เมื่อลูกอยากไปร้องเพลงบนดวงจันทร์ สิ่งที่พ่อแม่ทำได้มากกว่าผลักดันคือเดินร่วมทางกันไป คุยกับ ‘ครอบครัวพิงค์กี้ พัทธนันท์’ ศิลปินวัย 13 ปี

“ตกลงคือพรหมลิขิตใช่ไหม ที่เขียนให้เป็นอย่างนั้น 
ตกลงคือเรารักกันใช่ไหม อย่างนั้นขอได้หรือไม่” 

เสียงเปียโนประสานไปกับเสียงร้องเพลงดังอยู่ในบ้านขนาดกลางซึ่งตั้งอยู่สุดซอย เจ้าของเสียงร้องชวนหลงใหลนี้คือ ‘พิงค์กี้ พัทธนันท์’ ศิลปินมากความสามารถในวัย 13 ปี ที่นอกจากการเป็นนักร้อง-นักดนตรี-นักแต่งเพลงด้วยความสุขความชอบแล้ว ในปัจจุบันเธอยังได้ชื่อว่าเป็นแชมป์รายการ The Golden Singer คนแรกอีกด้วย 

“ป๊า หนูอยากเป็นแบบคนนี้ หนูอยากไปแสดงที่นี่”

นั่นคือเสียงของพิงค์กี้ในวัย 5 ปี จากคำบอกเล่าผ่านความทรงจำของ ‘พ่อ’ เมื่อลูกสาวชี้นิ้วไปยังจอทีวีในขณะที่ครอบครัวกำลังนั่งดูคลิปการแสดงของ ‘ไมเคิล แจ็กสัน’ (Michael Jackson) บนเวที Super Bowl ผ่านช่องทาง Youtube  

“เอาจริงหรือลูก” คำที่พ่อจำได้ว่าถามกลับไป 
“เอาจริง หนูจะไปอยู่ตรงนั้น” คือคำตอบกลับมา 

พ่อบอกว่า เหตุการณ์เล็กๆ วันนั้นเองที่ทำให้เขาในฐานะพ่อ ตัดสินใจและเตรียมตัววางแผน ทำโรดแมป (Road Map) สำหรับสนับสนุนให้ลูกได้เดินทางตามความฝัน 

เช่นเดียวกันกับแม่ที่พูดถึงเรื่องราวในความทรงจำวันเดียวกันนั้นว่า 

“มันแปลกมาก ในวันที่ลูกชี้จอทีวีแล้วบอกว่าอยากเป็นเหมือน ‘ไมเคิล แจ็กสัน’ บนเวที ‘Super Bowl’ วันนั้นเราไม่ได้บอกลูกว่า ‘ฝันใหญ่ไปหรือเปล่า’ หรือ ‘เป็นไปไม่ได้หรอก’ พอลูกไปนอน เราสองคนพ่อแม่ก็มานั่งคิดกันว่าต้องทำยังไง เราต้องเริ่มจากตรงไหน” 

จากวันนั้นเป็นจุดเริ่มต้นการตัดสินใจของพ่อและแม่ในการที่จะพาลูกเดินทางตามความฝันในเส้นทางศิลปินอย่างจริงจัง ต่อมาหลังจากเริ่มเดินสายเล่นดนตรีร้องเพลงแล้วพบว่าการเรียนในระบบอาจไม่ตอบโจทย์ พิงค์กี้ลาออกจากโรงเรียนมาเรียนแบบโฮมสคูลเพื่อที่จะได้ใช้ชีวิตหลายๆ ส่วนไปกับการซ้อมดนตรีอย่างที่เธอรัก ทว่าการตัดสินใจลงหลักปักหมุดความฝันและเดินในเส้นทางที่ต่างออกไปก็เต็มไปด้วยความกลัว ความท้าทาย เรื่องยากๆ ที่ทั้งสามคนต้องผ่านไปพร้อมๆ กัน 

Mappa ชวนผู้อ่านท่องไปในท่วงทำนองของบทสนทนากับครอบครัวพิงค์กี้ ออกเดินทางไปพร้อมกับพวกเขา
ในเรื่องเล่าที่ปลายทางคือดวงจันทร์ 

1
Rhythm : จังหวะของการเริ่มต้น

จังหวะของการเริ่มต้น เริ่มขึ้นเมื่อลูกสาวคนเดียวของพ่อและแม่ลืมตาดูโลก ทั้งสองคนตัดสินใจลาออกจากงานประจำเพื่อที่จะได้ใช้เวลาและดูแลลูกอย่างเต็มที่ ด้วยเหตุผลทางสุขภาพของพิงค์กี้ด้วยส่วนหนึ่ง และการที่อยากเป็นคนเลี้ยงลูกด้วยตัวเอง  

จังหวะเริ่มต้นของความฝัน แม้จะเป็นจังหวะที่ดูสวยงามและเปี่ยมแรงบันดาลใจ แต่การเริ่มต้นจริงๆ ก็ไม่ได้ง่ายเลย ตั้งแต่การตัดสินใจลาออกจากงานมาหาทางขายของทำธุรกิจที่บ้านซึ่งต้องรับแรงกดดันเรื่องการเงินอยู่ไม่น้อย เมื่อถามว่าช่วงจังหวะของการเริ่มต้นนั้นรู้สึก ‘กลัว’ ไหม แม่บอกกับเราว่า

“กลัว แต่ตอนลาออกมาก็คำนวณเลยว่า เงินที่เรามี เวลาที่เรามี มีเท่าไหร่ คือเราทำงานมาเป็น 10 ปี เรามีเงินก้อนจำนวนหนึ่ง เราก็คิดเลยว่าถ้าเราออกมา เราจะมาลงทุนอะไรได้บ้าง ถ้าเราไม่มีลูกค้าเลย เราจะอยู่ได้ไหม อยู่ได้นานเท่าไหร่” 

“ธุรกิจมันเริ่มอยู่ได้ แต่ก็ไม่ได้ดีถึงขั้นอยู่ได้ดี เพราะค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงเด็กคนหนึ่งค่อนข้างเยอะ ณ ตอนนั้น อะไรที่เข้ามาคือเราให้หมด จนบางทีมากเกินไปกว่าที่ลูกควรจะได้ จนเขารับไม่ไหว มันเยอะไปหมด  แต่ก็ทำให้เรารู้ว่าลูกอยู่กับดนตรีได้นานที่สุดเลย แต่ตอนนั้นพิงค์กี้ก็เป็นเด็กเรียนเก่งมากด้วยเหมือนกัน” พ่อเสริม

พิงค์กี้ได้เริ่มร้องเพลงในเวทีต่างๆ ออกรายการบางรายการ เมื่อการรู้ตั้งแต่เด็กว่ามีความสามารถด้านดนตรี ในขณะที่พิงค์กี้ตอนนั้นเริ่มเข้าโรงเรียนประถมก็เป็นเด็กหัวดีมากในรั้วโรงเรียน ทำให้พ่อกับแม่มีข้อถกเถียงกันอยู่พอสมควรในการที่จะตัดสินใจในการให้ลูกมุ่งทางดนตรีอย่างจริงจัง  

“จริงๆ แม่เขาเป็นคนมีแบบแผนมากในชีวิตแต่ต่างกับผม ผมไร้แบบเลยแล้วก็เป็นคนสุดโต่ง มันคนละซีกกันเลย คือเรื่องของการใช้ชีวิตในช่วงแรกมันก็เลยขลุกขลักหน่อย ขลุกขลักในการเลี้ยงลูก แบบในการเลี้ยงลูกผมแบบจะเอาอย่างนี้ ผมก็ฉีกมาเลย แต่เขาก็จะมีแบบของเขา สุดท้ายพอเรามาคุยกัน คุยกันแหละสำคัญช่วงแรก คุยกันมากขึ้นมันก็ลงตัวมากขึ้น” พ่อเล่าถึงความแตกต่างที่มาบรรจบพบกันระหว่างเขากับภรรยา 

“คุยกันทุกวันเลย จนไปถึงขีดแบบเกือบทะเลาะแล้ว เพราะบางมุมเราก็มีความรู้สึกว่าลูกเราหัวดี เสียดายถ้าไปทำอย่างอื่น คือเราก็เหมือนคุณแม่ทั่วไปคนหนึ่ง เขา(พ่อ)ก็บอกว่า แต่มันอยู่กับตรงนี้ได้นานนะ ร้องเพลงตรงโน้ต ปึ้งๆๆ อันนี้หรือเปล่าที่เรียกว่าพรสวรรค์ เราก็สู้กับพ่อนะ ทั้งพาลูกไปสอบ ไปติว” แม่เสริม  

ในขณะที่แม่เชื่อในระบบแบบแผนและการวางแผนอย่างรัดกุม พ่อกลับมุ่งไปในความเชื่อและความฝันอย่างเต็มที่ ขณะที่พิงค์กี้ก็รู้ตัวเองดีว่าชื่นชอบการเรียนรู้ดนตรีอย่างชัดเจน  

“การร้องเพลงและดนตรี มันเป็นสิ่งที่หนูเข้าใจได้ง่ายตั้งแต่เด็กเลย หนูทำอะไรก็ไม่เคยเข้าใจง่ายเท่าสิ่งนี้” 

จากเหตุการณ์สร้างแรงใจอย่างการดูการแสดงของศิลปินระดับโลกแล้วลูกเพียงบอกว่าอยากจะเป็นแบบศิลปินคนนั้น กอรปกับความชื่นชอบด้านดนตรีมาตั้งแต่เด็กของพิงค์กี้ ทำให้ข้อถกเถียงของพ่อกับแม่ผสานมาอยู่ในเส้นทางเดียวกัน แม้ว่าจะคิดเห็นต่างและต้องถกเถียงกันอยู่เสมอระหว่างทางในแง่ของวิธีการ แต่ทั้งสองก็พยายามที่จะผลักดันพิงค์กี้ในเส้นทางดนตรี โดยมีพ่อเป็นเหมือนเพื่อนของความเชื่อความฝัน และแม่เป็นเพื่อนผู้ดูแลจัดการบริหารความเสี่ยงต่างๆ ให้เงื่อนไขทุกอย่างดำเนินไปได้ 

ในช่วงที่ครอบครัวพิงค์กี้มุ่งมั่นในเส้นทางสายดนตรี พิงค์กี้ได้ลงสนามตั้งแต่เด็กๆ จนเริ่มเข้าสู่รายการที่มีชื่อเสียง เส้นทางนี้ก็จริงจังขึ้นเรื่อยๆ ทว่า ครอบครัว กลับไม่ได้เชื่อมโยงอยู่เพียงเราสามคนอย่างที่คิด ในช่วงเวลานั้น ‘แม่’ เองก็ทำหน้าที่ในการประสานความเข้าใจเรื่องเส้นทางที่เลือกเดินกับบรรดาญาติๆ และคุณตาคุณยายซึ่งเป็นไปอย่างยากลำบากที่จะทำให้เกิดความเข้าใจกันได้จริงๆ ถึงความฝันเรื่องการเป็นนักดนตรี แต่คุณแม่ก็ทำได้ ญาติๆ เริ่มเปิดใจและเริ่มลองฟังเพลงในสไตล์แบบที่พิงค์กี้ชอบเล่นและร้อง อย่างเพลงสากล ซึ่งทั้งตาและยายเองเดิมทีไม่ได้ฟังเลย

“เราบิวต์คุณตาคุณยายทุกวันเลยเรื่องพิงค์กี้ สมมติช่วงนี้เขา(พิงค์กี้)ชอบฟังเพลงนี้อยู่ อย่าง Fly Me To The Moon เราก็ส่งลิงก์ไปให้คุณแม่ลองฟังเพลงนี้ดู พอลูกฝึกเพลงอะไร เราก็จะชวนคุณแม่ลองฟังเพลงนี้ดู เพราะว่าเรามีไลน์กลุ่มครอบครัวอยู่แล้วกับคุณตาคุณยาย เราก็จะส่งเข้ากลุ่มอย่างนี้ประจำ เขาก็ดู แล้วพอคลิป YouTube มันก็จะรันไปเรื่อย ๆ เขาก็เริ่ม ๆ ฟังไปเรื่อย ๆ เขาก็เริ่มมาบอกว่า เพลงนี้ ยายรู้จักอะไรแบบนั้น” 

ดูเหมือนว่าภารกิจโดยฝีมือนักประสานมือทองอย่างคุณแม่จะประสบความสำเร็จ จวบจนเข้าสู่ช่วงที่ก็ยากยิ่งพอกันอีกครั้งหนึ่ง คือการที่ครอบครัวพิงค์กี้ตัดสินใจว่าจะออกจากโรงเรียน หลังจากที่พิงค์กี้เริ่มลงสนามรายการต่างๆ ที่มีชื่อเสียง จึงเห็นว่าโรงเรียนอาจไม่ตอบโจทย์ต่อชีวิต เพราะทั้งต้องลาเรียนบ่อยและมีภาระเรื่องการบ้านที่หนักมากจากโรงเรียนอย่างที่คุณแม่บอกว่า ‘ลูกกลับมาจากร้องเพลงแล้วก็กลับมาเขียนการบ้านจนร้องไห้’ เลยเริ่มคิดกันว่าการอยู่ในโรงเรียนในระบบจะเป็นอุปสรรคในเงื่อนไขชีวิตและความฝันแบบนี้หรือไม่ นำไปสู่การตัดสินใจมาเรียนโฮมสคูล และใช้บ้านเป็นพื้นที่เรียนรู้ในด้านต่างๆ รวมถึงใช้เวลากับเรื่องดนตรีมากขึ้น

“จริง ๆ ตอนนั้นมันเป็นอุปสรรคแค่สำหรับเรา ไม่ใช่ว่าการเข้าโรงเรียนไม่ดี แต่ว่าไลฟ์สไตล์ (Lifestyle) ของเราที่เราอยากจะใช้ มันไม่เหมาะกับโรงเรียน คือเราไม่เหมาะกับการอยู่โรงเรียน เราเหมาะกับการอยู่บ้าน เราจำเป็นต้องมีเวลาเยอะ เลยตัดสินใจคุยกันว่าออกดีกว่า และด้วยความเชื่อของเราคือเรามองว่าเด็กทุกคนมีความแตกต่าง คือไม่สามารถที่จะทำให้เด็กทุกคนเหมือนกันได้ พวกเขาทุกคนก็จะมีคาแรกเตอร์ของตัวเอง เพราะฉะนั้นการศึกษาถ้าเป็นไปได้มันควรออกแบบมาเพื่อเด็กแต่ละคน นั่นคือสิ่งที่เรามองตั้งแต่วันนั้น” พ่อคลี่ขยายเหตุผลของการตัดสินใจ 

แน่นอนว่าการตัดสินใจนั้นมาพร้อมความหนักใจและคำคัดค้าน 

“จะบอกว่ามีเสียน้ำตาเลยนะ กินข้าวอยู่คุณพ่อคุณแม่ กลับแล้วนะแล้วลุกกลับเลยก็มี แต่เราเข้าใจได้นะ คือทันทีที่ตัดสินใจว่าเราจะเรียนโฮมสคูล เรายังไม่บอกพวกเขา เราไปดำเนินเรื่องก่อน ไปทำแผนอะไรจนเสร็จ ลาออกจนเสร็จเลย แล้วเราค่อยมาบอกเขา ก็นำมาสู่คำถามมากมายอย่าง ‘แล้วลูกจะมีเพื่อนหรือ’ ‘แล้วเขาไม่ไปโรงเรียนเขาจะเขียนหนังสือได้หรือ’ ‘จะอ่านได้หรือ’ คือเราเข้าใจว่ามันเป็นความกังวลของตากับยาย ถ้าหลานไม่เรียนในโรงเรียน” แม่เล่า พร้อมกับเสียงของพิงค์กี้ที่เสริมเข้ามาว่า ‘มันเป็น Age Gap ด้วยค่ะ’ 

แล้วยังไง จะไปทางไหนต่อ
จะไปได้หรือ อาชีพแบบนี้ มันจะเลี้ยงดูตัวเองได้ไหม
แล้วถ้าเกิดไม่ได้ แล้วถ้าเกิดไม่ได้ศิลปินจะยังไง
แล้วเด็กคนอื่น เขาเรียนไปด้วยก็ร้องเพลงไปด้วยได้ ทำไมเราจะต้องออกมาเลย
แล้วถ้ามันไม่ได้ล่ะ เธอจะให้ลูกเธอทำอะไรกิน

เสียงของคำถามและการคัดค้านเป็นช่วงที่ครอบครัวพิงค์กี้ต้องทำงานกับสิ่งที่ปะทะเข้ามาเหล่านี้อย่างมาก และแน่นอนว่าสถานการณ์ไม่ได้ดีขึ้นอย่างฉับพลันทันด่วน  แต่ก็ค่อยเป็นค่อยไปในการสื่อสาร และการทำให้เห็นว่าพิงค์กี้เองก็สามารถเติบโตในเส้นทางและวิธีการแบบนี้ได้  

“เราบอกตายายว่าขอเวลา 2 ปี คือตอนนั้นพิงค์กี้ออกมาก็คือจบ ป.4 – ป.6 เราก็เลยบอกเขาว่าขอแค่นี้ ขอแค่ประถมปลาย ถ้ามันยังไม่มีวี่แววหรืออะไร เดี๋ยวประเมินเอง ถ้ามันไม่โอเคจริงๆ ก็ค่อยกลับเข้าระบบได้ 

หลังจากตอนแรกที่แข็งๆ ตากับยายก็เริ่มซอฟต์ลง หลังๆ เขาเริ่มใจเย็นขึ้น แล้วต่อมาพิงค์กี้ก็เริ่มเข้ารอบ The Voice 8 คนสุดท้าย แล้วก็มา Golden Song ต่ออีก”  แม่เล่าสถานการณ์และบรรยากาศทั้งหมดให้เราฟัง 

การตัดสินใจอย่างแน่วแน่ที่ผสมผสานเสียงคัดค้าน ความเชื่อ ความฝัน ความกลัวและความไม่แน่นอนมากมาย เป็นจังหวะการเริ่มต้นที่ไม่ง่ายในการเดินทาง ทว่าก็ดูเหมือนว่า ‘บ้าน’ จะเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับโน้ตตัวต่อไปที่พิงค์กี้จะร้องออกมา และเป็นโน้ตตัวสำคัญต่อจากนั้น 

2
Melody : ท่วงทำนองระหว่างทาง

จังหวะตั้งต้นเกิดขึ้น ‘ท่วงทำนอง’ ก็เริ่มตามมาในช่วงเวลาขนานกันไป แม่เสนอที่จะทำตารางการเรียนและฝึกซ้อมที่บ้าน ในขณะที่พ่อพยายามถกในความเข้มงวดของแม่ เพราะอยากให้พิงค์กี้ได้ค้นหาตัวเองอย่างเต็มที่ในแบบของศิลปิน 

“เราต้องทำตารางสอนส่ง ต้องทำแผนส่งว่ากี่โมงต้องทำอะไร” แม่เล่า 


“เราจะไปให้ศิลปินออกแบบ ไม่ได้ เขาต้องคิด เขาต้องหาตัวตน มันอยู่ในช่วงหาตัวตนใช่ไหม คือเขาต้องหาตัวเองว่าเขาตรงกับอะไร  เป็นศิลปินแบบไหน โตมาอยากทำงาน ผลงานยังไง คือมันไม่ใช่หน้าที่เรา หน้าที่เราแค่คุณต้องการอะไร เราหาให้” พ่อแย้ง 

ในท้ายที่สุดข้อถกเถียงก็ออกมาเป็นตารางแบบผสมผสานระหว่างข้อเสนอของทั้งพ่อและแม่คือ

“มันก็เลยได้แบบแผนที่ว่าเป็นตารางสอนมา สมมติระบุว่า เวลา 09.00-13.00 น. เป็นช่วงตีกลอง นู่นนี่นั่น แล้วเขียนข้างล่างว่า ก็แล้วแต่แหละว่าจะทำอะไร” คำตอบของแม่เรียกเสียงหัวเราะจากทั้งพิงค์กี้ พ่อ และผู้ที่ไปนั่งพูดคุยในวันนั้น 

นอกจากการเริ่มจับทางการเรียนโฮมสคูลไปด้วยกันแล้ว ในด้านของการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความฝันเรื่องดนตรีของลูกอย่างจริงจัง ก็จะต้องยกให้คุณพ่อที่ทั้งลงใจ ลงแรงไปกับการศึกษาค้นคว้า เรื่องสำคัญจำเป็นเกี่ยวกับการเป็นศิลปิน คุณพ่อเล่าว่า เขาพยายามที่จะศึกษาชีวะประวัติของศิลปินระดับโลกหลายๆ คน เพื่อที่จะดูว่าพวกเขามีชีวิต มุมมองอย่างไร นอกจากนี้ยังหยิบกีตาร์ที่ไม่ได้แตะมาตั้งแต่สมัยเล่นจีบแม่ มาเรียนเพิ่มเติม เพื่อที่จะเล่นกับพิงค์กี้อีกด้วย 

“เราเรียนกีตาร์เพื่อที่จะมาสอนลูก” พ่อยืนยัน 

 “แล้วก็เอามาท้าลูก เขารู้นิสัยลูก เขาก็จะทำมาคุย ‘เป็นไงกี้ กี้ทำไม่ได้หรอก’ กี้ก็จะแบบ ‘ได้! ขอเวลาชั่วโมงนึง’ แล้วกลับมาเล่นให้พ่อดู เขาทำอะไรแบบนี้เพราะเขาจับทางลูกได้” แม่เสริมอย่างรู้ใจ 

“เราทำได้แปบเดียว ทั้งๆ ที่เขาอาจจะฝึกมาทั้งคืน” พิงค์กี้แซวพ่อ แล้วเสียงหัวเราะชอบใจของทั้งพ่อและแม่ก็ดังขึ้น  

”เด็กทุกคนมีความอยากแข่งขัน เราก็แค่เป็นส่วนหนึ่งที่จะหาวิธีทำให้เขาก้าวข้ามและเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง” พ่อเผยหมุดหมายที่แท้จริง 

อย่างไรแล้ว แม้ว่าพ่อจะเป็นคุยกับลูกเรื่องดนตรีและความฝันเป็นหลัก แต่แม่กอซัปพอร์ตลูกอย่างแข็งขันผ่านการจัดการและการบริหาร แม่เล่าว่าต้องคอยตอบคำถามของใครหลายคนเป็นเหมือนคนที่จะทำให้พ่อกับลูกมีเวลาในการทำงานด้านนี้กันอย่างเต็มที่โดยไม่ต้องรับแรงเสียดทานอื่นที่เข้ามา 

“พอใครทักอะไรมาว่าถ้าทำไม่ได้ล่ะจะอย่างไรต่อ ด้วยความที่เราเป็นแม่ใช่ไหม เราก็จะแบบว่า เออว่ะ แล้วถ้าลูกเราไม่ได้แบบนี้ เราจะทำยังไงต่อ หรือทักมาว่าเนี่ย เด็กเรียนโฮมสคูลนานแล้วมีปัญหาเรื่องเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ เราก็ เออว่ะ แล้วถ้าเขาไม่ได้จะทำยังไง เราก็นั่งหาข้อมูล ปรึกษาคนที่ลูกเขาเรียนโฮมสคูลแล้วก็มหาวิทยาลัยได้ เราก็ค่อยๆ ตัด คำถามไหนที่เราเคลียร์ได้ เราก็ค่อยๆ เคลียร์ไป คือเราทำงานหลังบ้าน พ่อกับลูก 2 คน ทำงานเกี่ยวกับดนตรี” 

ทำนองของความฝันต่อเติมมาเรื่อยๆ พิงค์กี้ลงสนามแข่งขันมากขึ้นในเส้นทางดนตรีและการเป็นนักร้อง และได้รับรางวัลมาเรื่อยๆ จนช่วงหนึ่งเธอได้ผ่านรายการดังอย่าง The Voice ซึ่งช่วงเวลาหลังจากนั้นเองทำให้พิงค์กี้เริ่มเหนื่อยหน่ายจากการร้องเพลงไปอีกถึง 2 ปี โดยไม่ฝึกซ้อมและไม่อยากแข่งขันที่ไหนอีก 

“เอาจริงๆ หนูก็ไม่รู้เหมือนกัน วันๆ มันก็อยากทำอะไรอย่างอื่นบ้าง แต่หนูก็มองว่าหนูไม่อยากซ้อม ซ้อมมันก็เหนื่อย หนูก็ต้องมานั่งทำนู่นนั่นนี่ หนูก็ไม่อยากทำอีก แต่ก็รู้สึกว่าพอมันไม่ทำอะไรเลย มันก็วนลูปอยู่อย่างนั้น 2 ปี หนูก็ไม่รู้เหมือนกันว่าหนูทำไปได้ยังไง” 

พิงค์กี้เล่าถึงความรู้สึกช่วงที่เธอไม่อยากซ้อมดนตรีและใช้เวลากว่า 2 ปีในการดูหนัง ฟังเพลง และทำสิ่งอื่นๆ มากมายที่นอกเหนือจากเรื่องดนตรี แน่นอนว่าคนที่หนักใจมากจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นคือผู้ร่วมฝันทั้งสองคนอย่างพ่อกับแม่นั่นเอง 

“เราก็ต้องมานั่งคิดว่าเราจะจัดการกับลูกยังไง เพื่อที่จะให้เขากลับมาในจุดที่เขาอยากทำ แต่มันไม่สามารถเลย ใช้เวลาประมาณ 4-5 เดือน ไม่สามารถที่จะแก้หรือเปลี่ยนได้เลย ตอนนั้นมันอยู่ในช่วงที่เราออกจากโรงเรียนมาด้วย เป็นเรื่องเครียดมากว่าเราต้องทำให้เขาเห็นว่าพิงค์กี้จะไปทางนี้ต่อ แต่ตัวเขาเองเหมือนจะไม่เอาแล้ว ผมเครียดมากเลยช่วงนั้น” พ่อเล่าถึงความรู้สึกของตัวเอง 

“เหมือนสำเร็จแล้ว ไม่ทำเลย แต่เราไม่พูดกับลูก เพราะเราไม่รู้ว่าคำพูดของเรามันจะแรงไปไหม หรือจะไปกระทบกับแผนเขาไหม เราก็ใช้วิธีคุยกับแฟนประมาณว่า ‘ป๊า ตั้งแต่เช้าถึงเย็น ลูกยังไม่ทำอะไรเลยนะ’” แม่เล่าความหนักใจเช่นกัน พร้อมกับเชื่อมโยงให้เห็นต่อว่าช่วงเวลานั้นมาพร้อมกับช่วงของโควิด-19 ซึ่งธุรกิจร้านอาหารที่บ้านก็เริ่มสั่นคลอน ในขณะที่พ่อหาคำตอบให้ตัวเองกับเรื่องนี้ว่า 

 “เครียดเรื่องร้าน เครียดเรื่องลูกอีก ตอนนั้นเลยตัดสินใจว่า ลองให้เขาหาตัวเองช่วงนี้ไปก่อน คิดกับตัวเอง ลองปล่อยเลย ปล่อยให้สุดเลย ผมเชื่อว่าความเสียหายของเขาก็จะไม่มาก ความเสียหายของเด็กเวลาเด็กทำ มันจะไม่มากเท่ากับผู้ใหญ่” 

ช่วงเวลานั้นผ่านไปกว่า 2 ปีดังที่ว่า พิงค์กี้บอกกับเราว่าช่วงเวลานั้นเธอเองก็ได้ฟังเพลงหลากหลายมาก และดูหนังหลากหลายมาก ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็ได้แนวทางหรือแรงบันดาลใจจากช่วงนั้นมาไม่น้อย หลังจากช่วงของหันหลังให้การซ้อมดนตรีที่ตัวเองชื่นชอบ พิงค์กี้ก็เริ่มที่จะตัดสินใจกลับเข้ามาอีกครั้ง 

“สักพักพอเราหยุดไปนาน มันก็แค่รู้สึกว่ากลับมาทำแบบเดิมดีไหม เพราะช่วงนั้นถ้าพูดตรง ๆ เพื่อนหนูก็หายด้วย หมายถึงว่าเพื่อนก็เราเฟดไป ตอนนั้นก็เลยเป็นจุดที่เรียนรู้ค่ะว่า บางครั้งเวลาเราอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นฝ่ายวิน-วิน ทั้งคู่ เขา ก็หา Connection  เราก็หา Connection ในเมื่อเราไม่มี Connection ต่อเขาแล้ว เขาก็อาจจะไม่ได้อยู่กับเราตลอดเวลาเหมือนเมื่อก่อน ก็เลยแบบว่า โอเค งั้นเรื่องเพื่อนไม่เป็นไป ช่างไปก่อน กลับมาทำสิ่งที่หนูชอบดีกว่า กลับมาทำในสิ่งที่หนูอยู่กับมันได้นานที่สุดตั้งแต่เด็กดีกว่า เลยกลับมาซ้อม” พิงค์กี้เล่าถึงจุดเปลี่ยนที่ทำให้อยากกลับมาหยิบจับดนตรีและการร้องเพลงอีกครั้ง 

การกลับมาของพิงค์กี้นำมาสู่ความดีใจของคุณพ่อกับคุณแม่ที่รอคอยเดินกันต่อ ในเป้าหมายที่ร่วมกันก่อร่างขึ้นมา พิงค์กี้กลับมาพร้อมกับการเติบโตขึ้นอีกจากการประกวดครั้งก่อนและวัยที่เริ่มเข้าสู่วัยรุ่นตอนต้น เธอเริ่มหาสไตล์ของตัวเองมากขึ้น จากที่เดิมทีอาจมีพ่อช่วยในการไกด์ว่าอยากให้ร้องหรือถ่ายทอดอย่างไร พิงค์กี้เริ่มเป็นตัวของตัวเอง หลายครั้งในช่วงเวลานั้นเธอก็ทะเลาะกับพ่อบ้างในสไตล์ที่เธอเลือกจะร้อง โดยมีแม่เป็นนักประสานมือทองอยู่เช่นที่เคย 

“ส่วนใหญ่เรื่องที่ทะเลาะกันบ่อยมากที่สุดน่าจะเป็นตอนซ้อมร้องเพลง แล้วไอเดียมันไม่ตรงกัน แล้วหนูก็มีความคิดของหนูว่าแบบหนูดี แล้วเขาก็มีความคิดว่าแบบเขา” พิงค์กี้เล่า 

เมื่อหันไปถามคนเป็นพ่อว่า พอสังเกตการเติบโตของลูก เริ่มรู้สึกไหมว่าเข็มทิศการเดินทางที่เราเคยเป็นคนถือ แล้วกำหนดว่าจะต้องไปทางไหน มันเริ่มไปอยู่ที่พิงค์กี้แล้ว พ่อก็ตอบกลับมาทันทีว่า   

“ผมรู้ ผมก็เลยแค่ออกมาดูห่างๆ ทุกวันนี้เราเลยปล่อยเขาได้แล้ว เพราะเรามองว่าเขามีความอยากแล้ว เขารู้แล้วเขาอยากทำอะไร อยากเป็นอะไร ทีนี้เราก็แค่พอเริ่มโตขึ้น เราก็มาดูในหมวดอื่นของวัยรุ่นทั่วไป”  

หลังจากกลับมาซ้อมพิงค์กี้ก็ได้เข้าแข่งขันรายการ The Golden Singer และได้เป็นแชมป์คนแรกของรายการในที่สุด นอกจากพาร์ตของการประกวด พิงค์กี้ก็ยังเล่นดนตรี แต่งเพลง ร้องเพลง และทำงานร้องเพลงประจำอยู่ตลอด ความฝันก็ยังคงดำเนินต่อไปหลังจากผ่านช่วงเวลาของการทะเลาะกัน ความเบื่อหน่ายในการซ้อม และอีกมากมายที่มีคุณแม่เป็นผู้คอยช่วยอยู่หลังบ้านอย่างไม่ถอดท้อใจ

เมื่อเราถามทั้งสามคนว่า ‘ในเวลาที่ท้อ อะไรที่ทำให้ยังไปต่อหรือผ่านความท้อแท้แต่ละครั้งมาได้’ แต่ละคนก็ให้คำตอบในมุมของตัวเองได้อย่างชวนคิด

“เวลาที่ท้อ ผมใช้ภาพแรกเลย ภาพที่ลูกหันมาบอกว่า ป๊าหนูอยากเป็นคนนี้ บางทีท้อจนแบบไม่อยากทำ บางทีตัวเราเองหมด Passion เหมือนกัน เพราะว่าก็มีช่วงที่ลูกหมด Passion เขาเองไม่อยากทำ แล้วเราจะทำไปทำไม เราไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง เวลาเกิดความรู้สึกแบบนี้ขึ้น มันเหมือนโดนทุบเลย บางทีก็รู้สึกว่าไม่ไหว ไม่รู้จะทำไปทำไม” 

พ่อตั้งต้นตอบคำถามนี้ ก่อนที่พิงค์กี้จะส่งเสียงต่อมาว่า

“หนูก็รู้สึก หมายถึงว่า ตอนนั้นเอาจริงๆ หนูรู้สึกหลงทางมากเลยค่ะตอนนั้น มันเหมือนมันไม่รู้จะไปทางไหนดี แล้วป๊าก็บอกว่าหรือเราไม่อยากหรือเปล่า หนูก็กลับมาคิดกับตัวเองว่าหรือหนูไม่อยากหรือเปล่า แต่พอคิดถึงว่ามันเป็นสิ่งเดียวที่หนูทำได้ หนูก็มองว่าหนูไม่อยากไปเริ่มต้นอะไรใหม่แล้ว มันก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้กลับมาซ้อมก็ได้ ใช่ค่ะ และเข้าใจความรู้สึกของป๊ากับแม่ดี” 

ส่วนคุณแม่ ตอบคำถามนี้อย่างที่สมกับเป็นนักบริหารจัดการเส้นทางความฝันของครอบครัวว่า

“เอาจริงๆ เรื่องการเงิน เรื่องปัญหา เรื่องอะไรไม่เคยท้อเลย ท้ออย่างเดียวเวลาเห็นเขาคุยกัน แล้วแบบว่าจะเลิกทำไหม จะเลิกวันนี้เลยไหม ถ้าเลิกก็เลิกวันนี้เลย จะได้ไม่ต้องเสียไปมากกว่านี้ แม่มานั่งคิดรีรัน แล้วถามตัวเองว่า เราต้องเริ่มยังไงต่อดีวะ แต่พอเห็นเขากลับมาซ้อมสักพักก็ โอเค เขากลับมาใหม่แล้ว 

แต่ถามว่าท้อไหม ไม่มีเวลาท้อนะเอาจริง ไม่รู้สิ พูดเหมือนเป็นนิยาย แต่ไม่มีเวลาท้อเลย เพราะว่าช่วงที่เขาคุยกันเราทำงาน เราคุยกับลูกค้า หาเงิน หาเงิน มีหน้าที่หาเงินอย่างเดียว มีความรู้สึกว่าถ้าเขาเดินมาบอกว่าแม่กีตาร์ตัวใหม่ เราก็ต้องเคลียร์แล้ว Budget เรามีให้เท่าไหน ได้แค่รุ่นไหน หรือแบบรออีกสัก 2 เดือนไหมลูก ไม่มีเวลาท้อเลย ทำหลายอย่างด้วย” 

ความฝันมันใช้เงิน แค่เดินทางไปไหนสักที่ เดินทางออกจากบ้านก็ใช้ตังค์แล้ว

เสียงพิงค์กี้และพ่อตอบกลับประโยคข้างต้นพร้อมกันว่า  “ใช่ ๆ” เมื่อถามต่อไปว่าลงทุนลงแรงลงใจขนาดนี้ หากวันนั้นเราไปไม่ถึงปลายทางที่ฝันไว้จะรู้สึกอย่างไรบ้าง พิงค์กี้อาสาตอบคำถามนี้เป็นคนแรกว่า 

“มันก็ยังถึงหนูอยู่ดี เอาจริงๆ มันก็ถึงหนูนะ ขนาดตัวหนูเองเมื่อก่อนหนูยังคิดเลยว่า ถ้าหนูไปไม่ถึงในจุดที่หนูอยากไปแล้วหนูจะทำยังไง แล้วหนูจะไปไหนต่อ เพราะหนูพูดตรงๆ ตอนนั้นหนูมองว่านอกจากเรื่องดนตรี หนูไม่ชอบอย่างอื่นเลย หนูรู้สึกว่าทำอย่างอื่นมันทำไม่ได้ รู้สึกว่าดนตรีเป็นสิ่งเดียวที่แบบหนูโอเคมากที่สุดแล้ว มันก็มีความคิดโผล่ขึ้นมาว่าถ้าไม่ได้จะทำยังไงต่อ” 

“ผมก็บอกเขานะว่า ถ้าเขาทำเต็มที่แล้วมันไปไม่ถึง มันแฮปปี้นะ อย่างน้อยเราได้พยายามด้วยกัน เราได้ไปถึง เราได้พยายามอย่างที่สุดแล้ว ได้รู้แล้วว่ามันทำแล้วไปไม่ได้ อย่างน้อยมันก็ไม่เสียใจ แต่ถ้าเราทำไปแล้วเราไม่จริงจังกับมัน ไปถึงจุดนั้นก็คือว่า ถ้าเราทำดีกว่านี้ มันจะรู้สึกแย่กับสิ่งที่เราทำมาตลอด นั่นแหละคือสิ่งที่ผมไม่อยากให้มันเกิดขึ้น” พ่อเล่ามุมมอง  

ส่วนแม่พาเราเดินทางไปบนท้องฟ้า และปิดท้ายคำถามนี้ว่า 

“ถ้าไม่ได้เป็นศิลปินจะทำอย่างไร เราก็คุยกับนักดนตรี คุยกับครู ยกตัวอย่าง ‘ครูสยาม’ ครูสยามก็จะเล่าให้ฟังว่า เดี๋ยวนี้มันไม่ได้มีแต่นักดนตรีนะ มันมีดนตรีบำบัด มีคนทำเบื้องหลัง โฆษณาทุกตัวมีดนตรีหมด หนัง ภาพยนตร์ คือทุกอย่างมันมีดนตรีเข้าไปทำให้สิ่งนั้นมันอิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้น 

 “ถ้าเราไปไม่ถึงดวงจันทร์ เราก็ยังอยู่ท่ามกลางหมู่ดาวได้นี่นา เราก็เลยทำเต็มที่ไปก่อน” 

3
Lyrics : เนื้อร้องและ ‘ความหมาย’ ของการเดินทาง 

 ในจังหวะและทำนองที่สอดประสานกัน ซึ่งทั้งสามคนได้ร่วมกันก่อร่างขึ้นมานั้น หากจะเป็นเพลงสักหนึ่งเพลงคงขาด ‘เนื้อเพลง’ ไปเสียไม่ได้ และหากเนื้อเพลงของการเดินทางครั้งนี้ ใครคงจะนิยามได้ไม่ดีเท่าพวกเขาทั้งสามคน นอกเหนือจากความฝันและการต่อสู้ในระหว่างทางแล้ว สิ่งสำคัญไม่แพ้กันจากการพูดคุยกับครอบครัวพิงค์กี้คือจุดเริ่มต้นอันธรรมดาสามัญอย่างสิ่งที่เรียกว่า ‘ครอบครัว’ ซึ่งเป็นบ้านและเป็นฐานในการสนับสนุนที่ไม่ได้ร่วมลงสนามเพียงในฐานะของผู้ผลักดัน แต่เดินทางร่วมกันไป ทั้งความหวาดกลัว ความหวัง ความทดท้อ ความผิดหวังและความสำเร็จที่ได้รับไปด้วยกัน เมื่อเราถามพิงค์กี้ว่า ‘การที่พ่อแม่เติบโตไปกับเรา เป็นทีมของเรา และเป็นทีมที่แข็งแรงมากด้วย ทำให้พิงค์กี้รู้สึกยังไงบ้าง’

“รู้สึกโชคดีค่ะ คือถ้าหนูไม่มีครอบครัวแบบนี้ หนูก็คง ไม่ได้มาถึงจุดนี้ เพราะหนูก็รู้ว่ามันก็มีอีกหลายๆ คนที่อยากเป็นเหมือนหนูเหมือนกัน หนูได้คุยกับเพื่อนหนูหลายคนที่เขาก็อยากมาทางนี้ แต่ว่าทางบ้านเขาก็ไม่สนับสนุน เพราะว่าอาจจะมีความคิดที่มันเกิดจากช่องว่างระหว่างวัย ซึ่งมันมีอยู่จริงๆ อย่างบางเรื่องทุกวันนี้ หนูกับป๊ากับแม่ก็อาจจะยังไม่มองเหมือนกัน 100% แต่เราก็พยายามที่จะเข้าใจกันเพราะว่า อย่างที่บอกว่า ตอนนี้ความสัมพันธ์ของพวกเรา เริ่มจะไม่เหมือนพ่อแม่แล้ว เริ่มจะเป็นเพื่อนสนิทที่เรียกกันว่าป๊ากับม้าเฉยๆ”

เมื่อพิงค์กี้ตอบมา เราก็หันไปถามคุณพ่อกับคุณแม่ต่อว่า พวกเขารู้สึกอย่างไรบ้างที่มีกันและกันเป็นทีมที่แข็งแรงขนาดนี้ 

“มันน่าจะเป็นอะไรสักอย่างทำให้มันเกิดขึ้น ยังเชื่อแบบนี้อยู่นะ เพราะมันเป็นส่วนผสมที่คิดว่าลงตัว เพราะว่าถ้าผมมากกว่านี้หรือน้อยกว่านี้ก็อาจจะไม่ใช่ล็อกของมันก็ได้ มันเหมือนเราหากันจนเจอ เพื่ออะไรสักอย่างหนึ่ง เคยคุยกับเขาตั้งแต่วันที่มีพิงค์กี้แล้วว่า เราไม่สมควรมาอยู่ด้วยกัน มันต้องมีอะไรสักอย่างเพื่ออะไร ที่ไม่ใช่เพื่อเราแหละ หรือบางทีถ้าเป็นไปได้ลูกของเราก็อาจจะเปลี่ยนโลกให้มันดีขึ้นก็ได้ อันนี้เราอาจจะคิดเวอร์ไปนะ แต่คิดอย่างนั้นจริงๆ คิดว่าเขาอาจจะทำให้โลกมันดีขึ้นก็ได้” พ่อตอบ 

“หนูก็อยากทำให้มันดีขึ้น หมายถึงว่า ตอนเด็ก ๆ หนูเป็นคนขี้สงสัยมากว่าทำไมต้องทำอย่างนี้ เป็นแบบนี้ ซึ่งบางอย่างหนูก็อยากเปลี่ยน แต่หนูก็แค่มองว่าหนูไม่ได้มีเสียงขนาดนั้นที่จะเปลี่ยนมัน พอมาทำดนตรี หนูจะพยายามให้เต็มที่ จะทำทุกอย่างให้มากที่สุด แล้ววันที่หนูมีเสียงมากพอ วันที่หนูมีคนซัปพอร์ตในเสียงที่หนูคิดไว้มากพอ หนูก็จะได้เอาความคิดนี้ออกมา” พิงค์กี้เสริมคำตอบของพ่อในมุมของตัวเอง

ในขณะที่แม่ส่งเสียงความคิดเห็นของเธอเช่นกันว่า

“ตอนแรกๆ บอกตรงๆ ว่า มันคือความไม่มั่นคง มันคือรู้สึกแบบว่า ‘ฉันจะเดินไปเจออะไร’ มันก็จะมีบททดสอบมาปะทะตัวเราตลอดเวลา แต่พอเราทำงานเป็นทีม จนกระทั่งถึงวันนี้ ขอใช้คำว่า ‘โชคดีที่ได้มาเจอกัน’”

“มันเหมือนเราเดินไปในที่มืด เพราะเราไม่เคยมาเส้นทางนี้  เพราะฉะนั้นเรากลัวมากเลย กลัวว่าถ้าเราปล่อยมือกันแล้วเราหลง” พ่อต่อบทสนทนา 

“มีแต่ความเชื่อนะ เชื่อเขา เชื่อลูก จริงๆ” แม่ยืนยันด้วยเสียงหนักแน่นก่อนที่พ่อจะเสริมต่อ 

“จริงๆ นะ ความรู้สึกแบบนี้มันเกิดขึ้นเสมอเลย การไปเป็นศิลปินระดับโลกมันไม่เคยมีใครไปอะ ไม่มีใครในบ้าน มันไม่รู้จะถามใคร เราไม่รู้จะไปยังไง มันเหมือนเราหลับตาคลำเดินไป ในขณะที่มือเราก็ต้องกอดกันให้แน่น มันต้องจับกันอย่างนี้ หลายครั้งถ้าเราคิดจะปล่อยมือ เราว่าเราพังแน่ ก็พยายามกลับมาได้ทุกที” 

เมื่อทุกคนเล่าถึงมุมมองของตัวเองต่อ ‘ทีม’ ที่เรียกว่าครอบครัวแล้ว เราจึงอดไม่ได้ที่จะถาม ‘นิยาม’ ความหมายของคำคำนี้ จากพวกเขาทั้งสามคน ในวันที่อยู่ระหว่างทางการเดินทางตามหาความฝันที่มุ่งหวังนี้ 

“สำหรับผม คำว่าครอบครัว ถ้าเปรียบเหมือนเรือ ผมก็คือคนขับเรือ บางทีผมก็แค่เนวิเกเตอร์ ส่วนนี่เขาเป็นเรือ ใช่ไหม นู่นก็คือทรัพยากรน้ำมัน มันคือความร่วมมือร่วมใจที่จะไปด้วยกันสักที่หนึ่ง ถ้าเรามีที่ที่จะไปด้วยกัน มันก็ยังเป็นครอบครัวอยู่เสมอ เพราะเป้าหมายมันคือยังไปด้วยกันอยู่ สุดท้ายถ้ามีคนแยกไป มันก็คือนั่นแหละ ครอบครัวมันก็คือเป้าหมายที่ไปด้วยกัน มันจำเป็นต้องไปด้วยกันโดยธรรมชาติของมัน” พ่อเปรียบเปรยคำว่าครอบครัวสำหรับตัวเอง ในขณะที่แม่ส่งเสียงมาว่า ‘ยากที่จะตอบ’ พิงค์กี้ก็แย้งแม่แล้วบอกว่า   

“มันจะไปยากอะไร  สำหรับหนูครอบครัวมันก็แค่ที่ที่หนูอยู่อย่างอิสระ มันคือ Safe Zone อันหนึ่ง” 

ในขณะที่แม่ขอนิยามมันด้วยคำเดียวว่า ‘ทีม’ 

เมื่อส่งท้ายบทสนทนาด้วยการชวนมอบเพลงสักเพลงให้ครอบครัว พิงค์กี้ก็ตอบกลับมาเพียงสั้นๆ ว่า   

“ไม่มี มันอธิบายเป็นเพลงไม่ได้”

อาจเป็นคำอธิบายสั้นๆ ที่ไม่ต้องการการอธิบายอะไรต่ออีกแล้ว ปล่อยให้ตัวโน้ตบรรเลงต่อไปอย่างอิสระ อาจไม่ต้องมีเนื้อร้องและคำตอบ ไม่ต้องมีบทสรุปของความฝัน หากแต่เป็น ‘เสียง’
ที่มีความหมายต่อการเติบโตของครอบครัวเล็กๆ แห่งนี้ ก็คงเพียงพอ.   


Writer

Avatar photo

ศิรินญา

หาทำอะไรไปเรื่อยๆ ตามประสาวัยลุ้น

Photographer

Avatar photo

ณัฐวุฒิ เตจา

เปรี้ยว ซ่า น่าลัก

Illustrator

Avatar photo

ลักษิกา บรรพพงศ์

กราฟิกดีไซน์เนอร์ที่เกิดและเติบโตมาพร้อมกับธุรกิจเพลงเด็ก ติดซีรีส์ ชอบร้องเพลง ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และเป็นทาสแมว

Related Posts