“เศรษฐกิจไทยจะไปต่อไม่ได้ ถ้าเรายังมีปัญหาเรื่องการศึกษา” โจทย์สำคัญของ TEP Forum 2022

  • ในวันที่การศึกษาไทยใกล้ถึงทางตัน โจทย์สำคัญของงานประชุมวิชาการ TEP Forum 2022  คือ “เศรษฐกิจไทยจะไปต่อไม่ได้ ถ้าเรายังมีปัญหาเรื่องการศึกษา”
  • แลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกันกับประธานบริหารการศึกษา  ประธานคณะกรรมการพัฒนาการศึกษา คนทำสื่อ คุณครู และคุณแม่ 
  • เพราะการเปลี่ยนภูมิทัศน์การศึกษาไม่สามารถเกิดขึ้นด้วยคนคนเดียว แต่เกิดจากการถกเถียง แลกเปลี่ยน และสร้างความเข้าใจร่วมกัน

“การศึกษาไทยในยุคโควิดเป็นอะไรที่ท้าทาย เพราะการศึกษามีผลต่อการเดินหน้าของประเทศ เราจะอยู่อย่างไรเพื่อปากท้อง และสมองของเด็กที่เป็นกองกำลังสำคัญของประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้”

ประโยคเปิดของ ต๊อบ – อภิวัฒน์ ธีรนิธิศนันท์ พิธีกรงานประชุมวิชาการ TEP Forum 2022 ก่อร่างสร้างใหม่ การศึกษาไทยแห่งอนาคต จัดโดยภาคีเพื่อการศึกษาไทย เมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา  

‘ภูมิทัศน์การศึกษาไทยสู่อนาคต : เปลี่ยนอย่างไรให้ตอบโจทย์’ หนึ่งในหัวข้อเสวนาที่เป็นคำถามสำคัญในวงสนทนาของประธานบริหารการศึกษา  ประธานคณะกรรมการพัฒนาการศึกษา ตัวแทนคนทำสื่อ คุณครู รวมถึงคุณแม่ ที่ร่วมกันเสนอประเด็นมุมมอง และหาทางออกให้กับการศึกษาไทยที่ใกล้จะถึงทางตันเต็มที 

รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี : การศึกษาไทยต้องเปิดกว้างรองรับการเรียนรู้ที่หลากหลาย

สำหรับ รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี ประธานบริหารโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับการศึกษาไทยในปัจจุบัน คือ ภาวะถดถอยทางวิชาการ หรือ learning loss และความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ขยายตัวเป็นวงกว้าง ทำให้มีจำนวนเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษามากขึ้น

อาจารย์อนุชาติอธิบายว่าการศึกษาไทยปัจจุบันไม่ตอบโจทย์การเรียนรู้ที่หลากหลายของเด็ก รวมถึงผลกระทบจากการระบาดของโควิด 19 ทำให้การสอนในโรงเรียนเปลี่ยนรูปแบบเป็นออนไลน์ เด็กหลายคนปรับตัวไม่ได้จึงตัดสินใจเลือกเดินออกจากระบบการศึกษา

คำแนะนำจากอาจารย์ คือ รื้อวิธีคิดของระบบการศึกษาเดิมที่ไม่ตอบโจทย์ความอยากรู้ของผู้เรียน เพื่อวิเคราะห์จุดอ่อนและข้อบกพร่องของการศึกษา ทั้งหลักสูตร วิธีการสอน รวมถึงการวัดและประเมินผลที่ทำให้เห็นว่าจุดใดเป็นเหตุให้เด็กรู้สึกไม่ปลอดภัยและหลุดออกจากระบบไป

รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี ประธานบริหารโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หนึ่งในความบกพร่องที่เกิดขึ้น อาจารย์บอกว่า ระบบการศึกษาเดิมที่สอนจากตำราอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อความต้องการของนักเรียน ทำให้องคาพยพของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาต้องพลัดพรากจากกัน นักเรียนอยากหาความรู้นอกห้องเรียน ครูสอนความรู้ที่นำไปใช้ไม่ได้ นักเรียนจึงกลายเป็นศัตรูกับครูเพราะมองทางออกคนละทาง

“สิ่งที่เป็นพื้นฐานสำคัญ คือ เราต้องกลับมาเชื่อมให้ทุกส่วนอยู่ในระบบการศึกษาให้ได้ ผู้ปกครองกับโรงเรียนต้องเป็นพันธมิตรจับมือกันเพื่อพัฒนาเด็กไปในทางเดียวกัน”

“เราเห็นพ้องต้องกันว่าการเปลี่ยนแปลงการศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง สังคมต้องมาช่วยกัน เมื่อพูดถึงการศึกษาในโลกแห่งอนาคต หรือการศึกษาหลังโควิด สิ่งที่จะต้องทำให้เกิดขึ้น คือ การ diversity ระบบ หรือการจินตนาการถึงระบบการศึกษาที่รองรับความหลากหลายของการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการอยากรู้ของนักเรียนที่เพียงพอ”

อาจารย์อธิบายเสริมถึงความหลากหลายของการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ ว่า หากมีการเปิดระบบให้โรงเรียนได้ถ่ายเทความสามารถหรือทรัพยากรต่อกัน เด็กสามารถไปเรียนเพื่อเก็บเครดิตในสิ่งที่อยากรู้จากโรงเรียนหรือแหล่งความรู้อื่นมาเทียบโอนกับโรงเรียนตัวเองได้ ส่วนนี้จะเป็นการช่วยเหลือเรื่องการขาดแคลนทรัพยากรอย่างมากที่เกิดขึ้นในหลายๆ โรงเรียน 

อาจารย์ทิ้งท้ายว่า การสนใจเรื่อง learning loss เป็นสิ่งสำคัญ แต่อยากให้มองไปไกลกว่านั้น คือ การเยียวยานักเรียนที่ได้รับผลกระทบและยังอยู่ในระบบให้มีสภาพจิตใจที่พร้อมต่อการเรียนรู้และสามารอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้ตามปกติ

ปัจจัยหลักที่สำคัญคือภาครัฐที่ต้องเข้ามามีบทบาทช่วยเหลือหรือปลดล็อกกฎและนโยบายเพื่อให้เกิดแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลายในระบบการศึกษาของไทย

สราวุฒิ อยู่วิทยา : เศรษฐกิจไทยจะไปต่อไม่ได้ ถ้าเรายังมีปัญหาเรื่องการศึกษา

“มีคนถามผมว่าถ้าการศึกษาไทยไม่ดีจริงแล้วประเทศไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร เพราะถ้าเทียบกับเพื่อนบ้าน ถือว่าเราเจริญกว่า จริงๆ การศึกษาไทยไม่ใช่ไม่ดีนะ แต่มันแย่ลง”

คำตอบของสราวุฒิ อยู่วิทยา รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและประธานคณะกรรมการพัฒนาการศึกษาถึงประเด็นการศึกษาไทย มองว่า การศึกษาไทยในอดีตไม่ได้แย่ แต่สิ่งที่ทำให้ระบบการศึกษาแย่ในทุกวันนี้ คือทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาทั้งโรงเรียน ผู้ปกครอง ครู และนักเรียนไม่ได้จับมือแก้ไขปัญหาร่วมกัน

จากข้อมูลการแข่งขันด้านการศึกษาของไทยปี 2021 ที่สราวุฒิเสนอ พบว่าการศึกษาไทยอยู่อันดับที่ 56 จากทั้งหมด 64 ประเทศ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นจุดอ่อนที่สุดของประเทศไทย

“วันนี้หอการค้าไทยเข้ามามุ่งมั่นเรื่องการศึกษาเพื่อเชื่อมโครงข่ายทั้งหมดในส่วนภาครัฐและประชาชน เป้าหมายคือ เรื่องเศรษฐกิจประเทศไทยจะไปต่อไม่ได้แน่นอน ถ้าเรายังมีปัญหาเรื่องการศึกษาอยู่”

สราวุฒิ อยู่วิทยา รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและประธานคณะกรรมการพัฒนาการศึกษา

สราวุฒิอธิบายว่า อัตราการเกิดของเด็กไทยปัจจุบันน้อยลงมาก จากปีพ.ศ. 2538 มีเด็กเกิด 8 แสนกว่าคนต่อปี ล่าสุดปีที่แล้วเหลือเด็กเกิดเพียง 5 แสนคนต่อปี และในอีกหนึ่งปีข้างหน้าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์

“คุณค่าของเด็กแต่ละคนมีความสำคัญต่อประเทศ เราทิ้งเขาไม่ได้เลย เพราะตอนนี้การเกิดของเด็กไทยลดลงโดยอัตโนมัติ เราต้องพยายามปั้นเขาให้มากที่สุด ให้เขาเติบโตไปมีศักยภาพสูงสุด เพราะถ้าเราไม่ทำประเทศเราไปต่อไม่ได้”

เมื่ออัตราการเกิดของเด็กลดน้อยลงหมายความว่าอัตราการเจริญเติบโตในภาคอุตสาหกรรมจะลดลงตามไปด้วย เพราะการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการในด้านเศรษฐกิจน้อยลง

หากสังคมยังไม่ให้ความสำคัญในด้านการศึกษา บุคคลที่จะเข้าไปมีบทบาททางด้านเศรษฐกิจจะลดลงเพราะมีทักษะและความรู้ไม่เพียงพอ

การศึกษาจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกส่วนเกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหา สราวุฒิบอกว่าเด็กหนึ่งคนที่เกิดมา ระบบการศึกษาต้องปลูกฝังทักษะพื้นฐานต่างๆ ให้ชีวิตของเขาเกิดการเรียนรู้ระยะยาว หรือ life long learning เพื่อเอาความรู้ที่ได้ไปร่วมกันทำงานให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศอย่างเต็มประสิทธิภาพ

“การเรียนที่จำเป็นต่ออนาคตของมนุษย์เป็นการเรียนเพื่อทดลองทำจริง หากทดลองทำแล้วพบว่ายังไม่ใช่หรือมีสิ่งใหม่เข้ามาก็สามารถกลับไปเรียนเพื่อลองทำใหม่ได้” สราวุฒิทิ้งท้าย

มิรา เวฬุภาค : เลิกถามว่า Homeschool หรือโรงเรียนดีกว่า สิ่งสำคัญคือเราเรียนรู้อะไรจากกันและกัน

Homeschool คือ ทางออกหนึ่งของปัญหาการศึกษาไทยหรือไม่?

“Homeschool ไม่ใช่ทางเลือก เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของครอบครัวในการจัดการศึกษา Homeschool เหมือนโรงเรียนทุกอย่าง เราต้องออกจาก mindset นี้ก่อนว่าอะไรเป็นทางเลือก เพราะว่าจริงๆ การศึกษาเป็นของทุกคน”

คือคำตอบของ ‘แม่บี’ มิรา เวฬุภาค CEO mappa และ CEO & founder, Flock Learning ที่มองว่า สังคมต้องเลิกเปรียบเทียบ Homeschool กับการสอนในโรงเรียน สิ่งที่ควรตั้งคำถามมากกว่า คือ ระบบการศึกษาจะสร้างการเรียนรู้และตอบโจทย์นักเรียนได้อย่างไร

‘แม่บี’ มิรา เวฬุภาค CEO mappa และ CEO & founder, Flock Learning

“การเปรียบเทียบระบบโรงเรียนกับ Homeschool เหมือนกับเอาแอปเปิลมาเทียบกับลูกแพร์ โรงเรียนเป็นแอปเปิล จัดการศึกษาแบบ mass คือครูหนึ่งคนต้องสอนนักเรียนหลายคน ในขณะที่ Homeschool แทบจะ one on one เราไม่สามารถเอาแอปเปิลกับลูกแพร์มาเปรียบเทียบกันแล้วบอกว่าอะไรดีกว่าได้”

เพราะความแตกต่างของระบบการสอนแบบโรงเรียนและ Homeschool คือ แรงจูงใจ การสอนระบบโรงเรียนใช้แรงจูงใจภายนอก (extrinsic motivation) ด้วยการวัดผลด้วยคะแนน แต่ Homeschool ใช้แรงจูงใจภายใน (intrinsic motivation) จากการสร้างสภาพแวดล้อมให้เด็กอยากเรียนรู้ด้วยตัวเองและเชื่อว่าเขาคือเจ้าของการเรียนรู้

“เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ระบบการศึกษาจะทำให้เด็กมองเห็นคุณค่าของตัวเองได้อย่างไรโดยไม่ใช้แค่แรงจูงใจภายนอก จะทำอย่างไรให้เขาเป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตัวเอง และเป็นเรื่องที่เราไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบว่า Homeschool หรือโรงเรียนดีกว่า แต่ควรตั้งคำถามต่อไปว่าเราจะเรียนรู้จากกันและกันได้อย่างไร”

“จะมองว่าการศึกษาและการเรียนรู้เป็นภาระของโรงเรียนหรือระบบการศึกษาอย่างเดียวไม่ได้หรือ ทุกระบบของการเรียนรู้ ต้องลุกขึ้นมา ช่วยกันหาทางที่จะเดินไปด้วยกันและจะสนับสนุนกันอย่างไร”

แม่บีมองว่า การแก้ปัญหาการศึกษาไทย นอกจากจะแก้เรื่องระบบ สิ่งที่ควรให้ความสำคัญ คือ การสอนที่ตอบโจทย์ความอยากรู้ของเด็กในปัจจุบัน 

หากมองในมุมของแม่บีอยากเห็นหลักสูตรการศึกษาและการเรียนการสอนที่เดินออกจากกรอบเดิมและยืดหยุ่นมากกว่านี้ 

“เป้าหมายของการศึกษาไม่ใช่การสอบ แต่เป้าหมาย คือ การให้เขา make sense of their world ดังนั้น เราจำเป็นต้องลุกขึ้นมาทำช่องการเรียนรู้อื่นๆ เปิดช่องทางการเรียนรู้ใหม่ๆ เพื่อตอบความต้องการอยากรู้ที่หลากหลายของเด็ก”

ศศิธร สุขบท : สื่อต้องไม่ใช่แค่นำเสนอ แต่ควรเป็นช่องทางการเรียนรู้

“การก้าวต่อไปของสื่อมวลชนในมิติของการศึกษาจะต้องเป็น education มากขึ้น คือ ไม่ใช่แค่เล่าให้ฟังว่าเกิดอะไรขึ้นหรือใช้แค่ในการเรียนการสอน แต่สื่อควรเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่สามารถจัดการศึกษาได้”

มุมมองจาก ศศิธร สุขบท ผู้สื่อข่าว และ Content creator ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ ไทยพีบีเอส ถึงการปรับตัวของสื่อต่อระบบการศึกษา

“ช่วงปีที่ผ่านมาต้องบอกว่า The Active (รายการที่นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการศึกษาทางช่อง Thai PBS) เองนอกจากจะนำเสนอสื่อสารเนื้อหาที่เกี่ยวกับการศึกษาหรือการเรียนรู้ มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับหลายๆ ภาคีที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา พบว่าโจทย์สำคัญสำหรับเด็ก คือ หลักสูตรการศึกษา”

ศศิธร สุขบท ผู้สื่อข่าว และ Content creator ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ ไทยพีบีเอส

ศศิธรเล่าว่า การศึกษาปัจจุบันยังไม่ตอบโจทย์การเรียนรู้ของเด็ก สิ่งที่สื่อสามารถทำได้ คือ ติดตามการทำงานของผู้ออกแบบหลักสูตรการสอนแล้วนำเสนอต่อสาธารณะให้ร่วมคิดและถกเถียงกันว่า หลักสูตรที่กำลังเกิดขึ้นนั้นดีพอสำหรับเด็กหรือยัง

“ถ้าผู้ใหญ่สามารถปรับหลักสูตรด้วยการฟังเสียงของเด็กนักเรียน ให้ทุกคนมีสิทธิ์มีเสียงในระบบการศึกษา น่าจะทำให้หลายคนไม่ถูกตีกรอบอยู่กับการเรียนรู้แค่ในโรงเรียนเดียว”

ศศิธรมองว่า ถ้าระบบการศึกษาสามารถปรับตัวตามยุคสมัยได้จริง เปิดให้สื่อได้เข้ามาช่วยด้านการสื่อสารเนื้อหาหรือการทำงานของครูเพื่อเป็นแหล่งการเรียนรู้เสริมนอกห้องเรียน การศึกษาไทยจะพัฒนาได้ไกลขึ้น รวมถึงเรื่องความแตกต่างในการเรียนรู้ของแต่ละบุคคล สื่อควรเข้ามาสนับสนุนเพื่อกระจายเนื้อหาให้สอดรับความต้องการของเด็กให้มีประสิทธิภาพสูงสุดอย่างที่เขาต้องการ

ธนวรรธน์ สุวรรณปาล : การศึกษาควรสั่งการไหม หรือควรมอบอำนาจให้ครูจัดการสอนเอง

“หลายคนบอกว่าเวลาแก้ปัญหาต้องแก้ที่ต้นเหตุ หมายความว่าการออกนโยบายมาจากคำสั่งการของคนบางกลุ่ม แต่สิ่งสำคัญคือ จริงๆ การศึกษาแล้วควรสั่งการไหม หรือจริงๆ แล้วควรมอบอำนาจให้ครูได้จัดการสอนเองว่าจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับนักเรียนอย่างไร”

ความเห็นของ ‘ครูทิว’ ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ครูโรงเรียนราชดำริ กรุงเทพมหานคร ต่อการบริหารนโยบายของระบบการศึกษา

“ถามว่าบทบาทของโรงเรียนทุกวันนี้เป็นอย่างไร หลายคนตอบว่าต้องการให้เด็กค้นพบตัวเอง ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง สังคมได้รับการส่งเสริมพัฒนาตนเอง แต่สิ่งที่เกิดขึ้น โรงเรียนใช้วิธีถ่ายทอดและขัดเกลา หมายความว่าวิธีการนี้อาจจะยังไม่ตอบโจทย์ ดังนั้นเราต้องเปลี่ยนที่ระบบสั่งการด้านนโยบาย แล้วร่วมกันคิดว่าทางออกของระบบการศึกษาควรเป็นแบบใด”

ครูทิวบอกว่าปัจจุบันระบบการศึกษาให้ความสนใจไปที่วิธีการและนโยบายของฝ่ายที่มีอำนาจซึ่งกำหนดตามความเชื่อของตัวเอง แต่ไม่รับฟังหรือเปิดพื้นที่ให้ชุดความรู้รูปแบบอื่นมาร่วมกำหนด ทำให้การศึกษากลายเป็นพื้นที่ในการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองว่าใครมีอำนาจเหนือใคร

‘ครูทิว’ ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ครูโรงเรียนราชดำริ กรุงเทพมหานคร

“โจทย์ใหญ่คือทำอย่างไรให้ระบบการศึกษากระจายอำนาจ ไม่อย่างนั้นโรงเรียนและห้องเรียนไม่มีทางที่จะตอบโจทย์นักเรียน ตอบโจทย์ทุกคนได้”

“ตอนนี้ทุกคนจะต้องวิ่งตามนโยบายที่สั่งลงมา ต้องคอยทำรายงาน ทำสิ่งที่ระบบต้องการ เพราะระบบไม่ไว้ใจเรา แทนที่จะเอาเวลาเหล่านั้นไปพัฒนาในบุคคลหรือสื่อสารปัญหาที่เกิดขึ้น”

การกำหนดว่าคุณครูต้องทำอะไรเพื่อตอบสนองนโยบาย สำหรับครูทิวถือเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้สอนเพราะทำให้ครูไม่มีเวลาสอนหรือกลับมาทบทวนปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็ก

เมื่อระบบการศึกษาปัจจุบันไม่ตอบโจทย์ ความหวังของครูทิวคือ การเปลี่ยนโนบายจากระบบสั่งการเป็นการรับฟังความคิดเห็น แชร์อำนาจระหว่างผู้ปกครอง ชุมชน ผู้สอน และผู้เรียน รวมถึงเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมในการกำหนดชุดคุณค่าเป็นรากฐานในการขับเคลื่อนกันศึกษาไทยแห่งอนาคต


Writer

Avatar photo

เพชรดี จันทร์ธิมา

นักศึกษาฝึกงานที่กำลังค้นหาความหมายของชีวิต ชอบท้องฟ้า และเชื่อว่าโลกนี้คือพื้นที่แห่งการเรียนรู้

Illustrator

Avatar photo

ชินารินท์ แก้วประดับรัฐ

มีงานหลักคือฟังเพลง งานอดิเรกคือทำกราฟิกที่ไม่มีอะไรตายตัว บางครั้งพูดไม่รู้เรื่องต้องสื่อสารด้วยภาพและมีม

Related Posts