MORE THAN LIBRARY ชวนมองห้องสมุดมุมใหม่ที่เป็นได้มากกว่าที่เก็บหนังสือ

พาลูกๆ ไปห้องสมุดกันเถอะ! 

การพาเด็กๆ ไปเยี่ยมชมห้องสมุดที่เต็มไปด้วยหนังสือ ทำให้เด็กๆ มีโอกาสสำรวจความหลากหลายของเรื่องราว และเนื้อหาต่างๆ ซึ่งส่งผลโดยตรงกับการพัฒนาตัวตน (Self) ภาษา (Literacy) และทักษะทางสังคม (Social Skill)

หลายคนอาจมีความทรงจำเกี่ยวกับห้องสมุดแบบเดิมๆ จากประสบการณ์ในวัยเรียน และอาจจะคุ้นเคยกับการรับรู้เกี่ยวกับห้องสมุดบางอย่างที่ถูกสร้างขึ้นจากระบบการศึกษาหรือสังคมในบางรูปแบบ ซึ่งทำให้บางคนอาจมีทัศนคติต่อห้องสมุดต่างออกไปจากที่ควรจะเป็น 

แต่ห้องสมุดในปัจจุบันมีการปรับตัวกันเป็นอย่างมากแล้ว แต่ไม่ว่าแหล่งเรียนรู้เหล่านี้จะปรับตัวอย่างไร ทัศนคติของพวกเราต่อห้องสมุดกับต้องปรับเปลี่ยนไปด้วย เช่นกัน 

ชวนเปลี่ยนความคิดที่มีเกี่ยวกับห้องสมุด

1. ห้องสมุดและการอ่านเป็นได้มากกว่าการเรียนและความรู้ 

✅ตัวตน (Self) ✅ภาษา (Literacy) 

“โอ้โห อ่านหนังสืออยู่เหรอคะ ขยันมากเลย” คุณแม่ท่านหนึ่งเล่าให้ Mappa ฟังว่า “แปลกใจกับประโยคที่ถูกทักบ่อยๆ เพราะอันที่จริงแล้วกำลังนั่งอ่านนิยายอยู่ ซึ่งก็ไม่ได้ต่างจากการดูซีรีส์” 

ระบบการศึกษาและสังคมไทยมักมองผูก “การอ่าน” ไว้กับ “ความรู้” “ความฉลาด” “ความขยัน” ซึ่งอาจจะครอบคลุมถึงการอ่านเพียงส่วนเดียวเท่านั้น เพราะในความเป็นจริงแล้วการอ่านเป็นได้มากกว่าการหาความรู้ การอ่านสามารถเป็นไปเพื่อความเพลิดเพลิน การสำรวจเรื่องราวใหม่ๆ การค้นพบตัวเอง 

เช่นเดียวกับ ความเข้าใจผิดมากที่สุดเกี่ยวกับการเข้าห้องสมุด หลายคนคิดว่าห้องสมุดเป็นเพียงสถานที่ให้ความรู้ แต่จริงๆ แล้วห้องสมุดเป็นพื้นที่มหัศจรรย์ของคนทุกช่วงวัย เพราะการพาตัวเองไปอยู่ในห้องสมุด คือการไปอยู่ท่ามกลางความหลากหลายของเนื้อหา การจัดรูปเล่ม การนำเสนอด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งอาจพาให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ก้าวเข้าไปในโลกใบใหม่ และได้ค้นพบความเพลิดเพลินกับเรื่องบางเรื่อง หรือหนังสือบางเล่ม ซึ่งเป็นโอกาสของการค้นพบตัวเองในรูปแบบที่ง่ายที่สุด และที่สำคัญประหยัดที่สุด 

2. ห้องสมุดเป็นพื้นที่ของ ‘ผู้ใหญ่’ และ ‘เด็ก’ ที่ชอบอ่านเท่านั้น 

✅ตัวตน (Self) ✅ภาษา (Literacy)  ✅ทักษะทางสังคม (Social Skill)

คนที่รักการอ่านแน่นอนว่าชอบห้องสมุด แต่รู้ไหมว่าห้องสมุดและบรรณารักษ์ต่างก็อยากให้ทุกคน (แม้แต่คนที่ยังไม่ชอบอ่าน) ได้เข้ามาสัมผัส ทำความรู้จักและสนุกกับหนังสือด้วย

ห้องสมุดหลายแห่งในปัจจุบันเปลี่ยนตัวเองเป็นพื้นที่เรียนรู้ หลายที่จัดกิจกรรมสนุกๆ  เช่น เล่านิทาน ทำงานศิลปะ เล่นเกม หรือแม้แต่การแสดง กิจกรรมเหล่านี้ไม่เพียงช่วยให้เด็กๆ พัฒนาภาษาและการสื่อสาร แต่ยังช่วยให้พวกเขาเรียนรู้ทักษะทางสังคม และสร้างความรู้สึกดีๆ กับการอ่านด้วย

ห้องสมุดจึงอาจเป็นพื้นที่แรกๆ ที่ทำให้เด็กๆ (และผู้ใหญ่) ได้เริ่มต้นสร้างความสัมพันธ์และตกหลุมรักโลกของหนังสือ

3. เด็กมีโอกาส “เป็นผู้เลือก” 

✅ตัวตน (Self) 

หากจะไปซื้อหนังสือที่ร้านหนังสือ ปัจจัยของการเลือกอาจจะถูกคิดหลายชั้น เช่น หนังสือมีประโยชน์พอไหม? ราคาแพงไปไหม? คุ้มค่าไหม… ?แต่ที่ห้องสมุด ข้อจำกัดเหล่านี้หายไป

ห้องสมุดเป็นพื้นที่อิสระที่ปลอดภัยสำหรับเด็กๆ ให้พวกเขาได้สำรวจและค้นพบสิ่งที่พวกเขาสนใจจริงๆ

การ “เลือกหยิบ” “อ่าน” “วางลง” หรือ “ตัดสินใจขอยืม” และ “ขอยืมด้วยบัตรห้องสมุดของตัวเอง” เป็นวิธีการที่ Self หรือตัวตนของเขาได้ทำงาน สิ่งเหล่านี้ช่วยเสริมสร้างความเป็นตัวตนอย่างแท้จริง เมื่อพวกเขาได้มีอำนาจในการเลือก ความเชื่อมั่นในตัวเองก็จะเติบโตขึ้น

ในชีวิตประจำวันของเด็กๆ มีน้อยมากที่พวกเขาจะได้ตัดสินใจเอง ห้องสมุดคือหนึ่งในพื้นที่พิเศษที่มอบโอกาสสำคัญนี้ให้พวกเขา

4. สร้างมิตรภาพระหว่างเด็ก และมิตรภาพของผู้ปกครอง

✅ทักษะทางสังคม (Social Skill)

ห้องสมุดไม่ใช่แค่เรื่องของหนังสือเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่สำหรับการพบปะผู้คน

พื้นที่เรียนรู้และพื้นที่ทำกิจกรรมต่างๆ เป็นพื้นที่ที่ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้พบปะพูดคุยกัน และแน่นอนว่าหลายครั้งมิตรภาพที่เกิดขึ้นทำให้การเลี้ยงลูกไม่เหงา แยกตัว และโดดเดี่ยวจนเกินไป 

ห้องสมุดเป็นอีกสถานที่ที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ มีโอกาสผ่อนคลายโดยมีผู้คนอยู่รอบๆ และยังเป็นโอกาสให้ได้พูดคุยและพบคนใหม่ๆ อีกด้วย 

ห้องสมุดบางแห่งในปัจจุบันที่จัดกิจกรรมสำหรับเด็กๆ ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสที่ทำให้เด็กๆ ได้พัฒนาทักษะทางสังคม และผู้ปกครองก็ได้มิตรภาพใหม่ๆ 

การมองห้องสมุดในแง่มุมใหม่อาจจะไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงาน บรรณารักษ์ หรือใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะร่วมกันสร้าง “พื้นที่ของการอ่าน” ให้เป็นพื้นที่ที่สนุก เป็นพื้นที่แห่งการค้นพบ และเป็นพื้นที่แห่งความเพลิดเพลิน


Writer

Avatar photo

mappa learning

Illustrator

Avatar photo

Arunnoon

มนุษย์อินโทรเวิร์ตที่อยากสื่อสารและเชื่อมโยงกับผู้คนผ่านภาพวาด

Related Posts