ชมรมคนเห่อข้าวกล่อง “ข้าวกล่องของผมไม่ได้สวย แต่เป็นกับข้าวที่แม่รู้ว่าลูกชายชอบกินผักและกินเผ็ด”

  • ข้าวกล่องคือจุดเชื่อมอาหารเเละผู้คนเข้าด้วยกันจากเมนู หน้าตา เเละคุณค่าทางโภชนาการ เพราะไม่ว่าจะเป็นคนทำหรือคนกินก็มีความสุขได้
  • เปิดกล่องข้าวเเอดมินกลุ่ม ‘ชมรมคนเห่อข้าวกล่อง’ ที่เป็นกับข้าวเเม่ที่รู้ว่า ลูกชายชอบกินผักเเละกินเผ็ด
  • ข้าวกล่องจึงไม่ได้หมายถึงอาหาร เเต่เป็นเรื่องราวที่กล่องข้าวไม่ได้บอก ทั้งตลก สนุก เเละเป็นความรู้สึกดีที่ส่งถึงกัน

คุณอยากได้รับข้าวกล่องเเบบไหนเเละจากใคร?

เมนูที่ชอบจากคนรัก เมนูรักสุขภาพให้ตัวเอง เมนูที่ดูเหมาะกับกล่องข้าว หรือเมนูที่อยากกินจากเพื่อนสนิท

เเต่ข้าวกล่องของ ‘ตี้’ วรภัทร พรประเสริฐสม เเอดมินเพจลิ้นกูเเละกลุ่มเฟซบุ๊ก ‘ชมรมคนเห่อข้าวกล่อง’ คือ กับข้าวเเม่สำหรับมื้อเช้าก่อนเริ่มวันทำงานตลอด 5 ปี 

“ข้าวกล่องของผมไม่ได้สวย เเต่เป็นกับข้าวเเม่ที่เเม่รู้ว่า ลูกชายจะเน้นโปรตีน ชอบกินผัก ชอบกินเผ็ด” ตี้อธิบายข้าวกล่องของตัวเอง

‘ตี้’ วรภัทร พรประเสริฐสม

เขาเชื่อว่า ข้าวกล่องไม่ได้มีเเค่อาหาร เเต่มีเรื่องราวกว่าจะเป็นข้าวกล่อง จึงเป็นที่มาของกลุ่มชมรมคนเห่อข้าวกล่องเมื่อ 3 เดือนก่อนที่ได้รับความนิยมจนมีสมาชิกกลุ่มมากกว่า 2 เเสนคนที่หลายคนเข้ามาเพราะอยากหาเมนูอาหารเเละกล่องที่ใช่ รวมถึงเก็บสกิลการทำอาหารเพื่อวันหนึ่งจะลองทำข้าวกล่องของตัวเองสักครั้ง

หน้าตาอาหาร คุณค่าทางโภชนาการ เเละคุณค่าทางใจ คือ สิ่งที่ถูกส่งต่อผ่านข้าวกล่องเพื่อเชื่อมโยงความรู้สึกของคนทำเเละคนกินเข้าด้วยกัน

ข้าวกล่องฝีมือเเม่

จุดเริ่มต้นที่เเม่ลุกขึ้นมาทำอาหารให้ลูกชาย เพราะตี้เป็นคนที่ต้องกินอาหารมื้อเช้า ข้าวกล่องเเม่ช่วงแรกจึงเป็นอาหารง่ายๆ ที่ตี้กินได้ระหว่างขับรถไปทำงาน 

“ช่วงเเรกๆ ต้องเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ในข้าวกล่องเลยเป็นอาหารกินง่าย เช่น แซนด์วิชหรืออาหารฝรั่งที่ตักกินเเล้วไม่หก เเต่หลังจากเปลี่ยนที่ทำงานระยะเวลาการเดินทางน้อยลงก็จะเป็นอาหารที่กินยากขึ้น อย่างผักหรือเเกง”

เเต่ข้าวกล่องรสมือเเม่ที่ตี้ชอบมากที่สุด คือ ข้าวหน้าหมูสามชั้นที่เสิร์ฟพร้อมเเกง 1 อย่าง

ตี้บอกอีกว่า จริงๆ เเล้ว ทั้งเเม่เเละเขาเป็นคนชอบทำอาหารเหมือนกัน สำหรับเขาคิดว่าอาหารเป็นจุดเชื่อมความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว

ที่ผ่านมาเขาเองก็เคยทำอาหารให้เเม่ทาน เพียงเเต่ไม่ได้จัดลงกล่องเหมือนที่เเม่ทำ

“ผมว่าเเม่น่าจะชอบหลายเมนูที่ผมทำนะ (ยิ้ม) เเต่คิดว่าน่าจะชอบพาสต้าทุกเเบบเลย จริงๆ เเม่ผมทำอาหารไทยเก่ง ส่วนผมจะทำอาหารฝรั่งเก่ง เเต่ที่เเม่ชอบน่าจะเป็นพาสต้าครีมซอส หรือผัดพาสต้าเเบบไทยๆ ผัดพริกเเห้ง เเล้วก็พวกสเต๊ก” 

หลายคนอาจจะลุ้นว่าอาหารข้างในคืออะไร เเต่ตี้ไม่ต้องลุ้น เพราะเขารู้อยู่เเล้วว่าจะได้กินอะไร เนื่องจากข้าวกล่องที่ได้รับ คือ เมนูอาหารของเเม่ลูกที่คิดไปด้วยกัน 

เพราะสายตาของตี้หลอกไม่ได้ ถึงจะไม่ได้บอกกันตรงๆ เเต่รับรู้ได้ว่า เขาดีใจเเละมีความสุขที่ได้รับข้าวกล่องจากเเม่

ไม่ว่าจะรับบทคนทำหรือคนกินก็มีความสุข

มากกว่าความสวยเเละอร่อย ข้าวกล่องมีเรื่องราวซ่อนไว้เต็มไปหมด ทุกคำในข้าวกล่องจึงไม่เหมือนที่สั่งและซื้อกินตามร้าน

“งานอดิเรกที่เยียวยาจิตใจ”

“ความพยายามการจัดข้าวกล่องของเเม่เพื่อให้ลูกอยากกินข้าวเเละผัก”

“อยากทำข้าวกล่องเเต่ขี้เกียจเก็บล้าง”

คือ 3 เรื่องราวกว่าจะเป็นข้าวกล่องจากสมาชิกกลุ่ม ‘ชมรมคนเห่อข้าวกล่อง’ ที่เสริมว่า ในความหวังดีของคนทำข้าวกล่องมีทั้งเรื่องตลก ความรัก เเละความสนุกซ่อนอยู่

ในฐานะเเอดมินกลุ่ม การอ่าน inside story จากสมาชิกกลุ่มคือเรื่องราวดีๆ เเละความสุขของเขา

ข้าวกล่องจึงเป็นจุดเชื่อมความสัมพันธ์โดยมีอาหารเป็นสื่อกลาง เพราะไม่ว่าจะรับบทคนทำหรือคนกินก็มีความสุข

“คนทำข้าวกล่องจะเลือกสิ่งที่ดีให้กับคนที่กินอยู่เเล้ว เพราะอยากให้เปิดกล่องเเล้วรู้สึกดี เห็นอาหารที่ชอบ น่ากิน เเละสวยงาม กินเเล้วมีความสุข นึกถึงคนทำ”

“ถ้าเราทำข้าวกล่องให้คนที่เรารัก ข้าวกล่องเป็นจุดเชื่อมความสัมพันธ์เเละผู้คนโดยใช้อาหารเป็นสื่อกลาง ข้าวกล่องไม่ได้ใส่เเค่อาหารลงไป  เเต่ใส่ความรู้สึกลงไปด้วย เพราะตอนจัดใส่กล่องต้องคำนึงถึงว่า คนคนนี้กินมากเเค่ไหน ชอบกินอะไร สิ่งที่เเตกต่างตามคนที่เราทำให้คือสิ่งที่เชื่อมโยงเเละทำให้เกิดความรู้สึกดี”

ตี้ยังเชื่อว่า ทุกข้าวกล่องมีเรื่องราว เพราะเเต่ละบ้านจะมีเอกลักษณ์เรื่องอาหารของตัวเอง ซึ่งกลุ่ม ‘ชมรมคนเห่อข้าวกล่อง’ ทำหน้าเป็นตัวกลางเเลกเปลี่ยนไอเดียเเละเรื่องราวเบื้องหลังข้าวกล่องของทุกบ้านเท่านั้นเอง

ถ้าข้าวกล่องไม่ได้ทำเอง ยังเรียกข้าวกล่องไหม?

ข้าวกล่อง ประกอบด้วย ข้าวหรืออาหาร + กล่อง

เราจำเป็นต้องทำอาหารเองไหม? กล่องต้องสวยไหม? เราซื้อข้าวกล่องมาจะเรียกว่าข้าวกล่องได้หรือเปล่า?

ในฐานะของคนที่อยู่ในวงการข้าวกล่อง ตี้ไม่สามารถนิยามคำว่าข้าวกล่องได้ว่าต้องอยู่ในรูปเเบบไหน เพราะมิติของการทำข้าวกล่องมีหลากหลายเเละขึ้นอยู่กับวิถีชีวิตของเเต่ละคน

“ผมไม่ได้คิดว่าข้าวกล่องที่ซื้อมาตามร้านจะเรียกข้าวกล่องไม่ได้ เพราะบางครั้งอาหารในกล่องที่ผมกินทุกวันก็ไม่ได้ทำเองร้อยเปอร์เซ็นต์ บางอย่างเราก็ไปซื้อมาใส่กล่อง คือเราเเค่ใส่กล่องถือไปที่ทำงาน ก็เรียกว่า ข้าวกล่องเท่านั้นเอง ผมว่ามันอยู่ที่การใช้งานมากกว่า”

“บางคนทำแซนด์วิชก็ถือว่าเป็นข้าวกล่อง หรืออาจจะไม่ได้ทำทั้งหมด อาจจะหุงข้าวเองแล้วก็มีกุนเชียงทอดอยู่แล้วก็จะไปซื้อแกงมาใส่เพิ่ม หรือทำสลัดไข่ต้มง่ายๆ” 

ขณะเดียวกัน ตี้มองว่า นอกจากสมาชิก 2 เเสนคนในกลุ่มที่เขาตั้งขึ้น ยังมีคนทำข้าวกล่องทุกวันเเละอยากลองทำข้าวกล่องในอนาคต เพราะถ้าต้องกลับไปทำงานข้าวกล่องเป็นอีกทางเลือกในการดูแลสุขภาพ ช่วยเลือกอาหารที่ตอบโจทย์เเละประหยัดค่าใช้จ่าย 

เเต่ข้อจำกัดคือต้องมีเวลา..

“ถึงข้าวกล่องจะช่วยเพิ่มกิจกรรมร่วมกัน เเต่ข้อจำกัด คือ เวลา ตั้งเเต่เตรียมวัตถุดิบจนจัดลงกล่อง บางคนเตรียมของไว้ตั้งแต่เมื่อคืนแล้วตื่นสาย ได้แค่หั่นหมูยอลงกล่องอย่างเดียว ข้าวกล่องเลยอาจจะเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ทุกคน เเต่ผมเชื่อว่ายังมีคนที่ห่อข้าวกล่องทุกวันเเต่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเเละคนที่อยากทำข้าวกล่องในอนาคตเเต่มันก็ขึ้นอยู่กับวิถีชีวิตเเละเวลาของแต่ละคนด้วย”

ข้าวกล่องจึงไม่ได้หมายถึงอาหาร เเต่เป็นเรื่องราวที่กล่องข้าวไม่ได้บอก เเต่เป็นความรู้สึกดีๆ ที่ส่งถึงกัน 


Writer

Avatar photo

ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ชอบดูซีรีส์เกาหลี เพราะเชื่อว่าตัวเราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ สนใจเรื่องระบบการศึกษาเเละความสัมพันธ์ในครอบครัว พยายามฝึกการเล่าเรื่องให้สนุกเเบบฉบับของตัวเอง

Illustrator

Avatar photo

กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts