วิทยากร โสวัตร

“เลี้ยงลูกยังไงให้อ่านหนังสือ” ผมจะตอบว่า “แล้วคุณล่ะ อ่านไหม”

ฟิลาเดลเฟีย คือร้านหนังสือที่สร้างขึ้นจากความรัก 

สถานที่แห่งนี้เริ่มต้นจากสองเรื่องราว 

ในมุมของ ‘วิทยากร โสวัตร’ ฟิลาเดลเฟีย คือความฝันของภรรยาผู้เป็นหนอนหนังสือ ด้วยในวัยเยาว์ การจะหาอ่านหนังสือสักเล่มนั้นช่างยากเย็น ความฝันของการมีร้านหนังสือที่เธอหรือใครก็ตามสามารถเปิดอ่านได้อย่างอิสระจึงเริ่มต้น โดยมีชายคนรักมาสานและสร้างขึ้น 

ในมุมของภรรยา ที่สามีเล่านั่นก็ใช่… แต่อีกนัยหนึ่ง ร้านหนังสือเปรียบดั่งเกราะป้องกันชายหนุ่มให้เลี้ยงลูกและทำงานที่เขารักได้ในที่แห่งนี้

‘ท็อฟฟี่’ ศินีนาฏ โสวัตร คือพยาบาลผู้รักในการอ่านหนังสือ 

‘เจี๊ยบ’ วิทยากร โสวัตร คือนักอ่าน กวี และนักเขียนเจ้าของรางวัลนายอินทร์อะวอร์ดปี 2552 จากเรื่องสั้น ฆาตกร คนสวน และพนักงานดูแลความฝันของคู่ชีวิต

เขาและเธอให้กำเนิดสาวน้อย 2 คน เธอคือ เวยา และ เนรัญชรา

“ตอนท็อฟฟี่โทรมาบอกว่ามีเด็ก เรารับรู้ถึงเสียงที่ตื่นๆ ของเธอ ตอนนั้นแหละที่เรามุ่งมั่นบางอย่างว่า เอาล่ะ เราจะเลี้ยงเด็กคนนี้ด้วยกัน” วิทยากร เล่าเรื่องราวด้วยน้ำเสียงขึงขัง มันคือความโรแมนติกที่ฉะฉาน ชัดเจน และตรงไปตรงมา 

จากวันนั้น ผ่านมา 13 ปีแล้ว เวยา และ เนรัญชรา ลูกสาวทั้งสองเติบโตขึ้นตามครรลองในร้านหนังสือเล็กๆ จากคำบอกเล่าของชายผู้พ่อ ไม่ว่าจะก่อนนอนหรือตอนตื่น ภาพปกติที่ลูกน้อยจะพบเห็นคือ ไม่พ่อก็แม่จะนั่งอ่านหนังสืออยู่มุมใดมุมหนึ่งของบ้านเสมอ 

“เราอยากให้ลูกอ่านหนังสือ เราอยากให้เขาเป็นผู้ที่รักในความรู้”

ตามประสา ทั้งคู่คาดหวังว่าลูกทั้งสองจะรักการอ่าน ดูจากหนังสือที่เรียงแน่นเต็มทุกฝั่งผนังบ้าน การงานและชีวิตที่ล้วนมีหนังสือเกาะเกี่ยวเดินทางไปด้วยเสมอ 

บทสนทนาของเรากับ วิทยากร โสวัตร ในบ่ายวันนั้น จึงเกี่ยวพันกับการเลี้ยงลูก หนังสือ การอ่าน วิธีคิดและวิธีการ ซึ่งอาจให้มุมมองบางประการต่อใครก็ตาม ว่าถ้าอยากเลี้ยงลูกให้รักในการอ่านหนังสือ เขาและเธอมีวิธีการสร้างสมดุลบนความคาดหวังอย่างไร 

ป.ล. ข้อเขียนถัดจากนี้ขออนุญาตเด็กๆ ในการเล่าเรื่องผ่านผู้เป็นพ่อแล้ว

การเลี้ยงลูกยากไหม

ยาก… ยากมาก 

การเลี้ยงลูกมันเรียกร้องเวลา ซึ่งก็ขึ้นกับว่าเราจะเลี้ยงเขาแบบไหน อย่างเรารู้สึกว่า เด็กเขาต้องการสัมผัสแห่งความรักตั้งแต่เขาเป็นเซลส์ ฉะนั้นตั้งแต่อยู่ในท้อง เราจะคอยคุยกับเขา ลูบท้องแม่เขา อ่านบทกวี ร้องเพลงให้เขาฟัง

เรื่องนี้พิสูจน์ได้ตอนที่เขาร้องไห้ พอเราร้องเพลงที่เขาเคยฟังตอนอยู่ในท้องบ่อยๆ หรืออ่านบทกวีให้ฟัง เช่นบทกวี ‘พระจันทร์เสี้ยว’ ของ รพินทรนาถ ฐากูร ชื่อบทว่า ‘จุดเริ่มต้น’ เขาจะหยุดร้องไห้ หันหาเสียงแล้วนิ่งฟัง ตอนนั้นเขายังไม่เดียงสาเลยนะ ตรงนี้เราคิดว่ามันคือการตอบสนองและยืนยันถึงทฤษฎีที่ว่า เด็กเขารับรู้เราได้ตั้งแต่อยู่ในท้อง”

คุณพ่อมือใหม่ในตอนนั้น เลี้ยงลูกอย่างไร 

“เราตั้งใจจะเลี้ยงเขาให้เต็มที่ ไม่เข้าเนิร์สเซอรี่ เราจะเลี้ยงเขาตั้งแต่อยู่ในท้องจนอย่างต่ำ 5-6 ขวบ เพราะช่วงนี้คือเวลาทองของเขาที่จะรับรู้ความรู้สึกนึกคิดอย่างเต็มที่ แน่นอนว่าเราต้องการให้เขาได้รับสิ่งดีๆ จากเรา เราต้องให้เขาตอนนี้แหละ และสิ่งนี้จะติดตัวเขาไปชั่วชีวิตจนเขาตาย 

ข้อต่อมาคือ เราไม่ซื้ออุปกรณ์ในการช่วยเหลือต่างๆ เช่น รถเข็น เราจะอุ้มเขาจนกว่าเขาจะไม่ให้อุ้ม ด้วยความตั้งใจคือ หนึ่ง ให้เขารู้สึกว่ามีความรักบางอย่าง สอง เมื่อพ่อกับแม่นั้นกำเนิดเด็กคนหนึ่ง มันจะมีพลังงานพิเศษ 

นึกง่ายๆ เวลาเรามีคนรักโดยเฉพาะช่วงแรกๆ ที่มีกัน มันยิ่งใหญ่มาก พลังงานสูงมาก ไปโบกรถ ขึ้นภูเขา ยอมลำบากด้วยกันได้ พลังงานมาจากไหนไม่รู้ นี่เป็นเพียงความรักหนุ่มสาวนะ แต่พอมีลูก พลังมันมากกว่านั้นมหาศาล 

การมีลูกคือความฝันของคุณหรือเปล่า 

อย่างตรงไปตรงมาที่สุด เราไม่คิดอยากมีลูก มันไม่ใช่ความฝัน แต่มันคือชีวิตใหม่ของคนคนหนึ่ง และเป็นชีวิตใหม่ของเราด้วย เรามีวิธีการมองชีวิตใหม่ๆ เช่น เมื่อก่อนเราไม่เคยกลัวตาย แต่การมีลูกทำให้เรากลัวตาย แม้แต่จะเดินทางกลับบ้าน ถ้านั่งรถไฟได้ก็จะนั่ง เพราะเราไม่ค่อยได้เห็นอุบัติเหตุของรถไฟ ต่อให้ได้ยืนกลับบ้านจากกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี 12 ชั่วโมง เราก็ยืนได้ เพราะเรากลัวตาย เรารู้สึกเลยว่าลูกคนหนึ่งเขาขาดเราไม่ได้ เราจะไม่ยอมให้เขากำพร้า มันคือชีวิตใหม่จริงๆ 

แม่ที่รักการอ่านหนังสือ พ่อที่โตมากับหนังสือ เป็นนักเขียน เปิดร้านหนังสือ คุณอยากให้ลูกอ่านหนังสือด้วยหรือเปล่า? 

เรียกว่ายัดเยียดหนังสือเลยก็ได้ เรามองว่า มันคือความรักที่เข้าใจเรื่องพัฒนาการของเด็กและของชีวิต และเราก็รู้ว่า เด็กตั้งแต่อยู่ในท้องถึงหกขวบนั้น เขาจะรับรู้สิ่งต่างๆ ผ่านพ่อแม่หรือคนใกล้ชิดนะ สิ่งแวดล้อมของเราจะหล่อหลอมเขา 

ถ้าอยากให้ลูกอ่านหนังสือ ก็ต้องอ่านหนังสือให้ลูกฟัง เพราะลูกอ่านหนังสือเองไม่ได้ แบบนี้เรียกว่ายัดเยียดไหม? ถ้าใช่ เรายัดเยียดถึงขั้นว่า เราไม่อ่านนิทานไทยเลย เพราะเราเห็นแล้วว่าหนังสือเด็กของไทยไม่สวย ใช้สีไม่ดี ลายเส้นค่อนข้างแข็ง ว่าง่ายๆ คือไม่มีองค์ประกอบศิลป์ที่ดี 

แถมเนื้อเรื่องนั้นก็สั่งสอนชิบเป๋งเลย เนื้อเรื่องมันไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้จินตนาการและเป็นตัวของตัวเอง มีแต่ข้อสั่งสอน ข้อบังคับเต็มไปหมด ขนาดเราบวชเรียนมาตั้งแต่เด็ก เรียกว่าอยู่ในโลกของศีลธรรมและจริยธรรมมา เรายังรู้สึกรับไม่ได้เลย

หนังสือแบบไหนที่เลือกอ่านให้ลูกฟัง 

พอเขาเริ่มโตขึ้น เราอ่านวรรณกรรมเยาวชนของฝรั่งให้เขาฟัง หนังสือที่เราเลือกแล้วว่ามันเป็นวรรณกรรมเยาวชนที่เป็นประชาธิปไตยเปิดพื้นที่ให้เขาได้เป็นตัวของตัวเอง เช่น เรื่อง ‘ชาร์ล็อต แมงมุมเพื่อนรัก’ เราจะเห็นได้ในฉากแรกๆ ที่พ่อของเขาเห็นหมูตัวเล็กแกร็น ไม่แข็งแรง แล้วจะเอาหมูไปฆ่า ลูกสาวบอกว่า ‘พ่อไม่ยุติธรรม’ และตัวละครลูกก็จะโต้เถียงกับพ่อ แสดงความคิดเห็นกับพ่อที่โต๊ะอาหาร 

ลองนึกดูสิว่า ถ้าเป็นเด็กไทย หลายคนโดนด่า โดนตี โดนตบหัว บอกให้หุบปากไปแล้ว แต่ลูกเราไม่ใช่อย่างนั้น ยิ่งเราเป็นพ่อที่อ่านหนังสือเยอะ และอยากให้ลูกเป็นประชาธิปไตย เป็นเสรีชน อยากให้ลูกมีหัวจิตหัวใจ มีชีวิตที่ค่อนข้างเปิด เราก็ต้องเลือกหนังสือเหล่านี้เพื่อหล่อหลอมเขา

วิธีการหยิบยื่นหนังสือแบบไหนที่มั่นใจว่าลูกจะไม่เกลียดหนังสือ

พอเขาเริ่มอ่านหนังสือออก เราไม่เคยยัดเยียดเลยว่าต้องอ่านเล่มไหน เขาเลือกเอง หรือบางเรื่องที่เขาฟังเราพูดแล้วสนใจ เขาก็จะขออ่าน เช่น โจนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล เขาเดินมาบอกว่า ‘หนูจะอ่านโจนาธาน หนูเห็นพ่อพูดบ่อยจัง มันเป็นยังไง’ เราก็บอกแค่ว่า “เอ้า อ่านสิ” 

หรือเราเคยเปรยว่า ถ้าเขาสนใจปรัชญา มันมีหนังสือเล่มหนึ่งนะ ชื่อว่า ‘โลกของโซฟี’ เขียนสนุกมาก เขาก็ไปจับๆ อ่านๆ อ่านได้ซักสี่ห้าหน้าแล้วรู้สึกฝืน เขาก็วาง จนผ่านไปประมาณ 1 ปี เขากลับมาอ่านใหม่จนจบ เพราะเมื่อเขารู้ตัวว่า เขาพร้อม เขาก็จะอ่านจนจบ เราไม่ยัดเยียดแล้ว เราจะบอกแค่ว่า ‘หนังสือเล่มนี้ดีนะ’ แล้วเขาก็จะอ่าน

พอลูกเริ่มเลือกหยิบจับหนังสือที่สนใจเองได้แล้ว คนเป็นพ่อแม่เคยเซ็นเซอร์เรื่องที่เขาสนใจไหม

ไม่ เพราะหนังสือในบ้านเราเลือกมาแล้ว และเราไม่เชื่อในสิ่งที่ใครบางคนพูดว่า หนังสือเล่มนี้เหมาะหรือไม่เหมาะกับเด็ก เราเกลียดวิธีคิดแบบนี้ มันคล้ายกับการบอกว่า หนังแบบนี้เด็กไม่ควรดู เด็กไม่ควรรู้เรื่องเซ็กส์ ไม่ควรดูเรื่องการเมือง 

เรามั่นใจเลยว่า เมื่อคนเราถึงจุดที่อ่านหนังสือออกแล้วเขาอยากรู้อะไรนั้นก็ให้เขารู้ไป ซึ่งหนังสือในบ้านนั้น ถ้าเป็นหนังสืออีโรติกหรืองานเขียนเกี่ยวกับเรื่องเพศ ก็เป็นเรื่องเพศที่สวยงาม เป็นเซ็กส์ที่ดี นึกออกไหม 

พอเขาโตขึ้นกว่านี้ เราและแม่ของเขาจะสอนเลยว่า ‘เซ็กส์ที่ดีคืออะไร’ เพราะอย่าลืมว่า เราอยู่ในประเทศที่สอนเรื่องเซ็กส์ได้ห่วยแตก ซึ่งเรารู้สึกแย่มาก ในสุขศึกษาในเรื่องเพศสัมพันธ์ เราไม่เคยสอนกันเลย แต่หนังสือพวกนี้มันสอน 

ตอนไหนถึงคิดว่าลูกควรจะเรียนรู้เรื่องเหล่านี้

ไม่รู้ ชีวิตเขาจะบอกเขาเอง เมื่อเขารู้สึกว่าอยากเรียนรู้ แต่เรามั่นใจว่าเด็กทุกคนก็จะอายๆ แอบๆ บ้าง และเราก็มั่นใจอีกอย่างหนึ่งว่าเขาจะกล้าบอกกับเรา เพราะต่อให้เขาอยากรู้เรื่องอะไรแล้วไปหาเอง มันก็จะไม่ได้คำตอบเองทั้งหมด จะมีสิ่งที่ค้างคาใจเขาอยู่ หนังบางเรื่องที่เขาดู ก็จะมีคำถาม ความไม่เข้าใจบางมิติ นั่นเป็นเหตุที่เขาจะมาคุยกับเรา หรือหาใครสักคนที่เขาคิดว่า เขามั่นใจในการแลกเปลี่ยน

ซึ่งความมั่นใจนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็มาจากความรักที่เขามีและความไว้เนื้อเชื่อใจ เราไม่รู้ว่าลูกเราจะพร้อมวันไหน แต่เมื่อเขาพร้อม แล้วมาพูดกับพ่อกับแม่ เราก็จะแนะนำเขา 

วิธีการแบบไหนที่ใช้ในการดึงดูดลูกให้เข้าไปท่องในโลกหนังสือ

เราจะกระตุ้นให้เขาอยากรู้อยากเห็น โดยไม่บอกเรื่องราวเขาทั้งหมด เราเกลียดการสปอยล์หนัง เช่นเราอ่าน ‘Les Misérables’ (เหยื่ออธรรม) เราจะดึงตัวละครอย่าง ฌอง วัลฌอง มาเล่าให้เขาฟังโดยไม่ไปบอกว่านี่คือหนังสือเรื่องเหยื่ออธรรม เราใช้วิธีการเดียวกับที่ยาขอบดึงตัวละครในสามก๊กออกมาเล่าในฉบับวณิพก พอเล่าแล้วเด็กเขาก็สนใจตัวละครนั้น มันมีฉาก มีสีสัน ด้วยศิลปะในการเล่าของเราก็ซ่อนแง่ซ่อนมุมให้เขาอยากฟังในวันต่อไปๆ

สำคัญคือ เราต้องรู้ว่าลูกสนใจเรื่องอะไร ชาญฉลาดเรื่องอะไร แล้วใช้วิธีไปสะกิดตรงนั้นเพื่อจุดประกายให้เขาสนใจบางอย่าง แล้วจึงให้เวลาเขาได้เดินตามจุดนั้นไป สำเร็จทุกครั้งไหม… ไม่ทุกครั้ง แต่เรามั่นใจว่าวันหนึ่งเขาจะก้าวไปถึง 

แล้วกระบวนการในการสร้างไดอะล็อกระหว่างทาง มีอะไรบ้าง 

ก็ต้องดูว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องอะไรที่เขาสนใจ เช่น ตอนนี้เวยากำลังอ่านหนังสือเรื่อง ‘แม่’ ของ แม็กซิม กอร์กี้ ซึ่งในขณะเดียวกัน ความสนใจของเวยานั้น เขาสนใจเรื่องการออกแบบ แฟชั่น เขาอยากเป็นดีไซเนอร์ ซึ่งพอพูดถึงเรื่องการออกแบบดีไซน์ มันก็ต้องพูดถึงเรื่องบุคลิกของคน เพื่อที่จะออกแบบอุปกรณ์ เสื้อผ้าให้เขากับบุคลิกของคนนั้นๆ 

เราก็บอกว่า ‘ในเรื่องแม่นั้น พ่อชอบผู้หญิงคนหนึ่ง รูปร่างเล็กๆ น่ารัก ชื่อนาตาซา เธอจะเดินฝ่าหิมะมาที่บ้านของปาเวล’ เราทิ้งประโยคไว้แค่นี้

พอเวยาเขาตามไปอ่าน ก็มาบอกกับเราว่า ‘จริงๆ แล้วนั้น หนูชอบอีกคนหนึ่งมากกว่า หญิงคนนั้นคือคนที่ปาเวลรัก’ ซึ่งหมายถึงว่า ในหนังสือเรื่อง ‘แม่’ ที่บรรยายบุคลิกของผู้หญิงที่ปาเวลชอบนั้น เขานึกถึงผู้หญิงในลักษณะ หน้าตา หุ่น บุคลิกแบบประธานาธิบดีหญิง อัลมา คอยน์ ในหนังเรื่อง The Hunger Games ภาค  Mockingjay

ความเชื่อมโยงระหว่างหนังสือและภาพยนตร์ กระทั่งหนังสือกับโลกและชีวิต อธิบายกระบวนการเรียนรู้ของลูกอย่างไร 

เมื่อก่อนเราจะเป็นคนจุดประเด็นคำถาม โดยมีกระบวนการอยู่สองข้อคือ หนึ่ง-เรารู้ว่าลูกสนใจอะไร เราจะเริ่มต้นจากจุดนั้น เพื่อไปสู่ประเด็นการเสวนากัน สอง-เรามีเรื่องที่น่าสนใจ เราจึงหาวิธีการจุดประเด็นให้เขาสนใจ 

โดยที่เรามักถามเขาว่า ‘หนูคิดว่ายังไง’ แล้วให้เขาแสดงความคิดเห็นมากที่สุด’ แรกๆ เขาอาจจะคิดเห็นผ่านความรู้สึกนึกคิดส่วนตัว แต่พอเขาโตขึ้น อ่านหนังสือมากขึ้น เราก็จะบอกเขาว่า ‘พ่ออยากเห็นวิธีการอธิบายความคิดของลูก ที่มีหลักฐาน มีข้ออ้างอิง’

จุดนี้เองที่เขาจะเชื่อมโยงได้ เพราะการอ่านหนังสือนั้นเหมือนการเปิดประตูไปสู่โลกโลกหนึ่ง เป็นโลกใหม่ และทำให้เขาเกิดการเชื่อมโยงได้ เช่นประเด็นนี้ เขาเชื่อมไปสู่ตัวละครตัวนี้ หรือตัวละครตัวนี้ เชื่อมไปสู่ตัวละครตัวอื่นไปหนังสือเล่มอื่น การเชื่อมไปเชื่อมมานี้ มันทำให้เขาเกิดองค์ความรู้ใหม่ 

เวลาที่ลูกจุดประเด็นขึ้นมา แล้วพ่อแม่ตอบไม่ได้ ทำยังไง?

เราจะไม่ตอบคำถามทันที แต่จะคิดก่อนว่า เรื่องที่เขาถามนั้นเรามีความรู้ไหม ถ้าเรามีข้อมูล เราจะบอกจากข้อมูลที่เรามี และหลังจากให้ข้อมูลเสร็จ เราจะบอกว่า ‘จากข้อมูลที่ให้ไปนั้น ประมวลผลแล้วพ่อมีความคิดเห็นแบบนี้’ 

แต่ถ้าคำถามนั้นเราไม่มีข้อมูลก็จะบอกว่า “เราไม่มีข้อมูลนะ แต่ถ้ามุมมองจากคำถามนี้ พ่อคิดว่าแบบนี้…” และทิ้งท้ายว่า “ลูกไม่ควรเชื่อถือไอ้คนไม่มีข้อมูลนะ มันเป็นแค่ความคิดเห็น ถ้าจะให้ดีพ่อควรได้ข้อมูลเพื่อที่จะเอามาแชร์และประมวลความคิดเห็นของพ่อผ่านข้อมูลนั้นก่อน” เราคุยกันอย่างตรงไปตรงมา

เลี้ยงลูกคนแรกกับคนที่สอง ยากง่ายต่างกันมากไหม

คนที่สองง่ายกว่าเยอะ ลูกคนแรกเราไม่มีประสบการณ์เลย ยากไปหมด แต่ลูกคนที่สองนั้น แค่จะตดเรายังรู้เลยว่าเขาจะตดแล้ว 

ซึ่ง เวยา และ เนรัญชรา เราเลี้ยงเหมือนกันทุกสเต็ป แต่บุคลิกของเขาต่างกัน กระบวนการเรียนรู้ของเด็กทั้งสองคนต่างกัน อย่าง เนรัญชรา (ลูกคนเล็ก) จะไม่ชอบอ่านหนังสือ ถ้าเรามองว่าการอ่านหนังสือคือกระบวนการเรียนรู้ สรรหาความรู้อย่างหนึ่ง มันก็จะมีกระบวนการสรรหาความรู้ของมนุษย์อีกหลายอย่าง 

เนรัญชรา เขาชอบหมา แมว สัตว์ เขาก็จะไปหาวิธีการเรียนรู้ ค้นคว้าความรู้เหล่านี้จากที่อื่น เช่น อินเทอร์เน็ต ยูทูบ รายการต่างๆ เกี่ยวกับสัตว์ เชื่อไหมว่าตอนนี้ แค่หมาวิ่งผ่านหน้า เนรัญชราก็สามารถรู้ได้ว่าหมาตัวนี้พันธุ์อะไร กำเนิดอยู่ถิ่นไหน ผสมกับพันธุ์อะไร เลี้ยงอย่างไรจึงจะเลี้ยงได้ ห้ามกินอะไร อยู่ในอากาศแบบไหน มีหน้าที่อะไร 

แปลว่าไม่ได้ซีเรียสว่าลูกต้องอ่านหนังสือทุกคน

ซีเรียส เราซีเรียสมาก  

แต่ไม่ปิดกั้นว่าเด็กต้องอ่านหนังสือเท่านั้นถึงจะมีความรู้ เพราะเราต้องการเลี้ยงลูกให้เป็นนักปรัชญา ปรัชญาที่มาจากคำว่า philos+sophia แปลว่า คนที่รักในความรู้ แต่การมาของความรู้นั้น เราไม่จำกัดว่าต้องเป็นหนังสืออย่างเดียว 

ถามว่าเรายังอยากจะให้เขาอ่านหนังสืออยู่ไหม แน่นอน เพราะการอ่านหนังสือมันจะทำให้เรานิ่ง ความรู้นั้นหาที่อื่นได้เยอะแยะมากมาย แต่การอ่านหนังสือนั้นมันเหมือนการปฏิบัติธรรม คุณจะนิ่ง มีสมาธิที่ยาวนานได้โดยไม่ต้องนั่งหลับตา การอ่านคือเครื่องมือในการฝึกที่ดี 

แต่เราไม่เร่งรัด เราเพียงบังคับบางอย่าง เช่น เรารู้ว่าเขาชอบหมา เราก็เอาหนังสือเกี่ยวกับหมาให้เขาแล้วบอกว่า “เล่มนี้ตัวหนังสือไม่เยอะ ลองอ่านดู อ่านแล้วมาคุยให้พ่อฟัง” เราจะมีแบบฝึกหัดประมาณนี้ เราไม่ได้ปล่อยลูกขนาดนั้น

อะไรทำให้มั่นใจว่าลูกคนเล็กจะอ่านหนังสือ

เพราะเขาชอบฟังเรื่องเล่า เขาเป็นคนอ่อนไหว ชอบฟังเรื่องเล่าและชอบเล่าเรื่อง ซึ่งมนุษย์เราที่ชอบฟังเรื่องเล่า ก็เพราะเรื่องเล่าของคนเหล่านั้นมันมีอารมณ์และความรู้สึก อารมณ์ความรู้เหล่านี้คือสิ่งสากลของมนุษย์ สุข เศร้า เหงา รัก ชัง 

วันหนึ่ง เมื่อเขาโตขึ้น เขาจะเผชิญสิ่งนี้อย่างมหาศาล และก็จะมีบางช่วงบางตอนที่เขาไม่สามารถหาคนระบายได้ วันนั้นแหละ ที่เขาจะนึกถึงหนังสือที่พ่ออ่าน แม่อ่าน พี่อ่าน เราคิดว่าเราเตรียมตัวลูกได้ดีแล้ว 

เวลาอ่านหนังสือเล่มเดียวกัน แต่ตีความตอนจบไม่เหมือนกัน มีวิธีการแชร์หรือประนีประนอมกันอย่างไร 

ทำไมต้องประนีประนอม ทุกคนมีความเห็นเป็นของตัวเอง อย่าลืมว่า เมื่อนักประพันธ์เขียนหนังสือเล่มหนึ่งมา เขาซ่อนแง่ไว้หลายอย่าง แล้วเรื่องราวในหนังสือเล่มนั้นก็แปรสภาพผ่านกระบวนการคิด ชีวิต ประสบการณ์ของคนอ่านแต่ละคน เมื่อมันถูกกรองผ่านตัวตนของคนที่อ่านแล้ว มันย่อมไม่เหมือนกัน และสิ่งที่ชอบที่สุด ก็ตรงที่มันไม่เหมือนกันนี่แหละ

เราจึงไม่รู้สึกว่าต้องเหมือนกันเลย เหมือนคุณกรองน้ำ คนหนึ่งเอาฝ้ายกรอง คนหนึ่งเอาทรายกรอง คนหนึ่งเอาผ้ากรอง น้ำที่ออกมาก็ไม่เหมือนกัน แต่ก็ยังเป็นน้ำ และเราไม่ไปตีค่าว่า นี่คือการกรองที่แย่หรือไม่แย่ ชีวิตจะบอกเขาเอง หรือดีไม่ดี เขาอาจมีมุมมองที่ทำให้เราได้อะไรมากขึ้นด้วย ถ้าเรารู้ว่าจะได้คำตอบเหมือนกัน เราจะไปคุยกับมันทำไม (หัวเราะ)

ในฐานะพ่อ มีเรื่องผิดพลาดอะไรบ้างและเรียนรู้สิ่งใดจากมัน

เราดุลูกแรงมาก เราเป็นคนดุ น้ำเสียงก็ดุ คำที่ใช้ก็แข็งกระด้าง กระแทกกระทั้น ทุกๆ ครั้ง ซึ่งก็ไม่บ่อยครั้งเท่าไหร่ เมื่อเราด่าลูก เราจะเสียใจทุกครั้ง และทุกๆ ครั้งที่เราหลุดไปแล้ว เราจะขอโทษลูกนะ เราขอโทษอย่างตรงไปตรงมา “พ่อขอโทษ” 

มันเหมือนมีหอกมาแทงใจ เราจะบอกเด็กๆ ว่า “ต่อไปเราจะทำให้น้อยลง” พอมันมีครั้งต่อไปที่เราเริ่มมีน้ำโห แบบว่า “ฮึ้ยยย” เราก็จะยับยั้งตัวเองได้มากขึ้น ถ้าให้วิจารณ์ตัวเอง ‘ก่อน’ และ ‘หลัง’ มีลูก เรารู้สึกว่า หลังจากมีลูกนั้น อัตตา ความอหังการนั้นน้อยลงมาก

คิดเห็นอย่างไรเมื่อได้ยินคนพูดว่า ‘เด็กสมัยนี้ไม่อ่านหนังสือ’

เราอยากถามกลับว่า ‘คุณล่ะอ่านหรือเปล่า คนที่พูดน่ะ อ่านหรือเปล่า แล้วอ่านขนาดไหน’ ถ้าเด็กจะไม่อ่านหนังสือ ก็เพราะคนเช่นนี้

หลายคนที่เจอเราเขาก็ชอบถามนะว่า ‘โอ้ เลี้ยงลูกยังไงให้อ่านหนังสือ’ เราตอบคำถามนี้ด้วยคำตอบเดียวว่า ‘แล้วคุณอ่านไหม’ 

ลูกของเราตื่นมาก็เห็นเราอ่านหนังสือ ก่อนนอนเขาก็เห็นเราอ่านหนังสือให้ฟัง ตื่นนอนตอนไหนก็เห็นเราอ่านหนังสือตอนนั้น ทุกครั้งที่ลืมตาตื่น จะเห็นพ่อกับแม่อ่านหนังสือเสมอ เราเล่าเรื่องของหนังสือให้กันและกันฟังตลอด บรรยากาศเช่นนี้ ทำไมเขาถึงจะไม่อ่านหนังสือเล่า? และถ้าจะมีเด็กไม่อ่านหนังสือ ก็เพราะคุณไม่อ่านหนังสือ 

อ่านโลกผ่านหนังสือ 5 เล่ม 

01

นิทานภาพ พิมพ์โดย มูลนิธิเอสซีจี

“ถ้าช่วงเริ่มต้นที่ลูกยังอ่านหนังสือไม่ออก เราแนะนำหนังสือที่พิมพ์โดยเอสซีจีทุกเรื่องเลย เป็นงานที่ดีทั้งภาพและเนื้อหาเลย เช่นเรื่อง ‘เดินเล่นในป่า’ ของ มารี ฮอลล์ เอ็ตส์”

02

The Giving Tree ความรักของต้นไม้

“ความรักของต้นไม้ เป็นหนังสือประจำบ้านเลย อ่านและกางหนังสือให้เขาเห็นด้วย รูปจะเป็นลายเส้นง่ายๆ ซึ่งลายเส้นแบบนี้มักถูกโจมตีว่า ต้องมีสีสัน ต้องสีจัดจ้านจึงจะดี ซึ่งจริงๆ แล้วไม่เลย เส้นง่ายๆ ก็ทำให้เด็กซาบซึ้งได้ถ้านั่นคือเส้นที่ดีพอ”

03

ชาร์ล็อต แมงมุมเพื่อนรัก

“โตขึ้นกว่านั้น เมื่อเขาเริ่มอ่านหนังสือได้ พ่อแม่ก็อาจจะอ่านหนังสือให้เขาฟังและให้เขาอ่านเองด้วย เช่นเรื่อง ชาร์ล็อต แมงมุมเพื่อนรัก ของ  อี.บี.ไวท์ วรรณกรรมเยาวชนที่เป็นประชาธิปไตย เปิดพื้นที่ให้เด็กได้เป็นตัวของตัวเอง จะเห็นได้ในฉากแรกๆ ที่พ่อของเขาเห็นหมูตัวเล็กแกร็น ดูไม่แข็งแรง เขาก็จะเอาไปฆ่า ลูกสาวบอกว่า ‘พ่อไม่แฟร์’ และลูกก็จะโต้เถียงกับพ่อ แสดงความคิดเห็นกับพ่อที่โต๊ะอาหาร” 

04

มาทิลดา โดย โรอัลด์ ดาห์ล

“ถ้าอยากให้เขาขบถต่อผู้ใหญ่ ให้เขาอ่านหนังสือของ ‘โรอัลด์ ดาห์ล’ ทุกเรื่องเลย โดยเฉพาะเรื่อง ‘มาทิลดา’ สังเกตได้ว่า งานของ โรอัลด์ ดาห์ล ทุกเรื่องเลยนั้น จะขบถ วิพากษ์วิจารณ์ผู้ใหญ่และระบบการศึกษา”

05

ทวิตเตอร์

“สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากลูก คือข้อมูลจากสังคมหรือโลกทัศน์ของเด็กรุ่นใหม่ อย่างเช่นล่าสุด เรื่องการประท้วงจากเหตุการณ์คนผิวสีในอเมริกาที่โดนกระทำโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ เวยาเขาไปรู้จากทวิตเตอร์มาว่า เทเลอร์ สวิฟต์ ออกมาประท้วงรัฐบาล ลูกเขาก็มีคำถามว่า ทำไมดาราไทยไม่ออกมาต่อต้านรัฐบาลในเรื่องที่กระทำรุนแรงกับประชาชน…

“ถ้าเด็กโตแล้ว และอยากให้เขารู้ความเป็นไปของสังคมและสถานการณ์บ้านเมือง ก็ให้เขาอ่านทวิตเตอร์ เเจ๋วที่สุดเลย (หัวเราะ)”


Writer

Avatar photo

อรสา ศรีดาวเรือง

ลูกสาวชาวประมงผู้ว่ายน้ำไม่เป็น ตกหลุมรักอีสานพอๆ กับหลงใหลในท้องทะเล เรียนจบมหาวิทยาลัยด้วยการเข้าห้องเรียนกับชาวบ้าน จึงได้ F เป็นรางวัลแห่งความพยายามหลายตัว

Related Posts