- ถึงเราจะพูดกันว่าการนอนคือการพักผ่อนที่ดีที่สุด แต่เมื่อมองรอบๆ ตัวปัจจัยที่เอื้อให้เรานอนอย่างมีคุณภาพ มีน้อยมาก โดยเฉพาะการนอนของเด็กเล็ก
- โดยเฉพาะ ‘เวลาเบาใจ’ ของพ่อแม่ที่จะพาลูกเข้านอน กลับหาได้น้อยมากเพราะวุ่นอยู่กับชีวิตที่ปากกัดตีนถีบ
- เด็กคนหนึ่งเติบโตกับการนอนที่มีคุณภาพกับไม่มีคุณภาพ ต่างกันอย่างไร ติดตามได้จากบทความนี้
ลูกจะนอนเองได้จริงไหม?
ลูกเราจะไหวไหม?
ตื่นมากลางดึก ถ้าลูกไม่เจอใคร เขาจะร้องไห้ออกมาหรือเปล่า?
ถ้าเขาฝันร้ายจะทำอย่างไร?
ใครจะคอยดูว่าตอนนอนลูกโอเคไหม?
ความกังวลหลายอย่างถาโถมเข้าสู่คนเป็นพ่อแม่ แม้ตัวเองจะเหนื่อยแสนเหนื่อยกับงานทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นงานบ้าน งานครัว งานนอกหรือแม้กระทั่งงานเลี้ยงลูกในแต่ละวัน ใจและกายอยากพักอยากนอนแค่ไหน พอถึงเวลานอนลูกไม่ยอมนอน พ่อแม่ไม่รู้จะทำอย่างไร สุดท้ายก็ต้องเป็นพ่อแม่ที่นอนข้างๆ และช่วยกล่อมให้ลูกนอนอยู่ดี ผลที่ตามมาคือพ่อแม่นอนไม่พอ
‘พลอย’ ศิราฐิณีย์ สุขชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนเด็ก (Pediatric sleep expert) บอกใน mappa live ครั้งที่ 9 “นอนเถอะ… แม่ขอ” ว่าพ่อแม่ที่มีลูกนอนเองไม่เป็นมักเกิดความเหนื่อยสะสมและรู้สึกว่าการเลี้ยงลูกนั้นไม่มีความสุข เพราะไม่เข้าใจวิธีการพาลูกเข้านอน ทุกครั้งที่พาลูกเข้านอนจึงเกิดเป็นความกดดันและกังวลอยู่ตลอดว่าจะทำอย่างไรให้ลูกนอน ความกดดันที่เกิดขึ้นส่งผลให้พ่อแม่เครียด…
และลูกสัมผัสได้
จะทำอย่างไรให้พ่อแม่นอนพอ และเด็กก็นอนเองได้ด้วย
ความผูกพันแบบปลอดภัยแน่นแฟ้นหรือ Secure Attachment (4S) ช่วยได้
เมื่อพูดถึงความผูกพันแบบปลอดภัยแน่นแฟ้นหลายคนอาจจะคิดว่าต้องให้ลูกนอนกับพ่อแม่สิถึงจะถูก
“นอนใกล้ๆ กัน กอดกันแล้วหลับไปลูกจะได้อบอุ่น แถมยังได้ดูลูกตลอดว่าลูกเป็นยังไง” แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนเด็กจะเห็นด้วยสักเท่าไร เพราะผลเสียเองไม่เกิดกับใครแต่เกิดกับลูกและกระทบถึงพ่อแม่จนมีเวลานอนไม่พอ
คุณพลอยจึงแนะนำว่าการจะให้เด็กนอนเองได้ต้องพึ่งปัจจัยหลายอย่าง และปัจจัยเหล่านั้นต้องเอื้อต่อการสร้างเวลานอนที่มีคุณภาพให้แก่ลูก นั่นคือทำให้ลูกรู้สึกอยากนอนเองและไม่กลัวการนอน เมื่อลูกหลับเองได้ พ่อแม่ก็จะมีเวลาเป็นของตัวเองและพักผ่อนได้อย่างเต็มที่
“ความผูกพันแบบปลอดภัยแน่นแฟ้นหรือ Secure Attachment (4S)” เป็นรูปแบบความสัมพันธ์ของหนึ่งในทฤษฎีที่พบว่าความผูกพันจะเกิดขึ้นได้จากช่วงเวลาที่มีคุณภาพก่อนการเข้านอนของลูกในแต่ละวัน โดยในรายละเอียดที่เป็นปัจจัยเอื้อต่อการนอนของลูกนั้นมีด้วยกัน 4 ปัจจัย ได้แก่
ปัจจัยที่หนึ่ง “safe : การทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัย” ปลอดภัยในที่นี้หมายถึงการทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัยทั้งทางร่างกาย จิตใจ และรู้สึกได้ถึงความปลอดภัยที่พ่อแม่สามารถปกป้องอันตรายจากลูกได้
ปัจจัยที่สอง “seen : การที่ทำให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่เห็นหรือให้ความสำคัญกับเขา” เมื่อลูกรู้สึกและรับรู้ได้ว่าพ่อแม่ให้ความสนใจหรือเห็นเขาสำคัญ มันจึงเป็นช่วงเวลาที่พิเศษสำหรับลูก คุณพลอยยังแนะนำอีกว่าพ่อแม่ควรให้ความสำคัญกับลูกจริงๆ โดยการจดจ่ออยู่กับลูกในช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนเข้านอนเท่านั้น
ปัจจัยที่สาม “soothed การตอบสนองความต้องการของลูกอย่างถูกต้อง” คือไม่ตอบสนองความต้องการของลูกมากเกินหรือน้อยเกินไป เพราะการให้ที่มากเกินอาจทำให้เกิดผลเสียกับลูกได้ คุณพลอยจึงยกตัวอย่างเรื่องขนมหวานที่เมื่อพ่อแม่ให้ลูกกินมากไป ผลเสียที่เกิดขึ้นคือสุขภาพของเขา ดังนั้นพ่อแม่จึงต้องสร้างขอบเขตหรือวินัยที่พอเหมาะพอดีให้กับลูก
ปัจจัยที่สี่ “secure : การที่ทำให้ลูกรู้สึกว่าสามารถอยู่บนโลกนี้ได้อย่างปลอดภัย ” พ่อแม่ต้องทำให้เกิดสามปัจจัยที่กล่าวไปข้างต้นให้ได้เสียก่อนแล้วความรู้สึกปลอดภัยเมื่อลูกต้องเผชิญโลกจะตามมาและทำให้ไม่กลัวการนอนทั้งยังเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแรงอีกด้วย
เมื่อได้ลองสร้างปัจจัยที่เอื้อต่อการนอนให้ลูกแล้วคุณพลอยยังแนะนำการฝึกลูกเข้านอนด้วย 2 วิธีนี้
1.Ferber คือ วางลูกที่เตียงและจับเวลาสลับเข้า-ออก โดยเพิ่มระยะเวลาออกไปจากห้องนอนของลูกให้มากขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละวัน ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ลูกรู้ว่าแม้พ่อแม่จะจากไป แต่เมื่อไรที่ลูกเรียกหาพ่อแม่จะกลับเข้ามาเสมอ
“ลูกจะสามารถรับรู้ได้เองว่าพ่อแม่ไม่ได้จากไปไหน หากเกิดอะไรขึ้นลูกจะปลอดภัยแน่นอน” คุณพลอยอธิบาย
2. Chair วิธีนี้จะให้พ่อแม่นั่งอยู่บนเก้าอี้แล้วค่อยๆ ถอยห่างจากลูกเรื่อยๆ ก่อนออกจากห้องนอน
สองวิธีนี้จะเป็นวิธีหลักที่คุณพลอยแนะนำสำหรับพ่อแม่ที่ไม่รู้จะเริ่มสอนลูกให้นอนเองอย่างไร เมื่อใช้วิธีดังกล่าวไปเรื่อยๆ ลูกจะสามารถพัฒนาทักษะการนอนได้ด้วยตัวเอง พ่อและแม่ไม่ต้องใช้วิธีการกล่อมอีกต่อไปด้วย
ที่สำคัญ การนอนไม่ใช่แค่การหลับแต่เป็นเรื่องความปลอดภัย โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมรอบเตียงของเด็ก คุณพลอยอธิบายเรื่องนี้ว่าพ่อแม่ไม่ควรนอนเตียงเดียวกับลูกเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการเกิดโรคไหลตายหรือนอนทับตัวลูก รวมถึงผ้าห่มสามารถบังหน้าและจมูกของลูกได้จึงควรเปลี่ยนเป็นถุงนอนสำหรับเด็กซึ่งจะติดตัวและความคุมอุณหภูมิได้ดีกว่า
“หมอนก็ไม่มีความจำเป็นเพราะด้วยธรรมชาติของเด็ก เขามักกลิ้งไปทั่วเตียงอยู่แล้ว”
ด้วยภาระงานที่ต้องรับผิดชอบ พ่อแม่จึงไม่มีเวลาสร้างเวลาผูกพันร่วมกับลูก
“ในสังคมประกอบไปด้วยคนที่ทำงานสามจ๊อบนำไปสู่การที่พ่อแม่ไม่ได้อยู่กับลูกซึ่งมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคม เมื่อโครงสร้างสังคมมันไม่เอื้อ พ่อแม่จึงไม่สามารถอยู่กับลูกได้ด้วยเหตุผลทางการทำงาน”
‘ครูจุ๊ย’ กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิคณะก้าวหน้า และผู้แปลหนังสือนิทานสองเล่มคือ คู่มือนอนหลับฉบับคุณปุ๊บปั๊บและราตรีสวัสดิ์นะคุณปุ๊บปั๊บ ของสำนักพิมพ์ Barefoot Banana อธิบายว่าเป็นเพราะพ่อแม่จำนวนมากถูกสังคมบังคับให้ต้องทำงานหนักจนไม่มีเวลาอยู่กับลูก ความผูกพันจึงเกิดได้ยาก
“พ่อแม่คนไทยจะให้อยู่กับปัจจุบันของลูก ณ ตรงนั้นมันยาก เพราะชีวิตก่อนมาถึงห้องนอนลูก พ่อแม่มีงานล้นมือ มีหลายเรื่องให้คิดและกังวล ทั้งการวางแผนใช้ชีวิตในแต่ละวัน และสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลง ความสงบที่มาจากพ่อแม่มันลำบากเพราะความว้าวุ่นยังมีอยู่และหยุดไม่ได้ เมื่อพาลูกเข้านอน สิ่งที่พ่อแม่รู้สึกหรือกำลังเป็นอยู่มันจึงส่งผลไปถึงเด็กโดยอัตโนมัติ”
ครูจุ๊ยมองว่าผลกระทบมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ไม่ดีพอ ทำให้พ่อแม่ต้องดิ้นรนเอาตัวรอดจนไม่มี ‘เวลาเบาใจ’ เพื่อส่งลูกเข้านอนเพราะในหัวต้องคิดเรื่องมากมาย หากประเทศไทยมีโครงสร้างของสังคมที่ดีพอ เห็นความสำคัญว่าการนอนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับ องค์ความรู้เกี่ยวกับการนอนก็จะกระจายสู่คนทุกกลุ่ม
“นี่ยังไม่นับค่าแรงขั้นต่ำที่เหมาะสมให้เขาใช้ชีวิตได้อย่างสบาย หรือยังไม่นับเรื่องการลาคลอดบุตรนะ ของประเทศไทยกว่าจะได้ 3 เดือนมาเนี่ยทุลักทุเลมาก”
ครูจุ๊ยให้เหตุผลว่ายังมีหลายบริษัท หลายองค์กรที่ไม่ให้ความสำคัญกับการลาคลอด มีความคิดว่าถ้าผู้หญิงอยากมีลูกก็ให้ออกจากงานไปเลยเพราะไม่อยากให้ลาคลอด ซึ่งต่างจากฟินแลนด์ที่พ่อแม่สามารถสลับกันลาคลอดได้ถึงหกเดือน ทำให้พ่อแม่มีร่วมกับลูกและสร้างความผูกพันได้อย่างเต็มที่
การนอนที่ดีส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดี
“การนอนในเมืองไทยเป็นเรื่องพื้นฐานที่ไม่ถูกให้ความสำคัญ แต่การนอนในฟินแลนด์เป็นเรื่องพื้นฐานที่สำคัญ เมื่อมันสำคัญสิ่งที่เราเห็นคือ มีกระบวนการในการสนับสนุนการนอนเยอะมาก”
ครูจุ๊ยอธิบายว่าโครงสร้างสังคมไทยปัจจุบันรัฐบาลยังไม่ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนมากพอ การพูดถึงความสำคัญของการนอนจึงเป็นไปได้ยาก
ต่างจากรัฐสวัสดิการของฟินแลนด์ที่เห็นความสำคัญของการนอนจึงจัดให้มีบริการเสริมสำหรับพ่อแม่ที่ไม่มีเวลาหรือมือใหม่ที่ไม่รู้ว่าต้องจัดการการนอนให้ลูกอย่างไร
“เมื่อการนอนเป็นเรื่องสำคัญและรัฐฯ เขาคิดแล้วว่าการนอนจะมีคุณภาพมันก็ต้องมาจากชีวิตผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ”
“ท้องถิ่นของเขาสามารถจัดพี่เลี้ยงช่วยพ่อแม่ตอนกลางวันให้พ่อแม่ไม่ว้าวุ่น และสามารถจัดการนอนหรือ bedtime routine ให้ลูกได้ดี แต่มันมีค่าใช้จ่ายนะ พ่อแม่ก็สามารถไปขอรับบริการนี้ได้ในราคาที่เขาเอื้อมถึงตามค่าครองชีพของเขา”
นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอชุดเสริมความรู้ที่เป็นของสามัญประจำบ้าน เช่น นิทานความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การนอนที่เข้ามามีส่วนช่วยให้คนเข้าใจว่าการนอนนั้นสำคัญมากแค่ไหน
“มันน่าสนใจมาก อย่างหนังสือนิทานเล่มนี้ (นิทานนอนหลับฉบับคุณปุ๊บปั๊บ) มันคือสารคดีการนอน ไม่ได้เป็นนิทานเด็กที่มีเนื้อเรื่องเจ้าป่ามาผจญภัยแต่มันเป็นเรื่องราวของชีวิตประจำวัน เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การนอนที่ทำงานกับทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ด้วยการใช้ภาษาอย่างง่าย”
ทำให้การคุยเรื่องการนอนเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่สามารถคุยกับเด็กได้มากขึ้น และเด็กก็สามารถไปทำความเข้าใจกับตัวเองได้มากขึ้น
จากประสบการณ์ที่เคยเข้าไปอยู่ในครอบครัวฟินแลนด์มาแล้ว ครูจุ๊ยเล่าให้ฟังว่าการสร้างรูทีนการนอนจะทำให้เด็กสามารถส่งต่อและติดเป็นนิสัยจนถึงวัยผู้ใหญ่ได้ เพราะเขาได้รับการสอนจากพ่อแม่ตั้งแต่เล็กว่าการนอนนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ
นอกจากการสร้างรูทีนจะสำคัญแล้ว โครงสร้างพื้นฐานของสังคมควรให้ความสำคัญด้านหลักสูตรการศึกษา เพิ่มองค์ความรู้เรื่องการใช้ชีวิตประจำวันเข้าไปด้วย รวมถึงเรื่องการนอน การใช้ชีวิตในด้านอื่นๆ เพราะหลักสูตรปัจจุบันยังเป็นชุดความรู้ที่เน้นเรื่องไกลตัวมากเกินไป
“อย่างเรื่องกฎหมายของฟินแลนด์ จะมีกฎหมายมาดูแลว่าทุกคนจะมีความสงบ ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวที่บ้าน คือ คุณต้องมีห้องเป็นของตัวเองเพื่อคุณจะได้มีความสงบเป็นของตัวเอง เริ่มตั้งแต่เขาเป็นเด็กๆ เลย”
เมื่อโครงสร้างไม่สนับสนุน สิ่งที่ทำได้จริงและทำได้เลยคือเริ่มจากพ่อแม่
คุณพลอยบอกว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือการปรับเปลี่ยนทัศนคติของพ่อแม่ คือไม่คิดแทนว่าลูกจะหลับอย่างไร เพียงแต่ช่วยหาวิธีเสริมให้ลูกหาวิธีหลับได้เอง
ด้านครูจุ๊ยมองว่ามีสองสิ่งที่เป็นพื้นฐานและสามารถทำได้เลย อย่างแรกคือ การพยายามทำความเข้าใจถึงความสำคัญของการนอนและหาความรู้เพิ่มเติม
อย่างที่สองคือ การสร้างขอบเขต เคารพในขอบเขตที่ตัวเองสร้าง โดยอาจเริ่มจากการปฏิบัติรูทีนต่างๆ ทีละน้อย
เพราะเชื่อว่าพื้นฐานตรงนี้ไม่ได้เป็นพื้นฐานแค่การนอน แต่เป็นพื้นฐานของทุกเรื่องสำหรับการใช้ชีวิตของเด็ก
คุณพลอยเสริมว่าการสร้างขอบเขตหรือรูทีนให้ลูกก็เป็นอีกตัวช่วยหนึ่ง โดยจะทำให้เขาเห็นถึงความสำคัญของการนอนและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ให้ความสำคัญพร้อมส่งต่อสิ่งนี้ไปในรุ่นถัดไป
หากพ่อแม่ไม่สร้างขอบเขตในสิ่งที่มีความสำคัญกับเขาจะทำให้ลูกไม่รู้สึกถึงความปลอดภัยในการใช้ชีวิต เมื่อโตขึ้นก็จะส่งผลต่อพัฒนาการทางอารมณ์และการเข้าสังคมต่างๆ
“เราพึ่งรัฐบาลไม่ได้ เพราะไม่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการนอนนั้นสำคัญและส่งผลต่อเด็กในระยะยาว” ครูจุ๊ยกล่าว
แม้พ่อแม่จะมีวิธีฝึกลูกนอนที่ดีและอยากสร้างช่วงเวลาที่มีคุณภาพก่อนนอนให้ลูกแค่ไหนก็ไม่อาจทำได้ เพราะคนในสังคมยังไม่ให้ความสำคัญของการนอนทั้งที่การนอนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน
เมื่อไม่มีการพูดถึงในสังคมก็ยากที่รัฐบาลจะให้ความสำคัญ คุณภาพชีวิตที่ดีของพ่อแม่ก็ไม่เกิด ความกังวลที่มีจึงไม่หายไป
คงไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่าการสร้าง ‘เวลาเบาใจ’ ยังต้องทำกันแบบบ้านใครบ้านมัน