ก่อนจะไปสนทนากับคนที่ผลักดันให้ EF เป็นที่รู้จักในไทย เราขอแวะเล่าคอนเซ็ปต์พื้นฐานของ EF ให้ฟังสักนิด
EF หรือ Executive Function คือโครงสร้างสมองส่วนหน้า เป็นโครงสร้างที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ การกระทำ และความคิดของคนหนึ่งคนเพื่อไปสู่เป้าหมายบางอย่าง พูดง่ายๆ ว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สมองและจิตใจแข็งแรง สามารถรับมือกับโลกที่ผันผวนทุกวันอย่างไม่เกรงกลัว
EF สามารถฝึกฝนให้แข็งแรงได้ตั้งแต่เกิด ซึ่งหากถอดบทเรียนออกมาแล้ว เราอาจแบ่งทักษะ EF ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มทักษะพื้นฐาน ส่งเสริมให้แก้ปัญหาได้เก่งและเป็นพื้นฐานของความคิดสร้างสรรค์ ประกอบด้วย การจำเพื่อใช้งาน การยับยั้งชั่งใจ และการสับเปลี่ยนความคิด
- กลุ่มทักษะกำกับตนเอง ส่งเสริมให้ควบคุมอารมณ์ได้เก่ง ประกอบด้วย การควบคุมอารมณ์ การจดจ่อใส่ใจ และการคิดทบทวนตัวเอง
- กลุ่มทักษะปฏิบัติ ส่งเสริมให้ลงมือทำได้เก่ง ประกอบด้วย การริเริ่มลงมือทำ การวางแผนและจัดลำดับความสำคัญ และ การยืนกรานที่จะไปสู่เป้าหมายให้ได้
หลักการเหล่านี้คือการตกตะกอนของ ครูหม่อม-ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร อาจารย์ประจำสาขาพัฒนาการมนุษย์ สถาบันแห่งชาติเพื่อพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้มีความเชี่ยวชาญเรื่องการศึกษาปฐมวัย สนใจเรื่องสมอง จิตใจ และความสัมพันธ์ โดยเฉพาะการสร้างตัวตน วินัยเชิงบวก และใช่-ครูหม่อมคือผู้ผลักดันให้ EF เป็นที่รู้จักในไทยที่เราพูดถึงในย่อหน้าด้านบน
ในยุคที่เหล่าผู้ปกครองใส่ใจกับการเลี้ยงดูลูกหลานมากกว่าที่เคย คำว่า EF ที่ครูหม่อมผลักดันนั้นถูกพูดถึงมากขึ้นและมากขึ้น เราจึงขอใช้วาระนี้สนทนากับครูหม่อมตั้งแต่จุดเริ่มต้นของ EF กระบวนการการทำงานอย่างละเอียด และเหตุผลเบื้องหลังความนิยมของ EF ในบ้านเรา
จุดเริ่มต้นที่ทำให้ครูหม่อมสนใจการส่งเสริม Executive Function หรือ EF คือตอนไหน
ช่วงปี 2001 ครูไปเรียนปริญญาโทและปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกา สาขาการศึกษาปฐมวัย ช่วงปีนั้นเป็นช่วง Paradigm Shift (การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์) มีการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาที่สหรัฐอเมริกา ก่อนหน้านี้เมื่อเราเรียนรู้เกี่ยวกับเด็ก เราจะอธิบายว่าเด็กคนหนึ่งมีการเรียนรู้และมีพฤติกรรมมาจากสมองจิตใจ หากเราจะสอน เสริมสร้างพฤติกรรม หรือปรับเปลี่ยน เราจะให้รางวัลและให้โทษ เพราะการให้รางวัลหรือให้โทษนี้จะส่งผลต่อจิตใจของเด็กในการตัดสินใจ นี่คือกระบวนทัศน์เดิมที่เคยมีมา
แต่ช่วงที่ครูไปเรียน มีงานวิจัยมากมายค้นพบว่าการเรียนรู้ไม่ได้เป็นแค่เรื่องสมอง จิตใจ และพฤติกรรม แต่เป็นเรื่อง Interpersonal Neurobiology หรือ IPNB ซึ่งพูดถึงสมอง จิตใจ และความสัมพันธ์
นักวิจัยพบว่าความสัมพันธ์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างสมองและจิตใจได้ ซึ่ง EF หรือโครงสร้างสมองส่วนหน้า เป็นโครงสร้างที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ ควบคุมการกระทำ และควบคุมความคิดเพื่อไปสู่เป้าหมาย ถ้า EF ทำงานก็จะทำให้พฤติกรรมของเราดี
เพราะฉะนั้น การจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กจะปรับที่ตัวพฤติกรรมไม่ได้แล้ว เด็กคนหนึ่งจะใช้ EF ในการคิด วิเคราะห์ ตัดสินใจ แก้ไขปัญหา และควบคุมอารมณ์ไม่ได้เลยถ้าความสัมพันธ์ของเขากับคนรอบข้างไม่ดี เรียกได้ว่าในเรื่องของการศึกษาปฐมวัยนั้น ความสัมพันธ์สำคัญเป็นอันดับหนึ่ง
ช่วยอธิบายหลักการการทำงานของ EF แบบคร่าวๆ ให้ฟังหน่อยได้ไหม
EF คือกระบวนการการทำงานของสมองส่วนหน้า ใช้กำหนดความคิด อารมณ์ พฤติกรรม เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย ถามว่ากรณีไหนบ้างล่ะที่เราต้องกำกับสิ่งเหล่านี้ ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เด็กคนหนึ่งร้องไห้ ถ้าเราอยากให้เขาหยุดร้องไห้ เราต้องกำกับความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมเขา นี่คือ EF
หรือการที่เราต้องตื่นแล้ว แต่ยังง่วงนอนอยู่ ถ้านอนต่อนั่นคือยอมให้สมองส่วนอารมณ์ทำงาน แต่ถ้าง่วงนอนแล้วคิดว่าต้องไปเรียนหรือไปทำงาน เราเลยตื่นมาอาบน้ำ นั่นคือการกำกับความคิดและอารมณ์ เพราะฉะนั้นเราล้วนต้องใช้ EF ในทุกอย่างตั้งแต่ตอนตื่น
การจะสอนเด็กคนหนึ่งให้มีความรับผิดชอบ ควบคุมอารมณ์ เจอปัญหาที่ท้าทายแล้วควบคุมอารมณ์ให้อยู่กับปัญหา ล้มแล้วลุกได้ สิ่งเหล่านี้ต้องพึ่ง EF ทั้งหมด นั่นเป็นเหตุผลที่ครูออกมาขับเคลื่อนเรื่องนี้ ถ้า EF เด็กไม่ทำงาน สิ่งที่เราอยากสอนเขาจะไม่ติดเป็นนิสัย เพราะ EF คือสมองของเขา ถ้าสมองส่วนไหนทำงานซ้ำๆ มันจะกลายเป็นนิสัย บุคลิกภาพ ทักษะ และสันดานที่ดี
สิ่งที่ครูเน้นย้ำกับผู้ปกครองและครูผู้สอนบ่อยๆ คือกระบวนการการทำงานของ EF ซึ่งเวลาที่ EF จะทำงานนั้นจะมีการดึงประสบการณ์เดิมมาประมวลผลก่อนเพื่อกำกับอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมเพื่อไปถึงเป้าหมาย พูดง่ายๆ คือมันต้องมีประสบการณ์เดิมที่ถูกดึงไปให้เด็กได้คิด วิเคราะห์ ตัดสินใจ ควบคุมอารมณ์และวางแผน เพื่อลงมือทำอะไรบางอย่างกับสถานการณ์ปัจจุบัน
คำถามคือ ประสบการณ์เดิมของเด็กเยอะหรือน้อย
อาจจะน้อยกว่าผู้ใหญ่
ใช่ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เด็กมีพฤติกรรมบางอย่าง เช่น เวลาเด็กคนหนึ่งโมโหแล้วต่อยเพื่อน หลายคนถามว่าทำไมต้องไปต่อยเขา แต่คำถามที่ครูหม่อมจะถามต่อคือ แล้วเคยสอนเขาหรือยังว่าโมโหแล้วต้องทำยังไง มีใครบอกข้อมูลเขาไหมว่าถ้าไม่ต่อยแล้วทำอะไรได้ เพราะเมื่อเขาโมโห EF เขาต้องทำงานโดยการดึงประสบการณ์เดิมมาใช้ แต่ในเมื่อเขาดึงมาแล้วไม่มีข้อมูล จะให้เขาทำยังไง
ไม่ว่าประสบการณ์เดิมเยอะหรือน้อย สิ่งสำคัญกว่านั้นคือประสบการณ์เดิมมีคุณภาพเพียงพอหรือเปล่า คำว่าประสบการณ์เดิมที่มีคุณภาพเพียงพอเกี่ยวข้องกับโมเดลที่ครูหม่อมทำขึ้น ครูเรียกว่า ‘โมเดลความรู้ฐานราก 3 มิติการพัฒนามนุษย์’ ซึ่งมี EF อยู่ด้านบนสุด ตรงกลางคือพัฒนาการ 4 ด้าน และล่างสุดคือการพัฒนาการด้านตัวตน
ประสบการณ์เดิมที่มีคุณภาพเพียงพอมี 2 รูปแบบ แบบแรกคือเด็กมี self หรือตัวตนหรือเปล่า ตัวตนคือความรู้สึกนึกคิดของเขาซึ่งมีพัฒนาการมาเหมือนกัน เมื่อไหร่ที่เด็กเสียเซลฟ์ เด็กจะใช้กลไกป้องกันตัวเอง เมื่อไหร่ที่เด็กใช้กลไกป้องกันตัวเอง EF ก็ไม่ได้ทำงาน แบบที่ 2 คือวิธีการคิดแทนของพ่อแม่และคุณครู ซึ่งพอเราคิดแทนเขา เด็กก็ไม่ได้ใช้ EF
เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากให้ EF ทำงานโดยธรรมชาติ เด็กต้องรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย เป็นตัวของตัวเองได้ มากกว่านั้น เมื่อ EF พร้อมใช้งานแล้ว พ่อแม่ต้องไม่คิดแทนและขโมยโอกาสเด็กที่เขาจะได้ใช้ EF
เราพอมองออกแล้วว่า EF สำคัญกับเด็กอย่างไร แล้วสำหรับตัวผู้ปกครองล่ะ EF สำคัญกับพวกเขาอย่างไร
EF สำคัญกับผู้ปกครองตรงที่ถ้าพ่อแม่ใช้อารมณ์ เขาจะเลี้ยงเด็กให้เป็นคนเจ้าอารมณ์ เพราะฉะนั้น สิ่งหนึ่งที่สำคัญสำหรับผู้ปกครองและคุณครูคือ เขาเองก็ต้องมี EF ในการกำกับอารมณ์ พฤติกรรม ความคิดให้ตัวเองได้
การจะให้ประสบการณ์คุณภาพ ผู้ปกครองต้องก้าวข้ามความเชื่อและความชินบางอย่าง ยกตัวอย่าง ถ้าลูกเดินมาบอกว่ามีแฟนแล้ว คิดว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่จะพูดว่าไง
เด็กอยู่ ทำไมไม่ตั้งใจเรียนก่อน
เออ ถูกไหมคะ แต่พูดแล้วลูกเลิกชอบแฟนไหม
ไม่เลิก
แล้วลูกเลิกชอบใคร
พ่อแม่
เห็นไหมว่าการพูดอย่างนี้จะทำให้ความสัมพันธ์ไม่ดี พอความสัมพันธ์ไม่ดี โครงสร้างสมองเปลี่ยน EF ก็ไม่ได้ทำงาน เห็นได้ว่าคำพูดใดที่ทำให้ลูกรู้สึกไม่มีตัวตน ไม่เป็นคนสำคัญ ไม่มีความสามารถ ลูกก็จะเสียเซลฟ์ และ EF จะไม่ได้ทำงาน
คำถามคือ พ่อแม่มี EF พอไหมที่จะจัดการอารมณ์ตัวเอง ไม่ใช่โกรธปุ๊บก็ต่อว่า ด่าลูก หรือรีบคิดแทน ใจร้อน ไม่ให้โอกาสลูกได้คิดทำเอง
วิธีแก้คือพ่อแม่จะต้องมีเป้าหมายในการเลี้ยงลูก เพราะ EF เป็นเรื่องของการมีเป้าหมาย พอมีเป้าหมายก็ต้องกำกับอารมณ์ ความคิด พฤติกรรมเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย สิ่งนี้จำเป็นมาก หากพ่อแม่ไม่มีเป้าหมายก็จะเลี้ยงลูกตามความเชื่อ ความชิน และอารมณ์ที่ส่งทอดกันมา
ยกตัวอย่างเป้าหมายให้ฟังหน่อยได้ไหม เช่น อยากให้ลูกโตไปเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม อะไรแบบนี้เหรอ
นั่นเรียกว่าเป้าหมายระยะยาว แต่ก่อนไปตรงนั้น เราอยากชวนพ่อแม่มามองว่าคนที่จะโตมาเป็นพลเมืองที่ดีเนี่ย เขาต้องทำอะไรเป็นก่อน
เป้าหมายง่ายๆ ที่เห็นทุกเมื่อเชื่อวัน คือพ่อแม่ทะเลาะกับลูกเรื่องกินข้าว ตามความเชื่อหรือความชิน ถ้าลูกกินข้าวไป 5 คำแล้วบอกว่าอิ่ม พ่อแม่จะบอกให้กินอีก เพราะเขากลัวลูกไม่อิ่ม ทั้งๆ ที่ลูกก็เพิ่งบอกไปว่าอิ่ม (หัวเราะ) พอสิ่งที่ลูกเพิ่งพูดไปไม่ถูกได้ยินไม่ถูกฟัง EF ก็ไม่ทำงาน
ท้ายที่สุด เป้าหมายจริงๆ ของพ่อแม่คือการอยากให้ลูกกินเป็นมื้อ กินข้าวให้หมดจานถูกไหม เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะกินใครต้องเป็นคนตักข้าว ลูกต้องตักหรือเปล่า เพราะเป้าหมายคือกินข้าวให้หมดจาน เราก็ถามลูกว่าลองถามที่ท้องสิหิวไหม แล้วมื้อถัดไปอีก 3 ชั่วโมงจะกินเท่าไหน ลูกใช้ EF แล้ว
แล้วถ้าลูกตักไปแล้วกินไม่หมดล่ะ
โดนดุเหรอ
ถ้าโดนดุปุ๊บ เสียเซล์ฟเลย EF ก็จะไม่ทำงาน แต่ถ้าพ่อแม่บอกว่า กินไม่หมดไม่เป็นไร ครั้งนี้ตัดสินใจพลาด มื้อหน้าลองใหม่ ลองดูว่าเหลือประมาณไหน เขาก็จะตักอาหารได้ดีขึ้น เห็นไหมว่า EF มันจะเกี่ยวข้องกับเทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวก การสื่อสารเชิงบวก พูดยังไงให้เซลฟ์ยังอยู่
คำพูดหนึ่งที่ครูหม่อมชอบใช้บ่อยๆ คือ พ่อแม่ต้องเป็นผู้ประคอง ไม่ใช่ผู้ปกครอง ผู้ปกครองคือเป็นเจ้าของความคิด เจ้าของความรู้สึก ต้องเข้าไปครอบงำและปกครองเขา แต่ผู้ประคองคือหากลูกตัดสินใจผิดก็ให้ลองใหม่ ถ้าลูกทำดีก็ชมเขา ประสบการณ์เดิมจึงมีคุณภาพเพียงพอที่จะให้ EF เขาได้ทำงาน
เราจะทำอย่างไรให้ EF แข็งแรงขึ้น มีวิธีการฝึกฝนไหม
กลับไปที่กระบวนการการทำงานของ EF เด็กคนหนึ่งจะฝึกได้ เขาต้องมีพ่อแม่และครูที่เป็นคนมั่นคง ปลอดภัย และไว้ใจได้ เพื่อให้เด็กรู้สึกว่าเขามีตัวตน เป็นคนสำคัญ มีความสามารถ และส่งผลให้ EF เขาพร้อมใช้งาน
โอกาสที่เด็กๆ จะได้ใช้ EF คือแกนหลักสำคัญ EF ฝึกกับอะไรก็ได้ งานบ้านก็ทำได้ เพราะได้ฝึกวางแผน จัดระเบียบ มากกว่านั้นคือฝึกจำเพื่อนำไปใช้งาน แถมได้ฝึกควบคุมอารมณ์เพื่อเรียงลำดับความสำคัญของงานด้วย งานบ้านจึงเป็นการฝึกทักษะพื้นฐานของ EF
นอกจากนี้จะมีการเล่นเกมและทำงานศิลปะที่เชื่อมโยงมือกับตาให้สัมพันธ์กัน ก็ช่วยฝึก EF ได้เหมือนกัน
ผู้ใหญ่ฝึก EF ได้ไหม
ผู้ใหญ่ยังฝึกได้ แต่อาจจะฝึกยากหน่อยเพราะมีสันดานเดิม มีประสบการณ์เดิมที่เชื่อและชินอยู่เยอะ อย่างคุณพ่อคุณแม่เอง หลายครั้งที่ลูกทำน้ำหก พวกเขาอาจฝึกด้วยการไม่ว่าลูก ให้ลูกลองใหม่อะไรแบบนี้
แต่ถ้าอยากให้ได้ผลดีมากๆ EF ควรฝึกตั้งแต่แรกเกิดเลย หลายคนเข้าใจว่าเป็นการฝึกของเด็กปฐมวัย แต่จริงๆ EF คือเรื่องของทุกคน
เด็กที่มี EF กับเด็กที่ไม่มี EF จะมีลักษณะต่างกันไหม
อย่างที่ได้เกริ่นไป ถ้าเด็กมีทักษะพื้นฐานที่ดี มีการจำเพื่อนำไปใช้งาน เด็กจะเรียนรู้ และประมวลผลได้เร็ว แต่ถ้าเด็กไม่มีการจำเพื่อนำไปใช้งานเขาอาจจะสมาธิสั้น ฝันกลางวัน เหม่อลอย และประมวลผลช้า
เด็กที่มี EF ดีจะอดทนเก่ง และเป็นเด็กที่มีแนวโน้มจะมีศีลธรรม (Moral) ที่ดี ยับยั้งชั่งใจ เห็นอกเห็นใจผู้อื่นเป็น มีความคิดยืดหยุ่น มีความคิดสร้างสรรค์ และทบทวนตัวเองเก่ง ส่วนเด็กที่ขาด EF ไปอาจจะทบทวนตัวเองไม่เก่ง ทำให้เขาไม่ค่อยเข้าใจ ไม่รู้จักตัวเอง ไม่ยอมรับ และไม่ค่อยเรียนรู้จากความผิดพลาดสักเท่าไหร่
การมี EF ที่ดีในวัยเด็ก จะทำให้เด็กคนนั้นเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่แบบไหน
เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีเป้าหมายในชีวิต อย่าลืมว่า EF ของเราไม่ได้ติดตัวมาแต่กำเนิด ไม่ได้โตตามอายุ แต่มันจะทำงานได้เมื่อเด็กมีความรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย เด็กที่เติบโตมาแล้วมี EF ที่ดี ส่วนมากจะมีพื้นฐานครอบครัวที่ดี หมายถึงครอบครัวให้โอกาสเขาได้ลองผิดลองถูกลองทำ เขาก็จะเติบโตมาโดยมีเป้าหมายว่าอยากทำอะไรแล้วทำได้ ทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร มีผู้ประคองอยู่ เขาจึงโตมาเก่งในแบบของเขา
ส่วนเด็กที่ EF ไม่ดี จะเห็นได้ว่าหลายคนมีปัญหาครอบครัว ถึงแม้ไม่มีปัญหาครอบครัวแต่ครอบครัวเขาก็ไม่เปิดโอกาสให้เขาได้ใช้ EF แม้แต่เด็กที่บ้านรวยมาก พ่อแม่ตามใจทุกอย่าง EF พร้อมใช้งานแล้ว แต่พ่อแม่ก็ยังทำทุกอย่างให้เขาหมด เด็กก็จะไม่มีโอกาสทบทวนตัวเองเลยว่าเขาเก่งอะไร พอเด็กกลุ่มนี้ไปเจอสังคม เขาก็ไม่กล้าแก้ไขปัญหา รู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสามารถ และ EF ก็ไม่ได้ใช้งานอีก
เท่าที่ฟัง รู้สึกว่า EF สัมพันธ์กับเรื่องโอกาสประมาณหนึ่งเลย เป็นไปได้ไหมที่เด็กซึ่งเกิดในบ้านที่มีต้นทุนน้อยจะฝึก EF ได้
โอกาสของเด็กแต่ละคน โดยเฉพาะเด็กในประเทศไทยนั้นไม่เท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่มีต้นทุนน้อย เข้าไม่ถึงโอกาส หรือเด็กที่พ่อแม่ไม่เปิดโอกาสให้ใช้ EF เขาจะหาโอกาสเรียนรู้ให้ตัวเองได้อย่างไร
ในเรื่องของความเท่าเทียม ครูมองว่าความรักของพ่อแม่ไม่ต้องใช้เงิน ต้นทุนตรงนี้พ่อแม่ทำให้เขาได้เลย ไม่ได้เกี่ยวข้องว่าต้องรวยหรือไม่รวย ประเด็นที่ 2 สมมติว่าเขาพลาดจากพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่อุปถัมภ์เขามาแล้ว ความหวังที่ 2 ของเขาคือครูปฐมวัยและผู้ใหญ่รอบตัว ถ้าเขารู้เรื่อง EF เขาก็จะสามารถให้ต้นทุนความรัก ต้นทุนโอกาส ต้นทุนการยอมรับกับเด็กคนหนึ่งให้เขามีตัวตน รู้สึกเป็นคนสำคัญ และมีความสามารถ
การที่เด็กคนหนึ่งจะรู้ว่าเขามีความสามารถ มันขึ้นอยู่กับคนที่อยู่ข้างๆ เชื่อในตัวเขา และให้โอกาสเขาได้โชว์ความสามารถและสะสมความสำเร็จได้มากแค่ไหน
ในปัจจุบัน EF ถูกพูดถึงมากในหมู่ผู้ปกครองและครูในประเทศไทย สิ่งนี้สะท้อนอะไร
ครูคิดว่าเป็นการสะท้อนถึงความหวังนะ เราเคยถึงจุดที่หลายคนรู้สึกหมดหวังกับประเทศไทย ไม่รู้จะไปทางไหนดี แต่การที่คนเริ่มทำความเข้าใจ EF ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องที่เข้าใจง่าย เพราะอยากช่วยลูกหลาน ช่วยลูกศิษย์ให้มี EF นั่นกำลังสะท้อนให้เห็นความหวังใหม่ของประเทศเราว่า เฮ้ย ถ้าเราใช้หลักนี้เราจะช่วยให้เด็กเติบโตขึ้นมาอยู่ในโลกที่ผันผวนแบบนี้ได้ แล้วครูก็เชื่อว่าต่อให้โลกในอนาคตเปลี่ยนไปยังไง หากเด็กมี EF และ Self ที่ดี เขาก็จะอยู่ได้
การเป็นหัวเรือใหญ่ในการผลักดันให้ EF เป็นที่รู้จักในไทย ตั้งแต่สมัยที่ไม่มีใครรู้จักคำว่า EF เลย มีความหมายต่อตัวครูหม่อมอย่างไร
ความหมายแรก ครูนึกถึงประโยค ‘มันต้องหยุดที่รุ่นเรา’ หลายคนเคยเติบโตมาในแบบที่ใช้ EF ได้ไม่เต็มที่ไม่ว่าจะด้วยวิถีอะไรก็ตาม อาจเคยถูกทำให้รู้สึกว่าเราไม่เก่ง ไม่ดี และมีตัวตนภายในที่ไม่แข็งแรง สิ่งเหล่านี้ต้องหยุดที่รุ่นเรา และการได้ช่วยผลักดันเรื่องนี้ก็มีความหมายกับตัวครูในแง่นี้
ความหมายที่ 2 ในแง่มุมของวิชาชีพ ครูมองว่าวิชาชีพครูเป็นวิชาชีพของการพัฒนามนุษย์ ไม่ใช่การทำลายมนุษย์ เมื่อไหร่คนที่เป็นครูทำให้เด็กเสียเซลฟ์ ไม่ให้โอกาสเด็กได้ใช้ EF แต่ไปทำลายพัฒนาการซึ่งเป็นตัวตนและชีวิตของเขา ครูว่านั่นไม่ใช่ครู
เพราะฉะนั้นการส่งต่อเรื่อง EF คือการที่เราจะทำให้เด็กคนหนึ่งได้มีตัวตนของเขา ทำให้ EF ของเขาทำงานได้ นั่นคือการพัฒนามนุษย์