เลี้ยงลูกอย่างง่ายงามและธรรมดาแบบแม่ของโต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง

ดิฉันโชคดีที่มีแม่อย่างท่าน… 

คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ เขียนในบทส่งท้ายของเล่มด้วยประโยคนี้ 

สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยอ่าน โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องจริงของโรงเรียนประถมศึกษา ในกรุงโตเกียว และเด็กหญิงซึ่งเคยเรียนที่นั่นจริงๆ ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองจะสงบไม่นานนัก 

ท่ามกลางสงครามโลกที่มีแต่ความสูญเสีย เศร้าโศก และอันตราย แต่โลกของโต๊ะโตะจังกลับสนุก สงบ และปลอดภัย 

นอกจาก ครูใหญ่ โคบายาชิ แห่งโรงเรียนโทโมเอ เราค้นพบว่าหนึ่งในโลกสำคัญอีกใบที่ทำให้โต๊ะโตะจังปลอดภัยและเติบโตมาอย่างงดงาม คือแม่ ผู้เลี้ยงดูลูกสาวอย่างง่ายงามและธรรมดา 

ทว่าซ่อนแนวคิดลึกซึ้งไว้เต็มไปหมด 

1. ไม่เฉลยแต่ให้หาคำตอบเอง (ตอน ชอบจังเลย)

“แม่คะ คนที่เราจะไปพบนี่เป็นเจ้าหน้าที่สถานีรถไฟไม่ใช่หรือคะ” 

“ทำไมหรือจ๊ะ” แม่ไม่ตอบว่า ‘ไม่’ ในทันที แต่ให้เจ้าตัวดีไปหาคำตอบจากครูใหญ่เองดีกว่า 

พอเจอหน้าสุภาพบุรุษปริศนา โต๊ะโตะจังเลยได้หาคำตอบอย่างชัดถ้อยชัดคำด้วยตัวเอง

“คุณเป็นคุณครูใหญ่หรือเจ้าหน้าที่สถานีรถไฟกันแน่คะ”

2. ไม่มีเรื่องเล่าไหนไร้สาระ (ตอน รถไฟมา)

“วันนี้รถไฟจะมา ไม่รู้ว่าจะมายังไง ชุดนอนกับผ้าห่มค่ะแม่ ไปได้ใช่ไหมคะ”

เป็นแม่คนไหนก็งง แม่ของโต๊ะโตะจังก็เช่นเดียวกัน แต่ไม่มีแม้สักประโยคที่หลุดมาว่าลูกสาวพูดจาไม่รู้เรื่อง แต่จากน้ำเสียงที่จริงจัง แม่ฟังและถามต่ออีกหลายคำในฐานะเรื่องสำคัญ 

จนเข้าใจถ่องแท้ว่าคืนนี้จะมีตู้รถไฟมาถึงโรงเรียนและมันจะถูกใช้เป็นห้องสมุด

3. ไม่เริ่มต้นบทสนทนาด้วยคำว่าไม่ (ตอน ไปเที่ยวบ่อน้ำร้อน)

“แม่คะ ขอไปเที่ยวบ่อน้ำร้อนกับทางโรงเรียนได้ไหมคะ” 

แม่รู้สึกแปลกใจเพราะเที่ยวบ่อน้ำร้อนคือกิจกรรมของคนแก่ แต่การขอด้วยปากเปล่ามาพร้อมกับจดหมายของครูใหญ่ หลังอ่านจบแม่จึงเข้าใจเจตนา 

ไม่มีคำว่า ‘ไม่’ เช่นเดิม หนำซ้ำ แม่ยังเห็นด้วยกับความคิดนี้แม้เด็กๆ จะต้องขึ้นรถไฟและลงเรือ

4. ยอมปวดใจให้ลูกได้รู้จักการพลัดพราก (ตอน คำขอร้องของโต๊ะโตะจัง)

เที่ยวงานวัดครั้งแรกในชีวิต โต๊ะโตะจังอยากได้ลูกไก่กลับบ้าน แต่แม่กับพ่อห้ามไว้กลัวว่าลูกสาวจะเสียใจเมื่อลูกไก่ตาย สุดท้ายลูกไก่ก็ได้กลับบ้านกับโต๊ะโตะจังจนได้ 

แต่ห้าวันต่อมา เรียกเท่าไหร่ลูกไก่ก็ไม่ยอมลืมตา

5. หาสาเหตุก่อนตัดสิน (ตอน เสื้อตัวเก่าที่สุด)

โต๊ะโตะจังชอบเล่นมุดรั้วและกลับบ้านด้วยชุดที่ขาดทุกวัน และวันนั้นชุดที่แม่ชอบที่สุดเกิดขาด ลูกสาวกลัวแม่เสียใจเลยโกหกว่า เพราะโดนเด็กหลายคนขว้างมีดใส่

“งั้นเหรอจ๊ะ น่ากลัวจัง” แม่พูดเท่านั้นจริงๆ เพราะสำรวจแล้วโต๊ะโตะจังไม่มีบาดแผล 

6. รักษาคำสัญญา (ตอน เราเล่นกันเท่านั้น)

โต๊ะโตะจังเล่น ‘หมาป่า’ กับร็อคกี้ – สุนัขตัวโปรด แต่เจ้าสี่ขาเล่นแรงไปหน่อย กระโดดงับเพื่อนสองขาจนหูห้อยร่องแร่ง 

“อย่าดุร็อคกี้นะคะ” โต๊ะโตะจังดุซ้ำจนแม่กับพ่อสัญญา เด็กหญิงในผ้าพันแผลจึงกลับบ้านอย่างสบายใจ พร้อมบอกร็อคกี้ว่า “ไม่เป็นไรแล้ว ไม่มีใครดุ”

7. ชนชาติไม่สำคัญเท่ามิตรภาพ (ตอน มาซาวจ๊าง!)

‘มาซาวจ๊าง’ คือชื่อของ ‘มาซาโอะ’ ที่แม่ชาวเกาหลีใช้เรียกลูกชาย ทั้งคู่อยู่ใกล้บ้านโต๊ะโตะจัง 

วันหนึ่ง ด.ญ.ญี่ปุ่นก็โดน ด.ช.เกาหลี พูดใส่หน้าว่า ไอ้คนเกาหลี แต่แม่ของโต๊ะโตะจังไม่โกรธ

“โต๊ะโตะจัง ลูกเป็นคนญี่ปุ่น มาซาโอะจังเป็นคนเกาหลี แต่ก็เป็นเด็กเหมือนกัน เพราะฉะนั้นอย่าแบ่งแยกว่าใครเป็นชนชาติอะไรนะจ๊ะ ลูกต้องทำดีกับมาซาโอะจัง น่าสงสารที่เขาถูกด่าว่า เพียงเพราะเกิดมาเป็นคนเกาหลี”

8. ความจริงที่ถูกเวลา (บทส่งท้าย)

โต๊ะโตะจังบรรลุนิติภาวะแล้ว แม่ถึงค่อยบอกว่า “ความจริงลูกถูกไล่ออกจากโรงเรียนจ้ะ” 

ถ้าคุณแม่พูดอย่างนี้ ดิฉันคงตกอกตกใจจนทำอะไรไม่ถูกเมื่อไปโรงเรียนโทโมเอในวันแรก และประตูโรงเรียนซึ่งเป็นต้นไม้จริง และห้องเรียนซึ่งเป็นตู้รถไฟก็อาจดูไม่น่าสนใจเท่าที่ดิฉันรู้สึก…

ดิฉันโชคดีที่มีแม่อย่างท่าน…


Writer

Avatar photo

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

คุณแม่ลูกหนึ่งซึ่งคลุกวงในงานข่าวมาหลายสิบปี เพิ่งมาค้นพบตัวเองไม่กี่ปีมานี้ว่าอินกับงานด้านเด็ก ครอบครัว และการศึกษามากเป็นพิเศษ จึงเป็นเหตุให้มาร่วมสร้างแผนที่การเรียนรู้อย่าง mappa

Illustrator

Avatar photo

บัว คำดี

ตอนประถมอยากเป็นศิลปินวาดภาพ แต่โดนพ่อเบรคหัวทิ่ม "เป็นศิลปินไส้แห้งนะ" ปัจจุบันทำงานเกี่ยวกับการออกแบบและทำภาพประกอบ (บ้าง) จนได้

Related Posts