ความฝัน ความหวัง กำลังใจ – เรื่องราวมากมายภายใต้เส้นทาง ‘สมรสเท่าเทียม’

วันที่ 23 มีนาคม 2566 คือวันครบวาระที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ซึ่งในรัฐธรรมนูญ มาตรา 147 กำหนดว่ากรณีที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือร่างพระราชบัญญัติที่รัฐสภายังมิได้ให้ความเห็นชอบ ‘จะเป็นอันตกไป’ 

ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ ‘สมรสเท่าเทียม’ คือหนึ่งในนั้น

ระยะเวลาเกือบ 3 ปี ตั้งแต่ตอนที่ ส.ส.พรรคก้าวไกลได้เสนอให้สมรสเท่าเทียมเข้าไปอยู่ในกระบวนการพิจารณาทางกฎหมายเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2563 กระทั่งผ่านร่างกฎหมายในวาระแรก เป็นช่วงระยะเวลาที่ช่วยจุดประกายความหวังและความฝันให้แก่บรรดาผู้มีความหลากหลายทางเพศ เมื่อผู้คนเริ่มหันมาให้ความสนใจกับเรื่องสิทธิและตระหนักถึงความเท่าเทียมในสังคมมากขึ้น จากเดิมที่มีเพียงเสียงของคนในชุมชนแห่งความหลากหลายที่คอยช่วยกันผลักดัน บัดนี้มีผู้คนมากมายพร้อมช่วยกันส่งเสียงเรียกร้องเพื่อให้กฎหมายไทยมอบสิทธิที่ ‘บุคคล’ พึงได้รับให้กับกลุ่ม LGBTQ+ 

บนเส้นทางการต่อสู้ที่ยาวนานกว่าระยะเวลาที่ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมได้เข้าไปอยู่ในสภาฯ ‘อัน-อันธิฌา แสงชัย’ คือหนึ่งในนักกิจกรรมที่พยายามขับเคลื่อนประเด็นความหลากหลายทางเพศมาเป็นระยะเวลากว่าสิบปี ภาพหญิงสาวสองคนสวมชุดเจ้าสาวในขบวนพาเหรดนฤมิตไพรด์ 2022 คือภาพของเธอและ ‘บิ๊ว-วรวรรณ แรมวัลย์’ คนรักที่กำลังคบหากัน โดยเรื่องราวความสัมพันธ์ของเธอทั้งสองนั้นเริ่มต้นจากการผูกสัมพันธ์ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก 

อันเล่าว่าในช่วงที่โรคโควิด-19 กำลังแพร่ระบาดอย่างหนัก มีการประกาศล็อกดาวน์ในหลาย ๆ พื้นที่ รวมไปถึงจังหวัดปัตตานีที่เธออาศัยอยู่ ทำให้เธอจำต้องงดการเดินทางเพื่อไปทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางสังคม และเมื่อไปสำรวจพื้นที่แบบออนไซต์ไม่ได้ เธอจึงหันมาใช้เวลาสำรวจพื้นที่บนโลกออนไลน์แทน 

‘กลุ่มหาคู่’ คือสิ่งที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในตอนนั้น อันใช้เวลาไปกับการสังเกตพื้นที่และความสัมพันธ์ของสมาชิกในกลุ่มหาคู่ เพราะตัวเธอเองมีความสนใจในการเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ และสิ่งหนึ่งที่เธอสังเกตเห็นคือการไม่มีพื้นที่ให้ LGBTQ+ ได้ ‘เปิดแผง’ (โพสต์ในกลุ่มหาคู่) กระทั่งวันหนึ่งเพื่อนของเธอได้ส่งคำเชิญให้เข้าร่วมกลุ่ม Non-traditional Matchmaker ในวันนั้นเองที่อันได้ค้นพบพื้นที่แห่งความหลากหลาย และกลุ่มนี้ก็ได้กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ของอันและบิ๊วในเวลาต่อมา

“มันไปไกลกว่า LGBTQ+ อีก เพราะเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างเปิดกว้างเรื่องเพศวิถีและความสัมพันธ์ เรารู้สึกว่าน่าสนใจจัง ก็มีไปเปิดแผงด้วย สนุก ๆ ก็แอบสงสัยนะว่าใครเป็นคนตั้งกลุ่ม แล้วก็มีจังหวะที่บิ๊วเขาทักมา ปรากฏว่าบิ๊วเขาเป็นหนึ่งในแอดมินที่ก่อตั้งกลุ่มนี้ ซึ่งพี่รู้สึกตื่นเต้นมากเพราะนี่เป็น movement ที่แม้แต่นักกิจกรรมเองก็ยังไม่สามารถทำได้ เพราะนักกิจกรรมมักจะคิดตามขนบเดิมก่อนว่าต้องทำตามเป้าหมาย ตามแผนงาน” อันเล่าถึงความประทับใจหลังจากได้เข้าไป ‘สังเกตการณ์’ ในกลุ่ม Non-traditional Matchmaker เป็นครั้งแรก 

บทสนทนาแรกระหว่างอันและบิ๊วเริ่มขึ้นเมื่อบิ๊วเป็นฝ่ายส่งข้อความมาหาอัน เธอเห็นว่าอันเป็นนักกิจกรรมและนักวิชาการ จึงอยากขอปทานุกรมเรื่องเพศเพื่อนำไปแบ่งปันกับสมาชิกในกลุ่ม 

เมื่อเส้นทางความสัมพันธ์เริ่มต้นขึ้น จนกระทั่งเดินทางมาถึงวันที่พวกเธอตัดสินใจว่าจะใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน อันและบิ๊ว ‘ประกาศแต่งงาน’ ผ่านเฟซบุ๊กด้วยเหตุผลที่ว่าความสัมพันธ์ของเธอทั้งสองเริ่มต้นบนพื้นที่ออนไลน์แห่งนี้ การประกาศแต่งงานก็ควรที่จะเกิดขึ้นบนพื้นที่ออนไลน์แห่งนี้เช่นเดียวกัน ซึ่ง ณ เวลานั้นเพื่อน ๆ ของเธอก็เข้ามาร่วมกดไลก์พร้อมแสดงความยินดีกันมากมาย

และเมื่อมีประกาศจัดงานบางกอกนฤมิตรไพร์ด 2022 ทั้งอันและบิ๊วต่างสนใจและอยากเข้าร่วมการเดินขบวนไพร์ดในครั้งนี้เป็นอย่างมาก พวกเธอปรึกษากันว่าควรจะใส่ชุดอะไรไปร่วมเดินขบวน กระทั่งได้คำตอบว่านี่คงจะเป็นโอกาสดีที่เธอทั้งสองจะได้สวม ‘ชุดแต่งงาน’ เดินขบวนด้วยกัน และได้ถือโอกาสซึมซับบรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลองครั้งนี้เก็บไว้เป็นความทรงจำดี ๆ ในชีวิต

“ช่วงก่อนหน้านั้นมีกระแสเรื่องสมรสเท่าเทียมคู่ขนานมากับ พ.ร.บ.คู่ชีวิต แล้วก็ผ่านเข้าไปในสภาฯ วาระแรก พวกเราที่ผลักดันกันมาก็ลุ้นกันสุดฤทธิ์ เรากังวลมากกว่ารัฐบาลที่มีลักษณะอนุรักษนิยมมาก ๆ อาจปัดตกร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม แต่พอร่าง พ.ร.บ.นี้มาอยู่ในขบวนไพร์ด คนกลับส่งเสียงเชียร์กัน ซึ่งก็นับว่าเป็นพลังของชุมชน มันเป็นเหมือนพลังธรรมชาติจริง ๆ แล้วพี่ก็รู้สึกว่าภาพของพี่มันไปพอเหมาะพอดีกับเสียงที่ดังขึ้นมาว่า ‘เราต้องการสมรสเท่าเทียม’ ก็เลยเป็นเหมือนกับการขยายเสียงให้กันและกัน ทำให้คนเห็นว่ามันมีคนต้องการสมรสเท่าเทียมจริง ๆ และมีคนที่แต่งงานกันจริง ๆ”

“ภาพที่ออกไปมันสวยงามและมีพลังมาก เราเห็นเสียงของใครหลาย ๆ คนที่บอกว่าก่อนหน้านี้ไม่เคยคิดที่จะแต่งงานมาก่อนเลย เขาล้มเลิกความคิดนี้ไปนานแล้ว เพราะคิดว่า LGBTQ+ แต่งงานไปก็ได้กลัับมาแค่สัญลักษณ์หรือพิธีการ ไม่มีทางได้สิทธิทางกฎหมาย เขากังวลว่าถ้าแต่งไปก็จะกลายเป็นตัวตลกที่คนจะเอาไปวิจารณ์ แต่พอมีรูปที่พี่และบิ๊วแต่งงานกัน เขาเห็นว่ามีแต่คนมาร่วมยินดี ทำให้ความรู้สึกของเขาเปลี่ยนไป ไม่ได้กลัวและกังวลกับการแต่งงานแล้ว เขาอยากแต่งงานบ้าง ซึ่งพี่รู้สึกดีมาก” อันเล่าด้วยความรู้สึกตื้นตันใจ 

“หลายคนเป็นเยาวชน เป็นนักศึกษา เป็นวัยที่เขากำลังจะมีความฝันและความหวังในชีวิต ภาพของเรากลายเป็นอีกสิ่งที่ไปจุดประกายความหวังให้กับเขาว่ามันเป็นไปได้” 

เรื่องราวของอันและบิ๊วคล้ายจะเป็นเรื่องราวชีวิตคู่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังบวก กำลังใจ และความหวัง แต่ในขณะเดียวกันทั้งคู่ก็ยังคงต้องเผชิญกับอุปสรรคชีวิตคู่ที่มาในรูปแบบของข้อจำกัดทางด้านกฎหมายไม่ต่างจากคู่รัก LGBTQ+ คู่อื่น ๆ รวมถึงความฝันที่อยากมีลูกก็ยังคงต้องรอวันที่ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมประกาศใช้ 

เรื่องราวเหล่านี้ยังเป็นเพียงเสียงส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพราะยังมีเรื่องราวและปัญหามากมายที่ยังคงดำเนินต่อไปในขณะที่ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมถูกแช่ค้างไว้ รอวันที่จะได้กลับเข้าไปพิจารณาในสภาฯ

“เราลดหย่อนภาษีด้วยกันไม่ได้ เราทำธุรกรรมทางการเงินร่วมกันไม่ได้ ซื้อบ้านซื้อรถด้วยกันก็มีข้อจำกัด ช่วงที่แต่งงานกันใหม่ ๆ ก็รู้สึกมีความหวังมาก เราได้พลังจากเพื่อน ๆ เยอะ ได้กำลังใจ ก่อนหน้านี้บิ๊วเขาไม่เคยอยากมีลูกเลย แต่หลังจากที่เราแต่งงานกัน พอได้มาคุยกันเรื่องมีลูก เราเองก็เป็นคนชอบเด็กมาก อยากเลี้ยงเด็ก และเราก็รู้สึกว่าเราจะเลี้ยงลูกได้ดีแน่ ๆ บิ๊วก็เลยคิดเรื่องนี้อีกครั้ง เริ่มอยากมีลูกขึ้นมา ลองปรึกษาเพื่อนและผู้เชี่ยวชาญ หาคนบริจาคสเปิร์มได้ เรียกได้ว่ากระบวนการทุกอย่างในตอนนั้นคือพร้อมมาก แต่ปรากฏว่าการเข้าถึงอนามัยเจริญพันธุ์และเทคโนโลยีที่ทำให้มีบุตรนั้นจะต้องมีทะเบียนสมรส ต้องพิสูจน์ว่าคุณเป็นสามีภรรยากัน พวกเราก็เลยไม่มีสิทธิ์ที่จะมีลูก แต่ทุกวันนี้เราก็ยังมีหวังที่จะมีลูกนะ บิ๊วเองก็ยังอายุน้อย เรายังลุ้นกันอยู่ว่าหลังจากนี้ในวันที่กฎหมายพร้อมแล้ว โอกาสนั้นมันจะมาถึง” 

เพราะเป็นนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทางด้านความหลากหลายทางเพศมาเป็นเวลาหลายปี ทำให้ได้พบปะพูดคุยกับคนในชุมชน LGBTQ+ มากมาย อันจึงพบว่ายังมีอีกหลายปัญหาและหลายเรื่องราวที่คู่รักหลากหลายทางเพศต้องเผชิญ อันเป็นผลมาจากการไม่มีกฎหมายมารองรับหรือให้สิทธิที่เท่าเทียมและเป็นธรรมแก่คู่สมรส LGBTQ+

“บางคนผ่อนบ้านมาด้วยกัน พอเจ้าของชื่อที่ใช้ผ่อนบ้านเสียชีวิตไป กลับกลายเป็นว่าสิทธิ์ในการครอบครองก็ตกไปเป็นของญาติ ของครอบครัวเขา ทั้ง ๆ ที่บางครอบครัวตัดขาดกันเพราะไม่ยอมรับที่ลูกเป็น LGBTQ+ คนรักที่มีชีวิตอยู่ก็ต้องกลายเป็นแค่ผู้อาศัยในบ้านของตัวเอง ไม่มีสิทธิ์อะไรเลย” 

“สังคมไทยยังคงมีการคิดแบบอนุรักษนิยมที่กังวลเรื่องการเปลี่ยนแปลงมาก แล้วความกังวลเหล่านี้มักจะอยู่ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการศึกษาและสถาบันครอบครัวซึ่งเป็นพื้นฐานของสังคม” 

“อนุรักษนิยมมักมาพร้อมกับอำนาจนิยม นั่นหมายความว่าเขาจะควบคุมได้ และอันที่จริงแล้วมันไม่ใช่การควบคุมร่างกาย แต่เป็นการควบคุมความคิดและศีลธรรม คุณอย่าคิดนอกกรอบ คุณอย่าเป็นตัวของตัวเองมากเกินกว่าที่ฉันอนุญาต ตรงนี้ต่างหากที่อยู่เบื้องหลัง เพราะถ้าคิดเองได้ เราก็จะคิดเรื่องอื่น ๆ ได้ ถ้าวิธีคิดในสถาบันเหล่านี้เปลี่ยนแปลง สังคมก็จะเปลี่ยนแปลงเยอะมาก”

“ตอนนี้ที่ยังมีคนส่วนหนึ่งไม่ยอมรับ เพราะโฉมหน้าของการเป็น ‘ครอบครัว’ มันจะเปลี่ยน กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสมรสและสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศเกิดขึ้นมานานมากแล้ว มันเป็นกฎหมายที่คนพยายามไปปรับไปแก้แต่ก็ยังไม่สำเร็จ เพราะสถาบันครอบครัวเป็นสิ่งที่สังคมสงวนเอาไว้มาก ๆ ว่าจะต้องมีพ่อแม่ลูก มันล้อไปกับเรื่องของสถาบันทางการเมืองอื่น ๆ การปกครองในเรื่องอื่น ๆ ที่อยู่บนฐานของศีลธรรมอันดีงาม ดังนั้นก็ไม่น่าแปลกใจเลยที่มันช่างยากเย็นเสียเหลือเกินกว่าจะได้มา เพราะสิ่งนี้ยังคงยึดติดอยู่กับความเป็นชายและหญิง ซึ่งภายใต้ความเป็นชายและหญิงเราก็จะเห็นอำนาจนิยมบางอย่าง เช่น ผู้ชายต้องเป็นผู้นำครอบครัว ดังนั้นการต่อสู้ในเรื่องสมรสเท่าเทียมจึงเป็นเรื่องที่ลึกกว่าแค่คำว่า LGBTQ+”

แม้จะมีเรื่องราวและอุปสรรคทางกฎหมายหลายอย่างที่เกิดขึ้นระหว่างเส้นทางชีวิตคู่ แต่อันยังคงมีความฝันและความหวังในสมรสเท่าเทียม และเธอเชื่อมั่นว่า ‘เสียง’ จากคนที่อยู่นอกสภาฯ จะเป็นแรงผลักดันให้กฎหมายนี้ได้รับการประกาศใช้ และไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว ทุกคนที่ร่วมต่อสู้กันมาจะได้พบกับแสงสว่างที่รออยู่ปลายทางแน่นอน 

“พี่มีความหวังว่าร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมจะผ่านในรัฐบาลนี้ และคิดว่าคงจะเจอด่านหนัก ๆ อีกหลายด่าน แต่ว่ามันมีความเป็นไปได้มากกว่าเมื่อหลายปีก่อน และสิ่งที่พี่ไม่กังวลเลยคือเรื่องของสังคมที่มันเปลี่ยนแปลงไป เสียงจากข้างนอกจะช่วยส่งเสียงเข้าไปว่าสังคมพร้อมแล้วที่จะใช้กฎหมายนี้ มีคนเรียกร้อง มีคนต้องการสิ่งนี้อยู่ตลอด มีคนที่เขามีความเข้าใจเพิ่มขึ้นอีกมากมาย”

“ต่อให้มีอุปสรรคมาขัดขวางหรือมีอะไรก็ตามที่เราไม่ได้คาดคิดว่ามันจะเกิดขึ้นแล้วทำให้กฎหมายโดนปัดตก พี่คิดว่าพี่ไม่กลัว เพราะสังคมมันเปลี่ยนไปแล้ว และการผลักดันสมรสเท่าเทียมจะยังคงมีต่อไปแน่นอน กล้าประกาศเลยว่าต่อให้มีการปัดร่างกฎหมายนี้ตกไป สักวันมันก็จะคลอดออกมาอยู่ดี คุณไม่มีทางรั้งไว้ได้ สังคมเดินหน้าแล้ว กระบวนการทางกฎหมายก็ต้องเดินหน้าต่อไป” อันบอกกับเราด้วยน้ำเสียงที่เปี่ยมไปด้วยความหวังและความมั่นใจ

อีกหนึ่งเรื่องราวที่เราอยากถ่ายทอด คือเรื่องราวของ ‘ดาว-เพิ่มทรัพย์ แซ่อึ๊ง’ และ ‘เพชร–พวงเพชร เหงคำ’ คู่รักที่ต้องจับมือกันข้ามผ่านวิกฤตอันสาหัสบนเส้นทางชีวิตคู่ เมื่อในวันที่เพชรประสบอุบัติเหตุ ชีวิตและโอกาสเป็นตายของเธอนั้นขึ้นอยู่กับการจรดปลายปากกา แต่ดาวที่รออยู่ข้างหน้าห้องฉุกเฉินกลับไม่มีสิทธิ์ในการเซ็นยินยอมเพื่อรับการผ่าตัด ด้วยเหตุผลทางกฎหมายมาตรา 1448 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบัญญัติไว้ว่า 

การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อ ‘ชาย’ และ ‘หญิง’ มีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้

แม้จะใช้ชีวิตคู่ร่วมกันมานานกว่า 7 ปี แต่วินาทีที่อยู่หน้าห้องผ่าตัด ดาวกลับกลายเป็นเพียง ‘พยาน’ ในการรักษา เนื่องจากไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นคู่สมรสตามหลักกฎหมาย

“ตอนนั้นอาการเป็นตายเท่ากัน เพชรหมดสติไปเลยไม่รู้ตัว จนไปฟื้นที่โรงพยาบาลในเมืองเชียงใหม่ แม่เพชรแกก็ขาไม่ค่อยดี สุขภาพก็ไม่ค่อยดี ก็ต้องหอบหิ้วกันไปเพราะพี่เซ็นไม่ได้ ทางโรงพยาบาลเขาให้เราเซ็นรับทราบแค่เป็นพยาน แล้วก็ให้เอาแม่มาเซ็น ในตอนนั้นเพชรกะโหลกร้าว ไหปลาร้าหัก ตอนนั้นเรารู้สึกเหมือนไม่มีทางออก แล้วก็เริ่มรู้สึกว่าสิทธิในการดูแลคู่รักของเรามันไม่เหมือนกับคู่รักชายหญิงทั่วไป ทำไมเรากลับเซ็นไม่ได้ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นเราอยู่ด้วยกันมา 7 – 8 ปีแล้ว” ดาวเล่าเหตุการณ์ในวันที่เพชรประสบอุบัติเหตุให้เราฟัง

“เราคบกันมาจนถึงตอนนี้ก็เป็นเวลา 15 ปีแล้ว ในช่วงแรกที่เพิ่งย้ายมาอยู่ด้วยกันเราก็วางแผนเรื่องการซื้อบ้าน ซื้อรถ แต่ในตอนนั้นเรากู้ด้วยกันไม่ได้ ในตอนนั้นก็ไม่อยากคิดอะไรมากเพราะว่าเรารู้สึกว่าเรายังพอรับได้กับวิธีที่มันเป็นอยู่ แต่เหตุการณ์อุบัติเหตุของเพชรครั้งนั้นเปลี่ยนความคิดพี่ไปเลย” 

ก่อนที่จะได้รู้จักกับเพชร ดาวเคยแต่งงานมาแล้วหนึ่งครั้ง และตัวเธอในตอนนั้นมองว่าทะเบียนสมรสไม่ใช่สิ่งสำคัญที่จะทำให้ชีวิตคู่ดำเนินต่อไปได้ แต่แล้วความคิดนี้ก็เปลี่ยนไป เมื่อคู่สมรสของเธอในตอนนี้มีเพศเดียวกัน 

“เมื่อเร็ว ๆ นี้ ประมาณ 2 ปีที่แล้ว พี่เพชรเพิ่งผ่าตัดเดอร์มอยด์ซีสต์ โดยปกติแล้วเรามีสิทธิ์เซ็นรับการผ่าตัดหากเรายังมีสติสัมปชัญญะอยู่ แต่ตอนที่เพชรเป็นเดอร์มอยด์ซีสต์กลับเซ็นไม่ได้ ทางโรงพยาบาลขอให้ญาติมาเซ็นรับรองแทน คุณหมอแจ้งว่าต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัดด่วนภายใน 1 อาทิตย์ ซึ่งพี่ก็ยังคงเซ็นให้ไม่ได้” ดาวเล่าเหตุการณ์การผ่าตัดครั้งล่าสุดของเพชรที่คลับคล้ายกับเหตุการณ์อุบัติเหตุครั้งก่อนหน้า 

“พี่เคยทำงานในมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ เราเคยปรึกษาว่ากรณีนี้มีทางออกอย่างไรบ้าง รู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมสำหรับคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศ กฎหมายมันเลือกปฏิบัติ เรารู้สึกเหมือนเราเป็นแค่พลเมืองชั้นสอง ก่อนที่จะมีเรื่องร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม เราก็เคยฟ้องเพื่อที่จะแก้กฎหมายมาตรา 1448 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้เปลี่ยนระหว่าง ‘ชาย’ และ ‘หญิง’ เป็นบุคคลกับบุคคล”

ดาวและเพชรจับมือกันต่อสู้ผ่านกระบวนการทางกฎหมาย ด้วยความหวังว่าจะทลายกำแพงระหว่างเพศ ซึ่งกีดกันการเข้าถึงสิทธิที่ไม่ว่าเพศใดก็ตามควรจะได้รับ แต่ท้ายที่สุดคำวินิจฉัยของศาลกลับบอกว่าสิ่งที่พวกเธอเป็นอยู่นั้นไม่ถูกต้องตาม ‘ขนบธรรมเนียมประเพณี’ 

“พี่ดาวมีรุ่นน้องที่รู้จักคือน้อง มิกกี้-ดลวัฒน์ ชัยชมพู สามีเขาเสียในอ้อมกอดเมื่อคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2563 พี่ได้รู้จักกับทั้งสองคนเพราะเขาเคยส่งข้อความมาหาพี่ในเฟซบุ๊ก เขามาอวยพรว่า ‘ขอให้พี่สู้ให้ผ่านนะ เป็นกำลังใจให้พี่เสมอ’ ซึ่งพี่ก็ตอบกลับไปว่าเราสู้เต็มที่อยู่แล้ว หลังจากนั้นไม่นานสามีของน้องมิกกี้ก็ป่วยเป็นมะเร็งตับ ตัวน้องมิกกี้เองเป็นทรานส์ รับราชการครู แต่กลับใช้สิทธิ์ข้าราชการในการรับยาโดยไม่มีค่าใช้จ่ายให้กับสามีไม่ได้ ค่ารักษาพยาบาลที่เป็นยานอกระบบแพงมาก ตกวันละ 4,000 บาท แต่เขาเบิกไม่ได้ และสิทธิ์ 30 บาทก็ไม่ครอบคลุม แต่ถ้าเป็นชายหญิงแต่งงานกัน ถ้ามีใครคนหนึ่งเจ็บป่วยหรือไม่สบาย สิทธิ์ของคนใดคนหนึ่งจะช่วยบรรเทาค่ายา ช่วยรักษาให้อาการดีขึ้น ซึ่งเหตุการณ์นี้เป็นเรื่องที่กระทบกระเทือนจิตใจพี่มาก คือทั้งสองคนมีพิธีแต่งงานแต่มันทำอะไรไม่ได้เพราะกฎหมายไม่รองรับ”

“พี่ดาวเข้าใจนะคะว่าการเปลี่ยนแปลงบางอย่างก็ต้องอาศัยความเข้าใจ ถ้าเขาไม่มีบุคคลในครอบครัวเป็น LGBTQ+ เขาก็อาจจะเข้าใจประเด็นนี้ได้ยาก เราต้องอาศัยการให้ความรู้และความเข้าใจกันในสังคม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านการศึกษาเพื่อที่จะช่วยให้ทุกคนเกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น” 

ดาวมองว่าคำตัดสินของศาลอาจเป็นกรอบของสังคมในเวลานั้น และเธอคิดว่าอำนาจของผู้พิพากษาแต่ละคนยังคงอยู่ในโครงสร้างเดิม ๆ ซึ่งไม่เปิดรับเรื่องความหลากหลายทางเพศ และดาวยังบอกกับเราว่าคำตัดสินในวันนั้นกลับทำให้เธอมี ‘กำลังใจ’ เพราะเหตุการณ์นี้ทำให้สังคมเริ่มรับรู้แล้วว่าสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศควรจะเท่าเทียมกับชายและหญิง การที่เธอและเพชรออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นนี้ ทำให้สังคมเริ่มมีการถกเถียง มีการวิเคราะห์พูดคุยกัน ซึ่งหากเป็นสมัยก่อนคงไม่มีหน่วยงาน องค์กร หรือภาคีต่าง ๆ คอยให้ความช่วยเหลือและคอยผลักดันให้สำเร็จแบบที่สังคมในตอนนี้กำลังพยายามร่วมกันผลักดันอยู่

“ใครที่กำลังสู้อยู่ พี่ดาวอยากเป็นกำลังใจให้สู้ต่อไป มันมองเห็นความจริงแล้ว โลกเริ่มเปิดกว้าง ในเวลานี้มันมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการยอมรับความหลากหลายในสังคมและเรื่องอื่น ๆ เราดีใจมากและหวังว่ากฎหมายมันจะเกิดขึ้นได้ ขึ้นชื่อว่าเป็นคนก็ควรจะได้รับความเท่าเทียมในสังคมเช่นเดียวกัน”

เมื่อยังคงมีหนทางในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมอยู่ ก็เปรียบเสมือนมีแสงสว่างบนเส้นทางการใช้ชีวิตคู่ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ พวกเขากำลังรอที่จะได้เฉลิมฉลอง ณ ปลายทางแห่งความหวัง ภาพความฝันและภาพอนาคตที่เคยร่างไว้กำลังขยับเข้าใกล้ความเป็นจริง

“หลายคนมองว่าทะเบียนสมรสเป็นแค่กระดาษใบเดียว แต่สำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมันสำคัญมากกว่านั้น เราไม่ได้มองเห็นแค่แผ่นกระดาษ แต่เรามองเห็นสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมที่อยู่บนกระดาษแผ่นนั้น”

แม้ว่า ณ เวลานี้ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมจะตกอยู่ในสถานะก้ำกึ่งว่าจะถูกปัดตกหรือจะได้ไปต่อ แต่ทั้งนี้ยังคงมีหนทางที่จะผลักดันให้สมรสเท่าเทียมเกิดขึ้นจริงได้ โดยมีอยู่ 2 วิธีการ

วิธีการที่ 1 : นำสมรสเท่าเทียมกลับมาพิจารณาต่อจากเดิม

  • คณะรัฐมนตรีชุดถัดไปขอให้สภาฯ เอาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่ตกไปแล้วกลับมาพิจารณาต่อ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 147 ซึ่งระบุไว้ในวรรคท้าย ซึ่งต้องให้สภาฯ อนุมัติภายในระยะเวลา 60 วันหลังจากการประชุมรัฐสภาครั้งแรกหลังเลือกตั้ง 
  • ข้อดีของวิธีนี้คือสามารถนำสมรสเท่าเทียมมาพิจารณาในวาระที่ 2 ต่อจากเดิมได้โดยไม่ต้องไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ 

วิธีการที่ 2 : เสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมใหม่

  • คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และภาคประชาชน สามารถเสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้ 
  • ภาคประชาชนสามารถเข้าชื่อได้โดยใช้รายชื่อ จำนวน 10,000 รายชื่อ 
  • ขณะนี้ภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียมได้ทำการเข้าชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ฉบับภาคประชาชน ซึ่งได้รายชื่อมามากกว่า 300,000 รายชื่อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
  • หากเลือกวิธีนี้ กระบวนการพิจารณาทั้งหมดจะเริ่มนับหนึ่งใหม่ แต่ถ้าหากต้องการให้ร่างกฎหมายของภาคประชาชนเข้าสภาฯ ก็อาจจะต้องใช้วิธีนี้ 
  • ข้อดีของวิธีนี้คือ ถ้าร่างกฎหมายของภาคประชาชนได้เข้าไปในสภาฯ จะมีโควตาในชั้นกรรมาธิการให้แก่ตัวแทนจากประชาชนที่เป็นผู้เสนอกฎหมายนี้ ให้สามารถเข้าไปเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการได้ และประชาชนยังสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดรายละเอียดในชั้นกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรได้อีกด้วย

และนี่คือภาพความฝัน ความหวัง และพลังของเรื่องราวที่จะช่วยส่งต่อกำลังใจให้แก่ผู้ที่ร่วมต่อสู้บนเส้นทางสมรสเท่าเทียมในประเทศไทย แม้เรื่องราวบนเส้นทางที่ผ่านมาจะมีอุปสรรคมากมาย แต่สุดท้ายพวกเขายังคงมีความเชื่อมั่นอันแรงกล้าว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้เรียกร้องและลงมือทำตลอดมาจะไม่มีทางสูญเปล่า

ขอบคุณข้อมูลจาก iLaw


Writer

Avatar photo

ณัฐนรี บัวขม

มีชีวิตอยู่เพื่อดูคลิปตลก คีบตุ๊กตา และเดินหาร้านอร่อยในย่านบรรทัดทอง

Illustrator

Avatar photo

ธีรภัทร์ เศาธยะนันท์

ชอบกินลาเต้เย็น

Related Posts