เด็ก ธรรมชาติ ดนตรี และศิลปะที่เยียวยาใจ ‘เพลง-ต้องตา จิตดี’ ศิลปินที่เชื่อว่าเราต่างเชื่อมโยงกับทุกสิ่งรอบตัว

หากจะมีของขวัญอะไรที่ปี 2023 มอบให้ เพลง-ต้องตา จิตดี บอกว่าเธอได้รอยสักมาใหม่ 1 ลายถ้วน

รอยสักนั้นคือคำว่า breathe (หายใจ) ที่เธอสักไว้เตือนไว้ว่าถ้าเห็นคำนี้เมื่อไหร่ อย่าลืมสูดหายใจเข้าออกลึกๆ สัก 1 ที

ช่วงเวลาปลายปีที่หลายคนกำลังมองหากิจกรรม Retreat หรือเยียวยาใจ เพลงทำกิจกรรมนั้นมาอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี การเตือนตัวเองให้หายใจลึกๆ ของเธอเป็นส่วนหนึ่งของการกลับมาตระหนักรู้ถึงช่วงเวลาปัจจุบัน พ้นไปจากนั้น เพลงยังเอนจอยกับการแบกกระเป๋าเข้าป่าในวันว่าง  วาดและลงสีสิ่งละอันพันละน้อยที่เจอมาบันทึกเก็บไว้ในสมุด หรืออย่างเรียบง่ายที่สุด ในช่วงเวลาที่หัวตื้อ คิดอะไรไม่ออก เธอพาตัวเองไปยังสนามหญ้าที่บ้าน ถอดรองเท้าแล้วสัมผัสผืนดิน

ในยามสายของวันธรรมดา สนามหญ้าของ ‘โรงเรียนอนุบาลเทพารักษ์’ บ้านและโรงเรียนของเพลงก็คลอไปด้วยเสียงเพลง (ใช่ เราหมายถึงเสียงดนตรี เสียงของเพลง และมีเสียงของเด็กๆ แซมด้วยนิดหน่อย) มีการเล่านิทาน และพาเด็กๆ เดินสำรวจธรรมชาติตามเนื้อเรื่องในนิทาน นี่คือคลาสเรียน Story Club and Playlab ที่เพลง-ผู้ทำงานบริหารโรงเรียนควบกับศิลปินเป็นหลัก และแน่นอนว่ารักดนตรีเป็นชีวิตจิตใจ-สร้างขึ้นมาเพื่ออยากใช้เวลาเยียวยากับเด็ก มากกว่านั้นคือเข้าใจเด็กและความเป็นครู 

ยามสายในวันนี้ก็เหมือนทุกวัน สนามหญ้าที่โรงเรียนมีเสียงเพลงคลอเคล้า เด็กๆ กำลังต่อแถวไปฟังนิทานจากครูเพลง และตื่นเต้นเป็นลิงโลดที่จะได้สำรวจธรรมชาติไปด้วยกัน เราในฐานะผู้สังเกตการณ์จึงขอตามเข้าคลาสไปด้วย และอดไม่ได้ที่จะชวนครูเพลงสนทนาถึงการเยียวยาของตัวเธอและเด็กๆ

Kid’s Retreat

“เพลงชอบนิทานมาก โดยเฉพาะนิทานปลายเปิด จึงอยากจัดกิจกรรมที่ต่อยอดมาจากนิทานที่ไม่ใช่แค่เล่าแล้วจบไป Story Club and Playlab เป็นคลาสที่ทำให้เพลงได้ทำแบบนั้น เพลงทำคลาสนี้เพื่อสอนเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 2-5 ขวบ ตอนนี้ทำมาราว 2 ปีแล้ว 

“ในคลาสมีการใช้ดนตรีและนิทานเข้ามาเป็นส่วนประกอบ ขั้นแรก ดนตรีช่วยสร้างบรรยากาศ เมื่อเด็กๆ ต่อแถวเข้ามาในคลาส พวกเขาไม่ต้องทำอะไร แค่ร้องเพลงก่อน มันจะทำให้พวกเขาจดจ่อได้มากขึ้น ดนตรียังช่วยให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับเรา เพราะบางช่วงจะเว้นว่างให้เด็กพูดคำบางคำ ทำให้เขาได้เรียนรู้จังหวะในการเข้าเพลงของตัวเอง เช่น เมื่อกี้ร้องว่า (ร้องเป็นเพลง) Hey Everybody, Let’s sing ‘Hello’ เด็กๆ จะร้องคำว่า Hello กัน มันคือการสอนสกิลการสื่อสารให้เด็กด้วย

“ช่วงนี้โรงเรียนกำลังเน้นสอนเรื่องธรรมชาติ เพราะเป็นหัวข้อหน่วยการเรียนรู้ที่กระทรวงศึกษาธิการมอบหมาย แต่จะเรียนอย่างไร ครูก็ต้องออกแบบอีกที  เพลงเลยอยากเล่านิทานที่เกี่ยวกับธรรมชาติให้เด็กๆ ฟัง 

“นิทานที่เพิ่งเล่าจบไปเมื่อกี้คือเรื่อง บีเวอร์หาทางกลับบ้าน เป็นนิทานที่ทำให้เด็กๆ ได้เห็นความหลากหลายของสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ใต้ดิน บนต้นไม้ ในรังนก เนื้อหานิทานจะทำให้เด็กเห็นว่าพื้นที่ของเรามีมิติที่ซ้อนทับกันอยู่ มันอาจจะเป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตอื่นก็ได้

“ความสนุกคือหลังจากเล่าจบ ครูจะพาเด็กๆ ไปสำรวจบ้านของสัตว์ต่างๆ ตามเนื้อเรื่อง มีการแจกแว่นขยาย กล้องส่องทางไกล และอุปกรณ์อื่นที่ทำให้เด็กสนุกขึ้น เด็กจะได้สังเกตเห็นสิ่งเล็กด้วยมุมมองที่ใหญ่ มากกว่านั้น เพลงอยากให้เด็กรู้สึกว่าการเข้าบ้านใครสักคนต้องเคารพเขาด้วย เพราะฉะนั้นถ้าเดินไปบนพื้นทรายที่เป็นบ้านของมด เราก็ให้เด็กๆ ถอดรองเท้าและคอยระมัดระวังไม่ให้เหยียบเขา หรืออย่างไส้เดือน เพลงก็อยากพาเด็กเข้าไปทำความรู้จัก เพราะรู้สึกว่ามีผู้ใหญ่หลายคนที่เคยมี Truama กับสัตว์ชนิดนี้เพราะเคยโดนบอกว่าพวกเขาแปลกแยกจากเรา รู้สึกว่าพวกเขาน่าเกลียดน่ากลัว เพลงคิดว่าการที่เด็กๆ ได้สัมผัสไส้เดือน มันน่าจะช่วยให้เขาได้เชื่อมต่อและไม่ได้รู้สึกแปลกแยก เราก็คือสิ่งมีชีวิตเหมือนกัน

“โรงเรียนของเราส่งเสริมให้เด็กอยู่กับธรรมชาติเยอะ และมีการบูรณาการวิชาต่างๆ เชื่อมโยงกับธรรมชาติหลายวิชา เช่นศิลปะ สิ่งที่ทำบ่อยคือครูจะชวนให้เด็กสังเกตดอกไม้ในโรงเรียนว่ามีดอกอะไรบ้าง บางทีก็สอนให้เด็กๆ รู้จักเฉดสีผ่านต้นไม้ มีการพิมพ์ Pantone ใส่กระดาษ แล้วให้เด็กให้เทียบเฉด แค่สีเขียวอย่างเดียวก็มีเป็นร้อยเป็นพันเฉด สิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กมีความละเอียดในตัวเองมากขึ้น และสามารถอยู่กับอะไรได้นานๆ แบบไม่ฉาบฉวย

“จริงๆ ศิลปะและธรรมชาติจะเชื่อมโยงกับเด็กตั้งแต่ในห้องเรียนเลย อย่างทุกห้องจะมีการเลี้ยงสัตว์อะไรสักอย่าง บางห้องเป็นเต่า บางห้องเป็นผีเสื้อ ครูก็จะชวนให้เด็กสังเกตการเติบโตแล้วค่อยๆ วาดภาพหรือปั้นสัตว์เหล่านั้นออกมา เพราะเราเชื่อว่าไม่ว่าเด็กจะออกแบบอะไร เขาควรจะได้เห็นและเข้าใจแก่นของสิ่งนั้นก่อน มันดีกว่าคลาสศิลปะที่ชวนเด็กวาดรูปอะไรบางอย่างทั้งๆ ที่เขาไม่เคยสัมผัสสิ่งนั้นเลย

“หากจะมองในมุมของการ Retreat หรือเยียวยา (จากธรรมชาติ) เราคิดว่าเด็กๆ อาจไมไ่ด้ต้องการการเยียวยาขนาดนั้น เพราะเขายังไม่ได้เจอเรื่องราวหนักๆ หรือสิ่งที่ทำให้ทุกข์ แต่เราคิดว่าธรรมชาติก็ยังสำคัญกับเด็กๆ อยู่ การที่เขาได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติตั้งแต่อายุยังน้อยอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาเข้าใจและรักธรรมชาติได้

“ทำไมเด็กๆ ถึงต้องรักธรรมชาติ (หัวเราะ) เพราะธรรมชาติสำคัญกับเด็ก สำคัญกับมนุษย์ทุกคน ทุกวันนี้เรามีเทคโนโลยีและสิ่งที่ฉาบฉวยเยอะ ทุกอย่างเกิดขึ้นง่ายไปหมดทำให้เด็กอาจจะมีความอดทนต่ำ จิตใจอาจจะไม่แข็งแกร่งเท่ากับการมาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติของจริง ยกตัวอย่าง เด็กอาจเคยเห็นผีเสื้อผสมเกสร กบกระโดด มดทำรังในสารดคี แต่พอมาดูในชีวิตจริงแล้วไม่เห็นเหมือนกันเลย เพราะตอนครูพาไปดูมด เด็กอาจจะไม่ได้เจอมดใน 5 นาทีแรกก็ได้ แต่มันสอนให้เขาอดทนรอเพื่อจะได้เห็นว่า ธรรมชาตินั้นไม่ได้ง่ายดายและรวดเร็ว

“ธรรมชาติยังสอนเรื่องความเป็นจริงและความไม่สมบูรณ์แบบกับเด็กๆ ด้วย สมมติเขาเลี้ยงผีเสื้อตัวหนึ่งแล้วเกิดอุบัติเหตุทำให้ปีกหัก เขาจะรู้ว่า ไม่ใช่ผีเสื้อทุกตัวจะสวยงามและบินได้ ได้เห็นความไม่สมบูรณ์แบบในธรรมชาติและยอมรับมัน”

Pleng’s Retreat

“ในวันที่เหนื่อยหรือเครียด ส่วนใหญ่เพลงจะ Retreat ด้วยการอยู่กับปัจจุบัน  แน่นอนว่าสิ่งแรกที่ทำคือออกจากโซเชียลฯ  และกิจกรรมที่ชอบทำบ่อยคือการถอดรองเท้าแล้วเดินบนหญ้าให้รู้สึกถึงพื้นดิน

“โชคดีที่บ้านของเพลงเป็นโรงเรียน มีสนามหญ้า บางทีเวลาเราคิดเยอะ งานเยอะ คิดฟุ้ง แล้วความคิดมันติดอยู่ที่หัว มันทำให้เรารู้สึกเหมือนลอยขึ้นไป การได้สัมผัสดินหรือหญ้ามันทำให้เรารู้สึกเหมือนได้กลับสู่ด้านล่าง ได้อยู่กับลมหายใจตัวเอง ได้อยู่กับปัจจุบัน ซึ่งเพลงคิดว่าเป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุด

“อีกวิธีเยียวยาของเพลงคือจัดทริปเข้าป่า บางครั้งก็พาครูที่โรงเรียนไปด้วย (หัวเราะ) สิ่งที่ได้จากป่าคือการได้มองเห็นความยิ่งใหญ่ และได้เห็นบ้านของสิ่งอื่นๆ บางทีมนุษย์คิดว่าตัวเองเป็นจุดสูงสุด และทุกอย่างไม่ว่าจะเห็ด รา สัตว์ จะอยู่ชั้นต่ำกว่า มนุษย์จะทำอะไรก็ได้ แต่ความจริงแล้วไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตอะไร เราเท่ากัน

“ตอนเราเข้าป่า เราชอบวาดรูปสิ่งที่เจอใส่สมุด นั่นเป็นหนึ่งในวิธีที่เราจะอยู่กับตัวเอง บางทีเราก็ทำแบบนี้ที่บ้าน ชอบเดินตามหาดอกไม้หรือสัตว์ที่มีอยู่ในบ้านเราแต่เราไม่เคยสังเกตเห็น  บางครั้งเราก็ไปนั่งนิ่งๆ แล้วส่องว่า เอ๊ะ ในบ้านเรามีอะไรที่เราไม่ได้ทำความรู้จักบ้าง เพราะบางครั้งเราพยายามทำความรู้สึกอะไรในโลกเต็มไปหมด แต่ในบ้านเราเองเรายังไม่รู้จักไม่หมดเลย นั่นเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้เราได้อยู่กับช่วงเวลานั้น

“พอทำความรู้จักสิ่งต่างๆ รอบตัว เพลงก็ได้พบความหลากหลาย เข้าใจมัน นั่นคือจุดสูงสุดที่เราอยากให้ตัวเองและอยากเห็นในโลกเป็นแบบนั้น  

“ดนตรีเป็นอีกสิ่งที่ช่วยเยียวยาเพลงมากเลยนะ แนวเพลงที่ใช้ในการเยียวยา เพลงว่าแล้วแต่คนชอบเลย บางคนอาจเยียวยาด้วยเพลงสนุกสนาน อยู่ในปาร์ตี้แล้วปลดปล่อย แต่สำหรับเพลง ณ ตอนนี้ชอบแนวโฟลก มีเครื่องดนตรีน้อยเพียง 2-3 ชิ้น และเป็นดนตรีที่ฟังแล้วไม่ต้องรู้สึกว่าสมบูรณ์แบบ เพลงจะชอบมากเวลาฟังศิลปินบางคนที่ร้องเพี้ยนแต่ไม่ปรับจูน เล่นกีตาร์ไม่ตรงบ้างแต่เขาปล่อยให้ไม่สมบูรณ์แบบอยู่อย่างนั้น มันเป็นความไม่สมบูรณ์แบบที่เราฟังแล้วฟิน (หัวเราะ)

“อาจเพราะเพลงฟังดนตรีที่สมบูรณ์แบบมาเยอะแล้ว และเพลงรู้สึกว่าชีวิตจริงมันไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ ไม่มีอะไรอยู่ตลอดไป ตอนนี้สุขเดี๋ยวเราก็ทุกข์ สิ่งที่เห็นว่าสมบูรณ์แบบ อันนั้นมันไม่จริง พอเราฟังดนตรีที่ไม่สมบูรณ์แบบเราเลยรู้สึกว่ามัน ‘จริง’ ดี เหมือนมันเชื่อมโยงกับความเป็นจริงของโลก

“เพลงเพิ่งค้นพบมาไม่นานมานี้ว่า เราเกิดมาเพื่อทำให้เด็กๆ และคนรอบข้างกลับมาตระหนักรู้ถึงตัวเอง เพื่อนมนุษย์  รวมถึงความหลากหลายของโลกผ่านดนตรี  ไม่ว่าจะแต่งเพลง ร้องเพลงกับเด็ก หรือการที่เราจัดกิจกรรม Dances of Universal หรือการใช้ดนตรีใช้ดนตรีเพื่อรวมผู้คนเป็นคอมมูนิตี้ ทำให้หลายคนได้มารู้จัก แบ่งปัน แลกเปลี่ยนเสียงเพลงกัน เพื่อเข้าใจความหลากหลายของกันและกัน นี่เป็นสิ่งใหม่ที่เพลงเพิ่งเคยทำในปี 2023 และเรารู้สึกว่าเป็นเรื่องที่น่ารักมาก

“การทำกิจกรรมนี้ทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องการเป็นชุมชนหรือ Community ของทุกสิ่งอย่าง เราไม่สามารถอยู่ตัวคนเดียวได้ แต่ต้องเกื้อกูลกันเสมอ ไม่ใช่แค่เกื้อกูลกับคน แต่กับต้นไม้ กับมด กับทุกๆ อย่าง เพราะทุกอย่างเชื่อมโยงและต้องการกันและกัน”

3 วิธีเยียวยาที่เพลง ต้องตา อยากแนะนำ

  1. “ลองถอดรองเท้าแล้วเดินบนหญ้าหรือบนดิน”
  2. “อันนี้อาจจะฟังดูพุทธๆ หน่อย แต่กลับมาที่ลมหายใจ ไม่ต้องนั่งสมาธิก็ได้ แต่แค่ขอสัก 5-10 วินาทีที่นึกขึ้นได้ว่าให้หายใจ สมมติใน 1 ชั่วโมงเราคิดอย่างนี้หนึ่งครั้ง มันก็จะสบายแล้ว”
  3. “การฟังเสียงในธรรมชาติ ลองออกไปข้างนอกแล้วตั้งใจฟังอะไรสักอย่าง มันก็เป็นการอยู่กับปัจจุบันขณะเหมือนกัน จริงๆ 3 อย่างที่พูดมานี้ก็คือการกลับมาอยู่กับโมเมนต์ ณ ตอนนี้ (หัวเราะ)”

Writer

Avatar photo

พัฒนา ค้าขาย

นักเขียนจากเชียงใหม่ผู้รักทะเลและฤดูหนาวพอๆ กับหนังสุขซึ้ง สนใจประเด็นเรื่องเพศ ความสัมพันธ์ และเรื่องป๊อปทุกแขนง

Photographer

Avatar photo

ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

Illustrator

Avatar photo

พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts