- คุณเคยโดนทักว่าชื่อไม่เข้ากับหน้า หรือทักใครด้วยประโยคนี้ โดยที่ก็ไม่รู้ว่าเราใช้เกณฑ์อะไรในการตัดสินชื่อกับหน้าไหม?
- งานวิจัยบางชิ้นเชื่อว่า คนมักจะจับคู่ชื่อที่ต้องออกเสียงโดยการทำรูปปากกลมกับคนที่มีใบหน้ากลม และชื่อที่ต้องออกเสียงด้วยการทำปากตึงกับคนที่มีใบหน้าแหลม ตามปรากฏการณ์บูบา/กิกี
- ส่วนงานวิจัยจากอิสราเอลและฝรั่งเศสชี้ว่า ชื่อ คือป้ายแรกที่เราได้รับจากการแปะป้ายทางสังคม และแท้จริงแล้วชื่อที่เราได้รับต่างหากที่เป็นตัวกำหนดว่าเราจะมีใบหน้าแบบไหน
“ทำไมชื่อไม่เข้ากับหน้าเลย” คุณเคยโดนทักแบบนี้หรือทักใครแบบนี้บ้างไหม พนันได้เลยว่าอย่างน้อย ๆ คุณต้องเคยคิดในใจว่าทำไมชื่อของคนบางคนไม่เห็นเข้ากับหน้าเลย แม้จะอธิบายไม่ได้หรอกว่าเพราะอะไรชื่อบางชื่อถึงดูไม่เข้ากับเจ้าของชื่อบางคน และอธิบายไม่ได้หรอกว่าเหตุใดเมื่อคุณได้รู้ชื่อใครสักคน คุณก็อาจจะคิดในใจว่า “กะไว้แล้วว่าต้องชื่อนี้”
ปัจจุบันยังไม่มีเกณฑ์ใด ๆ ที่ใช้ชี้วัดว่าชื่อนี้ควรหน้าแบบไหน แต่อย่างน้อย ๆ ก็มีกลุ่มนักวิจัยที่สงสัยในประเด็นนี้เช่นเดียวกัน แต่ก่อนที่จะเข้าเรื่องการวิจัย เราอยากให้คุณดูรูปสองรูปนี้ก่อน
และเรามีชื่อ 2 ชื่อให้คุณเลือกจับคู่กับภาพแรกกับภาพที่สอง ว่าภาพไหนควรจะชื่อว่า “บูบา” และภาพไหนควรจะชื่อว่า “กิกี”
หากคุณตอบว่า ภาพแรกควรชื่อ “กิกี” และ ภาพที่สองควรชื่อ “บูบา”… ยินดีด้วย คุณเป็นหนึ่งในคนส่วนใหญ่
ปรากฏการณ์บูบา/กิกี
แบบทดสอบที่คุณเพิ่งทำไปข้างต้นเรียกว่า “ปรากฏการณ์บูบา/กิกี” ที่เริ่มต้นจากการทดลองบนเกาะเตเนรีเฟ ของนักจิตวิทยาชื่อว่า โวลฟ์แกง โคฮ์เรอร์ ในปี 1929 ในการทดลองนี้ เขานำรูปร่างที่คล้ายคลึงกับภาพ A และ B แล้วถามผู้เข้าร่วมว่า ภาพไหนควรชื่อว่า “ตาเก็ตตี” และ ภาพไหนควรชื่อว่า “บาลูบา” ผลการทดลองพบว่า ผู้เข้าร่วมจะจับคู่ภาพที่มีลักษณะหยัก ๆ และแหลมคมกับคำว่า “ตาเก็ตตี” และภาพที่ดูโค้งมนว่า “บาลูบา”
ต่อมาในปี 2001 รามจันทรันและฮับบาร์ดก็ได้ทำการทดลองซ้ำโดยใช้รูปทั้งสองรูปข้างต้น และเปลี่ยนชื่อ “ตาเก็ตตี” เป็น “กิกี” และ “บาลูบา” เป็น “บูบา” โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นนักศึกษาอเมริกันและผู้พูดภาษาทมิฬ ผลการทดลองคือ 95% ของนักศึกษาอเมริกัน และ 98% ของผู้ที่ใช้ภาษาทมิฬ เลือกรูปแรกเป็น กิกี และรูปที่สองเป็นบูบา รามจันทรันและฮับบาร์ดจึงเสนอว่า การบัญญัติชื่อวัตถุต่าง ๆ นั้นไม่ได้เป็นไปโดยบังเอิญ โดยเหตุผลที่คนเลือกรูปหยักที่ดูแหลมคมและแข็งให้เป็น “กิกี” เพราะเสียง “ก” นั้นแข็งกว่าและต้องใช้กำลังในการออกเสียงมากกว่า “บ” รวมถึงการออกเสียงคำว่า “บูบา” นั้นต้องทำรูปปากกลม สอดคล้องกับรูปทรงโค้งมนของรูปที่สอง ในขณะที่การออกเสียงคำว่า “กิกี” ต้องทำปากตึง สอดคล้องกับรูปทรงในรูปแรก ซึ่งสิ่งนี้เรียกว่า ภาวะวิถีประสาทเจือกัน (synesthesia)
หากอ่านมาถึงจุดนี้ คุณอาจจะพอเดาได้แล้วว่า หนึ่งในเหตุผลที่คนใช้ประเมินว่าหน้าแบบนี้ควรมีชื่อแบบไหนคืออะไร
ในปี 2018 เดวิด บาร์ตันและเจมิน ฮัลเบอร์สตาดต์ ได้ตีพิมพ์บทความลงใน Psychonomic Bulletin and Review พวกเขาใช้แนวคิดของปรากฏการณ์บูบา/กิกี มาทดสอบเรื่องชื่อที่เข้ากับใบหน้าคน ทั้งคู่ให้ผู้เข้าร่วมดูรูปคนที่มีใบหน้ากลมและแหลม และมีชื่อหลากหลายชื่อให้เลือก โดยชื่อเหล่านั้นเป็นชื่อที่ต้องทำรูปปากกลมหรือรูปปากตึงเพื่อการออกเสียง เช่น บ็อบ หรือ เคิร์ก ผลที่ได้คือ ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่มักจะจับคู่ภาพคนที่มีรูปหน้ากลมเข้ากับชื่อที่ต้องทำรูปปากกลม และใบหน้าแหลมเข้ากับชื่อที่ต้องทำปากตึง นอกจากนั้น บาร์ตันและฮัลเบอร์สตาดต์ยังได้ทดลองต่อโดยการให้ผู้เข้าร่วม ให้คะแนนความชื่นชอบที่มีต่อใบหน้าในแต่ละรูป จากนั้นจึงเปิดเผยว่าคนในรูปแต่ละคนชื่อว่าอะไร แล้วจึงให้ผู้เข้าร่วมให้คะแนนความชื่นชอบอีกรอบ ผลลัพธ์ที่ได้คือ ผู้เข้าร่วมมักจะชื่นชอบคนที่มีชื่อ “เข้ากับ” หน้า มากกว่าคนที่ชื่อไม่เข้ากับหน้า
หรือชื่อจะกำหนดใบหน้าของเรา?
ปี 2017 กลุ่มนักวิจัยชาวอิสราเอลและฝรั่งเศส นำโดย โยนาท ซเวบเนอร์ ได้ทำการทดลองเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างหน้าและชื่อ โดยเริ่มจากการนำภาพใบหน้าให้ผู้เข้าร่วมชาวอิสราเอลดู และให้เลือกชื่อใดชื่อหนึ่งจากห้าชื่อที่กำหนดให้แต่ละภาพ นั่นแปลว่ามีโอกาสที่ผู้เข้าร่วมจะสามารถจับคู่ชื่อกับหน้าได้ถูกต้องอยู่ 20% แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือผู้เข้าร่วมสามารถทำได้ดีกว่าโอกาสความสำเร็จอย่างมีนัยสำคัญ
ต่อมานักวิจัยได้ทำการทดลองแบบเดียวกันนี้โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นชาวฝรั่งเศส 116 คน โดยให้เลือกชื่อและใบหน้าของชาวฝรั่งเศส 10 ใบหน้า ผลปรากฏว่า การทดลองครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมสามารถจับคู่ชื่อกับใบหน้าได้ถูกต้องด้วยค่าเฉลี่ยที่มากกว่าชาวอิสราเอลเสียอีก
ผู้วิจัยยังนำการทดลองนี้ไปทดลองกับคอมพิวเตอร์อีกด้วย โดยได้ป้อนข้อมูลซึ่งประกอบด้วยใบหน้าผู้หญิง 36,000 ใบหน้ากับชื่อผู้หญิง 15 ชื่อ และใบหน้าผู้ชาย 58,000 ใบหน้า กับชื่อผู้ชาย 13 ชื่อให้คอมพิวเตอร์ จากนั้นจึงป้อนใบหน้าใหม่เข้าไปเพื่อให้คอมพิวเตอร์จับคู่กับชื่อที่มีอยู่ ซึ่งคอมพิวเตอร์ก็สามารถตอบได้ถูกต้องสูงกว่าโอกาสความสำเร็จเช่นกัน นอกจากนั้นผู้วิจัยยังให้คอมพิวเตอร์หาว่ามีส่วนไหนบนใบหน้าที่ชื่อเหมือนกันที่คล้ายคลึงกัน ผลลัพธ์จากคอมพิวเตอร์นั้นพบว่า คนที่มีชื่อเหมือนกัน จะมีความคล้ายคลึงกันบริเวณดวงตาและมุมปาก ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้แสดงอารมณ์
ซเวบเนอร์เสนอว่า เราอาจจะ “ปรับตัวให้เหมาะกับชื่อ” ตั้งแต่การเพิ่มน้ำหนักตัวไปจนถึงการเลือกทรงผม ในบางวัฒนธรรม ชื่อบางชื่อมักจะมีทรงผมที่แตกต่างจากคนอื่น ๆ และคนที่มีชื่อเดียวกันก็มักจะทำตามกันโดยไม่รู้ตัว
ถ้าหากพ่อแม่เราตั้งชื่อเราว่า “โรส” คนก็มักจะนึกภาพเราเป็นดอกไม้งามและมักจะปฏิบัติกับเราราวกับปฏิบัติต่อดอกไม้ คนชื่อโรสจึงมักมีบุคลิกที่ดูอ่อนหวานอ่อนโยนเนื่องจากถูกปฏิบัติมาแบบนั้นโดยตลอด ในขณะที่คนชื่อ “อลิซาเบธ” ซึ่งเป็นชื่อที่ดูจริงจังและสูงศักดิ์ ก็มักจะมีท่าทีจริงจัง มัดผมเรียบร้อยมากกว่าปล่อยผม ไม่ค่อยยิ้ม ซึ่งก็จะทำให้ใบหน้าของคนที่ชื่อ “อลิซาเบธ” มีริ้วรอยน้อยลงเนื่องจากไม่ค่อยยิ้มและหัวเราะด้วย ส่วนคนชื่อ “จอย” ก็มักจะดูมีใบหน้าที่เป็นมิตร เพราะเขาคือ “จอย” (ความสุข) ของคนรอบข้างนั่นเอง
บางคนที่ดู “ไม่เข้ากับชื่อ” ก็อาจจะมีชื่อเล่นที่เข้ากับบุคลิกมากกว่า เช่น บางคนอาจจะชื่อว่า “โรเบิร์ต” ซึ่งมักจะเป็นชื่อที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ไม่ว่าจะเป็นโรเบิร์ต โรเบิร์ตซีเนียร์ โรเบิร์ตจูเนียร์ โรเบิร์ตจูเนียร์ที่สอง โรเบิร์ตจูเนียที่สาม ซึ่งก็มักจะมีความคาดหวัง อย่างน้อย ๆ ก็จากครอบครัว ว่า โรเบิร์ตควรจะโตมาเป็นแบบไหน มีท่าทางอย่างไร เมื่อ “โรเบิร์ต” ใด โรเบิร์ตหนึ่ง ไม่เป็น “โรเบิร์ต” ที่ทุกคนคาดหวังให้ “โรเบิร์ต” เป็น โรเบิร์ตคนนั้นจึงมักจะมีชื่อเล่นที่ดูเหมาะกับตัวเองมาแทนโรเบิร์ต ไม่ว่าจะเป็น บ็อบ ร็อบ บ็อบบี้ ร็อบบี้ หรือ เบิร์ต
ซเวบเนอร์เรียกสิ่งนี้ว่า “ปรากฏการณ์ดอเรียน เกรย์” จากผลงานชื่อดังของออสการ์ ไวลด์ที่ตัวละครหลักนั้นมีใบหน้าอ่อนเยาว์อยู่เสมอในขณะที่ภาพวาดของเขากลับดูมีอายุมากขึ้น
“เราคิดว่าชื่อของใครสักคนมักจะสร้างปรากฏการณ์ดอเรียน เกรย์กับใบหน้าของเขา ชื่อที่ถูกตั้งให้เรานั้นเป็นการแปะป้ายทางสังคมป้ายแรกของเรา” ซเวบเนอร์กล่าว
อย่างไรก็ดี เมื่อให้กลุ่มผู้เข้าร่วมชาวอิสราเอลจับคู่ชื่อฝรั่งเศสกับใบหน้าฝรั่งเศส และให้ผู้เข้าร่วมชาวฝรั่งเศสจับคู่ชื่ออิสราเอลกับใบหน้าอิสราเอล พวกเขาทำคะแนนได้น้อยลง
รูธ มาโย ผู้ร่วมวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮีบรูแห่งเยลูซาเล็ม จึงเสนอว่า ความสัมพันธ์ของหน้าและชื่อนั้นมีวัฒนธรรมและสังคมเป็นปัจจัยในการตัดสินด้วย เพราะหากเราเป็นคนต่างวัฒนธรรม เราก็จะไม่ได้มีความคาดหวังใด ๆ เป็นพิเศษต่อชื่อชื่อหนึ่งในอีกวัฒนธรรม
“เรามีความเห็นทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับชื่อ ไม่ว่าจะด้วยเสียงที่เปล่งออกมา ความหมายอีกนัยหนึ่งของมัน คนชื่อนั้น ๆ ที่เราเคยรู้จักมาก่อนหน้านี้ หรือคนดัง วัฒนธรรมสร้างการเหมารวม การทดลองนี้แสดงให้เห็นว่าใบหน้าเป็นตัวแทนของสิ่งที่สังคมคาดหวังว่าคนชื่อนี้ควรจะมีลักษณะแบบไหน การแปะป้ายทางสังคมจึงอาจส่งผลต่อใบหน้าได้ เราอยู่ภายใต้โครงสร้างทางสังคมมาตั้งแต่นาทีที่เราเกิด ไม่ใช่แค่เพศ เชื้อชาติ หรือสถานะทางสังคม แต่ยังรวมถึงทางเลือกสนธรรมดาที่คนอื่นมอบให้เราอย่างชื่อด้วยเช่นกัน”
มาจับคู่ชื่อกับหน้ากันเถอะ
อิทธิพลของฮอลลีวูดที่แผ่ขยายไปทั่วโลกทำให้ไม่ว่าจะเป็นคนที่ไหน ๆ ก็คงจะคุ้นเคยกับใบหน้าและชื่อของนักแสดงฮอลลีวูดที่ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นคนคอเคซอยด์เป็นอย่างดี แต่ละคนคงมีภาพจำของคนชื่อจอห์น สตีเฟน โซฟี เอ็มมา เอียน ฯลฯ จากนักแสดงที่เคยรู้จักอยู่แล้ว งั้นมาลองจับคู่ชื่อกับใบหน้าของชาวคอเคซอยด์กลุ่มนี้ดูว่าคุณจะทำได้ดีแค่ไหน
เฉลย
1. Phoebe 2. Harry 3. Stephen 4. Alice 5. Tim 6. Daisy
ถ้าคุณทำได้มากกว่า 4 คะแนนละก็ คุณสามารถเอาชนะอัลกอริทึมของคอมพิวเตอร์ได้ละ
อ้างอิง
https://www.mcgill.ca/oss/article/critical-thinking/your-face-betraying-your-name
https://www.apa.org/pubs/journals/releases/psp-pspa0000076.pdf
https://www.psychologytoday.com/ca/blog/ulterior-motives/201806/can-your-name-match-your-face
https://www.psypost.org/2016/10/peoples-first-names-match-faces-45582