The Fabelmans : หนังที่รอเวลาอันเหมาะสมในการสร้างเพื่อให้คนดูใช้เวลาอันเหมาะสมในการรัก

  • หากพูดถึงผู้กำกับที่โด่งดังและเป็นยอดฝีมือที่สุดคนหนึ่งของฮอลลีวูด คงต้องมีชื่อของสตีเวน สปีลเบิร์ก ผู้กำกับฉายาพ่อมดแห่งฮอลลีวูดอยู่ในนั้น 
  • The Fabelmans คือภาพยนตร์ที่สตีเวน สปีลเบิร์กตั้งต้นสร้างมันขึ้นมาด้วยคำถามที่ว่า “หากนี่จะเป็นภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายที่ฉันจะสร้าง ฉันจะสร้างภาพยนตร์แบบไหน” 
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงอัดแน่นไปด้วยความหลงใหลในภาพยนตร์ของ “พ่อมดแห่งฮอลลีวูด” ที่ท้วมท้นออกมาจนทำให้เรารู้สึกไปด้วยได้ เรื่องราวของตัวเขาเอง และความสัมพันธ์ร้าวรานทว่าก็อบอุ่นและเต็มไปด้วยความเข้าอกเข้าใจและให้อภัยกันของคนในครอบครัว มันไม่ได้เรียกร้องความรู้สึกที่เอ่อล้นจากคนดู หากแต่ถ่ายทอดออกมาได้อย่างถ่อมเนื้อถ่อมตนและทิ้งพื้นที่และเวลาให้เราค่อย ๆ หลงรัก

*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์

“เราควรจะรู้สึกยังไงกับหนังเรื่องนี้”

เราถามตัวเองซ้ำ ๆ หลังออกมาจากโรงภาพยนตร์ เวลาที่เราได้ดูหนังดี ๆ ส่วนใหญ่ หนังมักจะทิ้งความรู้สึกท่วมท้นอึงอลให้เรา บางเรื่องฉาก final act แบบอลังการจะยังติดตาและสกอร์สุดยิ่งใหญ่ก็จะยังติดหู บางเรื่องหม่นเศร้าเคล้าน้ำตาและฝากความรู้สึกหนักอึ้งออกมาจากโรงด้วย แต่กับ the Fabelmans ภาพยนตร์ที่กำกับโดยผู้กำกับฉายาพ่อมดแห่งฮอลลีวูดอย่างสตีเวน สปีลเบิร์ก แรกทีเดียวเรากลับไม่รู้สึกอะไรนัก ออกจะรู้สึกว่าหนังไม่เหมือนที่คาดหวังไว้และตีความไปว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นหลังดูคือผิดหวัง แต่แล้วเมื่อได้ลองคิดทบทวนสิ่งที่เราได้ดูมา พบว่าเราอยู่กับมันได้ทั้งวัน และยิ่งคิดก็ยิ่งชอบหนังเรื่องนี้มากขึ้นจนถึงขั้นรัก และจนกระทั่งถึงจุดที่เชื่อว่าเมื่อเวลาผ่านไป หากถามว่าหนังเรื่องไหนที่เรารักที่สุด หนึ่งในนั้นน่าจะต้องมี the Fabelmans

The Fabelmans เป็นเรื่องของ แซม เฟเบิลแมน ผู้หลงรักในภาพยนตร์และอยากเป็นผู้กำกับ สปีลเบิร์กบอกว่ามันมีทั้งส่วนที่เป็นชีวิตจริงของเขา และส่วนที่เป็นเรื่องแต่ง หากได้รู้ว่านี่คือหนังเกี่ยวกับใครสักคนที่รักในอะไรสักอย่างมาก ๆ หรือหนังที่ส่วนหนึ่ง based on true story เราว่าทุกคนต่างต้องคาดหวัง(ให้)หนังเล่าเรื่องความโหดร้ายของสิ่งที่เรียกว่า passion ที่บางครั้งสามารถติดปีกให้เราได้โบยบินสูงที่สุด หรือกระชากเราลงต่ำที่สุด หรือไม่ก็เป็นเรื่องราวดราม่ากว่าจะไต่เต้ามาถึงช่วงเวลาที่โชติช่วงที่สุดในชีวิตของใครสักคน ซึ่งมักจะมีฉาก final act เป็นวินาทีที่ยิ่งใหญ่น่าประทับใจ หากตัวละครเป็นคนที่มีความฝันจะเป็นผู้กำกับ เราจะคาดหวังแน่ ๆ ว่าหนังเรื่องนั้นจะต้องจบเรื่องด้วยการที่เขาได้ฉายหนังเรื่องแรกและได้รับเสียงปรบมือเกรียวกราวจากคนดูเมื่อหนังฉายจบ

แต่ the Fabelmans เป็นหนังที่เล่าอย่างเรียบเรื่อย ไม่ฟูมฟาย ไม่มากมาย ไม่ยิ่งใหญ่ ไม่ดราม่า ที่จริงแล้วหนังกลับเล่าฉากต่าง ๆ ออกมาโดยที่สอดแทรกอารมณ์ขันเล็ก ๆ หรือการตัดฉากด้วยจังหวะแปลก ๆ ที่บางครั้งเราก็รู้สึกว่ามันคือการตัดฉับ หรือบางครั้งก็เลือกทอดอารมณ์เอื่อยเฉื่อย ทว่าขณะเดียวกันหนังก็ละเมียดละไมเหลือเกิน สวยงามเหลือเกิน อ่อนโยนเหลือเกิน ถ่อมเนื้อถ่อมตัวเหลือเกิน และอัดแน่นไปด้วยความหลงใหลแบบที่ต่อให้จะปิดชื่อสปีลเบิร์กไว้และเดินเข้าโรงหนังไปโดยไม่รู้ว่าใครเป็นผู้กำกับ เราก็ยังจะรู้สึกว่าใครก็ตามที่กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้จะต้องเป็นคนที่รักภาพยนตร์มาก ๆ อยู่ดี

หากในการ์ตูนเรื่องวันพีซมีฉากน่าประทับใจที่ตัวละครหลักอย่างลูฟี่พูดว่า “ฉันจะเป็นเจ้าแห่งโจรสลัดให้ได้เลย” ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ทำงานกับเราแบบนั้น มันทำให้เรารู้สึกว่า “ภาพยนตร์เรื่องนี้แหละ” และต้องเป็น “เรื่องนี้” ที่ถ่ายทอดออกมา “แบบนี้” เท่านั้น มันคือความฝันของสปีลเบิร์กนับตั้งแต่นาทีที่เขาบอกกับตัวเองว่าเขาอยากเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ มันคือภาพยนตร์ที่ผู้สร้างจะต้องใช้เวลาเคี่ยวกรำตัวเอง เรียนรู้และเข้าใจทั้งการกำกับภาพยนตร์ที่ตนเองกำลังทำอยู่ในฐานะปัจเจกบุคคล และเข้าใจภาพยนตร์ในฐานะอุตสาหกรรมทั้งหมด มันคือการทดลองทำหนังสารพัดเรื่องสารพัดแบบออกมา ตกผลึก ผ่านโลก และผ่านยุคสมัยและกาลเวลามามากมาย เพื่อที่จะได้มาเป็นภาพยนตร์ “เรื่องนี้” เรื่องที่เขาอาจจะอยากทำมาเนิ่นนานแล้ว เพียงแต่รอเวลาที่เหมาะสมเท่านั้น

“ภาพยนตร์คือความฝันที่ลูกจะไม่มีวันลืม” หนังเปิดมาด้วยฉากที่ “เบิร์ต” ผู้เป็นพ่อ และ “มิตซี” ผู้เป็นแม่ในครอบครัวเฟเบิลแมน พาลูกชายคนโตของพวกเขาอย่าง “แซม” ไปชมภาพยนตร์เป็นครั้งแรก ในขณะที่เบิร์ตที่เป็นวิศวกรไฟฟ้าพยายามอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ให้ลูกฟังเมื่อหนูน้อยถามว่าภาพยนตร์คืออะไร มิตซีกลับบอกลูกว่าภาพยนตร์คือความฝัน ฝันที่ลูกจะไม่มีวันลืม

“The Greatest Show on Earth” คือภาพยนตร์ที่แซมได้ดู และมันกลายเป็นฝันที่เขาไม่มีวันลืมเข้าจริง ๆ โดยเฉพาะฉากรถไฟชนกันในหนังที่ทำเอาเขานอนไม่หลับจนต้องสร้างมันขึ้นมาใหม่ด้วยรถไฟจำลองและอยากทำซ้ำแล้วซ้ำอีก เบิร์ตดุลูกว่านั่นเป็นการทำให้ของเล่นเสียหายโดยใช่เหตุ แต่มิตซีแนะนำให้ลูกชายถ่ายทำมันไว้ด้วยกล้องวิดีโอ แบบนั้นเขาจะได้กลับมาดูมันได้อีกหลาย ๆ ครั้ง และนั่นเป็นครั้งแรกที่แซมได้รู้ถึง “อำนาจในการควบคุม” ของการกำกับภาพยนตร์ และมิตซีก็เข้าใจเรื่องนั้นดี เพราะสิ่งที่เธอรักในการเล่นเปียโนก็คืออำนาจในการควบคุมที่ผู้ประพันธ์เพลงมี ถึงห้องนี้คุณต้องเล่นโน้ตนี้และคอร์ดนี้ และนักดนตรีก็ต้องสยบยอมให้  

แรกเริ่มทีเดียวเขาเริ่มใช้อำนาจในการควบคุมถ่ายทอดจินตนาการของตัวเอง สั่งให้น้องสาวรับบทเป็นมัมมี่หน้ากล้อง กำกับให้เพื่อน ๆ รับบทเป็นคาวบอยกับผู้ร้าย แม้แต่ในการถ่ายทำภาพยนตร์แบบเด็ก ๆ ที่งบน้อยนิด เขายังใช้เทคนิกเจาะแผ่นฟิล์มเพื่อทำให้ปืนเด็กเล่นที่ใช้ยิงกันในฉากดูราวกับมีกระสุนออกมาจริง ๆ บนจอภาพ อำนาจแห่งการควบคุมในช่วงแรกจึงเป็นเรื่องสนุกสำหรับแซม เหมือนเวลาที่เราเพิ่งมีความสนใจใหม่ ๆ เพิ่งได้เริ่มเรียนรู้ทดลอง ทุกสิ่งทุกอย่างจึงเป็นเรื่องน่าสนุกเสมอ

แต่ไม่นานเลย เขาก็จะรู้ว่า บางครั้งอำนาจแห่งการควบคุมนั้นก็นำมาซึ่งความรับผิดชอบอันหนักอึ้งเช่นกัน เมื่อคุณยายของเขาเสียและแม่จมอยู่กับความเสียใจ พ่อจึงขอให้เขาตัดต่อภาพยนตร์จากบรรดาคลิปที่อัดไว้ตอนที่ครอบครัวไปออกแคมป์ด้วยกัน แซมจึงได้พบความจริงที่เขาไม่เคยสังเกตจากวิดีโอเหล่านั้น ว่าแม่ของเขานอกใจพ่อและแอบคบกับ “เบนนี” ชายผู้ร่าเริง ตลก และมีสีสัน และที่มากไปกว่านั้น … เขาเป็นเพื่อนสนิทของพ่อและครอบครัว  อำนาจในการกำกับควบคุมของผู้กำกับจึงไม่ใช่เรื่องสนุกอีกต่อไปแล้ว มันกลายเป็นภาระหนักอึ้งบนบ่าของเด็กชายที่เขาต้องเลือกระหว่างการใส่ความจริงลงไปในภาพยนตร์ หรือตัดแผ่นฟิล์มที่มีความจริงอันโหดร้ายทิ้งไป เหลือไว้เพียงสิ่งที่บันทึกภาพฝันอันงดงามของครอบครัวแสนสุข แล้วแซมมีก็เลือกอย่างหลัง 

หนังจึงไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของเด็กคนหนึ่งที่จะเติบโตมาเป็นผู้กำกับที่ยิ่งใหญ่หรือเป็นเพียงหนังสดุดีภาพยนตร์ที่เน้นเพียงคุณค่าของภาพยนตร์ แต่มันยังเป็นหนังที่พาไปสำรวจความรักอันร้าวรานของคนสองขั้ว สำรวจครอบครัวอบอุ่นที่เงาดำของการทำผิดศีลธรรมของผู้เป็นแม่ค่อย ๆ เคลื่อนมาทาบทับ ซ้อนไปกับความอึดอัดของเด็กชายวัยกำลังโตที่ต้องมาเผชิญสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเมื่อเขาเป็นคนเดียวที่รู้ความลับของแม่

และสตีเวน สปีลเบิร์กก็ได้ร่ายมนตร์ของพ่อมดแห่งฮอลลีวูดลงไปในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยการร้อยเรียงเรื่องทุกเรื่องที่กล่าวมาให้เกี่ยวพันโยงใยกันทั้งหมด

“อ๋อ เธอรักคนพวกนั้นใช่ไหมล่ะ น้อง ๆ ของเธอ แม่ของเธอ พ่อของเธอ เว้นเสียแต่ว่ากับภาพยนตร์น่ะ เธอรักมันมากกว่าพวกเขานิดหน่อย” คุณตาบอริส พี่ชายแท้ ๆ ของยายของแซมผู้แวะมาเยือนครอบครัวเฟเบิลแมนกล่าวกับแซมเมื่อเห็นถึงพรสวรรค์และความหลงใหลในการกำกับภาพยนตร์ของเขา ตาบอริสผู้มีประสบการณ์การเลือกความฝันมากกว่าครอบครัวโน้มน้าวให้แซมทำตามฝันในวันที่เขายังลังเล แต่ก็ยังเตือนเขาว่า ศิลปะจะฉีกกระชากหัวใจและทำให้เขาต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว และการเลือกเป็นศิลปินก็จะทำให้คนที่เขารักเสียใจ แต่อย่างไรเสียเขาก็ต้องเลือก

น้ำหนักของสิ่งที่คุณตาบอริสพูดมีความหมายมากขึ้นเมื่อเราได้รู้ความลับของแม่ของแซมไปพร้อม ๆ กับเขา เบิร์ตคือนักวิทยาศาสตร์ เขาใช้ชีวิตโดยอิงความจริงและตรรกเหตุผลเป็นฐาน ในขณะที่ฐานของแซมและมิตซี – แม่ผู้เคยเป็นนักเปียโนเปี่ยมพรสวรรค์ – คือโลกความฝันของศิลปิน มิตซีต้องทิ้งชีวิตของการเป็นนักเปียโนมาทำหน้าที่ “แม่” ให้กับครอบครัว ในขณะที่ช่วงหนึ่งของชีวิต แซมเองก็ต้องพักความฝันในการเป็นผู้กำกับไว้ก่อนเพราะพ่อของเขามองว่ามันเป็นเพียงงานอดิเรกเท่านั้น

สิ่งที่เราชอบมาก ๆ ในเรื่องนี้คือ การที่สปีลเบิร์กนำเรื่องราวความฝันของลูกและเรื่องราวความรักอันผิดศีลธรรมของแม่มาเทียบเคียงโดยมีพ่อเป็นขั้วตรงข้ามนั้นช่วยลดการตัดสินตัวละครทุกตัวลง และนำไปสู่บทสรุปที่เข้าอกเข้าใจมุมมองของคนอื่น ๆ และปลอบประโลมหัวใจกว่าที่เราคิด

เบิร์ตอาจเป็นพ่อและสามีที่มีความอดทนสูงและพอจะเข้าอกเข้าใจภรรยาอยู่บ้าง แต่บางฉากหนังก็ทำให้เบิร์ตกลายเป็นคุณพ่อผู้เข้มงวดและใจแคบ เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาลและไม่เคยมองเห็นความสุขของลูกกับภรรยา ส่วนมิตซีเป็นคุณแม่ที่เข้าอกเข้าใจความฝันของลูก ร่าเริง สนุกสนาน แต่ในฉากถัดมา เราอาจพบว่ามิตซีเป็นแม่และภรรยาที่ไม่อยู่กับร่องกับรอย เอาอารมณ์นำเหตุผลจนสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น ๆ ในบ้าน แถมยังคำนึงถึงแต่ความสุขส่วนตนเป็นสำคัญ บางช่วงเวลา แซมคือลูกที่เห็นใจและเข้าใจสิ่งที่แม่ทำลงไป แถมยังยอมทำตามความต้องการของพ่อในหลาย ๆ เรื่อง แต่อีกหลายฉากแซมก็กลายเป็นลูกชายผู้เก็บกดและหมกมุ่นอยู่แต่กับความฝันจนพลั้งทำร้ายจิตใจคนรอบข้างแม้แต่ตัวประกอบอย่างเบนนี เราก็จะพบว่ามันช่างง่ายเหลือเกินที่จะตกหลุมรักเขาเหมือนอย่างที่มิตซีตกหลุมรัก แต่พอคิดได้ว่าเขากำลังแอบคบกับภรรยาของเพื่อนสนิท เสน่ห์ของเบนนีก็ดูจางลงไปมาก

เราคิดว่าส่วนหนึ่งนั้นเป็นความตั้งใจของสปีลเบิร์ก เขาทำให้เรารู้ว่า อำนาจในการควบคุมของผู้กำกับทรงพลังแค่ไหน มุมกล้อง การตัดต่อ เพลง และองค์ประกอบที่ต่างกันอาจทำให้คนบางคนเป็นคนดีจนใจหายและคนเดียวกันนั้นอาจร้ายสุดขีดได้ และมันยังแสดงให้เห็นขั้นตอนที่เขาทำความรู้จักกับอำนาจในการควบคุมทีละเล็กละน้อย นอกจากอำนาจจะใช้ถ่ายทอดจินตนาการเพื่อจุดประสงค์ด้านความสนุกสนาน เขาก็ได้รู้ว่ายังมีความรับผิดชอบที่ต้องคำนึงถึงเมื่อใช้อำนาจนั้นด้วย แต่เมื่อเขากุมมันได้จนคุ้นมือ ผู้กำกับก็สามารถสร้าง “ตัวตน” ของคนคนหนึ่งขึ้นมาใหม่ได้เลยด้วยซ้ำ

 แล้วหนังก็พาเราคลี่คลายปัญหาไปทีละนิด เริ่มจากการที่มิตซีและเบิร์ตตัดสินใจหย่ากันเพราะสุดท้ายเธอเลือกเบนนี ต่อด้วยแซมที่เคยยอมเข้าเรียนมหาวิทยาลัยตามที่เบิร์ตต้องการอยู่พักหนึ่งและได้ตัดสินใจบอกพ่อของเขาว่า อย่างไรเสียเขาก็อยากเป็นผู้กำกับอยู่ดี เป็นนาทีเดียวกันกับที่เบิร์ตดูรูปเก่า ๆ แล้วพบว่า มิตซีกับเบนนีดู “เข้ากันดี” ตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว

มิตซีไม่ได้กล่าวถึงข้อเสียของเบิร์ตเลยตอนที่เธอเลือกเบนนี สำหรับเธอ เบิร์ตแสนดีเหลือเกินแล้วที่อดทนกับภรรยาติสท์แตกแบบเธอได้และเธอจะยังรักเขาเสมอ เบิร์ตก็ไม่ได้กล่าวโทษภรรยาแม้แต่น้อยที่นอกใจ เขารู้ว่าเธอพยายามมานานแค่ไหนที่จะฝังกลบเสียงเรียกร้องของหัวใจและทำหน้าที่แม่และภรรยาต่อไปให้ได้ เช่นเดียวกับตอนที่เขายอมให้แซมลาออกจากมหาวิทยาลัยและไปสมัครงานในฮอลลีวูดในที่สุด

“พ่อกับแม่เดินมาไกลเกินกว่าที่จะพูดคำว่า “อวสาน” แล้ว เบิร์ตบอกกับแซมในระหว่างบทสนทนาที่เขาอนุญาตให้แซมออกไปล่าฝันในการเป็นผู้กำกับ เขาบอกว่าแซมเหมือนแม่เพียงใด และถึงอย่างไรเสียเขาก็คงรั้งลูกชายไว้ไม่ได้ อย่างที่เขารั้งภรรยาไว้ไม่ได้เช่นกัน

คุณตาบอริสเคยบอก (กับแซม) ว่าวันหนึ่งแซมต้องเลือกระหว่างครอบครัวและการเป็นศิลปิน และนั่นจะทำให้ครอบครัวเสียใจ แต่การที่เบิร์ตบอกกับลูกว่า เขาและมิตซีมาไกลเกินกว่าจะพูดคำว่าอวสานอาจช่วยผ่อนคลายความรู้สึกผิดและความกลัวของแซมลงได้บ้าง มันมีบางสิ่งบางอย่างในประโยคของเบิร์ตที่ไม่เพียงจะสื่อว่า เขาไม่ถือโทษโกรธภรรยา แต่เขากำลังบอกลูกชายด้วยว่า ที่สุดแล้วการเลือกสิ่งหนึ่งอาจไม่ได้หมายถึงเรารักสิ่งนั้นมากกว่าอีกสิ่ง ในเมื่อความรักกับความสุขไม่ใช่สิ่งเดียวกัน เบนนีทำให้มิตซีมีความสุขและเธอเลือกเขาเพราะเหตุนั้น เบิร์ตเลือกที่จะหย่ากับมิตซี เพราะการพยายามประคับประคองความสัมพันธ์ที่ “ไม่ใช่” แม้จะรักกันแค่ไหนก็ไร้สุข ไม่ได้มาจากเหตุผลว่าทั้งคู่หมดรักกัน การเลือกทำตามความฝันของแซมก็เช่นกัน เขาอาจเสียใจและผิดหวังในสิ่งที่แซมเลือกบ้าง แต่เขาก็เข้าใจดีว่าการเลือกเส้นทางสายภาพยนตร์ไม่ได้แปลว่าแซมรักเขาน้อยกว่าเลย มันก็แค่ความสุขของลูกเท่านั้น

เราเชื่อว่าด้วยวิธีการเล่าเรื่องและองค์ประกอบหลากหลายที่สตีเวน สปีลเบิร์กเลือกจะใช้ในการถ่ายทอดภาพยนตร์เรื่องนี้ จะทำให้คนดูแต่ละคนตีความภาพยนตร์ออกมาต่างกัน มีส่วนที่ชอบและอยากจะพูดถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ต่างกัน แต่นั่นก็เป็นมนต์เสน่ห์อีกอย่างของหนังดี ๆ สักเรื่อง สำหรับเรา the Fabelmans เป็นภาพยนตร์ที่ไม่ได้เรียกร้องความเข้าใจจากคนดูในทันทีที่ดูจบ แต่มันคือภาพยนตร์ที่เล่าอย่างถ่อมตนจนเราสามารถใช้เวลาทั้งสัปดาห์ในการค่อย ๆ ตกผลึก ค่อย ๆ ตีความและค่อย ๆ หลงรักภาพยนตร์เรื่องนี้ไปทีละนิด จนถึงจุดหนึ่งที่เราสามารถบอกกับสตีเวน สปีลเบิร์กในใจอย่างแท้จริงว่า “ขอบคุณสำหรับภาพยนตร์ดี ๆ เรื่องนี้นะ”   


Writer

Avatar photo

ปัญญาพร แจ่มวุฒิปรีชา

อย่ารู้จักเราเลย รู้จักแมวเราดีกว่า

Illustrator

Avatar photo

ลักษิกา บรรพพงศ์

กราฟิกดีไซน์เนอร์ที่เกิดและเติบโตมาพร้อมกับธุรกิจเพลงเด็ก ติดซีรี่ย์ ชอบร้องเพลง ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และเป็นทาสแมว

Related Posts