอะดะที่ตั้งคำถามต่อมาตรวัดของการเป็นพ่อแม่และพาเราไปสำรวจความสัมพันธ์อันซับซ้อนของ ‘ครอบครัว’

จุดเริ่มต้นใน Like Father, Like Son นั้นอาจเป็นพลอตที่เราคุ้นชินกันดีในละครดรามาครอบครัว เมื่อครอบครัวโนะโนะมิยะ ครอบครัวชนชั้นกลางในโตเกียวที่ประกอบไปด้วย เรียวตะ พ่อผู้ทะเยอทะยานและเข้มงวด มิโดริ แม่ที่ทำหน้าที่แม่บ้านและมักจะยอมโอนอ่อนตามสามีเสมอ กับเคตะ ลูกชายวัย 6 ขวบ ได้รับสายจากโรงพยาบาลจากเมืองกุนมะที่ทำคลอดเคตะว่า เคตะไม่ใช่ลูกที่แท้จริงของพวกเขา เพราะเด็กทั้งสองถูกสลับตัวกันตอนแรกเกิดโดยบุคลากรของทางโรงพยาบาลเอง ครอบครัวโนะโนะมิยะจึงได้เจอกับครอบครัวไซคิผู้เป็นพ่อแม่ที่แท้จริงของเคตะ ครอบครัวหลังประกอบไปด้วยสมาชิกอย่างยูได พ่อที่ดูไม่เอาไหนผู้เปิดร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าเล็ก ๆ ในเมืองกุนมะ ยูคาริ แม่ที่ทำงานเป็นบริกรในร้านราเม็ง และลูก ๆ อีกสามคน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือริวเซ ลูกที่แท้จริงของครอบครัวโนะโนะมิยะ และนี่คือจุดเริ่มต้นของคำถามที่ว่า “การเป็นพ่อแม่ที่แท้จริงวัดจากอะไร” ความผูกพันหรือความสัมพันธ์ทางสายเลือด

สายสัมพันธ์อันสั่นคลอนที่สะท้อนออกมาผ่านการกระทำของเรียวตะ

โคะเระเอะดะเลือกที่จะเล่าเรื่องราวทั้งหมดผ่านสายตาของเรียวตะที่นอกจากจะเป็น “พ่อ” แล้ว เขายังเป็นคนที่ดูเย่อหยิ่ง ทะเยอทะยาน คาดหวังในตัวลูกชายสูง และไม่ค่อยมีเวลาให้กับครอบครัว ภาพของครอบครัวโนะโนะมิยะจึงดูไม่อบอุ่นนัก เพราะแม้คุณภาพชีวิตจะดูดีและมีพร้อมทุกอย่าง แต่ช่วงเวลาที่ทำให้เห็นว่าพ่อลูกนั้นผูกพันกันกลับไม่ค่อยมีให้เห็น

เมื่อตัดไปยังบ้านของครอบครัวไซคิ ยูไดที่เรียวตะมองว่าไม่เอาไหนเพราะอยู่ติดบ้านกลับดูใกล้ชิดและรักใคร่กลมเกลียวกับเด็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นลูก ๆ ทั้งสาม (ซึ่งรวมถึงริวเซที่แท้จริงแล้วเป็นลูกชายของบ้านโนะโนะมิยะ) หรือจะเป็นเคตะที่โดนยูไดตกเข้าเต็ม ๆ

ตัวละครของเรียวตะจึงถูกทำให้ดูเหมือนเป็นตัวร้าย เพราะทันทีที่เขารู้ข่าวจากโรงพยาบาลว่าเคตะไม่ใช่ลูกชายที่แท้จริง สิ่งที่เรียวตะหลุดปากพูดออกมาก็คือ “มิน่าล่ะ” มิน่าล่ะที่เคตะที่เขาส่งเรียนเปียโนถึงเล่นไม่เป็นเพลงสักที มิน่าล่ะเคตะถึงได้ขี้แพ้ไม่ยอมสู้เพื่อตัวเอง มิน่าล่ะเคตะถึงไม่เหมือนเขาสักอย่าง เพราะเคตะไม่ใช่ลูกของเขา

แต่ความจริงแล้วอาจเป็นเพียงความสับสนที่เกิดขึ้นในจิตใจของเรียวตะเมื่อเขารู้ว่าความสัมพันธ์ของเขากับเคตะนั้นเปราะบางเพียงใด ยิ่งเมื่อมันไม่ได้ถูกยึดโยงไว้ด้วยสายเลือดอย่างที่เขาเข้าใจอีกต่อไปแล้ว สิ่งที่เรียวตะแสดงออก ทั้งการรีบออกปากว่า “มิน่าล่ะ” เคตะจึงไม่เหมือนเขา ทั้งการเสนอจะรับเลี้ยงเด็ก ๆ ทั้งสองคนเอาไว้เองไม่ว่าจะเป็นเคตะหรือริวเซ หรือการที่ตัดสินใจสลับลูกคืน ล้วนแต่เกิดจากความไม่มั่นใจว่า ‘ความเป็นพ่อ’ ของตนเองจะยังหลงเหลืออยู่ไหมหากเคตะรู้ความจริงว่าเขาทั้งคู่ไม่ได้เกี่ยวโยงกันไว้ด้วยสายเลือด เรียวตะจึงต้องมองหาสายสัมพันธ์ที่ไม่ต้องสร้างหรือก็คือสายสัมพันธ์อย่าง ‘สายเลือด’ นั่นเอง

ตัดสินง่าย ตัดสินใจยาก

“คนนะ ไม่ใช่หมาใช่แมวถึงจะสลับกันได้ง่าย ๆ” ยูไดกล่าวตอนที่รู้ข่าวจากโรงพยาบาล

“ต่อให้เป็นหมาเป็นแมวฉันก็ไม่ยอมเปลี่ยน” ยูคาริเอ็ดสามีทันทีที่ได้ฟัง

…แต่สุดท้ายทั้งคู่ก็ตัดสินใจสลับตัวเด็กคืน

เราอาจอดวิพากษ์วิจารณ์ผู้ใหญ่ในเรื่องที่เอาแต่ตัดสินใจเรื่องนี้กันเองโดยไม่ถามความเห็นเด็ก ๆ ไม่ได้ว่าเขาอยากอยู่กับใคร (และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นเรื่องที่น่าวิจารณ์จริง ๆ) แต่หากสถานการณ์นี้เกิดขึ้นจริง เราก็อาจไม่กล้าบอกความจริงกับเด็ก ๆ เพราะอยากปกป้องความรู้สึกของพวกเขาก็เป็นได้

เราอาจนึกหมั่นไส้เรียวตะขึ้นมาทันทีตอนที่เขายื่นข้อเสนอให้ครอบครัวไซคิว่าเขาจะขอรับเลี้ยงทั้งริวเซที่เป็นลูกที่แท้จริง และเคตะที่เป็นลูกที่เขาเลี้ยงดูมาตลอด 6 ปีไว้เอง แต่ในมุมมองของเรียวตะ ทางเลือกนี้ก็อาจสมเหตุสมผลที่สุดก็เป็นไปได้ ในเมื่อการยกเคตะให้ครอบครัวที่แท้จริงนั้นแปลว่าเขาต้องสูญเสียเด็กที่อุตส่าห์ประคบประหงมมาตลอดหกปีไปให้ครอบครัวที่เขารู้ว่าจะไม่มีกำลังทรัพย์เพื่อสนับสนุนเคตะให้ไปเจออนาคตที่สดใสได้เท่าเขา ขณะเดียวกันการจะปล่อยให้ริวเซที่เขาเพิ่งมารู้ว่าเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของตัวเองให้อยู่กับครอบครัวเดิมต่อไปก็คงไม่ต่างอะไรกับการรับรู้ว่าลูกตัวเองมีชีวิตที่ไม่พักพร้อมแต่กลับไม่ยอมยื่นมือไปช่วย

เช่นเดียวกันกับที่หลายคนอาจมองว่ายูไดและยูคาริเป็นคนเห็นแก่เงินเมื่อเขาเอาแต่ไถ่ถามกับโรงพยาบาลในทุกครั้งที่มีการนัดไกล่เกลี่ยว่าเขาจะได้เงินชดเชยเท่าไหร่และตอนไหน แต่หากเรามองในมุมพ่อแม่ที่มีรายได้ไม่มากนักและมีลูกอีกสามชีวิตให้เลี้ยงดู ยูไดก็ไม่ได้ผิดอะไรที่เขาต้องการเงินชดเชยค่าเสียหายนี้

หรือแม้แต่มิโดริที่สานสัมพันธ์กับริวเซได้ในเวลาไม่นานก็ยังพบตัวเองตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากเมื่อเธอไม่อาจลดความรู้สึกผิดที่มีต่อเคตะลงได้

การกระทำหลาย ๆ อย่างของหลาย ๆ ตัวละครใน Like Father, Like Son ต่างเป็นการกระทำที่ชวนให้เราชี้นิ้วตัดสิน เรียวตะบ้าอำนาจเกินไป ยูไดยูคาริเห็นแก่เงินเกินไป มิโดริไม่รู้จักมูฟออน แต่เมื่อลองคิดว่าหากเป็นเราที่ต้องเผชิญสถานการณ์ดังกล่าวแล้ว คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการตัดสินอาจเป็นเรื่องง่าย แต่การต้องเป็นคนที่ตัดสินใจคงไม่ง่ายนัก

คำถามที่อาจไม่ต้องการคำตอบ

เมื่อหนังพาเราไปพบปูมหลังของเรียวตะ เราก็ได้รู้ว่าตัวเขาเองเติบโตมาในครอบครัวที่มีพ่อแท้ ๆ และแม่เลี้ยง แม้จะเป็นฉากสั้น ๆ แต่เราก็ได้เห็นว่าพ่อของเรียวตะนั้นเป็นพ่อที่ห่างเหินกับเขาและไม่ค่อยใส่ใจความรู้สึกของครอบครัว ในขณะที่คุณโนบุโกะผู้เป็นแม่เลี้ยงกลับใส่อกใส่ใจทั้งเขาและพี่ชายและเรียกเขาว่าลูกได้อย่างไม่ขัดเขิน และถึงแม้ตัวเรียวตะจะยังพยายามเว้นระยะห่างระหว่างตัวเขากับแม่เลี้ยงด้วยการเรียกเธอว่าคุณโนบุโกะ แต่พี่ชายของเขากลับบอกว่าตัวเองได้บางสิ่งบางอย่างมาจาก ‘แม่’ ราวกับเป็นลูกแท้ ๆ ของคุณโนบุโกะ

อาจเป็นตอนนั้นเองที่ความสั่นคลอนในใจของเรียวตะค่อย ๆ หายไป เรียวตะอาจพบคำตอบของความสัมพันธ์ระหว่างเขาและเคตะผ่านตัวเขาและครอบครัว ครอบครัวที่มีทั้งพ่อสายเลือดเดียวกัน กับแม่ที่เป็นแม่เพราะความผูกพัน พ่อที่เขาอาจไม่ผูกพันมากนักแต่ก็ยังคงมองเป็นพ่อ กับแม่ที่เขาคิดว่าไม่ใช่แม่ หากแต่ผูกพันกับเขายิ่งกว่าพ่อ

ท้ายที่สุดโคเระเอะดะก็ไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจนกับเราว่าอนาคตของเด็กทั้งสองเป็นอย่างไร ริวเซและเคตะจะได้กลับไปอยู่กับครอบครัวที่มีสายเลือดร่วมกัน หรืออยู่กับครอบครัวเดิมที่เลี้ยงดูพวกเขามาตั้งแต่เกิด หรือบางทีอาจมีหนทางที่ทำให้ทั้งสองครอบครัวไม่ต้องเลือกก็เป็นได้


Writer

Avatar photo

ปัญญาพร แจ่มวุฒิปรีชา

อย่ารู้จักเราเลย รู้จักแมวเราดีกว่า

Illustrator

Avatar photo

พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts