สมภพ แจ่มจันทร์

ท่ามกลางความคิดต่าง empathy จะเกิดขึ้นได้ ถ้าพ่อแม่อนุญาตให้ลูก ‘ซื่อตรง’ ต่อความรู้สึก

  • empathy ไม่ได้แปลว่าสงสาร แต่เป็นความสามารถที่จะทำให้เรา ‘รับรู้’ ว่าอีกฝ่ายเขารู้สึกอย่างไร เขาคิดอะไร เพื่อที่เราจะตอบสนองและปฏิบัติต่อกันอย่างตรงจุด
  • empathy คือสิ่งที่พัฒนาและเรียนรู้ได้เริ่มตั้งแต่เด็ก โดยผ่านสิ่งแวดล้อมหรือบรรยากาศที่เอื้อให้รู้จักซื่อตรงและเคารพความรู้สึกตัวเองและผู้อื่น ครอบครัวจึงเป็นส่วนสำคัญ
  • ถ้าลูกเติบโตขึ้นมาท่ามกลางการไม่ถูก ‘รับรู้ความรู้สึก’ หรือโตมาในครอบครัวที่อ้าปากพูดอะไรก็ผิด ไม่มีโอกาสได้ตัดสินใจด้วยตัวเอง หรือโตมาในโลกผู้ใหญ่รีบคาดคั้นเอาคำตอบแบบที่ตัวเองอยากฟัง เด็กเขาจะแสดงออกความคิดตัวเองไปทำไม? – และเขาจะมี empathy กับผู้อื่นได้อย่างไร

คำว่า empathy ถูกใช้ในบริบทที่หลากหลาย แต่ในมุมมองของนักจิตวิทยาอธิบายว่าคำที่มีความหมายใกล้เคียงที่สุดคือ ‘ความเข้าใจ’ หรือการที่เราสัมผัสได้ถึงความรู้สึกของคนอื่น ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานของมนุษย์

ความหมายของคำว่า empathy นอกจากการรับรู้หรือการสัมผัสได้ถึงสิ่งที่อีกฝ่ายกำลังรู้สึกแล้วนั้น ในอีกแง่หนึ่งคือการทดลองมองเห็นโลกผ่านสายตาของผู้อื่น ทำให้รู้ว่าคนอื่นคิดแบบไหน รู้สึกแบบไหน และอะไรที่ทำให้เขาตัดสินใจแบบนี้ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย

ครอบครัวคือระบบพื้นฐานสำคัญที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นองค์ประกอบ และต่างมีผลซึ่งกันและกันเสมอ 

ดังนั้นถ้าคุณอยากให้ลูกมี empathy หลักการพื้นฐานคือ การกลับมาเริ่มที่บ้าน

คุยกับ ‘สมภพ แจ่มจันทร์’ เพื่อทำความเข้าใจมิติของคำว่า empathy โดยเฉพาะบริบทพ่อแม่และครอบครัว

Empathy คืออะไร เราจะรู้จักมันแบบไหนดี

คำว่า empathy เป็นคำภาษาอังกฤษที่หาคำไทยที่เทียบเคียงได้ยาก เพราะแต่ละคำก็มีข้อจำกัดที่มันไม่ค่อยตรงความหมายนัก กระทั่งคำว่า empathy เอง ในบริบทของภาษาอังกฤษก็ยังมีคนใช้ไปในความหมายที่ค่อนข้างจะหลากหลายและมีรายละเอียดที่แตกต่าง ในมุมมองของผม คำที่อาจจะไม่ได้ตรงเสียทีเดียว แต่อย่างน้อยๆ ก็อาจจะตรงที่สุด ผมว่า empathy คือ ‘ความเข้าใจ’ หรือการที่เราสัมผัสได้ถึงความรู้สึกของคนอื่น เรารับรู้ว่าเขากำลังรู้สึกอย่างไร

ในมุมมองของนักจิตวิทยาเอง คำนี้สำคัญและลึกซึ้งอย่างไร 

นี่คือเรื่องพื้นฐานความเป็นมนุษย์เลย จริงๆ แล้วถามว่ามันลึกซึ้งไหม มันไม่ใช่เรื่องอะไรที่เข้าใจยาก ผมมองว่ามันเป็นเรื่องพื้นฐาน ไม่ได้เป็นเรื่องพิเศษ เป็นเรื่องสามัญ เพราะผมว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในการที่จะรับรู้และเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นอยู่แล้วโดยธรรมชาติ 

ทว่าในการศึกษาสมัยใหม่ทางประสาทวิทยา นักสรีระประสาทวิทยา เจียโคโม ริซโซลัตตี (Giacomo Rizzolatti) มีการศึกษาเกี่ยวกับ mirror neurons หรือ เซลล์ประสาทกระจก ซึ่งนี่คือตัวการสำคัญในการทำให้เราสะท้อนสิ่งที่คนอื่นทำเข้ามาในตัวเรา ส่งผลให้มนุษย์มีความรู้สึกคิดถึงผู้อื่นหรือพยายามทำความเข้าใจคนอื่น

อธิบายได้ว่า สมมุติเพียงแค่เราเห็นคนที่เขากำลังมีความทุกข์ เซลล์ประสาทของเราที่ทำงานจะเป็นเซลล์ประสาทตัวเดียวกันกับที่ทำงานในสมองของอีกคนหนึ่งที่เขากำลังประสบความทุกข์จริงๆ 

ดังนั้นในแง่พื้นฐาน นี่คือสิ่งที่อธิบายได้ว่าทำไมเวลาเราเห็นคนอื่นทุกข์หรือไม่สบายใจเราจึงรู้สึกทุกข์ไปด้วย เพราะกระบวนการที่เกิดในใจเรากับเกิดในใจอีกคนหนึ่งมันแทบจะเป็นกระบวนการเดียวกันเลย แต่ในขณะที่บางคนอาจจะไม่รับรู้กระบวนการนี้ก็ได้ ไม่ใช่เรื่องผิด แต่โดยพื้นฐานแล้วตามธรรมชาติ มนุษย์มีศักยภาพที่เราจะเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามันอาจจะถูกขวาง ถูกบดบัง หรือถูกจำกัดด้วยอะไรบางอย่าง ทำให้เราไม่สามารถจะใช้ศักยภาพตรงนี้ได้เท่านั้นเอง

ความรู้สึกสงสารหรือว่าความเห็นใจที่เกิดขึ้น มันคือเรื่องของระบบสมองอย่างเดียวหรือเปล่า

สมองกับจิตใจ เอาจริงๆ แล้วทำงานแบบแยกไม่ออกจากกันหรอก 

ผมไม่ได้บอกว่าสมองทำให้เรามีความรู้สึกนะ ทั้งหมดมันเกิดขึ้นพร้อมกัน ตอนที่เรารู้สึกสมองก็ทำงานไปด้วย เป็นกระบวนการที่ทำงานไปพร้อมกัน อย่างผมเศร้า ผมโกรธ ดีใจ สมองส่วนต่างๆ มันก็ทำงาน นั่นหมายความว่าเวลาที่คนเราเป็นทุกข์ ต่อให้เราไม่ได้เป็นผู้ประสบความทุกข์ด้วยตัวเอง ถ้าเรามี empathy เราก็จะรับรู้ได้ถึงความทุกข์ของเขา

ซึ่ง empathy ก็ไม่ได้พูดถึงแค่ความรู้สึกใดรู้สึกหนึ่ง มันพูดรวมไปถึงการรับรู้ความสุขก็ได้นะ เราเห็นคนอื่นมีความสุข เราก็รับรู้ถึงความสุขที่เกิดขึ้นในใจเราไปด้วย เราเห็นคนอื่นเขาทุกข์เราก็รับรู้ถึงความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจเราไปด้วย 

empathy ไม่ได้แปลว่าต้องสงสาร เพราะความสงสารมันคือสเต็ปที่มีตัวเราเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยแล้ว เช่น เราบอกว่าสงสารผู้อื่น มันมีตัวเราเข้าไปตัดสินว่าสิ่งที่เขาทำมันน่าสงสาร น่าเห็นใจนะ มันมีตัวเราเข้าไปตัดสิน แต่ empathy มันไม่มีตัวเราเข้าไปตัดสิน แค่ตัวเราที่ไปรับรู้ว่าตอนนี้มนุษย์คนอื่นกำลังรู้สึกอย่างไร รับรู้ว่าเขาโกรธแค้นกับสิ่งที่เขากำลังเผชิญอยู่ โดยไม่ใช่เอาตัวเราไปตัดสินว่าเราเห็นด้วยหรือเปล่า 

หากเป็นเช่นนั้นในทางจิตวิทยา เราจะเรียกว่า  sympathy หรือความรู้สึกเศร้าเสียใจ ความรู้สึกสงสารเมื่อเห็นอีกฝ่ายเจอกับเรื่องที่ไม่ดี มันคือกระบวนการที่เราเข้าไปมีอารมณ์ร่วม เอาความรู้สึกของเราไปจับด้วยราวกับว่านี่เป็นเรื่องของเรา  

เช่นนั้นเราจะ Empathy กันอย่างไรที่อยู่บนหลักความจริงและไม่ถูกมองว่าโลกสวย 

ถ้าจะขยายความหมายของคำว่า empathy ก็คือนอกจากการรับรู้หรือการสัมผัสได้ถึงสิ่งที่อีกฝ่ายกำลังรู้สึกแล้วนั้น ในอีกแง่มุมหนึ่งมันคือการได้ทดลองมองโลกผ่านสายตาของผู้อื่นนะ 

ถ้าเรามี empathy เราจะมองเห็นว่ามันมีที่มาที่ไป การที่คนคนหนึ่งรู้สึกแบบนี้ คิดแบบนี้ มีพฤติกรรมแบบนี้ เป็นเพราะอะไร เป็นการมองโลกผ่านสายตาของเขาว่าเขาผ่านอะไรมาบ้าง เจออะไรมาบ้าง แล้วมันมาลงเอยที่จุดนี้ที่เรารับรู้ได้ยังไง ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย

empathy เป็นความสามารถอย่างหนึ่ง เป็นคุณภาพทางใจอย่างหนึ่ง แน่นอน empathy อย่างเดียวไม่เพียงพอในการจะอยู่ร่วมกัน แต่อย่างน้อยๆ มันเป็นพื้นฐาน ถ้าเราไม่สามารถเข้าใจอีกฝ่ายได้เลยว่าเขารู้สึกยังไง จะทำให้เราตอบสนอง ปฏิบัติต่อกันได้ไม่ตรงจุด 

เหมือนถ้าผมไม่รู้ว่าตอนนี้คุณกำลังโกรธ ถ้าผมรับรู้ผมอาจจะต้องขอโทษสิ่งที่ผมทำไป ในขณะเดียวกันถ้าผมไม่ได้รับรู้ คุณก็ยิ่งโกรธกว่าเดิมเพราะผมไม่ได้ใส่ใจความรู้สึกตรงนั้นของคุณ นี่จึงเป็นพื้นฐานที่ทำให้เราอยู่ร่วมกันได้ 

ผมเชื่อว่าบางครั้ง empathy ก็สร้างปัญหาได้จริงๆ บางครั้งเราก็รู้สึกเหนื่อยล้าจากการเห็นอกเห็นใจ หรือเรียกกันว่า empathy fatigue พอเรารับรู้ความทุกข์ของคนอื่น มันก็เกิดความทุกข์ในใจของเราด้วย ฉะนั้นถ้าเรารับรู้มากๆ แต่ไม่สามารถจัดการได้ นั่นจะกลายเป็นปัญหาของเราเอง 

empathy คือจุดเริ่มต้น สิ่งที่ติดตามมาคือเมื่อรับรู้แล้วเราจะทำอย่างไรต่อ 

ถ้านำไปสู่การพัฒนาว่าเราเห็นคนเศร้าแล้วเรารู้สึกอย่างไร นั่นแปลว่าเริ่มมีตัวเราเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยแล้ว

เช่น เราเห็นอกเห็นใจเพื่อนที่เป็นทุกข์ เราปรารถนาอยากจะช่วยเขาคลี่คลายจากความทุกข์ เราอยากช่วยเพื่อนเหลือเกิน 

โอเค เราเข้าใจเพื่อนนะ เราเป็นเพื่อนรับฟังและอยู่ข้างๆ เขาได้ แต่เราไม่ใช่นักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ ถ้าคำนึงถึงความเหมาะสมและตรงจุด เราควรให้เพื่อนไปพบผู้เชี่ยวชาญที่จะให้เขาพ้นจากทุกข์ตรงนั้นดีกว่าไหม ถ้าเราเอาแต่กดตัวเองให้เป็นผู้รับผิดชอบ ปัญหาของเรื่องนี้เราจะกลายเป็นศูนย์กลางแทน ไม่ใช่เรื่องของเพื่อนแล้ว

Empathy นี้ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิดเลยไหม เป็นระบบที่พร้อมจะพัฒนาตั้งแต่เกิดเลยหรือเปล่า 

ผมว่ามนุษย์เรามีความสามารถนี้อยู่แล้วนะ อย่างที่ผมกล่าวไป เอาง่ายๆ เด็กก็มีความสามารถในการจะรับรู้ความรู้สึกของผู้ใหญ่ ผมว่าธรรมชาติของเด็กมีความไวต่อความรู้สึกมากๆ ด้วยซ้ำ แค่แม่หน้าบึ้ง โทนเสียงเปลี่ยน เขาก็พอจะรับรู้ได้แล้ว

เพียงแต่เมื่อเติบโตขึ้นมา ประสบการณ์ชีวิตที่เกิดขึ้นผ่านด้วยสภาพแวดล้อม ด้วยเงื่อนไข ด้วยกฎเกณฑ์ต่างๆ ก็อาจจะทำให้เราสูญเสียความสามารถตรงนี้ไป พอเราหมกมุ่นแต่สิ่งที่เป็นความคิดของเรา ความต้องการของเรา เราก็อาจจะละเลยคนอื่นไป ดังนั้นถามว่า empathy จะพัฒนาได้ไหม ผมว่าก็เติบโตมาพร้อมๆ กับกระบวนการถูกเลี้ยงดู กระบวนการอบรมสั่งสอนครับ

ท้ายที่สุด empathy เป็นสิ่งที่สอนกันหรือส่งต่อให้กันได้หรือไม่

ทั้งได้และไม่ได้ มันขึ้นอยู่กับเราพูดกันในแง่มุมไหน 

โอเค empathy อาจจะเป็นสิ่งที่สอนไม่ได้ เพราะมนุษย์ทุกคนมีสิ่งเหล่านี้ติดตัวอยู่แล้ว เหมือนกับว่ามีคนมาสอนให้คุณรู้สึก ซึ่งความรู้สึกมันเป็นเรื่องตามธรรมชาติอยู่แล้ว หรือเวลาที่หิวคุณก็รู้สึกได้ด้วยตัวเองไม่ต้องมีใครมาสั่งสอนคุณ มนุษย์มีความสามารถตรงนี้อยู่แล้ว ถ้าเราจะพูดในมุมศาสนา พระพุทธเจ้าไม่สามารถสอนใครให้บรรลุธรรมได้นะ แต่ศักยภาพในการบรรลุธรรมของแต่ละคนมีอยู่ข้างในอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าปัจจัยภายนอกแค่มีส่วนช่วยส่งเสริมให้เราได้กลับมาใช้ศักยภาพที่มีอยู่ในตัวเราได้อย่างเต็มที่ 

ผมเคยแปลหนังสือเล่มหนึ่ง ที่ชื่อว่า เราต่างมีพุทธะในตัวเอง คอนเซ็ปต์ของมันคือการพูดถึงศักยภาพพื้นฐานในใจของมนุษย์ที่กำลังถูกบดบังด้วยอะไรบางอย่าง ในศาสนาเราอาจจะเรียกมันว่ากิเลส เป็นสิ่งที่มาขัดขวางทำให้เราไม่สามารถจะมีการตื่นรู้ที่จะบรรลุธรรม ฉะนั้นที่ผมบอกว่า จริง คือ empathy  มันสอนไม่ได้ เพราะเรามีสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว 

เช่นเดียวกันมีนักจิตวิทยาคนหนึ่งชื่อ คาเรน ฮอร์นอาย ที่เปรียบเทียบเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า คุณไม่สามารถจะสอนให้ต้นโอ๊คเติบโตได้ คุณสอนไม่ได้ แต่ว่าคุณแค่จัดสภาพแวดล้อมให้มันเหมาะสม ลูกโอ๊คก็จะเติบโตไปเป็นต้นโอ๊คของมันเอง เพราะมีศักยภาพอยู่ภายในตัวลูกโอ๊คมากมายที่จะเติบโตเป็นต้นโอ๊ค ฉะนั้นไม่ใช่เรื่องของการสั่งสอน แต่ว่าปัจจัยรอบๆ ข้างต่างหากที่สามารถเอื้อให้คนเราใช้ศักยภาพนี้ได้ 

ไม่ต่างจาก empathy คนเราจะรับรู้ความรู้สึกของผู้อื่นได้ อาจจะไม่ใช่การสั่งสอน แต่เป็นกระบวนการเรียนรู้  โดยมีสิ่งแวดล้อมหรือจัดบรรยากาศให้เอื้อต่อการที่คนเราจะมีสิ่งนั้น

ปัจจัยอะไรบ้างที่เอื้อให้ Empathy พัฒนาขึ้นในใจเรา

ผมว่าถ้าจะพูดถึงปัจจัย มีเยอะมากๆ ยกตัวอย่างหนึ่ง สมมุติถ้าตอนนี้คุณไปเดินในห้าง แล้วคุณตั้งใจว่าจะไปเดินเลือกซื้อกระเป๋าใบหนึ่ง คุณเดินเข้าไปในห้างแล้วจู่ๆ ก็เกิดปวดท้องขึ้นมา ตอนนั้นผมว่าเป้าหมายของคุณจะเปลี่ยนแล้วนะ 

ผมเปรียบเปรยเรื่องนี้ว่าเหมือนกับการที่เราจะใส่ใจคนอื่นได้ ในแง่หนึ่ง ใจคุณก็ต้องว่างพอที่จะใส่ใจเหมือนกันนะ คือถ้าเกิดใจคุณเต็มไปด้วยความทุกข์ เต็มไปด้วยปัญหาของตัวเอง เต็มไปด้วยอะไรก็ไม่รู้อีรุงตุงนังในใจ นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คุณไม่สามารถที่จะพ้นตัวเองไปโฟกัสที่คนอื่นได้ 

หนทางหนึ่งที่เราจะมี empathy ก็คือ เราต้องเข้าใจตัวเราเองก่อนว่าตอนนี้เรามีปัญหาอะไร เรามีจุดไหนที่ติดขัด จะทำยังไงให้เรามีพื้นที่มากพอที่จะรับคนอื่นเข้ามาใส่ใจ จริงๆ ด้วยนะ ไม่ใช่รับคนอื่นเข้ามาเพื่อเบี่ยงเบนปัญหาของตัวเอง ซึ่งบางคนก็เป็นแบบนั้น บางคนพยายามจะไปช่วยคนอื่น เพียงเพื่อไม่ต้องแก้ปัญหาของตัวเอง เพราะว่าไปใส่ใจคนอื่น ไปทำเพื่อคนอื่น 

มันก็เป็นกระบวนการแก้ปัญหาอย่างหนึ่งที่จะพาตัวเองออกจากปัญหาของตัวเองที่ไม่ต้องใส่ใจ อันนั้นก็ไม่ได้เรียกว่า empathy อีก คุณก็กำลังทำเรื่องนี้ไปเพื่อเป้าหมายบางอย่างของตัวเอง ไม่ได้เป็นไปเพื่อคนอื่นจริงๆ 

ดังนั้นจะมี empathy ได้มันกลับมาที่พื้นฐานเหมือนกันนะ คือเราก็ต้องมี empathy กับตัวเองก่อน empathy กับตัวเองที่เราจะรู้ว่าตอนนี้เราเป็นยังไงบ้าง เรารู้สึกยังไง เราต้องการอะไร ซึ่งผมว่าคนเราในปัจจุบันเราอาจจะรับรู้ตรงนี้ได้ไม่ค่อยชัดเจนนัก บางทีสิ่งที่เรารับรู้ว่ามันเป็นความรู้สึก ความต้องการ มันกลับไม่ใช่เป็นความรู้สึกและความต้องการของตัวเราเอง

ผมยกตัวอย่าง เราเห็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างลูกกับพ่อแม่หรือคนในครอบครัวมีสูงมาก ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม เช่น ลูกมีรสนิยมทางเพศในแบบเฉพาะของตัวเอง แต่พ่อแม่ไม่ยอมรับ เขาต้องแสดงออกว่าเขาต้องการในแบบที่พ่อแม่พอใจ สิ่งนี้ทำให้เขาไม่สามารถมี empathy กับตัวเองได้แล้ว 

และด้วยค่านิยมหรือด้วยอะไรก็ตามแต่ ทำให้เขารู้สึกโกรธพ่อแม่ไม่ได้ ต้องแสดงออกมาว่าเขารักพ่อแม่ ต้องรู้สึกดีต่อพ่อแม่นะ ความโกรธนั้นมันก็ถูกเก็บกดเอาไว้ นี่ก็มีส่วนทำให้เขาปฏิเสธธรรมชาติ เพราะความโกรธคือเรื่องธรรมชาติไม่ใช่หรือ?

คนที่ต้องเก็บกดความรู้สึกจริงๆ ของตัวเองเอาไว้ เขาจะกล้าหาญไปรับรู้ความรู้สึกผู้อื่นได้อย่างไร

ถ้าคนที่หมั่นทบทวนถึง Empathy ของตัวเองตั้งแต่เด็ก เมื่อโตขึ้นมาเขาจะมีคาแรคเตอร์แบบไหน เขาจะเป็นคนแบบไหนในสังคม 

เราก็จะเป็นคนที่ซื่อตรงกับตัวเอง 

ผมว่าทุกวันนี้หลายๆ คน ไม่กล้าซื่อตรงกับตัวเอง ไม่กล้าถามว่าเรารู้สึกยังไง เราต้องการอะไรกันแน่ ซึ่งนี่จะทำให้เรากลายเป็นคนที่มีอะไรซ่อนเร้นอยู่ในใจ  เป็นคนไม่ตรงไปตรงมากับตัวเองและผู้อื่น อาจทำให้เราไม่เข้าใจบริบทของความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนอื่น แม้มันอาจจะไม่ใช่ความตั้งใจนะ แต่ก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้

ถ้าเราเริ่มต้นมี empathy กับตัวเองได้ อย่างน้อยๆ เราก็ไม่ได้มีอะไรยุ่งเหยิงในใจ เวลาเรามองคนอื่น หรือมองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต เราอาจจะมองได้อย่างตรงไปตรงมาขึ้น 

สมมุติว่าเด็กคนหนึ่งถ้าเติบโตมาด้วยความรู้สึกไม่ไว้วางใจ ไม่เชื่อใจ ไม่สนิทใจกับคนในครอบครัว เพราะคนในครอบครัวไม่ได้แสดงออกว่าครอบครัวยอมรับความรู้สึกของเขาได้ เมื่อเขาเติบโตมาอยู่ในสังคม เขาก็จะมีมุมมองแบบนี้กับคนรอบๆ ตัวเหมือนกัน 

เขาอาจจะมองว่าสังคมนี้มันไม่น่าไว้วางใจ ไว้ใจไม่ได้ เพราะเขาเองก็มีประสบการณ์แบบนี้กับครอบครัวมา 

อยากให้ยกตัวอย่างผลพวงจากระบบการศึกษา มีเงื่อนไขอะไรที่ทำให้เด็กไม่สามารถซื่อตรงกับตัวเองได้ เพราะปลายทางมันกระทบต่อการมี Empathy เมื่อเขาเติบโตขึ้นมา 

ผมว่าด้วยสังคมไทยที่ยังเป็นสังคมอำนาจนิยมอยู่พอสมควร ผิด-ถูก กำหนดด้วยผู้ใหญ่ บางครั้งการมองว่าสิ่งไหน ดี-ไม่ดี ควร-ไม่ควร ไปขึ้นอยู่กับสิ่งที่ผู้ใหญ่คิดมากกว่าสิ่งที่ยืนพื้นอยู่บนความเป็นจริง มันจะทำให้เด็กที่เติบโตมาในสิ่งแวดล้อมแบบนี้เขารู้สึกว่าถูกตัดสิน ถูกประเมินค่าอยู่ตลอดเวลา จนเขาไม่สามารถแสดงออกถึงตัวตนและสิ่งที่เขาต้องการได้อย่างแท้จริง 

ในบางครอบครัวลูกไม่มีสิทธิที่จะแสดงความเห็นต่างด้วยซ้ำ พูดไปแล้วพ่อแม่ก็ทำให้เป็นเรื่องใหญ่ จนเขารู้สึกว่าบ้านไม่มีพื้นที่ให้เขาเป็นตัวเอง

ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันถูกสะท้อนออกมาให้เห็น จากกรณีที่นักเรียนนักศึกษาที่ออกมาแสดงออกเสียงของตัวเอง สิ่งนี้ผมว่าทำให้เห็นจุดที่พวกเขาไม่ไหวแล้วเหมือนกัน เพราะสิ่งใดที่มันถูกกดมากๆ เข้า มันก็มีแรงต้านที่สูงตามมา 

สุดท้ายมันก็กลับมาที่เดิม ไม่ว่าพ่อแม่จะเห็นด้วยกับลูกหรือไม่ อาจารย์จะเห็นด้วยกับนักศึกษาหรือไม่ คุณต้องมีพื้นที่ให้เขาได้แสดงออก คุณต้องรับรู้ คุณต้องเข้าใจว่าเขารู้สึกอึดอัดต่อเรื่องนี้ เขาไม่พอใจ เขาต้องการอะไร อะไรเป็นเรื่องสำคัญกับเขา เพราะนี่คือพื้นที่ empathy 

ครอบครัวจะมีส่วนร่วมในการพัฒนา Empathy ของลูกได้อย่างไร

ถ้าพ่อแม่หรือคนในครอบครัวไม่รับฟังหรือรับรู้ความรู้สึก ไม่มี empathy ต่อลูก ลูกที่เติบโตมาก็มีสิทธิที่จะเป็นแบบพ่อแม่

ในเชิงหลักการเวลาเราพูดถึงระบบครอบครัว สมาชิกแต่ละคนในครอบครัวต่างเป็นสมาชิกของระบบนี้ ฉะนั้นถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งของระบบแสดงออกอะไรบางอย่างที่ไม่ได้สะท้อนภาพเดียวกัน มันไม่ใช่ปัญหาของลูกเพียงคนเดียว

แล้วพ่อแม่จะทำอย่างไร?

ก็ต้องเริ่มจากความเข้าใจ ถ้าลูกเติบโตมาในสภาพระบบหรือครอบครัวที่อ้าปากพูดอะไรก็ผิด ไม่มีโอกาสได้ตัดสินใจด้วยตัวเอง ผู้ใหญ่รีบคาดคั้นเอาคำตอบที่ตัวเองอยากฟัง ถ้าระบบเป็นแบบนี้ ลูกเขาจะแสดงออกความคิดตัวเองไปทำไม

ระบบหมายถึงทุกคน ปรากฏการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในครอบครัว ล้วนมีสมาชิกครอบครัวเป็นส่วนประกอบและมีผลซึ่งกันและกันเสมอ

ดังนั้นถ้าคุณอยากให้ลูกมี empathy กลับมาที่หลักการพื้นฐาน อาจจะเริ่มที่พ่อแม่และระบบครอบครัว

ก่อนเราจะพัฒนา ผมว่าเราต้องเชื่อก่อนว่าทุกคนมีศักยภาพนี้อยู่กับตัวอยู่แล้ว ที่ผ่านมาเราอาจไม่เคยเอามันออกมาใช้ มันอาจจะถูกจำกัดหรือบดบังด้วยอะไรหลายๆ อย่าง แต่ถ้าเราค่อยๆ เคลียร์ ค่อยๆ จัดการตัวเอง เราก็จะสามารถพัฒนาศักยภาพตรงนี้ได้ 

ถ้าพูดตามตรง สิ่งนี้เริ่มพัฒนาได้ตั้งแต่เกิดยิ่งดี ครอบครัว พ่อแม่ มีส่วนอย่างมากในการเติบโตขึ้นมาของเด็กสักคน แน่นอนว่าเด็กไม่ได้เรียนรู้จากการสั่งสอน แต่เขาเรียนรู้จากการเลียนแบบหรือการเห็นตัวอย่างจากพ่อแม่

คำพูดไม่เท่าพ่อแม่กระทำ คำพูดที่ว่ารักลูกมากไม่สำคัญเท่าพ่อแม่แสดงออกถึงความรัก ผมว่านี่ไม่ต่างจากการ empathy ถ้าพ่อแม่เป็นพื้นที่ให้กับลูกได้ ให้เขาได้แสดงออกและได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง ให้เขาได้ทดลองทำสิ่งต่างๆ ปล่อยให้เขาได้คิดและรู้สึกโดยลูกไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตัดสินถูกหรือผิด นี่คือรากฐานที่ดีมาก เพราะพ่อแม่มี empathy กับตัวเอง และส่งต่อความรู้สึกแบบนี้ให้ลูก พ่อแม่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การเติบโตของลูกเต็มไปด้วยความรู้สึกที่เข้าใจความต่างและอนุญาตให้เป็นตัวเอง

เพื่อไม่ให้พ่อแม่โบยตีตัวเองว่าเป็นคนผิด ครอบครัวจะเข้าใจเรื่องนี้อย่างไร

ผมเน้นย้ำอีกครั้งว่าจุดเริ่มต้นของทุกอย่างมาจากครอบครัวจริงๆ ครอบครัวเป็นพื้นฐานที่หล่อหลอมให้เด็กเติบโตขึ้นมา อย่างที่บอกว่าครอบครัวคือระบบ มีสมาชิกคือพ่อแม่ลูก ซึ่งครอบครัวก็เป็นระบบหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบของสังคมซึ่งเป็นระบบใหญ่เหมือนกัน

คำถามคือทำไมวันนี้พ่อแม่ยังไม่เข้าใจเด็ก เพราะพ่อแม่ก็เติบโตมาในโลกอีกใบหนึ่งไง แต่นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่เราต้องยอมรับครับ

พ่อแม่จะมีเวลาเลี้ยงลูก มีเวลาอบรมสั่งสอนลูก มีเวลาโอบกอดลูกได้อย่างไร ถ้าขนส่งมวลชนยังเป็นแบบนี้ ทำให้เราไม่มีเวลาหรือกลับบ้านไม่ทันไปกอดลูก ผมว่าเราต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วยกันทั้งระบบใหญ่ของสังคมการเมือง และมันจะส่งผลไปถึงสถาบันครอบครัวเอง

พ่อแม่เป็นคนที่เติบโตมาจากโลกใบก่อน อย่าโทษว่าตัวเองผิด พ่อแม่ต้องตระหนักก่อนครับว่าพวกเราทุกคนคือส่วนหนึ่งของปัญหา และไม่ใช่แค่เราคนเดียว ในทางกลับกันถ้าเราลองขยับหรือเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ นี่ก็เท่ากับว่าปัญหาก็เริ่มถูกแก้ไขแล้ว ในการเลี้ยงลูกพ่อแม่สามารถเหนื่อยได้ เหนื่อยก็พักนะครับ ไม่เป็นไรหรอก


Writer

Avatar photo

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา

พยายามฝึกปรือและคลุกอยู่กับผู้คนในวงการการศึกษา เพราะเชื่อว่าการเรียนรู้เป็นใบเบิกทางให้ขยายขอบขีดความสามารถตัวเอง ฝันสูงสุดคืออยากเห็นตัวเองทำงานสื่อสารที่มีคุณภาพและคุณค่าต่อไป

Related Posts