“อยากมีคนพิเศษอยู่ในคืนพิเศษ คืนสำคัญอีกคืนที่ต้องอยู่อย่างเหงาใจ…”
วนมาอีกปีแล้วกับอีกหนึ่งเทศกาลที่พี่ดา เอ็นโดรฟินต้องทำงานหนักไม่แพ้ซานต้าในคืนคริสต์มาส
พอถึงคืนข้ามปีทีไร บรรดาคนเหงาเป็นต้องว้าวุ่นใจทุกที เพราะในขณะที่หันไปทางไหนก็เห็นคนรอบตัวมีความสุขกับครอบครัว เพื่อน หรือแฟน ทีมคนเหงากลับต้องเผชิญกับการปั่นงานข้ามปี เพื่อนหนีไปฉลองปีใหม่กับแฟน ไม่ได้กลับบ้านเพราะรถติด และอีกสารพัดสาเหตุผลที่วนกลับมาทวีความเหงาของเราเป็นเท่าตัว
แต่เคยรู้สึกกันไหมว่าทำไม๊ ทำไม พอถึงช่วงเทศกาลทีไร ไอ้เจ้าเปอร์เซ็นต์ ‘ความเหงา’ นี้มันถึงได้ทะลุปรอทขึ้นมาทุกที ทั้งๆ ที่อยู่คนเดียวมาทั้งปีก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร หรือบางทีก็ฉลองปีใหม่อยู่กับเพื่อนนี่แหละ แต่กลายเป็นว่าแอบเหงาอยู่ในใจซะอย่างงั้น
ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว เชื่อว่าหลายคนที่กำลังอ่านบทความนี้ น่าจะเป็นหนึ่งในทีมที่ไม่มีคนพิเศษอยู่ข้างกายและกำลังหาเหตุผลของความเหงานี้อยู่แน่ๆ
เราไปดูกันเลยดีกว่าว่าทำไมเรามักจะรู้สึกเหงาใจอยู่บ่อยๆ เมื่ออยู่ในช่วงเทศกาล และเราจะข้ามผ่านความรู้สึกนี้ด้วยวิธีไหนดีนะ?
เหตุเกิดจากความเครียด
ผลสำรวจจาก American Psychological Association (APA) ระบุว่าในช่วงวันหยุดเทศกาลนั้น นับว่าเป็นช่วงเวลาที่เครียดและกดดันสำหรับหลายๆ คน เพราะเป็นช่วงเวลาที่คนส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับครอบครัว งาน และเงินมากเป็นพิเศษ และพบว่าผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะมีความเครียดเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลมากกว่าผู้ชายถึง 13 เปอร์เซ็นต์
หรือหากจะให้เห็นภาพ ก็คงต้องบอกว่าช่วงเทศกาลสำคัญอย่างเทศกาลปีใหม่ เป็นช่วงที่เรามีภาพจำกันอยู่แล้วว่าเป็นช่วงเวลาของครอบครัวและการเฉลิมฉลอง และเมื่อเริ่มเข้าสู่ช่วงเทศกาล แน่นอนว่าบรรยากาศรอบตัวก็มักจะเริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน มีการตกแต่งไฟ แสงสี ประดับตามที่ต่างๆ อากาศเริ่มเปลี่ยน (เย็นลงเล็กน้อย)
ซึ่งบรรยากาศรอบตัวนี้ ก็เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เรารู้สึกเครียดและกดดัน เพราะหลายคนคาดหวังว่าช่วงวันหยุดเทศกาล ควรเป็นช่วงเวลาที่ได้พักผ่อน ต้องสะสางงานให้เสร็จ ต้องรีบเดินทางกลับบ้าน ผนวกกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป (แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ) แต่ก็ส่งผลต่อสภาพจิตใจ เพราะสารสื่อประสาทอย่างเซโรโทนิน (Serotonin) จะลดลงในช่วงฤดูหนาว ส่งผลให้เรารู้สึกเศร้า เหงา และกังวลได้ง่ายกว่าปกติ
แล้วทำไมเราถึงอยากมีคนพิเศษ?
จริงๆ แล้วนิยามคำว่า ‘คนพิเศษ’ ในที่นี้ ก็ไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าต้องเป็นความพิเศษในรูปแบบของ ‘คนรัก’ เท่านั้น เพราะที่จริงแล้วไอ้เจ้าความพิเศษที่เรารู้สึกโหยหา มาจากการที่เราต้องการ ‘ที่พึ่งทางความรู้สึก’ หรือ Emotional Support นั่นเอง
ความรู้สึกต่างๆ ทั้งความเหงา เครียด กดดันที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาล จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์และสภาวะเรื่องราวต่างๆ ที่แต่ละคนกำลังเผชิญอยู่ บางคนอาจรู้สึกกังวลกับงาน บางคนรู้สึกเศร้าที่ไม่มีเวลาได้กลับบ้านไปอยู่กับครอบครัว บางคนรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่าและถูกทอดทิ้งเมื่อต้องข้ามผ่านคืนเทศกาลเพียงลำพัง หรือบางคนอาจมีปมในใจหรือ Trauma ในอดีตที่ทำให้รู้สึกเกลียดช่วงเทศกาล
ดังนั้น ถ้าจะอธิบายความหมายของคำว่า ‘ที่พึ่งทางความรู้สึก’ ให้เข้าใจง่ายๆ ก็คงจะเปรียบเหมือนใครสักคนที่คอยพุ่งมาช้อนตัวเราในตอนที่เรากำลังดำดิ่งกับอารมณ์และความรู้สึกเหล่านี้ ซึ่งข้อดีของการมีที่พึ่งทางความรู้สึก คือนอกจากจะช่วยลดความเครียดและความกดดันที่เกิดขึ้นแล้ว ยังช่วยให้เราไม่เกิดความรู้สึกดูถูกหรือด้อยค่าตัวเองอีกด้วย
จะรับมืออย่างไรกับความเหงาใจในคืนพิเศษ
สิ่งที่สำคัญที่สุดและควรทำเป็นอันดับแรก คือสำรวจตัวเอง ว่าสิ่งที่เราต้องการให้ ‘คนพิเศษ’ มาช่วยเติมเต็มนั้นคืออะไร
บางครั้งเราอาจต้องการใครสักคนมาอยู่ข้างๆ เพื่อข้ามผ่านช่วงเวลาที่ลำบากในเทศกาลนี้
บางทีอาจเป็นความรู้สึกชั่วครู่ที่เกิดขึ้นเพราะบรรยากาศที่เปลี่ยนไป
หรือสำหรับบางคน อาจแค่ต้องการใครสักคนที่มาคอยรับฟังเรื่องราวในใจก่อนจะก้าวเข้าสู่ปีใหม่
การได้ใช้เวลาทบทวนสิ่งนี้ นับเป็นการสำรวจสภาพจิตใจของตัวเองเบื้องต้น เพื่อที่จะได้รับรู้ถึงปัญหาลึกๆ ที่อยู่ภายในจิตใจ และจะได้หาวิธีรับมือได้อย่างเหมาะสม
แม้ว่าการหาคนพิเศษให้ทันคืนพิเศษอาจเป็นเรื่องยาก (มากอยู่) แต่หากลองเปลี่ยนจาก ‘คนพิเศษ’ เป็น ‘สิ่งพิเศษ’ สำหรับเรา เชื่อว่าสิ่งพิเศษเหล่านั้นจะช่วยบรรเทาความเหงาในคืนนี้ไปได้บ้างไม่มากก็น้อย
เพลงพิเศษที่เปิดกี่ครั้งก็ยังเพราะเสมอ
อาหารเมนูพิเศษที่กินเมื่อไรก็อุ่นใจ
หนังเรื่องพิเศษที่เล็งไว้และยังไม่มีโอกาสได้เปิดดูสักที
หนังสือเล่มพิเศษที่ดองไว้นานเป็นพิเศษ
บางทีค่ำคืนนี้อาจกลายเป็นคืนพิเศษได้โดยที่ไม่ต้องมีคนอื่นมาทำหน้าที่คนพิเศษอยู่ข้างกาย
เพราะบางทีคนที่ทำหน้าที่นั้นได้ดีที่สุด ก็อาจเป็นตัวเราเองนี่แหละ
อ้างอิง
https://www.apa.org/news/press/releases/2006/12/holiday-stress