Constructionism – ทฤษฎีการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง

  • ทฤษฎีการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง (Constructionism) เป็นแนวคิดของ ซีมัวร์ พาเพิร์ต นักคณิตศาสตร์และนักการศึกษาแห่ง สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ที่พัฒนาบนฐานคิดของ กลุ่มทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ (Constructivist) ของ ฌ็อง เพียเจต์
  • การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ด้วยตัวเอง ผ่านการประดิษฐ์ผลงาน นำเสนอผลงาน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้อื่นคือหัวใจของทฤษฎีการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง
  • นอกจากการทำ “ด้วยตัวเอง” ทฤษฎีการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองยังมุ่งเน้นให้ผู้เรียนเรียนรู้จากปฏิสัมพันธ์ทางสังคม อันจะเพิ่มพูนความรู้และขยายมุมมองของผู้เรียนให้กว้างขวางและโอบรับความหลากหลายทางความคิด

ซีมัวร์ พาเพิร์ต แห่ง สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) เป็นผู้คิดค้น ทฤษฎีการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง (Constructionism) ซึ่งเป็นทั้งทฤษฎีและกลยุทธ์การเรียนรู้ ทฤษฎีนี้ต่อยอดจาก กลุ่มทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ (Constructivist) ของ ฌ็อง เพียเจต์ ที่เชื่อว่าองค์ความรู้ไม่เพียงแต่ถูกถ่ายทอดจากผู้สอนสู่ผู้เรียน แต่ถูกสร้างขึ้นในสมองของผู้เรียนด้วย พูดอีกอย่างคือผู้เรียนไม่ได้แค่ “เข้าใจ” แนวคิดต่าง ๆ แต่ยัง “สร้าง” แนวคิดของตัวเองด้วย นอกจากนี้ ทฤษฎีการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองเสนอว่าแนวคิดใหม่ ๆ จะถูกสร้างขึ้นเมื่อผู้เรียนมีส่วนร่วมในการสร้างประดิษฐ์กรรมบางอย่างที่สามารถสะท้อนคิดและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนอื่นได้

พาเพิร์ต (1991) กล่าวถึงความแตกต่างระหว่างทฤษฎีการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองและกลุ่มทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ไว้ว่า 

ภาพจาก https://www.pexels.com/th-th/photo/5428012/

“กลุ่มทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์เชื่อว่าความรู้สร้างโดยผู้เรียนและไม่ได้มาจากครู แต่ทฤษฎีการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองขยายความให้ไกลขึ้นว่า แนวความคิดสดใหม่จะเกิดขึ้นเมื่อผู้เรียนมีส่วนสร้างอะไรที่จับต้องได้หรืออย่างน้อยก็แลกเปลี่ยนและแบ่งปันกับผู้อื่นได้”

ทฤษฎีการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองสนับสนุนมุมมองของกลุ่มทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ที่ว่า ผู้เรียนคือผู้สร้างองค์ความรู้ ทว่าเน้นไปที่การสร้างสรรค์วัตถุที่ผู้เรียนเรียนรู้ร่วมกันได้ แม้ผู้เรียนจะสามารถเรียนรู้ได้โดยไม่ต้องสร้างอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน กระบวนการสร้างจะชัดเจนขึ้นเมื่อผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่น รวมถึงนำเสนอความคิดกับความเข้าใจของตัวเอง

ลักษณะของทฤษฎีการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง

(รื้อ) สร้าง องค์ความรู้ 

ผู้เรียนสร้างความรู้ความเข้าใจใหม่ ๆ จากความรู้ที่มีอยู่เดิมและสร้างสรรค์โครงการต่าง ๆ เพื่อทดสอบและขัดเกลาองค์ความรู้ (และรูปแบบองค์ความรู้) ที่กำลังพัฒนา

ผู้เรียนในฐานะผู้กระทำและการสำรวจด้วยตัวเอง

ผู้เรียนถือเป็นศูนย์กลางของกระบวนการเรียนรู้ ค้นพบความรู้ใหม่ ๆ ด้วยตนเอง โดยมีผู้สอนเป็นผู้อำนวยความสะดวกและแนะนำแทนที่จะสั่งการ

เรียนรู้ผ่านการออกแบบและเข้าสังคม

ผู้เรียนจะมีส่วนร่วมในการออกแบบและรังสรรค์สิ่งประดิษฐ์จากมุมมองและแนวคิดของตัวเอง จากนั้นจึงรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาของตัวเองที่ไม่ใช่การประเมินจากภายนอก (เช่น การสอบ) แต่เป็นการนำเสนอโครงการและสิ่งประดิษฐ์ของตัวเองแก่ผู้อื่น

ภาพจาก https://www.pexels.com/th-th/photo/8363772/ 

การสะท้อนคิด (reflection) และอภิปัญญา (metacognition)

ผู้เรียนใช้สิ่งประดิษฐ์ในการสะท้อนผลการเรียนรู้ และเป็นโอกาสในการพิจารณาวิธีการและแนวทางการศึกษาค้นคว้าของตัวเองในฐานะเครื่องมือที่ช่วยให้เข้าใจดียิ่งขึ้น

ความรู้ด้านเทคโนโลยี

ผู้เรียนใช้เทคโนโลยีในการบรรลุผลการเรียนรู้แทนที่จะใช้เป็นส่วนเสริมหรือความคิดที่ตามมาภายหลัง

ทฤษฎีการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองในห้องเรียน

ห้องเรียนที่ประยุกต์ใช้ทฤษฎีการสร้างองค์ความรู้ด้วยตัวเองมีหลายองค์ประกอบที่ส่งเสริมสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นหลัก ในสิ่งแวดล้อมนี้ ผู้สอนจะทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกและนำทางผู้เรียนบนถนนสายการเรียนรู้ ผู้เรียนจะได้รับโจทย์ที่มีจุดมุ่งหมายจำเพาะบางอย่าง ผู้เรียนจะสืบเสาะ สรรค์สร้างและหาทางแก้ปัญหา องค์ประกอบของห้องเรียนที่ปรับใช้ทฤษฎีการสร้างองค์ความรู้จะมีองค์ประกอบคร่าว ๆ ดังนี้ 

  • การนำเสนอเกณฑ์ที่ระบุผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
  • การสนทนาที่อภิปรายและตีความชิ้นงานที่มอบหมาย
  • การสำรวจกลยุทธ์ต่าง ๆ ในการสร้างชิ้นงานที่มอบหมาย
  • การถามตอบและอภิปราย
  • การนำเสนอผลงาน
  • โครงการที่ต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาแนวคิด
  • การร่วมมือกันระหว่างผู้เรียน
  • ผู้เรียนร่วมงานกับผู้เชี่ยวชาญนอกห้องเรียน
  • ผู้เรียนมีส่วนร่วมในชิ้นงานจริงในโลกความเป็นจริง

ในสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่มีการใช้ทฤษฎีการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองนั้น จำเป็นที่จะต้องตั้งวัตถุประสงค์การเรียนรู้ของบทเรียนไว้ตั้งแต่ต้น เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจว่าเป้าหมายคืออะไร มีระดับความยากง่ายอย่างไร การอธิบายกลยุทธ์ที่หลากหลายจะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้สำรวจวิธีการต่าง ๆ ที่จะช่วยแก้ปัญหาที่เผชิญ การได้รับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ ฟังความคิดเห็นของผู้อื่นผ่านการนำเสนองานและการอภิปรายจะเปิดพื้นที่ให้เขาได้ปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาโครงการของตนเอง ท้ายที่สุด การมีส่วนร่วมในโลกความเป็นจริงจะช่วยให้ผู้เรียนได้ประสบการณ์ในบริบทที่มีความหมายต่อเขามากขึ้น

บทเรียนจากทฤษฎีการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง 

การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่ต้องมีส่วนร่วมสม่ำเสมอ

ผู้เรียนต้องเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อให้บรรลุผลบางอย่าง ผู้เรียนไม่สามารถทำเพียงอ่าน ฟัง หรือดูเนื้อหาและเรียนรู้จากมันได้ทันที การมีส่วนร่วมจะสนับสนุนให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ผู้เรียนต้องสนใจและจดจ่อกับบทเรียน

การเรียนรู้จะเกิดขึ้นต่อเมื่อบทเรียนมีระดับที่เหมาะสมกับเขา ต้องมีระดับความยากพอที่จะตรึงความสนใจและชวนให้คิดวิเคราะห์ ขณะเดียวกันต้องไม่ยากเกินไปจนเบื่อและขาดความเชื่อมโยงกับบทเรียน

ภาพจาก https://www.pexels.com/th-th/photo/8612991/

การเรียนรู้เป็นกิจกรรมทางสังคม

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม และการเรียนรู้ของเราเกี่ยวข้องกับปฏิสัมพันธ์ของเรากับผู้อื่น การเรียนรู้ไม่ใช่กิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ กิจกรรมทางสังคมจะเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ การสนทนา อภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้อื่นเป็นเครื่องมือการเรียนรู้อันทรงพลัง

การเรียนรู้ต้องพึ่งพาบริบทแวดล้อม

เราไม่อาจเรียนรู้เรื่องใดได้โดยแยกจากบริบท ทุกอย่างที่เราเรียนรู้เกี่ยวข้องกับบริบทแวดล้อมตัวเรา อย่างเช่นเรารู้อะไรและเรารับรู้โลกรอบตัวเราอย่างไร แม้เราจะสามารถท่องจำข้อเท็จจริงโดยแยกจากสิ่งอื่นได้ แต่การจะเข้าใจมโนทัศน์บางอย่างจำเป็นต้องมีบริบทประกอบเพื่อความถูกต้องแม่นยำ

การเรียนรู้ต้องใช้เวลา 

การเรียนรู้ไม่เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน การเรียนรู้จะไม่เกิดทันทีที่เราอ่าน ฟัง หรือดูเนื้อหา เราไม่อาจเข้าใจอะไรได้ถ่องแท้เพียงแค่แรกเห็น แต่ต้องอาศัยเวลาในการพินิจพิจารณา คำนึงถึงบริบทแวดล้อม จากนั้นทบทวนอีกหลายครั้ง การสะท้อนคิดถือเป็นกุญแจสำคัญของการเรียนรู้อย่างมีนัยสำคัญ

ทฤษฎีการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองเป็นทฤษฎีการเรียนรู้หนึ่งที่น่าสนใจและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับเนื้อหาที่หลากหลาย เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักคิด วิเคราะห์ เชื่อมโยงความรู้เข้ากับบริบทส่วนตัว แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนอื่น อันจะนำไปสู่การสังเคราะห์องค์ความรู้ที่เหมาะสมกับตัวเองที่สุด

อ้างอิง

https://guides.library.utoronto.ca/c.php?g=448614&p=3563161

https://info.cognician.com/blog/5-lessons-change-managers-can-learn-from-seymour-papert

https://learn-u.com/lesson/constructionism-learning-by-design-project-based-learning/

https://www.moe.go.th/%E0%B8%97%E0%B8%A4%E0%B8%A9%E0%B8%8E%E0%B8%B5-constructionism-%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A3/

https://nattarikablog.wordpress.com/2016/02/15/%E0%B8%97%E0%B8%A4%E0%B8%A9%E0%B8%8E%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%8C%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3/

http://ir-ithesis.swu.ac.th/dspace/bitstream/123456789/1626/1/gs621120031.pdf


Writer

Avatar photo

ศิริกมล ตาน้อย

อยากเกิดใหม่เป็นแมงกะพรุน

Illustrator

Avatar photo

ธีรภัทร์ เศาธยะนันท์

ชอบกินลาเต้เย็น

Related Posts