ก่อร่าง สร้างใหม่ รื้อออก เคลื่อนย้าย และแยกส่วน ‘Loose Parts’ หนึ่งในแนวทางการเล่นอิสระ ที่จะทำให้เด็กๆ ได้ใช้จินตนาการกับการเล่นได้อย่างเต็มที่

ในภาพจำของคุณ ‘ของเล่น’ หน้าตาเป็นอย่างไร?

สำหรับใครหลายคนอาจจะเป็นหุ่นยนต์สักตัว ตุ๊กตาสักชิ้น หรือของเล่นสำเร็จรูปต่างๆ หรือกระทั่งของเล่นทำมือบางอย่างที่เราต่างหยิบนู่นลองนี่มาประดิดประดอยจนกลายเป็นเครื่องเล่นชิ้นเดียวที่มีบนโลก

ซึ่งของเล่นต่างๆ ในรูปแบบท้ายที่สุดนี้ ล้วนเกิดจากชิ้นส่วนที่เคลื่อนย้ายและแยกส่วนได้ (Loose Parts) ผนวกกับจินตนาการและความสนุกสนานที่ไม่รู้จบของเด็กๆ การเล่นอิสระ (Free Play) เหล่านี้จะยิ่งช่วยส่งเสริม ‘การเล่น’ ให้สนุกสนานมากยิ่งขึ้น เพราะเด็กๆ ล้วนได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตัวของพวกเขาเอง

เพราะการเล่นไม่ใช่แค่เรื่องเล่นๆ ดังนั้นในวันนี้เราจึงอยากชวนทุกคนมาคุยเรื่องเล่นๆ อย่างจริงจังกันมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเล่นแบบ Loose Parts ที่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมให้เหมาะเหม็งกับการเล่นและการเรียนรู้ของเด็กๆ 

ไซมอน นิโคลสัน (Simon Nicholson) สถาปนิกที่นำเสนอในคอนเซปต์นี้ได้อธิบายถึง Loose Parts เอาไว้ว่าหมายถึง ‘ชิ้นส่วนที่เคลื่อนย้ายได้’ โดยมีมุมมองว่าเด็กๆ ทุกคนล้วนสามารถ ‘สร้าง’ บางอย่างขึ้นมาด้วยตัวของพวกเขาเอง เพราะพวกเขาเหล่านั้นล้วนมีความอยากรู้อยากเห็น มีความคิดสร้างสรรค์ มีความอยากลองผิดถูกโดยไม่มีอะไรมากั้น ซึ่งแนวคิดนี้เกิดขึ้นเพื่อท้าทายมายาคติดั้งเดิมที่ว่าความคิดสร้างสรรค์นั้นจะมีมนุษย์แค่บางคนเท่านั้นที่ทำได้ 

ข้อเสนอของนิโคลสันมีความน่าสนใจอย่างมาก เขาเสนอว่า  เด็กๆ มีศักยภาพในการปฏิสัมพันธ์กับอุปกรณ์ข้าวของและสิ่งที่อยู่รอบตัวของพวกเขาได้หลากหลายรูปแบบ รวมถึงปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่น แรงแม่เหล็ก แรงโน้มถ่วง ดินน้ำอากาศ และไฟฟ้า ซึ่งทั้งหมดนี้ทำงานผ่านประสาทสัมผัสต่างๆ ในร่างกาย

ดังนั้นเด็กๆ จึงควรได้ทดลอง เล่นสนุก ประดิษฐ์ และค้นพบความเป็นไปได้ใหม่ๆ จากการเล่นอิสระในรูปแบบของพวกเขาเอง

ตามแนวทางของนิโคลสันแล้วนั้น มีเงื่อนไขสำหรับการสร้าง Loose Parts Play ดังนี้

1. ให้ความสำคัญกับเด็กๆ โดยที่ใช้สถานที่ที่เด็กได้เข้าไปใช้โดยตรง : เช่น โรงเรียนอนุบาล ศูนย์เนิร์สเซอรี และโรงพยาบาลสำหรับเด็ก ฯลฯ ที่ต่างๆ เหล่านี้ควรปรับให้สถานที่

2. ให้เด็กเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการในการออกแบบสร้างสรรค์และคิดแก้ไขปัญหาต่างๆ : เพราะจะเป็นการริเริ่มให้เด็กๆ มีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ตามนิสัยและธรรมชาติของพวกเขา ซึ่งอาจออกแบบผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชน

3. ใช้แนวทางข้ามศาสตร์โดยไร้ซึ่งขั้วตรงข้าม : สำหรับตัวอย่างจากเด็กๆ ปฐมวัยนั้นไม่มีเส้นแบ่งชัดเจนระหว่างการเล่นและการทำงาน, ศิลปะกับวิทยาศาสตร์, การศึกษากับการพักผ่อน นั่นจึงทำให้โลกทัศน์ของเด็กๆ ยิ่งเปิดกว้างกับจินตนาการและความเป็นไปได้ใหม่ๆ

4. จัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสาร : เพื่อให้บุคคลทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเด็กไปจนถึงเติบโตสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตเด็กๆ ทั้งในแง่ของการศึกษา การเรียนรู้ การเล่น ฯลฯ ที่สอดคล้องกับแนวทางข้ามศาสตร์ที่กล่าวไปข้างต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้เด็กๆ เข้าถึงข้อมูลภาพทั้งนิ่งและเคลื่อนไหว รวมถึงเสียง (ซึ่งในวิจัยนี้เป็นชุดข้อมูลที่เสนอในยุค 1970s)

ซึ่งหากถามกันต่อว่าแล้วการเล่นแบบไหนถึงจะเรียกว่า Loose Parts Play ได้บ้าง? คำตอบนั้นอาจทำให้หลายคนรู้สึกแปลกใจแต่ไม่แปลกตาไปบ้าง เพราะวัสดุอุปกรณ์เหล่านั้นหาได้ง่ายๆ โดยทั่วไป

วัสดุจากธรรมชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นใบไม้ ทราย ดิน หิน เปลือยหอย ดอกไม้ หรือกิ่งไม้

ไม้ต่างๆ ที่รีไซเคิลได้ เช่น ขาโต๊ะเก้าอี้เก่า ชิ้นส่วนจากเชิงเทียน ชามไม้เก่าๆ ลิ้นชักเล็กๆ

หรือเป็นของจำพวกท่อประปาพีวีซี แก้วน้ำ หลอดพลาสติก กระดุม ของต่างๆ จากพลาสติกก็เป็นสิ่งที่สามารถเอามาเล่นได้

ทั้งโลหะ เซรามิก แก้ว หรือกระทั่งผ้าและริบบิ้น บรรจุภัณฑ์ขนาดต่างๆ ทั้งหมดทั้งมวลล้วนเป็นของเล่นแบบ Loose Parts ได้ทั้งหมด

เพราะที่จริงแล้วคำนิยามของการเล่นแบบ Loose Parts ที่อาจกล่าวได้อย่างง่ายที่สุดคือ การเล่นกับอะไรก็ได้ที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน ได้จากทั้งสิ่งของตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น เป็นสิ่งที่เราล้วนก่อร่าง สร้างใหม่ รื้อออก เคลื่อนไหวและโยกย้าย แยกส่วนและออกแบบใหม่ได้ ซึ่งโครงสร้างที่ไม่ตายตัวนี้ยังทำให้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ได้หลากหลายวิธี และยังทำให้เด็กๆ ได้ปลดปล่อยจินตนาการได้อย่างเต็มที่ หลุดออกจากกรอบเก่าๆ ทั้งยังมีความเป็นกลางทางเพศอีกด้วย

อ้างอิง :
https://www.amazon.com/Loose-Parts-Inspiring-Young-Children/dp/1605542741
https://so02.tci-thaijo.org/index.php/ECEM/article/view/254819780199756810-0273.xml
https://www.oxfordbibliographies.com/display/document/obo-9780199756810/obo-9
https://thepotential.org/creative-learning/loose-parts/


Writer

Avatar photo

ภาพตะวัน

แสงแดดยามเช้า กาแฟหนึ่งแก้ว และแมวหนึ่งตัว

Illustrator

Avatar photo

สุชาพิชญ์ นิติพัฒนกุล

ถ้าวันนี้จะนอน ฉันก็คือนักนอน ถ้าวันนี้ฉันทำงาน ฉันก็คือนักออกแบบกราฟิกในวันนี้

Related Posts

Becoming Me

Soft Power

“ผมรู้สึกโดดเดี่ยวจนเหมือนผี ไร้ตัวตน” วรรจนภูมิ ลายสุวรรณชัย กับมนุษย์ที่ไม่อยากเป็นสุญญากาศ ใน School Town King