เกื้อกมล นิยม

ลูกไม่ใช่ปลาทอง เร่งเขียน เร่งพูด อ่านเร็ว อ่านไว แต่ไม่เข้าใจโลก

  • literacy skill คือความสามารถในการอ่านแล้วตีความเป็น อ่านอย่างเข้าใจ อ่านแล้วเข้าไปอยู่เนื้อเดียวกับตัวละคร เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่อาศัยหลายทักษะรวมกัน ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยง คิดวิเคราะห์ คิดกลับไปมา ไม่ใช่การเร่งเขียน เร่งงาน เร่งพูด เพราะลูกไม่ใช่ปลาทอง
  • literacy skill เป็นต้นทุนที่เริ่มต้นสะสมได้ตั้งแต่เด็ก ผ่านการอ่านหนังสือนิทานหรือการพูดคุยอย่างจริงจังในครอบครัวที่มีการอธิบาย ถกเถียง สิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กมีคลังคำ มีภาษาที่รุ่มรวยมาก มีวิธีคิดและมีการลำดับเรื่องราว

การที่ลูกอ่านหนังสือช้า ไม่ได้แปลว่าลูกไม่เก่ง

เร่งเรียน เร่งเขียน เร่งพูด ไม่ได้การันตีว่าลูกจะมีพัฒนาการที่ดี

การอ่านคือจุดเริ่มต้นพื้นฐานสร้างทักษะต่างๆ ซึ่งไม่ได้สำคัญเพียงแค่ต้องอ่านออกให้ไว แต่กลไกการอ่านเกี่ยวพันและเป็นส่วนประกอบที่มีผลต่อระบบสมอง ตรรกะความคิด และการสร้างความรู้สึก

ทำความเข้าใจโลกการอ่าน กระโจนเข้าไปในหนังสือนิทาน ผ่านการคุยกับ เกื้อ-เกื้อกมล นิยม บรรณาธิการสำนักพิมพ์สานอักษร โรงเรียนรุ่งอรุณ ผู้คลุกคลีและทำงานเกี่ยวกับหนังสือเด็กและการสร้างกระบวนการเรียนรู้ผ่านการอ่านมาหลายปี 

สถานการณ์การเรียนรู้ของเด็กไทยตอนนี้เป็นอย่างไร

เรามองว่าเด็กไทยชินกับการถูกบอกว่าใครให้ทำอะไร จนเขาไม่ได้คิดเอง ไม่ค่อยมีโจทย์ปลายเปิดให้เขาคิดเอง ทั้งในแง่ชีวิตประจำวันหรือกระทั่งชีวิตในโรงเรียน ทุกอย่างถูกกำหนดและทุกอย่างมีแค่คำตอบเดียว ครูคาดหวังคำตอบเดียว พ่อแม่ก็คาดหวังคำเดียว มันก็เลยไม่เหลือพื้นที่ให้เด็กคิดวิเคราะห์ ค้นหาคำตอบเป็นของตัวเอง

จริงๆ ในการเรียนรู้ของมนุษย์มันอาศัยการหาคำตอบด้วยตัวเอง การที่คนมาบอกคุณว่าสิ่งไหนถูก บางทีมันอาจจะก่อให้เกิดความไม่เข้าใจและทำให้เด็กพลิกแพลงข้อมูลไม่เป็น เพราะเด็กไม่ได้เผชิญหน้ากับปัญหาด้วยตัวเอง เด็กไทยยังไม่มี constructivism หรือการสร้างความรู้ด้วยตนเองเท่าไร

การอ่านเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างการเรียนรู้ได้อย่างไร

เพราะการอ่านอย่างเข้าใจมันจะสร้าง literacy skill ให้เด็ก ซึ่งเป็นทักษะการตีความที่สำคัญมากในยุคนี้

เมื่อเด็กๆ อ่านนิทานแล้วเขาเจอเรื่องราวของตัวละครในนิทานที่รู้สึกดีใจมากตอนได้เจอคุณยายหลังไม่ได้เจอกันนาน เขาจะเปรียบเทียบเรื่องราวนั้นกับตัวเอง สำรวจตัวเองว่าความรู้สึกดีใจมันเป็นอย่างไร? แล้วถ้าเขาเจอคุณยายของตัวเองเป็นอย่างไร? เขาดีใจเหมือนกันเลยไหม? เขาจะเชื่อมต่อประมวลมันออกมาเป็นเนื้อเดียวกับเรื่องราวนั้น ทั้งหมดนี้คือกระบวนการตีความ มันคือการอ่านแล้วเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เก็ทว่าตัวละครตัวนั้นรู้สึกอย่างไร สามารถสวมความรู้สึกระหว่างกันได้ เข้าใจอารมณ์เสียใจ พลัดพราก ดีใจ อบอุ่น การอ่านจึงเป็นสารตั้งต้นของเด็ก เปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้ สร้างความเข้าใจโลกด้วยตนเอง 

Literacy Skill สร้างได้จากอะไร

literacy skill เป็นสิ่งที่สามารถสร้างได้ผ่านสื่อ ซึ่งหนังสือก็เป็นสื่ออย่างหนึ่ง สำหรับเราหนังสือเป็นสื่อที่เจ๋งตรงที่มีภาษา ทั้งภาษาเขียนและภาษาภาพ ซึ่งภาษาก็จะไปทำงานกับจินตนาการอีกที ดังนั้นหนังสือจึงเล็งเป้าและทำงานกับสมองโดยตรง ยิ่งในวัยเด็กหนังสือภาพยิ่งทำงานได้ดี หนังสือจะทำงานกับเด็กทั้งสองทางคือหูที่ต้องฟังเรื่องเล่าและภาพที่ต้องจินตนาการตาม

เพื่อตอบคำถาม literacy skill ไม่ได้เกิดจากการอ่านอย่างเดียว ดีที่สุดคือการเจอของจริง แต่การอ่านจะช่วยทำให้เด็กอยากเจอของจริง และมันทำให้ภาษาสื่อสาร เวลามนุษย์ไปเจอความเจ็บปวด ไปเจอความสุข ไปเจอความรู้สึกน้อยใจ ไปเจอประสบการณ์ต่างๆ แต่ไม่มีภาษาบอกก็ไม่เข้าใจ เช่น เด็กเจอคำว่าตกใจในหนังสือ เขาไม่รู้หรอกว่าตกใจเป็นแบบไหน แต่เขาตอบตัวเองได้ว่าเขารู้สึกอึดอัด กลัว ภาษาจะช่วยบอกเขาว่า อ๋อ…สิ่งนี้เขาเรียกว่าความตกใจนะ และมันจะช่วยคลี่คลายความรู้สึกในตัวเด็กเองได้ 

และด้วยความที่หนังสือมีเรื่องราว ขณะที่อ่านหากเด็กเอาตัวเองไปเทียบได้แล้ว เด็กจะสามารถดึงคำศัพท์ในนั้นมาอธิบายตัวเองได้เลยว่าเขารู้สึกอย่างไร หรือช่วยเตรียมพร้อมให้เด็กไปเจอกับประสบการณ์ที่เขาไม่เคยเจอ เช่น ความรู้สึกพลัดพราก อุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่ไม่ต้องรอให้เจอ แต่เด็กจะเข้าใจมันได้ก่อนผ่านการอ่านเรื่องราวในหนังสือ และมันอาจสร้างแรงบันดาลใจในการอยากรู้ต่อ ทำให้เขาอยากจะไปหา experience ที่อื่นได้อีก

นอกจากการอ่านเราจะสร้าง Literacy Skill ได้ทางไหนบ้าง

ถ้าเด็กเติบโตอยู่ในบ้านที่พูดคุยกันในระดับที่ลึกซึ้ง เติบโตมาในครอบครัวที่ไม่ปฏิบัติต่อเด็กว่าเขาคือเด็กน้อย ครอบครัวพูดคุยกันอย่างมีโครงสร้าง มีเหตุผล มีการถกเถียงกัน มีลำดับขั้นตอน ถ้าเด็กซึมซับสิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องอ่านนิทานเลยก็ได้ 

ข้อมูลหลายๆ แห่งบอกว่า คำศัพท์และความรุ่มรวยทางภาษาของเด็กที่เติบโตมาในครอบครัวที่ literate หรือโตมาในครอบครัวที่พ่อแม่มีเวลา มีการพูดคุยบนโต๊ะอาหารสม่ำเสมอ มีความหลากหลายในบ้าน เด็กได้เจอกับปู่ย่าตายาย จะมีการใช้ภาษาที่ดีและมีคลังคำศัพท์เยอะ

คุณสมบัติของนิทานที่ดีคืออะไร

ไม่ใช่แค่นิทาน ทางที่ดีเด็กควรจะเจอหนังสือที่หลากหลาย เพราะเด็กแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน สนใจไม่เหมือนกัน เราชอบยกตัวอย่างเด็กผู้ชาย เพราะเด็กผู้ชายหลายคนไม่อินกับเรื่องเล่า เขาชอบเรื่องจริง ชอบสารคดี ภาพสัตว์ ตัวใหญ่ ต้องสมจริง เปิดดูไปถึงขนทุกเส้น งู แมงมุม เขาชอบแบบนี้ เด็กหลายคนชอบหนังสือบทกลอน หรือหนังสือกวี เด็กบางคนชอบดูแคตาล็อก เขาชอบใจที่จะเปิดโบรว์ชัวร์แล้วเห็นหัวหมู เห็นของใช้ในบ้าน บางคนชอบแผนที่ จะเห็นว่าความสนใจมันหลากหลายมากๆ

ส่วนหนังสือนิทานที่ดีสำหรับเราคือหนังสือที่เปิดพื้นที่ให้เด็กทำงานด้วย

พ่อแม่มักไม่ไว้ใจให้หนังสือกับเด็กทำงานด้วยกัน พ่อแม่บางคนยังมีคำตอบเดียวให้ลูก ถ้าเขารู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้ดูงงๆ ต้องอธิบายเพิ่มเขาจะไม่เอา แต่หนังสือบางเล่มมันเป็นแบบนั้น เขาต้องการปลายเปิดเพื่อให้เด็กเชื่อมโยง หรือบางเล่มเล่นตัวอักษรตรงข้ามกับภาพไปเลย เด็กจะต้องอ่านสิ่งเหล่านี้พร้อมกับทำงานในตัวเองไปด้วย เมื่อไรก็ตามที่หนังสือบอกหมดทุกอย่าง แถมมีสรุปตอนหลังให้ด้วย อาจจะทำงานกับเด็กได้น้อย ส่วนตัวเรามองว่าหนังสือแบบนี้ไม่คุ้ม 

การอ่านคือเรื่องสำคัญ ถ้าพ่อแม่ที่ไม่มั่นใจ กังวล ไม่เคยอ่านนิทานให้ลูกฟังมาก่อนจะต้องเล่นใหญ่แค่ไหน

ไม่เป็นไรเลยนะ พ่อแม่ไม่ต้องเล่นละเอียด พ่อแม่หลายคนจะกังวลว่าเราจะต้องอ่านอย่างไร กังวลว่าจะต้องทำน้ำเสียงแบบไหน ปล่อยให้หนังสือกับเด็กทำงานด้วยกันดีกว่า พ่อแม่เป็นแค่เครื่องอ่านนิทาน ครูชีวัน วิสาสะ เคยบอกว่าวิธีการอ่านนิทานให้เด็กฟังคือจะต้องอ่านเต็มเสียง ถูกอักขระ จังหวะดี มีส่วนร่วม ถ้าพ่อแม่เล่นใหญ่เกินไป จากการอ่านนิทานให้ลูกฟัง มันจะกลายเป็นการเล่นละครของพ่อแม่ 

เพราะเมื่อไรที่เด็กเอาแต่โฟกัสที่ปากของเรา เท่ากับว่าเขาไม่ได้อยู่กับเนื้อหานิทานแล้ว และนี่จะกลายเป็นว่าเสียโอกาสในการตีความของเด็ก พ่อแม่ไม่ต้องกังวลไปเลย เพราะหนังสือนิทานส่วนใหญ่ก็ถูกเขียนมาให้มีอารมณ์ซ่อนอยู่แล้วแม้เราจะไม่ได้อินมากก็ตาม แค่อ่านตามตัวหนังสือในเล่ม เว้นวรรค เว้นจังหวะตามที่หนังสือบอกมาก็พอแล้ว 

ต้องเปลี่ยนหนังสือนิทานให้ลูกบ่อยแค่ไหน เราสามารถอ่านเล่มเดิมซ้ำๆ ให้ลูกฟังได้หรือไม่

อ่านบ่อยๆ ได้เลย เพราะคุณช้างในนิทานวันนี้ ก็ไม่เหมือนคุณช้างในนิทานวันต่อไป

สำหรับเด็ก เรื่องราวหรือตัวละครใดๆ ก็ตาม เมื่อถูกเล่าในจังหวะและเวลาที่ต่างกันไม่มีทางจะให้ความรู้สึกที่เหมือนเดิม วันนี้เขาสังเกตเห็นอะไรบางอย่าง วันหน้าเขาจะตั้งคำถามกับสิ่งต่อไป ยิ่งนิทานที่ซับซ้อน ไม่ด่วนสรุป เด็กจะกลับไปหานิทานเล่านี้บ่อยขึ้นด้วยตัวเอง

ทำไมต้องอ่านนิทานให้ลูกฟังช่วงก่อนนอน

จริงๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นก่อนนอน แต่เพราะช่วงเวลานั้นเป็นเวลาที่นิ่ง เงียบ หลังจากวุ่นวายมาทั้งวัน บวกกับอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อบอุ่น ยิ่งเด็กได้ฟังนิทานในอ้อมกอดแม่ยิ่งฟิน นี่คือเรื่องใหญ่นะ เด็กที่ไม่เคยอ่านหนังสือเลยพ่อแม่ต้องเอาความรักเข้าแลกก่อน ล่อลวงด้วยความรัก จับลูกนั่งตักให้อยู่ในกอดแม่ หนังสือไม่ดีหรือจะดีอย่างไร อย่างน้อยลูกได้อยู่ใกล้แม่แล้ว

พอเราอ่านนิทานในบรรยากาศที่สงบเรื่องมันจะไหลเข้าหาเด็กได้ง่าย เด็กจะนิ่งพอที่จะรับเรื่องราวต่างๆ ได้ นอกจากนั้นการอ่านทุกก่อนนอนซ้ำแล้วซ้ำเล่ายังช่วยสร้างกิจวัตรได้ หากพ่อแม่อ่านให้ลูกฟังทุกก่อนนอนก็อยากให้อ่านไปเรื่อยๆ ทุกคืน ทำให้การอ่านเข้าไปอยู่ในชีวิต เหมือนการอาบน้ำ กินข้าว จะช่วยวัฒนธรรมการอ่านให้ดีขึ้นได้ ทำให้การอ่านไม่เป็นเรื่องที่เหนื่อยหรือเป็นสิ่งแปลกปลอม

การอ่านจะสร้างคาแรคเตอร์ของเด็กได้อย่างไรบ้าง

อาจจะไม่ได้สร้างคาแรคเตอร์ของเด็ก แต่มันจะช่วย shape วิธีคิด 

อย่างที่กล่าวไป literecy ใช้ทักษะเยอะมาก ทักษะการเชื่อมโยง เปรียบเทียบ วิเคราะห์ คิดกลับไปกลับมา ทั้งหมดทั้งมวลยืนยันว่าโลกไม่ได้มีคำตอบเดียว เหมือนที่ผู้ใหญ่ชอบให้มีคำตอบเดียว แต่เด็กเขาเกิดมาเพื่อจะค้นหาคำตอบที่หลากหลายอยู่แล้ว เขาสนุกที่จะหาคำตอบใหม่ให้ตัวเองได้ด้วยซ้ำไป

ดังนั้นหนังสือที่ออกแบบมาเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กสร้างความเข้าใจเอง บวกกับผู้ใหญ่ที่อ่านให้ฟังเปิดโอกาสให้เด็กค่อยๆ ทำความเข้าใจเอง ไม่ด่วนสรุป ไม่อธิบายแทนหมด จึงมีส่วนสร้างเด็กที่คิดเป็น สามารถพึ่งความคิดตนเองได้ ไม่จนปัญญา

และผลพลอยได้คือเด็กก็จะมีความมั่นใจเพราะเขาได้อำนาจในการตีความหนังสือด้วยตัวเอง เขาอาจจะกลายเป็นคนที่ไม่กลัวความล้มเหลวหรือผิดพลาด เพราะเมื่อใดที่เขาเข้าใจหนังสือผิดแต่เมื่ออ่านครั้งต่อไปก็เข้าใจใหม่ เขาก็จะเรียนรู้ และยิ่งเด็กเจอความหลากหลายผ่านหนังสือบ่อยๆ ก็จะทำให้เขามีหนทางในการแก้ปัญหาที่หลากหลายในการเผชิญโลก

Literacy แปลว่า เด็กจะต้องอ่านออกได้เร็วหรือไม่

ลูกเราไม่ใช่ปลาทองนะที่จะเร่งสีเร่งวุ้นได้ literacy development ไม่ได้แปลว่าลูกจะต้องอ่านให้ออก เขียนให้เป็น ต้องรีบพูด เพราะลูกไม่ใช่ปลาทอง เด็กบางคนเพิ่งเกิดมา 3-4  ปี เขาเพิ่งจะนั่งได้ เขาเพิ่งจะเดินได้ จะให้เขารีบเขียนรีบอ่านได้ไปเลยหรือ มันยากนะ

การมีภาษาเกิดจากการค่อยๆ สะสม ต้องฟังเยอะๆ ฟังอย่างเข้าใจ ลูกต้องได้พูดก่อน ค่อยมาอ่านและเขียน ตามลำดับ การเขียนคือทักษะที่อาศัยพัฒนาการที่ไปไกล เพราะมันคือเรื่องของการบังคับกล้ามเนื้อ ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะเร่งเขียนแล้วเด็กทำได้เลย ทุกอย่างต้องมีการสะสมก่อน 

การเขียนในเด็กเริ่มจากการรู้จักคำ ค่อยๆ ซึมซับผ่านการฟัง การมองเห็น ไม่ใช่การบังคับให้เขียน แต่ปัญหาหนึ่งอย่างคือประเทศไทยมีการสอบเข้า ป.1 มันเป็นเรื่องที่เข้าใจไม่ได้นะ สมองยังไม่ได้สะสมความเข้าใจ ยังไม่มีต้นทุนเกี่ยวกับตัวหนังสือเลย แล้วจะให้เขาไปสอบน่ะหรือ?

การที่เด็กได้อะไร หยิบสิ่งที่ได้จากหนังสือแล้วเอาเข้าไปม้วนต้วนข้างในตัวเอง แล้วออกมาเป็นทักษะการสื่อสาร มันไม่ใช่จะทำได้เลย ทักษะมันละเอียดอ่อน ค่อยๆ สร้างไปเรื่อยๆ ตั้งแต่อนุบาล ประถม มัธยม

ท้ายที่สุดการอ่านนิทานแล้วจะไปถึงการอ่านโลกได้อย่างไร

อ่านโลกจริงๆ แปลความหมายได้ 2 อย่าง คือการอ่านตัวเองกับอ่านข้างนอก 

นิทานเป็นตัวช่วยให้คำศัพท์ ช่วยระบุว่า situation นี้ เราจะรู้สึกอย่างไร เช่น หนังสือนิทานนำเสนอเรื่องราวของแมวน้อยกับยายเฒ่าผู้เหงาหงอย คำว่า ‘ยายเฒ่าผู้เหงาหงอย’ มันขยายให้เด็กเห็นภาพ รู้สึกตาม และเริ่มต้นตีความ เพื่อหาคำตอบว่าทำไมคนแก่คนนี้ถึงเหงาหงอย คนแก่คนนี้ต้องอยู่บริบทไหน สภาพแวดล้อมแบบไหน ที่เป็นเช่นนี้เพราะ ‘ภาษา’ มันเข้าไปเขย่าแก่นการรับรู้ของเขา ทำให้เกิดการตั้งคำถามกับโลก

ส่วนการอ่านตัวเองด้วย ยกตัวอย่าง หนังสือที่บรรยายการเติบโตของเด็กชายกับลูกหมาและลูกไก่ตั้งแต่เล็ก เรื่องราวในหนังสือทำให้เห็นว่าเด็กชายคนนั้นค่อยๆ เติบโต ผ่านฤดูร้อน หนาว หิมะตก ต้นไม้ผลิ ใบไม้ร่วง มีเรื่องของกาลเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง มันจะเปิดตาเด็ก กระตุ้นการสังเกตของเด็กได้มากๆ ทำให้เด็กไปสังเกตสิ่งเหล่านี้ในชีวิตจริงของเขา รวมถึงเข้าใจตัวเอง เห็นกาลเวลาของตัวเองเหมือนกับเด็กชายในเรื่อง

เด็กที่โตมากับการอ่านหนังสือนิทานให้ฟังกับเด็กที่ไม่เคยฟังนิทาน เหมือนหรือต่างกันไหม

ถ้าเขาอยู่ในครอบครัวที่มีการพูดคุยอย่างลึกซึ้งก็ไม่มีปัญหานะ เด็กที่ไม่อ่านไม่ฟังนิทาน สามารถทดแทนด้วยการพูดคุยกันในครอบครัวแล้ว

แต่ถ้าบ้านไม่พูดคุยกัน ไม่สื่อสาร อาจทำให้เด็กไม่สามารถสื่อสารหรือเลือกใช้คำที่ตรงกับใจ ทำให้อารมณ์ฉุนเฉียวหรือไม่ก็เศร้าเพราะว่ามันเอาออกไม่ได้ ตกค้างกลายเป็นอารมณ์ พอยิ่งอธิบายอะไรไม่ได้บางทีก็ทำให้รู้สึกโกรธ ไม่ค่อยมีสมาธิในการทำอะไรที่แบบจดจ่อแล้วก็ทำเป็นขั้นเป็นตอน 

เด็กที่อ่านหนังสือเก่งๆ เท่ากับเด็กที่อ่านโลกเก่งไหม 

อ่านหนังสือเก่งหมายถึงอ่านฉะฉานหรืออ่านเยอะ มันต้องประกอบกันสองอย่างนะ อ่านแล้วจะเก่งไหม เรารู้สึกว่ามันต้องไปเจอของจริง ต้องเอาตัวเองไปเจอประสบการณ์จริงด้วย อ่านอย่างเดียวบางทีมันก็ได้แค่ในความคิด 

เราว่าตามสัญชาตญาณ มนุษย์ชอบ interact หรือผจญภัยอยู่แล้ว ถ้าคุณโตขึ้นมาแล้ว แล้วคุณไม่กล้าออกไปไหน ไม่กล้าออกไปเผชิญอะไรเลย คุณเอาแต่อ่านหนังสือ อันนั้นน่ะไม่เวิร์ค

เราสามารถอ่านหนังสือนิทานได้นานสุดถึงอายุเท่าไร

พี่ยังอ่านอยู่เลย (หัวเราะ) จิม เทรลีส เคยพูดไว้ในหนังสือ ‘The Read-Aloud Handbook’ เขาบอกว่าเราสามารถอ่านได้ไปจนตาย

จำเป็นไหมในยุคนี้ ที่ต้องจับหนังสือเป็นสิ่งพิมพ์

จำเป็นมาก สำหรับเด็กเล็กเขาเพิ่งเกิดมาอยู่บนโลกใบนี้ การค่อยๆ ลำดับเรื่องราวที่อาศัยการเปิดกระดาษไปทีละหน้า อย่างน้อยจะย้ำทำให้เขารู้ว่ามันมีจุดเริ่มต้นและมีถัดๆ ไป 

แต่การที่มันเป็นจอ ถึงแม้ว่าคุณปัดไปทีละหน้า แต่มันจะขาดการสัมผัส ขาดการย้อนไปย้อนมา ขาดการจับต้อง เวลาอยู่กับหน้าจอเยอะๆ สมองเด็กจะกลายเป็น autopilot เหมือนซอมบี้ เด็กจะรู้สึกว่าเขาต้องรับอย่างเดียว บวกกับความรวดเร็วของมัน ทำให้เราไม่มีเวลาที่จะไล่สายตาดูและไม่มีเวลาละเมียดละไม  

ตอนนี้โลกอีกใบของวัยรุ่นคือโซเชียลมีเดีย การอ่านในโลกใบนั้นมันทดแทนกับการอ่านหนังสือจริงได้ไหม

ในโซเชียลส่วนใหญ่คือการอ่านโพสต์สั้นๆ และเราคนเดียวในหน้าจอ มันอาจจะไม่ค่อยมีพื้นที่ให้แสดงความลึกซึ้งหรือความหลากหลายเท่าไรนัก ทำให้การอ่านอยู่ในรูปแบบแบนแคบและเร็วไป โซเชียลมีเดียอาจไม่มีเวลาให้คิดหรือทบทวนอะไรกับมันมากนัก แต่ไม่ใช่ว่าไม่ดีนะ อ่านได้ แต่ว่าเรารู้สึกว่าการอ่านหนังสือที่เป็นเล่ม ไม่ใช่แค่วรรณกรรม หนังสืออะไรก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะประวัติศาสตร์หรือวิชาการ มันต้องใช้กำลังสมองที่ดึงหลายศักยภาพขึ้นมา ซึ่งการอ่านในโซเชียลมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับ media literacy ยิ่งมันสั้นปุ๊บ ผู้อ่านอาจจะตัดสินเร็วเกินไปว่าเข้าใจสารที่จะสื่อ

คนไทยไม่คุ้นชินกับวัฒนธรรมการอ่าน รู้สึกเหนื่อย รู้สึกยากมากในการหยิบหนังสือสักเล่มมาอ่าน เราจะทำอย่างไร

เพราะอย่างนี้แหละมันถึงต้องสะสมและสร้างทักษะการอ่านมาตั้งแต่เด็ก เพราะอนาคตเขาจะอ่านมันโดยที่ไม่รู้สึกว่าเป็นภาระ

พอรู้ว่าการอ่านไม่ได้เป็นภาระและก็ไม่ได้เป็นเรื่องยาก มันส่งผลกระทบไปหมด ทำให้เรามีต้นทุนมากขึ้นเพื่อสร้างทักษะ media literacy เขาจะฉุกคิดต่อทุกสิ่งรอบตัว เขาจะรู้สึกเอ๊ะและสงสัย เขาจะมี barrier ในการใช้ชีวิต

การอ่านก่อให้เกิดทักษะมากมาย แล้วในมิติอื่นๆ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างกัน การอ่านช่วยได้อย่างไรบ้าง

ทำให้ทุกอย่างมันเป็นโลกใบเดียวกัน 

นิทานเล่มหนึ่งทำให้พ่อแม่ลูกซึมซับเรื่องเดียวกัน ณ ช่วงเวลาที่อ่าน ความรู้ของแม่กับลูกมีเท่ากันนะ นี่เป็นเวลาทองที่เราจะได้คุยในเรื่องเดียวกัน ได้สร้างสัมพันธ์ที่ดีอย่างแยบยล หากพ่อแม่ลูกมีความเห็นหรือว่าจินตนาการไม่ตรงกัน ช่วงเวลานี้อาจจะเป็นโอกาสที่จะได้ทำความเข้าใจ ยืดหยุ่น ได้ปรับตัว

หนังสือ 5 เล่ม เด็กน่าจะสนใจ

1. สิ่งประดิษฐ์สุดเพี้ยน ของ ตาตุและปาตุ

ธรรมชาติของเด็กคือเขาชอบคิด ยังไม่เหนื่อยที่จะทำ เพราะจินตนาการเปิดกว้างและจะสนุกถ้าเขาได้เล่น หน้าแรกของหนังสือเล่มนี้เล่าเป็นชีวิตประจำวันของตัวละครพี่น้องตาตุและปาตุ ผ่านแผนผังเหมือนเกมบันไดงู เริ่มจากตื่นนอน อาบน้ำ แปรงฟัน หวีผม ไปกินข้าวเช้า หนังสือเล่มนี้เน้นอ่านรูป พ่อแม่เล่นกับลูกได้ ทำให้ลูกรู้ว่าตื่นเช้าเขาต้องทำอะไรบ้าง สนุกโดยไม่ต้องสอน พ่อแม่ชวนตั้งคำถาม เอ๋…เรามาดูสิ อาบน้ำแล้วไปไหนต่อ ไปกินข้าวเช้าใช่ไหม กินข้าวแล้วไปไหน ถ้าเด็กตอบได้ ไม่ว่าจะถูกหรือผิด นั่นคือประสบความสำเร็จแล้วเพราะเกิดการตีความ

2. Welcome to Mamoko

เป็นหนังสือประเภท wordless ไม่มีตัวอักษรเขียน หนังสือเล่มนี้มีตัวละครหลายตัว หลายคาแรคเตอร์ หลายอาชีพ อ่านไม่เบื่อเลย เพราะเด็กสามารถติดตามชีวิตของตัวละครแต่ละตัวไปได้ทุกหน้า เช่น วันนี้สนใจคุณแกะ ก็ดูแต่คุณแกะไปเลยว่าคุณแกะเป็นใคร ทำอาชีพอะไร เรื่องราวของคุณแกะเป็นอย่างไร มีปฏิสัมพันธ์กับใครบ้าง พอเบื่อคุณแกะแล้วก็ไปดูตัวละครอื่น ไปติดตามชีวิตของเอเลี่ยนดูสิว่าเขาเกิดอะไรขึ้น หนังสือไม่ต้องบรรยายมาก ให้จินตนาการทำงาน เรียกร้อง interact จากเด็กๆ ได้เมื่อพ่อแม่หยิบมาเปิดให้ลูกดู

3. ใบไม้แปรงร่าง

หนังสือประเภทนำเสนอเกี่ยวกับรูปทรง รูปร่าง รวมถึงเท็กซ์เจอร์ของผักชนิดต่างๆ ที่ค่อยๆ กลายร่างเปลี่ยนไป โดยที่เราไม่ต้องบอกว่าผักเหล่านั้นจะกลายเป็นรูปอะไร เด็กๆ เขาจะรู้สึกสนุกกับการลุ้นตามอย่างต่อเนื่อง

4. รอนานหน่อยนะ

หนังสือที่สร้างความเร้าใจ ตามสัญชาตญาณมนุษย์ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ เรามีต่อมของความอยากรู้ติดตัวมาอยู่แล้ว หนังสือเล่มนี้เล่าถึงการติดตามความเป็นไปของตัวละครที่ค่อยๆ เดินเข้าไปประตูลับ ตัวละครค่อยๆ หายไปทีละตัว ทีละตัว… จาก 4 เหลือ 3 เหลือ 2 เหลือ 1 หนังสือไม่มีอะไรเลย เด็กต้องลุ้นว่าข้างในประตูมีอะไรหรือมีใครอยู่ พอหน้าสุดท้ายเฉลยว่า อ๋อ หลังประตูมีคุณหมอที่คอยซ่อมรักษาตัวละครเหล่านี้ไง ใจของเขาจะคลายความกลัว ความสงสัย สร้างความฟินให้เด็กเป็นอย่างมาก เขาฟินด้วยตัวเอง เขาจะรู้สึก ฉันเข้าใจมันแล้ว! ฉันรู้แล้ว!

5. หมวกใบเล็กของเจ้าปลายักษ์

นิทานถ่ายทอดเรื่องราวของปลาน้อยที่ขโมยหมวกมาจากปลายักษ์ และมั่นใจมากว่าไม่มีทางที่ปลายักษ์จะรู้ว่ามันเป็นคนขโมยมา ตลอดทั้งเรื่องผู้อ่านจะได้ความรู้สึกลุ้นว่าปลายักษ์จะรู้ไหมว่าใครเอาหมวกไป แล้วชะตาของปลาน้อยจะเป็นอย่างไร เมื่ออ่านจบแล้วแต่ละคนจะสัมผัสความรู้สึกไม่เหมือนกัน บางคนเห็นใจปลาน้อย บางคนโกรธ บางคนสัมผัสได้ถึงความรู้สึกกลัว ตื่นเต้น กดดัน รู้สึกอึนๆ เพราะนั่นเป็นความรู้สึกของคนที่เป็นขโมย หากเด็กเก็ทความรู้สึกตรงนี้อาจจะช่วยบอกเขาได้ว่าเมื่อไหร่ที่เขาไปขโมยของคนอื่น เขาก็จะรู้สึกกังวลเหมือนปลาน้อย


Writer

Avatar photo

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา

พยายามฝึกปรือและคลุกอยู่กับผู้คนในวงการการศึกษา เพราะเชื่อว่าการเรียนรู้เป็นใบเบิกทางให้ขยายขอบขีดความสามารถตัวเอง ฝันสูงสุดคืออยากเห็นตัวเองทำงานสื่อสารที่มีคุณภาพและคุณค่าต่อไป

Photographer

Avatar photo

เฉลิมพล ปัณณานวาสกุล

นักเทคนิคการแพทย์ ช่างภาพ เจ้าของแบรนด์กระเป๋า Soul goods และนักเดินทาง ทั้งหมดรวมอยู่ในตัวของคนๆเดียวที่ดำเนินชีวิตด้วย passion และ inspiration รับงานถ่ายภาพหลากหลายไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ นอกจากนี้ยังสามารถถ่ายคนให้น่ากินเหมือนอาหารได้อีกด้วย

Related Posts