ฟังเสียง ‘ครูการศึกษาพิเศษ’ ในวันที่ ‘การศึกษายังไม่พิเศษ’ สำหรับทุกคน

  •  ‘เด็กพิเศษ’ หรือ ‘เด็กที่มีความต้องการพิเศษ’  หมายถึงเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าด้านการเรียนรู้หรือพฤติกรรม ทำให้พวกเขาต้องการการศึกษาที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้พวกเขาได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ แต่บ่อยครั้งที่เด็กเหล่านี้ถูกหลงลืมไปในระบบการศึกษาที่กำหนดความสำเร็จของผู้เรียนเพียงรูปแบบเดียว
  • แม้ไม่เคยมีความฝันอยากเป็นคุณครูเหมือนพ่อแม่ แต่ ‘ครูหญิง – จุติพร ปานา’ ก็ไม่เคยเสียใจเลยสักวินาทีเดียวที่ตัดสินใจเลือกเรียนเรียนด้านการศึกษาพิเศษ ก่อนจะเข้าบรรจุที่ศูนย์การศึกษาพิเศษส่วนกลาง และเริ่มหน้าที่ครูการศึกษาพิเศษเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว
  • ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีนโยบายให้เด็กพิเศษเรียนรวม ไม่ว่าเด็กประเภทไหนก็สามารถเรียนในโรงเรียนใกล้บ้านได้ โรงเรียนไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธ แต่หลายโรงเรียนก็ยังปฏิเสธเด็กเหล่านี้ โดยให้เหตุผลว่าไม่พร้อมในเรื่องของบุคลากร
  • ครูการศึกษาพิเศษต้องรับมือและจัดการกับปัญหาร้อยแปดพันเก้าในชั้นเรียน จนมีทักษะและสามารถทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยม ทว่า คุณครูเหล่านี้กลับขาดการพัฒนาตัวเอง หรือขาดการ ‘อัปเดต’ ข้อมูลบางอย่างที่ทำให้พวกเขาไม่เท่าทันกับโลกที่กำลังก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว

ในโลกที่มีเด็กมากมายและเด็กแต่ละคนก็มีความถนัดหรือความสามารถในการเรียนรู้ที่แตกต่างไม่เท่ากัน การสร้าง ‘ระบบนิเวศการเรียนรู้’ ที่เป็นมิตรกับเด็กทุกคนจึงเป็นสิ่งสำคัญในการเตรียมพร้อมให้เด็กๆ สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมแห่งนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสังคมไทยยัง ‘หลงลืม’ เด็กหลายกลุ่มไว้เบื้องหลัง โดยเฉพาะกลุ่ม ‘เด็กพิเศษ’ ที่ต้องการ ‘การศึกษาพิเศษ’ และความเข้าใจของสังคมเกี่ยวข้องเด็กพิเศษที่ยังมีอยู่อย่างจำกัด ก็กลายเป็นปัญหาที่นำไปสู่การออกแบบนโยบายหรือการเรียนรู้ที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของเด็กพิเศษ และทำให้เด็กพิเศษมากมายถูกผลักออกจากระบบการศึกษา

Mappa คุยกับ ‘ครูหญิง – จุติพร ปานา’ ครูการศึกษาพิเศษตัวเล็กๆ ในระบบการศึกษาไทย เพื่อรับฟังความท้าทายของระบบการศึกษาพิเศษและครูการศึกษาพิเศษ ในวันที่การศึกษาไทย ‘อาจจะยังไม่พิเศษ’ สำหรับทุกคน

‘การศึกษาพิเศษ’ คืออะไร

แม้ไม่เคยมีความฝันอยากเป็น ‘คุณครู’ เหมือนพ่อแม่ แต่ ‘ครูหญิง’ ก็ไม่เคยเสียใจเลยสักวินาทีเดียวที่ตัดสินใจเลือกเรียนเรียนด้าน ‘การศึกษาพิเศษ’ ก่อนจะเข้าบรรจุที่ศูนย์การศึกษาพิเศษส่วนกลาง และเริ่มหน้าที่ ‘ครูการศึกษาพิเศษ’ เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว

“ในตอนนั้นโรงเรียนวัดราชาธิวาส ภายใต้การดูแลของผู้อำนวยการอนันต์ ทรัพย์วารี มีเด็กพิเศษอยู่ในโรงเรียนประมาณ 3 – 4 คน แล้วทางโรงเรียนก็ไม่รู้จะบริหารจัดการอย่างไร เพราะเขาไม่มีบุคลากรที่เป็นครูการศึกษาพิเศษอยู่เลย แต่เขาก็รับเด็กเข้ามาแล้ว ทางโรงเรียนจึงขอบุคลากรไปช่วยราชการ ซึ่งก็กลายเป็นเราที่ได้เข้าไปทำหน้าที่ตรงนี้” ครูหญิงเริ่มต้นเล่า

ครูหญิงอธิบายว่า การศึกษาพิเศษของไทยเริ่มต้นจากกลุ่มเด็กที่เห็นได้ชัดทางร่างกายก่อน เช่น เด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย หรือเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ก่อนจะกลายเป็นกลุ่มเด็กพิเศษทางสติปัญญา อย่างไรก็ตาม ยังมีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ถูกนับรวมในเด็กกลุ่มข้างต้น ซึ่งครูหญิงใช้คำว่า ‘เด็กพิเศษ’ หรือเด็กที่มีความต้องการพิเศษ หมายถึงเด็กที่มีพัฒนาการช้าด้านการเรียนรู้หรือพฤติกรรม ทำให้พวกเขาต้องการการศึกษาที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้พวกเขาได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ แต่บ่อยครั้งที่เด็กเหล่านี้ถูกหลงลืมไปในระบบการศึกษาที่กำหนดความสำเร็จของผู้เรียนเพียงรูปแบบเดียว

“เมื่อเรามาอยู่ที่โรงเรียนวัดราชาธิวาส เราก็รับเด็กพิเศษทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเด็กออทิสติก เด็ก ADHD (Attention Deficit Hyperactivity Disorder หรือโรคสมาธิสั้น) เด็ก LD (Learning Disability หรือภาวะการเรียนรู้บกพร่อง) เราเลือกเด็กอย่างเดียวไม่ได้ แล้วเราก็ทำเป็นโรงเรียนเรียนรวมหรือเรียนรวมแบบ Inclusive เพราะเรามองว่าการเรียนรวมเป็นการดูแลเด็กที่ยั่งยืน”

“เราก็คุยกับเพื่อนครูว่าเรามาเป็นระบบ inclusive กันเถอะ เพราะตอนเราเข้าไป เด็กๆ เปิดเทอมกันหมดแล้ว เราก็ไม่อยากแยกเด็กออกมา เราอยากให้เด็กเนียนๆ อยู่ในห้องปกติ แล้วเราก็เข้าไปเป็นคนซัพพอร์ตเขา พอเราไปเป็นคนซัพพอร์ต ปีต่อมาเราก็ค่อยขยับเพดานขึ้น เริ่มใส่ระบบเข้าไปเรื่อยๆ ก็เลยกลายเป็นรูปแบบการเรียนรวมมาจนถึงตอนนี้ ซึ่งตอนแรกมันก็เหนื่อยมากเพราะเรามีเด็กหลากหลาย แต่ไม่กี่ปีหลังจากนั้น เราก็มีระบบที่ครูไม่ต้องเหนื่อยและเด็กก็ได้คุณค่ามากๆ” ครูหญิงสะท้อน

เด็กพิเศษถูกปฏิเสธให้เข้าเรียน

“นโยบายการศึกษาของประเทศไทยเรื่องการพัฒนาก็มองการณ์ไกลพอสมควรเลยนะ แต่ในเรื่องการปฏิบัติจริง เรารู้สึกว่ายังไปไม่ถึงเป้าหมายสักเท่าไร อย่างเช่นการที่เรามีนโยบายให้เด็กพิเศษเรียนรวม คือไม่ว่าเด็กประเภทไหน ก็สามารถเรียนในโรงเรียนใกล้บ้านได้ เพราะว่าเด็กไม่ต้องเดินทางไกล โรงเรียนไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธ แต่โดยส่วนใหญ่หลายโรงเรียนจะปฏิเสธเด็กๆ โดยให้เหตุผลว่าไม่พร้อมในเรื่องของบุคลากร” ครูหญิงกล่าว

ไม่เพียงความท้าทายทางนโยบายและการปฏิบัติจริงเท่านั้นที่เด็กพิเศษต้องเผชิญ ครูหญิงเล่าว่าความท้าทายเรื่อง ‘ทัศนคติ’ ของผู้ปกครองก็เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการศึกษาของเด็กพิเศษ โดยเธอระบุว่า ในโรงเรียนของเธออาจจะไม่ค่อยเจอปัญหานี้สักเท่าไร แต่จากคำบอกเล่าของเพื่อนครูโรงเรียนอื่นๆ ก็แสดงให้เห็นว่ายังต้องมีการทำงานเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องเด็กพิเศษให้กับผู้ปกครองอีกมากเหมือนกัน

“ในบางโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนที่ค่อนข้างมีความพร้อม เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ หรือโรงเรียนเอกชนที่ผู้ปกครองเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างมีรายได้หรือมีฐานะ โรงเรียนเหล่านี้เขาก็จะเน้นเรื่องวิชาการและค่อนข้างซีเรียสเรื่องผลการเรียนหรือคะแนน ผู้ปกครองก็จะค่อนข้างเป็นกังวลในเรื่องของการมีเด็กพิเศษในห้องเรียน ว่าจะฉุดรั้งในเรื่องของคะแนน หรือการเรียนที่ควรสอนไปได้ไกลแล้ว แต่ครูต้องชะลอเพื่อรอเด็กกลุ่มนี้ และอาจจะทำให้เด็กปกติขาดโอกาสการเรียนรู้ที่เร็วขึ้น ซึ่งตรงนี้ก็ยังเป็นปัญหาอยู่”

บุลคากรที่พร้อมสร้างระบบที่ดี

เมื่อถามครูหญิงถึงวิธีการสร้างระบบการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษที่ดีกว่านี้ควรทำอย่างไร ครูหญิงชี้ว่า ‘การพัฒนาบุคลากร’ คือคำตอบที่จะช่วยยกระบบการศึกษาให้เหมาะสมกับผู้เรียนทุกคน

“เราอยู่ในระบบการศึกษาพิเศษมา 20 ปี เราก็เห็นว่ามันเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และได้รับการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ นะ แต่การพัฒนาที่เกิดขึ้นมันมาจากพื้นฐานของความเป็นคนไทย มันคือความโอบอ้อมอารี คนไทยชอบเป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ เราไม่ได้พัฒนาอย่างยั่งยืน เราไม่ได้วางโครงสร้างที่พัฒนาอย่างยั่งยืน แต่ส่วนตัวในฐานะผู้ปฏิบัติ เราว่าการพัฒนาที่จะยั่งยืนมากที่สุดก็คือการพัฒนาบุคลากร” 

ขณะที่ครูการศึกษาพิเศษมากมายในระบบการศึกษาไทยต้องรับมือและจัดการกับปัญหาร้อยแปดพันเก้าในชั้นเรียน เพื่อสร้างการเรียนรู้และช่วยเหลือเด็กพิเศษที่อยู่ในห้องเรียน จนมีทักษะและสามารถทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยม ทว่า คุณครูเหล่านี้กลับขาดการพัฒนาตัวเอง หรือขาดการ ‘อัปเดต’ ข้อมูลบางอย่างที่ทำให้พวกเขาไม่เท่าทันกับโลกที่กำลังก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว

“โลกมันก้าวไปข้างหน้าไกลแล้ว การทำงานกับเด็กพิเศษหรือเด็กกลุ่มอื่นๆ ก็เปลี่ยนไปแล้วเหมือนกัน อย่างเช่นชื่อเรียกประเภทของเด็กที่เปลี่ยนไป แต่ระบบของเรายังใช้เดิมเหมือนเมื่อ 15 ปีที่แล้วอยู่เลย แล้วคนทำงานกับเด็กๆ เหล่านี้ก็ไม่รู้ ยังเรียกไม่ถูกต้องด้วยซ้ำ เราเลยคิดว่าความรู้ในการให้ครูหรือความรู้ในการพัฒนาบุคลากรของเรายังมีน้อยอยู่ และโลกยุคใหม่แบบนี้ บุคลากรก็ควรเรียนรู้รอบด้าน”

แม้การพัฒนาบุคลากรจะเป็นคำตอบของครูหญิง แต่เธอก็สะท้อนว่า ‘ภาระงาน’ ที่ครูต้องแบกรับ ก็เป็นตัวฉุดรั้งให้การศึกษาสำหรับเด็กพิเศษยังไม่ไปไหนเช่นกัน

“ในเด็กพิเศษนั้น เราไม่ได้สอนพวกเขาแค่การเขียนอ่านหรือบวกเลขเหมือนครูคนอื่น แต่เราต้องสอนให้เขามาโรงเรียนอย่างไร เข้าแถวอย่างไร เข้าห้องน้ำแบบไหน กินข้าวกับเพื่อนๆ อย่างไร หรือแม้กระทั่งคุยกับครูคนนี้อย่างไร ต้องใช้คำพูดแบบไหน มันคือเรื่องของการใช้ชีวิต และการอยู่ในสังคมทุกด้าน แต่คุณครูภาระงานเยอะมาก ทำให้ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้อะไรที่เป็นสิ่งใหม่ๆ เลย ซึ่งมันอาจต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพราะทุกวันนี้เราไม่ใช่แค่คนไทยกันแล้ว เราคือชาวโลก และเราจำเป็นต้องเรียนรู้มากกว่านั้น” ครูหญิงกล่าวปิดท้าย


Writer

Avatar photo

ณัฐฐฐิติ คำมูล

วัยรุ่นปวดหลังที่ใฝ่ฝันถึงสังคมที่ทุกคนเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง

Illustrator

Avatar photo

สิริกร พรอนงค์

ดีไซน์เนอร์, นักวาด และอาร์ตไดมือใหม่ที่ชอบไปทะเล

Related Posts