ณฐพล บุญประกอบ

ณฐพล บุญประกอบ: การตั้งคำถามไม่ใช่การตะโกนให้ถาม มันควรเกิดขึ้นและต้องไม่มีใครถูกจับผิด

  • หลายครั้งเราไม่กล้าตั้งคำถามกับความรัก ความเคารพ และความศรัทธา เพราะเชื่อว่านี่คือสิ่งที่ใครๆ ก็ทำและถูกสอนต่อกันมา
  • แต่ภาพยนตร์สารคดี Come and See ที่กำกับโดย ณฐพล บุญประกอบ กลับพาคนตั้งคำถามกับ ‘ศรัทธา’ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องศาสนา แต่เป็นเรื่องของสังคม
  • “สิ่งที่เชื่อมโยงและมีความหมายกับสังคมจะถูกตอบด้วยคำถามที่ดี และทุกคนมีจุดสตาร์ทร่วมกัน คือ ได้ตั้งคำถาม” ความเห็นของณฐพล นักสื่อสารผ่านสารคดีที่เชื่อว่า คำถามมักซ่อนอยู่ในชีวิตประจำวันแต่เราอาจมองข้ามไป

เพราะรักจึงไม่ตั้งคำถาม เพราะเคารพจึงต้องทำตาม เพราะศรัทธาจึงเชื่อหมดใจ

รัก เคารพ ศรัทธา อะไรจริง อะไรแต่ง คือเรื่องที่ไม่มีใครกล้าตั้งคำถาม

เพราะมันเป็นสิ่งที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ไม่มีใครผิดหรือถูก เพราะ “เราถูกสอนมาแบบนี้”

“การเรียนรู้เกิดจากการตั้งคำถาม ทุกคนควรจะมีจุดสตาร์ทร่วมกันคือได้ตั้งคำถาม”

ความเห็นของ ‘ไก่’ ณฐพล บุญประกอบ ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดี Come and See (เอหิปัสสิโก) ผู้เชื่อว่า สิ่งที่เชื่อมโยงกับสังคม และมีความหมายต่อชีวิตไม่ใช่คำตอบ แต่เป็น ‘คำถามที่ดี’

แม้แต่เป้าหมายการทำสารคดีของเขาก็ยังทำงานอยู่บนการแก้โจทย์ด้วยการทำความเข้าใจและสำรวจ ‘ความจริง’ ที่ซ่อนอยู่ในชีวิตธรรมดาๆ แต่เรากลับมองข้ามไป

ในภาวะสังคมที่สุกงอมจากการเปลี่ยนผ่านการเมือง บางครั้งบีบให้คนไม่สามารถตั้งคำถาม หรือใช้เครื่องมือห้ามถาม แต่ณฐพลยังคงทำงานที่เริ่มจาก ‘คำถาม’ เพื่อเป็นสารตั้งต้นจุดประกายการตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัวมากขึ้น

ถ้าเราตั้งคำถามกับสารคดีและความศรัทธาได้ การตั้งคำถามกับเรื่องอื่นๆ คงไม่ใช่เรื่องแปลก

หลังจากนี้ คือบทสนทนาของผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีที่ไม่มีนิยามการเป็น ‘ผู้กำกับ’ เพราะคิดว่าตัวเองคือนักสื่อสารที่เปิดกล้องและกดเรคคอร์ดเพื่อพาผู้คนไปเจอพื้นที่ใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน

เหตุผลอะไรที่ทำให้คุณสนใจงานสารคดี

มันจับพลัดจับผลู เราทำงานสายภาพยนตร์มาตลอด 7-8 ปี แล้วไปเรียนต่อด้านสารคดี เหตุผลที่เรียนสารคดีส่วนหนึ่งคือ สนใจเรื่องสังคม ชีวิตคนอื่น หรือชอบไปเสือกเรื่องชาวบ้านนั่นแหละ (หัวเราะ) 

แล้วเป็นคนที่ถ้าให้กระดาษเปล่ามาจะคิดไม่ออกแต่เราต้องเป็นคนแก้โจทย์ ผมค้นพบสิ่งนี้ตอนเรียนสารคดีว่างานที่ทำอยู่เราก็กำลังแก้โจทย์ ต้อง react กับอย่างอื่น ทำความเข้าใจ บิดหรือเปลี่ยนมุมมอง ซึ่งงานสารคดีก็เป็นแบบนั้น ผมกับสารคดีเลยคลิกกัน เพราะงานสื่อสารรูปแบบนี้เราก็ต้องลงไปทำความเข้าใจและสำรวจเหมือนกัน 

ก็เป็นเหตุผลว่าทำไม underDOC Film บริษัทที่ผมกำลังทำอยู่ตอนนี้ ส่วนใหญ่ถึงเลือกเอางาน nonfiction หรือสารคดีมาปรับให้เข้ากับคอนเทนต์หรือรูปแบบสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานโฆษณา มิวสิควิดีโอ หรือแม้แต่สารคดีเอง ซึ่งก็เพิ่งรู้ตอนไปเรียนและมีโอกาสดูหนังเยอะๆ ว่า ขั้นตอนการทำสารคดีมันยืดหยุ่นได้มากกว่าที่คิด แล้วก็เปิดกว้างมากกว่าที่เราเข้าใจพอสมควร

ขั้นตอนของการทำสารคดี ยืดหยุ่นได้มากแค่ไหน

ตอบยากเหมือนกัน เพราะนิยามของคำว่า documentary มันเป็นที่ถกเถียงกันมานับตั้งแต่การมีคำนิยามของคำคำนี้ด้วยซ้ำ เพราะ Nanook of the North สารคดีที่ถูกระบุว่าเป็น Feature Documentary เรื่องแรก เล่าเรื่องชีวิตเอสกิโมที่ได้รับความนิยมมาก แต่เบื้องหลังมันเป็นการ set up ตัวละครขึ้นมา เพราะการไปถ่ายเฉยๆ มันน่าเบื่อ (หัวเราะ) ไม่มีตัวละคร ไม่มีเส้นเรื่อง 

จึงตามมาด้วยคำถามสำคัญว่าใน documentary แค่ไหนถึงเป็นความจริง อินูอิตในยุคนั้นไม่เป็นแบบนั้น แต่ set up ขึ้นมาแล้วฮิตและเวิร์ค แล้วให้คำนิยามว่า in order to capture the true essence คือการ capture ความเป็นจริงบางอย่างที่อยู่ลึกลงไปภายใต้ชั้นผิวของโลกที่เราเห็น มันจำเป็นต้องมีการกำกับ จำเป็นต้องมีการ direct จำเป็นต้องจัดการบางอย่างในการสร้างสิ่งหนึ่งขึ้นมา

เพราะฉะนั้นการถกเถียงมันมีหลายมิติมาก เพราะก็ไม่รู้เหมือนกันว่าในงาน documentary มันต้องจริงแค่ไหน บางคนก็จะบอกว่าผู้กำกับโกหก คนที่มาเล่นเป็น Nanook แม่งไม่ได้ชื่อ Nanook ด้วยซ้ำ (หัวเราะ) แต่คนดูอีกหลายคนก็ inspire รู้สึกว่านี่คือวิถีชีวิตที่ชาวอินูอิตแม่งเป็นจริงๆ ในช่วงเวลาหนึ่ง แต่เวลาผ่านไป ทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว มันเลยเกิดการถกเถียง ซึ่งจริงๆ การถกเถียงเหล่านี้มันกินความกว้างไปอีก เพราะว่าก็จะมีคนทำหนังที่พยายามที่จะท้าทายเส้นแบ่งของ documentary เสมอ 

แสดงว่าบนความยืดหยุ่นก็มีเงื่อนไข

บางคนถามว่าสารคดีมันจริงไหม คือกูก็ไม่รู้ หรือสุดท้ายเราอาจจะไม่จำเป็นต้องนิยามมันหรือเปล่า แต่ต้องเข้าใจไวยากรณ์ เข้าใจว่ามีคนเคยไปตรงนี้แล้วนะ เลยเส้นไปขนาดนี้แล้ว (หัวเราะ) มีคนที่ strict อยู่กับเส้น มีกฎตรงไหน คนทำเบรกหรือไม่เบรกการทำสารคดีด้วยเหตุผลอะไร

เราก็ไม่อาจอ้างตัวได้ว่าสารคดีคือความจริง คนชอบถามว่าทำสารคดีเปลี่ยนแปลงสังคมได้ไหม แต่สำหรับผมมันไม่ใช่ความรู้สึกที่ทำหนังเรื่องเดียวแล้วเปลี่ยนแปลงได้เลย มันเป็นแค่ conversation หนึ่งเท่านั้น เป็นหนังเรื่องหนึ่งที่คนดูจบแล้วอาจจะคิดต่อ ไม่คิดต่อ หรือดูแล้วก็ลืมก็ได้ (หัวเราะ) เพราะความศักดิ์สิทธิ์ของสารคดีมันเป็นทั้งข้อดีและกับดักในการยึดโยงกับความจริงชุดใดชุดหนึ่งมากเกินไป

ข้อดีและกับดักของการทำสารคดีมีอะไรบ้าง

ข้อดีคือเหมือนที่คุณถามเราอยู่ คือ ได้เสือกเรื่องคนอื่น (หัวเราะ) ได้ไปทำความเข้าใจหรือรู้จักชีวิตของคนอื่นๆ ที่เราไม่เคยคิดจะไปรู้จัก เหมือนสมัยก่อนมีบัตรเสือก (หัวเราะ) แบบยื่นแล้ว ขอเสือกหน่อย การทำสารคดีหรือการถ่ายสัมภาษณ์ตอนนี้ก็เหมือนกัน 

ส่วนกับดัก เราว่าเป็นกับดักของทั้งคนทำและคนดูสารคดี มันคือการยึดติดว่าสิ่งที่เรากำลังพูดหรือดูอยู่ ณ ตอนนี้ แม่งคือความจริง เป็นข้อมูลที่มีอำนาจเหนือกว่าข้อมูลอีกชุดหนึ่ง คนใช้นิยามหรือยี่ห้อของสารคดีในการ convince คนอื่นเต็มไปหมด ซึ่งมันเป็นเรื่องธรรมดานะ  โลกเดินไปด้วย trust เพราะฉะนั้นการจะสร้าง trust ได้ก็ต้องมี value บางอย่างที่เพียงพอให้คน trust ได้ 

แล้วสารคดีก็เป็นแบบนั้น เราคิดว่ามันคือ value หนึ่งที่ convince ให้คนดูเชื่อ ทำให้นายทุนเชื่อ ทำให้ subject ทำให้ใครก็ตามที่มาเกี่ยวข้องกับ process ที่เราทำอยู่ ณ ขณะนี้เชื่อถือ คนดูรู้สึกว่าตัวเองถูก convince และมีอะไรให้ยึดเหนี่ยวว่านี่คือชุดข้อมูลที่เราจะดำเนินชีวิตไปตามหรือต่อต้านมันก็ตาม

แล้วภาพยนตร์สารคดี Come and See ผลตอบรับจากคนดูเป็นอย่างไรบ้าง 

มีความเห็นจากคนหลายกลุ่ม เพราะตอนทำก็กังวลอยู่ว่าคนดูจะคิดอย่างไร หนังเรื่องนี้จึงเริ่มฉายในวงเล็กๆ ที่คนดูเป็นฝรั่งโดยไม่บอกเรื่องย่อและไม่บอกชื่อเรื่องด้วยซ้ำ ปรากฏว่าพวกเขาดูแล้วรู้สึก exotic (แปลกใหม่) มาก ความขัดแย้งมันดูใหญ่โต ขณะที่วงวิชาการดูแล้วตั้งคำถามกับภาครัฐ มองเห็นความไม่เป็นธรรมที่ผมเองก็คาดหวังว่าให้มันเกิดการตั้งคำถามในกลุ่มเล็กๆ ขณะที่วงนักศึกษา 95 เปอร์เซ็นต์ เขียนด่าธรรมกายและ อีก 5 เปอร์เซ็นต์ ตั้งคำถามกับความไม่เป็นธรรม 

พอหนังมาฉายในโรงความเห็นก็คละเคล้ากัน แต่รู้สึกประสบความสำเร็จในแง่ที่เสียงแตกมาก คือคนด่าธรรมกายก็ด่าเหมือนเดิม และมีคนตั้งคำถามกับภาครัฐ ความเชื่อและเสรีภาพของศาสนาในบ้านเรา รวมถึงคำถามจากคนที่อาจจะเสียงดัง เช่น อินฟลูเอนเซอร์ นักเขียน คนทำหนัง หรือคนในวงนักวิชาการ

และอีกกลุ่มหนึ่ง คือ คนวัด จริงๆ แล้วระหว่างถ่ายผมรู้สึกเหมือนเดินอยู่บนสันเขาที่ไม่รู้ว่าจะตกไปฝั่งไหน มีหลายความคิดมากที่เกิดขึ้น ถ้าวัดเกลียดหนัง ถ้าคนนอกหาว่ากูเป็นคนวัดล่ะ แล้วถ้ากูโดนแบนเพราะคนเกลียดธรรมกาย มันไม่รู้จะบาลานซ์ตัวเองยังไงก็เป็นสิ่งที่เครียดที่สุดของการทำหนังเรื่องนี้

ขณะเดียวกันก็มี learning ที่สำคัญ ตอนฉายให้คนในโรงหนังที่วัดดู คือทุกครั้งที่ฉายให้วงคนนอกดู หนังเรื่องนี้จะเรียกเสียงหัวเราะบางอย่างในบางซีนเสมอ เช่น ซีนที่พี่เขาตะโกนว่า รวย คนจะฮาทุกรอบ อันนี้แบบการันตี การฉายที่วัดเราคิดว่าคนดูจะซีเรียสกับทุกอย่าง เพราะหัวใจเขาเป็นความเชื่อ ปรากฏว่าก็มีเสียงหัวเราะในจุดเดียวกันด้วยซ้ำ

รู้สึกว่า เฮ้ย เสียงหัวเราะนี่มันบอกอะไรเราเยอะมากนะ เพราะถึงแม้คนจะเชื่อ แต่ก็ไม่ได้เห็นด้วยกับทุก activity ที่เกิดขึ้นในวัด แล้วก็พร้อมที่จะตั้งคำถาม หัวเราะหรือมองมันด้วยความขบขัน และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงมัน 

เพราะสิ่งนี้แหละ ทำให้ธรรมกายยังอยู่ได้แบบแข็งแรง มันคือการท้าทายตัวเอง ท้าทายการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่สำคัญจากความแตกต่างของผลตอบรับจากคนดูที่เกิดขึ้น 

การถ่าย Come and See เหมือนการเดินบนสันเขาและเป็นช่วงเวลาที่เครียดที่สุด มองกลับไป คุณผ่านมาได้อย่างไร 

มันค่อยๆ แหย่เท้าลงสระไปทีละนิดมั้งว่า กูประมาณนี้น้า มึงมองกูเป็นคนวัดหรือเปล่า แต่ด้วยความที่เริ่มฉายจากวงเล็กก่อนด้วยใจที่รู้สึกว่ารีแอคชั่นของแต่ละกลุ่มจะค่อยๆ ตอบคำถามในใจเราว่าคนดูวงใหญ่จะคิดอย่างไร และประจวบเหมาะกับคนดูสุกงอมเพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองบางอย่างที่เกิดขึ้นในสองสามปีที่ผ่านมา มันทำให้เราอุ่นใจมากขึ้นว่าการฉายในวงกว้าง อย่างน้อยมันจะมี discussion ที่เปิดกว้างมากพอ 

แต่จริงๆ แล้ว ธงแรกของสารคดีเรื่องนี้คืออะไร 

ถ้าถามธงแรก คือ อยากเข้าใจคนศรัทธาแค่นั้นเลย อยากรู้ว่าคนในธรรมกายทำอะไรกัน โดยไม่ต้องมี part คนต่อต้านวัด แต่พอเริ่มทำ คนดูฝรั่งกลุ่มแรกแม่งไม่เข้าใจเหี้ยอะไรเลยคือ what ศรัทธา แล้วไงต่อ บริบทสังคมบ้านคุณที่ต่อต้านวัดนี้เป็นอย่างไร มันจึงต้องมีกลุ่มคนต่อต้านวัดและศิษย์เก่าที่ไม่ชอบวัดนี้ตามมา พอเป็น 2 กลุ่มก็เกิดปัญหาต่อมาว่าแล้วเรื่องนี้มีความหมายยังไงกับสังคมภาพใหญ่ สังคมศาสตร์ 101 ธรรมกายกับสังคมไทยคืออะไร 

คำถามแรกและคำถามสำคัญที่เราถามอาจารย์นิธิ คือ ธรรมกายสะท้อนอะไร และพระพุทธศาสนากับสังคมไทยมีความสัมพันธ์กันยังไง อาจารย์นิธิฟังแล้วแบบ ถามไรวะ (หัวเราะ) คือมัน basic ซะจนเราอายที่จะไปถามอาจารย์ แต่คำตอบที่เราได้จากอาจารย์นิธิ คือ ไม่มีบทบาท ซึ่งเซอร์ไพรส์ผมมาก เพราะแบบ ไอ้เหี้ย (หัวเราะ) คือกูต้องการบทบาทเพราะจะเอามาอธิบายได้ไงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร 

แต่การตอบคำถามของอาจารย์ที่บอกว่าไม่มีบทบาทนั้นนำมาสู่หัวใจสำคัญของหนังเลยด้วยซ้ำ คือ ศาสนาไม่มีบทบาทแล้ว มันจึงจำเป็นต้องกระเสือกกระสนให้มีบทบาทขึ้นมาจนได้ 

ซึ่งนำมาสู่การก่อร่างสร้างวัดธรรมกายหรือว่ากลุ่มความเชื่ออื่นๆ ในสังคมไทย เราเลยแบบ mind blown (หัวเราะ) สารคดีจึงทำหน้าที่เป็น third eye view คือ third party เข้ามาอธิบายที่มาที่ไปของความขัดแย้ง เพื่อเชื่อมโยงให้คนดูเข้าใจ

ทำไมต้องเป็นธรรมกาย ทำไมต้องเป็นศาสนา มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

จริงๆ เราไม่ได้ตั้งคำถามกับศาสนาอย่างเดียว แต่มันเป็นความสงสัยที่บ่มอยู่ในตัวอยู่แล้วมั้งต่อสังคมที่เราโตมา มันมีองค์ประกอบอย่างไร มันชวนให้เราตั้งคำถาม แล้วศาสนาเสือกเป็นก้อนความคิดที่ใหญ่มากในสังคม พอเรื่องธรรมกายมัน pop up ขึ้นมาเลยรู้สึกว่า เออ มันน่าจะกระโดดเข้าไปทำความเข้าใจเป็นจังหวะที่พอดีด้วย เราคิดว่าถ้าเราไม่ได้เรียน แล้วทำงาน ทำหนังหาเลี้ยงชีพอยู่ก็อาจจะไม่ได้มีเวลาในการเข้าไปโฟกัสมันมากอย่างที่เกิดขึ้น

ขั้นตอนการถ่ายทำสารคดี Come and See เป็นอย่างไร เพราะมีบางฟุตเทจที่เราก็สงสัยว่าถ่ายอย่างไร 

จริงๆ ฟุตเทจ Come and See  80-90 เปอร์เซ็นต์ เรากับเพื่อนเข้าไปถ่าย เพราะมันเป็นธีสิสจบ เพราะตอนนั้นเรียนปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกา ก็ขออนุญาตวัดตามปกติ แล้วก็มีคนประสานงานของวัดมาช่วยขอใช้พื้นที่ต่างๆ ขณะเดียวกันก็ protect ทางวัดด้วยเพราะวัดก็ screen สิ่งที่เราถ่าย 

การ screen ตอนต้นก็นำมาสู่คำถามที่ว่า นี่เซ็นเซอร์หรือเปล่าวะ เราจะทำยังไง แต่อีกด้านหนึ่งมันเป็นข้อดีเพราะสิ่งที่เรากำลังตั้งคำถามคือความเป็นวัดนี้ เขาจะ represent ตัวเองแบบไหน เพราะสิ่งที่คุณกำลังให้ผมถ่าย คือ best represent สิ่งที่คุณเป็น แล้วมันปะทะกับสิ่งที่คนนอกพยายามจะตั้งคำถามว่ามันคืออะไร เราไม่ได้เข้าไปด้วยจุดประสงค์ในการหาอุโมงค์ลับหรือการซ่อนตัวของใคร แต่สนใจวิธีคิดหรือความเชื่อของคนที่ศรัทธามากกว่า ซึ่งมันคือ element หลักที่ทำให้เกิดกลุ่มความเชื่อนี้ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อไหนก็ตามในสังคม 

เชื่อว่าหน้างานจริง ผู้กำกับมีสิ่งที่อยากเล่าที่ต่อสู้กับความเชื่อเดิมของคนดู ควรวางเรื่องสารคดีอย่างไรให้ทั้งสองอย่างนี้ไปด้วยกัน โดยไม่มีใครรู้สึกว่าสารคดีนี้กำลังพูดแทนใคร 

จริงๆ เวลาทำหนังจะไม่รู้หรอกว่าคนดูจะคิดยังไง เรื่องนี้อย่างที่บอกว่าก็ลุ้นมาก ตอนฉายครั้งแรก (หัวเราะ) แบบว่ามึงคิดยังไงวะ ฝรั่งจะคิดยังไง คนไทยจะคิดยังไง คนในวัดจะคิดยังไง คนนอกวัดจะคิดยังไง แต่วิธีวางเรื่องเราไม่ได้มาวางแผนขนาดนั้น หรืออาจจะเป็นธรรมชาติของคนทำงานสื่ออยู่แล้วมั้ง เช่นเขียนหรือตัดวิดีโอ มันจะต้องแบ่งในหัวอยู่แล้วว่า ประมาณนี้กูเข้าใจ ประมาณนี้คนดูเข้าใจหรือยัง มันเป็นไปอัตโนมัติ 

จริงๆ เป็นศาสตร์ ที่เรารู้สึกว่าใครทำได้ดีจะสุดยอดเลยนะ เพราะมนุษย์เราไม่สามารถมองโลกแบบอัตวิสัย (objectivity) ได้ขนาดนั้น ไม่สามารถมองในมุมมองคนนอกได้ขนาดนั้น สุดท้ายเราก็ทำหนังที่เรารู้สึกว่าเราเข้าใจ แล้วเราอินกับมัน พอใจกับมัน แล้วก็คาดหวังว่า อย่างน้อยที่สุดคนดูจะอินไปกับเราด้วย ทำได้แค่นั้นเลย 

เพราะ เอหิปัสสิโก เป็นหนังที่เราคาดหวังต่ำมากเพราะรู้ว่าประเด็นนี้มันเซนซิทีฟ คนในวงกว้างไม่พร้อมในการดีเบตมันอย่างตรงไปตรงมาว่าความเชื่อของใครถูกหรือผิด เพราะมันยึดโยงอยู่กับหลายอย่างมากๆ แล้วมันเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบทั้งนั้นเลย ตายแล้วไปไหนวะ (หัวเราะ) ระบบความคิดความเชื่อของใครแม่งถูกต้องวะ และหลีกเลี่ยงมาตลอดที่จะไม่ฉาย แต่สิ่งที่เราคิดคือหนังเรื่องนี้มันจะเวิร์คต่อเมื่อมันมีการ discuss หลังจากดูจบ คิดแค่นั้น 

เคยคิดไหมว่าคนที่ดูเป็นใคร

คนดูในหัวตอนนั้น ไม่กล้าคิดเลยว่าจะเป็นใคร แต่รู้อยู่ลึกๆ ตอนทำตลอดเวลานะว่าอยากทำให้คนไทยดู พอสุดท้ายเราไปเรียนก็คิดว่าเมืองไทยคือที่ที่เราอยากจะทำงานที่สุด มันคือที่ที่เราโตมา อยากพูด และอินที่สุด และคิดว่าจะมีคนฟังเรื่องเล่าของเราก็เลยน่าจะเป็นคนไทยแหละมั้ง 

แต่โจทย์ใหญ่ช่วงแรกๆ คือ ต้องทำให้ฝรั่งที่บริบทความเข้าใจที่ต่างกันมหาศาล เพราะเอาแค่ 101 พระห้ามจับตัวผู้หญิง เขายัง What is เถรวาท แม่งไกลมาก (หัวเราะ) โดยยังไม่ต้องพูดถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เราเลยต้องพยายามอย่างยิ่งที่จะทำให้ฝรั่งกลุ่มแรกที่ดูหนังเรื่องนี้เข้าใจเป็นสเต็ปไปจนถึงปลายทาง ขณะเดียวกันอีกครึ่งหนึ่งของหัวก็ตั้งคำถามกับปรากฏการณ์นี้ว่ามันคืออะไร

ในสารคดีแต่ละเรื่อง นิยามความเป็นผู้กำกับของตัวเองว่าอย่างไร

ไม่เคยนิยามนะ แค่ทำหนังให้รอดก็เหนื่อยแล้ว (หัวเราะ) คือเราพยายามจะไม่ยึดติดกับอะไรเลยมั้ง หมายถึงว่าเราไม่พยายาม define ว่าเราคือ documentary film maker เราจะรู้สึกว่าทุกคำมันมีบริบทของมัน แล้วมี agenda ในการใช้คำเหล่านี้ตลอดเวลา หรือกระทั่งสื่อ งานแต่ละชิ้นก็มีความเหมาะสมและเป้าหมายแตกต่างกัน มันไม่ตายตัวขึ้นอยู่กับว่าคนที่เข้ามาหาเราหรือว่าโจทย์ที่เราไปเจอต้องการแบบไหนมากกว่า 

เป้าหมายในการทำสารคดีคืออะไร

อยากเปิดมุมมองคำว่าสารคดีให้คนเข้าใจสารคดีในมุมที่กว้างขึ้น ไม่ยึดติดกับภาพจำเดิมๆ ผมรู้สึกว่าถ้าคนดูสามารถให้คำนิยามว่าสารคดีคืออะไรในมุมมองที่กว้างขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ณ ตอนนี้ได้ ในท้ายที่สุดมันจะทำให้คนรู้จักกล้าที่จะตั้งคำถามกับความศักดิ์สิทธิ์ของสารคดี กล้าที่จะตั้งคำถามกับความศักดิ์สิทธิ์ของสื่อและองคาพยพอื่นๆ ในสังคม

เพราะแก่นของสารคดี มันคือการตั้งคำถามอยู่แล้ว เป็นการสำรวจและทำความเข้าใจ แล้วถ้าคนดูเข้าใจแก่นหรือหัวใจของสารคดีที่กว้างกว่าที่มันเป็นอยู่ ณ ตอนนี้ มันจะนำไปสู่การเคลื่อนไหวอื่นๆ ได้อีกมาก เพราะการทำสารคดีก็คือหนึ่งในเครื่องมือการชวนคนดูมาตั้งคำถามร่วมกัน

เหมือนตอนก่อนเริ่มทำ Come and See ผมดูหนังเรื่อง Jesus Camp เป็นหนังที่ไปสำรวจ summer camps ของโบสถ์ Evangelist ของอเมริกาที่พยายามจะเทรนเด็กๆ ให้เป็นนักเทศน์อย่างเข้มข้นมาก คนนอกดูจะรู้สึกว่า โบสถ์นี้น่ากลัวและตั้งคำถามว่า ทำไมเด็กมันถึงตะโกนเหยียดมุสลิม ขณะที่ฟีดแบคของกลุ่มคนที่เชื่อในโบสถ์นี้ชอบหนังมาก เพราะรู้สึกว่าหนังซัพพอร์ตความเชื่อเขา 

ทำให้คิดได้ว่า หนังเรื่องหนึ่งมีหลายความเห็นได้ ทุกคนไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับเรา แล้วผมก็สามารถทำ เอหิปัสสิโก ด้วยวิธีคิดแบบนี้ได้เหมือนกัน

ถ้าเราตั้งคำถามกับนิยามสารคดีหรือความเชื่อได้ เราตั้งคำถามกับเรื่องไหนได้อีกบ้าง 

มันเยอะมากนะ แล้วแต่คนดูว่าเขาจะหยิบอะไรไปคิดต่อ เหมือนเราให้หลอดแล้วจะไปดูดน้ำอะไรก็เรื่องของมึง แต่ว่ามันคือการถอดรื้อความศักดิ์สิทธิ์ของ media และความเชื่อของคน ไม่ว่าจะเป็นมิติเล็กหรือใหญ่ในชีวิต เช่น ความเชื่อเรื่องกินกีวี่แล้วไม่อ้วนหรืออ้วนก็ไม่รู้นะ หรือ ตายแล้วไปไหน มันกลับมา redefine วิถีชีวิตเรายังไง แต่อันนั้นเป็นเรื่องใหญ่โตมาก สำหรับผมคนอาจจะแค่มี media literacy มากขึ้น เพราะสิ่งที่เราดู สิ่งที่เขาพูด สิ่งที่ใครพูดเราจำเป็นต้องตั้งคำถาม แค่นี้ก็มากเกินพอแล้ว ตั้งคำถามและจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

แล้วตอนนี้คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับประเทศ มีความเห็นต่อปรากฏการณ์นี้อย่างไรบ้าง 

การเรียนรู้เกิดจากการตั้งคำถาม ไม่ว่าจะประเด็นไหน ช่วงอายุหรือกลุ่มไหนของสังคม การเรียนรู้พื้นฐานของชีวิต คือ เอ๊ะ แม่ทำอะไร อ๋อ แม่เดินไปชงนมให้กูแดก แม่เดินไปกินข้าวแล้วเอาข้าวเข้าปาก นึกออกป้ะ มันก็เริ่มจากคำถามแล้วนำไปสู่คำถามที่มัน advance ขึ้น ค่อยๆ พาเราไปสู่ความรู้ที่ลึกซึ้ง ละเอียดอ่อน และซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ แต่จะเจอหรือไม่เจอคำตอบก็ขึ้นอยู่กับเส้นทางของแต่ละคน 

เพียงแต่ทุกคนควรจะมีจุดสตาร์ทร่วมกัน คือ ได้ตั้งคำถามและสังคมไม่ควรขัดขวางการตั้งคำถาม เพราะเราเชื่ออย่างยิ่งว่าสิ่งที่ดี เชื่อมโยงกับสังคม และมีความหมายต่อชีวิตมันจะถูกตอบได้ด้วยคำถามที่ดี เพราะงั้นการห้ามถามไม่ควรเกิดขึ้น ไม่ว่าจะใช้เครื่องมืออะไรก็ตาม

คำถามที่ดีควรเป็นแบบไหน 

เป็นแบบนี้แหละ คำถามที่ดีต้องพาคนถูกถามไปสู่พื้นที่ทางความคิดใหม่ๆ ที่ตัวเองอาจจะไม่เคยสำรวจ อย่างเช่นที่คุณถามผมเมื่อกี๊ เพราะไม่เคยมีใครถามผมมาก่อนว่าคำถามที่ดีคืออะไร เราก็จะต้อง shaped เริ่มตกตะกอนในหัว เปิดเรดาร์หาคำตอบต่อๆ ไปไม่ใช่แค่จบบทสนทนานี้ แต่เราก็ยังคิดต่อไปว่าคำถามที่ดีคืออะไร ขณะเดียวกันพอเราหันกลับมามองแล้วเราเกิดคำถามใหม่ต่อยอดไปได้อีก 

ขณะเดียวกันในรั้วโรงเรียน นักเรียนก็กลับตั้งคำถามกับความเชื่อหรือประเพณีเก่าๆ ที่ส่งต่อกันมามากขึ้น มีความเห็นอย่างไร 

เราไม่มีความเห็น มันเป็นสิ่งที่ควรจะทำและควรเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ เพราะโลกมันหมุนไปข้างหน้าป้ะ สิ่งที่ควรตั้งคำถามมากกว่า คือ อะไรมาแตะเบรกให้เราไม่ตั้งคำถาม ผมคิดว่ามันคือวามรู้สึกไม่ปลอดภัยของคนบางกลุ่ม เพราะความเชื่อที่รู้มาถูกท้าทาย เหมือนเสาบ้านสั่นคลอนแล้วกังวลว่าหลังคาจะพังไหม ทั้งที่จริงๆ มันก็มีวิธีการอื่นให้เรารอด 

เรารู้สึกว่าจริงๆ ณ ตอนนี้ ประเทศเรามีปัญหาเรื่อง identify crisis คืออัตลักษณ์ของความเป็นไทยคืออะไร สังคมไทยถูกครอบด้วยความคิดความเชื่อชุดหนึ่งและคิดว่ามันจะคงอยู่ชั่วฟ้าดินสลาย เมื่อสิ่งนี้ถูกตั้งคำถามถูกท้าทายและสั่นคลอน คนรุ่นหนึ่งจินตนาการไม่ออกว่าต้องทำอย่างไร หลายคนจึงเลือกยึดหลักคุณค่า ภาพลักษณ์ หรือว่าความหมายบางอย่างเอาไว้สุดชีวิตเพราะคิดว่าประเทศจะล่มสลายหากไม่มีสิ่งนี้ แม้เราจะไม่เชื่อแบบนั้น 

ณ เวลานี้ผ่านสายตาผู้ใหญ่คนหนึ่ง ทักษะการตั้งคำถามเกิดขึ้นในโรงเรียนแล้วหรือยัง

ทักษะการตั้งคำถามของแต่ละคนมันเกิดขึ้นในจังหวะและโอกาสที่แตกต่างกันของแต่ละคน ไม่ว่าจะในหรือนอกโรงเรียน เรียนอยู่หรือเกษียณอายุไปแล้ว มันเป็นสิ่งที่สั่งสมกันทั้งชีวิต

ถ้าถามว่าโรงเรียนมีบทบาทในการปลูกฝังหรือส่งเสริมให้เด็กกล้าตั้งคำถามแล้วหรือยัง สำหรับเราคิดว่าการส่งเสริมให้ตั้งคำถามไม่ใช่แค่การตะโกนถามเด็กว่าใครสงสัยให้ถาม แต่มันคือการเปิดพื้นที่ให้เป็น safe space ที่เด็กสามารถถามได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกจับผิดหรือดูไม่ฉลาดในสายตาคนอื่น 

เราว่าโรงเรียนไทยเป็นพื้นที่บ่มเพาะความกลัวซะมากกว่า กลัวผิด กลัวเป็นเด็กไม่ดีในสายตาครู สายตาพ่อแม่ สายตา ‘สังคม’ แล้วก็ไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่ที่มีอาชีพครูหรอก แต่ผู้ใหญ่ในทุกมิติของสังคมหลายๆ คนยังไม่กล้าตอบคำถามของคนรุ่นใหม่เลย บางครั้งก็ไม่กล้าแม้แต่จะสบตาผู้ถามเลยด้วยซ้ำ

แล้วถ้าเปลี่ยนบทบาทจากผู้กำกับเป็นครูจะวางแผนการสอนอย่างไร

สิ่งที่ดีที่สุดที่จะเกิดขึ้นได้ในห้องเรียนมันคือกระบวนการใดก็ตามที่ทำให้เด็กค้นพบเสียงของตัวเอง หรือค้นพบความชอบของตัวเอง หรือค้นพบว่าไม่ชอบอะไรก็ได้ไม่ว่าจะในวิชาอะไรก็ตาม แค่นี้ก็มากเกินพอที่จะหวังจากคลาสนึงได้ ถ้าจะทำคลาสมันไม่มีกระบวนท่าไหนเลย มันขึ้นอยู่กับจังหวะโอกาสและบริบทของของห้องเรียนนั้นที่จะพานักเรียน 1 คนจากจุด A ไปจุด B ให้ได้ เราคาดหวังแค่นี้เลยนะ

สิ่งสำคัญอีกอันนึงแล้วรู้สึกว่าจริงๆ น่าทำให้เกิดขึ้น คือ learning log การบันทึกผลการเรียนรู้หรือกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนควรจะเกิดขึ้นในทุกคลาส เพราะสุดท้ายเราไม่สามารถตัดสินผลลัพธ์ได้ว่าอันไหนดีหรือไม่ดี โดยเฉพาะการเรียนด้านสื่อ เราจึงควรใช้ตัวชี้วัดจาก learning log ของเด็กมากกว่าว่า เด็กคนหนึ่งเรียนรู้จากความผิดพลาดอะไรบ้างระหว่างเทอมจนมาถึงจุด B

เรื่องความเชื่อความจริงมันขึ้นอยู่กับบริบทสังคมที่โตมา เด็กรุ่นใหม่หลายคนมีความคิดไม่ตรงกับผู้ใหญ่ในบ้าน มันจะมีจุดตรงกลางให้สองฝ่ายหันหน้าคุยกันบ้างไหม

เราคิดว่าทางเดียว คือ เปิดให้มีการเถียงจนสิ้นสงสัย แม้จะเป็นไปได้ยาก เพราะทุกคนต่างมีความสัมพันธ์ อารมณ์ หรือความขัดแย้ง และต้องใช้เวลาในการผลัดเปลี่ยน แต่ถ้าถามว่าทางออกที่ดีที่สุดในตอนนี้ คือ เถียงกันให้จบ ให้เหตุและผลเป็นเครื่องบอก ว่าอะไรมีความสำคัญและอะไรมีความหมายที่แท้จริงกับคนในสังคมนี้

แต่หลายคนก็ไม่อยากคุย กลัวทะเลาะกันเลยไม่ได้ถกเถียงกันเสียที

เพราะคนกลุ่มหนึ่งชินกับการอยู่โดยไม่ต้องมีเหตุผลมารองรับมานานมากไง เขาก็ต้องทำทุกวิถีทางด้วยทรัพยากรที่เขามีอยู่

แล้วบ้านคุณถกเถียงกันไหม ความสัมพันธ์เป็นแบบไหน

ความสัมพันธ์แบบอุ่นจนร้อน มันอยู่ตรงนั้นเสมอ ไม่ได้เข้ามาปลอบหรือเอาอกเอาใจ อาจเป็นเพราะเขาให้ความมั่นคงในจิตใจเรามาตั้งแต่เกิดแล้ว อย่างตอนทำ Come and See เราเครียด ยากลำบาก แต่ก็ไม่ได้รู้สึกหลงทาง แม่จะถามตลอดว่าเป็นยังไงบ้าง คือมันอยู่ตรงนั้นเหมือนความมั่นคงในใจเราไปแล้ว

ตอนเปิด Come and See ให้แม่ดู เขาก็เป็นห่วงแหละ ถามว่ามันโอเคไหม พูดเรื่องนั้นเรื่องนี้ เป็นห่วงเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่มันอบอุ่นจนร้อนเหมือนที่บอก เราตอบไปว่าไม่เป็นไร สบายมาก แต่อีกมุมหนึ่งมันคือความ secure ในใจและมั่นใจว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันจะโอเค

ทำไมพ่อแม่ควรดู Come and See

จริงๆ ไม่ต้องดูหนังเราก็ได้นะ มันไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์ขนาดห้ามพลาดอะไรแบบนั้น แต่ถ้าถามใหม่ว่า คนดูที่เป็นพ่อแม่น่าจะได้อะไรจากการดูหนังเรื่องนี้ ในบทบาทพ่อแม่ เราว่าหนังเรื่องนี้มันเหมือนเป็นตัวอย่างหนึ่ง ในการพาคนดูเข้าไปทำความรู้จักกับสถานที่ ผู้คน และเหตุการณ์ที่อาจจะไม่คุ้นเคย บางแง่มุมอาจจะท้าทายความเชื่อส่วนตัวของใครก็ตาม ซึ่งอาจเป็นหนึ่งโอกาสนึงในการชวนลูกคุยหรือคิดตามคำถามที่ถูกตั้งขึ้นในหนัง ไม่ว่าจะผ่านบทสัมภาษณ์ของใครก็ตาม ซึ่งถ้ามันไปถึงขั้นชวนให้ไม่ว่าจะพ่อแม่หรือลูกได้ลองตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัวมากขึ้น ก็คิดว่าโอเคมากๆ แล้ว


Writer

Avatar photo

ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ชอบดูซีรีส์เกาหลี เพราะเชื่อว่าตัวเราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ สนใจเรื่องระบบการศึกษาเเละความสัมพันธ์ในครอบครัว พยายามฝึกการเล่าเรื่องให้สนุกเเบบฉบับของตัวเอง

Avatar photo

มิรา เวฬุภาค

Photographer

Avatar photo

อนุชิต นิ่มตลุง

ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว จนถึงสารคดี ปัจจุบันเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision เพิ่งตัดสายสะดือเป็นคุณพ่อหมาดๆ เมื่อเมษาที่ผ่านมา (พ.ศ. 2563)

Related Posts