“เพราะรู้สึกว่าแยกกันอยู่มีความสุขกว่าอยู่ด้วยกันสำหรับลูก”
เป็นจุดในความสัมพันธ์ที่ทำให้ ‘ทิม’ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์รู้สึกว่าควรพอแค่นี้
ลูกสาวเคยถามว่า ทำไมพ่อกับแม่ไม่อยู่ด้วยกัน คุณพ่อหัวหน้าพรรคตอบโดยใช้นิทาน เปรียบพ่อกับแม่เป็นยีราฟ
ยีราฟกับจระเข้อยู่ด้วยกันแล้วไม่มีความสุข แต่ยังไงพ่อกับแม่ก็ยังรักลูกเหมือนเดิม
“ตอนนั้นมีนิทานเล่มหนึ่ง ลูกเดินไปหยิบมาเองโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ เป็นเรื่องเกี่ยวกับจระเข้กับยีราฟ ยีราฟไปอยู่ในบ้านของจระเข้แล้วไม่มีความสุข จระเข้ไปอยู่ในบ้านของยีราฟก็ไม่มีความสุข ต่างคนต่างอยู่มีความสุขมากกว่า ก็เป็นคำตอบที่ตอบคุณ และเป็นคำตอบที่ตอบพิพิมด้วยว่าทำไมพ่อแม่ไม่อยู่ด้วยกัน แต่ยังไงพ่อกับแม่ก็รักพิพิมเหมือนเดิม พิพิมจะได้เจอพ่อกับแม่เหมือนเดิม แล้วก็ไม่ใช่ความผิดของพิพิมที่เราแยกกันอยู่ ยังไงชีวิตพิพิมก็ยังเหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลยนะลูก”
แม้ความรักจบ แต่ความเป็นครอบครัวมันต้องไปต่อ พิธา บอกว่าตัวเองเสียใจเหมือนคนทั่วไป แต่ไม่เสียศูนย์
พร้อมๆ กับบทบาทใหม่ที่เริ่มต้นขึ้นคือ co-parenting ที่หลักสำคัญคือการเอาเป็นลูกเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่ตัวกลาง
“ลูกเป็น center ไม่ได้เป็น middle หรือตัวกลาง เราสื่อสารกันแบบ professional ไม่ได้คิดว่าเขาคือภรรยาของเราอีกต่อไปแล้ว และผมไม่ได้เป็นสามีของเขาอีกต่อไป เขาเป็นคนที่เราต้องให้ความเกรงใจในการพูดจา เรากับเขาจำเป็นต้องสื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมา ลูกต้องไม่เป็นตัวกลาง”
อีกหลักการที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ไม่โกหกและไม่พูดในสิ่งที่ลูกไม่เข้าใจ และไม่จำเป็นต้องมีใครเหมือนใคร เพราะพ่อหรือแม่รู้จักลูกเราดีกว่าทุกคนในโลกนี้
“ผมก็พยายามทำทุกวิถีทางที่จะทำให้มันเต็มที่ที่สุด แล้วอะไรที่เราไม่รู้ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นหายนะของชีวิต ยังมีคนที่เขารู้มาก่อน พอที่จะให้หลักเราในการคิด ให้เราเอาไปบริหารจัดการต่อได้ในอนาคต”
สำหรับคนที่ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตคู่ ครอบครัวก็อบอุ่นได้
“ครอบครัวที่อบอุ่นก็คงไม่ต้องเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ แต่คือครอบครัวที่ real ครอบครัวที่อยู่ได้จริง แล้วก็มีทั้งวันที่ดีและวันที่ไม่ดี แต่วันที่ดีก็อยู่ด้วยกันผมว่าน่าจะเป็นครอบครัวที่อบอุ่นอย่างแท้จริง แล้วก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องเป็นสิ่งที่ดีตลอดเวลา”
และสุดท้าย ลูกจะสมบูรณ์แบบในแบบของเค้าเอง
อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ความแตกสลายภายใต้กระดุมห้าเม็ด “สำหรับผม ความรักคือพื้นที่อบอุ่น เจ็บปวด เติบโต และไม่นิรันดร์”