เด็กพิเศษของพี่เพิ้ง…ยายเพิ้งนายพราน คู่พี่น้องที่ทำงานศิลปะในจักรวาลที่ไม่เหมือนใคร

  • ศิลปะ ความรัก ความเข้าใจ ของ “ยายเพิ้งและนายพราน”
  • เคารพความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ด้วยความรัก รับฟังความคิดเห็นอย่างไม่ตัดสิน
  • สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตคือการเดินร่วมทางไปพร้อมกับคนข้าง ๆ โดยไม่ละทิ้งกัน ไม่ละเลยกัน พร้อมพัฒนาการที่ดีไปพร้อม ๆ กัน

“สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตเพิ้งเหรอ คือการเดินทางร่วมกันไปกับน้องชายโดยที่ไม่ละทิ้งกัน ไม่ละเลยกัน แล้วก็มีวินัยในการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง จะเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เขาและเพิ้งมีพัฒนาการที่ดีขึ้นไปพร้อมๆ กัน”

ในซอยเล็กร่มรื่น สตูดิโอขนาดย่อมย่านพรานนกท่ามกลางสวนเขียว เมื่อเราถามว่าสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตตอนนี้คืออะไร นั่นคือคำตอบของ ยายเพิ้ง จิตตกานต์ สุวรรณภัฏ ศิลปินและพี่สาวของนายพราน ธนัฐ สุวรรณภัฏ ที่นอกจากจะใช้ชีวิตมาด้วยกันตั้งแต่เด็กๆ ถึงวันนี้นายพรานเป็นพาร์ทเนอร์และศิลปินบุคคลพิเศษ ที่ยายเพิ้งชวนให้มาทำงานศิลปะร่วมกันในงานศิลปะนิพนธ์ของเธอเองสมัยเรียนอยู่ที่คณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร

ในสตูดิโอเต็มไปด้วยงานศิลปะของทั้งคู่ มีทั้งรูปวาดสีสันสดใส ประติมากรรม  แคนวาส กองสีและพู่กัน เซรามิก เก้าอี้ หนังสือทฤษฎีความรู้ของศิลปินระดับโลก และมุมสต็อคเสื้อที่นายพรานและยายเพิ้งทำร่วมกันในแบรนด์ Yaipoeng & Naipran Art Therapy Studio ซึ่งเป็นสตูดิโอภายในบ้านของทั้งคู่ 

และคำว่า Art Therapy ที่ปรากฎอยู่ในชื่อสตูดิโอ ยายเพิ้งขยายความว่า เธอใช้ความรู้ด้านศิลปะที่เธอถนัดมาสอนและทำงานร่วมกันกับน้องที่เป็นเด็กพิเศษ เพราะเพิ้งตีความว่าคนที่เข้ารับการบำบัดสามารถแสดงออกสิ่งที่อยู่ในใจ หรือระบายออกผ่านสีสันกับคนที่เขาสนิทใจ พื้นที่ที่เขาวางใจ เพิ้งเลยสามารถใช้คำนี้กับน้องได้เพราะเพิ้งเข้าใจน้อง จึงเลือกใช้คำว่า ‘ศิลปะบำบัด’

ล่าสุดในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ยายเพิ้งและนายพรานมีนิทรรศการ “คนพิเศษ” เป็นของตัวเองแล้วที่หอศิลป์ร่วมสมัยอาร์เดล รวบรวมทั้งผลงานประติมากรรม จิตรกรรม ที่ทั้งสองพี่น้องร่วมประสานงา(น) กัน ผ่านการเดินทางที่เพิ้งบอกว่ามันสวยงามแต่ไม่ใช่ว่าง่ายเลย เพราะการทำงานก็คือการทำงาน มันอาศัยทั้งวินัย การจัดการ และการฟังความรู้สึกของกันและกัน

เวลาผ่านมาราว 6 ปี ผลงานศิลปะและคู่พี่น้องเติบโตตามกาลเวลา ยายเพิ้งและครอบครัวดูแลนายพราน ซึ่งเป็นเด็กพิเศษ เป็นแรงบันดาลใจให้กันและกัน และเป็นชีวิตในทุกๆ วัน

น้องชายเพิ้งเป็นเด็กพิเศษ

ยายเพิ้งและนายพราน เป็นชื่อที่โดดเด่นและมีความเป็นตัวของตัวเองอยู่แล้วทั้งคู่ เราสำรวจสตูดิโอ เก็บภาพบรรยากาศ ทักทายกัน และเริ่มพูดคุยที่มาที่ไปของผู้มาใหม่และเจ้าของสถานที่ นายพรานเดินมาหา จู่ๆ ก็พูดเรื่องเครื่องบิน การนัดพบกับใครสักคน และจัดแว่นตาบนใบหน้าให้อย่างเบามือ ก่อนที่จะนั่งข้างกันบนโต๊ะและเริ่มสนทนากัน

เพิ้งยิ้มสวย และยอมรับในตลอดบทสนทนาว่าการเลี้ยงดูเด็กพิเศษสักคนต้องอาศัยปัจจัยและต้นทุนมากมาย มันไม่ง่าย และต้องเรียนรู้ที่จะ ‘สื่อสาร’ ใช้ทั้งใจวิทยาและจิตวิทยาในชีวิตและการทำงานอยู่เสมอ นายพรานนั่งนิ่งอยู่ข้างๆ พึมพำบ้าง มองพี่สาว มองแขกของบ้านอย่างเรา มองกล้องถ่ายรูป มองพี่สาว และพี่สาวก็มองน้องชายเป็นพักๆ ตลอดบทสนทนา 1 ชั่วโมงกว่า

ตอนนี้นายพรานอายุ 27 ปี ในวัยเด็กเคยเข้าโรงเรียนสำหรับเด็กพิเศษจนถึงจุดหนึ่งก็ออกมาอยู่กับครอบครัวที่บ้าน นายพรานนิ่งขึ้น มีสมาธิ และอ่านออกเขียนได้ แต่จุดอ่อนอยู่ตรงที่การศึกษาในระบบยังไม่ได้คิดค้นมาเพื่อเด็กคนใดคนหนึ่ง และดึงศักยภาพของบุคคลๆ คนนั้นออกมาอย่างเต็มกำลัง 

หลังจากนั้น เมื่อยายเพิ้งได้ลองทำงานศิลปะกับน้อง ใช้ชีวิตและทำงาน เป็นพาร์ทเนอร์ด้วยกันในบ้าน ก็เหมือนได้ร่วมจับมือเดินทางไปบนจักรวาลของการใช้ศิลปะบำบัดชีวิตของทั้งคู่

อธิบายอาการออทิสติกของน้องให้ฟังหน่อย

แต่ก่อนสุดแสบ (ถามน้องที่นั่งข้างๆ) นายพรานแสบไหม (นายพราน: ไม่แสบ ไม่แสบคอ) คนละไม่แสบกัน (หัวเราะ) นายพรานตัวแสบ นายพรานซนมาก สมาธิสั้น วิ่งตลอด ไม่หยุด ไม่รู้จักว่าหิวข้าวเป็นยังไง ก็ต้องไปหาหมอจิตเวช กินยา ฝึกให้มีสมาธิมากขึ้น แล้วพอเริ่มเข้าโรงเรียนก็เริ่มนิ่งขึ้น เริ่มรู้จักการกินข้าว มันเครียดนะคะ การที่มีน้องชายหรือมีลูกคนหนึ่ง แล้วเขาไม่ยอมแม้กระทั่งจะนั่งเฉยๆ เพื่อกินข้าว แล้วร่างกายผอม สมาธิสั้น ไม่พูดเลยจนอายุ 10 ปลายๆ ได้มั้ง หรือพูดก็พูดไม่รู้เรื่อง แต่พอฝึกไปเรื่อยๆ จากที่ไม่พูดเลย ก็กลายเป็นเด็กพูดเยอะ พูดทุกอย่างที่เขาต้องการจะสื่อสาร แต่ตอนนี้ก็จะนิ่งได้ อดทนรอได้แล้ว

ตอนนี้เพิ้งเข้าใจน้องมากแล้ว แต่ในช่วงเริ่มต้น เราเริ่มทำความเข้าใจภาวะนี้ของน้องอย่างไร รวมถึงทำความเข้าใจกับตัวเองอย่างไร

เราพาเขาไปหาหมอตอนเขาประมาณ 6 ขวบ เพิ้งก็อายุ 12 ปีแล้ว เราพบว่าน้องเป็นออทิสติก อาการเขาชัดเจนมาก เช่น เดินเขย่งปลายเท้า ไม่พูด ไม่อยู่นิ่ง หรือมีสมาธิเป็นเรื่องๆ ไป ไม่เข้าสังคม พูดไม่สบตา แล้วก็วิ่งๆๆ (ยิ้ม) แล้วจากนั้นเราก็เริ่มพาน้องไปบำบัด 

เพิ้งก็ไม่รู้หรอกว่าออทิสติกคืออะไร แต่เหมือนเราอยู่ที่บ้าน แล้วพ่อแม่โทรมาคุยกับน้าว่านี่คือโรคแบบนี้ๆ นะ ตอนเด็กก็ไม่เข้าใจหรอก คิดว่าคงเหมือนโรคๆ หนึ่งที่ต้องรักษา เหมือนมะเร็งเหรอวะ คือเข้าใจแค่ตื้นๆ แล้วก็ต้องจัดการอารมณ์ เพิ้งจำได้ว่าเพิ้งเสียใจมากที่เขาเป็นแบบนี้ แต่เสียใจได้ไม่นาน เพราะเขาก็เป็นคนๆ หนึ่ง เราก็อยู่ด้วยกันแบบนี้ ทำความเข้าใจกัน ความเสียใจนั้นมันหายไปเร็วมาก มันเหมือนแค่เฟล(ผิดหวัง) แล้วพอเรียนรู้ที่จะอยู่กับเขา เราก็หายเฟลแล้ว เราก็กล้าที่จะบอกกับทุกคน

เราไม่ได้รู้เยอะเลย แต่มันเหมือนเป็นเพื่อนสนิทกัน ค่อยๆ เดา เราต้องคอยสังเกตเอาว่าเหตุการณ์นี้มันผิดปกติแล้ว อาการนี้มันเป็นยังไง มันจะเรียนรู้กันไปเอง

บรรยากาศของครอบครัวในการดูแลน้องเป็นอย่างไรบ้าง

บ้านเราไม่ได้มีแม่บ้านอะไร ทุกคนก็ช่วยเหลือกัน พ่อเขาก็เป็นหัวหน้าครอบครัวน่ะค่ะ (ยิ้ม) ก็ไปช็อปปิ้ง ไปซื้อของเข้าบ้าน คอยดูแลเรื่องกับข้าว ส่วนแม่ก็เรื่องความสะอาดเรียบร้อยของบ้าน เพิ้งก็ช่วยดูแลน้องเรื่องการทำงาน สตูดิโอนี้ก็เป็นที่ทำงานของเพิ้งกับน้อง 

ตอนที่นายพรานไปโรงเรียน คุณพ่อยังไม่เกษียน ก็ออกไปทำงาน แม่ก็ทำกับข้าว เลี้ยงดูน้อง ถึงเวลาก็สอนการบ้านเขา เหมือนเด็กทั่วไปเลย เพียงแต่ว่าการพูดกับเด็กพิเศษอาจจะไม่ได้พูดแค่ครั้งเดียวแล้วรู้เรื่อง แต่ต้องคิดวิธีที่จะสอนเขายังไงให้เขาเข้าใจ เช่น การสอนเขาพับผ้า เพิ้งเอาลายสกรีนที่เขาวาดมาทำเสื้อจำหน่าย เพิ้งก็อยากให้เขารับผิดชอบและรู้จักด้วยว่าการพับเสื้อเป็นยังไง แต่ไม่ใช่ว่าเราจะสอนเหมือนคนปกติได้ เพิ้งก็ต้องไปคิดว่าเอาไม้บรรทัดหรือแผ่นไม้อะไรมาสอดให้พับง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นครอบครัวต้องเข้าใจเด็กพิเศษคนนี้มากๆ และคิดว่าเราจะสื่อสารกับเขายังไง 

เริ่มใช้ศิลปะบำบัดมาดูแลน้องชายได้อย่างไร

จริงๆ แล้วน้องเป็นคนชอบวาดรูปอยู่แล้ว สมมติว่าเขาดูรายการอะไรแล้วเขาชอบรายการนั้นเป็นพิเศษ เขาจะไปคิดค้นหาอุปกรณ์นั้นๆ มาแล้วก็จะนำมาเรียงต่อกันเป็นโลโก้ หลังๆ เขาเริ่มวาดต้นไม้ ดอกไม้ สิ่งรอบตัว เราก็มองเห็นมาเรื่อยๆ 

แต่ตอนที่เพิ้งจะทำตัวจบ (ศิลปะนิพนธ์) เพิ้งคิดว่าอะไรที่เราจะสนใจและทำมันไปได้ตลอด ก็เลยมาคิดเป็นเดือนๆ วนไปวนมาจนมาเจอว่า น้องเราแม่งพิเศษสุดแล้วว่ะ โคตรแปลกเลย เท่ เลยลองทำงานกับเขาดีกว่า แต่ก็คิดไม่ออกเหมือนกันว่าจะทำออกมายังไง เลยไปคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์เลยบอกว่าเขาชอบวาดรูปไหม ลองให้เขาวาดรูปดูสิ แล้วเราก็ส่งให้อาจารย์ดู อาจารย์ก็บอกว่ามันไม่ธรรมดานะ เขามีของ เส้นมันบริสุทธิ์ ก็เลยเริ่มต้นจากตรงนั้น

ทุ่มเทแค่ไหน

ต้องบอกว่าเด็กพิเศษ มีแค่ไม่กี่คนที่เขาเชื่อฟังและอยากอยู่ด้วย น้องจะชอบอยู่กับเพิ้ง ทำงานกับเพิ้งได้ 

แต่เพิ้งจะพยายามให้เขาทำงานกับคนอื่นนะ สมมติว่าที่บ้านมีคนมาทำเซรามิก เพิ้งก็จะให้เขาไปช่วยนวดดิน เพราะเพิ้งอยากให้เขารู้จักการทำงานกับคนอื่นด้วย อยากให้เข้าสังคมเป็น ให้รู้จักการรับฟังบ้าง ไม่ใช่ว่าอยู่แต่กับพี่แล้วฟังแต่พี่คนเดียว

เขาควรที่จะรับฟังคนอื่นด้วย เพิ้งกลัวเวลาที่มีปัญหาแล้วไปเล่าให้คนอื่นฟัง แล้วคนอื่นถามว่า แล้วคุณเลี้ยงเขาดีขนาดไหน สอนเขาดีขนาดไหน แล้วคำตอบมันคือ เออ ยังไม่ดีพอ เพราะฉะนั้นเราอยากให้เขาหัดอยู่กับสังคมได้ด้วย เพราะเราไม่สามารถอยู่กับเขาไปได้ตลอดชีวิต อยากให้เขาดีขึ้นเรื่อยๆ 

งั้นคำว่า “เลี้ยงให้ดี” ต้องดีแค่ไหน

อบรมเขา หรือพาเขาไปเผชิญโลกกว้างให้ได้มากที่สุด เด็กพิเศษเหล่านี้เขาพัฒนาได้นะคะ คนที่เป็นครอบครัวต้องสอนและใช้เวลากับเขา ถึงจุดๆ หนึ่งเด็กพิเศษต้องอยู่ในสังคมได้ในระดับหนึ่ง อาจจะไม่ดีพอหรอก แต่ต้องรู้กาละเทศะ และอยู่ได้

กลับมาเรื่องการทำศิลปะบำบัด วิธีการทำงานกับน้องเริ่มต้นอย่างไร หลอมรวมไปกับชีวิตประจำวันที่ต้องดูแลน้องอย่างไรบ้าง

มันเหมือนการเดินทางไปพร้อมๆ กัน แต่คนที่เราเดินทางด้วยเป็นเด็กพิเศษ โอเคเราสนิทกัน เราเป็นพาร์ทเนอร์ เราเข้าใจกัน แต่ว่าเมื่อเราทำศิลปะด้วยกัน มันไม่ใช่แค่สิ่งใหม่เฉพาะเพิ้งกับนายพรานอย่างเดียวค่ะ แต่มันเป็นสิ่งใหม่ของครอบครัว ของสังคมด้วย เพราะฉะนั้นมันก็ยากเพราะเรื่องที่เราคุยกันแต่ก่อนมันไม่ใช่เรื่องการทำงาน แต่เป็นเรื่องที่ว่ากินอะไรหรือยัง อิ่มหรือยัง อยากไปไหน แต่นี่เหมือนการสร้างองค์กรขึ้นมา 

เขาคือพาร์ทเนอร์มือขวาของเพิ้งเลย แต่มันไม่ได้สื่อสารด้วยภาษาที่เขาจะเข้าใจได้ง่าย เราอาจจะต้องพูดเรื่องนั้นซ้ำๆๆ ถามซ้ำๆ เช่น ตรงนี้อยากให้เป็นสีอะไร เขาไม่สามารถตอบเราได้ทันทีหรอก เราก็ต้องหาวิธีการที่จะทำให้เขาเข้าใจและโต้ตอบกับเราได้ คำถามนั้นใช้ระยะเวลาเป็นปีๆ กว่าเขาจะตอบได้เลย บางคำถามใช้เวลา 2 ปี เช่น แบ็กกราวน์จะเอาสีอะไร คนทั่วไปเข้าใจเลยใช่ไหม แต่เขาไม่เข้าใจว่าอะไรคือพื้นหลัง ถามคำถามเดิมๆ ชี้ให้ดูเป็นปี เขาถึงจะตอบได้ มันต้องใช้ความอดทน มีวินัย และความพยายาม เหมือนคนทั่วไปเลย (หัวเราะ)”

คนจะประสบความสำเร็จต้องมีวินัย ใช้ความเพียรพยายาม เด็กพิเศษก็เหมือนกันเลย แต่แค่ต้องทวีคูณเข้าไป เพราะเรื่องที่มันง่ายสำหรับเรา มันอาจจะยากสำหรับเขาก็ได้

ปกติแล้วทำงานไปทีละชิ้นหรือเปล่า ชิ้นที่นานที่สุดใช้เวลานานที่สุดเท่าไหร่

มันไม่ใช่แบบนั้น เพิ้งเป็นพี่ที่เรียนศิลปะมา เพราะฉะนั้นเราจะพอมีวิธีการจัดการในระดับหนึ่ง เราจะดูออกว่าเขาอยากทำแค่ตรงนี้ ถ้าเราจะทำงาน งานต้องเสร็จ ต้องดำเนินต่อไป ความรู้สึกเขาก็ต้องแคร์ด้วย ไม่ใช่ว่าปล่อยงานให้ไม่เสร็จ ยาวเป็นปีก็ได้เพราะเขาไม่ได้อยากทำ สุดท้ายแล้วเมื่อเป็นสองคนแล้วต้องมีการจัดการค่ะ

ฟังดูเหมือนการทำงานปกติเลย

ใช่ แต่สุดท้ายแล้วเราต้องดูว่าคนๆ นี้เป็นยังไง เหมือนต้องใช้จิตวิทยา เพิ้งเป็นอาจารย์พิเศษสอนศิลปะเด็กด้วย เพิ้งก็พูดกับเด็กแต่คนไม่เหมือนกัน ถ้าเกิดเราใช้แพทเทิร์นเดิมในการสอนเด็กทุกคน แต่คนๆ นี้อ่อนไหวในเรื่องนี้ เขาอาจจะไม่อยากเรียนกับเราอีกเลยก็ได้ นายพรานหรือเด็กพิเศษคนอื่นๆ ก็เหมือนกันค่ะ ถ้าเรามองว่างานชิ้นนี้ต้องเสร็จภายในหนึ่งเดือน แต่เขาทำไม่ได้ เขาไม่อยากทำแล้ว ถ้าเราไปบังคับเขามากๆ เขาอาจจะกลัวการทำงานกับเราไปตลอดชีวิตเลยก็ได้ เพราะฉะนั้นมันต้องอยู่กับปัจจุบันให้มากที่สุดเลย

กิจวัตรประจำวันเปลี่ยนไปไหม

เด็กพิเศษมักจะทำอะไรที่เป็นกิจวัตร เพราะฉะนั้นอย่าไปก้าวก่ายกิจวัตรประจำวันของเขา เช่น นายพรานเนี่ย ตื่นมาต้องสวดมนตร์ก่อน เก็บที่นอน ลงมาทานอาหารเช้า กวาดบ้าน กวาดลานหน้าบ้าน รดน้ำต้นไม้ แล้วก็ทานของว่าง ทำงานศิลปะ ทานของว่าง แล้วก็ออกไปรดน้ำต้นไม้ กวาดใบไม้ แล้วก็ทานข้าว เดินย่อยอาหาร ทำงานศิลปะก่อนนอน ถ้ากิจวัตรเขาเคลื่อนไปบางทีเขาจะไม่สบายใจแล้ว จะหงุดหงิดหรือไม่มีสมาธิในการทำงาน แต่ข้อเสียของกิจวัตรคือมันต้องพัฒนาได้ แต่เนี่ย ยังไม่ค่อยพัฒนา (หัวเราะ) มันต้องปรับให้เข้ากับชีวิตประจำวันได้ เช่น ฝนตกไม่ต้องรดน้ำต้นไม้ก็ได้ (หัวเราะ) 

แต่พอเป็นกิจวัตรมันน่าจะง่ายขึ้นกับการทำงาน ความยากอยู่ตรงไหน

เขาไม่ถึงกับว่าถ้าวันไหนไม่ทำตาม เขาจะงอแงหรือโมโหนะคะ มันจัดการง่าย เพราะเรารู้เลยว่าเขาน่าจะทำแบบนี้ๆ เวลานี้เขาน่าจะอยู่ตรงนี้ๆ เหมือนรู้ใจกัน แต่ถ้าเกิดว่าระบบเขาสะดุด เช่น เราบอกว่า นายพราน พี่เพิ้งขอเวลารดน้ำต้นไม้มาทำงานเพิ่มได้ไหม ตรงนี้บางทีอาจจะมีปัญหา ต้องเจรจากันหน่อย เช่น นายพรานช่วยพี่เพิ้งทำตรงนี้หน่อยนะ 

ชอบคำว่า “กิจวัตรประจำวันของเขาอย่าไปก้าวก่าย” เราเองก็เคารพ ให้สิทธิน้องในการใช้ชีวิต

ต้องเคารพการตัดสินใจของเขาด้วย เพราะเราเหมือนเป็นพาร์ทเนอร์ค่ะ ไม่ใช่ว่าเขาเป็นเด็กพิเศษแล้วจะบอกให้เขาทำอะไรก็ได้ ต้องรับฟังความคิดเห็นของเขาด้วย อย่างรูปๆ หนึ่งสีสันมันมากมายเลย แต่มันไม่ได้มาจากเพิ้งคนเดียว มันมาจากเขาด้วย ความพิเศษที่อยู่ในงานมันเพราะว่าสองคนทำงานด้วยกัน มันเป็นกระจกสะท้อนผ่านความพิเศษของเขา เราไม่เข้าใจหรอกว่าเขาเห็นอะไร แต่เขาถ่ายทอดออกมาด้วยความบริสุทธิ์ เช่น การวาดรูปเสือที่มีลายตาราง ซึ่งไม่ใช่การถ่ายทอดออกมาผ่านความเป็นจริงแต่พิเศษมาก เพิ้งคิดว่าสิ่งที่เด็กพิเศษถ่ายทอดออกมามันพิเศษและน่าสนใจตรงนี้แหละ

เขาได้ส่งความรู้สึกบอกพี่ไหม ว่าภูมิใจในการงานที่ทำ หรือรู้สึกอย่างไรกับงานศิลปะที่ออกมา

เขารู้ว่ามันเป็นงาน เขาได้แสดงงาน เขามีสังคม เขามีคนชื่นชม เพิ้งว่าเขารู้ แต่ว่าเด็กพิเศษเหล่านี้จิตใจเขาบริสุทธิ์ จริงใจจนเกือบจะเป็นพระที่อรหันต์แล้วนะถ้าเราจะมองในอีกมุมหนึ่ง คือเขาไม่โกรธ ไม่แค้น ไม่เคือง ไม่โกหก ไม่อยากมีอยากได้ งานก็คืองาน เขาไม่ได้แบบว่า..คนๆ นี้ชอบงาน เขาไม่ได้เอาคำชื่นชมนั้นมาทำให้ชีวิตเขามีความสุขเลย แต่เขาเห็นคุณค่าของการทำงาน และกรณีของนายพรานคือเขามีความสุขที่ได้ทำงานกับพี่สาวด้วย

ลึกซึ้งมากเลย

แล้วเพิ้งรู้สึกเลยว่าถ้าเขาจะชื่นชมในตัวเอง เราก็ต้องเป็นฝ่ายทำให้เขาเห็นด้วย นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมเพิ้งถึงทำงาน paper mache ตัวสัตว์ (มีจัดแสดงที่ ARDEL) เพราะมันมาจากรูปวาดของเขา และมาจากสเก็ตช์ตอนแรกๆ ที่เราค้นหาว่าเขาชอบวาดรูปไหม แล้วรูปที่เขาวาดมันเป็นยังไง รูปสัตว์ที่เขาวาด เพิ้งรู้สึกว่ามันพิเศษมาก เช่น เสือ ลายเสือเป็นตาราง เพิ้งรู้สึกว่ามันพิเศษจนเพิ้งอยู่เฉยไม่ได้แล้ว มันเป็นแรงบันดาลใจเรามากๆ เลย เราต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว 

งานของเพิ้งมันเลยจะซื่อๆ เพิ้งไม่ได้เอาสิ่งที่เขาทำไปทำให้มันพิเศษเลย เพิ้งแค่เอาด้านสองมิติของเขามาทำให้เป็นสามมิติ แล้วจินตนาการอีกด้านหนึ่งที่เขาไม่ได้วาดใส่เข้าไป เพราะต้องการทำให้เขาภูมิใจในตัวของเขา เราเอาจุดเล็กๆ ไปขยายใหญ่ แล้วแสดงให้เขาเห็นอีกที ว่าพี่ไม่ได้ละทิ้งสิ่งที่เขาวาดนะ พี่ทำให้หนูเห็นนะว่าถ้ามันออกมาเป็นตัวจริงแล้วมันจะเป็นยังไง

เหมือนขยายจินตนาการของเขา

ขยายจินตนาการ แล้วก็ให้เขาเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น เพิ้งว่าเขารู้สึกนะ แต่เขายังสื่อสารไม่เป็น เขาไม่ได้มาแบบ ขอบคุณครับที่ทำตรงนี้ให้ ชอบจังเลย แค่เพิ้งอยากทำให้เขาเห็นน่ะ ว่ามันสนุกนะนายพราน กิจกรรมที่เราทำด้วยกันเนี่ย เพิ้งคิดต่อจากรูปวาดของเขา ว่าถ้าเพิ้งจะทำเป็นงานประติมากรรม เพิ้งจะใช้เทคนิคไหนดีที่พี่กับน้องทำงานด้วยกันได้จริง ไม่แบ่งแยก ใช้เวลาด้วยกันได้จริงๆ สิ่งเดียวที่ตอบโจทย์ก็คือ paper mache นี่แหละ ทำพร้อมกัน เดินทางไปด้วยกันได้

เหมือนเพิ้งเองก็เติบโตมากๆ เช่นเดียวกัน

เพิ้งว่าศิลปะมันทำให้คนต้องคิดไม่หยุดน่ะค่ะ แล้วพออะไรๆ ก็เป็นงานไปซะหมดแล้ว แรงบันดาลใจที่เราได้รับจากเขามามันมากมายน่ะ มันเลยทำให้หลายๆ สิ่งหลายๆ อย่างที่เพิ้งทำมันกลายเป็นเรื่องในชีวิตประจำวัน หยิบจับอะไรมาเราก็คิดว่าอยากเอามันไว้ตรงนั้น อยากทำแบบนี้

แล้วระหว่างการเดินทางนี้ ตอนที่เพิ้งรู้สึกว่ามันเป็นรูปเป็นร่าง และน่าจะพัฒนาต่อได้คือตอนไหน

จุดๆ นั้นมาถึงเมื่อเราทำอะไรสักอย่างอย่างต่อเนื่องจนระยะเวลาพอสมควรแล้ว ว่าเราจะไปต่อยังไงได้บ้าง เพราะฉะนั้นเหมือนชีวิตคนปกติเลยเนอะ ถ้าคุณไม่เพียรอะไรมากพอ คุณยังไม่ชัดเจนและยังไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมันดี อย่าเพิ่งไปตัดสินว่ามันจะดี มันจะประสบความสำเร็จ หรือมันจะพัง นายพรานกับเพิ้งทำงานศิลปะด้วยกันเป็นเวลาตั้งแต่เรียนจบ อีก 2-3 ปีถึงจะได้แสดงงานนะ ก็ใช้เวลาตั้ง 6 ปี

เพิ้งว่าถ้าเราตั้งคำถามอะไรแล้ว เราก็แค่หาคำตอบ นายพรานเขาส่งแรงบันดาลใจมาให้เพิ้ง แล้วเพิ้งก็คิดต่อว่าจะทำอะไรอยู่ตลอดเวลา ไอ้ตลอดเวลานั้นที่เราเดินทางไปกับเขา มันก็มักจะมีแรงบันดาลใจอะไรใหม่ๆ ที่ทำให้เราคิดได้ว่าเราไปทำแบบนี้ได้นี่หว่า อันนี้ต่อยอดไปทำแบบนี้ได้

มีวิธีการสังเกตความพิเศษ เช่น การที่เพิ้งเห็นรายละเอียดในลายของเสือที่น้องวาดว่าเป็นลายตาราง อย่างไรบ้าง

เอาจริงๆ แล้วเพิ้งเองก็ไม่ได้แตกฉานกับศิลปะมากพอตอนที่เห็นงานเขาแรกๆ เพิ้งรู้สึก แต่เพิ้งไม่สามารถยกย่องมันได้ขนาดนั้น แต่ตอนนั้นมีอาจารย์ที่ปรึกษาที่เก่งมาก (อาจารย์อิทธิพล ตั้งโฉลก) พอที่จะดูได้ว่างานแบบนี้คนธรรมดาทำไม่ได้นะ จำได้ว่าเพิ้งให้นายพรานวาดรูป แล้วเพิ้งก็ไปทำอย่างอื่น เพิ้งกลับมาก็ถามว่านี่ตัวอะไร นายพรานก็บอก เสือครับ เพิ้งก็บอกว่านายพรานคิดได้ยังไง ทำไมมันถึงเป็นลายตารางล่ะ! เพิ้งจำได้เลยนี่มัน 6-7 ปีมาแล้ว เพิ้งถามเขาแบบนี้ ด้วยเสียงแบบนี้เลยนะ คิดได้ยังไงน่ะ (หัวเราะ) คิดถึงมันเนอะ (คุยกับนายพราน) 

ในการใช้ชีวิตร่วมกันที่ผ่านมา ช่วงเวลาแบบไหนที่รู้สึกว่ายาก ต้องทำความเข้าใจกันมากๆ 

เพิ้งว่าการสื่อสาร เพราะว่าน้องสื่อสารไม่ได้ เช่น เรายังไม่แน่ใจว่าเวลาเขาไม่สบาย เจ็บคอ เขาพูดจริงไหม จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่ค่อยรู้ค่ะ ต้องใช้เซนส์น่ะ ต้องเดาใจกันว่า อ่ะ อาการนี้คือสงสัยไม่อยากทำงานแล้ว อาการนี้สงสัยต้องพักแล้ว

น้องเคยทำให้เสียใจกับโกรธบ้างไหม

มี๊(เสียงสูง) ก็ความกิจวัตรของเขานั่นแหละ (หัวเราะ) ที่เขาต้องรดน้ำ ต้องกวาดใบไม้เนี่ย ทำๆ งานอยู่ก็วางพู่กันแล้วไปทำอย่างอื่นเนี่ย บางทีพี่เพิ้งก็ไม่พอใจนะครับ (คุยกับนายพรานแล้วหัวเราะ) บางทีทำ paper mache อยู่แล้วอยากให้มันแห้ง เจ้านี่ก็ไปเอาสายยางมาฉีดต้นไม้ด้วยความที่อยากเล่นน้ำ แทนที่จะรดน้ำกับดิน ดันฉีดน้ำขึ้นฟ้า paper mache ก็เปียกหมดเลย ก็ทะเลาะกัน แต่เพิ้งว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา คนจะมองว่าเพิ้งบ้าก็ได้ แต่บางทีอารมณ์มันก็หลุดเหมือนกันนะ

ก็เหมือนพี่น้องทะเลาะกัน

ใช่ แบบ ทำไมต้องรดน้ำต้นไม้ด้วย! ก็เห็นว่าตาก paper mache อยู่มันต้องทำให้แห้งนะ นายพรานไปทำให้มันเปียกทำไม อะไรแบบนี้ ซึ่งถ้าจะเราปล่อยไว้และคิดว่าเขาเป็นเด็กพิเศษ มันไม่ได้ไง เพราะเขาก็ต้องพัฒนา บางทีคนทั่วไปเวลาออกไปข้างนอกจะคิดว่าทำไมดุน้อง แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ค่ะ ถ้าเราไม่เบรคเขา เขาก็จะไหลไป เหมือนเวลาที่เขาพูดแล้วเขาไม่ยอมหยุด

เราต้องจัดการกับอารมณ์เราด้วย บางทีมันเหนื่อยนะ เวลาที่เราอยากจะสอนอะไรที่รู้สึกว่ามันง่าย แต่มันไม่ง่ายสำหรับเขาน่ะ เขาก็พยายามจะเข้าใจ เราก็ต้องหาวิธีการสอนให้เขาเข้าใจด้วยเช่นกัน มันต้องอดทน และสิ่งเหล่านี้เปลี่ยนไปตามวัยของเขาและวัยของเราด้วย เพราะพอเราโต เขาก็เป็นวัยรุ่น อีกหน่อยเราแก่ เขาก็เพิ่งจะโต มันเหมือนการเดินทางไปด้วยกันน่ะค่ะ เพราะฉะนั้นตอนนี้เพิ้งก็อยู่กับเด็กที่เป็นวัยรุ่นน่ะ ก็จะมีความรั้น อยากออกไปเที่ยวนอกบ้าน อยากสั่งของออนไลน์มากิน (หัวเราะ)

ผลงานศิลปะ หรือโปรเจ็กต์ร่วมกันในอนาคตจะเป็นแบบไหน

การทำงานศิลปะเหมือนไดอารีในแต่ละช่วงวัยว่าเราทำอะไร ถึงไหนแล้ว ดังนั้นงานของเรากับน้อง มันก็คือเรากับเขานั่นแหละ แรงบันดาลใจที่เขาส่งเสริมให้เรามันพัฒนาไปได้เรื่อยๆ ทั้งนี้มันเลยไม่สามารถมองอนาคตระยะไกลได้ขนาดนั้น เพราะเรามองไม่ออกหรอกว่าเขาจะปิ๊งอะไร มีเรื่องอะไรในหัวมาถ่ายทอดออกมาให้เราได้คิดอะไรต่อ อย่างตอนนี้เขาวาดเครื่องบิน ก้อนเมฆ ทุกวัน ก็เพราะเขาอยากเดินทางไปต่างประเทศ นั่นคือหมายความว่าเขามีพัฒนาการน่ะ เขาทำอะไรซ้ำๆ เดิมๆ ได้ แต่เขามีความคิดที่จะทำอะไรเพิ่ม และล่าสุดคือเขามีจินตนาการว่าถ้าไปนิวยอร์ค เขาจะเจอตึกรามบ้านเมือง เขาก็วาดตึกขึ้นมา 

มีความฝัน

ใช่ มีความฝัน มีจินตนาการ เพิ้งเลยรู้สึกว่าในชีวิตประจำวันเพิ้งก็เจอเรื่องราวอย่างหนึ่ง เขาก็เจออย่างหนึ่ง เขาจะแสดงสิ่งที่เขาฝังใจผ่านกระดาษ ผ่านการวาดรูป มันก็จะขับเคลื่อนให้เราทำบางอย่างให้มันเชื่อมโยงกับความฝันและความคิดของเขา ถ่ายทอดมันออกมาเป็นงานศิลปะ แล้วก็ทำออกมาให้เป็นเรื่องจริงด้วย พอเรารักเขา เราทำงานด้วยกัน อยู่ด้วยกัน เราก็อยากทำให้ความฝันของเขาเป็นจริงด้วย เพราะฉะนั้นเราก็อยากจะพาเขาไปเที่ยวด้วยเช่นกัน มันเหมือนการ performance (ศิลปะการแสดงสด)เหมือนกันนะ แบบใช้จิตคุยกันน่ะ (ยิ้ม) ทั้งศิลปะ ทั้งการสื่อสาร ทั้งการทำความเข้าใจ 

เพิ้งมีความสุขกับอะไร ใช้เวลาของเพิ้งทำอะไรแล้วมีความสุข

เพิ้งตอบแบบไม่เอาเท่เลยนะ คือเพิ้งเป็นคนที่ไม่ได้มีความทะเยอทะยานอะไรแบบนั้นเลย เป็นคนเรื่อยๆ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำอยู่ทุกวันนี้ คือน้องเป็นแรงบันดาลใจให้เรา เรามีน้องเป็นเด็กพิเศษ ถ้าน้องเรายังเดินทางอยู่ แล้วเราละเอียดอ่อนพอที่จะรับรู้ความพิเศษของเขา และดึงเอาความพิเศษของเขามาทำอะไรบางอย่าง เราก็นำตรงนั้นมาใช้ขับเคลื่อนความเรื่อยๆ ของเรา ทำให้เราเดินไปกับเขาได้ไม่หยุดและไม่เบื่อ 

เพราะถ้าเราเดินไปเรื่อยๆ โดยที่เราไม่ละเอียดอ่อนพอ เราก็เหมือนไม่มีเป้าหมาย แต่พอเรามีเขา มันทำให้เราเดินทางไปด้วยกันได้ คิดต่อเนื่องไปด้วยกันว่าเราสองพี่น้องอยากมีชีวิตยังไง อยากทำงานยังไง 

พอเขาส่งแรงบันดาลใจอะไรมาให้เพิ้ง แล้วเพิ้งก็เอาไปคิดต่อยอด ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ เป็น art on garment เป็นเสื้อ เป็นเฟอร์นิเจอร์ คนอาจจะตีความว่ามันอาร์ตหรือไม่อาร์ตก็ได้ แต่ทั้งหมดทั้งมวลมันเป็นการทำงานของเราสองคน มันเป็นแรงบันดาลใจที่มาจากคนสองคน เพิ้งคิดแค่นั้นน่ะ เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าความสุขในการทำงานของเพิ้งในตอนนี้คืออะไร มันคือการทำงานแล้ว เพราะว่างานที่เพิ้งทำมันทำเพื่อเพิ้งเอง สุดท้ายแล้วมันเป็นคำตอบที่เห็นแก่ตัวมากเลยนะ แต่นี่คือสัจธรรม คือการทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น 

และที่มันดียิ่งขึ้นไปอีก คือการที่เราได้ทำงานกับน้อง เป็นสิ่งที่เราชอบและถนัดด้วย และมันสนุกตรงที่เราจัดการมันได้ โอเคบางครั้งเราเอามันไม่อยู่หรอก มันมาพร้อมกับความเครียด แต่ถ้าสุดท้ายมันออกมาแล้วมัน ‘งาม’ น่ะ ความงามของคนมันไม่เหมือนกันใช่ไหม ความงามของเพิ้งคือเราตั้งเป้าว่า ให้งานชิ้นนี้ออกมาแบบนี้แล้วมันเสร็จแล้ว มันชื่นใจแล้ว มันประสบความสำเร็จแล้ว มันเห็นตรงหน้าเลยว่ามันสวย มันทำให้เราอิ่มใจ มันเติมเต็มเราได้ เราก็จะลืมเรื่องเครียดไปได้ เพราะถ้าเราเครียดแล้วเราไปพาลคนรอบข้างแล้วเขาคุกรุ่นไปหมด มันแย่แล้ว 

ความสุขของเพิ้งอีกอย่างนอกจากการทำงาน คืออยากให้ชีวิตของเพิ้งอยู่กับใครแล้วเขาไม่ต้องมาเครียดกับเรา อยู่กับเขาแล้วมีความสุขน่ะ อย่างน้อยน้องจะมีความสุขที่ได้ทำงานกับเรา แค่นั้นพอ 

ตอนแรกก็คิดหนักว่าจะคุยแบบไหนให้มันออกมาให้ไม่เกินจริง เพราะประเด็นเด็กออทิสติกก็มีสิ่งที่น่ากังวล ไม่สวยงาม และควรจะได้รับการเอาใจใส่ ใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย แต่พูดอย่างไรให้มันออกมาเรียบง่าย มีความเป็นมนุษย์ มีความโกรธ มีความสุข แต่เป็นไปบนพื้นฐานของความเป็นจริง

โอ๊ย เพิ้งไม่ได้โลกสวย แบบว่าโอ๊ย น้องฉันเป็นเด็กพิเศษอะไร เราก็มีดุเขา เพราะเราก็เป็นห่วง และที่มาได้ถึงวันนี้เพราะที่บ้านสนับสนุนด้วยค่ะ เป็นกำลังใจให้ และเขาไม่ได้มาพูดว่า อู๊ย ขอบคุณนะเพิ้ง เพิ้งเก่งจัง แต่เพิ้งรู้ว่าเขาแฮปปี้ที่เรายังอยู่ในบ้าน มีบ้านที่อบอุ่นขนาดนี้ เขาได้ตื่นมาเห็นเพิ้งทุกวัน ได้เห็นเราทำงานกับน้อง ไม่ทิ้งน้อง 

สิ่งที่สำคัญในการดูแลกันในครอบครัว หรือที่เพิ้งเป็นเพิ้งอยู่ในทุกวันนี้คืออะไร

สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตเพิ้งเลยเหรอ (หัวเราะ) 

ปกติไม่ค่อยถามคำถามแบบนี้เหมือนกัน (หัวเราะ) อาจจะเป็นสิ่งสำคัญของการอยู่ร่วมกันของคนในครอบครัวก็ได้

ก็คงเป็นความรัก ความเข้าใจ ความอบอุ่นใจ คือบ้านน่ะเนอะ มันต้องเป็นสถานที่ที่กลับมาแล้วพร้อมจะเอนหลังนอนแล้วสบายใจน่ะ ไม่ใช่พอเอนหลังนอนแล้วมีอุกกาบาตกำลังจะหล่นทับตู๊ม มันไม่ได้น่ะ (หัวเราะ) มันต้องประนีประนอมกัน เข้าใจกัน เหมือนครอบครัวอื่นแหละค่ะ แต่พอครอบครัวเพิ้งมีเด็กพิเศษอยู่ในบ้าน มันก็แค่ต้องใช้ความมีวินัย ความพยายาม ความอดทนมากขึ้นเท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตเพิ้งเหรอ คือการเดินทางร่วมกันไปกับน้องชายโดยที่ไม่ละทิ้งกัน ไม่ละเลยกัน แล้วก็มีวินัยในการทำงานรวมกันอย่างต่อเนื่อง จะเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เขาและเพิ้งมีพัฒนาการที่ดีขึ้นไปพร้อมๆ กัน

ข้อมูลเพิ่มเติม
ยายเพิ้งกับนายพรานทำ #เสื้อยืดปันน้ำใจเขียนลายโดยบุคคลออทิสติก โดยรายได้ส่วนหนึ่งหลังหักค่าใช้จ่ายจากการขายจะไปสมทบทุนให้กับ “ศิริราชมูลนิธิ หน่วยจิตเวช ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ” โดยติดตามได้ที่เพจ Yaipoeng & Naipran Art Therapy Studio


Writer

Avatar photo

ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

นักแปล นักเขียน ช่างภาพสาว ผู้ทำงานประจำอยู่ 6 เดือนและไม่ทำอีกเลย ซึ่งคิดว่าคงเป็นอย่างนี้ตลอดไป หาตัวได้แถวเชียงใหม่และบางแค หัวบันไดไม่เคยแห้งเพราะจ้างร้อยแต่ให้มาล้านทั้งปริมาณภาพ ความยาวของเนื้อหาและพาดหัว ไม่เคยมีคำว่าน้อยแต่มาก มีแต่คำว่ามากแต่มากกว่า

Photographer

Avatar photo

ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

นักแปล นักเขียน ช่างภาพสาว ผู้ทำงานประจำอยู่ 6 เดือนและไม่ทำอีกเลย ซึ่งคิดว่าคงเป็นอย่างนี้ตลอดไป หาตัวได้แถวเชียงใหม่และบางแค หัวบันไดไม่เคยแห้งเพราะจ้างร้อยแต่ให้มาล้านทั้งปริมาณภาพ ความยาวของเนื้อหาและพาดหัว ไม่เคยมีคำว่าน้อยแต่มาก มีแต่คำว่ามากแต่มากกว่า

Illustrator

Avatar photo

ลักษิกา บรรพพงศ์

กราฟิกดีไซน์เนอร์ที่เกิดและเติบโตมาพร้อมกับธุรกิจเพลงเด็ก ติดซีรี่ย์ ชอบร้องเพลง ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และเป็นทาสแมว

Related Posts