แม่ เมนูนี้ทำไง “แม่กินหัวกินก้างให้ลูกได้กินเนื้อปลา” แม่ไม่ได้เสียสละให้ลูก แต่แม่กินเพราะแม่อยากกิน

  • จากบทสนทนาน้อยคำของแม่ลูกไม่ถึง 5 นาทีเรื่องสูตรอาหารของแม่ที่กลายเป็นบทสนทนานับชั่วโมงที่สานต่อเรื่องราวและพูดคุยความรู้สึกกันอย่างไม่รู้จบ
  • เค ‘คณิน พรรคติวงษ์’ เจ้าของเพจ แม่ เมนูนี้ทำไง คือลูกชายที่ไม่สนิทกับแม่ แต่เลือกอาหารเป็นข้ออ้างเพื่อให้เขาทั้งสองคนได้คุยกัน
  • ปลาสลิดทอดและหมูผัดปลาอินทรีย์เค็มฝีมือแม่ คือ สองเมนูที่ซ่อนเรื่องราวของ “แม่” ที่ลูกชายคนนี้ไม่เคยรู้มาก่อน “หลายครั้งที่คุยกันผ่านการถามสููตรอาหารเหมือนเราได้กลับมารู้จักแม่อีกครั้งหนึ่ง”

“รสมือแม่เป็นมาตรฐาน เหมือนมิชลินสตาร์ ขนาดเราไปกินร้านอาหารที่อร่อยมาก มันยังแค่เท่ากับรสมือแม่ เพราะรสมือแม่คือรสชาติที่พอดีกับลิ้นเรา”

ความหมายรสมือแม่ของ ‘เค’ คณิน พรรคติวงษ์ เจ้าของเพจ แม่ เมนูนี้ทำไง และลูกชายของ ‘แม่’ ที่มักจะโทรศัพท์หาแม่เพื่อเป็นข้ออ้างในการคุยกัน

เพราะสมัยก่อนข้ออ้างของการคุยกับแม่ คือ บทสนทนาน้อยคำที่ว่าด้วยเรื่องเงินค่าขนม โทรศัพท์ให้แม่มารับที่โรงเรียน ทักและบอกกล่าวเมื่อต้องไปทำงานหรือไปเที่ยวกับเพื่อน แต่เมื่อเคต้องแพ็คกระเป๋าออกจากบ้านที่สมุทรสาครเข้ามาเรียนและทำงานในกรุงเทพฯ ยิ่งทำให้ข้ออ้างในการคุยกันน้อยลง

“เราคุยกันน้อยมาก เวลาโทรให้แม่ไปรับที่โรงเรียน หยอดเหรียญ 1 บาทให้ตู้โทรศัพท์ แค่ได้ยินเสียงลมหายใจแม่ก็รู้แล้วว่าจะต้องมารับ ยังไม่ทันพูดอะไรเลย ยังไม่ทันฮัลโหลเลย”

จนแม่ของเขาประสบอุบัติเหตุเมื่อปลายปีที่แล้ว ทำให้ ‘เค’ เลือกอาหารเป็นข้ออ้างคุยกับแม่เพราะกลัวว่าแม่จะหายไป

จากพิมพ์ถามสูตรอาหารผ่านแชทไลน์กลายเป็นโทรศัพท์คุยกัน จากคุยเรื่องสูตรอาหารกลายเป็นพูดคุยถามเรื่องราวและความรู้สึก จากคุยกันไม่กี่นาทีก็กลายเป็นบทสนทนายาวนับชั่วโมง

หม้อหุงข้าว ตะหลิว กระทะ จาน บทสนทนาของแม่ลูก ประกอบกับสีภาพโทนอบอุ่น คือ สิ่งที่เคถ่ายทอดผ่านภาพและเสียงภายใต้ชื่อเพจ “แม่ เมนูนี้ทำไง” 

การทำอาหารสำหรับเค คือ เครื่องย้อนเวลาที่เก็บประสาทสัมผัสทั้งห้า เสียงสับหมูของแม่ กลิ่นรสมือแม่ในวัยเด็ก รวมถึงบรรยากาศการทำและทานอาหารร่วมกันทุกคนในครอบครัว

เพราะทุกเมนูที่เคหยิบขึ้นมาเล่าผ่านโซเชียล คือ เมนูที่เขาชอบและอยู่ในความทรงจำ

ขนาดอาหารที่อร่อย ยังอร่อยเท่ากับรสมือแม่

“รสมือแม่คือมาตรฐาน มันพอดีกับลิ้นเรา คนอื่นกินอาจจะบอกว่ารสจัด อาจจะบอกว่าจืดก็ได้ แต่เรารู้สึกพอดี เพราะเรากินรสนี้มาเป็นสิบๆ ปี ลิ้นมันก็เซ็ตค่าตรงนี้ไว้แล้ว”

เคอธิบายรสมือของแม่ที่เขากินมาทั้งชีวิตว่า อาหารของแม่คือมาตรวัดความอร่อยของอาหารทุกจานที่เขากิน รสชาติที่ไม่ได้จัด ทำง่ายๆ เหมือนบุคลิกแม่

“เวลามาอยู่ในเมือง แล้วเจอร้านข้าวแกงที่อร่อยเหมือนแม่ มันจะฟิน รสมือแม่มันเป็นมาตรฐานเหมือนมิชลินสตาร์ เป็นมาตรวัด ขนาดเราไปกินร้านอร่อยมากๆ มันยังแค่เท่ากับรสมือแม่”

หลายบ้านอาจบอกว่า รสมือแม่บนโต๊ะอาหารของครอบครัวคือการชาร์จพลัง แต่สำหรับเคคือความห่วงใยของแม่และยาย

“บ้านเราไม่ได้รู้สึกอบอุ่นหรือได้ชาร์จพลังทุกครั้งหรอก ยายก็จะบ่น ทำไมไม่กินอันนั้น กินอันนี้สิ ให้ลองกิน แต่ภายใต้ความจู้จี้ของยายกับแม่มันซ่อนความห่วงใยของพวกเขา อยากให้กินอย่างนั้นอย่างนี้ แต่พอกินคนเดียวมันก็ไม่ได้มีใครมาบอก”

ตลอดเวลาที่ผ่านมาก่อนการแพร่ระบาดโควิด 19 เครับบทคนกินไม่ใช่คนทำ เมนูที่ถนัด คือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อีกทั้งตอนเด็กๆ ก็มีหน้าที่เตรียมวัตถุดิบเท่านั้น และไม่ชอบทำอาหาร เพราะไม่อยากล้างจาน

“ผมคิดว่าซื้อกินสะดวกและสบายกว่า ไม่ต้องเตรียม ไม่ต้องล้างจาน”

แต่หลังจากแม่ประสบอุบัติเหตุรถชนจนต้องเย็บแผลหลายเข็มพร้อมๆ กับร้านอาหารปิดเนื่องจากมาตรการทางสังคม ในฐานะลูกชายสายครีเอทีฟคิดว่า “เราต้องคุยกับแม่ให้มากขึ้นเพราะกลัวว่าแม่จะหายไป” จึงเป็นคำตอบว่า ทำไมต้องโทรหาแม่เพื่อถามว่า “แม่ เมนูนี้ทำไง”

การเกือบจากลาสอนว่า อยากทำอะไรทำเลย 

หลังจากน้องโทรมาบอกว่าแม่ถูกรถชนที่สมุทรสาครความรู้สึกแรกของเค คือ “ถ้าแม่หายไป นี่แย่เลยนะ แม่ก็ยังอายุไม่เยอะแล้วเรายังไม่ได้มั่นคง ไม่มีอะไรให้แกเลย”

ก่อนหน้านี้ เคยอมรับว่า เขาเป็นเพอร์เฟคชันนิสต์ ถ้าทำไม่ดีก็ยังไม่อยากทำ เช่น ไม่อยากทำกับข้าวเพราะะคิดว่าทำแล้วกินไม่ได้ ทำแล้วไม่อร่อย

เมื่อคนเพอร์เฟคชันนิสต์ต้องเผชิญวินาทีที่แม่เกือบจะจากไป ทำให้เขาเปลี่ยนความคิด ‘ถ้าคิดอะไรก็ทำเลย’

“ทุกครั้งที่กลับบ้าน เราจะเห็นร่องรอยความแก่ของยายและแม่ เห็นผมหงอกของแม่หรือริ้วรอยของยาย เราห่างเหินไม่ค่อยมีเวลามาดูแล พอทำเพจนี้ก็คิดได้ว่าอยากทำอะไรทำเลย คิดอะไรแล้วทำเลยบ่อยขึ้น คิดจะโทรก็โทรเลย คิดจะกลับบ้านก็กลับเลย ไม่ต้องรอเวลาเหมือนสมัยก่อน”

และที่สำคัญ แม่บอกเขาว่า “ทำครั้งแรกแล้วทุกอย่างจะดีเลยมันเป็นไปไม่ได้หรอก ต้องทำไปเรื่อยๆ คือ ลองทำไปก่อน ลองเอาขาจุ่มลงไปก่อน”

ถ้าเรายอมรับได้ว่า ทุกอย่างมันไม่มีสิ่งไหนเพอร์เฟค แต่ ‘ลองทำเลย’ เราจะกล้าหาญและกล้าที่ลงมือทำมากขึ้น

“ทุกงานมันไม่เพอร์เฟคหรอก ผมลองย้อนดูทุกคลิป มันไม่มีคลิปไหนที่เพอร์เฟคเลย ทุกคลิปผมคิดว่าน่าจะแก้ตรงนั้น รู้งี้น่าจะแก้อย่างงั้นอย่างงี้ แต่ไม่เป็นไร มันยังมีโอกาสอยู่เรื่อยๆ ถ้าจะรอให้มันเพอร์เฟคตั้งแต่วันแรก มันก็ไม่ได้ทำ”

เพราะทุกครั้งที่เคต้องเจอกับความไม่สมบูรณ์ แม่และยายจะนั่งลงข้างๆ บอกว่า “ไม่เป็นไร”

“จริงๆ แล้วเพจนี้ ผมเริ่มต้นจากงานประกวดค่าย TMRW Creators Camp เราก็ไม่ชนะ แต่ยายมาบอกว่า ไม่เป็นไร เอาใหม่ เดี๋ยวสักวันหนึ่งก็เป็นของเรา ตอนนั้นไม่มีคลิปไหนยอดวิวถึงล้านเลย ทำมา 4-5 เดือนก็ยังอยู่แค่นั้น แต่หลังจากยายบอกเหมือนคำมันศักดิ์สิทธิ์ อยู่ดีๆ พอเอาคลิปไปลงติ๊กตอกคนดูล้านวิว อีกพักหนึ่งก็มียอด follow เป็นแสน ผมก็รู้ว่าสักวันหนึ่งมันก็จะเป็นของเราตามที่ยายบอกจริงๆ”

ปลาสลิดทอดกับความรู้สึกของแม่ที่ลูกไม่เคยได้ยิน

คลิปความยาว ความยาว 5-7 นาทีก็จริง แต่เบื้องหลังเขาคุยกับแม่ 30 นาที – 1 ชั่วโมง เสมอๆ 

ช่วงแรกเป็นเพียงแค่การถามสูตรอาหาร แต่พอคุยไปเรื่อยๆ มีบางเรื่องที่ลูกชายไม่เคยรู้เกี่ยวกับแม่ มีคำถามถึงกันมากขึ้น 

“คือเมื่อก่อนมันก็ไม่มีข้ออ้างที่จะถามหรือคุยกัน พอได้คุยกับแม่เยอะขึ้น ก็รู้ว่าแต่ก่อนเราไม่เคยรู้จักแม่เลย หลายครั้งที่คุยกันในแต่ละตอนก็เหมือนเราได้กลับมารู้จักแม่อีกครั้งหนึ่ง จากสมัยก่อนที่อยู่ด้วยกัน แต่ไม่คุยกันเหมือนเป็นคนแปลกหน้า”

และตอนที่ทำให้เคเข้าใจและมองเห็นมุมมองของแม่ที่เขาไม่รู้มาก่อน คือ ปลาสลิดทอด | แม่ เมนูนี้ทำไง Ep13 

“เออ วันนี้อยากให้แม่สอนทอดปลาสลิดหน่อยดิ”

คำพูดเปิดคลิป Ep13 ปลาสลิดทอดเนื่องในวันแม่ปี 2564 ที่ต้นวีดีโอพูดถึงวิธีการทอดปลาสลิด ตั้งแต่วิธีเลือกปลาจนทอดเสร็จ

ธงแรกของคลิปนี้ คือ การพูดคุยว่าทำไมแม่ถึงชอบกินก้าง ไม่กินเนื้อ เพราะเคคิดว่าแม่อาจจะตรงกับแม่ในละครที่บอกว่า

“แม่จะเสียสละกินหัวกินก้าง เพื่อให้ลูกได้กินเนื้อปลา” แต่คำตอบของแม่ คือ แม่กินเพราะมันอร่อย

การพูดคุยกับแม่ไปเรื่อยๆ ก็นำมาสู่ธงใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างไม่ตั้งตัว คือ การเปิดอกคุยกับลูก

“แม่เปรียบลูก 2 คน เหมือนการปลูกต้นไม้ 2 ต้นที่เป็นสายพันธุ์เดียวกัน ต้นหนึ่งเป็นไม้เนื้อแข็งที่ยืนต้นด้วยตัวเองได้ แต่อีกต้นหนึ่งเป็นไม้ล้มลุกที่จะเลื้อยออกนอกลู่นอกทางที่จะต้องคอยจับคอยพันให้อยู่กับทาง แม่ก็เลยเหมือนดูแลน้องมากเกินไป จนไม่มีเวลาดูแลเค เพราะแม่เห็นว่าเคก็เปรียบเหมือนต้นไม้ใหญ่ที่ดูแลตัวเองได้ จนแม่ลืมไปว่าต้นไม้ใหญ่อีกต้นหนึ่งมันก็ต้องการความใส่ใจอยู่เหมือนกัน”  

นี่คือเสียงในใจของแม่…

“ผมมีพี่ชาย ผมมีน้อง น้องจะสนิทกับแม่ แล้วผมก็โตมาด้วยความไม่สนิทกับแม่ รู้สึกว่าแม่ไม่รักหรือเปล่า แม่ลำเอียงหรือเปล่า ก็เป็นเรื่องปกติของคนมีพี่น้อง แต่คลิปนั้นแม่มาบอกว่าเขารู้สึกยังไง แอบสารภาพผิดนิดหนึ่ง แม่ไม่ได้พูดตรงๆ แต่ผมจับความรู้สึกได้ว่า เขารู้สึกผิด แต่กล้าที่จะบอกความจริงกับเรา”

นี่คือเสียงของลูกชายที่เปรียบเทียบแม่เป็นต้นไม้ที่คอยเฝ้ามองเขาค่อยๆ เติบโตอยู่ห่างๆ

“แม่ไม่เคยผูกมัด ผมจะเลือกเรียนอะไรก็ได้เขาไม่บังคับ ให้อิสระ เพราะเขาเชื่อว่าเราจะต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง”

แม่คือความเรียบง่าย ไม่หวานแต่เค็มเหมือนหมูผัดปลาอินทรีย์เค็ม 

เคบอกว่า ทุกคนมีรสมือแม่อยู่แล้ว เพราะรสมือแม่ คือ รสที่พอดีกับลิ้นเรา คนอื่นอาจจะบอกว่ารสจัดหรืออ่อนไป แต่สำหรับลูก นี่คือรสที่พอดี

“รสมือแม่ คือ รสไม่จัด ไม่หวาน ออกเปรี้ยวนิดๆ เค็มด้วย”

ฝีมือการปรุงอาหารของแม่ที่เคชอบ คือ เมนูหมูผัดปลาอินทรีย์เค็ม เพราะเป็นเมนูที่หากินที่อื่นไม่ได้

“หมูผัดปลาอินทรีย์เค็มของแม่ จะแห้ง สีเหลืองอ่อน กระเทียมเกรียมๆ กินกับข้าวสวยหรือข้าวต้มก็ได้”

เพราะเป็นเมนูที่มีแค่ ‘บ้านเรา’ เมนูนี้จึงอร่อยสำหรับเค 

ถ้าจะบอกว่าแม่เหมือนเมนูไหนมากที่สุด แม่ของเขาคงเหมือน “หมูผัดปลาอินทรีย์เค็ม” 

“ให้แม่เป็นเมนูหมูผัดปลาเค็ม เพราะแม่เป็นคนเรียบง่าย ไม่หวือหวา ไม่ได้เลี่ยน แม่ไม่หวานด้วย แต่ดูเค็ม แม่ดูเป็นคนเค็มๆ แต่มีประโยชน์ คือ คุยได้เป็น comfort zone แล้วก็เป็น comfort food ของเราด้วย”

บทเรียนระหว่างการทำอาหาร คือ ปล่อยให้ชีวิต on the way ไปเรื่อยๆ

ถึงแม้วันนี้จะมีแพลตฟอร์มเดลิเวอรีเกิดขึ้นมากมาย แต่เคมองว่า การทำอาหารกินเองคือความพิเศษ

“การทำอาหารเองเหมือนได้กินโอมากาเสะทุกมื้อนะ เพราะการกินโอมากาเสะคือเราไปนั่งดูเขาทำอาหารแบบสดๆ การทำอาหารเราก็เป็นคนปรุง เป็นคนทำเอง ได้กินสิ่งที่อยากกิน ได้กินหลากหลาย และควบคุมได้ การสั่งเดลิเวอรี่ก็สะดวกรวดเร็ว แต่การทำกินเองมันก็ทำให้พิเศษ”

ทุกขั้นตอนของการทำอาหารของเค คือ บทเรียนชีวิตจากแม่ที่สอนเขาว่า ไม่มีอะไรดีในครั้งแรก ทำไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็อร่อยเอง

“ทำเลยอย่ากลัวว่าทำแล้วมันจะไม่ดี ไม่อร่อย มันก็ต้องปรุง มันต้องปรับ เหมือนการใช้ชีวิตของเรา ก็ปล่อย on the way ไปเรื่อยๆ” 

ขณะเดียวกันระหว่างหั่น ตัด ผัด ต้ม หรือ ทอด ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเข้าใจความรู้สึกแม่ 

“พอมาทำเองเราก็รู้ว่าแม่เหนื่อย เต็มที่ 2 มื้อต่อวัน มื้อเดียวก็เหนื่อย บางทีแม่ก็ทำหม้อใหญ่ๆ แล้วสมัยก่อนมีแม่คนเดียว เหนื่อย ต้องเตรียม ต้องมาทำ เข้าใจแม่มากขึ้น คือ บอกแม่ซื้อกินเถอะ สงสารแม่ (หัวเราะ)”

เพราะหน้าที่ของอาหารบนความสัมพันธ์ครอบครัว คือ การเป็นพื้นที่ที่เราได้นั่งรวมกัน เป็นสะพานกลางเชื่อมทุกคนในครอบครัว

เมื่อเราได้แชร์อาหาร ได้กินหลายๆ อย่าง ที่ต้องกินด้วยกันถึงจะอร่อย เนื่องจากการทำอาหารไม่ได้เป็นหน้าที่ของใครคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้อง “ทำและกินไปด้วยกัน”


Writer

Avatar photo

ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ชอบดูซีรีส์เกาหลี เพราะเชื่อว่าตัวเราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ สนใจเรื่องระบบการศึกษาเเละความสัมพันธ์ในครอบครัว พยายามฝึกการเล่าเรื่องให้สนุกเเบบฉบับของตัวเอง

Photographer

Avatar photo

ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

นักแปล นักเขียน ช่างภาพสาว ผู้ทำงานประจำอยู่ 6 เดือนและไม่ทำอีกเลย ซึ่งคิดว่าคงเป็นอย่างนี้ตลอดไป หาตัวได้แถวเชียงใหม่และบางแค หัวบันไดไม่เคยแห้งเพราะจ้างร้อยแต่ให้มาล้านทั้งปริมาณภาพ ความยาวของเนื้อหาและพาดหัว ไม่เคยมีคำว่าน้อยแต่มาก มีแต่คำว่ามากแต่มากกว่า

Related Posts