จะดีไหม? ถ้า ‘การประชุมผู้ปกครอง’ ไม่ได้มีไว้เพื่อเน้นย้ำผลการเรียน แต่เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยน ‘เสียง’ ของเด็ก 

การประชุมผู้ปกครองในภาพจำของคุณเป็นอย่างไร? 

การนัดหมายผู้ปกครองของนักเรียนมานั่งรวมกัน
ฟังคำกล่าวของผู้อำนวยการโรงเรียน 
ฟังรายชื่อผู้ปกครองดีเด่น
รับชม Presentation นำเสนอผลงานและความก้าวกระโดดทางวิชาการของโรงเรียน 
รับฟังผลคะแนนระหว่างภาค รวมถึงคะแนนพฤติกรรมของลูกๆ 
รับเอกสารหนึ่งชุดเกี่ยวกับหลักสูตรและการชำระค่าเทอมก่อนกลับบ้าน 

เมื่อข้อมูลในเอกสารได้รับการประกาศจนครบแล้วก็ดูเหมือนว่าไม่มีอะไรที่ผู้ปกครองและคุณครูประจำชั้นจะต้องพูดคุยกันต่ออีก หลายต่อหลายครั้งการประชุมผู้ปกครองจึงจบลงไปโดยที่ทุกคนมีข้อมูลเดียวกันหนึ่งชุดในเอกสารที่ทางโรงเรียนประกาศและแจกให้ ทั้งที่ลูกๆ ของผู้ปกครองแต่ละคน หรือนักเรียนแต่ละคนของครู มีความแตกต่างหลากหลาย มีจุดยากง่ายในการใช้ชีวิตที่บ้านและโรงเรียน ‘ไม่เหมือนกัน’   

คำถามต่อสิ่งที่เรียกว่า ‘การประชุมผู้ปกครอง’ ที่ว่านี้จึงเป็นว่า ‘นักเรียน’ อยู่ตรงไหนในพื้นที่นี้กันแน่ 

เสียง ความต้องการ ตัวตน สิ่งที่ครูอาจไม่เคยรู้เมื่อเด็กๆ อยู่ในห้องเรียน หรือสิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองอาจไม่เคยเห็นเมื่อลูกอยู่บ้าน อาจหล่นหายไปอย่างน่าเสียดาย หากเราเคยชินและออกแบบพื้นที่ประชุมผู้ปกครองให้เป็นเวทีในการประกาศข้อมูลต่างๆ เพียงเท่านั้น 

การประชุมผู้ปกครองมีความหมายและมีพลังยิ่งกว่านั้น

บทความนี้ไม่ได้มาชี้ชวนให้เห็นถึงการออกแบบ หรือแชร์เครื่องมือในการสร้างพื้นที่การประชุมผู้ปกครองแต่อย่างใด เพียงแต่มาชวนตั้งข้อสังเกตของการประชุมผู้ปกครองแบบที่ผ่านมาในวัฒนธรรมการศึกษาของไทยว่าควรจะเป็นแบบนั้นหรือไม่ และมากไปกว่านั้นคืออยากชวนให้เห็นว่าการประชุมผู้ปกครองมีความหมายและมีพลังกว่าที่พวกเราคิด ดังเรื่องเล่าจากเฟซบุ๊กของคุณมานะ ตรีรยาภิวัฒน์ ที่ถูกพูดถึงและแชร์ออกไปในวงกว้าง เล่าถึงบรรยากาศการประชุมผู้ปกครองที่คุณครูแนะแนวได้ตัดสินใจใช้พื้นที่ตรงนั้นในการสื่อสารประเด็นเกี่ยวกับความฝันของนักเรียน และความเจ็บปวดที่นักเรียนต้องเผชิญจากครอบครัวที่อยากให้พวกเขาเติบโตไป ‘เป็นหมอ’ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเห็นอกเห็นใจและได้ยินเสียงของเด็กมากยิ่งขึ้น โดยเนื้อหาบางส่วนในโพสต์กล่าวว่า 

“…ประชุมผู้ปกครองโรงเรียนกำเนิดวิทย์ #KVIS ปีนี้น้ำตาท่วม เมื่อครูแนะแนวเปิดอกบอกเล่าความรู้สึก ขอให้พ่อแม่ผู้ปกครองฟังลูกหลานบ้าง อย่าเอาความฝันส่วนตัวยัดเยียดให้เด็ก ครูแนะแนวบอกว่า เด็ก #KVIS จริงๆ จะเรียนอะไร คณะวิชาอะไร มหาวิทยาลัยในไทยหรือต่างประเทศก็ไม่น่ามีปัญหามาก แต่ทุกข์ของเด็กเก่งๆ เหล่านี้คือ บางครอบครัวเรียกร้อง คาดหวังให้ลูกต้องเรียน ‘หมอ’ เท่านั้น !

ครูบอก ถ้าเด็ก #กำเนิดวิทย์ อยากเรียนหมอ หรือไปทางสายสุขภาพด้วยตัวเอง ครูและโรงเรียนพร้อมสนับสนุน 100% แต่มีเด็กจำนวนไม่น้อย ไม่อยากเรียนหมอ บางคนอยากเรียนต่อสาย STEM หรือบางคนอยากเรียนต่อต่างประเทศ…” 

การตัดสินใจใช้พื้นที่ในวันประชุมผู้ปกครองของคุณครูในเรื่องเล่าจากโพสต์นี้ นับว่าเป็นการเลือกใช้พื้นที่กลางที่ทรงพลังมากในการยืนยันและเป็นกระบอกเสียงให้กับนักเรียนที่อาจไม่กล้าสื่อสารหรือแสดงมุมมองนี้กับผู้ปกครองโดยตรง แต่การที่ครูเป็นคนพูดย่อมทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้เห็นมุมมองจากคนที่ทำงานด้านการเรียนรู้โดยตรงและคลุกคลีอยู่กับลูกหลานของพวกเขา ได้เห็นอีกมุมหนึ่งว่าเด็กๆ ต้องเผชิญความเครียดมากแค่ไหน และเมื่อพวกเขาไม่ได้อยู่บ้าน พวกเขาเล่าถึงความฝันของพวกเขาที่โรงเรียนอย่างไร การประชุมผู้ปกครองแบบนี้จึงทำให้เห็นสิ่งที่ลึกลงไปมากกว่าคะแนนที่เด็กๆ ทำได้ และพฤติกรรมในแง่คุณธรรมจริยธรรม แต่ได้รู้ว่าอะไรที่พวกเขาแบกรับอยู่และทำอย่างไรให้เบาลง เพื่อให้พวกเขาได้เรียนรู้เติบโตในเส้นทางที่ตรงกับความต้องการและศักยภาพที่พวกเขาเชื่อมั่น 

คือโอกาสในการได้ยิน ‘เสียง’ ที่ไม่เคยได้ยินจากเด็ก 

การใช้ประโยชน์จากการประชุมผู้ปกครองให้เป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนกันถึงความต้องการ ความรู้สึก ปัญหาและสิ่งต่างๆ ที่เด็กๆ เผชิญแล้ว นอกจากจะทำให้เข้าใจพวกเขามากขึ้น การได้มีเวลาในการพูดคุยกันอย่างลึกซึ้งระหว่างพ่อแม่ผู้ปกครองและคุณครู ยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ดีต่อไปในการพัฒนาเด็กอีกด้วย ต่างจากการจัดวางความสัมพันธ์ในลักษณะของการเป็นผู้ประกาศ ผู้รับแจ้งผลการเรียน ที่ไม่สามารถทำให้พ่อแม่หรือครูได้รู้จัก-พูดคุยอย่างมนุษย์ ส่งผลให้กลายเป็นความสัมพันธ์ที่แยกส่วนออกจากกันในการสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กคนหนึ่ง  

นอกจากการสร้างความร่วมมือที่แข็งแกร่งแล้ว การประชุมผู้ปกครองที่เป็นจริงและมีความหมายยังสามารถทำให้ผู้ปกครองและครูได้รับ ‘ความรู้เชิงลึก’ เกี่ยวกับพัฒนาการ การเจริญเติบโต และความก้าวหน้าทางวิชาการของบุตรหลานได้จริง โดยให้ความสำคัญไปที่การเติบโต ให้ความใส่ใจมากขึ้นในเรื่องที่เคยมองข้าม หรือมีสายตาในการมองปัญหาในแบบใหม่ เช่น หากลูกประเมินไม่ผ่าน ผู้ปกครองก็อาจจะสอบถามหรือพูดคุยถึงปัญหาของลูกผ่านครู เพื่อเห็นปัญหาจริงๆ และพูดคุยกับลูกด้วยความเข้าใจ ไม่ด่าทอ ดุว่าไปก่อน เพราะมองด้วยสายตาที่เชื่อว่ามีอีกด้านหนึ่งที่ลูกอาจกำลังเผชิญอยู่เสมอ

การประชุมผู้ปกครอง-ครู ยังเป็นการช่วย ‘ติดตามและส่งเสริม’ การเติบโตของนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากออกแบบให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลสำคัญในการเรียนรู้ เช่น พ่อแม่สามารถแชร์ได้ว่าลูกใช้วิธีในการเรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างไรที่บ้าน เพื่อที่ครูจะนำวิธีการนั้นมาปรับใช้ออกแบบการเรียนรู้ให้เข้ากับวิธีการเรียนรู้ของเด็กคนนั้น หรือความชื่นชอบ วิธีการแสดงออกที่ลูกถนัดเป็นอย่างไร ครูก็อาจจะหาวิธีการเข้าถึงเด็กคนนั้นได้ดียิ่งขึ้นผ่านการรับข้อมูลนี้จากผู้ปกครอง  เป็นต้น  

ไม่เพียงเท่านี้ พื้นที่ในการประชุมผู้ปกครองยังสามารถที่จะออกแบบให้เสียงของเด็กๆ เข้าไปอยู่ร่วมด้วยจริงๆ ในแง่ของการให้พื้นที่นักเรียนในการนำการประชุม หรืออาจเรียกว่า Student-led Conferences ซึ่งโรงเรียนหลายแห่ง รวมถึงนักการศึกษาก็ให้ความสนใจรูปแบบการประชุมลักษณะนี้ที่มุ่งลดบทบาทการนำของ ‘ครู’ และ ‘ผู้ปกครอง’ ในฐานะผู้สร้างการเติบโตและการเรียนรู้ให้กับเด็กลง แล้วหันไปใช้รูปแบบการประชุมที่นำโดยนักเรียนเป็นหลัก  โดยทำให้การประชุมนี้ สามารถมอบโอกาสอันทรงพลังแก่นักเรียนในการสนับสนุนการเรียนรู้ของตนเอง โดยมีนักเรียนเป็นหัวหน้าในการสนทนากับผู้ปกครองเกี่ยวกับความก้าวหน้าและการเรียนรู้ของพวกเขาเอง และได้รับการสนับสนุนจากครูไปพร้อมๆ กัน 

จะเห็นว่ายังมีความเป็นไปได้อีกมาก ถ้า ‘การประชุมผู้ปกครอง’ นั้น ไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อเน้นย้ำผลการเรียน หรือให้ข้อมูลดิบอย่างเดียว เราสามารถใช้มันเป็นโอกาสและพื้นที่ในการแลกเปลี่ยน ‘เสียง’ ของเด็กๆ ได้จริง และมากไปกว่านั้นคือลูกหลาน-นักเรียนของเรา จะได้รู้ว่าสิ่งที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ในระหว่างการเติบโตนั้นจะถูกได้ยินเสมอในพื้นที่สำคัญของการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือโรงเรียนก็ตาม

ชวนอ่านเพิ่มเติม 
https://www.edutopia.org/blog/student-led-conferences-resources-ashley-cronin
https://www.euroschoolindia.com/blogs/reasons-why-parent-teacher-meetings-are-important/
https://www.parentsquare.com/blog/why-are-parent-teacher-conferences-important/


Related Posts