PARENGER : Parent As A Changemaker เมื่อ Parent อยากเป็น Changemaker

ผ่านไปแล้วกับเวิร์กชอป PARENGER : Parent As A Changemaker ห้องเรียนของพ่อแม่ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 – 10 มีนาคม 2567 ด้วยความร่วมมือของ Mappa และ BlackBox ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) สสส. และอุทยานการเรียนรู้ TK Park

กิจกรรมนี้เราชวนพ่อแม่หรือผู้ที่ใกล้ชิดเด็กๆ มาร่วมเรียนรู้เครื่องมือในการสนับสนุนการเรียนรู้ด้วย SEARCH Model ประกอบด้วย Sensing, Empathy, Aspiration, Reconstruct, Chance และ Hearten ซึ่งเป็นเครื่องมือที่พัฒนาขึ้นบนพื้นฐานของทฤษฎีประสาทชีววิทยาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Interpersonal Neurobiology) ที่ใช้ ‘ความสัมพันธ์’ เป็นเครื่องมือหลักในการช่วยให้เด็กสร้างตัวตน (SELF) ผ่านกระบวนการที่สร้างประสบการณ์ให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้ และขยับบทบาทสู่นักสร้างการเปลี่ยนแปลง นำโดยทีมวิทยากร มะโหนก-ศุภวิชช์ สงวนคัมธรณ์ จาก BlackBox, นุ-บุลวิชช์ ช่วยชูวงศ์ ที่ปรึกษาให้กับองค์กรต่าง ๆ, ร่ม-ฉัตรวรุณ เล้าแสงชัยวัฒน์ จากมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) และปลื้ม-ปลื้มปีติ เหลืองสุวิมล จาก Mappa

แต่ความพิเศษยังไม่จบแค่นั้น เพราะว่าในกิจกรรมนี้เรายังมีการนำเครื่องมือจาก SEARCH Model มาให้ผู้เข้าร่วมนำมาถอดบทเรียนและปรับใช้ผ่านกิจกรรมกลุ่มย่อย ซึ่งประกอบด้วย พื้นที่การเรียนรู้ (Learning Space), การสื่อสาร (Media) และการจัดอบรม (Workshop)

ก่อนที่เหล่าคุณพ่อคุณแม่จะขยับเข้าสู่บทบาท ‘ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง’ (Changemaker) ผ่านการนำเอาองค์ความรู้เหล่านี้ไปปฏิบัติจริง

วันนี้เราอยากชวนทุกคนไล่เรียงไทม์ไลน์กิจกรรมตลอด 3 วันที่ผ่านมานี้ไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้เห็นว่ากว่า ‘Parent’ จะเป็น ‘Changemaker’ ได้นั้นจะต้องผ่านขั้นตอนอะไรบ้างถึงจะเป็น ‘PARENGER’ ในวันนี้

หากพร้อมแล้วมาดูการเริ่มต้นของพวกเขาไปพร้อมกันตอนนี้ได้เลย

ในลำดับแรก เรามารู้จัก SEARCH Model กันก่อน ผ่านการไล่เรียงทีละตัวอักษร S E A R C และ H

ทำงานกับความละเอียดและความเงียบ ผ่านการใช้ ‘Sensing’

วิทยากรชวนคุณพ่อคุณแม่ร่วมเรียนรู้เครื่องมือในการสนับสนุนการเรียนรู้ของลูกด้วย SEARCH model โดยเริ่มต้นกิจกรรมให้คุณพ่อคุณแม่ใส่ผ้าปิดตาและผ่อนคลาย ใช้สมาธิในการรับฟังเสียงที่อยู่รอบตัวและเสียงที่อยู่ไกลออกไป จากนั้นจับคู่ให้อีกคนเรียกชื่อในระดับ 10 (ระดับเสียงที่ใช้ตะโกนเวลาโกรธ) แล้วลดระดับเสียงลงในระดับ 5 ระดับ 2 และระดับ 0.5 ตามลำดับเพื่อให้คุ้นเคยกับเสียง จากนั้นให้คนที่เรียกชื่อย้ายตำแหน่งและเรียกด้วยเสียงระดับ 0.5 และให้คนที่ถูกเรียกหาคู่ของตัวเองให้เจอ จากนั้นให้สลับคู่และปิดตาสัมผัสเพื่อน โดยสังเกตท่าทีคู่ของเราว่าจับส่วนไหนแล้วคู่ขยับออก จับส่วนไหนแล้วผ่อนคลาย และจำลักษณะของคู่ของตัวเองให้ได้ จากนั้นจึงขยับตำแหน่งของแต่ละคู่ให้ห่างจากกันและตามหาคู่ของตัวเองให้เจอ

กิจกรรมนี้นำไปสู่การทำความรู้จักกับ S : Sensing การสัมผัสรับรู้ทางประสาทสัมผัสด้วยหัวใจ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ แม่ และลูก (และความสัมพันธ์ระหว่างพ่อและแม่) เป็นการ ‘เชื่อม’ ความรู้สึกและพลังงานระหว่างพ่อ แม่ และลูกให้ตรงกัน ใช้ความรู้สึกในการทำงาน เปิดใจให้รู้สึกถึงความละเอียดอ่อนมากขึ้น และค่อยๆ เปิดช่องและปรับจูนคลื่นความถี่ของอารมณ์และความรู้สึกของพ่อแม่กับลูกในท้ายที่สุด

“หลายครั้งเราไม่ได้อยู่กับสภาวะปัจจุบัน แต่เรามักเชื่อมโยงประสบการณ์และข้อมูลในอดีต หรือคิดไปเองว่าเป็นอย่างนั้น ถึงออกมาเป็นอย่างนี้ แสดงว่าในภาวะนั้นเราหลุด Sensing แล้ว เพราะเราไม่ได้คุยหรือสำรวจสภาวะ Sense กับคนตรงหน้า” พี่นุ-บุลวิชช์

บางครั้งเราแยกไม่ออกว่าความรู้สึกหรือความคิดที่เกิดขึ้นเป็นความรู้สึกของเรา เราอาจเผลอไผลคิดว่าลูกจะต้องคิดและรู้สึกแบบเดียวกันกับเรา เช่น

เรียกลูกมากินข้าวเพราะถึงเวลากินข้าวและตัวเองรู้สึกหิว

บอกให้ลูกใส่เสื้อกันหนาวเพราะตัวเองหนาวและกลัวว่าลูกไม่สบาย

แต่อันที่จริงแล้วเวลาลูกดื้อหรือไม่เชื่อฟัง เราไม่ควรมุ่งไปที่พฤติกรรมของลูก ซึ่งเปรียบเสมือน ‘ยอด’ ภูเขาน้ำแข็ง แต่ให้มองลึกลงไปที่ความรู้สึกและความต้องการของลูก

ส่วนนี้พ่อแม่อาจลองปรับเป้าหมายที่เน้นไปสู่การสร้าง ‘ความสัมพันธ์’ ระหว่างเรากับลูก พร้อมทั้งสังเกตหาจังหวะที่ลูกพร้อมและใช้การถามและรับฟังเพื่อให้เข้าใจลูก แทนการถามเพื่อพยายามหาสาเหตุและหาทางแก้ไขปัญหา รวมถึงเปิดพื้นที่ให้ลูกได้บอก ระบายความคิด และเผยความรู้สึกออกมา

เปิดหัวใจ ด้วย ‘Empathy’

ต่อมาให้แต่ละคนจับคู่และผลัดกันถามตอบโดยใช้ 2 คำถามคือ

(1) คุณคือใคร

(2) ที่ผ่านมาคุณหลงลืมอะไรไป

แต่ละรอบจะให้ผู้ถามใช้คำถามเดิมซ้ำๆ ส่วนผู้ตอบให้ตอบโดยไม่ต้องคิดก่อน ใช้เวลารอบละ 3 นาที

จากนั้นจึงแลกเปลี่ยนสะท้อนความคิดร่วมกัน

กิจกรรมนี้มีพ่อแม่สะท้อนว่า “ได้พูดในสิ่งที่ยังไม่เคยพูดมาก่อน” และ “บางครั้งก็ไม่คิดว่าจะพูดสิ่งนี้ออกมา” ด้วยท่าทีของคู่ของเราที่ตั้งใจฟังและคอยให้กำลังใจช่วยให้กล้าพูดมากขึ้น

ส่วนนี้จะเชื่อมโยงไปสู่ตัวต่อมาคือ E : Empathy การเข้าไปนั่งในใจ เป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัย โดยไม่ตัดสินทั้งทางสายตาและท่าที ถึงแม้ว่าจะเกิดความเงียบขึ้น เราก็ต้องปล่อยให้ความเงียบทำงานเพราะบางครั้งความเงียบก็คือคำตอบ

เติมพลังใจด้วย ‘Hearten’

“พ่อแม่ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีความต้องการของตัวเองเหมือนกัน”

กิจกรรมต่อมาให้แต่ละคนวาดภาพ 1 เหตุการณ์ที่รู้สึกว่า ‘เคยยากแต่ผ่านมาได้แล้ว’ และเขียนจากเหตุการณ์นั้นว่าเราอยากชื่นชมอะไรในตัวเอง และถ้าเราออกจากสถานการณ์ในตอนนั้นได้เราจะไปที่ไหน หรือไปหาใครเพราะอะไร ต่อมาจึงเลือก 1 อย่าง (ไม่ว่าจะเป็นคน สถานที่ หรือกิจกรรม) ที่สามารถชาร์จพลังให้เราได้ทันที รวมถึงเขียนอีก 1 สิ่งที่วางแผนว่าจะทำเพื่อชาร์จพลังโดยตอบโจทย์ตัวเองเป็นลำดับแรก

ในกิจกรรมนี้โยงเข้าสู่ตัวถัดไปคือ H : Hearten การให้กำลังใจ การชื่นชม ที่พยายามหาให้เจอว่าขุมพลังของเราอยู่ที่ไหน และรู้ว่าอะไรคือแหล่งพลังงานของเรา ไม่ว่าจะเป็นคน สถานที่ หรือกิจกรรมใดที่ทำให้รู้สึกว่าเป็นตัวเรา ปลอดภัย มีคุณค่า และเติมพลัง

ชวนดูละครแล้วสังเกตตัวเองว่ารู้สึกอย่างไร เพื่อนำไปสู่ ‘Aspiration’  ‘Reconstruction’ และ ‘Chance’  

วิทยากรเริ่มต้นกิจกรรมต่อมาด้วยการแสดงบทบาทสมมติจำลองสถานการณ์พ่อและแม่ปรึกษากันเรื่องลูก จากนั้นชวนคุณพ่อคุณแม่ในห้องสังเกตและพูดคุยถึงท่าทีและบทสนทนาของตัวละครที่แตกต่างกันของทั้งสองฉาก คุณพ่อคุณแม่ได้สะท้อนว่า การเข้าใจ ‘สภาวะ’ ของคนที่เราพูดด้วย และการ ‘เปลี่ยนวิธีสื่อสาร’ ช่วยทำให้บรรยากาศดีขึ้น

ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปสู่ 3 ตัวที่เหลือคือ A : Aspiration การกำหนดเป้าหมายการเติบโตที่ลูกเป็นเจ้าของ ส่วน ‘พ่อแม่’ ก็เป็นผู้มีบทบาทในการสนับสนุนให้ลูกได้ตั้งเป้าหมาย หรือกำหนดโจทย์ที่เป็นของเขาเอง

Aspiration ช่วยชี้ให้ลูกเห็นว่า สิ่งที่เป็นอยู่หรือเกิดขึ้นในตอนนี้เป็นอย่างไร และให้ลูกตัดสินใจด้วยตัวเอง ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ได้ 2 มุมคือ

(1) ใช้กับลูก โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ลูกสามารถตั้งเป้าหมายของตัวเองได้ และให้เป็นโจทย์ของลูกเอง  

(2) ใช้กับตัวพ่อแม่เอง เพื่อให้รู้เป้าหมายของตัวเอง โดยอาจเริ่มจากการตั้งเป้าหมายที่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับคนรอบตัว

เชื่อมตัวต่อมาด้วย R : Reconstruction การตั้งคำถามเพื่อให้เกิดการย้อนทวนความคิด การจัดระเบียบวิธีคิดของลูกโดยใช้ ‘คำถาม’ ช่วยให้โจทย์หรือเป้าหมายของลูกชัดขึ้นแทนการบอกคำตอบหรือหาทางออกให้ โดยพ่อแม่สามารถทำได้ 2 รูปแบบคือ

(1) เปลี่ยนจากคำแนะนำให้เป็นคำถาม

(2) ตั้งคำถามเพื่อให้เห็นมุมมองใหม่

ซึ่งจะสอดรับกับตัวสุดท้าย C : Chance การเปิดโอกาสให้ทางเลือกและตัดสินใจ เป็นการเปิดโอกาสให้ลูกได้ ‘สำรวจ’ พื้นที่การเรียนรู้ใหม่ๆ และเติบโต ให้โอกาสลูกทั้งในเชิงเวลาและพื้นที่ในการสำรวจทางเลือกของตัวเอง รวมถึงโอกาสในการวางแผนไปสู่เป้าหมายนั้นด้วยตัวเอง

“เอื้อพื้นที่ – เปิดโอกาส – ให้อำนาจให้เลือก”

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เราอาจสรุปโดยง่ายให้เห็นภาพด้วย แผนภาพสรุปการใช้ SEARCH model เปรียบเทียบกับแนวทางการปฏิบัติได้ดังนี้

เมื่อ ‘พ่อแม่’ พร้อมเป็น ‘ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง’ เมื่อนั้น PARENGER จึงบังเกิด!

หลังจากที่วิทยากรได้ชวนคุณพ่อคุณแม่เรียนรู้เครื่องมือในการสนับสนุนการเรียนรู้อย่าง SEARCH model แล้ว ต่อไปเป็นการพัฒนาโปรเจคจากเครื่องมือดังกล่าวเพื่อสร้าง ‘การเปลี่ยนแปลง’ เริ่มต้นด้วยการถอดบทเรียนร่วมกันว่า

ถ้าผู้ใหญ่ทำ SEARCH ได้ดีเด็กจะ

(1) มองตัวเองอย่างไร

(2) เติบโตมากับคุณค่าอะไร

(3) เกิดตัวตนและความสามารถอะไร ซึ่งสามารถนำคำตอบที่ได้มากำหนดเป็นเป้าหมายของตัวเอง

จากนั้นจึงชวนพัฒนาเป็นโปรเจกต์ส่วนตัวตามความสนใจของคุณพ่อคุณแม่ผ่าน ‘บทเรียน’ จากการลงสนามจริงของ Mappa และคุณพ่อแม่จาก PARENGER รุ่นก่อน โดยมีทีมฟาฯ (Facilitator) คอยให้คำปรึกษาและแนะนำ ซึ่งแบ่งกลุ่มตามความสนใจ 3 กลุ่มคือ

กลุ่มที่ 1 พื้นที่การเรียนรู้ (Learning space) เป็นกลุ่มที่ให้พ่อแม่ได้ทดลองออกแบบการใช้พื้นที่ต่าง ๆ เพื่อสร้างการเรียนรู้สำหรับเด็กไม่ว่าจะเป็นโต๊ะ สนามเด็กเล่น หรือเป็นพื้นที่อะไรก็ได้ โดยมีเป้าหมายคือ

(1) เป็นพื้นที่ปลอดภัย ทั้งทางกายภาพและบรรยากาศ รวมถึงมีหลากหลายตามความสนใจ

(2) สร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ ทำให้เด็กรู้สึกอยากทำและอยากเรียนรู้

(3) สร้างการมีส่วนร่วมและมีความยืดหยุ่น สามารถเคลื่อนย้ายอุปกรณ์หรือปรับเปลี่ยนพื้นที่ได้ตามความเหมาะสม  

(4) ส่งเสริมเรื่องความยั่งยืน เช่น การใช้วัสดุรีไซเคิลเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่หรือกิจกรรม

กลุ่มที่ 2 การสื่อสาร (Media) เป็นกลุ่มที่ให้พ่อแม่ที่อยากบอกเล่าเรื่องราว หรือแบ่งปันสิ่งที่อยากจะพูดและนำเสนอได้ทดลองออกแบบการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนบทความ การสัมภาษณ์ คลิปวิดีโอ หรือพอดแคสต์ผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์และไอเดียกับคนอื่นๆ ที่มีความสนใจในประเด็นเดียวกัน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจเป้าหมายของตัวเองว่าต้องการสื่ออะไร กับใคร และใช้วิธีใด โดยอาจหยิบเรื่องราวหรือสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวมาทำให้มีความน่าสนใจมากขึ้นได้

กลุ่มที่ 3 การจัดอบรม (Training) เป็นกลุ่มที่ให้พ่อแม่ที่สนใจได้ทดลองออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับเด็ก โดยกิจกรรมนั้นต้องมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายและผลลัพธ์ (หรือสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้น) ที่เป็นพฤติกรรมของเด็กให้ชัดเจน จากนั้นจึงออกแบบกิจกรรมโดยระบุขั้นตอนว่าทำอะไร (What) – เพื่ออะไร (Why) – โดยวิธีใด (How)

เมื่อคุณพ่อคุณแม่ได้ทดลองออกแบบโปรเจกต์แล้ว หลังจากนั้นจึงเปิดโอกาสให้พ่อแม่แต่ละท่านได้นำเสนอโปรเจกต์ของตัวเองและให้พ่อแม่ท่านอื่นๆ รวมถึงทีมฟาฯ ช่วยตั้งคำถามสะท้อนคิดและร่วมแลกเปลี่ยนไอเดียผ่าน SEARCH model ซึ่งจะช่วยให้โปรเจกต์มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นและคุณพ่อคุณแม่สามารถนำไอเดียที่สนใจมาต่อยอดเป็นโปรเจกต์ของตัวเองได้

ทั้งนี้จะมีการติดตามผลของการพัฒนาโปรเจกต์ของคุณพ่อคุณแม่ในวันที่ 28 เมษายน 2567 ที่จะถึงนี้ ซึ่งทางทีม Mappa จะมาแบ่งปันให้ฟังต่อไป

อย่าลืมให้กำลังใจกับเหล่าพ่อแม่ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงไปกับเราด้วยนะ

“การเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากตัวเรา ถ้าเราเปลี่ยน คนรอบข้างเราจะค่อย ๆ เปลี่ยน” พี่ร่ม-ฉัตรวรุณ


Writer

Avatar photo

ดานา โมหะหมัดรักษาผล

นักเรียน (รู้) ตลอดชีวิตที่มีโลกเป็นห้องเรียน และชอบลองหาสิ่งใหม่ๆ ทำในทุกวัน

Illustrator

Avatar photo

พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts