- ปาเจ คือชื่อวงดนตรีที่มาจากบทไหว้ครู ปาเจรา จริยาโหนติ… ความตั้งใจคือการนำเอาปัญหาจากการศึกษาไทยมาแต่งเป็นเพลง โดยสมาชิกทั้งหมดในวงเป็นครู
- เมื่อเปรียบเทียบ ‘การทำเพลง’ กับ ‘การสอนเด็กในห้องเรียน’ พบว่ามีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือครูอยากเห็นผลงานและนักเรียนในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด
- เพราะครูคือมนุษย์ มีความสนใจส่วนตัวไม่ต่างจากคนอื่น ดังนั้นการลงมาเล่นดนตรีและทำเพลง ช่วยเขย่าบทบาทภาพลักษณ์เดิมๆ และพบว่าครูก็เป็นนักดนตรีได้
ปาเจ คือชื่อวงดนตรีที่มีสมาชิกทั้งหมดเป็นครู
ปาเจ คือคำแรกของบทไหว้ครูที่มาจาก ปาเจรา จริยาโหนติ…
ปาเจ คือวงดนตรีที่ตั้งใจนำเรื่องราวของระบบการศึกษามาเล่าเป็นบทเพลง โดยย้ำว่า ถึงผู้ฟังจะไม่ใช่ครูหรือนักเรียนก็สามารถฟังได้
แม้กาลเวลาเปลี่ยนไป ทว่าภาพจำเดิมๆ เมื่อเราจินตนาการถึงคนที่ทำอาชีพครู มักลงเอยด้วยภาพของความศักดิ์สิทธิ์อยู่เสมอ ครูเป็นสิ่งมีชีวิตที่นักเรียนทุกคนควรจะเกรงกลัวโดยไม่มีข้อแม้ นักเรียนห้ามเถียง ห้ามสงสัย ห้ามตั้งคำถามกับครู เพราะอย่างไรเสียนักเรียนอาจเป็นฝ่ายผิด
แต่ภาพจำเดิมๆ เหล่านั้นใช้ไม่ได้กับ 3 ครูแห่งวงปาเจ เพราะความตั้งใจส่วนหนึ่งที่เป็นเหตุผลให้ครูรวมตัวกันทำวงปาเจขึ้นมา คือต้องการเปลี่ยนภาพของครูผู้มีอำนาจให้ลงมานั่งข้างๆ เด็กนักเรียนและเล่นดนตรีให้ฟัง
mappa คุยกับ 3 สมาชิกวงปาเจ ครูกั๊ก-ร่มเกล้า ช้างน้อย, ครูมะนาว-ศุภวัจน์ พรมตัน, ครูสอญอ-สัญญา มัครินทร์ ถึงที่มาที่ไปของวงปาเจและประเด็นการทำเพลงจากระบบการศึกษาไทย
จุดเริ่มต้นของวงปาเจ (PAJ)
ครูกั๊ก: ผมเป็นคนเล่นดนตรีอยู่แล้ว สมัยก่อนก็จะทำเพลงส่งไปตามคลื่นวิทยุต่างๆ จนตอนนี้ก็ยังคงเล่นดนตรีอยู่ แต่เพลงส่วนใหญ่ที่ทำจะเป็นแนวเสียดสีการศึกษา สมัยก่อนจะมีเพลงชื่อว่า ‘เป็นทุกอย่าง’ ของ ROOM39 ดังมากๆ บวกกับตอนนั้นผมต้องไปนอนเวรที่โรงเรียนก็เลยคิดว่า “เฮ้ย ทำไมเราเป็นทุกอย่างยกเว้นครู” จึงเอาทำนองเพลงเป็นทุกอย่างมาร้องใหม่ เล่าว่าครูคนหนึ่งต้องเจอกับอะไรบ้าง ซึ่งได้กระแสที่ดี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่ามันไปแตะ pain point ของครูด้วย
หลังจากนั้นผมก็รู้สึกว่าตัวเองหมกมุ่นกับการขับเคลื่อนด้านการศึกษามากเกินไป ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราก็มุ่งเน้นทำงานขับเคลื่อนต่างๆ ทั้งในห้องและนอกห้องเรียน จนหลงลืมสิ่งที่ชอบ นั่นคือการทำเพลง จึงตัดสินใจกลับมาทำเพลงอีกครั้ง และคิดว่าทำคนเดียวไม่สนุก จึงชวนเพื่อนๆ ครู ทั้งครูนาว ครูปั๊ป ครูอู๋ ครูสัญญา และอีกหลายๆ ท่านมาทำเพลงด้วยกัน
ปาเจ ย่อมาจากอะไร ทำไมถึงเป็นชื่อนี้
ครูกั๊ก: เราโหวตกันนานมาก มีหลายชื่อมากที่เกือบผ่านเข้ารอบ ไอเดียหลักของคำว่า ‘ปาเจ’ ก็มาจาก ปาเจรา… จริยาโหนติ คุณุตรานุสาสกา… ซึ่งเป็นคำเริ่มต้นของบทไหว้ครูที่น่าจะแปลว่าครูบาอาจารย์ เราแค่มาแบ่งคำให้มันดูเป็นคำใหม่มากขึ้น และมันก็เข้ากับพวกเราพอดี เพราะในพาร์ทหนึ่งเราก็คือครู
เอาบทไหว้ครูมาตั้งเป็นชื่อวง ครูยังเชื่อในพิธีการไหว้ครูอยู่หรือเปล่า
ครูกั๊ก: ถามว่าเรารู้สึกดีไหมกับพิธีการไหว้ครู ถ้าเป็นการกราบไหว้โดยเฉพาะในวันที่เรายังไม่รู้จักกับนักเรียน มันก็ชวนเขินอะครับ ผมรู้สึกประทับใจวันที่เห็นนักเรียนจบไปแล้ว แล้วเขามาหาเรา มาขอบคุณเราด้วยตัวเขาเองมากกว่า มันรู้สึกดีมากนะ เพราะนั่นคือเด็กที่เราสอนเขามาจริงๆ
ผมก็เคยคิดนะ พิธีการในวันไหว้ครู แต่ครูเป็นคนจัด ครูเป็นคนซ้อมปล่อยคิวให้นักเรียนมากราบไหว้ คือมันแอบดูตลกไปนิดนึง เป็นไปได้เราอยากเห็นงานที่เกิดจากนักเรียนเป็นคนจัด เพราะเขาอยากจัดจริงๆ หรืองานอะไรก็ได้ที่มันเกิดจากความรู้สึกของเขาว่าเขาอยากขอบคุณเราด้วยตัวเองมากกว่า และวันนั้นมันคงเป็นวันไหว้ครูสำหรับผมจริงๆ
ครูนาว: สำหรับผม ผมโอเคกับพิธีการไหว้ครูเป็นบางจุด เมื่อก่อนเราอินด้วยซ้ำเวลาเด็กมากราบไหว้ แต่พอนานวันเข้าก็รู้สึกไม่เข้าใจทำไมเด็กต้องมาร้องเพลงพระคุณที่สามให้เรา ทั้งที่นักเรียน ม.1 หรือ ม.4 เราเพิ่งเจอกันวันแรก ผมยังไม่ได้สอนเขาเลยด้วยซ้ำ
เป็นเรื่องที่น่าตั้งคำถามนะ ถ้าโรงเรียนอยากจัดพิธีการอะไรสักอย่าง เพื่อให้นักเรียนฝากตัวเป็นศิษย์ ผมว่าเราอาจจะมีวิธีอื่นๆ ที่ดูน่ารักกว่านี้ โดยที่ไม่ต้องมากราบหรือร้องเพลงท่อน ‘บุญเคยทำมาตั้งแต่ปางใด เรายกให้ท่าน…’
ส่วนจุดที่เรารู้สึกยังโอเคกับพิธีการนี้อยู่คือผมมักจะโดนเด็กๆ ที่เราเคยสอนมา ทำพานไหว้ครูสนุกๆ ให้ บางปีเป็นพานหน้ารูปตัวเอง บางปีก็เป็นเซ็ตน้ำพริกกะปิปลาทูทอด ซึ่งเราสัมผัสได้ว่ามันเป็นความรู้สึกที่เขาอยากแสดงออกกับเราจริงๆ ลองคิดดูนะครับ แทบจะไม่มีพิธีการไหนเลยในโรงเรียนที่เอื้อให้เด็กทำอะไรอิสระๆ เขาจึงใช้พิธีการไหว้ครูในการแสดงออก
ครูสัญญา: ผมก็มีส่วนที่ชอบและไม่ชอบ
ส่วนที่ชอบคือในแง่ของพิธีกรรม เพราะมันช่วยสร้างประสบการณ์และพลังงานบางอย่าง แต่ต้องย้อนกลับไปดูว่าพิธีกรรมนั้นนำพานักเรียนไปเจออะไร เพราะเมื่อย้อนกลับไป การไหว้ครูที่เราเคยเจอมันสะท้อนว่าครูคือผู้มีอำนาจ นักเรียนที่เป็นผู้น้อยจะต้องไปขอตัวหรือฝากตัวเป็นศิษย์ ซึ่งแนวคิดแบบนี้ไม่ค่อยตอบโจทย์คนในยุคนี้ มากกว่านั้นครูเองก็อาจจะเผลอหลงระเริงไปกับพิธีกรรมด้วย
แต่ในมุมหนึ่งพิธีไหว้ครูอาจจะช่วยโน้มครูกับนักเรียนใหม่เข้าหากัน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น คำถามต่อไปก็คือรูปแบบพิธีกรรมที่ต้องมากราบไหว้กัน ผมว่าเป็นเรื่องที่ระบบการศึกษาต้องทบทวน
ย้อนกลับไปที่การทำเพลง ทำไมเป็นครูอยู่ดีๆ ถึงเลือกมาทำดนตรีกัน
ครูกั๊ก: สำหรับผม ‘ครู’ ไม่ใช่อาชีพหลักอยู่แล้ว (หัวเราะ) ตั้งแต่เรียนจบผมก็เป็นฟรีแลนซ์สอนตามโรงเรียนบ้าง เป็นติวเตอร์บ้าง อย่างที่กล่าวไปผมยังคงทำเพลงอยู่ตลอดเวลา ส่วนตัวชอบจะทำอะไรหลายๆ อย่างด้วยแหละ เลยเข้ามาทำดนตรีอย่างจริงจังอีกครั้ง
ครูนาว: ส่วนผมก็คล้ายๆ กับครูกั๊ก โดยส่วนตัวเราชอบเล่นดนตรี ฟังเพลง ร้องเพลง แต่งเพลงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ถึงแม้จะมีความสามารถด้านดนตรีไม่เท่ากับครูกั๊ก แต่เหตุผลที่เรามาร่วมกับวงปาเจจริงๆ เพราะเราอยากถอยตัวเองออกมาจากสิ่งเดิมๆ
เรามองว่าเพลงคือการพักผ่อน มันเป็นพื้นที่ให้เราได้ทำอะไรใหม่ๆ เหมือนเป็นการเติมไฟให้ตัวเองด้วย ได้พาตัวเองหลบออกมาทำอะไรสนุกๆ ที่ไม่ใช่งานหน้าห้องเรียนบ้าง ส่วนหน้าที่ของผมในวงก็จะเน้นไปที่การแต่งเพลงเป็นหลัก ซึ่งเป็นสิ่งที่เราชอบ
ครูสัญญา: ส่วนผม มันเริ่มจาการที่ผมรู้จักครูกั๊ก, ครูนาวก่อน และผมรู้ว่าครูสองคนนี้ทำอะไรแล้วทำสุด เขาทั้งคู่มีความเป็นศิลปินสูง มีพลังงานดีๆ สูงมาก เราแค่อยากเอาตัวเองเข้ามาอยู่ในพลังงานแบบนี้เลยมาร่วมด้วย ผมคิดแค่นั้นเลย ซึ่งพอได้เข้ามาจริงๆ ไม่รู้ว่าเป็นตัวถ่วงไหม เพราะยังไม่ได้เริ่มเขียนเพลงส่ง (หัวเราะ) แต่สิ่งที่มั่นใจแน่ๆ คือครูทุกคนในกลุ่มนี้ พวกเขาทำงานหนักมาก ทั้งงานหน้าห้อง งานขับเคลื่อนระบบ หรืองานที่เกี่ยวกับโครงสร้างการศึกษา และงานเพลงก็คงจะเต็มที่เหมือนกัน
อีกอย่างหนึ่งผมคิดว่า ในยุคนี้มิติของความเป็นครู มันไม่ใช่แค่คนที่ทำงานสอนอย่างเดียว แต่ครูเหมือนนักสร้างสรรค์ ดังนั้นจุดไหนที่เอื้อให้เกิดการสร้างสรรค์ หรือสร้างการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ เราก็อยากเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในนั้น อย่างเช่นการทำเพลงกับกลุ่มปาเจ
เวลาศิลปินทำงานเพลง เขามักจะดึงความรู้สึกร่วมของผู้ฟังมาเป็นธงหลัก วงปาเจทำงานอย่างไร โดยเฉพาะการทำเพลงที่เกี่ยวกับเรื่องการศึกษา
ครูนาว: เราก็ดึงอินไซต์ (insight) ของคนในวงการศึกษามาตั้งต้นเหมือนกันครับ เพราะเราเองก็เป็นครู ดังนั้นการทำเพลงที่มีแรงบันดาลใจมาจากระบบการศึกษา ถึงแม้เราจะเชื่อมโยงและเล่ามันออกมาในรูปแบบของเพลงรัก เพลงเสียดสี ผมเชื่อว่าทุกคนน่าจะสัมผัสได้ว่าเราพูดเรื่องอะไรอยู่ ซึ่งการเป็นครูอยู่ในแวดวงการศึกษา ถือว่าเป็นความโชคดีของพวกเราอย่างหนึ่งเพราะมันทำให้เราทำงานเพลงได้ง่ายขึ้น
เป็นเพราะครูทั้งสามคนทำงานขับเคลื่อนและวิพากษ์โครงสร้างระบบการศึกษาอยู่แล้วด้วยหรือเปล่า ถึงเข้าใจ pain point ต่างๆ ที่เกิดขึ้น และหยิบเอามันมาทำเพลง
ครูกั๊ก: มีส่วนช่วยนะครับ เพราะแค่ผมไถหน้าเฟซบุ๊คผมก็จะเจอเพื่อนๆ ครู ที่ออกมาบ่น หรือเล่าปัญหาที่ตัวเองเจอกันเยอะมากๆ ซึ่งนี่แหละคือวัตถุดิบที่ดีในการแต่งเพลงของเราเลย
การทำเพลงกับการทำอาชีพครู เหมือนหรือต่างกันไหม
ครูกั๊ก: ผมว่าการทำเพลงเหมือนการออกแบบการสอนในห้องเรียน แต่เพียงการสอนในห้องเรียนคาบหนึ่งเรามีเวลา 50 นาทีที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งเข้าใจ แต่เพลงมันมีแค่ 3 นาทีเท่านั้น
โชคดีที่ระบบคิดมันคล้ายกันมาก ทั้งการเล่าเรื่องของเพลงที่ต้องมีต้น-กลาง-จบ รวมถึงบรรยากาศของเพลงที่ต้องคำนึงถึงเพราะจะมีผลต่อผู้ฟัง เหมือนในห้องเรียนเลยครับ สมมุติวันนี้เราต้องการสร้างบรรยากาศให้เด็กเขาอยากรู้ อยากให้เด็กตั้งคำถาม อยากให้เด็กสนุก เราก็ต้องค้นหาเครื่องมือเพื่อออกแบบให้มันเป็นแบบนั้น
ซึ่งการเขียนเพลงในยุคนี้ ผมว่ามันสะท้อนตัวตนของคนทำเพลงได้นะ คนเขียนเพลงแม้เขียนเรื่องเดียวกัน แต่ก็มีมุมมองต่างกัน ไม่ต่างจากครู ครูแต่ละท่านก็มีสไตล์การสอนที่เป็นของตัวเอง ถ้าครูแบกความสุขเข้าไปให้ห้องเรียน เด็กก็จะได้รับด้วย ดังนั้นโจทย์คือเราจะทำอย่างไรให้สิ่งที่เราจะสื่อสารไปถึงผู้ฟังหรือไปถึงนักเรียนได้ดีที่สุด
ครูนาว: ผมเสริมครูกั๊ก ผมว่าสิ่งที่เหมือนกันระหว่างการทำเพลงและการสอน คือมันอาศัยการทำงานแบบร่วมมือกัน เวลาที่ครูทำงาน ครูต้องมีเป้าหมายร่วมกัน ไม่ว่าครูกับครู ครูกับเด็ก หรือครูกับผู้ปกครอง
ยกตัวอย่าง การทำเพลงในวงปาเจ ผมชอบตรงที่เราทำงานกันเป็นทีม เราแบ่งหน้าที่กันชัดเจนว่าใครทำอะไรและมีงานอะไรบ้างที่ต้องทำด้วยกัน ทุกคนในกลุ่มมีตัวตนกันหมด ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของทุกเพลง ถึงแม้จะไม่ได้เป็นนักร้องนำ แต่ทุกคนจะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจผ่านการโหวตหรือการแชร์ไอเดีย
มีเรื่องอะไรที่ตอนเป็นครูพูดไม่ได้ แต่พอทำเพลงแล้วพูดได้บ้างไหม
ครูนาว: ไม่มีเลยครับ เพราะตอนเป็นครูเราก็พูดทุกเรื่อง (หัวเราะ) เพียงแค่การทำเพลงเราต้องคำนึงถึงลีลาท่าทีการเล่าให้มันนุ่มนวลขึ้น
คนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา จะฟังเพลงของวงปาเจได้ไหม
ครูนาว: นั่นคือความตั้งใจเลยครับ โจทย์ของพวกเราคืออยากเล่าเรื่องโครงสร้างระบบหรือเรื่องราวในโรงเรียน ให้อยู่ในรูปแบบของเพลงรัก เพลงป๊อป ฟังง่าย ทุกคนสามารถฟังได้
ผมยกตัวอย่างเพลง ‘3%’ ที่เรากำลังทำกันอยู่ เนื้อหาว่าด้วยประเด็นการพิจารณาขั้นเงินเดือนของครู คือถ้าคุณไม่ได้อยู่ในวงการครู สิ่งที่น่าจะสัมผัสจากเพลงนี้ได้น่าจะออกมาในโทนที่ว่า “ฉันทุ่มเทให้กับเธอเต็มร้อย แต่เธอกลับให้ฉันไม่ถึง 3%” แต่แท้จริงแล้วสิ่งที่เราต้องการจะนำเสนอคือการทำงานของครูไทย ที่ทั้งทุ่มเท มุ่งมั่น ตั้งใจ แต่สิ่งที่ระบบให้กลับมามันได้แค่นี้
เปรียบเทียบเพลง 1 เพลงเป็นเด็กนักเรียน 1 คน มีสิ่งใดที่ต้องคิดกับมันบ้าง
ครูกั๊ก: ผมมองมันเป็นเรื่องพัฒนาการนะ กว่าจะทำเพลงออกมาสักเพลงมันมีรายละเอียดไม่ต่างจากการสอนหนังสือเด็ก เพลงในเวอร์ชั่นแรกอาจจะยังไม่สมบูรณ์ จำเป็นต้องพูดคุยและปรับแก้ระหว่างทาง เพื่อให้เวอร์ชั่นสุดท้ายออกมาดีที่สุด
ยกตัวอย่าง เรามาทำเพลงกับเพื่อนๆ ครูด้วยกันหลายคน ครูแต่ละท่านก็มีความถนัดด้านดนตรีต่างกัน เราก็แค่คุยกัน เพื่อเอาสิ่งที่แต่ละคนถนัดออกมา
ผมมองว่ามันไม่ต่างกับการที่เรามองเด็กคนหนึ่ง ครูแต่ละคนก็มีสายตาที่มองไม่เหมือนกัน “เราจะเติมอะไรให้เด็กคนหนึ่งดีล่ะ” หรือ “เราทำยังไงดีให้เขาเติบโตแล้วมีทักษะต่างๆ” แนวคิดมันเหมือนการทำเพลงเลยครับ กว่าจะได้เพลงเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด เราต้องเดินทาง ถ้ามันยังไม่ดี เราสามารถเปลี่ยนเสียงกลองได้ไหม เปลี่ยนทำนอง หรือปรับเนื้อร้องได้ไหม
ถ้าใช้คำทางการ เรียกมันว่า ‘ตัวชี้วัด’ ก็ได้นะครับ
การสอนเด็กคนหนึ่งก็จะมีตัวชี้วัดว่าเขาจะต้องเป็นยังไง การทำเพลงก็เหมือนกัน ความต้องการสูงสุดของเราก็คือทำให้ ‘เด็กคนหนึ่ง’ และ ‘เพลงหนึ่งเพลง’ สื่อสารออกไปอย่างมีความหมายตรงกับมาตรฐานให้ได้มากที่สุด
ครูนาว: สมมุติว่าเพลงคือเด็กหนึ่งคน สำหรับตัวผมผมเป็นคนที่ไม่ค่อยชอบการแต่งเพลงตามโจทย์สำเร็จรูปเสียเท่าไหร่ ดังนั้นสิ่งที่เราจะส่งต่อให้กับเด็กหนึ่งคน ผมจึงอยากให้ความสำคัญกับสิ่งภายในตัวเด็กเอง ไม่อยากให้ในสิ่งที่มันสำเร็จรูป
ผมกำลังเปรียบเทียบมันเหมือนเป็นแพชชั่น (passion) – นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่า ‘เด็ก’ และ ‘เพลง’ มีเหมือนกัน
อีกอย่างหนึ่งดนตรีไม่ได้มีแค่ศาสตร์ของศิลปะเพียงอย่างเดียว ยังมีเรื่องของการสื่อสาร การตลาด ความสวยงามของทำนอง อุปกรณ์การสร้างเพลง ฯลฯ ดังนั้นจะเห็นว่ากว่าจะออกมาเป็นเพลง มันมีองค์ประกอบมากมาย เหมือนกับชีวิตของเด็กเลยครับ เราจะสร้างอนาคตที่ดีของเด็กไม่ได้ หากเรามองข้ามองค์ประกอบในชีวิตของเขา
เพลงจะมีความหมายมากขึ้นก็ต่อเมื่อคนฟังรู้สึกชื่นชอบ เพลงไม่จำเป็นต้องโด่งดังระดับโลก ขอเพียงแค่ผู้ฟังรู้สึกว่าชอบ ผมว่ามันก็ทำให้คนทำเพลงรู้สึกมีคุณค่าแล้ว ดังนั้นเหมือนเปรียบเทียบกับเด็ก ผมแค่คาดหวังและอยากเห็นว่าการเติบโตของเขา เขาจะทำอะไรบางอย่างที่มีคุณค่ากับคนอื่นๆ ได้
ครูสัญญา: ผมขอมองมันในมิติการใช้เพลงเป็นตัวเชื่อมโยงกับเด็ก ผมว่าการแต่งเพลงมันก็สะท้อนอะไรได้หลายอย่าง เราสามารถมองเห็นทัศนคติของผู้เขียนผ่านเนื้อเพลง มองเห็นความคิดของผู้แต่งผ่านการเรียบเรียงเนื้อร้องและทำนอง คล้ายๆ กับบทบาทของครูเลยครับ เราอยากเห็นเด็กคนหนึ่งเป็นอย่างไร ครูอาจจะต้องหันกลับมามองตัวเองว่าเราจะนำเสนออะไรให้เขาบ้าง
ในภาวะที่งานครูล้นมือ แถมยังเจอความเครียดจากวิกฤติต่างๆ ในสังคม เสียงเพลง-ดนตรี ช่วยฮีล (heal) ใจได้มากน้อยแค่ไหน
ครูกั๊ก: ฮีลใจแน่นอนเลยครับ ผมไม่ซับซ้อนเลย เพราะผมอยากทำเพลงมานานแล้ว ยิ่งมีเพื่อนก็ยิ่งสนุกขึ้น
ครูนาว: เพลงเหมือนช่วงเวลาพักของผม ขอบคุณครูกั๊กที่ชวนมารวมตัวครั้งนี้ มันทำให้เราได้มีเวลามาคุยเล่นกับครูคนอื่นๆ ซึ่งในโรงเรียนที่เราสอนอยู่ เราไม่ได้มีช่วงเวลาแบบนี้เท่าไหร่ ยิ่งเวลาเราปล่อยผลงานเพลงออกไปแล้วมีคนชอบ ชื่นชม มันก็เป็นกำลังใจเล็กๆ น้อยๆ ให้เราได้เหมือนกัน ทำให้หัวใจพองโต (ยิ้ม)
ครูสัญญา: วันแรกที่ครูกั๊กชวนผมรู้สึกดีใจมาก ผมไว้ใจครูกั๊กเพราะเวลาครูกั๊กจะทำอะไรเขาทำสุด เวลาที่เราได้ทำงานกับคนที่ไปสุดทางอย่างเช่นครูกั๊กและครูนาว ยิ่งมีคนมาสัมภาษณ์ เราก็ยิ่งรู้สึกมีแรงบันดาลใจเพิ่มขึ้น และรู้สึกเป็นสิ่งที่ท้าทายเรามาก
ปกติครูฟังเพลงกันบ่อยไหม ชอบฟังเพลงแบบไหน
ครูกั๊ก: แอพพลิเคชั่นรายงานว่าผมฟังเพลงวันละ 6 ชั่วโมง คือเราฟังเพลงตลอด ล้างจานก็ฟัง ไปวิ่งก็ฟัง ทำงานก็ฟัง จริงๆ ผมชอบฟังเพลงร็อคนะ แต่เสียงไม่เหมาะ ผมว่าเพลงทำงานกับจินตนาการและความทรงจำ บางทีเราอยากย้อนเวลาไปเจอความทรงจำสมัยวัยเด็ก เราก็จะเลือกฟังเพลงเก่าๆ ที่เราเคยชอบฟังตอนมัธยม ความทรงจำเก่าๆ มันก็ไหลเข้ามา
ครูนาว: ปกติผมไม่ได้เปิดเพลงฟังนะ แต่จะฟังพอดแคสต์หรือข่าว เพลงที่ฟังบ่อยช่วงนี้ ก็คงเป็นเพลงลูกอะครับ (หัวเราะ)
ครูสัญญา: ช่วงนี้ผมฟังเพลงป๊อปบ่อยเลยครับ เราฟังเพลงเหมือนเด็กๆ ในห้องเรียนเลย มันทำให้เราคุยกับเขารู้เรื่องขึ้น ระหว่างสอนออนไลน์ผมก็จะถามเขาว่า “เฮ้ย ช่วงนี้เพลงอะไรฮิต” บางเพลงเราก็ไม่รู้จักหรอกครับ แต่เราก็ฟังไปกับเขา คุยกับเขา เพราะเราอยากจะรู้ว่าเขากำลังสนใจอะไรอยู่
พอรู้ว่าเด็กชอบเพลงอะไร รู้ว่าเขาฟังอะไรอยู่ มันมีประโยชน์ต่อครูอย่างไรบ้าง
ครูนาว: เพลงคือส่วนหนึ่งในการสอนของผม ก่อนเรียนหลายครั้งผมก็จะถามเขาว่าช่วงนี้เขาฟังเพลงอะไรอยู่ ทำไมถึงชอบเพลงนี้ เพลงที่เขาเลือกมามีความหมายต่อเขาอย่างไร
ทั้งหมดทั้งมวลมันก็สะท้อนให้รู้ว่าเด็กที่อยู่ตรงหน้าเรานั้นเขาเป็นคนแบบไหน ผมว่าบทบาทของ ‘เพลง’ กับ ‘เด็กยุคนี้’ มันเสมือนเป็นสิ่งที่ใช้แทนตัวตนของกันและกัน เราได้รู้จักเด็กผ่านเพลงที่ชอบมากขึ้น แม้มันจะไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องทั้งหมด แต่อย่างน้อยมันก็เปิดประเด็นทำให้เรากับเขาคุยต่อได้
ครูกั๊ก: ช่วยได้มากกกกก ช่วงแรกที่เราสอนออนไลน์แล้วให้เด็กๆ แชร์เพลงที่ชอบ ช่วงแรกเด็กเขายังเป็นเพลงป๊อปแอบรักสดใสอยู่เลย หลังๆ มากลายเป็นเศร้า ซึม มันสะท้อนว่าตอนนี้เขากำลังรู้สึกแบบนั้น
ครูสัญญา: ไม่ต่างจากครูทั้งสองท่านเลยครับ
ผมว่าการฟังเพลงมันก็สะท้อนความชอบของบุคคลนั้น มากกว่านั้นเรายังชวนเขาคุยถึงวิธีคิดในการแต่งเนื้อเพลงจากเพลงที่เขาชอบได้ เรียกง่ายๆ ว่า เราสามารถเอาเพลงมาเป็นเครื่องมือการสอน เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่างๆ ต่อได้
อยากให้ครูตอบคำถามในฐานะศิลปิน มีอะไรที่อยากทิ้งท้ายไหม
ครูกั๊ก: ผมอยากให้วงปาเจเป็นวงดนตรีเหมือน BNK48
ถ้ามีครูที่ชื่นชอบดนตรีแล้วสนใจอยากทำเพลง หรือมีไอเดียใหม่ๆ อยากเขียนเพลง อยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งก็เข้ามาได้เลย อยากให้ปาเจเป็นวงที่รวมเพลงของหมู่มวลประชาครู และเราจะช่วยกันทำสิ่งที่เรารัก สร้างสรรค์ผลงานดีๆ เพื่อส่งเสียงไปถึงระบบการศึกษา รวมถึงคนทั่วๆ ไป
ครูนาว: ผมฝากเรื่องการส่งเสียงแล้วกัน เพราะผมเชื่อว่ายังมีครูไทยอีกหลายคนที่อยากจะพูดความในใจ ผมว่าเพลงก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้เราเล่าสิ่งที่เราอยากสื่อสารออกมาได้อย่างสร้างสรรค์ เหมือนเราจีบสาวน่ะ ถ้าเราไปบอกเขาตรงๆ ว่าชอบ กับเราแต่งเพลงไปให้มันก็จะได้ความรู้สึกที่ต่างกัน
ครูสัญญา: ผมมองในภาพลักษณ์ของความเป็นครูนะ เอาเข้าจริงผมไม่เคยอยากเป็นครูมาก่อน เพราะภาพจำของครูมันดูเชย แต่พอมาอยู่ในระบบจริงๆ ผมก็พอเข้าใจว่าอะไรเป็นเหตุผลที่ทำให้ครูต้องเชย
ผมว่าการรวมตัวกันทำวงปาเจมันก็ช่วยทำให้ภาพลักษณ์ของครูมีชีวิตชีวา เราเป็นหน่วยเล็กๆ ที่กำลังสื่อสารว่าครูไทยอย่างพวกเรากำลังขับเคลื่อนห้องเรียนและระบบให้มีชีวิตขึ้นอีกครั้ง
และผมเชื่อว่ายังมีครูไทยอีกหลายๆ ท่าน ที่มีความสร้างสรรค์ในตัวเอง และต้องการจะเห็นภาพใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในวงการครูเหมือนกันกับเรา
—-
ติดตามวง PAJ เพิ่มเติมได้ที่นี่: