01
นิทานภาพ พิมพ์โดย มูลนิธิเอสซีจี
เด็กชายคนหนึ่งจินตนาการว่าตัวเองได้ไปเล่นในป่า เขาได้พบกับเพื่อน ๆ สัตว์มากมาย เพื่อนบางตัวก็ตัวโต บางตัวก็ตัวเล็ก บางตัวก็ขี้อาย เด็กชายชวนเพื่อนๆ เดินเรียงแถว และตัวเขาก็เป่าแตรไปเรื่อยๆ อย่างสนุกสนาน จนกระทั่งพ่อมาเรียกกลับบ้าน เขาจึงอำลาเพื่อนๆ และบอกว่าวันพรุ่งนี้จะมาเล่นใหม่
“ถ้าช่วงเริ่มต้นที่ลูกยังอ่านหนังสือไม่ออก เราแนะนำหนังสือที่พิมพ์โดยเอสซีจีทุกเรื่องเลย เป็นงานที่ดีทั้งภาพและเนื้อหาเลย เช่นเรื่อง ‘เดินเล่นในป่า’ ของ มารี ฮอลล์ เอ็ตส์”
02
The Giving Tree ความรักของต้นไม้ โดย เชล ซิลเวอร์สเตน
เรื่องราวของต้นเเอปเปิ้ลที่คอยดูเเลเด็กชายตัวน้อย ตั้งเเต่เขายังเป็นทารกจนเติบโตเป็นเด็กหนุ่ม ชายวัยกลางคน กระทั่งกลายเป็นคนชราไป ต้นไม้มอบทุกสิ่งที่ต้นไม้มี ให้ลำต้นเเก่เด็กชายได้ปีนป่าย ให้กิ่งก้านใบไปทำเล่นเป็นมงกุฎ ให้ร่มเงากำบังเเดด ให้ผลเเอปเปิ้ล เเม้กระทั่งยอมให้ตัดลำต้นไป ต้นไม้ไม่เคยขอสิ่งใดตอบเเทน ขอเพียงให้เด็กชายมีความสุขก็เพียงพอเเล้ว
“ความรักของต้นไม้ เป็นหนังสือนิทานภาพประจำบ้านเลย อ่านและกางหนังสือให้เขาเห็นด้วย รูปจะเป็นลายเส้นง่ายๆ ซึ่งลายเส้นแบบนี้มักถูกโจมตีว่า ต้องมีสีสัน ต้องสีจัดจ้านจึงจะดี ซึ่งจริงๆ แล้วไม่เลย เส้นง่ายๆ ก็ทำให้เด็กซาบซึ้งได้ถ้านั่นคือเส้นที่ดีพอ”
03
ชาร์ล็อต แมงมุมเพื่อนรัก โดย อี.บี. ไวท์
เรื่องราวของ วิลเบอร์ หมูแคระ ที่เกือบจะถูกฆ่าตั้งแต่วันแรกที่เกิด เพราะมันเกิดมาตัวเล็กเกินไป แต่สาวน้อยเจ้าของฟาร์ม ก็ช่วยชีวิตมันเอาไว้ได้ ก่อนที่มันจะไปเติบโตในโรงนาข้างๆ พร้อมกับเพื่อนสัตว์อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นม้า วัว แกะ ห่าน หนู และแมงมุม
วิลเบอร์เป็นหมูมองโลกในแง่ดีมาตลอดและพยายามสร้างสัมพันธ์กับทุกคน แต่ดูแล้วความพยายามนั้นจะไม่ค่อยเป็นผลเท่าไร เพราะแต่ละคนล้วนปั้นปึ่งใส่กันเสียมากกว่าจะเสวนาด้วยกันประสาน้องพี่ วิลเบอร์แสนเหงาที่หาเพื่อนไม่ได้เลย ยกเว้นคุณแมงมุมชาร์ลอตต์ ที่รูปร่างภายนอกดูน่ากลัวแต่ตัวจริงนั้นอ่อนโยน
“โตขึ้นกว่านั้น เมื่อเขาเริ่มอ่านหนังสือได้ พ่อแม่ก็อาจจะอ่านหนังสือให้เขาฟังและให้เขาอ่านเองด้วย เช่นเรื่อง ชาร์ล็อต แมงมุมเพื่อนรัก ของ อี.บี.ไวท์ วรรณกรรมเยาวชนที่เป็นประชาธิปไตย เปิดพื้นที่ให้เด็กได้เป็นตัวของตัวเอง จะเห็นได้ในฉากแรกๆ ที่พ่อของเขาเห็นหมูตัวเล็กแกร็น ดูไม่แข็งแรง เขาก็จะเอาไปฆ่า ลูกสาวบอกว่า ‘พ่อไม่แฟร์’ และลูกก็จะโต้เถียงกับพ่อ แสดงความคิดเห็นกับพ่อที่โต๊ะอาหาร”
04
มาทิลดา โดย โรอัลด์ ดาห์ล
เรื่องราวของ ‘มาทิลดา’ เด็กหญิงอัจฉริยะผู้หัดอ่านหนังสือด้วยตัวเองตั้งแต่ 3 ขวบ ทำให้เธอรักการอ่านเป็นชีวิตจิตใจ ในวัยเพียง 4 ขวบ เธอมักจะเข้าไปอ่านหนังสือในห้องสมุดสาธารณะ เพราะพ่อแม่ของเธอเป็นคนไม่ชอบอ่านหนังสือ ทั้งบ้านจึงมีหนังสือเพียงเล่มเดียว ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่เธอชอบยังเป็นเรื่องไร้สาระในสายตาของพ่อและแม่ เมื่อถึงวัยเข้าเรียน เธอจึงเป็นเด็กฉลาดเฉลียวและเป็นเด็กที่น่าเห็นใจของ ‘ครูฮันนี่’ ต่างจากครูใหญ่ของโรงเรียนผู้มองว่าเด็กๆ คือที่รองรับอารมณ์ แต่เรื่องราวกลับตาลปัตรไปกันใหญ่ เมื่อพ่อของเธอคดโกงจนต้องพาครอบครัวหนีปัญหา บทสรุปของเรื่องจึงไม่ได้อยู่ที่ว่ามาทิลดาใช้ความสามารถของเธอเพื่อคลี่คลายปัญหาทั้งหมดได้อย่างไร แต่สื่อให้เห็นถึงความสำคัญอันแสนวิเศษของการอ่านหนังสือมากกว่า
“ถ้าอยากให้เขาขบถต่อผู้ใหญ่ ให้เขาอ่านหนังสือของ ‘โรอัลด์ ดาห์ล’ ทุกเรื่องเลย โดยเฉพาะเรื่อง ‘มาทิลดา’ สังเกตได้ว่า งานของ โรอัลด์ ดาห์ล ทุกเรื่องเลยนั้น จะขบถ วิพากษ์วิจารณ์ผู้ใหญ่และระบบการศึกษา”
05
ทวิตเตอร์
“สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากลูก คือข้อมูลจากสังคมหรือโลกทัศน์ของเด็กรุ่นใหม่ อย่างเช่นล่าสุด เรื่องการประท้วงจากเหตุการณ์คนผิวสีในอเมริกาที่โดนกระทำโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ เวยาเขาไปรู้จากทวิตเตอร์มาว่า เทเลอร์ สวิฟต์ ออกมาประท้วงรัฐบาล ลูกก็มีคำถามว่า ทำไมดาราไทยไม่ออกมาต่อต้านรัฐบาลในเรื่องที่กระทำรุนแรงกับประชาชน…”
“ถ้าเด็กโตแล้ว และอยากให้เขารู้ความเป็นไปของสังคมและสถานการณ์บ้านเมือง ก็ให้เขาอ่านทวิตเตอร์ เเจ๋วที่สุดเลย (หัวเราะ)”
อ่านบทสัมภาษณ์เลี้ยงลูกยังไงให้อ่านหนังสือได้ ที่นี่