LGBTQ+ ในสามจังหวัดชายแดนใต้: ตัวตนและความหลากหลายภายใต้การ ‘เป็นอื่น’

‘ปอแน’

คือคำศัพท์ภาษามลายู มีความหมายว่า ‘กะเทย’

ในบริเวณพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ซึ่งใช้ภาษามลายูเป็นหลัก ชายใดก็ตามที่มีลักษณะท่าทางคล้ายผู้หญิง หรือมีท่าทีแตกต่างออกไปจากวิถีบุรุษ มักจะถูกสังคมแปะป้ายตีตราด้วยคำว่า ‘ปอแน’ 

เพราะไม่ว่าจะเป็นมุมมองในวิถีศาสนาหรือวิถีสังคม ภาพของความเป็น LGBTQ+ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ดูคล้ายจะเป็นความแตกต่างที่ฉีกออกมาจากขนบธรรมเนียมประเพณีเดิม และหลายคนในพื้นที่ยังคงไม่เปิดกว้างและให้การยอมรับผู้มีความหลากหลายทางเพศมากนัก

แต่อย่างไรก็ตาม ‘ความหลากหลาย’ ยังคงเป็นสิ่งที่มีอยู่ในทุกพื้นที่ และการยอมรับใน ‘ตัวตน’ ก็ล้วนเป็นสิ่งที่ใครหลายคนต้องการจากตัวเองและผู้อื่น 

ไม่เว้นแม้กระทั่งในพื้นที่แห่งนี้

อยากเป็นอยู่ต้องอยู่ให้เป็น

“พอโตขึ้น เราก็ต้องอยู่เป็นให้มากขึ้น”

“อยู่เป็นในที่นี้คือการเข้าสังคมได้โดยที่คนอื่นไม่มาดูถูก ทำงานได้ เข้ากับผู้ใหญ่ได้ เข้ากับสังคมได้”

นี่คือวิธีการปรับตัวให้เข้ากับสังคมของ ‘ฟาน-อิลฟาน อุเซ็ง’ หรือที่ใครต่อใครต่างรู้จักกันในชื่อ ‘มาดามดะห์ ยะหา’ เจ้าของเพจในเฟซบุ๊กที่มียอดไลก์กว่า 25,000 ไลก์ และมีผู้ติดตามกว่า 79,000 คน 

‘มาดามดะห์’ สวมใส่ชุด ‘กูรง’ ซึ่งเป็นเสื้อผ้าสตรีมุสลิม และเธอยังคงสวมบทบาทไว้อีกมากมาย ทั้งการเป็นอินฟลูเอนเซอร์ พิธีกร วิทยากร และอุปนายกฝ่ายกิจกรรมของกลุ่มสมาคมพัฒนาศักยภาพเยาวชนชายแดนใต้

ทว่าหากย้อนเวลากลับไป ชีวิตของ ‘ฟาน’ ในวัยเด็กไม่ได้ราบรื่นและได้รับโอกาสมากมายอย่างที่เราเห็นในทุกวันนี้ เพราะเธอเติบโตมาในฐานะของ ‘ผู้มีความหลากหลายทางเพศ’ หรือ ‘LGBTQ+’ ที่นับถือศาสนาอิสลามและใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

“จริง ๆ แล้วบางคนอาจจะรู้ตัวช้าหน่อย แต่เราเป็นคนรู้ตัวเองเร็วมาตั้งแต่ประถมเลยว่าเราชอบแบบนี้ ชอบคบเพื่อนผู้หญิง แต่สมัยก่อนเราเกลียดนะเวลาเพื่อนมาเรียกกะเทย ไม่ชอบไม่ปลื้มกับคำนี้เท่าไหร่ มันเหมือนเราโดนบูลลี่ เหมือนเป็นจุดอ่อนให้คนอื่นมารังแกเรา แต่พอเราโตขึ้น เราก็รู้สึกว่ามันดีขึ้นเรื่อย ๆ จนปัจจุบันนี้เราก็เปิดเผย ไม่ได้ปิดกับคำว่าเราเป็นกะเทย”

“สมัยเด็ก ๆ ครอบครัวก็ไม่ยอมรับ ซึ่งอันที่จริงแล้วพ่อกับแม่ไม่ได้ไม่ยอมรับ แค่ไม่ชอบที่คนอื่นจะมามองลูกเขาแล้วบอกว่า ‘ลูกเป็นกะเทย’ ‘ทำไมไม่เหมือนเพื่อน’ บางคนใช้เสียงแหลม ๆ ตะโกนทักเรา เราก็ไม่ชอบเพราะรู้สึกเหมือนโดนบูลลี่ แล้วแม่ก็ไม่ชอบเพราะไม่อยากให้คนอื่นมามองเราแบบนั้น มาพูดกับเราแบบนั้น พ่อแม่แค่กังวลว่าคนอื่นจะมาว่าลูกเรา เขาไม่เคยตบตีนะคะ ยังไม่ถึงกับปิดกั้นในเรื่องนี้” มาดามดะห์เล่า

เส้นทางในการค้นพบตัวตนของฟานเริ่มต้นขึ้นตอนมัธยมต้น ฟานเริ่มรู้สึกหลงใหลในการแต่งหน้าและแต่งตัว เริ่มทาลิปและทาแป้ง ทว่าการแสดงออกในช่วงเวลานั้นยังคงเป็นเรื่องจำกัด และเมื่อมีโอกาสได้ย้ายเข้ามาเรียนโรงเรียนในเมืองในช่วงมัธยมปลาย ตัวตนแรกเริ่มของ ‘มาดามดะห์’ ก็ได้ถือกำเนิด

“สมัยเรียนม.ปลาย เพื่อนชอบเรียกว่าดะห์หรือแหม่ดะห์ เป็นชื่อของผู้หญิง ก็เลยตั้งชื่อนี้มาตั้งแต่ตอนม.ปลาย พอเรียนมหาลัยเพื่อนก็ยังเรียกอยู่ จนกลายเป็นมาดามดะห์”

“สมัยที่เรียน ที่โรงเรียนเขาก็ต่อต้านเหมือนกัน ไม่ให้เราทาแป้ง ทาลิป มีบทลงโทษหนักนะ ถ้าเราไว้เล็บยาว เขาก็จะให้เราเอาเล็บขูดกับถนนคอนกรีต ถ้าเราทาแป้งมาโรงเรียน ก็เอามือยีหน้า”

เมื่อก้าวเข้าสู่ชีวิตวัยทำงาน ฟานลองใช้ชีวิตในเส้นทางการทำงานที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในร้านไอศกรีม ลองเปิดร้านอาหาร หรือแม้กระทั่งการเป็น ‘ครู’ เพื่อทำตามความฝันแม่ สมัยที่ฟานเป็นครู ฟานจำเป็นต้องใช้การ “อยู่เป็น” ตามที่เธอเรียก เปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อให้ได้งาน แม้การเป็นครูจะทำให้เธอได้ใช้ศักยภาพที่มี แต่การฝืนเป็นคนที่ตัวเองไม่ได้เป็น ทำให้เธออิ่มตัวกับอาชีพครู และตัดสินใจลาออก 

หลังจากนั้นไม่นาน เธอเริ่มทำคลิปในโซเชียลมีเดีย และเชื่อว่าการร้องเพลง แต่งหน้า และผ้าคลุมจะทำให้เธอมีโอกาสได้เผยถึงตัวตนที่แท้จริงของเธอบ้าง ซึ่งถือว่าเป็นการแสดงตัวตนบนแพลตฟอร์มสาธารณะเป็นครั้งแรกของฟาน ภายใต้ชื่อ ‘มาดามดะห์’ และผลตอบรับกลับออกมาดีกว่าที่เธอคาดหวังไว้ แต่ความรู้สึก ‘กลัว’ ภายใต้ตัวตนที่แสดงออกไปยังคงมีอยู่และไม่ได้จางหายไป

ความรู้สึกของการมีตัวตนที่หลากหลาย แต่ไม่อยากกลายเป็นอื่น

“เมื่อก่อนเราไม่ได้แสดงออกมาก เราดูสังคมด้วย ถ้าเราไปเจอกลุ่มคนสอนศาสนา เราจะหาวิธีอยู่ยังไงก็ได้เพื่อให้เขาไม่อึดอัด หรือมาพูดถึงเราในทางที่ไม่ดี เขาก็รู้ว่าเราเป็น และเราก็รู้ว่าเขาคิดเห็นแบบไหน แต่ต่างคนต่างปรับลงให้อยู่เท่ากัน เราจึงจะอยู่ได้”

มาดามดะห์เล่าเหตุผลของการพยายามที่จะ ‘อยู่เป็น’ ว่าเป็นเพราะเธอไม่ต้องการให้เกิดการดูถูก LGBTQ+ ไปมากกว่านี้ เธออยากสร้างตัวเองให้มีหน้าที่การงานที่มั่นคงพอที่จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับน้อง ๆ กลุ่ม LGBTQ+ ในพื้นที่ และหวังว่าสักวันหนึ่งเสียงของเธอจะมีพลังมากพอเพื่อบอกกล่าวถึงความงดงามของความแตกต่างหลากหลายให้ทุกคนได้รับรู้

แปลกแยกหรือแค่แตกต่าง

‘ดาด้า-อิสกันดา กูโน’ หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม Look South Peace ในพื้นที่จังหวัดยะลา คือ ‘ตัวแทนหมู่บ้าน’ ที่มาให้สัมภาษณ์กับ Mappa ในครั้งนี้ 

‘หมู่บ้าน’ ที่ว่านี้ ไม่ได้หมายถึงท้องที่ที่รวมบ้านให้อยู่ภายใต้การปกครองเดียวกันแต่อย่างใด แต่หมายถึงกลุ่ม ‘Look South Peace’ ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเยาวชน LGBTQ+ ในสามจังหวัดชายแดนใต้ซึ่งคอยโอบกอด ดูแลและสนับสนุนให้เด็ก ๆ ได้เข้าถึงความสามารถที่แท้จริงและได้ฉายศักยภาพในตัวเอง

ดาด้าเติบโตมาในพื้นที่จังหวัดยะลา ท่ามกลางครอบครัวมุสลิมที่เข้าใจและยอมรับในตัวตนของเธอ 

“หนูรู้ตัวตั้งแต่เด็กเลย เป็นแบบนี้ตั้งแต่ประถม ที่บ้านก็ยอมรับอยู่แล้ว ไม่ได้ว่าหรือตำหนิที่เราเป็นแบบนี้ ก็เลยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สุขภาพจิตดี หนูได้เป็นตัวแทนรำ อยู่ชมรมนาฏศิลป์ แกะสลัก ทำบายศรี มีครั้งหนึ่งพ่อไปรับตอนไปเต้นเชียร์ลีดเดอร์ตอนเย็น เราแต่งหน้า พ่อก็ไปรับ พ่อเคยไปส่งที่ศาลหลักเมืองเพื่อไปแข่งนาฏศิลป์ เขาก็ไม่ได้ว่าอะไร เขาก็ภูมิใจที่เราเป็นแบบนี้” 

“หนูว่าครอบครัวทำให้หนูกล้าเป็นตัวของตัวเองประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์เลย หนูกล้าแสดงออกและเป็นอะไรหลาย ๆ อย่างเพราะได้รับแรงสนับสนุนจากครอบครัวเยอะมาก ๆ หนูรู้สึกว่าหนูเป็นคนโชคดีมาก ๆ เลยค่ะ แต่เพื่อนบางคนก็ไม่ได้โชคดี บางคนก็โดนทางบ้านกีดกัน ไม่ยอมรับ เมื่อหลายปีก่อนเคยมีเหตุการณ์พี่ล่ามโซ่น้องไว้ในบ้านเพราะรู้สึกอับอายที่มีน้องเป็น LGBTQ+ มันมีหลายเหตุการณ์ที่น้อง ๆ บางคนโดนมา” ดาด้าเล่าถึงปัญหาส่วนหนึ่งที่เพื่อน ๆ และน้อง ๆ ในกลุ่มลูกเซาท์ต้องพบเจอ

ปัญหาการถูกกีดกันจากสังคม ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในพื้นที่สามจังหวัดนี้ยังต้องเผชิญอยู่ เนื่องด้วยเหตุผลทางด้านสังคม วัฒนธรรม หรือศาสนาที่มองว่าการแสดงออกถึงตัวตนของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ถือเป็นฮะรอม (สิ่งต้องห้าม)

ดาด้าเล่าว่าช่วงชีวิตวัยมัธยมต้นในโรงเรียนของเธอเติบโตมาพร้อมกับ ‘การถูกตีตรา’ 

ด้วยเหตุว่าตัวเธอมีกิริยาท่าทีที่แตกต่างจากเด็กผู้ชายคนอื่น ๆ ในโรงเรียน ซึ่งเด็กในโรงเรียนที่เป็น LGBTQ+ มักถูกพูดถึงในที่สาธารณะเพื่อให้เกิดความรู้สึกอับอาย มีการรวบรวมรายชื่อคนที่เป็น LGBTQ+ ในโรงเรียนเพื่อส่งตัวไปห้องอบรมสั่งสอน มีการกีดกันไม่ให้ LGBTQ+ มีส่วนร่วมในขบวนพาเหรดกิจกรรมกีฬาสี 

“ตอนมัธยมต้นหนูโดนมาเยอะมากจนไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากไปเจอใคร อยากอยู่บ้านเฉย ๆ เพราะจิตตกกับเหตุการณ์ที่เขามาบอกว่าหนูเป็นคนบาป ตอนนั้นยังเด็กก็เลยกลัวว่าถ้าหนูเป็นตัวเองแบบนี้ก็ต้องตกนรกเหรอ”

เมื่อพื้นที่ในโรงเรียนซึ่งเป็นสังคมแรกในการสร้างตัวตนของเด็ก ไม่ได้ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย นั่นอาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศเกิดความรู้สึก ‘ไม่เป็นส่วนหนึ่ง’ ของสังคม เพราะการกีดกันให้พวกเขาต้องแยกออกมาเป็น ‘คนส่วนน้อย’ ก็เปรียบเสมือนการแปะป้ายว่าพวกเขา ‘แปลกแยก’ จนทำให้เด็กขาดความมั่นใจ และเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่ยอมรับตัวตนของตนเอง

“ในตอนนั้นเรากลัวเพราะเราเป็นคนกลุ่มน้อยในโรงเรียน สู้ไม่ได้ อะไรที่รู้สึกว่ายอมได้ก็ยอมไปก่อน พยายามเลือกที่จะไม่สนใจ แล้วก็จะไม่เข้าไปยุ่งกับสังคมนั้นอีก หนูต้องเลือกสังคมที่ทำให้สภาพจิตใจหนูดีขึ้นและทำให้หนูพัฒนาตัวเองได้มากกว่าเดิม”

เมื่อสถานที่ที่เรียกว่า ‘โรงเรียน’ ห่างไกลจากคำว่า ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ดาด้าจึงตัดสินใจย้ายไปเรียนที่วิทยาลัยอาชีวศึกษา ซึ่งการตัดสินใจเลือกออกจากสังคมเดิมไปเจอสังคมใหม่ ทำให้ดาด้ามีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นมาก

แตกต่างเหมือนกัน

นอกจากพื้นที่ในสถานศึกษา การได้พบปะกับเพื่อน ๆ กลุ่ม Look South Peace ยังทำให้ดาด้าค้นพบพื้นที่ปลอดภัยในแบบที่ตนเองตามหา พื้นที่ที่ดาด้าสามารถเป็นตัวของตัวเองได้โดยไม่มีการกีดกันและไม่มีการตัดสิน และเป็นพื้นที่ที่โอบรับตัวเธอและเพื่อน ๆ ผู้มีความหลากหลายด้วยความยินดี

กลุ่ม Look South Peace หรือ กลุ่มลูกเซาท์ (มาจากคำว่า ลูกสาว) เป็นโปรเจกต์ที่สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (กลุ่มลูกเหรียง) จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ และเน้นช่วยเหลือเยาวชนในกลุ่ม LGBTQ+ โดยเฉพาะ มีหน้าที่คอยจัดกิจกรรมให้เยาวชน LGBTQ+ ในยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ได้เข้ามาทำกิจกรรมร่วมกัน ทำความรู้จักพร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในกลุ่มของผู้มีความหลากหลายทางเพศในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

การทำกิจกรรมในกลุ่มลูกเซาท์ช่วยให้ดาด้าได้พบเจอเพื่อน ๆ LGBTQ+ ในสามจังหวัดชายแดนใต้มากมาย ต่างคนต่างมีเรื่องราวในอดีตแตกต่างกันไป แม้อาจไม่ใช่เรื่องราวที่น่าจดจำ แต่การที่พวกเขาได้ทำความรู้จักกันในพื้นที่ตรงนี้ก็ช่วยให้พวกเขารู้สึกอุ่นใจกว่าที่เคยเป็น

หนึ่งในกิจกรรมสร้างสรรค์ที่เยาวชนในกลุ่ม Look South Peace ทำร่วมกัน คือการนำเสื้อผ้ามือสองไปดีไซน์ให้เป็นแฟชันโชว์ เพื่อแสดงอัตลักษณ์และเผยศักยภาพของพวกเขาให้ได้ฉายแสงออกมา การไปเยือนสามจังหวัดชายแดนใต้ในครั้งนั้น  ทีม Mappa ได้มีโอกาสได้รับรู้สิ่งนี้ด้วยเช่นกัน 

เสื้อผ้าที่สมาชิกในกลุ่มตัดเย็บกันเอง หน้าผมที่ผลัดกันช่วยดู แสงเงาที่ช่วยกันจัดแจง แสดงถึงความเป็นพี่น้องในกลุ่ม Look South Peach และทำให้เห็นถึงพื้นที่ปลอดภัยที่เขาสร้างขึ้นเพื่อให้พวกเขาได้เป็นตัวตนของตัวเองอย่างเต็มที่

“การแต่งกายเป็นเครื่องมือที่แสดงออกถึงความเป็นตัวเองได้มากที่สุด” เฟียน หนึ่งในสมาชิกกลุ่มลูกเซาท์บอกกับเรา

“มันเป็นการสื่อสารที่ไม่ต้องใช้คำพูดหรือคำอธิบายใดๆ ก็สามารถเข้าใจเรื่องราวได้ ในสามจังหวัดชายแดนใต้มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ และศาสนา การเป็น LGBTQ+ จึงต้องพบเจออุปสรรคหลายอย่างในการใช้ชีวิต เราอยากให้สังคมเห็นถึงสิทธิมนุษยชนของทุกคน อยากให้สังคมมองเราเป็นคนคนหนึ่งที่เป็นตัวของตัวเอง และมีความสุขกับทางที่เราเลือกเองโดยไม่ทำร้ายใคร” ขนมปังกล่าวเสริม

บรรยากาศการถ่ายทำเป็นไปอย่างสนุกสนาน ชาว LGBTQ+ ได้กรีดกรายเฉิดฉายภายใต้แสงสว่างบนถนน

พวกเขาแสดงตัวตนออกมาด้วยความมั่นใจ ยอมรับในตัวตนของตนเอง และไม่ทำให้ใครเดือดร้อน

“พอได้มาถ่ายทำแล้วรู้สึกดีใจและภูมิใจในตัวเองเป็นที่สุด เพราะเราสามารถทลายกำแพงความอายและแสดงความสามารถออกมาได้อย่างเต็มที่ อยากบอกกับคนในสังคมและน้อง ๆ LGBTQ+ คนอื่นว่าเราไม่ต้องอายที่จะแสดงความเป็นตัวเอง ถ้าสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขนั้นไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น ก็ขอให้ทำต่อไป อยากให้ทุกคนเรียกร้องสิทธิ์ของเรา ถึงแม้เสียงของพวกเราในวันนี้จะยังไม่ดังมากนัก แต่เชื่อว่าถ้าเราพยายามต่อไป สักวันหนึ่งผู้คนจะได้ยินเสียงของเรา” เจนอธิบายความรู้สึกหลังจากได้รับชมวิดีโอที่ตนได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการถ่ายทำ

และนอกจากกิจกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าแฟชัน กลุ่มลูกเซาท์ของยะลายังมีโครงการที่พร้อมช่วยดูแลและให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตแก่เด็ก ๆ และเยาวชนในกลุ่มอีกด้วย 

“เราไปหาแหล่งข้อมูลว่าจะมีพื้นที่ไหนบ้างที่ให้น้อง ๆ ได้เข้าไปปรึกษาพูดคุยกับจิตแพทย์ได้โดยไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล หรืออาจจะเป็นตรงไหนสักที่ที่เขาไว้วางใจได้ แค่สแกน QR Code เขาก็นัดผู้เชี่ยวชาญได้ ได้รู้ว่าจุดสุขภาพจิตใกล้บ้านเขามีตรงไหนบ้าง” ดาด้าเล่ารายละเอียดให้เราฟัง

กลุ่ม Look South Peace จึงเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่เปรียบเสมือน ‘บ้านเล็ก ๆ’ ของพวกเขา มีสมาชิกในครอบครัวที่พร้อมดูแลและสนับสนุนกันและกัน โดยวางใจได้ว่า หากมีวันใดที่รู้สึกไม่ปลอดภัย บ้านเล็ก ๆ หลังนี้พร้อมที่จะยื่นมือออกไปช่วยพวกเขาเสมอ

เติบโตไปในแบบที่อยากเป็น

ปัจจุบันนี้ทั้งดาด้าและมาดามดะห์ยังคงปฏิบัติตามวิถีมุสลิม ละหมาด จ่ายซะกาต และถือศีลอดเช่นเดียวกับมุสลิมคนอื่น ๆ ในสามจังหวัดชายแดนใต้อย่างที่เคยทำ

หลังจากผ่านเรื่องราวต่าง ๆ ในอดีตมาได้ สิ่งที่ทั้งสองค้นพบคือ การเรียนรู้ที่จะมีความสุขในพื้นที่ของตนเองโดยไม่ทำให้ใครเดือดร้อน และยังคงภูมิใจในอัตลักษณ์ของตน

“หนูก็ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขตามที่หนูอยากเติบโตไป ในเรื่องของศาสนาถ้าเขาบอกว่าเป็นไม่ได้ หนูก็เข้าใจ วางตรงนั้นไว้ก่อนแล้วทำสิ่งที่มีความสุขและเป็นตัวเอง ถ้าพ่อแม่ยังมีความสุข คนรอบข้างยังอยู่ได้ หนูจะมองที่จุดมุ่งหมายว่ากำลังฝันอยากทำอะไรเพื่อใครอยู่ ระหว่างทางจะเจออะไรก็ไม่เก็บมาคิดจนหยุดยั้งความฝัน หนูจะเดินต่อไป ภูมิใจในตัวเองให้มาก ๆ และใช้ชีวิตให้มีความสุขในทุกวันก็พอแล้ว”

นี่คือเรื่องราวที่พวกเธออยากบอกเล่ากับสังคม 

โดยมีความหวังว่าสักวันหนึ่งความหลากหลายจะอยู่ร่วมในพื้นที่นี้ได้ โดยไม่ต้องกลายเป็นอื่น


Writer

Avatar photo

ณัฐนรี บัวขม

มีชีวิตอยู่เพื่อดูคลิปตลก คีบตุ๊กตา และเดินหาร้านอร่อยในย่านบรรทัดทอง

Photographer

Avatar photo

ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

Illustrator

Avatar photo

พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts