การศึกษาที่ใช้ได้จริงคือปลายทางที่มุ่งหวัง

  • การเรียนรู้ที่มีความหมายไม่มีสูตรสำเร็จ หากเป็นการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคน
  • ลักษณะสำคัญของการเรียนรู้ที่มีความหมายคือผู้เรียนมีส่วนร่วมในการคิดวิเคราะห์ สร้างองค์ความรู้และหาข้อสรุปด้วยตัวเอง
  • ความท้าทายของการจัดการเรียนรู้ที่มีความหมายคือทรัพยากรและเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด ในบางกรณีอาจมีข้อจำกัดด้านการวัดผลการเรียนรู้ที่ไม่อาจประเมินเด็กทุกคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

มีผู้เสนอนิยามของ “การศึกษาที่มีความหมาย” ไว้มากมาย อาทิ

“ผู้เรียนย่อมต้องเห็นว่าสิ่งที่ได้เรียนมีความหมาย เชื่อมโยงกับชีวิตและความสนใจส่วนตัว อันจะสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ตามธรรมชาติ” (McCombs & Miller, 2007)

“การเรียนรู้ที่มีความหมายจะเกิดขึ้นต่อเมื่อผู้เรียนกระตือรือร้น มุ่งมั่นพัฒนาตัวเอง ตั้งใจ ให้ความร่วมมือ และได้ปฏิบัติจริง” (Jonassen, Howland, Moore, and Marra, 2004)

นิยามของการศึกษาที่มีความหมายที่น่าสนใจนิยามหนึ่งเสนอโดย Jonassen, Peck, and Wilson (1999) โดยแบ่งคุณลักษณะพึงประสงค์ออกเป็น 5 ประการ ได้แก่

ผู้เรียนมีส่วนร่วมเสมอ

ผู้เรียนไม่ควรเป็นฝ่ายรับความรู้เพียงอย่างเดียว แต่ควรมีโอกาสใช้กลยุทธ์ในการเรียนรู้ เช่น การทดลอง การตรวจสอบสมมติฐาน และการตั้งคำถาม

สร้างความเชื่อมโยงกับความรู้ที่มีอยู่เดิม

 ผู้เรียนควรต่อยอดจากความรู้เดิม ผู้สอนสามารถสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ได้ด้วยการระบุว่าผู้เรียนรู้อะไรอยู่แล้ว และหาข้อมูลใหม่ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลนั้น

การผนวกเข้ากับความรู้เดิม

การเรียนรู้เกิดขึ้นเมื่อมีการเปรียบเทียบกับความรู้เดิม เมื่อตระหนักถึงความเชื่อมโยง ผู้เรียนอาจผนวกรวมความรู้ใหม่เข้ากับความรู้เดิม หรือทำความเข้าใจและปรับฐานความรู้เดิมเพื่อให้พร้อมรับข้อมูลใหม่ ๆ นั่นหมายความว่าผู้เรียนต้องแก้ไขความเข้าใจผิดที่เคยมีเพื่อให้ข้อมูลเก่าและใหม่สอดคล้องกัน ในทางปฏิบัติ ผู้สอนอาจตั้งคำถามว่า “จากความรู้ที่มีอยู่ ข้อมูลนี้สมเหตุสมผลหรือเปล่า” หรือ “ข้อมูลนี้เปลี่ยนแปลงความคิดที่มีต่อประเด็นเดิมหรือไม่ อย่างไร” 

การขยายความรู้และสะท้อนคิด

การขยายความรู้ (elaboration) หมายถึงการคิดต่อไปว่าความรู้ที่ได้นี้สามารถนำไปใช้ในบริบทต่าง ๆ ได้อย่างไร เช่น ผู้เรียนอาจประยุกต์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับเรื่องแรงโน้มถ่วงจากการที่ผลแอปเปิลร่วงจากต้น ด้วยการวัดระยะทางที่หนังสติ๊กยิงหินออกไปได้ก่อนที่หินจะตกพื้น

ความสำคัญต่อตัวเอง

ความรู้ที่ได้รับควรเป็นสิ่งที่ผู้เรียนเข้าใจได้ เช่น แทนที่จะเรียนเรื่องดอกเบี้ยทบต้นในบริบทของคณิตศาสตร์บริสุทธิ์ ผู้เรียนสามารถลองคำนวณว่าหากเก็บเงินสัปดาห์ละ 100 บาทจนถึงอายุ 65 ปี พวกเขาจะเก็บเงินได้เท่าใด ขั้นตอนนี้จะช่วยให้ผู้เรียนรู้ว่าความรู้นี้มีประโยชน์ต่อชีวิตของตนเองอย่างไร 

“เรียนรู้อย่างมีความหมาย” ให้อะไรแก่ผู้เรียน 

หากการเรียนรู้เป็นของผู้เรียนอย่างแท้จริง ผู้เรียนจะได้รับประโยชน์หลายประการ 

ความรู้ติดตัวในระยะยาว

นักวิชาการส่วนมากเชื่อว่าการศึกษาที่มีความหมายจะทำให้ผู้เรียนจดจำองค์ความรู้ได้ยาวนานมากกว่าการท่องจำ เพราะผู้เรียนมีประสบการณ์และเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียน หากเรามีประสบการณ์และความทรงจำ และความรู้นั้นเชื่อมโยงเสมือนกับโครงข่ายความรู้ที่เชื่อมกับความรู้เดิมของเรา ก็ไม่ยากนักที่เราจะนึกถึงและดึงข้อมูลเก่ามาใช้ได้ดีในอนาคต

ถ่ายทอดองค์ความรู้สู่สถานการณ์ใหม่

ข้อเสียอย่างหนึ่งของการเรียนแบบท่องจำคือผู้เรียนมักจะลืมและไม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับบริบทอื่นๆ นอกเหนือจากบทเรียน เช่น ผู้เรียนที่เรียนภาษาอาจท่องจำศัพท์ได้ แต่เมื่อต้องใช้ในสถานการณ์จริงอย่างการซื้อของมักจะนึกศัพท์ที่ต้องการใช้ไม่ออก ในทางตรงข้าม การเรียนรู้ที่มีความหมายจะช่วยให้ผู้เรียนเรียนศัพท์ในบริบทที่เป็นประโยชน์ (ในบริบทนี้อาจเรียนผ่านการสวมบทบาทสมมติ) เราจะนึกศัพท์ได้ง่ายขึ้นหากมีสถานการณ์จำเพาะเป็นบริบท

มีแรงบันดาลใจและความสนใจในการเรียนรู้

คุณลักษณะสำคัญของการเรียนรู้ที่มีความหมายคือต้องมีความหมายต่อชีวิตของผู้เรียน ซึ่งจะส่งเสริมแรงจูงใจภายใน เมื่อผู้เรียนเห็นว่าบทเรียนเกี่ยวข้องกับสิ่งที่สนใจนอกบริบทของการเรียน พวกเขาจะมีแรงจูงใจภายในตนที่จะเรียนรู้ (McCombs & Miller, 2007) ในทางกลับกัน การเรียนแบบท่องจำจะอาศัยการให้รางวัลหรือลงโทษ พูดอีกอย่างคือแรงจูงใจภายนอก

ทักษะการคิดวิเคราะห์

ในสิ่งแวดล้อมที่ได้เรียนรู้อย่างมีความหมาย ผู้เรียนจะได้เปรียบเทียบความรู้ที่มีอยู่กับความรู้ใหม่ ในกระบวนการนี้ พวกเขามักสังเกตเห็นความไม่ลงรอยระหว่างข้อมูลเก่าและใหม่ที่ต้องจัดการเพื่อให้เกิดสมดุลทางการเรียนรู้ กระบวนการนี้เองจะเป็นโอกาสในการฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์

กลยุทธ์การเรียนรู้ที่เสริมสร้างการศึกษาที่มีความหมาย

การเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม

สนับสนุนให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการสร้างองค์ความรู้อย่างกระตือรือร้น แทนที่จะเฉลยคำตอบ ให้เขาทำกิจกรรมที่ต้องหาข้อสรุปด้วยตัวเอง อาจเป็นการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning – PBL) ที่ให้ผู้เรียนแก้ปัญหาแทนที่จะบอกแนวทางแก้ไข

การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-Based Learning)

ในการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน ผู้เรียนจะได้รับมอบหมายให้สร้างบางอย่าง อาจเป็นการประยุกต์ใช้โจทย์คณิตศาสตร์กับการรังสรรค์วัตถุสักชิ้น หรือปรับใช้ความรู้ทางวรรณกรรมกับการเขียนบทละคร ไม่ก็ใช้ความรู้ด้านดนตรีเขียนเพลง

ภาพจาก https://www.pexels.com/photo/attentive-student-pointing-on-a-map-5428264/ 

การเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry-based learning)

ให้โจทย์ที่ต้องอาศัยการค้นคว้าหาข้อมูลแก่ผู้เรียน นี่จะเป็นการฝึกทักษะการสืบค้นข้อมูลและทดสอบสมมติฐานจนกว่าจะพบคำตอบ ในกระบวนการนี้ ผู้เรียนไม่เพียงตอบคำถามแต่ต้องเข้าใจเหตุผลที่คำตอบที่ค้นพบนั้นถูกต้อง ความเข้าใจนี้จะช่วยให้จดจำและดึงข้อมูลนี้มาใช้ได้ในระยะยาว

เชื่อมโยงกับองค์ความรู้เดิม

เริ่มต้นการเรียนรู้ด้วยสิ่งที่ผู้เรียนรู้อยู่แล้ว เพื่อนำเข้าสู่ประเด็นที่เขาเข้าใจและสามารถเชื่อมโยงกับตัวเองได้ คุณสามารถย้อนกลับไปกล่าวถึงความรู้เดิมและเปรียบเทียบกับความรู้ใหม่ได้เรื่อย ๆ 

แทรกบทเรียนที่ผู้เรียนสนใจและเชื่อมโยงกับตนเองได้

หากบทเรียนสำคัญต่อชีวิตของผู้เรียน พวกเขาก็จะมีแรงบันดาลใจมากขึ้น หาแนวทางสร้างสรรค์ในการนำเสนอองค์ความรู้ให้ผู้เรียนรู้ประโยชน์ของการเรียนรู้เรื่องดังกล่าว

เสริมสร้างการเรียนแบบมีส่วนร่วม

ให้นักเรียนรวมตัวกันถกประเด็นต่าง ๆ และเปรียบเทียบสมุดจดบันทึก การคุยกันจะทำให้ผู้เรียนเชื่อมโยงความรู้และมองแนวคิดหนึ่งจากหลายมุมมอง กระบวนการนี้ดีกว่าให้นักเรียนต่างคนต่างเรียนและท่องจำด้วยการทำซ้ำไปเรื่อย ๆ

ความท้าทายและแนวทางแก้ไขปัญหา 

ภาพจาก https://www.pexels.com/photo/a-student-standing-in-front-of-a-class-5428012/ 

ขาดแคลนแหล่งทรัพยากรและเวลา

การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้อย่างมีความหมายต้องใช้เวลาและทรัพยากรพอสมควรในการสร้างฉากจำลองหรือโครงการต่าง ๆ อีกทั้งกิจกรรมต่าง ๆ ใช้เวลาค่อนข้างมากกว่าที่ผู้เรียนจะ “สร้าง” องค์ความรู้ด้วยตนเองได้ ในยุคที่หลักสูตรยัดสารพัดวิชาจนตารางเรียนแน่นขนัด แนวทางนี้ถือเป็นงานหินทีเดียว 

การวัดประเมินผล

การผ่านการสอบวัดมาตรฐานมักใช้แค่การท่องจำข้อเท็จจริงหรือตัวเลข ตัวข้อสอบเองนำไปสู่การท่องจำ แต่เรารู้ว่าการศึกษาที่มีความหมายจะมอบองค์ความรู้ที่ใช้ได้จริงและมีประโยชน์ในระยะยาว ดังนั้น การทดสอบอาจต้องมีการปรับเพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจและความต้องการการเรียนรู้ที่มีความหมาย

การเรียนรู้อย่างมีความหมายเป็นศาสตร์การเรียนรู้ที่ดี นำไปสู่การคิดขั้นสูง เช่น การคิดวิเคราะห์และการคิดเชิงวิพากษ์ หากบทเรียนมีความหมายต่อผู้เรียน พวกเขาจะมีทักษะติดตัวไว้ใช้ในอนาคตและมีพัฒนาการทางการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องยาวนาน

อ้างอิง

https://fkwp.mappamedia.co/starfish-meaningful-education/

https://helpfulprofessor.com/meaningful-learning/

Jonassen, D. H., & Strobel, J. (2006). Modeling for meaningful learning. Engaged learning with emerging technologies, 1-27.
Vallori, A. B. (2014). Meaningful learning in practice. Journal of education and human development, 3(4), 199-209. accessed June, 2023, https://antoniballester.com/wp-content/uploads/2017/03/Pdf-1.pdf


Writer

Avatar photo

ศิริกมล ตาน้อย

อยากเกิดใหม่เป็นแมงกะพรุน

Illustrator

Avatar photo

กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts