‘โรคติดต่อ’ ในเด็กมีหลายโรคที่ผู้ใหญ่จำเป็นต้องเฝ้าระวัง หนึ่งในโรคนั้นคือ ‘โรคหัด’ ซึ่งเป็นไข้ออกผื่นที่สามารถพบได้ตลอดทั้งปี เกิดจากเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า Measles ซึ่งเป็นไวรัส RNA โดยเชื้อไวรัสจะกระจายอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย และติดต่อเข้าสู่ร่างกายโดยทางการหายใจ บางครั้งเชื้อก็อยู่ในอากาศ จึงอาจหายใจเอาละอองที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสเข้าไปทำให้เป็นโรคได้ ภาวะแทรกซ้อนในโรคหัดนั้นอาจพบได้น้อย แต่ถ้ามีโรคแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น ปอดอักเสบ หากพบในเด็กที่มีภูมิต้านทานต่ำ อาจรุนแรงจนทำให้เสียชีวิตได้ อีกทั้งเป็นโรคที่สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียน และชุมชนที่มีคนอยู่หนาแน่น
วันนี้เราจึงจะมาชวนอ่านนิทานที่ว่าด้วยเรื่องของ ‘โรคติดต่อ’ อย่างนิทานเรื่อง ‘อานีสเป็นหัด’ หนังสือนิทานที่มีจุดเริ่มต้นสร้างสรรค์จากโครงการของนักศึกษาแพทย์ปีที่ 4 (พ.ศ. 2563) รายวิชาส่งเสริมสุขภาพ ร่วมกับหลายๆ องค์กรในการพัฒนาแบบร่าง ทั้งจากสถาบันฮาลาล วิทยาลัยอิสลามศึกษา และกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีน หลังจากนั้น ผศ.นพ.เทอดพงศ์ ทองศรีราช ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาได้นำมาต่อยอด โดยร่วมกับแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน และเครือข่ายพลังอ่านชายแดนใต้ ผนึกกำลังกันจนเกิดเป็น ‘อานีสเป็นหัด’ โดยผลงานภาพประกอบจาก Sawanee Draw (สวนีย์)
‘อานีสเป็นหัด’ บอกเล่าเรื่องราวครอบครัวของอานีส ซึ่งเป็นครอบครัวชาวมุสลิม วันหนึ่งอานีสไม่สบาย ป๊ะกับมะจึงรีบพาอานีสไปหาหมอ และพบว่าอานีสติดโรคหัดจากเพื่อนที่โรงเรียน นิทานเรื่องนี้ถ่ายทอดให้เห็นตั้งแต่การติดต่อกันของโรคหัด อาการ การรักษา ไปจนถึงการป้องกันด้วยการฉีดวัคซีน การเชิญชวนให้เพื่อนบ้านพาเด็กๆ ไปรับวัคซีนป้องกันโรคหัด
การดำเนินเรื่องเริ่มต้นเรื่องราวที่ค่อยๆ พาคนอ่านสังเกตความแปลกต่างที่เกิดขึ้นของคนที่ติดโรค อาการที่ค่อยๆ ชัดเจน เช่น มีการจาม มีผื่นแดง ชวนให้เกิดคำถาม และนำไปสู่พื้นที่ของการรักษา เรื่องราวใช้ตัวละครด้านสาธารณสุขอย่างคุณหมอในการแนะนำการรักษาในทางการแพทย์ และเป็นผู้แนะนำให้ฉีดวัคซีน และในนิทานคุณหมอยังได้บอกป๊ะกับมะของอานีสว่า “นบีกล่าวไว้ เมื่อใดคับขัน ถือว่าสิ่งนั้น ฮาลาล ฮาลาล” ซึ่งสะท้อนให้เราเห็นการสื่อสารอย่างเคารพต่อความเชื่อและศาสนาของผู้คนที่สอดคล้องไปด้วยกันได้กับการรักษาโรค ซึ่งหลายครั้งเมื่อไม่เกิดการสื่อสาร หลายคนอาจคิดว่าการฉีดวัคซีนจะผิดหลักการของศาสนา แต่นิทานเรื่องนี้ก็ได้เป็นพื้นที่สื่อสารอย่างละมุนละม่อม รวมถึงนำเสนอเรื่องราวอย่างเข้าอกเข้าใจตัวละครทุกคนได้เป็นอย่างดี
ความน่าสนใจของนิทานเล่มนี้นอกจากเนื้อหาที่เต็มไปด้วยความสนุกสนานในระหว่างหน้า และภาษาเรียบง่ายในการสื่อสารที่ชวนให้อ่านสนุก ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่แล้ว ยังเป็นหนังสือนิทานที่ได้ตอบคำถามต่อปัญหาความรู้ความเข้าใจ การต่อต้านการฉีดวัคซีนนั้นมาจากความกลัวซึ่งเกิดจากการไม่รู้หรือความเชื่อที่ส่งต่อมาอย่างไม่ถูกต้อง และสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของโรคหัดและการเสียชีวิตจากหัดของเด็กในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ได้อย่างเห็นผลเชิงประจักษ์
กล่าวคือ ‘อานีสเป็นหัด’ เป็นโครงการหนังสือนิทานที่ได้เข้าไปทำงานอย่างตรงไปตรงมาในการสร้างความตระหนักเรื่องวัคซีนในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงที่มีการระบาดของหัด โดยมีการแจกหนังสือแก่ผู้คนในพื้นที่ร่วมกับการทำกิจกรรมประกอบเพลงของครูศูนย์เด็กเล็ก ทำให้เกิดเสียงกระเพื่อมของการรณรงค์เรื่องนี้อย่างจริงจังมากขึ้น ผ่านเครื่องมือที่สนุกสนานอย่าง ‘นิทานและเพลง’ นี่เอง
นอกจากนี้โครงการนี้ยังนำไปสู่งานวิจัยที่ได้รับการตอบรับตีพิมพ์ในวารสาร Vaccines Q1 IF 5.2 ภายใต้ชื่องานวิจัยที่ว่า “Anees has Measles”: Storytelling and Singing to Enhance MMR Vaccination in Child Care Centers Amid Religious Hesitancy อีกด้วย อีกทั้งนิทานเล่มเล็กๆ นี้ยังต่อยอดไปสู่งานเล่มอื่นๆ ที่หยิบยกขึ้นมาใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการรณรงค์สร้างการเปลี่ยนแปลงในประเด็นงานสร้างเสริมสุขภาพอีก เช่น ‘อานีสต้านโควิด’ นั่นเอง
‘อานีสเป็นหัด’ จึงนับว่าเป็นนิทานสร้างความเข้าใจและส่งเสริมให้ผู้ปกครองและผู้คนในจังหวัดชายแดนใต้ เล็งเห็นถึงความสำคัญในการรับวัคซีนของประชาชนอย่างจริงจังมากขึ้น อีกทั้งท้ายเล่มของนิทานยังมีการให้ข้อมูลเรื่องโรคหัดและวัคซีน รวมถึงยังมีตารางการฉีดวัคซีนในเด็กไทย เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจให้กับผู้ปกครองอย่างละเอียดอีกด้วย ทำให้เราเห็นว่าบางครั้งเครื่องมือที่ทรงพลังก็มาในรูปแบบของงานสร้างสรรค์นี่เอง ดังที่ ผศ.นพ.เทอดพงศ์ ทองศรีราช หนึ่งในกำลังสำคัญในการสร้างสรรค์โครงการนี้ได้โพสต์ถึงกรณีนี้ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวบางส่วนโดยอ้างอิงถึงคำพูดของบรรณาธิการที่กล่าวถึงงานวิจัยในโครงการนี้ว่า
“Happiness and joy are powerful tools frequently forgotten by health authorities, which usually prefer to use mandatory sad orders.”
“ความสุขและความสนุกสนานเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังซึ่งการสาธารณสุขมักไม่ค่อยคิดถึง เพราะโดยปกติจะออกเป็นคำสั่งที่เคร่งครัดจึงขาดซึ่งสุนทรียะ”
อ้างอิง :
https://www.facebook.com/ttherd/posts/pfbid06C6Waf63NSvK4xLkMzxdUwTucLrvA7TyqVB3vNh52ogkmTNCA6cTkBf8ZdTRsbNhl
https://mgronline.com/south/detail/9620000106469
https://mgronline.com/qol/detail/9670000021195
https://he02.tci-thaijo.org/index.php/JDMS/article/view/247857/168355
https://themomentum.co/measles-vaccine-and-muslims/
https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S1876034117302411