ที่ใดมี ‘อำนาจ’ ที่นั่นมี ‘การต่อรอง’ ชวนมอง ‘การเมืองในสนามเด็กเล่น’ อย่างเข้าใจ ในฐานะผู้สนับสนุนการเติบโตของพวกเขา

เชื่อไหมว่าในสนามเด็กเล่นเองก็มีการเมือง?

ในวัยเด็กเราอาจเคยเป็นใครสักคนที่กลับจากโรงเรียนด้วยน้ำตา เพราะความขัดแย้งในสนามเด็กเล่น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนไม่แบ่งของเล่นให้ เล่นแล้วแพ้ ถูกกีดกันออกจากกลุ่ม เพราะมีใครสักคนที่บอกว่าเราไม่เข้าพวก ซึ่งถึงแม้ว่าจะดูเป็นฉากเล็กๆ น้อยๆ แบบแกล้งๆ หรือเพียงหยอกล้อต่อกันเท่านั้น หากแต่นั่นอาจเป็น ‘การเมือง’ ในรูปแบบหนึ่ง

เรื่องทำนองนี้ถือเป็นการเมืองด้วยหรือ? ผู้ใหญ่หลายท่านอาจสงสัย ซึ่งถ้าว่ากันตามตรงอาจกล่าวได้ว่า ที่ใดมี ‘อำนาจ’ ที่นั่นก็มี ‘การต่อรอง’ และเรื่องราวต่างๆ เหล่านั้นอาจเป็นเรื่องของการเมืองแฝงได้เช่นกัน

อย่างไรก็ดี การเมืองในสนามเด็กเล่น (Politics in Playground) นั้น ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายมากจนเกินไป หากแต่มองอีกแง่ก็ถือเป็นช่วงเวลาที่เด็กๆ จะได้สร้างตัวตนและเรียนรู้ความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นได้เช่นกัน ทั้งในแง่ของการเรียนรู้การสร้างความภาคภูมิใจให้ตนเอง ความเห็นอกเห็นใจอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงสร้างความสามารถในการควบคุมอารมณ์ของเด็กๆ ได้อีกด้วย

วันนี้ Mappa จึงอยากขอเชิญชวนทุกท่านเดินเข้าสนามเด็กเล่นอันเป็นพื้นที่สำคัญของเด็กๆ และชวนสำรวจ ‘การเมืองในสนามเด็กเล่น’ ว่ามีที่ทางและบทบาทอย่างไร พร้อมสำรวจเคล็ดไม่ลับที่เราในฐานะผู้สนับสนุนการเติบโตของเด็กๆ ได้ช่วยให้พวกเขารับมือกับโลกทางสังคมนอกเหนือจากที่บ้านผ่านการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ รอบตัว

• ‘บทบาท’ (Role) ในสนามเด็กเล่น

ลำดับแรก เราอยากชวนให้ทุกท่านสังเกตดูว่า ในทุกๆ การเล่นของเด็กๆ เมื่ออยู่กันอย่างเป็นกลุ่มและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน เราจะเห็นคนที่เป็น ‘ผู้นำ’ หรือ ‘ผู้ตาม’ หรือ ‘ผู้ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด’ (หรือคอยตามน้ำไปตามสถานการณ์)

ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่า สนามเด็กเล่นนั้น อาจเป็นพื้นที่ที่เด็กๆ ได้ทั้งเรียนรู้การปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน แต่ในขณะเดียวกันก็รวมไปถึงการใช้อำนาจ เจรจา และต่อรอง ซึ่งนั่นถือเป็นการเมืองในรูปแบบหนึ่ง 

ข้อมูลจาก MomCo เว็บไซต์ที่บอกเล่าเรื่องราวของแม่และเด็ก ระบุถึง ‘บทบาททางสังคม’ ของเด็กๆ ในสนามเด็กเล่นเอาไว้ว่าสามารถแบ่งออกเป็น 8 บทบาทหลักๆ ดังนี้

1. ผู้นำ (The Leader) หมายถึง เด็กที่มีอิทธิพลต่อผู้อื่น มั่นใจในตนเอง และมีบทบาทอย่างมากในการตัดสินใจของกลุ่ม

2. ลูกน้องคนสนิท (The Sidekick) หมายถึง เด็กที่เป็นเพื่อนสนิทของผู้นำ หากแต่ก็มีความเป็นลูกน้องอยู่เนืองๆ (คล้ายกับบทบาทของหมอวัตสันในเชอร์ล็อก โฮล์มส์) ซึ่งลูกน้องคนสนิทดังกล่าวนี้มักเป็นผู้ที่ยิ่งตอกย้ำการตัดสินใจของผู้นำ

3. โจ๊กเกอร์ (The Joker) หมายถึง ‘ตัวตลก’ ในกลุ่มเพื่อน มักใช้อารมณ์ขันบางอย่างเพื่อดึงดูดความสนใจจากคนอื่น ซึ่งในหลายครั้งก็ทำไปเพื่อให้ตัวเองเป็นจุดสนใจและเติบใหญ่ขึ้นกว่าเดิมในกลุ่มเพื่อน

4. คนพาล (The Bully) หมายถึง เด็กที่ริเริ่มเป็น ‘ผู้แกล้ง’ ผ่านการหยอกล้อ แซว นินทา หรืออาจถึงขั้นกลั่นแกล้งทางร่างกาย

5. เหยื่อ (The Victim) หมายถึง เด็กที่ถูกเลือกปฏิบัติและถูกกีดกัน ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อช่วยเหลือตัวเอง

6. ผู้ล่องลอย (The Floater) หมายถึง เด็กที่เป็นมิตรกับกลุ่มต่างๆ หากแต่ก็ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มใดอย่างเต็มที่ คล้ายกับกระแสน้ำที่ไหลไปมา ไม่หยุดนิ่ง

7. ผู้สันโดษ (The Loner) หมายถึง เด็กที่ชอบเล่นคนเดียว อาจเป็นเพราะเป็นคนขี้อายมาก หรืออาจมีปัญหาในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

8. ผู้เคร่งครัด (The Teacher’s Pet) หมายถึง เด็กที่เคร่งครัดกับกฎและอยู่ใต้ผู้มีอำนาจเชิงอาวุโสตลอดเวลา ต้องการการอนุมัติจากผู้ใหญ่ และในบางครั้งก็อาจนินทาผู้อื่น

ยิ่งไปกว่านั้น MomCo ยังชี้ว่า ‘เพศ’ อาจมีอิทธิพลต่อการสร้างกลุ่มเพื่อปฏิสัมพันธ์และบทบาททางสังคมของเด็กๆ เช่นเดียวกัน โดยพบว่า เด็กผู้ชายมักจะสร้างกลุ่มแบบหลวมๆ และเน้นเล่นแบบใช้ร่างกายและชอบการแข่งขัน ในขณะที่เด็กผู้หญิงอาจมีกลุ่มที่แน่นแฟ้นกว่า และให้ความสำคัญกับมิตรภาพที่ใกล้ชิด การมีบทสนทนา และมีความร่วมมือ อย่างไรก็ดีนี่เป็นการสรุปเพื่อเป็นข้อเสนอในเชิงทั่วไปเท่านั้น เพราะเด็กๆ แต่ละคนอาจมีรูปแบบของการเล่นที่แตกต่างกันออกไป

• สิ่งเหล่านี้เป็นอันตรายไหม? และเราจะจัดการกับมันอย่างไร

จะเห็นได้ว่า ‘สนามเด็กเล่น’ อาจไม่ใช่แค่เรื่องเล่นๆ เพราะนั่นอาจเป็นสนามจำลองการใช้ชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นในอนาคต

แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่อันตรายจนเกินไป สิ่งที่เราต้องคอยระวังและสำรวจให้ดีก็คือ ตรวจสอบว่ามีการกลั่นแกล้งเกิดขึ้นหรือไม่ สอนให้เด็กๆ รู้จักรับมือกับอารมณ์เชิงลบและการแก้ไขปัญหา เสริมสร้างความมั่นใจและความฉลาดทางอารมณ์ให้กับเด็กๆ รวมถึงสื่อสารกับคนรอบตัวเด็กเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ชวนให้เราเข้าใจการเล่นอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสนามเด็กเล่นอาจเป็นที่จำลองการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในโลกกว้างที่เด็กๆ จะได้พบเจอคนหลากหลายรูปแบบทั้งดีและไม่ดี ดังนั้น เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เขา เราอาจเป็นผู้สนับสนุนที่ดีได้ ผ่านการดูแลอย่างใกล้ชิด หากเด็กๆ ของเราเป็นผู้ที่ถูกรังแกหรือเสียเปรียบ นี่ก็อาจเป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะไม่สอนให้เขาใช้กำลังในการแก้ปัญหา หากแต่กล้าที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาได้อย่างเข้มแข็งและเต็มที่ได้เช่นเดียวกัน

เพราะการเล่นอาจไม่ใช่แค่เรื่องเล่นๆ

และเราอาจเรียนรู้ชีวิตได้ผ่าน ‘การเล่น’

อ้างอิง :
https://www.themom.co/playground-politics/
https://www.amazon.com/Playground-Politics-Understanding-Emotional-School-Age/dp/0201408309
https://www.matichonweekly.com/column/article_102450


Writer

Avatar photo

ภาพตะวัน

แสงแดดยามเช้า กาแฟหนึ่งแก้ว และแมวหนึ่งตัว

Illustrator

Avatar photo

มนุษย์อินโทรเวิร์ตที่อยากสื่อสารและเชื่อมโยงกับผู้คนผ่านภาพวาด

Related Posts